ราชอาณาจักรสยามได้มีโอกาสต้อนรับโพยมยานเป็นครั้งแรกใน ๖ ปีต่อมา คือปีแรกในรัชกาลที่ ๖ ห้างบางกอกด็อกสั่ง "เรือเหาะ" มาบินให้ชมเป็นครั้งแรกในปลายเดือนมกราคมต่อกับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ (ถ้าเป็นปัจจุบันนับเป็น ๒๕๕๔) มีนักบินฝรั่งชาวเบลเยี่ยมชื่อชื่อนาย Charles van den Born เป็นนักบินสาธิต จุดมุ่งหมายคือจะขายประดิษฐกรรมใหม่ล้ำยุค แก่กระทรวงกลาโหมของสยาม พร้อมแถมฝึกหัดนักบินให้ด้วย
รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
ในปลายเดือนมกราคม, พ.ศ. ๒๔๕๓, ได้มีเครื่องบินเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เปนครั้งแรก ผู้ที่จัดการนำเครื่องบินเข้ามาแสดงในนี้เปนบริษัทฝรั่งเศสชื่อ "บริษัทการบินแห่งปลายบุรพเทศ" ("Societe d' Aviation de L' Extreme Orient") และนักบินชื่อวันเด็นบอร์น (Van den Born). ได้ขออนุญาตเก็บเงินคนดูโดยปิดถนนสนามม้า, ปะทุมวัน, และใช้สนามม้าของราชกรีฑาสโมสรเปนสนามบิน. การบินมี ๕ วัน, คือวันที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๔, ที่ ๕, ที่ ๖ มีผู้รับให้รางวัลทุกวัน, และของกะลาโหมมีเปนประจำทุกวัน, เพราะเขารับฝึกหัดนายทหารของเราให้ใช้เครื่องบินด้วย. เครื่องที่นำเข้ามาครั้งแรกเปนเครื่องปีก ๒ ชั้น ไม่มีที่คนโดยสารขึ้น, ฉนั้นถ้าใครอยากจะโดยสารก็ต้องยืนเกาะไปข้างหลังคนขับ, ออกจะน่าเสียวใส้อยู่บ้าง. ได้มีคนไทยลองขึ้นกันหลายคน, เจ้านายมีกรมอดิศร, กรมกำแพงเพ็ชร์ และกรมสรรควิสัยนรบดี, พวกเหล่านี้กล่าวว่าไม่น่ากลัวกว่าขึ้นรถยนตร์, แต่ในเวลานั้นออกจะมีคนเห็นด้วยน้อยทีเดียว. ตามความจริงเครื่องบินในเวลานั้นก็ยังไม่ดีเท่าในเวลานี้จริง ๆ ด้วย, และยังมีข่าวตกหล่นและเกิดอุปัทวเหตุบ่อย ๆ นัก. เมื่อฉันยังอยู่ที่ยุโรปนั้น ได้มีผู้คิดสร้างเครื่องบินขึ้นบ้างแล้ว, แต่ฉันยังหาได้เคยเห็นใครขึ้นเครื่องบินแล่นในอากาศไม่, ฉนั้นฉันเองก็ออกจะตื่นมากอยู่ ในการที่ได้มีเครื่องบินเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ครั้งนั้น.
ตามจดหมายเหตุรายวันปรากฏว่า ฉันได้ไปดูการบินถึง ๔ วัน. วันที่ ๑ กุมภาพันธ์เปนวันแรกที่ไปดู. ฉนั้นอยู่ข้างจะตื่นมาก, แต่ก็ไม่ปรากฏว่านักบินได้แสดงอะไรผาดโผนยิ่งไปกว่าขึ้นจากสนามม้าแล่นไปรอบ ๆ แล้วก็กลับลง. วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ได้ไปดูอีกครั้ง ๑, และครั้งนี้เขาเชิญให้ไปดูเครื่องในที่ใกล้ วันที่ ๔ ได้ไปดูอีก, และเสด็จแม่กับเจ้านายฝ่ายในเสด็จไปทอดพระเนตร์ด้วย, แต่ประทับที่โรงเรียนตำรวจพระนครบาล, ไม่ใช่ที่ราชกรีฑาสโมสร. การบินในวันนี้ไม่ได้กระทำเต็มตามกำหนด, เพราะเขาว่าลมบนแรงนัก. วันที่ ๕ เขาได้บินจากราชกรีฑาสโมสรไปสวนดุสิต, ทิ้งหนังสือลงไปที่พระลานฉบับ ๑, แล้วบินกลับไปภายในเวลา ๘ นาที. ฉันได้ให้ถ้วยเงินเปนรางวัลถ้วยหนึ่ง.
จากหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ ๖
