เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 43836 สองท่อ...บนเส้นทางเดินทัพ
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 02 ม.ค. 15, 17:50

สวัสดีปีใหม่ทุกๆท่านในแวดวงเรือนไทยครับ

ขออำนาจแห่งพรอันประเสริฐทั้งหลายได้ประสาทให้แด่ทุกๆท่าน ได้ประสบแต่ความสุขสวัสดีมีชัยในภารกิจ หน้าที่ การงาน สุขภาพ พลานามัย ปราศจากโรคภัย อุบัติเหตุเภทภัยทั้งหลายที่จะมาแผ้วพาลเบียดเบียน จะคิดจะทำสิ่งใดก็ขอให้ได้ประสบผลสำเร็จลุล่วงไปตามที่ประสงค์ทุกประการ ตลอดศักราชใหม่และต่อๆไป
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 02 ม.ค. 15, 18:43

เรื่องราวมาถึงตรงนี้ ก็จะต้องขยายความสั้นๆประเด็นที่เกี่ยวข้องกันระหว่างเรื่องของโลหะเงิน กับ เรื่องของสองท่อ

ได้กล่าวถึงมาบ้างเล็กน้อยแล้ว ซึ่งสรุปได้ว่า มีการทำเหมืองแร่ตะกั่วหลายจุดในพื้นที่เขาสูงตามแนว (โดยประมาณ) เขตต่อระหว่าง อ.ทองผาภูมิ กับ อ.ศรีสวัสดิ์ (หรือในทิวเขาสูงที่กั้นแยกระหว่างแควใหญ่และแควน้อย) ของ จ.กาญจนบุรี (หนานยะ บ่อน้อย บ่อใหญ่ สองท่อ ทิขุ เกริงกราเวีย บ่องาม ฯลฯ)  แหล่งแร่เหล่านี้มีการขุดนำมาใช้ประโยชน์มานานแล้ว ตลอดจนได้มีการถลุงแร่อย่างมากมายใน 2 ช่วงเวลา (ตามอายุของตะกรัน) คือ ช่วงเวลาประมาณ 800 ปี (แถวๆสมัยสุโขทัย) และ 400 ปี (แถวๆสมัยอยุธยา)  ซึ่งมีการพบตระกันตกอยู่ในพื้นที่เหล่านี้รวมๆกันในปริมาณระดับ 100,000 + ตัน 

ปริมาณตะกรันขนาดนี้ให้ภาพได้ 3 ภาพ คือ มีการทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน หรือ ทำต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน หรือ มะรุมมะตุ้มทำกันอย่างต่อเนื่องมานาน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 02 ม.ค. 15, 19:28

โลหะเงินบริสุทธิ์ เกิดขึ้นได้เองในธรรมชาติ แต่พบได้ในปริมาณน้อยมาก  ส่วนมากจะพบว่าเกิดร่วมกับแร่อื่นๆ

โลหะเงินที่ได้ในปัจจุบันนั้น  เกือบทั้งหมดได้มาจากการแยกออกมาจากการถลุงแร่เพื่อเอาโลหะทองแดง ทองคำ ตะกั่ว และสังกะสี  ซึ่งตัวแร่แหล่งต้นทางที่สำคัญ ได้แก่ แร่ตะกั่ว (Galena - PbS) 

แหล่งแร่ที่ให้โลหะดังที่กล่าวมา (ที่มีเงินผสมอยู่ด้วย) นั้น โดยรวมๆแล้วในทางวิชาการเรียกว่าแหล่งแร่ Base metals แต่นิยมเรียกกันว่าแหล่งแร่ copper-lead-zinc deposits เพราะว่ามักจะเกิดในสภาพทางธรณีวิทยาเหมือนๆกัน

แหล่งแร่ตะกั่ว (galena) นี้ แม้ว่าจะพบได้ในหินชนิดต่างๆอย่างหลากหลายก็ตาม แต่แหล่งที่สำคัญ พบได้ง่ายและขุดหาออกมาใช้ (exploit) ได้ง่าย   สำหรับในสมัยยุคโบราณนั้นได้แก่แหล่งที่พบอยู่ในหินปูน

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 02 ม.ค. 15, 19:53

แหล่งแร่ตะกั่วของไทยที่กล่าวถึงนี้ ก็พบอยู่ในทิวเขาหินปูนที่อยู่ระหว่างแควใหญ่กับแควน้อย  ก็เป็นทิวหินปูนที่ต่อเนื่องเข้าไปในพม่า

แหล่งแร่บ่อวิน (Bawdwin) แห่งเมืองน้ำตู (Namtu) ซึ่งเป็นแหล่งแร่ base metal ขนาดใหญ่ของพม่าติดลำดับความสำคัญของโลกก็อยู่ในพื้นที่หินปูน และก็อยู่ไม่ไกลจากเมือง Dali ของจีน

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 03 ม.ค. 15, 19:18

การแยกโลหะเงินออกจากสินแร่ตะกั่วนั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย โดยหลักการง่ายๆก็คือ เอาแร่ตะกั่วมาเผาด้วยความร้อนสูงในระดับหนึ่ง  มิใช่ roasting (ย่างแห้ง) นะครับ แต่ร้อนมากพอที่จะไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีบางประการ (sintering)    เอาผลิตผลที่ sintered แล้วนี้ไปหลอมต่อด้วยอุณหภูมิสูงในภาชนะ (เบ้า หลุม) ที่รองด้วยวัสดุที่มีองค์ประกอบประเภทกระดูกสัตว์ เปลือกหอย หรือที่มีส่วนผสมทางเคมีคล้ายกระดูก (แคลเซียม แม็กนีเซียม ฟอสฟอรัส) ก็คงได้แก่พวก tufa, travertine และบรรดาดินหินที่เป็นพื้นถ้ำต่างๆ

โลหะตะกั่วจะหลอม ทำปฏิกริยา และถูกดูดซึม คงเหลือแต่โลหะเงินแยกออกมา กระบวนการถลุงแบบนี้ใช้กับโลหะมีค่าเช่นทองคำอีกด้วย เรียกกระบวนการนี้ว่า Cupellation (เพราะโลหะมีค่าเช่นเงินและทองคำจะไม่ทำปฏิกริยาวัสดุอื่นใดได้ง่ายๆ)

เป็นวิธีการถลุงโลหะเงินที่มีการค้นพบและทำกันมานานตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล เป็นเทคโนโลยีโบราณที่ทำมากันต่อเนื่องตั้งแต่สมัยตุรกี สเปน โรมัน จนเงินเข้ามาอยู่ในเส้นทางการค้าสมัยฮั่น และขยายวงเข้ามาในภูมิภาคเอเซีย

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 05 ม.ค. 15, 19:05

1,000+ ปี ก่อนจะเริ่ม ค.ศ. จีนได้มีการค้นพบวิธีการเพิ่มอุณหภูมิของเตาหลอมโลหะจากไม่กี่ 100 องศา ไปเป็น 1,000+ องศา (ต้นๆ)  จนเข้าปลายยุคฮั่น จึงได้มีการผลิตโลหะผสมหลากหลายๆชนิดที่ใช้เป็นอาวุธ

เทคโนโลยีการเพิ่มอุณหภูมินี้ ซึ่งจะไม่ไปถึงรายละเอียดนะครับ (เพราะไม่รู้จริง)    กระนั้นก็ตาม ก็ทราบว่า ฟืนไม้ไผ่นั้นให้อุณหภูมิสูงในระดับ 1,000 องศา พอที่จะทำให้เกิดการถลุงแยกโลหะเงินออกมาจากสินแร่ตะกั่วได้   แถวสองท่อและที่อื่นๆก็ใช้ฟืนไม้ไผ่นี้แหละครับ     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 05 ม.ค. 15, 19:41

เขียนไปเขียนมา ก็กลายเป็นแต่ละตัวจิ๊กซออีกแล้วครับ

คราวนี้มาถึงเรื่องในไทย

เคยได้ยินชื่อเงินเจียง เงินขาเหลี่ยม เงินต๊อกหรือท่อก เงินหอยโข่ง เงินผักชี เหล่านี้ ของไทยใหมครับ 

โลหะเงินรูปทรงต่างๆที่มีชื่อเรียกดังที่กล่าวมา บ้างก็มีอายุแถวๆยุคสุโขทัย แล้วก็มักพบในพื้นที่ๆเรียกว่าล้านนาแทบทั้งนั้น 

ในสมัยอยุธยาในยุคที่เราส่งทูตไปฝรั่งเศส เกิดเรือล่มแถวๆแหลม Good Hope ของ S.Africa อยู่หลายครั้งเหมือนกัน  ซึ่งในพิพิธภัณฑ์ของเหมืองทองใกล้ๆกับเมือง Johannesburg ก็ยังมีแท่งโลหะเงินอักษรจีนแต่ระบุว่าเป็นเงินที่ใช้ของไทยวางแสดงอยู่   จำได้ว่า เงินแท่งหรือเงินลิ่มที่มีตัวอักษรจีนนั้นมีทั้งที่บอกว่าเป็นของจีนและของไทย (ตามป้ายบรรยาย)  ซึ่งผมเชื่อว่าเงินลิ่มเหล่านั้นได้มาจากเรือที่ล่มและไปจากไทยทั้งนั้น  ส่วนที่เป็นของเงินลิ่มของจีนจากเรือจีนจริงๆก็คงจะต้องไปติดตามจากเรื่องราวในยุคราชวงค์หมิง ช่วงก่อนและหลัง ซองเฮอ เดินเรือครั้งยิ่งใหญ่ในปี ค.ศ. 1421

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 06 ม.ค. 15, 18:33

ใจเร็วไปหน่อยครับ อาจจะทำให้เข้าใจผิดไปว่ามีแต่ในภาคเหนือ  ในภาคอิสานก็มีครับ เช่นที่เรียกว่าเงินลาด และเงินฮ้อย   ซึ่งเงินในรูปลักษณะของเงินฮ้อยนี้ก็พบอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของเหมืองทองใน Johannesburg เช่นกัน (ผมคงจำได้ไม่ผิด)

ในภาคใต้ก็พบว่ามีเหมือนกัน  ว่ากันว่าพบทั้งในยุคอาณาจักรฟูนัน ทวาราวดี ศรีวิชัย ซึ่งจะเป็นลักษณะของเหรียญทรงกลม   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 06 ม.ค. 15, 19:45

น่าสนใจมากๆอยู่เหมือนกันว่า  โลหะเงินที่พบในยุคใกล้ๆกัน (แถวต้นสุโขทัย) ในภาคเหนือและอิสานจะมีรูปลักษณะออกไปทางเป็นแท่งแบนๆ  ทางภาคใต้เป็นแบบเหรียญทรงกลมแบน และทางภาคกลางออกเป็นรูปทรงกลมก้อน (เงินพดด้วง)  และซึ่งเงินที่ใช้ในภาคกลาง (แถวสมัยอยุธยา) ก็มีการใช้เงินทั้งสามรูปลักษณะ

ผมจะไม่ขยายความไปมากกว่านี้ เพราะไม่ใช่ผู้รู้จริง   ผมเพียงพยายามจับแพะชนแพะ จับแกะชนแกะ ไม่พยายามจับแพะชนแกะ   เป็นความพยายามเพียงเพื่อจะหาคำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งแร่ตะกั่ว (ที่มีการถลุงเอาโลหะเงิน) ที่พบอยู่ในเทือกเขาที่คั่นกลางระหว่างแควใหญ่กับแควน้อยของ จ.กาญจนบุรี  ซึ่งมีอายุของการทำเหมืองแต่แรกเริ่มเมื่อประมาณ 800 ปีที่ผ่านมา และทำต่อเนื่องตลอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน    เพื่อสางความความรู้สึกบางประการว่า ทำงาน เดินป่า เดินดง อยู่ในพื้นที่นี้ต่อเนื่องมานานร่วมๆ 20 ปี ก็ยังไม่รู้อะไรมากไปกว่าข้อมูลดิบที่มีอยู่ในมือมากนัก   แม้แหล่งแร่จะอยู่ในปริมณฑลของเส้นทางเดินทัพ ก็ดูจะไม่มีการกล่าวถึง แถมยังมีทางด่านที่ใช้เดินลัดเลาะเชื่อมระหว่างพื้นที่นี้กับพื้นที่ราบภาคกลาง (ที่ไปโผล่แถวอุทัยธานี สุพรรณบุรี อ่างทอง และกาญจนบุรี) ที่ใช้กันมาแต่เก่าก่อนและยังมีการใชกันบ้างในสมัยที่ยังเดินดงอยู่ 

ซึ่ง..ความพยายามในการหาคำอธิบายดังกล่าวนั้น ทำให้ต้องข้ามเส้นไปหาความรู้และความรอบรู้ของศาสตร์อื่นๆ    เอาภาพจิ๊กซอมาปะติดปะต่อกันให้เป็นภาพที่พอจะอธิบายและเป็นไปได้ที่น่าจะใกล้กับความเป็นจริงตามองค์ความรู้พื้นฐานของตัวผมเองที่พอจะมีหลงเหลืออยู่บ้าง

ครับ จากนี้ไป  เรื่องราวก็จะเป็นไปตามที่ผม synthesized ขึ้นมา  ติได้ วิจารณ์ได้  จะเก็บเอาข้อมูลไป synthesis ต่อก็ได้ครับ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 08 ม.ค. 15, 19:39

ท่านที่ตามอ่านกระทู้นี้มาคงจะเริ่มเห็นภาพและคงจะวาดภาพไปบ้างแล้วจากการผสมผสานข้อมูลที่ผมสะกิดออกมา ซึ่งเมื่อเอาไปผนวกกับข้อมูลอื่นๆแล้ว ก็คงเดาออกว่าภาพโดยรวมเมื่อต่อจิ๊กซอแล้วน่าจะเป็นเช่นใด   

ความสนใจของผมเริ่มจาก  มันมีฐานข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กันและมีความต่อเนื่อง สอดคล้องกันเรื่องราวและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของจีนในช่วงปลายยุคฮั่น ต่อเนื่องเข้าไปในยุคซ้อง   
จนกระทั้งเข้ายุคราชวงค์หยวน ซึ่งเป็นช่วงเวลา +/- ที่เกิดล้านนา ล้านช้าง สุโขทัย (แล้วก็เกิดอยุธยาในเวลาต่อมา)    เหตุการณ์เหล่านี้เกิดในกรอบของเวลาช่วงต้น ค.ศ.ศตวรรษที่ 13 - ต้น ค.ศ.ที่ 14 

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 10 ม.ค. 15, 20:16

ไม่ได้ลืมชื่อ อ้ายลาว โยนก และอื่นๆนะครับ เพียงแต่ต้องการจะกล่าวถึงในเชิงของภาพรวมๆ

ผมมีข้อสังเกตว่า บรรดาอาณาจักรและเมืองที่ปรากฎในประวิติศาสตร์ ในพื้นที่ตอนบนของเขตประทศไทยในปัจจุบัน (เหนือและอิสาน) ซึ่งมีชุมชนลูกหลานสืบสานต่อเนื่องทางภาษาและวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบันนี้นั้น และซึ่งอยู่เป็นกลุ่มๆดังที่รู้กันนั้น (ไทดำ ไทพวน ไทอาหม ไทลื้อ ไทยวน ไทยอง ผู้ไท ฯลฯ)     ถึงแม้ในภาพรวมๆจะเป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาในตระกูลภาษาไทที่สามารถสื่อสารกันได้ไม่ยากนัก แต่หากพิจารณากันในอีกมุมหนึ่ง  ผมเห็นว่า น่าจะสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พูด ข้อย/สู = ตัวฉัน/ตัวเธอ  กลุ่มที่พูด คิง/ฮา = ตัวฉัน/ตัวเธอ  และกลุ่มที่พูด กู/มึง = ตัวฉัน/ตัวเธอ  ซึ่งสำหรับพวกที่พูด กู/มึง นี้ มีคลุมลงไปถึงพื้นที่ส่วนที่เป็นด้ามขวานของไทยตอนล่างด้วย     นอกจากนั้นแล้ว ในกลุ่มที่พูด กู/มึง นี้ ผมก็ยังเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ขอบด้านตะวันตกของที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งมีสำเนียงการพูดล้อกับสำเนียงของภาษาใต้ ถึงระดับที่ในบางครั้งเราต้องตั้งใจฟัง จึงจะสามารถจำแนกได้ว่าเป็นเขาสนทนากันในภาษาถิ่นใด

กล่าวเสียยืดยาว ก็เพียงเพื่อจะตั้งต้นเล่าความ บอกเล่าความเห็นว่า เมื่อผู้คนที่ใช้ภาษาตระกูลภาษาไทได้โยกย้ายลงมาทางใต้ของแผ่นดินจีน (หรือขยายพื้นที่อยู่อาศัยลงมา) ลงมาทำมาหากินในพื้นที่ๆเป็นเขตของแผ่นดินที่เป็นประเทศไทยนี้      น่าสังเกตว่า จะประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีความคิดในหลักนิยมที่แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นว่าโลหะเงินเป็นทั้งโภคสมบัติและสินทรัพย์ (ภาคเหนือและอีสาน ..คือด้านเหนือรวมทั้งในพม่า ลาว และเวียดนาม ?) กับ กลุ่มที่เห็นว่าทองคำเป็นโภคสมบัติและโลหะเงินคือสินทรัพย์ (ภาคกลางและภาคใต้)       ก็น่าจะสังเกตได้เปรียบเทียบได้การตกแต่งวัดวาอาราม รวมทั้งเครื่องสูง และการแต่งกายตามประเพณีต่างๆ

   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 14 ม.ค. 15, 19:28

ก็มีข้อน่าสังเกตอีกว่า  กลุ่มคนที่สื่อสารกันด้วยภาษาไทนี้ ตั้งบ้านเรือนถิ่นฐานกระจายอยู่ในพื้นที่ตอนล่างของจีน

ซึ่งเขาเหล่านั้นตั้งบ้านเรือนถิ่นฐานในพื้นที่ๆมีสภาพภูมิประเทศเป็นทิวเขาและร่องเขาสลับซับซ้อน แต่ก็มีลักษณะเป็นแนวต่อเนื่องยาวลงมาทางใต้  (ต่อเนื่องเข้ามาในพื้นที่ของภาคเหนือของไทย เข้าไปในลาวจนจรดพื้นที่ราบสูงภาคอีสานของเรา และเวียดนามตอนบน)

ทั้งนี้ พื้นที่ทางด้านตะวันตกของไทย หรือกลุ่มทิวเขาที่อยู่ระหว่างเขตไทยกับพม่า ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งของทิวเขาที่ถูกดันเข้าไปผสมผสานอยู่กับทิวเขาในพื้นที่ตอนล่างของจีนดังที่กล่าวมา

รอยย่นบนผิวโลกในพื้นที่เหล่านี้ล้วนเกิดมาจากแรงอัดที่แผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่ง (แผ่นดินอินเดีย) ชนและดันกับอีกแผ่นเปลือกโลกอีกแผ่นหนึ่ง (แผ่นดินพม่า ไทย จีน)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 14 ม.ค. 15, 19:46

สภาพทางธรณีวิทยาในสภาพแรงอัดมหาศาลเช่นนี้ ทำให้เกิดกระบวนการทางธรณีที่เป็นทางธรรมชาติหลายประการ   ซึ่งผลสุดท้ายก็คือ การทำให้เกิดการสะสมตัวของแร่  กลายเป็นแหล่งแร่ขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง   มีการสะสมตัวกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป      ทั้งนี้ แร่ตะกั่ว-สังกะสี (ซึ่งมีเงินเกิดร่วมอยู่ด้วยนั้น) ก็มักจะพบอยู่ในพื้นที่ลักษณะเช่นนี้  และก็โดยเฉพาะในพื้นที่ๆเป็นหินปูน

เป็นอันว่า กลุ่มคนที่ใช้ภาษาในกลุ่มภาษาไททั้งหลาย ก็ตั้งบ้านเรือนถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ๆเป็นแหล่งกำเนิดและแหล่งสะสมของแร่ตะกั่ว สังกะสี และเงิน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 16 ม.ค. 15, 19:11

นอกจากแหล่งแร่ตะกั่ว-สังกะสี-เงิน ที่พบได้ทั่วไปแล้ว     ในพื้นที่ส่วนตะวันออกเฉียงใต้ของจีนก็ยังมีพื้นที่ๆมีหินอัคนีประเภทแทรกซอนชอนไชขึ้นมาจากใต้ผิวโลก (Intrusive igneous rocks)    ซึ่งในสภาพภายใต้ความร้อนและความดันต่างๆ ได้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนธาตุที่เป็นองค์ประกอบของแร่(แร่เป็นสารประกอบเคมี)ในเนื้อหินที่แทรกขึ้นมากับเนื้อหินที่ถูกแทรก กลายเป็นสารประกอบทางเคมีอีกอย่างหนึ่ง (แร่อีกตัวหนึ่ง) ซึ่งหากไปรวมตัวกันเป็นกระจุก หรือกระจายอยู่อย่างหนาแน่น ก็จะกลายเป็นแหล่งแร่นั่นเอง
   
นอกจากนั้นแล้วในกระบวนการทางธรณีวิทยาดังกล่าวนี้ ในช่วงสุดท้ายของการแทรกดันของหินอัคนี จะตามมาด้วยของไหลและแกสที่นำพาน้ำแร่ขึ้นมาแทรกเข้ามาในรอยแตกรอยแยกต่างๆ  เมื่อเย็นตัวลง แข็งตัวกลายเป็นหิน ก็คือสายแร่ที่เราเรียกๆกัน   

ส่วนสำหรับโลหะที่เกิดเองในธรรมชาติ อาทิ ทองแดง ทองคำ เงิน ฯลฯ นั้น ต่างก็มักจะพบในสายแร่  แต่มิใช่เป็นสายแร่ที่มีแต่โละหะดัง  ตัวอย่างเท่านั้น แต่เป็นสายแร่ของหินอื่นที่นำพาโลหะเหล่านั้นขึ้นมา (อาทิ Quartz vein, Pegmatite vein=Quartz+Feldspar) 

แหล่งแร่ที่เกิดโดยวิธีการในลักษณะนี้ มักจะเป็นแหล่งแร่ที่เป็นทรัพยากรสำคัญของมนุษย์ชาติในอดีต ที่ทำให้เกิดการสู้รบ การแย่งชิงการครอบครอง ฯลฯ และเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ต่างๆของโลก
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 19 ม.ค. 15, 19:53

เมื่อเอาข้อมูลและเหตุการณ์ในช่วงกาลเวลาใกล้ๆกันมาประมวลดู  ผมก็เห็นภาพของเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นเป็น frame ต่อเนื่องกันมา   ซึ่งภาพในองค์รวมที่ผมเห็น เป็นดังนี้

เมื่อเส้นทางสายไหมด้านเหนือ (เลาะตะเข็บอิทธิพลของจีนกับมองโกล) ซึ่งยาวต่อเนื่องไปถึงเอเซียกลางและยืดยาวไปถึงยุโรป เริ่มมีความยั่งยืนและมั่นคง มีการลื่นไหลของวัฒนธรรมและสินค้าหลากหลายมากขึ้น      การใช้โลหะเงิน (ปริมาณ) เพื่อเปรียบเทียบและกำหนดมูลค่าของสิ่งของและงานต่างๆ ก็ขยายอิทธิพลจากแผ่นดินทางตะวันตก (ยุโรปแถวเมดิเตอเรเนียน) เข้าไปในแผ่นดินทางตะวันออก (จีน)    จีนเริ่มให้มีการใช้โลหะเงินอย่างเป็นทางการ แทนโลหะทองแดงและเหล็ก   แต่จีนเอง (ซึ่งในขณะนั้นมีอำนาจแข็งแกร่งอยู่ในพื้นที่ด้านเหนือของพื้นที่ประเทศในปัจจุบัน) ก็ไม่มีแหล่งแร่โลหะเงินในพื้นที่ลักษณะนั้น  ต่างกับกลุ่มชนชาติที่อาศัยในพื้นที่ทางตอนใต้ (ของแผ่นดินจีนในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษาในตระกูลภาษาไท   เขาเหล่านั้นอยู่อาศัยในพื้นที่ๆน่าจะอุดมไปด้วยแหล่งโลหะเงิน
 
      กลุ่มชนชาติในแผ่นดินจีนพอจะจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มคนในพื้นที่ด้านเหนือ เป็นพวกวัฒนธรรมข้าวสาลี (wheat)  และ กลุ่มคนในพื้นที่ด้านใต้ เป็นพวกวัฒนธรรมข้าว (rice)

แน่นอน ยังไงๆจีนในดินแดนด้านเหนือ ก็ต้องขยายอิทธิพลลงมาครอบคลุมกลุ่มคนในดินแดนด้านใต้ เพื่อจะได้เพิ่มพูนโภคทรัพย์ของตนเอง  แล้วก็คงต้องเข้ามาในลักษณะที่นุ่มนวล เพราะพื้นที่มันกว้างขวางมากเหลือเกิน แถมยังอยู่เป็นกระจุกๆแบบกระจายอีกด้วย
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.1 วินาที กับ 19 คำสั่ง