เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 11559 "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 17 ก.ย. 14, 09:22

           วรรณศิลป์ในตัวอย่างดังกล่าวนี้ มิได้เป็นรูปธรรมให้เห็นได้อย่างงานศิลปะแขนงอื่นๆเช่นจิตรกรรมหรือประติมากรรม   แต่เป็นความงามที่เกิดจากความเข้าใจอรรถรส  สัมผัสรับรู้รสเสียง รสของถ้อยคำที่คัดกรองแล้ว  อย่างบรรจง และรสของเนื้อความที่นำไปสู่จินตนาการอันบรรเจิด ตามที่กวีได้ถ่ายทอดจินตนาการผ่านมาให้ทางตัวหนังสือ
          เมื่อเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะประจักษ์ว่าจิตวิญญาณของภาษาวรรณศิลป์คืออะไร และอยู่ ณ ที่ใดในวรรณคดี

          จิตวิญญาณของวรรณศิลป์ในวรรณคดีไทย

          ต่อเนื่องจากลีลาของภาษา   ก็มาถึงคุณสมบัติอื่นๆทางวรรณคดีไทยบ้าง    อย่างหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ก็คือเราสามารถสัมผัสจิตวิญญาณของมนุษย์ผ่านทางงานวรรณคดีได้ ในลักษณะไหนบ้าง
         ดร.วิทย์ ศิวศริยานนท์ได้สรุปถึงวรรณคดีไทยไว้ในหนังสือ วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์ ว่า   
       
         “ ถึงแม้เนื้อเรื่องของวรรณคดีไทยโดยมาก   จะเป็นในทำนองที่เรียกว่าโรแมนติค      แต่ก็มีลักษณะของคลาสสิกและแบบศิลปะนิยมของจริง (realism) ระคนอยู่ด้วย      ถึงแม้เรื่องของพระอภัยมณีจะเต็มไปด้วยเวทมนตร์คาถา   ปี่แก้ว  เรือยนต์ ธนูกล   ยักษ์และผีเสื้อสมุทร    และการผจญภัยอย่างโลดโผนพิสดารอย่างไรก็ตาม     แต่การดำเนินเรื่อง  นิสัยใจคอและการกระทำของตัวละครเป็นสิ่งที่เป็นไปตามความจริง     หรืออยู่ในกรอบของเหตุผล  จึงเป็นที่จับใจของผู้อ่าน     นางผีเสื้อสมุทร  ถึงแม้จะ “สกนธ์กายโตใหญ่เท่าไอยรา”  และ “ตะวันเย็นขึ้นมาเล่นทะเลกว้าง    เที่ยวอยู่กลางวาริณกินมัจฉา    ฉวยฉนากลากฟัดกัดกุมภา”   ก็ผิดกับมนุษย์แต่รูปกายภายนอก    ส่วนนิสัยใจคอนั้นเหมือนมนุษย์   รู้จักรัก โกรธ หึงหวง  อย่างคนจริงๆ    ส่วนนางเงือกน้ำนั้นเล่า ก็มี “เชิงฉลาดเหมือนมนุษย์นั้นสุดเหมือน”   และ รู้จัก “แสนอดสูสารพัดจะบัดสี” เมื่อถูกพระอภัยโลม     นอกจากนั้น  การพูดจา  เกี้ยวพาราศีหรือการตัดพ้อต่อว่าเป็นไปอย่างที่เรียกว่า “สะใจ”คนอ่าน  เพราะแสดงความจริงเล็กๆน้อยๆในอารมณ์และนิสัยใจคอของคน     สิ่งเล็กๆน้อยๆนี่เองที่ทำให้ตัวละครในเรื่องนี้มีจิตใจเป็นมนุษย์ปุถุชนขึ้น      วรรณคดีไทยทุกเรื่องเป็นเช่นนี้   ไม่ว่าขุนช้างขุนแผน   อิเหนา  หรือกากี    คือมีเนื้อเรื่องและเหตุการณ์หลายอย่างอยู่เหนือเหตุผล    แต่นิสัยใจคอของตัวละคร ตรงกันกับความจริงของธรรมชาติของมนุษย์    มีการวิเคราะห์ทางจิตวิทยา(psychological analysis)  เฉียบแหลมไม่แพ้วรรณคดีอื่นใด”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 17 ก.ย. 14, 09:24

         จะเห็นได้ว่า แรงขับเคลื่อนให้ตัวละครในวรรณคดีดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ล้วนมีที่มาจาก ‘อารมณ์’ ทั้งสิ้น      บทพรรณนาที่จับใจคนอ่านมากที่สุดก็มักจะไม่พ้นจากบทที่บรรยายอารมณ์รัก โศก หรือเคียดแค้นของกวีและตัวละคร    ด้วยจิตวิญญาณของมนุษย์ที่แฝงอยู่ในวรรณคดี ทำให้การสร้างตัวละครออกมา มีสีสันแห่งดีและชั่วอย่างมนุษย์ปุถุชนทั่วไป     ข้อนี้เป็นคำตอบว่า เหตุใดพระเอกในวรรณคดีไทยจึงไม่ใช่คนที่เป็นตัวอย่างของความดีงามสมบูรณ์แบบจนไร้อารมณ์   แต่เป็นมนุษย์ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง เป็นของธรรมดา    บางครั้งก็ตัดสินใจผิด  บางครั้งก็ขาดตกบกพร่องทางพฤติกรรม   ประพฤติผิดทั้งส่วนตัวและต่อสังคม   วรรณคดีจึงไม่ใช่เรื่องจำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องของคนดี  หรือทำหน้าที่สั่งสอนอบรมให้คนทำความดี แสดงให้เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วตามแนวของพุทธศาสนา

         จิตวิญญาณของมนุษย์ที่ดำเนินไปด้วยอารมณ์และเลือดเนื้ออย่างปุถุชน คือพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินเรื่องในวรรณคดี       ถ้าหากว่ากวีแต่งวรรณคดีเพื่อแสดงชีวิตที่ดีงามถูกต้องของตัวละคร   โดยไม่ยึดถืออารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ   วรรณคดีหลายเรื่องก็คงมีเส้นทางที่เปลี่ยนแปลงไปมาก จนถึงขั้นดำเนินเรื่องต่อไปไม่ได้   ใน ลิลิตพระลอ  เมื่อถูกเสน่ห์   พระลอย่อมหักห้ามใจตัวเองจนสำเร็จมิให้ตกอยู่ในคาถาอาคมปู่เจ้าสมิงพราย ไม่ว่าจะด้วยวิธีปฏิบัติธรรมจนบรรลุสู่โลกุตระ  หรือยอมตายเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของกษัตริย์  อย่างใดอย่างหนึ่ง  เมื่อทุกอย่างดำเนินไปอย่างที่ควรเป็น    การพบปะพระเพื่อนพระแพงก็จะไม่เกิดขึ้น     และเรื่องก็จะไม่นำไปสู่โศกนาฏกรรมในตอนจบ   
         ข้อสำคัญคือก็จะไม่มีบทโคลงอันเลื่องลือบทนี้ ในตอนท้ายของเรื่อง
            สิ่งใดในโลกล้วน      อนิจจัง
        คงแต่บาปบุญยัง      เที่ยงแท้
        คือเงาติดตัวตรัง      ตรึงแน่น อยู่นา
       ตามแต่บุญบาปแล้      ก่อเกื้อรักษา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 17 ก.ย. 14, 09:29

          ข้อคิดทำนองนี้อาจนำมาประยุกต์ได้กับ อิเหนา  ถ้ากวีแต่งว่าเมื่อเสร็จศึกกะหมังกุหนิงแล้ว  อิเหนาหรือระเด่นมนตรี ก็รีบกลับไปหาจินตะหราที่เมืองหมันหยาตามเดิม เพื่อรักษาศีลข้อสามไว้อย่างมั่นคง     ไม่เกี่ยวข้องกับบุษบาผู้เป็นเพียงอดีตคู่หมั้น ซ้ำนางยังมีจรกาเป็นคู่หมั้นคนใหม่แล้วด้วย     ทำนองเดียวกับใน ขุนช้างขุนแผน   เมื่อขุนแผนตัดสินใจเลิกกับนางวันทองตั้งแต่ได้เมียคนที่สองคือนางลาวทอง   ก็ยึดมั่นในความถูกต้อง  ไม่มาข้องแวะกับนางวันทองอีก    อิเหนาก็จะจบลงเพียงแค่นั้น  ไม่มีบทบาทขององค์ปะตาระกาหลา     ไม่มีบทลมหอบ  ไม่มีอุณากรรณ  ไม่มีอานุภาพของอิเหนาในฐานะกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่     ส่วนขุนช้างขุนแผนก็เช่นกัน คือจะขาดตัวละครสำคัญไปอีกหลายตัว เช่นนางแก้วกิริยา  กุมารทอง  พลายงาม พลายชุมพล ศรีมาลา สร้อยฟ้า   ข้อสำคัญนางวันทองก็จะอยู่กินกับขุนช้างไปจนแก่ชราถึงบั้นปลายของชีวิต     ไม่มีบทถูกประหารและไม่มีเปรตนางวันทองมาห้ามทัพแต่อย่างใด   

        ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง   วรรณคดีทุกเรื่องก็คงจะจบลงตั้งแต่บทต้นของเรื่อง   ไม่อาจมีกิเลส ตัณหา ความผิดพลาด รัก โลภ โกรธหลง มาเป็นแรงผลักดันให้เรื่องดำเนินต่อไปด้วยสีสัน    ไม่เกิดความเร้าใจให้ติดตามจนถึงตอนจบ     จิตวิญญาณของมนุษย์ในวรรณคดีก็จะหยุดลงเพียงระดับกรอบของศีลธรรม     ไม่มีชีวิตนอกกรอบอย่างใดมากไปกว่านั้น
        ในที่สุด การแต่งวรรณคดีก็เป็นเรื่องง่าย คือกำหนดตัวละครให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ถูกต้องดีงาม กลายเป็นสูตรสำเร็จของการแต่ง ที่ไม่เอื้อต่อจินตนาการและงานสร้างสรรค์ของกวี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 17 ก.ย. 14, 21:26

         อารมณ์ในวรรณคดี
 

         อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า ในเมื่ออารมณ์เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของวรรณคดี   บทที่แสดงอารมณ์อย่างแรงกล้าหรือ passion โดยเฉพาะในเชิงรัก จึงมักจะกลายเป็นบทเด่นของเรื่อง    กวีมักจะถ่ายทอดฝีไม้ลายมือของตนออกมาอย่างเต็มเปี่ยม ด้วยพลังในบทที่สื่ออารมณ์แรงและลึก มากกว่าจะไปถ่ายทอดในบทอื่นๆเช่นบทพรรณนาธรรมชาติ
บางครั้งในบทพรรณนาธรรมชาตินั้นเอง  กวีก็แทรกอารมณ์ บางครั้งอาจมากกว่าหนึ่งอารมณ์เข้าไปในนั้น  เพิ่มสีสันรสชาติให้กับฉาก ทำให้เหนือกว่าการพรรณนาอย่างทั่วไป 
         ในบทพรรณนาธรรมชาติล้วนๆ แม้เขียนด้วยภาษาสละสลวยอย่างไรก็ตาม  แต่เมื่อเทียบกับการพรรณนาธรรมชาติในอารมณ์กวีควบคู่กับธรรมชาติภายนอก     อย่างหลังจะกระทบอารมณ์ และโน้มน้าวความสะเทือนใจจากคนอ่านได้มากกว่า
         บทพรรณนาความงามของดวงจันทร์   มีอยู่มากในวรรณคดีหลายเรื่อง    แต่บทพรรณนาเฉพาะสิ่งที่เห็น คนอ่านก็จะได้เสพความงามของภาษาอย่างเดียว ด้วยการใช้อักษรทำให้เกิดภาพเป็นรูปธรรมขึ้นในใจ   แต่มันก็จะเหมือนกันเป็นภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวผ่านจากเลนส์กล้อง อยู่แค่นั้น

       ขยับเท้าก้าวย่างออกจากห้อง
พระจันทร์ส่องแสงจำรัสประภัสสร
พระพายพัดบุบผาพาขจร
รวยรินรสร่อนระรื่นไป

                         (ขุนช้างขุนแผน)

            แต่การพรรณนาที่มีทั้งสิ่งที่ตาเห็นเป็นรูปธรรม  กับอารมณ์อันเป็นนามธรรม รวมด้วยกัน จะให้มิติที่ลึกกว่า  เพราะมีทั้งรูปธรรมและนามธรรมประกอบกัน    ยิ่งถ้าเป็นอารมณ์หลายอย่างคละเคล้าปะปนกัน  ก็จะยิ่งส่งอารมณ์ให้ทวีมิติความลึกยิ่งขึ้น 
เช่นในบทนี้  เป็นบทพรรณนาดวงจันทร์ในเวลากลางคืนเช่นเดียวกับบทก่อนหน้า     แต่บทก่อนนั้นปราศจากอารมณ์ จึงไม่กระทบใจได้มากเท่ากับบทต่อไปนี้

            ไม่เห็นนางย่างขึ้นบนหอน้อย
พระจันทร์ฉายบ่ายคล้อยจำรัสไข
สว่างเวิ้งวงบ้านสงสารใจ
ใบไทรต้องลมระงมเย็น
เย็นฉ่ำน้ำค้างค้างใบไทร
จากเมียเสียใจไม่เล็งเห็น
โอ้น้ำค้างเหมือนนางน้ำตากระเด็น
เช้าเย็นยามนอนจะนอนนึก
ยามกินก็จะกินแต่น้ำตา
เฝ้าครวญคร่ำร่ำหาเวลาดึก
จะแสนคิดเช้าค่ำเฝ้ารำลึก
ตรึกแล้วเคืองขุ่นให้มุ่นใจ
                           (ขุนช้างขุนแผน)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 17 ก.ย. 14, 21:28

          กวีในฐานะศิลปิน ย่อมมีอารมณ์ละเอียดอ่อนไหว  รับรู้สิ่งมากระทบอารมณ์ได้ลึกล้ำกว่าคนทั่วไปที่ไม่มีคุณสมบัติด้านนี้      ในเมื่อกวีใช้วรรณคดีเป็นเครืองสะท้อนอารมณ์ของตนเอง  งานที่สะท้อนอารมณ์ของกวีเช่นนี้  จึงบอกตัวตนของกวีได้เกินกว่าการบรรยายด้านรูปธรรมจะแสดงให้เห็นได้
         เนื่องจากกวีจำนวนมากในสมัยก่อน ไม่ใคร่จะเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองมากนัก   จึงมีกวีหลายคนที่คนรุ่นหลังรู้จักแต่เพียงชื่อและผลงาน แต่แทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวกวีเอง      ถ้าจะพยายามรู้จักกวีให้มากกว่าที่ประวัติบอกไว้  อย่างหนึ่งคือสังเกตจากอารมณ์ที่สะท้อนอยู่ในผลงาน
         ตัวอย่างเช่นพระนิพนธ์กลอนเพลงยาวเรื่อง นิพพานวังหน้า หรือสะกดแบบเดิมว่า "นิพานวังน่า" เป็นเรื่องราวบันทึกอาการประชวร เรื่อยมาจนสิ้นพระชนม์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1       ผู้แต่งเรื่องนี้ไม่ได้ระบุชื่อตัวเอง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าเป็นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร  พระธิดาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชื่อนักองค์อี  ผู้เป็นพระธิดาสมเด็จพระอุไทยราชา  กษัตริย์กัมพูชา
         เรื่อง นิพพานวังหน้า ไม่เป็นที่รู้จัก  ไม่ได้รับสนใจของนักวรรณคดีและประวัติศาสตร์มากเท่าที่ควร  เพราะเป็นเรื่องอ่านยาก เรียกได้ว่าครบถ้วนทุกประการของความยาก  เช่นใช้คำขยายฟุ่มเฟือย เป็นคำแปลกๆ จนบางบทก็อ่านไม่รู้เรื่อง    ไม่ได้เรียงลำดับเหตุการณ์  หากแต่เขียนย้อนไปย้อนมา ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เช่นเรื่องวรรณคดีบ้างประวัติศาสตร์บ้าง ปะ ปนเข้ามาทุกที่ ตามพระทัยผู้นิพนธ์ ให้อ่านยากหนักเข้าไปอีก
        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเห็นข้อนี้  จึงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า

       " ท่านผู่้แต่งไม่ทราบอักขรวิธี    เขียนด้วยความลำบาก    หาอะไรต่ออะไรบรรทุกลงไป  เพื่อจะสำแดงเครื่องหมายให้เข้าใจคำที่หวังจะกล่าว      จึงไม่เป็นการง่ายแก่ผู้ที่จะอ่าน   ถ้าจะอ่านตามตัว แทบจะไม่ได้ข้อความเท่าใด  จำจะต้องเดาอ่าน    แต่ถึงเดาอ่านดังนั้น  ยังจะกลั้นหัวเราะไม่ได้    ไปขันเสียในถ้อยคำที่จดลงไว้บ้าง    เบื่อคำครวญครางซ้ำซากให้ชวนพลิกข้ามไปเสียบ้าง   ไม่ใคร่จะได้ข้อความครบถ้วน"

         นักวิชาการจำนวนมากยึดถือพระราชวินิจฉัย จึงทำให้ นิพพานวังหน้า   ถูกมองข้าม ไม่นับว่าเป็นวรรณคดีที่ควรแก่การสนใจนำมาศึกษาเชิงวรรณศิลป์   ข้อนี้นับว่าจริง  เพราะส่วนบันทึกเหตุการณ์สมัยปลายรัชกาลที่ ๑  มีลักษณะวกวนเข้าใจยาก     คำบรรยายเหตุการณ์ก็ไม่เอื้อต่อการแสดงอารมณ์ได้ลึกนัก    จนกระทั่งกลบคุณสมบัติความเป็นกวีของพระองค์เจ้าหญิงองค์นี้เสียหมด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 17 ก.ย. 14, 21:29

          อย่างไรก็ตาม  ถ้าพินิจในเชิงวรรณศิลป์แล้ว  ผู้นิพนธ์เรื่องนี้นับว่าเป็นกวีที่น่าทึ่งองค์หนึ่ง    เราจะต้องคำนึงด้วยว่าในสังคมไทยเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน  ผู้หญิงในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีโอกาสเล่าเรียนได้น้อยกว่าผู้ชายมาก    ตลอดจนถูกจำกัดด้านชีวิตความเป็นอยู่  มิให้มีประสบการณ์ได้กว้างขวางเช่นผู้ชาย  ไม่ว่าจะเป็น การเดินทาง  การประกอบอาชีพ  หรือโอกาสในการรับราชการสร้างความก้าวหน้าให้ชีวิต     แต่พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรก็เป็นหนึ่งในสตรีน้อยคนที่ทรงเล่าเรียนเขียนอ่านจนมีฝีมือทางวรรณศิลป์  พอจะสร้างงานนิพนธ์ขนาดยาวได้  ไม่น้อยกว่ากวีชายอีกหลายๆคนในราชสำนัก
          พระนิพนธ์เรื่องนี้มีวรรณศิลป์แฝงอยู่  มิใช่ไม่มี    เป็นวรรณศิลป์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “อารมณ์” เห็นได้จากตรงไหนที่พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรทรงแต่งด้วยลีลากวีนิพนธ์ที่แยกออกมาเป็นกลบท ให้เด่นเป็นพิเศษ    ตรงนั้นคือแสดงอารมณ์แรงที่เข้ามากระทบ ก่อให้เกิดความสะเทือนใจอย่างรุนแรง  แสดงตัวตน หรือ identity ของผู้นิพนธ์ออกมาชัดเจน   เช่นตอนที่ทรงทราบว่าพระเชษฐา คือพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตก่อกบฏ  ก็กริ้วมาก   การที่ทรงไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพระเชษฐาทั้งสอง   เพราะทรงยึดคำสั่งของพระบิดาให้ฝากตัวกับสมเด็จพระปิตุลา คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก      เมื่อเกิดเรื่องกบฏขึ้นมา   จึงทรงแค้นเคืองและตัดพ้อต่อว่าพระองค์เจ้าลำดวนและอินทปัตอย่างไม่ไว้หน้าด้วยบทกวีที่เข้มข้น นอกจากแสดงอารมณ์สะเทือนใจ  ยังแสดงตัวตนของท่านสะท้อนในถ้อยคำที่องอาจกล้าหาญราวกับชาย    มี โวหารเปรียบเทียบ  และกลบทด้วยฝีมือกวี ที่เด่นกว่าการเล่าเหตุการณ์ในเรื่องตอนอื่นๆทั่วไป

         เสียแรงที่เป็นชายชาติกำแหง
หาญเสียแรงรู้รบสยบสยอน
เสียพระเกียรติมงกุฏโลกลือขจร
เสียแรงรอนอรินราบทุกบุรี
เสียดายเดชเยาวเรศปิโยรส
เสียยศบุตรพระยาไกรสรสีห์
เสียชีวิตผิดแพ้พระบารมี
เสียทีทางกตัญญุตาจริง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 18 ก.ย. 14, 09:57

 ยิ้ม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 18 ก.ย. 14, 09:59

        ตัวอย่างอีกตอนหนึ่งที่สำแดงตัวตนกวีของพระองค์   คือตอนที่สะท้อนอารมณ์รักอันเร้นลับที่แฝงอยู่      เป็นอารมณ์โศกศัลย์จำต้องเก็บกดไว้อย่างแรงกล้า     ผู้นิพนธ์ทรงเท้าความถึงวันใกล้จะเชิญพระบรมศพกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทขึ้นถวายพระเพลิง อันเป็นวันสุดท้ายของวังหน้า          หลังจากวันนี้   อาการ ‘บ้านแตกสาแหรกขาด’ ก็จะเกิดขึ้นกับชาววังหน้าทั้งหลายในเมื่อไม่มีเจ้าของบ้านคุ้มครองอีกแล้ว      คนรักที่เคยอยู่ร่วมวังเดียวกัน ก็อันจะต้องพลัดพรากจากกันไปโดยไม่พบกันอีก
       กวีบรรยายอารมณ์วิปโยคที่จะต้องพลัดพรากจากคนรักขึ้นมา    โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ทำไมต้องจากกัน   จากไปไหน  และคนรักที่อาลัยอาวรณ์กันใจจะขาดนั้นเป็นใคร
           ยิ่งยลมิตรคิดอาลัยใจจะขาด
        แสนสวาทหวั่นหวามถึงทรามสงวน
       จึงกุมกรช้อนคู่ประคองชวน
        ถนอมนวลนุชขึ้นบนเพลาตรอม
           เจ้าซบพักตร์ลงกับตักทั้งสะอื้น
       ทั้งเที่ยงคืนเปลี่ยนให้สไบหอม
       ไหนจะโศกถึงพระมิ่งมงกุฏจอม
       ไหนจะผอมเพื่อนยากจะจากวัง


            ถ้าอ่านโดยไม่ทราบว่าผู้นิพนธ์เป็นใคร ก็จะนึกว่าเป็นบทรำพันอาลัยรักระหว่างคู่สามีภรรยา   คำพรรณนาความทุกข์ที่จะต้องพลัดพรากจากคนรักเช่นนี้ ถ้าคนเขียนเป็นสุนทรภู่หรือนายมีก็ไม่แปลก    เพราะกวีทั้งหลาย เมื่อต้องจากนางผู้เป็นที่รักก็รำพันอาลัยด้วยกันทั้งนั้น
          คนอ่านทั้งหมดคงนึกไม่ถึงว่า อารมณ์โศกรุนแรงที่ว่านี้คืออารมณ์ของหญิงมีต่อหญิงด้วยกัน       เป็นความรักแรงกล้าที่ต้องลอบเร้นปิดบังระหว่างพระองค์เจ้าหญิงกับนางในคนหนึ่งของวังหน้า  ซึ่งไม่เปิดเผยว่าเป็นเจ้านายด้วยกันหรือว่าเป็นเจ้าจอมหม่อมห้าม   ถ้าเราไม่จับอารมณ์ในเรื่องให้ได้ก็จะไม่เข้าใจว่า นี่คืออารมณ์รักของรักร่วมเพศในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 18 ก.ย. 14, 10:02

        ความรักที่ว่านี้ เป็นส่วนประณีตบรรจงของเรื่อง  ถึงขั้นกวีเลือกใช้กลบทเพื่อแสดงความพิถีพิถันเป็นพิเศษในการบรรยายส่วนสะเทือนอารมณ์ของผู้นิพนธ์  เป็นคำพรรณนารำพันอาลัยรักที่แต่งเป็นกลบทครอบจักรวาลบังคับคำแรกในวรรคให้ซ้ำเสียง(และรูป)กับคำหลังสุดของวรรค  แสดงถึงความชำนาญของผู้แต่งว่ามีฝีมือไม่น้อยกว่ากวีชาย  ตั้งพระทัยบรรจงแต่งกลอนพรรณนาในส่วนสำคัญของเรื่อง

       โฉมวิไลล้ำนางสำอางโฉม
ไขแขเด่นโพยมเด่นแขไข
ไกลรักเรียมยิ่งรานด้วยการไกล
นวลโหยนำพี่ไห้เมื่อสั่งนวล
      สายเนตรชลนัยน์ไม่ขาดสาย
หวนกระหายนึกนุชคะนึงหวน
จวนอรุณส่องฟ้าเวลาจวน
กันแสงหวนทนทุกข์ที่จากกัน


      การจับให้ถึง “อารมณ์” ของกวี จะทำให้คนอ่านมองเห็นจิตวิญญาณของกวีได้ชัดเจนกว่าการบรรยายเหตุการณ์อื่นๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 18 ก.ย. 14, 10:15

        จิตวิญญาณวรรณศิลป์ในคีตการ

         คนไทยจำนวนน้อยรู้จัก และชื่นชมเพลงคลาสสิคของตะวันตก     แต่มิได้หมายความว่า คนไทยเป็นชนที่ไม่มีดนตรีการ    แต่เป็นเพราะรากเหง้าของไทยมิได้มาจากยุโรป     จึงยากที่จะให้คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ ดื่มด่ำกับเพลงของเบโธเฟน โชแปง โมสาร์ท ฯลฯ แม้ว่ามีวิชาดนตรีตะวันตกในมหาวิทยาลัยเป็นที่นิยมของหนุ่มสาวจำนวนหนึ่ง    แต่อายุของหลักสูตรนับว่าสั้นเมื่อเทียบกับประวัติยาวนานของคีตการในสยามประเทศ     แต่ไทยก็สืบสานดนตรีต่อเนื่องมาตั้งแต่อยุธยาจนถึงปัจจุบัน โดยมิได้ละทิ้ง   เห็นหลักฐานได้จากเพลง สายสมร   ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน   ตลอดจนเพลง พระทอง และ นางนาค ที่มีประวัติอันยาวนานหลายร้อยปี

        ในปัจจุบัน  เพลงไทยเดิมอาจไม่เป็นที่แพร่หลายมากมายก็จริง   แต่ก็มิได้สูญหาย   หากแต่แอบแฝงอยู่ในชนิดต่างๆของเพลงมายาวนานหลายทศวรรษ       นับเป็นโชคดีที่คนไทยไม่ได้อนุรักษ์เพลงเอาไว้ในแบบเดิมจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้    การทำเช่นนั้นจะนำมาซึ่งการสูญหายของเพลงเมื่อหมดความสนใจของคนแต่ละรุ่น
คนไทยฉลาดพอจะปรับประยุกต์เข้ากับความสนใจแต่ละสมัย    เมื่อก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2    เพลงไทยเดิมถูกดัดแปลงให้ผสมผสานกับท่วงทำนองเพลงของตะวันตก กลายเป็นเพลงประยุกต์ เช่นเพลงจำนวนมากของสุนทราภรณ์   เพลงไทยสากลหรือต่อมาเรียกว่าเพลงลูกกรุง   มีจำนวนมากใช้ทำนองของเพลงไทยเดิมเป็นพื้นฐาน มาดัดแปลงให้เข้ากับท่วงทำนองให้เข้ากับยุคสมัย

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 18 ก.ย. 14, 10:23

          ในตอนนี้เองที่วรรณศิลป์เข้ามามีบทบาทในเพลง   เพราะเนื้อเพลงจำนวนมากนำมาจากวรรณคดี ใส่ท่วงทำนองเพลงสากลที่ดัดแปลงจากไทยเดิม  มีหลายเพลง ล้วนแต่รักษาวรรณศิลป์ไว้ในเนื้อเพลง      ผู้แต่งเนื้อร้องเหล่านี้ควรคู่กับคำว่า กวีเพลง   เพราะมีฝีมือทั้งด้าน ‘ถอดความ’ จากวรรณคดีมาเป็นศิลปะอีกสาขาหนึ่ง     โดยมิใช่เป็นการลอกมาตรงๆ      และบางท่านก็ยังนำวรรณคดีมาตีความใหม่ ใส่อารมณ์ลงไปตามที่เห็นสมควร เป็นการให้อิสระแก่วรรณคดีที่จะถูกมองในแง่ต่างๆนอกเหนือจากเนื้อหาเดิมที่เป็นหนังสือ
      ตัวอย่างหนึ่งคือเพลง อำเหนารำพัน   จากทำนองเพลงไทยเดิม ‘แขกปัตตานี’   ผู้แต่งเนื้อร้องคือครูไศล ไกรเลิศซึ่งเรียบเรียงทั้งทำนองเพลงและเนื้อร้อง ตีความใหม่ให้อารมณ์สะเทือนใจและหึงหวงที่อิเหนามีต่อจรกา เป็นการเพิ่มเติมเนื้อหาซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีพระราชนิพนธ์ อิเหนา   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 20 ก.ย. 14, 09:05

        อิเหนาเอ๋ย          กรรมแล้วเอยรักเจ้าผิดหวัง
เพราะรักเขาเพ้อคลั่ง    เขาชังเมินหน้า พาอดสู
ขาดยอดชู้เชยชมตรมใจ    ไหนจะอายผู้คน
ทุกข์ใจทนหมองไหม้    หลงลมใครโอ้ใจบุษบา
เจ้าเปลี่ยนคู่คลอ       ไปชื่นเจ้าจรกา
โอ้แก้วตา          ลมรักใดพาลอยไป
หลงรักเขา          มองหาเงาแล้วเศร้าหวั่นไหว
รักหลงไหลเหมือนบ้า    นิจจาลืมได้   โอ้ใจหญิง
แม่งามพริ้งมีมนต์วาจา    เหมือนอารมณ์บุษบา
เหมือนพิมพาพิไลย    หลงลมใครโอ้ใจชื่นกมล
โอ้อกอิเหนา          จะเปรียบตัวเราอับจน
ใจกังวล         คนรักมาเมินไปเอย



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 20 ก.ย. 14, 09:20

        เมื่อกล่าวถึงเพลงไทยสากลที่ดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม และเนื้อเพลงสุนทราภรณ์ที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้นิยมเพลงไทยสากลรุ่นเก่า มีอยู่จำนวนมากที่นำเนื้อร้องจากวรรณคดีมาสวมใส่ท่วงทำนองสากล เช่นเพลงแจ๊สได้อย่างกลมกลืนไม่ขัดกันเลย       กวีเพลงอย่างครูแก้ว อัจฉริยะกุล ได้แต่งเนื้อร้องเอาไว้หลายเพลง       เพลงหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากบทโคลงของศรีปราชญ์  คือเพลง พรานล่อเนื้อ    นำมาจากบทโคลงเดิมที่ว่า
        เจ้าอย่าย้ายคิ้วให้            เรียมเหงา
ดูดุจนายพรานเขา                  ส่อเนื้อ
จะยิงก็ยิงเอา                         อกพี่  ราแม่
เจ็บไป่ปานเจ้าเงื้อ                   เงือดแล้วราถอย

เนื้อร้องใหม่ที่ถอดความจากโคลง เก็บใจความและรายละเอียดมาได้หมด  กลายมาเป็นเพลง

เจ้ายักคิ้วให้พี่              เจ้ายิ้มในที         เหมือนเจ้าจะมีรักอารมณ์       
ยั่วเรียมให้เหงา           มิใช่เจ้าชื่นชม   อกเรียมก็ตรม ตรมเพราะคมตาเจ้า
เรียมพะวักพะวง           เรียมคิดทะนง   แล้วเรียมก็คงหลงตายเปล่า
ดังพรานล่อเนื้อ เงื้อแล้วเล็งเพ่งเอา    ยั่วใจให้เมา เมาแล้วยิงนั่นแล
น้าวศรเล็งเพ่งเอาทุกสิ่ง       หากเจ้าหมายยิง   ก็ยิงซิแม่
ยิงอกเรียมสักแผล           เงื้อแล้วแม่  อย่าแปรอย่าเปลี่ยนใจ
เรียมเจ็บช้ำอุรา      เจ้าเงื้อเจ้าง่า  แล้วเจ้าก็ล่าถอยทันใด       
เจ็บปวดหนักหนาเงื้อแล้วราเลิกไป   เจ็บยิ่งสิ่งใดไยมิยิงพี่เอย 

เวอร์ชั่นคลาสสิคของคุณวินัย จุลละบุษปะ



เวอร์ชั่นของนักร้องรุ่นหลัง อย่างกบ ก้อง และบี


ส่วนคลิปสุดท้ายนี้ ลงไว้เผื่อชาวเรือนไทยหนุ่มๆสาวๆที่เป็นแฟนของน้องกัน เดอะ สตาร์   ผู้อาวุโสทั้งหลายเชิญดูเวอร์ชั่นอื่น  ยิ้มเท่ห์

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 20 ก.ย. 14, 09:23

    แม้แต่งานชิ้นที่แต่งขึ้นใหม่ ไม่ได้นำทำนองจากของเก่า ก็ยังรักษาวรรณศิลป์ของไทยไว้ตามขนบเดิมของวรรณคดีไทย  อย่างเพลง “กลิ่นเกล้า” คำร้องและทำนองของครู ไพบูลย์ บุตรขัน  เป็นเพลงลูกกรุงที่ผสมผลานบรรยากาศลูกทุ่งในเนื้อเพลง     
              กลิ่นเกล้า
หวิวไผ่ลู่ลม          ยืนชมขอบคันนา
ไกลสุดตาฟ้าแดงเรื่อ   หอมกลิ่นฟางกรุ่นเจือ
แกมกลิ่นเนื้อน้องนาง    ไม่จางสดใส

เห็นหนึ่งน้องนาง      เอวบางรูปลอยลม
ชวนให้ชมชิดเชยใกล้   ผิวผ่องงามประไพ
ดูอ่อนไหวพริ้งพราว    สาวชาวนาเอย
ผมสลวยสวยขำดำเป็นเงา
พี่ขอให้นามตัวเจ้า แม่โพสพ   ทรามเชย
อย่าหานางน้องใดไหนเลย
เทียบเกยแข่งขันเคียงคู่    ต้องอายอดสูรวงทองเทวี
หอมกลิ่นเกล้านาง      เจือจางกลิ่นลั่นทม
ลอยกรุ่นลม หวามใจพี่   ถึงอยู่นานกี่ปี
มีแม่ศรีแนบกาย       ขอตายบ้านนา


บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 22 ก.ย. 14, 10:27

เข้ามาติดตามฟังปาฐกถา ของท่านรศ.ดร.วินิตาอยู่ครับ

สีของผ้าม่านและผ้าคลุมโต๊ะท่านปาฐก เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยหรือครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.096 วินาที กับ 20 คำสั่ง