เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
วันที่ 15 กันยายนของทุกปี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดให้เป็น "วันศิลป์ พีระศรี" เพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการศิลปศึกษาและศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทย
ทุกปี คณะกรรมการจะพิจารณาและคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปี ปีนี้ได้พิจารณาตัดสินให้ รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ (ว.วินิจฉัยกุล, แก้วเก้า) เป็นผู้ได้รับรางวัลปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ผู้ที่ได้รับรางวัล จะได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐก ประจำปี ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
ปีนี้ หัวข้อปาฐกถาคือ “วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย” จะนำมาลงให้อ่านกันในกระทู้นี้ จบแล้วค่อยเล่าเพิ่มเติมค่ะ
|
 คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 16 ก.ย. 14, 11:34
|
|
วรรณศิลป์อยู่หนใด ตั้งแต่พ.ศ. 2542 จนปัจจุบัน ผู้เขียนทำหน้าที่ดูแลเว็บไซต์วิชาการทางด้านภาษา วรรณคดี วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอยู่แห่งหนึ่ง ชื่อว่า www.reurnthai.com เว็บไซต์มีกระดานสนทนาให้ผู้สนใจเข้าตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบจากผู้ดูแล และผู้รู้อื่นๆที่แวะเวียนเข้ามาให้วิทยาทานเป็นประจำ หลายครั้งพบว่าเด็กiนักเรียนสมัครสมาชิกเข้ามาในห้องวรรณคดี โดยไม่ได้สนใจวรรณคดี แต่เพื่อจะวานให้ทำการบ้านวรรณคดีไทย เพราะตัวเองทำไม่ได้ หรือไม่สนใจจะทำ เห็นได้ว่าวรรณคดีไทยกลายเป็นยาหม้อใหญ่ที่เด็กๆกลืนไม่ลง ตัวอย่างการตั้งคำถามที่นักเรียนเกี่ยวกับวรรณคดี คือออกมาในทำนองเดียวกันนี้ - ช่วยถอด บทประพันธ์ หน่อยค่ะ คำประพันธ์ เมื่อนั้น ท้าวกะหมังกุหนิงสูงส่ง เห็นค่ายเสร็จพลันมั่นคง จึงชวนองค์โอรสธิบดี ตรัสเรียกสองราชอนุชา เสด็จจากรถาเรืองศรี พร้อมด้วยกิดาหยันเสนี จรลีขึ้นสุวรรณพลับพลา - ช่วยแปลบทละครอิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง หน่อยค่ะ (( มี 3 ย่อหน้า )) - ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ ครั้นว่ารุ่งสางสว่างฟ้า สุริยาแย้มเยี่ยมเหลี่ยมไศล จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงชัย เนาในพระที่นั่งบัลลังก์รัตน์ พร้อมด้วยพระกำนัลนักสนม หมอบประนมเฝ้าแหนแน่นขนัด ประจำตั้งเครื่องอานอยู่งานพัด ทรงเคืองขัดขุนช้างแต่กลางคืนบางคนก็ดีหน่อยคือทำการบ้านมาแล้ว ขอให้ช่วยตรวจอีกที - ผมถอดความแบบนี้ถูกป่ะ เมื่อพวกอสัญแดหวาได้ฟังตำมะหงงก็รู้สึกดีใจจึง เข้าไปในห้องแล้วไห้ปิดม่านทองส่วนสุหรานากงก็กลับที่พักแล้วฝ่ายกองร้อย ข้างกะหมังกุหนิงเห็นทัพนับแสนต่างตกใจก็เลยหนีไป พอถึงค่ายก็เอาข่าวทั้งหมดบอกแก่เสนาในว่าได้เห็นรี้พล เมื่อยาสาได้รู้เหตุผลจึงกลับมาที่พักแล้วกราบ ทูลกะหมังกุหนิงว่าเห็นทัพใหญ่ยกมาแน่นป่า มีเสียงแตรางข์ฆ้องกลองช้างร้อง สนั่นป่า มีอาวุทหอกดาบมากมาย มีขี้ฝุ่นบดบังดวงอาทิตย์ แล้วมีทัพออกจากเมืองมาสมทบ สงครามครั้งนี้ยิ่งใหญ่นัก พรุ่งนี้น่าจะต่อสู้กันพระทรงธรรม์จงทราบฝ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 16 ก.ย. 14, 11:36
|
|
ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่าการเรียนวรรณคดีคือการถอดความ หรือแปลศัพท์เท่านั้นหรือ เมื่อสอบถามเด็กนักเรียนมัธยมปลายที่เข้ามาขอความรู้ในกระดานสนทนา ก็ได้ความว่า การเรียนวรรณคดีเช่นวิชาประวัติวรรณคดี นักเรียนเรียนเพียงแค่ข้อมูลเบื้องต้นของวรรณคดีเรื่องนั้นๆ เป็นต้นว่า ใครคือผู้แต่ง จุดประสงค์ ผลกระทบต่อวัฒนธรรมและสังคม ฯลฯ แต่ไม่ได้เรียนถึงขั้นวิเคราะห์ตีความ หรือเรียนให้เข้าใจถึงคุณค่าของวรรณคดี เมื่อเรียนกันคร่าวๆดังนี้ ดังนั้นในหนึ่งภาคการศึกษา นักเรียนจึงเรียนจบไปเกือบสิบเรื่อง ส่วนวิชาวรรณคดีมรดก เรียนลึกขึ้นคือภาคการศึกษาละสองเรื่อง มีเสภาขุนช้างขุนแผน มัทนะพาธา ลิลิตตะเลงพ่าย และมหาเวสสันดรชาดก แต่ละเรื่องต้องอ่านตามบทที่ทางโรงเรียนได้กำหนดมาให้ แล้ววิเคราะห์ ตีความ เวลาสอบก็จะเป็นการสอบแบบวิเคราะห์มากกว่าท่องจำ วิชาวรรณคดีเรียนกันน้อยเพียงสัปดาห์ละสองชั่วโมง แม้ว่าชั่วโมงเรียนจะน้อย แต่นักเรียนต้องทุ่มเทเวลาในการเตรียมตัวสอบ เพราะเนื่องจากต้องอ่านบทร้อยกรองและทำความเข้าใจศัพท์ภายในเรื่อง โดยรวมแล้ว นักเรียนจำนวนมากเห็นว่าวรรณคดีไทยเป็นวิชาน่าเบื่อบ้าง หรือไม่ก็ยากเกินเข้าใจบ้าง ถ้าให้เลือกเรียนวรรณคดีไทยกับภาษาเยอรมัน เด็กนักเรียนเห็นว่าภาษาเยอรมันดีกว่า เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้มากกว่า ถ้าหากพูดถึงโรงเรียนอื่นๆนอกจากนี้ ที่ไม่ได้มีการสอนวรรณคดีแบบเข้มข้นแล้ว เด็กส่วนใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญกับวรรณคดี แต่จะเน้นไปทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากกว่า เพราะได้ใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อครูสอนตามหนังสือของกระทรวง นักเรียนก็เรียนพอให้สอบผ่านเท่านั้น
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 16 ก.ย. 14, 11:39
|
|
ในเมื่อหลักสูตรวรรณคดีในระดับมัธยมเป็นอย่างนี้ วรรณคดีจึงเป็นยาหม้อใหญ่ เต็มไปด้วยส่วนผสมของศัพท์โบราณคร่ำครึและยากเย็นห่างไกลจากความเข้าใจของนักเรียน ไม่สามารถจะนำไปใช้ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ เราจึงไม่อาจหวังว่านักเรียนที่ขึ้นไปเป็นนิสิตนักศึกษาจะให้ความสนใจกับวรรณคดีไทย ถ้าเรียนในคณะอื่นที่ไม่ใช่อักษรศาสตร์ หรือเรียนอักษรศาสตร์แต่ไม่ได้เรียนวรรณคดี ก็จะลืมวรรณคดีไทยเสียสนิท คำว่า “วรรณศิลป์” จึงเป็นคำที่คนหนุ่มสาวปัจจุบันไม่เข้าใจความหมาย รวมทั้งความหมายเชิงภาษาด้วย สวนทางกับความคาดหวังของนักวิชาการวรรณคดีจำนวนมากว่าเมื่อได้บรรจุวรรณคดีเข้าไว้ในหลักสูตรการศึกษา มีให้เห็นในตำราเรียนแล้ว นักเรียนก็ย่อมมีโอกาสได้เข้าถึงอรรถรสของวรรณคดี เกิดความซาบซึ้งตรึงใจ และเห็นคุณค่าของวรรณคดีเช่นเดียวกับนักวิชาการวรรณคดีทั้งหลาย สามารถเข้าถึงจิตวิญญาณของวรรณคดี จนสามารถพัฒนาสติปัญญาให้งอกงามจากการเรียนรู้เข้าใจวิชานี้ต่อไป ความผิดพลาดในเรื่องนี้เกิดจากวิธีการจัดหลักสูตรและการสอนวรรณคดี(และวรรณกรรม)ในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งไม่ก่อให้นักเรียนเกิดโอกาสได้เข้าถึงวรรณคดีได้ นักเรียนรู้จักเพียงผิวเผินจากเปลือกภายนอก คือการแปลศัพท์ ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับความหมายอันแท้จริงของวรรณคดี การมุ่งเน้นการเรียนเพื่อให้ผ่านการสอบชั้นมัธยมปลายเป็นหลัก ทำให้ครูไม่ได้เน้นในด้านการเข้าถึงคุณค่าของวรรณคดีมากไปกว่าการสอนที่ทำให้สอบผ่านไปแต่ละวิชาเท่านั้น วรรณคดีและวรรณกรรมจึงกลายเป็นของยากที่แห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา ไม่ต่างจากซากจากอดีตที่ถูกขุดขึ้นมาศึกษาพอเป็นพิธีกรรม เพื่อให้ได้ชื่อว่ามีวรรณคดีอยู่ในหลักสูตรเช่นเดียวกับหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศที่เจริญแล้ว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 16 ก.ย. 14, 11:42
|
|
การศึกษาวรรณคดีไทยที่สอนเพียงเนื้อหา แปลศัพท์ และอธิบายความ นับเป็นการศึกษาที่ผิวเผินและตื้นเขิน เพราะเป็นแค่การแนะนำคร่าวๆว่าวรรณคดีไทยเรื่องนั้น คืออะไร มีเนื้อหาอย่างไร แต่ไม่ทราบว่า วรรณคดีหรือวรรณกรรมนั้นมีคุณค่าอย่างไร และต้องการจะสื่อความคิดใดมาสู่ผู้อ่าน มองไม่เห็นจิตวิญญาณของศิลปะทางตัวหนังสือซึ่งแฝงอยู่ในผลงานอันทรงคุณค่านี้ ลำพังแค่การแปลศัพท์และถอดความ ดังที่ครูภาษาไทยทั่วไปนิยมปฏิบัติ ไม่อาจทำให้นักเรียนมองเห็นคุณค่าของวรรณคดีพอจะรู้จักศิลปะของตัวหนังสือได้ “.. คำถามประการหลัง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ ไม่สามารถตอบได้จากการศึกษาด้วยการถอดความ แต่จะต้องอาศัยการศึกษาด้วยการตีความเท่านั้น และการสอนตีความนี้เอง ที่ครูภาษาไทยไม่สามารถนำพาผู้เรียนให้ไปถึงได้ ชั้นเรียนภาษาไทยระดับมัธยมศึกษาส่วนใหญ่ จึงยังคงย่ำอยู่กับที่ คือ ย่ำอยู่กับการถอดความ” (เฉลิมลาภ ทองอาจ "วรรณคดีศึกษาในระดับมัธยมศึกษา: หยุดก้าวย่ำ...นำก้าวหน้า" www.oknation.net วันอาทิตย์ เมษายน 2556) ในเมื่อการเรียนหยุดอยู่แค่แปลศัพท์และถอดความ ไม่ได้ก้าวไกลมากไปถึงการตีความวรรณศิลป์ นักเรียนจำนวนมากจึงไม่เข้าใจว่าวิชาวรรณคดีไทยมีคุณค่าอย่างใดมากไปกว่าเรียนศัพท์โบราณที่พวกเขาไม่เคยรู้เห็น เรียนเนื้อหาในอดีตที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตในปัจจุบัน และในชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องเอาไปใช้อีกด้วย วรรณศิลป์ในวรรณคดีจึงกลายเป็นสิ่งที่สูญหายไปจากความเข้าใจของคนรุ่นปัจจุบัน ทั้งๆยังมีตัวตนให้เห็นอยู่ในวรรณคดี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 5 เมื่อ 16 ก.ย. 14, 11:44
|
|
อันที่จริงแล้ว วรรณคดีเป็นสาขาหนึ่งของศิลปะ ศิลปะนั้นก็คือความงามอันเกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุหลายอย่างด้วยกัน ถ้าเกิดจากเส้นและลายที่สละสลวยได้สัดส่วนเป็นวิจิตรศิลป์ ถ้าเกิดจากสำเนียงที่กังวานเสนาะหู เป็นคีตศิลป์ ถ้าเกิดจากการเคลื่อนไหวที่มีจังหวะจะโคนถูกแบบแผน ก่อความเจริญตาและอารมณ์ เป็นนาฏศิลป์ ถ้าเกิดจากตัวหนังสือที่ก่อความซาบซึ้งสะเทือนอารมณ์ จุดจินตนาการให้บรรเจิดขึ้นมา คือวรรณศิลป์ ดังนั้นเมื่อเอาเวลาส่วนใหญ่ของการเรียนวรรณคดีไปในการแปลศัพท์และถอดความ จึงเป็นการเสียเวลาอย่างน่าเสียดาย พลอยทำให้นักเรียนไม่เข้าใจไปด้วยว่า เรียนวรรณคดีไปเพื่ออะไร สิ่งที่นักเรียนควรเรียนรู้มากที่สุดคือความสละสลวยของภาษา ว่ากว่าที่กวีจะร้อยเรียงถ้อยคำขึ้นมาในรูปของฉันทลักษณ์ได้ จะต้องใช้ทักษะและจินตนาการอันละเมียดละไมมากเพียงใด จึงจะทำให้ภาษาธรรมดาเพิ่มคุณค่าทวีขึ้นถึงขีดของศิลปะการใช้ภาษา เขาไม่อาจเห็นขั้นตอนของการเรียงร้อยภาษาจากคำธรรมดาสามัญ มาเป็นคำที่เลือกสรรค์แล้วอย่างวิจิตร เพื่อให้เกิดศิลปะได้ในที่สุด เขามองไม่เห็นจินตนาการของกวีที่มองผ่านสิ่งธรรมดาสามัญต่างๆ แล้วทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นความงามที่ประทับใจ ผ่านทางตัวอักษร นักเรียนไม่ได้เห็นแม้แต่การตีความวรรณคดี เพื่อก่อให้เกิดความแตกฉานทางสติปัญญา สามารถนำหลักการวิเคราะห์และวิจารณ์ไปใคร่ครวญให้เกิดทักษะในการดำเนินชีวิต อย่างน้อยก็ไม่ได้เห็นเฉพาะสิ่งที่ตาเห็น หรือสมองอ่านเท่านั้น แต่พินิจพิเคราะห์ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งของสิ่งที่กวีแสดงผ่านสายตามาให้ใคร่ครวญพิจารณาต่อไป
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 6 เมื่อ 16 ก.ย. 14, 11:58
|
|
ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าหากว่าวรรณคดีที่มีชั่วโมงน้อยอยู่แล้วในหลักสูตรการเรียน จะต้องหมดเวลาไปกับการแปลศัพท์และถอดความ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องถามต่อว่า การเรียนการสอนวรรณคดีนั้นทำให้นักเรียนมองเห็นจิตวิญญาณของวรรณคดีบ้างหรือไม่ และอย่างไร ถ้าหากว่าตำราของกระทรวงศึกษาธิการ ได้อธิบายศัพท์ในวรรณคดีเอาไว้ทั้งหมดในหนังสือ เพื่อนักเรียนจะได้อ่านเข้าใจอย่างง่ายดาย ก็จะลดขั้นตอนของการแปลศัพท์อันเป็นยาหม้อใหญ่ของนักเรียนลงไปได้ ถ้ามีเอกสารประกอบการสอน ถอดความให้นักเรียนอ่านเสียแต่ต้นชั่วโมง ก็จะมีเวลาให้กับการอธิบายความงามในภาษาที่กวีบรรจงร้อยกรองขึ้น จากนั้นก็จะเข้าสู่การวิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าของวรรณคดีเป็นลำดับต่อไป อย่างน้อยนักเรียนก็จะได้รู้ว่าเขาเรียนวรรณคดีในฐานะศิลปะทางตัวอักษร ได้รู้จักสุนทรียศาสตร์ที่มีผลดีต่อจินตนาการและการกระตุ้นให้เกิดทักษะในแง่คิดสร้างสรรค์ ดังที่ George Bernard Shaw ให้คำจำกัดความไว้ว่า Imagination is the beginning of creation.
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 7 เมื่อ 16 ก.ย. 14, 15:52
|
|
เมื่อเกิดความเข้าใจถึงศิลปะของการใช้ภาษาแล้ว มีทักษะอีกหลายประการที่นักเรียนจะฝึกเพื่อความเข้าใจวรรณศิลป์ได้ เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เรียนรู้ในห้องเรียน เช่นหาการใช้ภาษาที่สวยงามจากวรรณคดีเรื่องอื่นๆมาเพิ่มเติม หรือหัดทดลองเขียนลองแต่งภาษาที่ และไม่ต้องจบลงแค่การแปลศัพท์และถอดความเท่านั้น ******************* ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ กล่าวไว้ในปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ในหัวข้อว่า “บ้านเมืองจะอับจน ถ้าผู้คนร้างศิลปะ” ท่านเล่าถึงประสบการณ์การไปเยือนพิพิธภัณฑ์ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า ในเช้าวันอาทิตย์วันหนึ่ง ว่ามีคนอยู่เพียง 2 คนในสถาบัน “แห่งชาติ” แห่งนี้คือผู้ชม 1 คน ได้แก่ตัวท่านเอง และผู้เฝ้าสถานที่อีก 1 คน สภาพการณ์นี้เมื่อนำไปเทียบกับบรรยากาศในต่างประเทศแล้วจะเห็นว่าผิดกันไกล เพราะที่นั่นผู้คนถึงกับเข้าแถวกันรอเวลาพิพิธภัณฑ์เปิด ข้อนี้เป็นที่มาของข้อพินิจที่ว่า “บ้านเมืองจะอับจน ถ้าผู้คนร้างศิลปะ” นอกจากตั้งข้อสังเกตเรื่องคนไทยไม่ใคร่สนใจเสพงานศิลปะ จนทำให้หอศิลปกลายเป็นหอร้าง ศาสตราจารย์เกียรติคุณเจตนายังตั้งคำถามต่อไปถึงการครอบงำด้วยวาทกรรมโฆษณา ซึ่งมีผลทำให้ประชาชนถอยห่างจากการเสพงานศิลปะโดยตรง มาเป็นการเสพผ่านสื่อเทคโนโลยีต่างๆ เช่นฟังเพลงจากแผ่นตามคำโฆษณาชวนเชื่อ มากกว่าไปชมคอนเสิร์ตที่เล่นสด
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 8 เมื่อ 16 ก.ย. 14, 15:53
|
|
ปาฐกถาของศาสตราจารย์เจตนาได้จุดความคิดและคำตอบขึ้นในใจหลายข้อด้วยกัน ถ้าเราจะเปลี่ยนจาก “หอศิลป์”เป็น“หอสมุด” เปลี่ยนจาก “คอนเสิร์ต” เป็น “วรรณกรรม” และเปลี่ยนจากแผ่นซีดีเป็นละครโทรทัศน์ หรือแผ่นดีวีดี คำตอบก็น่าจะออกมาในทางไม่แตกต่างกันนัก สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนแตกเขนงความคิดแยกไปจากศาสตราจารย์เกียรติคุณดร. เจตนา จนเป็นคนละทางก็คือ ผู้เขียนไม่เน้นที่การตั้งคำถาม ว่าบ้านเมืองร้างศิลปะจริงหรือ แต่จะพยายามหาคำตอบให้กับวิธีการดำรงอยู่ของศิลปะ โดยเฉพาะสาขาวรรณศิลป์ในบ้านเมืองของเรา คำปรารภที่ว่า ถึงเป็นเรื่องยากที่จะหาเสภามาขับให้เยาวชนฟัง แต่ก็พอจะหาได้ แต่สิ่งที่ยากเย็นกว่านั้นคือหาเยาวชนมาฟังเสภา โดยเฉพาะผู้ที่มาโดยสมัครใจ ผู้เขียนไม่ประสงค์จะร่ำร้องให้เยาวชนกลับมาทำสิ่งที่เราเห็นว่าพวกเขาไม่ได้สนใจจะทำ แต่จะหาคำตอบให้ตัวเองว่าพวกเขาสนใจอะไร เพราะถ้าเมื่อไรเราปักใจอยู่กับศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วปักใจต่อมาว่าไม่มีผู้เสพงานนั้นอย่างที่เราอยากให้เสพ คำถามก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และจบลงตรงยังหาคำตอบไม่พบอยู่ดี จะพบก็แต่ผู้ที่อยู่ในข่ายจำเลย เช่นหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ การเรียนการสอนของครู ธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่แผ่ขยายไปทุกวงการ ฯลฯ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 9 เมื่อ 16 ก.ย. 14, 16:02
|
|
ดังนั้นความคิดเมื่อใดที่หยุดตั้งคำถาม หันมาดูรอบตัว เราจะพบว่าศิลปะของไทยไม่ได้จากไปไหน รวมทั้งวรรณคดีไทยและวรรณกรรม ก็ยังมีอยู่พอให้ใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง แม้ว่ากระแสของโฆษณาประชาสัมพันธ์ จะไม่ครอบคลุมถึงมรดกไทยอันมีค่าเหล่านี้ แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่าประเทศอื่นๆก็ประสบคำถามคล้ายคลึงกันเหมือนกัน วรรณคดีเป็นเรื่องที่ต้องรักษาไว้อย่างสิ่งทรงคุณค่า มากกว่าจะมาสนับสนุนให้แข่งกับกระแสนิยมของศิลปะใหม่ๆ เพราะย่อมเป็นที่รู้ว่าของใหม่เหล่านี้รุ่งเรืองเฟื่องฟูไปตามประสาของใหม่ ย่อมมีผู้คนตื่นเต้นเห่อกัน เมื่อกาลเวลาผ่านไป ของใหม่กลายเป็นของเก่า กระแสนิยมเหล่านี้ก็ดับหายไป ทำนองเดียวกับเพลงร็อคแอนด์โรลที่เคยสร้างความคลั่งไคล้ให้หนุ่มสาวไทยเมื่อ ๕๐ ปีก่อน บัดนี้ก็ไม่มีหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันคนไหนสนใจไยดีอีกแล้ว เมื่อเทียบกับเพลงใหม่ๆแปลกๆ ที่ผลิตกันขึ้นมาในแต่ละทศวรรษ จนถึงปีปัจจุบัน ถ้าเปรียบเทียบระหว่างของเก่ากับของใหม่โดยมีกระแสความนิยมเป็นมาตรฐาน ของเก่าก็ต้องมีคะแนนนิยมน้อยกว่าของใหม่เป็นธรรมดา แต่ถ้าพิจารณาใหม่ว่าแม้เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ของเก่านั้นก็มิได้ลับหายไปจากสังคมไทย หากสามารถก้าวข้ามกาลเวลามาถึงอีกยุคหนึ่งได้ ก็จะเรียกได้ว่าจิตวิญญาณของสิ่งนั้นยังดำรงอยู่ แม้จะหายากขึ้นบ้าง แต่ก็ ไม่ได้หายไปไหน ถ้าอย่างนั้นมาดูกันว่า จิตวิญญาณที่ยังฝังอยู่ในศิลปะแขนงวรรณศิลป์นั้น มีต้นกำเนิดมาอย่างไร และยังสืบสานต่อมาในลักษณะใดจนถึงปัจจุบัน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 10 เมื่อ 16 ก.ย. 14, 20:43
|
|
วรรณศิลป์ในภาษาของไทย
ขอย้อนกลับไปถึงรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 อู่ทอง แห่งอาณาจักรศรีอยุธยา วรรณคดีสำคัญในเรื่องนี้คือโองการแช่งน้ำ สำหรับใช้อ่านเมื่อมีพิธีถือน้ำกระทำสัตย์สาบานต่อพระมหากษัตริย์ ภาษาที่ใช้เป็นภาษาบาลีสันสกฤต ปะปนกับภาษาไทยดั้งเดิม ห่างไกลจากความเข้าใจของคนไทยปัจจุบัน แต่วรรณศิลป์ในการเรียงร้อยถ้อยคำก็ยังทิ้งร่องรอยให้เห็น มาจนถึงปัจจุบัน คือการเล่นคำด้วยสระ และพยัญชนะ ซึ่งใช้กันข้ามกาลเวลามาตลอดจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ขอให้สังเกตตอนที่กล่าวถึงกำเนิดของโลก จึ่งเจ้าตั้งผาเผือกผาเยอ ผาหอมหวานจึ่งขึ้น การเล่นคำปรากฏอยู่หลายแห่ง ทั้ง จึ่ง-เจ้า ผา-เผือก ผาเผือก ผาเยอ ผาหอมหวาน จึ่งเจ้าตั้ง หมายถึง เทพเจ้าจึงได้สร้าง คำว่าตั้งในที่นี้หมายถึงทำให้เกิดขึ้น เรายังใช้อยู่ในคำว่า “ก่อตั้ง” ผู้แต่งเล่นคำคำว่า ผา ซ้ำๆกัน ผาเผือก เป็นคำเรียกภาษาไทยของคำว่า เขาไกรลาส ที่ประทับของพระอิศวรเป็นภูเขาหินสีขาวล้วน ผาเยอ เยอแปลว่าใหญ่ หมายถึงผาใหญ่ คือเขาพระสุเมรุซึ่งถือเป็นหลักของโลก ผาหอมหวาน คือภูเขาคันธมาทน์ เป็นเขาลูกหนึ่งในป่าหิมพานต์ที่อยู่เชิงเขาพระสุเมรุ เป็นภูเขาที่มีกลิ่นหอมเพราะไม้ในป่านี้เป็นไม้หอมทั้งหมด
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 11 เมื่อ 16 ก.ย. 14, 20:45
|
|
ในเมื่อโองการแช่งน้ำไม่ได้มีเอาไว้อ่านในใจเงียบๆเหมือนเราอ่านหนังสือสมัยนี้ แต่มีไว้อ่านดังๆในการทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา การจงใจเล่นคำด้วยการซ้ำคำ ซ้ำสระ หรือซ้ำพยัญชนะ เพื่อเกิดจังหวะเสียงที่สอดคล้องกัน จึงก่อให้เกิดความเสนาะหูในการเปล่งเสียง ในละครของเชกสเปียร์ที่แต่งขึ้นเพื่อให้นักแสดงออกเสียงดังๆบนเวที ก็มีการเล่นคำ ซ้ำพยัญชนะแบบเดียวกัน เช่นในตอนต้นของ Macbeth เปิดตัวละครด้วยการเล่นเสียงพยัญชนะ f ในวรรคแรก So foul and fair a day I have not seen อีกตอนหนึ่งคือโคลงจาก Rime of the Ancient Mariner ของ Samuel Taylor Coleridge เล่นคำ ทั้งเสียงพยัญชนะ และตัวสะกด The fair breeze blew, the white foam flew, The furrow followed free; We were the first that ever burst Into that silent sea.
ในสมัยอยุธยาตอนต้น ภาษาไทยแต่ดั้งเดิมเป็นคำโดด คือคำเดียวง่ายๆ ไม่ต้องแปลความหมายให้รุงรัง ส่วนคำยาวๆรับมาจากเขมรซึ่งรับมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง ต่อมาตลอดสมัยอยุธยา ไทยมีศัพท์บาลีสันสกฤตเพิ่มเข้ามาผ่านทางพระไตรปิฎก จึงทำให้รุ่มรวยในเรื่องศัพท์เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ศัพท์เหล่านี้ทั้งไทย บาลี สันสกฤต และเขมร เอื้อต่อการสร้างวรรณศิลป์ที่มีสัมผัสทั้งนอกคือสัมผัสระหว่างวรรค และสัมผัสใน คือสัมผัสภายในวรรคเอง ยิ่งมีสัมผัสมากเท่าใด ก็ยิ่งแสดงชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ของกวี มากขึ้นเท่านั้น วรรณคดีในยุคต่อมาจึงมีการใช้ศัพท์ทั้งไทย เขมร บาลี สันสกฤตผสมผสานในงานวรรณคดีตอนเดียวกันอย่างแพรวพราว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 12 เมื่อ 16 ก.ย. 14, 20:46
|
|
พระเจ้าจักรพรรดิ เกิดแก้วจักรรัตน์ รวดเร้าดินบน สรพรั่งช้างม้า สรพร้อมรี้พล สรพราดสามนต์ ทุกหมู่หมวดหมาย พระอยู่เสวยสุข ในทวาบรยุค เลิศล้ำลือสาย มีเจ้าพระเจ้า อันเลิศลือชาย ฟ้าหล้าเหมือนหมาย แกว่นกล้ากามบุตร์ แง่งามโถงเถง ทหารนักเลง แกว่นกล้าการยุทธ ประกาศโดยนาม พระศรีอนิรุทธ เยาวราชอันอุด ดมเลิศแดนไตร
แต่ถึงกระนั้น ศัพท์ภาษาไทยง่ายๆก็เป็นความงามที่กวีอยุธยามิได้ละทิ้ง เห็นได้จากพระนิพนธ์กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (กุ้ง) ในสมัยตอนปลายของอยุธยา วรรณศิลป์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ในบทนี้ มีร่องรอยของ ‘ขนบ’ การซ้ำคำ ตามแนวของโองการแช่งน้ำเมื่อสมัยอยุธยาตอนต้น ความพิเศษคือในความธรรมดาของป่าเขาลำเนาไพร เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ได้สร้างภาพไม่ธรรมดาขึ้นมาด้วยถ้อยคำง่ายๆ รวมกันเข้าแล้วเป็นภาพพิเศษไม่ซ้ำกับใคร สมกับคำกล่าวของ Boris Pasternak กวีและนักเขียนชาวรัสเซียผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เมื่อค.ศ. 1958 ว่า “Literature is the art of discovering something extraordinary about ordinary people, and saying with ordinary words something extraordinary”
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 13 เมื่อ 17 ก.ย. 14, 09:18
|
|
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงตั้งโจทย์ ด้วยเล่นคำธรรมดาสามัญว่า ‘ลิง’ แตกออกเป็นความหมายหลากหลายแตกต่างกัน จากนั้นก็หยิบยกมารวมกัน ร้อยกรองเป็นภาพพรรณนาโวหาร แสดงวรรณศิลป์ชั้นสูงของกวี หัวลิงหมากลางลิง ต้นลางลิงแลหูลิง ลิงไต่กระไดลิง ลิงโลดคว้าประสาลิง หัวลิงหมากเรียกไม้ ลางลิง ลางลิงหูลิงลิง หลอกขู้ ลิงไต่กระไดลิง ลิงห่ม ลิงโลดฉวยชมผู้ ฉีกคว้าประสาลิง คำว่า “ลิง” ในที่นี้ล้วนมีความหมายหลากหลาย ไม่ซ้ำกัน - ลิงที่เป็นตัวแสดงบทบาทในโคลง คือสัตว์ - หัวลิง เป็นไม้เถาชนิดหนึ่ง ผลขนาดส้มจีน มีสันตรงกลางคล้ายหัวลิง - หมากลางลิง เป็นชื่อของปาล์มชนิดหนึ่ง - ลางลิง , กระไดลิง เป็นชื่อของไม้เถาเนื้อแข็ง ลักษณะแบนยาว งอกลับไปกลับมาคล้ายขั้นบันได - หูลิง เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง ส่วนการเล่นคำโทโทษในบทกวี เล่น ๒ คำ - ขู้ หมายถึง ขู้ เป็นคำโทโทษของคำว่า คู่ - ชมผู้ หมายถึง ชมผู้ เป็นรูปโทโทษของคำว่า ชมพู่ หมายถึงผลไม้ชนิดหนึ่ง ด้วยคำว่า “ลิง” ทั้งสัตว์และพืช ที่กระจัดกระจายกันอยู่ตามธรรมชาติของมัน เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงได้นำเข้ามารวมกันไว้ในที่เดียว สร้างเหตุการณ์ขึ้นมา ให้เห็นภาพพื้นหลังของป่าว่ามีเถาหัวลิงและต้นหมากลิงขึ้นอยู่เป็นฉากหลัง ความมีชีวิตชีวาของป่าในตอนนี้ ก็คือลิงที่ขึ้นต้นหูลิง ทำหน้าหลอกล้อคู่ของมันตามประสา บ้างก็ไล่เถากระไดลิงขย่มเล่น บ้างก็กระโดดฉวยผลไม้อย่างชมพู่คว้ามาฉีกเล่นตามธรรมชาติซุกซนไม่อยู่นิ่งของสัตว์ชนิดนี้ การร้อยเรียงภาษาจากเล่นคำ โดยมีฐานจากความเป็นจริง นำมาสร้างสรรค์ด้วยจินตนาการอันบรรเจิด แบบนี้คือความอลังการในภาษาไทย ครูควรสอนให้นักเรียนตระหนักถึงคุณสมบัติและลักษณะเฉพาะของภาษาไทยทางด้านนี้ นอกจากจะเป็นการจุดประกายความคิดและความเข้าใจแล้ว ยังนำไปสู่ความภูมิใจในการอนุรักษ์ภาษาอันเป็นสมบัติของชาติได้อีกด้วย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 14 เมื่อ 17 ก.ย. 14, 09:20
|
|
ตัวอย่างที่เห็นได้อีกเรื่องหนึ่ง ในการเล่นลีลาของภาษาร้อยแก้ว คือเรื่องสั้น ภาพดาวหลงฟ้า ในคืนพระจันทร์เสี้ยว ของ สกุล บุณยทัต
๑๘ อากาศในคืนนี้เยือกเย็นลงอย่างประหลาด ดวงดาวบนฟากฟ้าส่องประกายสุกสว่างงามระยับ...จันทร์เสี้ยวที่แหว่งโค้งดวงเดิม...ลอยเลื่อนอยู่กับความเงียบงันของค่ำคืนอย่างคมกริบ “ ดวงหลงฟ้าดวงหนึ่ง” ลอยคว้างเป็นสายทางที่เหยียดยาว เหมือนดั่งการก้าวย่างของชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ผ่านแผ่นฟ้ากว้างไกลไปสู่ความนิรันดร์อันยั่งยืน... ๑๙ พระธุดงค์ทั้งสองต่างเพ่งมองปรากฎการณ์แห่งธรรมชาติที่เบื้องหน้า..ด้วยกิริยาอาการอันสงบนิ่ง...ศีรษะของ “ผู้ทรงศีล”น้อมต่ำลง...พร้อมกับมือที่ยกขึ้นพนม..สวดภาวนา “ ผู้คนแห่งโลกของเราทั้งหมดรู้จักให้อภัย รู้จักมองข้ามความผิดพลาดของผู้อื่น... ------------------------------------------- เราสรุปบทเรียนจากอดีต เพื่อรู้ที่จะสร้าง ปัจจุบันเพื่ออนาคต
ถ้าหากว่าถอดภาษาข้างบนนี้ออกมา ให้ได้ใจความตรงตามเดิม แต่ไม่คำนึงถึงลีลาของภาษา ก็จะออกมาอย่างนี้ อากาศในคืนนี้เย็นมาก ดาวบนฟ้าส่องแสงสว่าง จันทร์เสี้ยวลอยอยู่ในความเงียบของเวลากลางคืน ดาวตกตกเป็นสาย ทำให้นึกถึงชีวิตที่ก้าวไปสู่นิรันดร ๑๙ พระธุดงค์ทั้งสองเพ่งมองปรากฎการณ์ธรรมชาติ ด้วยกิริยาสงบนิ่ง...ศีรษะก้มต่ำ พนมมือสวดมนตร์
เนื้อหาเท่าเดิม แต่ลีลาของภาษาที่ตัดสุนทรียะทางภาษาออกไป ทำให้งานทั้งสองชิ้นนี้มีวรรณศิลป์ผิดกัน ราวกับเป็นงานคนละชิ้น ชิ้นแรกประกอบด้วยจินตนาการและลีลาวรรณศิลป์ มีทั้งรูปธรรมและนามธรรม ส่วนชิ้นหลังเป็นคำบรรยายสั้นกระชับ เน้นเพียงภาพที่ตาเห็นได้เท่านั้น
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|