เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 37141 เล่าด้วยภาพ: พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช รัชกาลที่ ๖
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 16 ต.ค. 14, 08:58

จากนั้น ขบวนพยุหยาตราเคลื่อนไปทางถนนพระราชดำเนิน ประทับพลับพลา บรรดาชาวยุโรปเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมถวายไชยมงคล แล้วเสด็จพระราชดำเนินสู่วัดพระเชตุพน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนมัสการพระอารามซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงสร้าง แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่พระบรมมหาราชวัง
   
เวลาค่ำสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ทรงเชิญพระราชวงศ์จากนานาประเทศไปเสวยที่วังบางขุนพรหม


ภาพที่ ๔๑ เทียบพระราชยานที่เกยหน้าวัดพระเชตุพนฯ  เสด็จประทับพลับพลาเปลื้องเครื่อง  ทรงเปลื้องพระมหากฐินแล้วทรงพระมาลาเส้าสะเทิ้น  เสด็จพระราชดำเนินโดยพระบาทสู่พระอุโบสถ  ทรงนมัสการพระพุทธเทวปฏิมากร  กับทรงพระราชอุทิศวัตถุปัจจัยถวายสำหรับบำรุงพระอารามเป็นมูลค่าราคาเงินร้อยชั่ง  พระสงฆ์มหานิกายวัดฝ่ายตะวันออก (ฝั่งพระนคร) ถวายอนุโมทนา  ถวายอดิเรกและถวายพระพรแล้ว  เสด็จประทับพระราชยาน  โปรดให้เคลื่อนกระบวนเสด็จพระราชดำเนินประทักษิณพระบรมมหาราชวัง  คืนเข้าสู่พระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรีและประตูพิมานไชยศรี  

ในการเสด็จพระราชดำเนินนี้โปรดสังเกตว่า เมื่อเสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งที่ประทับทางฝ่ายหน้า  แม้จะเสด็จฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ก็มีธรรมเนียมว่าจะต้องเสด็จพระราชดำเนินโดยพระราชยาน  ต่อเมื่อเสด็จเข้าไปในพระอารามแล้ว  จะทรงเปลื้องพระมหากฐินและทรงพระดำเนินด้วยพระบาทจากพลับพลาเปลื้องเครื่องไปยังพระอุโบสถ  จะไม่ประทับพระราชยานในเขตพระอารามมาจนถึงปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 16 ต.ค. 14, 09:15

วันที่ ๓ ธันวาคม

เวลา ๒ ล.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เป็นขบวนพยุหยาตราโดยสกลมารคตามโบราชราชประเพณีเคลื่อนขบวนจากพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระบรมราชินีพระพันปีหลวงและบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในตามเสด็จ


เสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม  เศวตนันทน์) อดีตคุณมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราและกระบวนราบไว้ใน “อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”” ว่า

“กระบวนราบธรรมดาอย่างไม่ใหญ่โต  ซึ่งเรียกว่าพยุหยาตรานั้น  เป็นขบวนเล็ก  มีตำรวจหลวงถือหอกบ้าง  สะพายกระบี่บ้างตามยศ  มีกลองชนะ  แตรงอน  แตรฝรั่ง  สังข์  มีราชองครักษ์แซงพระยานุมาศ  มีทหารมหาดเล็กแซง  และเดินเป็นประตูหลัง  มีมหาดเล็กเชิญเครื่องและพระแสงตาม  นี้เป็นกระบวนราบเป็นการภายใน  ถ้าเป็นกระบวนใหญ่  เป็นการภายนอกเรียกพยุหยาตราใหญ่หรือน้อยมี ๒ ชนิด  มีทหารรักษาพระองค์แห่หน้า  เริ่มด้วยทหารม้ารักษาพระองค์  แล้วทหารปืนใหญ่  ทหารช่าง และทหารราบ  ต่อมามีทหารอากาศ  กระบวนพระอิสริยยศก็เป็นสี่สาย  คือเดินเป็นคู่ ๒ สาย  ตำรวจหลวงกับมหาดเล็ก  คนละสาย  ทหารบกกับทหารเรือ  ทหารอากาศคู่กับตำรวจมหาดเล็ก  มีมโหรทึก  มีพระแสงหว่างเครื่อง  มีพนักงานเชิญเครื่องสูงเต็มพระราชอิสริยยศ  มีพระแสงรายตีนตอง  มีคู่เคียงพระราชยาน  มีอินทรพรหมเชิญพุ่มดอกไม้เงินทอง  เรียกพุ่มเข้าบิณฑ์    มีพระแสงสี่  รองหัวหมื่นมหาดเล็กเชิญ คือ  พระแสงดาบคาบค่าย  พระแสงใจเพชร  พระแสงนาคสามเศียร  พระแสงอัศฎาพานร  ทั้งหมดฝักและด้ามเป็นทองคำลงยาประดับเพชรทั้งนั้น  แล้วก็คุณมหาดเล็กเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตั้งแต่พระมณฑป  พานพระขันหมาก  จนถึงพระสุพรรณศรี  พระสุพรรณราช  พานพระภูษา  ทุกอย่างล้วนทองคำลงยา  แล้วถึงเครื่องหลังและพระแสงหว่างเครื่อง  ทหารมหาดเล็กกับทหารเรือเดินกองปิดประตูหลัง

สิ่งที่น่าดูและน่ารู้  ก็เรื่องการเชิญพระราชยาน  เดิมใช้ข้าราชการในกองอภิรมย์ราชยาน  ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งกรมทหารรักษาวังขึ้น  โปรดเกล้าฯ ให้ทหารรักษาวังเป็นผู้เชิญคือแบก  แรกๆ เล่นกันทุลักทุเล  เพราะแกเป็นทหาร  แกก็ตั้งใจจะให้เข้มข้นแข็งแรงอย่างทหาร  ทำเอาในหลวงไม่ทรงสบายไปหลายวัน  ปรากฏว่าแกเดินพร้อมกันอย่างทหาร  ราชยานก็แกว่งไปตามจังหวะเดิน  ท่านผู้ฟังโปรดลองหลับตานึกเอาเองว่า  คนเดินอย่างท่าทหารแล้วแบกสิ่งของไว้บนบ่า  สิ่งของนั้นจะกวัดไกวไปได้อย่างไร  ถึงปวดเมื่อย  เพราะวิธีเดินเชิญราชยาน  เขาไม่เดินเท้าพร้อม  เขาต้องใช้วิธีเดินอย่างกิ้งกือเดิน  เวลาผลัดเปลี่ยนมีเป็นระยะ

การเปลี่ยนผู้เชิญพระราชยานก็มักเปลี่ยนกันในระยะพอสมควร  เช่น จากประตูวิเศษไชยศรีก็ไปเปลี่ยนราวๆ หน้าศาลยุติธรรม คือ แถวๆ ถนนผ่ากลางสนามหลวง  แล้วก็ไปราวหน้ากรมสรรพากร  ไปบางลำพูตรงสี่แยก  แล้วก็ถึงวัดบวรนิเวศ  วิธีเข้าเปลี่ยนผู้จะเข้ายืนสองฟากของกระบวน  แต่ต้องให้คล้อยพระที่นั่งเสียก่อน  จึงเข้ามาแล้วเดินแทรกกระบวนเข้ามาจนถึงตัวผู้เชิญเดิม  หันหน้าเดินตามผู้เชิญเดิมไปจนคานพระราชยานอยู่บนบ่าคนเปลี่ยนใหม่เรียบร้อย  คนเก่าค่อยๆ เดินตามแล้วค่อยย่อๆ ออกไปจนหมด  ถ้าชำนาญใช้เวลาไม่เกิน ๕ นาทีเสร็จ  ผู้เชิญแต่งกายสวมกางเกงแบบไทยสีขาวลายแดง  สวมถุงเท้ารองเท้าทหาร  สวมเสื้อแบบไทยขาวขลิบแดง  สวมหมวกหูกระต่ายสีแดง  ข้อสำคัญต้องคัดเลือกผู้มีร่างกายบึกบึนแรงขนาดเท่าๆ กัน  โดยแน่ชัดคือต้อวัดแล้วหัดเดินหัดเปลี่ยนจนช่ำชอง  แม้กระนั้นถ้าไม่ชำนาญจริงๆ มักจะรู้สึกไหว  ผู้เล่าเคยได้ฟังพระราชกระแสตรัสเล่าว่า ถ้าคนชำนาญๆ จริงๆ เวลาเปลี่ยนไม่ใคร่รู้สึก  แต่เวลาเขาเมื่อยหรือเหนื่อยละก็รู้  คือ ทรงทราบด้วยการไหวของพระราชยาน  แต่อย่างไรก็ตามทรงเล่าอย่างขันๆ ว่า ไม่มียานพาหนะใดที่จะนั่งด้วยอาการเป็นคิงแท้ๆ เท่าราชยาน  เพราะหาความสุขสบายมิได้เลย 
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 16 ต.ค. 14, 09:16

ทรงตรัสว่า ที่นั่งกว้างพอดีกับพระที่นั่ง (คือก้นของท่าน)  ที่วางพระบาทมีเฉพาะเพียงพระบาททั้งคู่วางชิดๆ กันได้ไม่ตกแต่หมิ่นเต็มที  บางทีต้องไขว้  และก็ต้องไขว้ซ้ายบนบ้าง  ขวาบนบ้าง  เรียงคู่บ้าง  สลับกันไปเช่นนี้ตลอดทาง  ไม่มีทางทำอย่างอื่นได้  เพราะบางคราวทรงนึกจะไขว่ห้างก็ไม่กล้าทำเพราะเกรงจะไม่เหมาะสม  สองข้างบัลลังก์ยังเป็นกระจังทำด้วยทอง  บางทีแกะด้วยไม้มีกนกแหลมๆ เต็มไปหมด  วางพระกรเข้าก็เจ็บ  ไม่วางก็ไม่รู้จะวางที่ไหน  ต้องทนขยับเขยื้อนได้ยากเต็มที  เพราะที่จำกัด  และลอยอยู่ด้วยพลังของคน  ถ้าขยับเขยื้อนรุนแรงข้างล่างก็เดือดร้อน  ดีไม่ดีพลิกคว่ำลงเป็นเสร็จ  ต้องเข้าโรงพยาบาลแน่  แล้วรับสั่งว่า บางทีเป็นเหน็บทั้งๆ ขา  ต้องขยับให้หายชา  แล้วทรงกระดิกพระดัชนีให้พระโลหิตเคลื่อน  พอค่อยทุเลา  นั่งพิงอย่างสบายก็ไม่ได้  เสียทรง  ทำให้ไม่งาม  ท่านว่า
ทูลกระหม่อม คือ หมายถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕  เคยสอนไว้ว่า  นั่งราชยานต้องดัดทรงเป็นละคร  คือ ดันกระเบนเหน็บให้ตัวตรง  แล้วคิดดูซิ  ประทับอยู่บนนั้นตั้งๆ ชั่วโมง  ท่านรับสั่งแล้วทรงยิ้มว่า เวลาประชาชนเขาแสดงความเคารพ  ทั้งๆ ปวดเมื่อยและเป็นเหน็บก็ต้องแข็งพระราชหฤทัย  ทรงยิ้ม  ทรงยกพระคธาขึ้นรับเคารพ  เพราะยิ้มของพระเจ้าแผ่นดิน คือ น้ำทิพย์ชโลมใจของประชาชน  ท่านว่าถ้าจ้างกันละก็  วันละ ๕๐ บาท (สมัยโน้น) ท่านก็ไม่เอา  ต่อให้ร้อยก็ไม่รับประทาน  แต่เป็นพระราชกรณียกิจแม้ให้ยากแสนยากเหนื่อยแสนเหนื่อยกว่านี้ก็ต้องรับทำ  เพื่อประโยชน์สุขของทวยราษฎร์
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 16 ต.ค. 14, 17:37

ขอบคุณอาจารย์วรชาติมากครับ ที่หาบทความอันมีค่าอย่างยิ่งนี้มาให้อ่านกันในกระทู้
บันทึกการเข้า
Prasit.S
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 16 ต.ค. 14, 23:18

ขอบคุณ อาจารย์ NAVARAT.C และ อาจารย์ V_Mee มากครับ ภาพและข้อมูลที่มีค่ามากมายครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 17 ต.ค. 14, 07:25

วันที่ ๔ ธันวาคม
   
เวลา ๓ ล.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครเป็นขบวนพยุหยาตราโดยชลมารคตามโบราชราชประเพณี

ขบวนเสด็จพระราชดำเนินเคลื่อนที่ออกจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมายังท่าราชวรดิษฐ์ เสด็จลงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงสุ์ตรงสู่วัดอรุณราชวราราม ภายหลังที่ได้ทรงนมัสการแล้ว เสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระบรมราชินีพระพันปีหลวงเสด็จพร้อมด้วยเจ้าหญิงต่างประเทศ อัครราชทูตพิเศษและข้าราชการเฝ้าเมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ณ ท่าราชวรดิษฐ์

   เวลาค่ำทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 17 ต.ค. 14, 07:38

ขบวนเรือพระที่นั่ง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 17 ต.ค. 14, 07:41

เรือพระที่นั่งเคลื่อนออกสู่แม่น้ำ เรือรบของราชนาวีที่ลอยลำอยู่ยิงสลุตถวาย


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 17 ต.ค. 14, 07:46

ลอยลำสู่วัดอรุณราชวราราม


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 17 ต.ค. 14, 07:58

พระบรมวงศานุวงศ์นำเสด็จพระราชวงศ์จากต่างประเทศเฝ้าชมขบวนพยุหยาตราที่ท่าน้ำ


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 17 ต.ค. 14, 19:12

วันจันทร์ที่  ๔  ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔  เสด็จเลียบพระนครทางชลมารค
ทรงเครื่องอย่างวันบรมราชาภิเษก ทรงฉลองพระองค์และพระภูษาขาวตามสีกำลังวัน 
ทรงฉลองพระองค์ครุยกรองทอง  ทรงพระสังวาลมหาสุราภรณ์มงกุฎสยามภายนอก  ทรงพระมาลาเส้าสูง
เสด็จออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  ประทับพระราชยานทองคำลงยาราชาวดี
เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนราบเข้าในประตูกำแพงแก้วด้านตะวันออก 
ผ่านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปออกประตูด้านตะวันตก  ออกประตูศรีสุนทรและประตูเทวาภิรมย์
ไปตามถนนมหาราชเลี้ยวไปประทับเกยพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย แล้วเสด็จประทับพระราชบัลลังก์ ณ พลับพลาท่าราชวรดิษฐ์
พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง  และเจ้านานาประเทศ
โปรดเกล้าฯ .ให้เคลื่อนเรือกระบวนหน้าพายถวายลำทอดพระเนตรตามลำดับ
 
เสด็จลงประทับเรืออเนกชาติภุชงค์ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งพลับพลา   ทรงพระชฎามหากฐินน้อย
เสด็จลงเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์  ประทับพระราชอาสน์ภายในบุษบก
แล้วนายทหารเรือต้นบทฝีพายเกริ่นเห่  เรือพระที่นั่งเคลื่อนออกจากท่าราชวรดิษฐ์
เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค  มีเรือพิฆาต  เรือดั้ง  เรือรูปสัตว์และเรือเอกไชยคู่ชักนำเสด็จ
มีเรือกราบกันยาเจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจกับทหารเรือรักษาองค์แซง
 
เสด็จพระราชดำเนินเป็นขบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่ในชลมารควิถีข้ามฟากไป ณ วัดอรุณราชวราราม
 
เรือพระที่นั่งพลับพลาเทียบท่าพระฉนวนวัดอรุณราชวรารามแล้ว 
เรือศรีสุพรรณหงส์ลำทรงจึงเทียบเรือพระที่นั่งพลับพลา  เสด็จลงประทับในเรือพลับพลา
เปลื้องพระชฎามหากฐินน้อย  ทรงพระมาลาเส้าสูงแล้ว  เสด็จขึ้นท่าพระฉนวน
 
ประทับพระราชยานงาเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนราบไปเทียบพระราชยานที่เกยหน้าประตูพระอาราม
ทรงพระดำเนินโดยทางลาดพระบาทขึ้นประทับในพระอุโบสถ
พระสงฆ์สมณศักดิ์มหานิกายวัดฝั่งตะวันตกซึ่งรับเสด็จอยู่ในพระอุโบสถสวดพระคาถาถวายไชยมงคล
ทรงจุดธูปเครื่องนมัสการและเครื่องทองน้อยถวายบังคมพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
แล้วทรงพระราชอุทิศวัตถุปัจจัยถวายสำหรับบำรุงพระอารามเป็นมูลค่าราคาเงินร้อยชั่ง
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  (ฤทธิ  ธมฺมสิริ) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามถวายอติเรก  พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา

ขอแทรกเรื่องการเห่เรือไว้เป็นหลักฐาน  ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารคนั้นน่าจะโปรดเกล้าฯ ให้ใช้บทเห่ของเดิม  ต่อมาในเดือนธียวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗  ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองชายทะเลมณฑลจันทบุรี  ในคราวนั้นกระทรวงทหารเรือได้จัดการประลองยุทธทางเรือและสวนสนามทางเรือถวายทอดพระเนตรเป็นครั้งแรกที่อ่าวสัตหีบ  ในคราวนี้จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเห่เรือพระราชทานไปลงพิมพ์ในสมุทสาร  บทเห่เรือนั้นมีทั้งชมเวียงวังและชายทะเล  ซึ่งบทชมชายทะเลบทหนึ่งครูเอื้อ  สุนทรสนาน ได้นำมาใส่ทำนองเป็นเพลง สีชัง  ที่ขึ้นต้นว่า สีชังชังแต่ชื่อ  เกาะนัเนหรือจะชังใคร  มีบทเห่ชมอาหาร เช่น ข้าวคลุก  ข้าต้มนกสับ  ข้าวต้มเนื้อโค ฯลฯ  ชมเรือรบชนิดเรือเหล็กอย่างสมัยใหม่ เป็นต้น  บทเห้เรือพระราชนิพนธ์นี้ อาจารย์วัฒนะ  บุญจับ ผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากรไปได้แผ่นเสียงบทเห่แบบพระราชนิยมมา  และได้ลองเห่บทพระราชนิพนธ์นี้ในงานวันภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยศิลปากรพระราชวังสนามจันทร์ครั้งหนึ่งเมื่อสักสองปีล่วงมาแล้ว  การเห่ตามแบบพระราชนิยมนั้นออกจะกระชับและเข้ามแข็งในทำนิงปลุกใจกว่าวิธีการเห่อย่างที่ทหารเรือเห่กันอยู่ในปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 17 ต.ค. 14, 21:18



กาพย์ห่อโคลง

         สีชัง ชังชื่อแล้ว               อย่าชัง
    อย่าโกรธพี่จริงจัง                  จิตข้อง
    ตัวไกลจิตก็ยัง                      เนาแนบ
    เสน่ห์สนิทน้อง                     นิจโอ้อาดูร

        สีชัง ชังแต่ชื่อ                 เกาะนั้นหรือจะชังใคร
        ขอแต่แม่ดวงใจ                อย่าชังชิงพี่จริงจัง

       ตัวไกลใจพี่อยู่                  เป็นคู่น้องครองยืนยัง
    ห่างเจ้าเฝ้าแลหลัง                ตั้งใจติดมิตรสมาน       
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 18 ต.ค. 14, 06:38


ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗  ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองชายทะเลมณฑลจันทบุรี  ในคราวนั้นกระทรวงทหารเรือได้จัดการประลองยุทธทางเรือและสวนสนามทางเรือถวายทอดพระเนตรเป็นครั้งแรกที่อ่าวสัตหีบ 

ผมได้รูปมาเหมือนกัน น่าจะเป็นเหตุการณ์นี้เอง ที่เห็นเกาะหมู่ ๓ลำเป็นเรือพิฆาตชั้นเดียวกัน ต่อจากอู่ของอังกฤษในฮ่องกงตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ ๕ ชื่อ ร.ล.มูรธาวสิตสวัสดิ์ ร.ล.พาลีรั้งทวีป และร.ล.สุครีพครองเมือง ส่วนลำใกล้ ต่อทีหลัง ชื่อ ร.ล.เสือคำรณสินธุ์

จากการเสด็จพระราชดำเนินคราวนั้น ได้จุดประกายในกระแสพระราชดำริที่จะหาเรือรบที่ทันสมัยกว่าให้ราชนาวีไทย ทรงนึกไว้เลยว่าจะพระราชทานชื่อ ร.ล.พระร่วง


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 18 ต.ค. 14, 07:25

แต่กว่าความฝันของพระองค์จะเป็นจริงก็หลายปีหลังจากนั้น  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรณรงค์ด้วยพระองค์เอง  ด้วยการนำบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จนสามารถเรี่ยไรเงินซื้อเรือรบสำหรับประเทศชาติได้ลำหนึ่ง แล้วโปรดเกล้าฯให้นายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ออกไปจัดซื้อเรือในยุโรปพร้อมด้วยคณะนายทหารอีก ๕นาย ซึ่งได้คัดเลือกเรือพิฆาตตอร์ปิโดชื่อ เอชเอ็มเอส เรเดียนท์ (HMS Radiant) อังกฤษต่อขึ้นเพื่อเข้าสมรภูมิในสงครามโลกครั้งที่ ๑ แต่ยังไม่ทันจะได้รบจริงสงครามก็ยุติเสียก่อน รัฐบาลอังกฤษจึงเสนอขายให้สยามในราคามิตรภาพสองแสนปอนด์  ต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งไว้

เมื่อตกลงซื้อแล้ว กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงเป็นผู้บังคับการ พร้อมด้วยนายทหารเรือไทยและลูกเรือชาวอังกฤษ   นำเรือหลวงพระร่วงจากยุโรปมาถึงกรุงเทพมหานคร  และจอดฉลองสมโภชที่ท่าราชวรดิฐ  ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 18 ต.ค. 14, 07:32

ประทับพระราชยานงาเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนราบไปเทียบพระราชยานที่เกยหน้าประตูพระอาราม
ทรงพระดำเนินโดยทางลาดพระบาทขึ้นประทับในพระอุโบสถ
พระสงฆ์สมณศักดิ์มหานิกายวัดฝั่งตะวันตกซึ่งรับเสด็จอยู่ในพระอุโบสถสวดพระคาถาถวายไชยมงคล
ทรงจุดธูปเครื่องนมัสการและเครื่องทองน้อยถวายบังคมพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
แล้วทรงพระราชอุทิศวัตถุปัจจัยถวายสำหรับบำรุงพระอารามเป็นมูลค่าราคาเงินร้อยชั่ง
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  (ฤทธิ  ธมฺมสิริ) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามถวายอติเรก  พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา

หลังจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินกลับ ด้วยขบวนพยุหยาตราโดยชลมารคเช่นเดียวกับขาไป

ข้าราชการ ข้าราชสำนักและทหารราชองครักษ์เตรียมรับเสด็จที่ท่าราชวรดิฐ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 19 คำสั่ง