เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 35917 หลุมลึกลับ
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 15 ก.ย. 14, 20:32

แร่ Malachite _ green กับ Azurite _ blue นี้ ท่านที่เป็นหญิงทั้งหลายคงจะรู้จักดี   แร่ทั้งสองชนิดนี้ เป็นทั้งแหล่งแร่ต้นทางของโลหะทองแดง (copper ore)  เป็นทั้งแร่อัญมณี (mineral gems หรือ gem minerals)   และเป็นทั้งหินมีค่า (precious stone)

สีเขียวอันสวยงามของแร่มาลาไคต์ และสีน้ำเงินของแร่อาซูไรต์ประด้วยสีทอง (ไม่ใช่ทองคำนะครับ) มีอิทธิพลต่อโทนสีที่ใช้ในการตกแต่งภายในของห้องต่างๆในปราสาทและราชวังต่างๆที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย และรวมถึงเครื่องใช้และเครื่องประดับทั้งหลายด้วย
 

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 15 ก.ย. 14, 20:51

ผลจากการละลายสินแร่ให้เป็นสารละลายแล้วดูดออกไป ก็ทำให้เกิดช่องว่างเป็นรูพรุนในเนื้อหิน ทำให้ความสามารถในการรับน้ำหนักของชั้นหินนั้นๆลดลง ทำให้เกิดการทรุดอัดแน่นลงมา เป็นผลต่อเนื่องให้ผืนดินทุดตัวเป็นแอ่งตามไปด้วย

ในกรณีของการทำเหมืองโปแตสและเกลือหินนั้น (ด้วยวิธีการนี้) จะทำให้เกิดโพรงถ้ำคล้ายดังภาพใน คห.37    เมื่อหลังคาถ้ำพังลง ก็ยังผลให้ผืนดินที่อยู่เหนือขึ้นไปทรุดลงไปด้วย      ในไทยนั้นรู้สึกว่าจะพอเห็นได้ในพื้นที่ทำเหมืองเกลือเขต อ.พิมาย จ.นครราชสีมา   

ส่วนโพรงถ้ำใต้ดินนั้น หากประสงค์ที่จะได้เห็นจริง ก็คงจะต้องเดินทางไปไกล ซึ่งจะเห็นได้หลายๆแห่งที่เคยเป็นเหมืองเกลือเก่าในยุโรป เช่น ที่เมือง Hallstatt ในออสเตรีย   จะเห็นภาพดังภาพใน คห.37 เลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 18 ก.ย. 14, 18:10

ทำเหมืองเกลือหินและแร่ sylvite ด้วยวิธีการละลายในใต้ดินแล้วสูบออกมาจนเกิดเป็นโพรงถ้ำ ก็เพราะว่ามันเป็นการละลายสินแร่ออกมาทั้งมวลเลย  แต่สำหรับสินแร่อื่นนั้นเป็นในอีกภาพหนึ่ง

สินแร่ที่อื่นที่ว่านี้เกิดเป็นผลึกหรือเป็นเม็ดอยู่ระหว่างเม็ดแร่ที่ประกอบกันเป็นเนื้อหิน หรือเป็นสารประกอบอยู่ในตัวแร่ตัวใดตัวหนึ่งที่ประกอบกันเป็นเนื้อหินนั่นแหละ  การทำเหมืองโดยการอัดของเหลวตัวทำละลายลงไปแล้วสูบสารละลายกลับขึ้นมาสำหรับสินแร่ที่มีลักษณะการเกิดแบบนี้ มิใช่เป็นการไปละลายเนื้อหินออกมา  เนื่องจากสารตัวทำละลายนั้นจะซึมเข้าไปทำการละลายเฉพาะตัวเม็ดสินแร่ที่ต้องการ
 
แล้วทำได้อย่างไรครับ

ก็เนื่องจากสินแร่พวกนี้จะเกิดในลักษณะของการถูกพัดพามาตกตะกอนพร้อมๆไปกับตะกอนดินทรายอื่นๆ ต่อมาก็เปลี่ยนไปเป็นหินชั้นหรือหินตะกอน (sedimentary rocks) ก็คล้ายกับเราเอากองลูกเทนนิสมาเทลงในถาด เราก็จะเห็นช่องว่างระหว่างลูกเทนนิส เป็นรูพรุนต่อเนื่องกัน คราวนี้เอาใหม่ เอาลูกปิงปอง (แสร้งว่าเป็นเม็ดสินแร่) ผสมเข้าไปด้วยแล้วเทลงในถาดเช่นเดิม เราจะเห็นว่าปริมาณช่องว่างลดลง แต่ก็ยังมีรูพรุนที่น้ำหรือของเหลวจะไหลผ่านได้  (น้ำบาดาลก็คือน้ำที่อยู่ในรูพรุนเหล่านี้นั่นเองครับ) เป็นหลักการที่ดูง่ายนะครับ แต่แท้จริงแล้วไม่ง่ายเลย   

พอละลายเอาลูกปิงปอง (เม็ดแร่) ออกไป โครงสร้างการค้ำยันลูกเทนนิสก็เปลี่ยนไป เกิดอ่อนแอลง ในที่สุดก็ทรุดตัวอัดแน่นกันใหม่ ส่งผลให้เห็นผืนดินยุบเป็นแอ่ง

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 18 ก.ย. 14, 18:34

กรณีการสูบน้ำมันหรือน้ำบาดาลแล้วทำให้เกิดแผ่นดินทรุด จะต่างไปจากกรณีที่กล่าวมา เนื่องจากเป็นการดูดออกมาอย่างเดียว จนทำให้เกิดสภาพสองสภาพ คือ
   - เมื่อน้ำหรือน้ำมันที่อยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดตะกอนถูกดูดออกไป มันก็คล้ายกับกรณีเราให้เวลากับการปล่อยให้ดินหรือทรายถมที่ทรุดตัวอัดแน่น เนื่องจากน้ำจะค่อยๆซึมออกจากดินหรือทรายที่ใช้ถมที่ดินนั้นๆ (ขอไม่อธิบายในเรื่องกระบวนการทางเทคนิคนะครับ จะมีอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวพันด้วย)
   - กรณีน้ำบาดาล เมื่อน้ำในชั้นน้ำบาดาลแห้งลง น้ำจากชั้นน้ำที่อยู่เหนือขึ้นไปก็จะไหลซึมลงมาเติม เลยทำให้เกิดการร่วมกันทรุด ทำให้เกิดแผ่นดินทรุดเป็นพื้นที่กว้าง     กรุงเทพฯทรุดก็ด้วยสาเหตุหลักดังกล่าวนี้แหละครับ     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 18 ก.ย. 14, 20:24

เอาเรื่องนี้มาแจม  คุณตั้งจะตอบหรือไม่ตอบก็ได้นะคะ

จัดเข้าประเภทหลุมลึกลับหรือเปล่าก็ไม่ทราบ   กล่าวคือ อยู่ๆทะเลสาบก็กลายเป็นหลุมแห้งๆไปได้ภายใน 2 เดือน
เกิดขึ้นที่ Lake Cachet II in Aysen, Chilean Patagonia ค่ะ   

น้ำในทะเลสาบแห้งหือดหายไปหมด ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ  แต่ดิฉันสงสัยว่าถ้ามันระเหยหายไปหมด อุณหภูมิแถวนั้นมิต้องสูงกว่า 100 C  เชียวหรือ



บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 19 ก.ย. 14, 19:37

ตอบครับ   และก็คงจะต้องมีชื่อและศัพท์ภาษาอังกฤษปนอยู่มากพอควรเลยทีเดียว

คำตอบสั้นๆ คือ น้ำมิได้แห้งไปด้วยการระเหย แต่แห้งไปด้วยการไหลซึมผ่านกองหินที่มาสะสมตัวกันจนเป็นสันเขื่อนกั้นขวางร่องน้ำที่เกิดมาจากธารน้ำแข็งกัดเซาะ     เป็นเหตุการณ์ปรกติที่เกิดขึ้นได้ แม้จะไม่บ่อยครั้งและไม่ค่อยจะเป็นข่าวให้ได้รับรู้กันมากนัก

คำศัพท์ทางเทคนิคที่ใช้กับแอ่งน้ำหรืออ่างน้ำชนิดนี้ เรียกว่า Moraine lake  เป็นอ่างน้ำที่กำเนิดเฉพาะในพื้นที่ๆมีธารน้ำแข็งและมี permafrost (น้ำที่อยู่ในดินเป็นน้ำแข็ง  ไม่ทราบคำเรียกภาษาไทยครับ)

แล้วค่อยขยายความครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 20 ก.ย. 14, 21:34

อย่าเพิ่งแปลกใจนะครับว่า ทำไมจึงไปรู้เรื่องของเขตหนาวด้วย
   เป็นเรื่องที่ต้องเรียนและต้องรู้ทุกกระบวนการหลักที่เกิดขึ้นหมุนเวียนในโลกของเราครับ 

แล้วเคยได้ใช้ความรู้นี้หรือไม่
   เคยครับ แล้วก็เกี่ยวข้องกับพื้นที่ของไทยด้วย โดยเฉพาะด้านตะวันตกตั้งแต่ประมาณเพชรบุรีลงไปถึงภูเก็ตโน่นแน่ะครับ

สำหรับตัวผมเองอาจจะโชคดีที่ได้มีโอกาสเห็นและสัมผัสของจริงสองสามครั้ง เมื่อครั้งไปควบคุมงานอยู่ที่กรุงอ๊อตาวา ประเทศแคนาดา อยู่สองช่วงเวลา 

เพื่อความเข้าใจ ผนวกเข้าเป็นองค์ความรู้รอบตัว และเผื่ออาจจะได้มีโอกาสได้เห็น ได้สัมผัสและอยู่กับของจริง  กรณีได้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศแคนาดาและรัสเซีย (และแม้กระทั่งในรัฐตอนเหนือของสหรัฐฯ)     ผมจึงจะขอเล่าเรื่องของ glacier (ธารน้ำแข็ง) ในภาพกว้างนะครับ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 21 ก.ย. 14, 19:46

เนื่องจากโลกมีทรงกลม  จึงได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์มากในแถบเส้นศูนย์สูตร แล้วได้รับน้อยลงไปเรื่อยๆไปตามเส้นละติจูดที่สูงขึ้นไป จนเข้าเขตขั้วโลก ความเย็นในแถบไกล้ขั้วโลกทำให้หิมะที่ตกลงมาทับถมกันแน่น กลายเป็นแผ่นน้ำแข็งผืนใหญ่ (ice sheet หรือ ice cap)   แต่เมื่อน้ำแข็งก็มีน้ำหนัก มันจึงต้องมีการเคลื่อนที่ตามกฏของแรงดึงดูด คือ ย่อมเคลื่อนที่ไปหาที่ต่ำกว่า   ซึ่งมวลน้ำแข็งที่เคลื่อนที่นี้ก็คือธารน้ำแข็ง (glacier) ที่ไปสร้างให้เกิดภูมิประเทศหลากหลายรูปร่าง สวยงามจนต้องไปเที่ยวชมกัน

น้ำมีคุณสมบัติที่สำคัญบางประการ คือ เป็นสารประกอบทางเคมีที่มีความสามารถสูงมากในการแปรเปลี่ยนหรือทำลายโครงสร้างของสารประกอบอื่นๆ (solvent) น้ำสามารถซึมแทรกเข้าไปในรู รอยร้าวหรือรอยแตกที่มีขนาดเล็กมากๆๆได้ (penetration)   น้ำสามารถพองตัวเองเมื่อได้รับความร้อนหรือความเย็น (expansion)   น้ำสามารถแปรสภาพทางกายภาพของตนเองเป็นไอน้ำก็ได้ เป็นของเหลวก็ได้ เป็นของแข็งก็ได้   แถมยังสามารถแยกตัวกันเป็นกาซไฮโดรเจนกับอ๊อกซีเจนแล้วก็กลับมารวมตัวกันเป็นน้ำเหมือนเดิมได้อีก
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 22 ก.ย. 14, 21:37

ด้วยความสามารถของน้ำดังกล่าวมา พอมันแปรสภาพเป็นน้ำแข็ง น้ำที่ซึมอยู่ตามรอยแตกรอยแยกต่างๆก็เบ่งตัวแล้วบิหินออกมาเป็นก้อนๆได้ไม่ยาก แล้วมันก็ยังสามารถอุ้มหินนั้นไว้ในเนื้อตัวของมันแล้วพาเอาออกไป พอน้ำแข็งละลายก้อนหินนั้นก็ตกลงสู่พื้นห่างไกลจากแหล่งเดิมของมัน    พอหน้าหนาวใหม่มาเยือน มันแบ่งย่อยก้อนหินให้เล็กลง แล้วก็อุ้มพาต่อไป

น้ำแข็งในธารน้ำแข็งนั้นมิได้มีความสะอาด นอกจากจะพบว่ามีก้อนหินอยู่ในตัวมันแล้ว ยังมีกรวดทรายและขี้ผงต่างๆอีกด้วย ซึ่งทำให้มันมีลักษณะเป็นตะไบอย่างดี ที่จะครูดและขูดผิวของร่องธารของมันให้กว้างและลึกมากขึ้นๆ 

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 22 ก.ย. 14, 21:44

เเมื่อน้ำแข็งก็มีน้ำหนัก มันจึงต้องมีการเคลื่อนที่ตามกฏของแรงดึงดูด คือ ย่อมเคลื่อนที่ไปหาที่ต่ำกว่า   ซึ่งมวลน้ำแข็งที่เคลื่อนที่นี้ก็คือธารน้ำแข็ง (glacier) ที่ไปสร้างให้เกิดภูมิประเทศหลากหลายรูปร่าง สวยงามจนต้องไปเที่ยวชมกัน


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 22 ก.ย. 14, 22:16

ผลจากการกัดเซาะและแซะออกไป ทำให้เกิดยอดเขาที่มียอดแหลม เรียกว่า horn คล้ายกับการตักไอซ์ครีมเป็น scoop วนรอบจุดใดจุดหนึ่ง ก็จะทำให้เกิด horn   ส่วนร่องที่เกิดจากการควักไอติมออกไป รอบๆ horn นี้ เรียกว่า cirque  

ยอดเขาในเทือกเขาแอลป์จึงมีชื่อเรียกที่ลงท้ายด้วยคำว่า horn    ส่วนคำว่า peak นั้นจะใช้ในลักษณะเป็นคำลักษณะนาม (? คิดว่าใช้ศัพท์ถูกต้องนะครับ)

ร่อง cirque นี้ จะเป็นร่องทอดยาวต่อเนื่องเป็นร่องของธารน้ำแข็งจนถึงทะเล  เมื่อธารน้ำแข็งละลายออกไปหมด ก็จะเหลือแต่หุบเขาที่มีภาพตัดขวางเป็นรูปตัว U   เรียกหุบเขาแบบนี้ว่า U shape valley  หุบเขานี้ลึกมาก เมื่อยุคน้ำแข็งหมดไป ระดับน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น น้ำก็เข้ามาท่วมใน U shape valley นี้ กลายเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีลักษณะพิเศษ  เรียกว่า Fjord shoreline   น้ำลึกจนเรือเดินทะเลสามารถแล่นเข้าไปได้ เป็นภาพของการท่องทะเลในระหว่างหุบเขาสองฝั่งที่สูงชัน (fjord)   จะได้เห็นปากร่องห้วยหรือสบห้วย (เมื่อครั้งยังมีน้ำแข็งเต็มอยู่) แขวนลอยอยู่ที่หน้าผา เรียกว่า hanging valley ซึ่งหลายห้วยก็จะมีน้ำตกที่ตกจากหน้าผาสูงชันมากๆ

ร่องน้ำที่เกิดจากธารน้ำแข็งจะมีภาพตัดขวางเป็นรูปตัว U  ในขณะที่ร่องน้ำที่เกิดจากน้ำไหลตามปรกติจะมีภาพตัดขวางเป็นรูปตัว V เรียกว่า V shape valley  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 22 ก.ย. 14, 22:27

ขอบพระคุณสำหรับรูปครับ 

เวลาพอเหมาะพอดีเลยครับ กำลังจะก้าวออกจากเรื่องของการขูดออก (destruction) เข้าไปสู่เรื่องของการพอกพูน (accretion) 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 22 ก.ย. 14, 22:44


ร่องน้ำที่เกิดจากธารน้ำแข็งจะมีภาพตัดขวางเป็นรูปตัว U  ในขณะที่ร่องน้ำที่เกิดจากน้ำไหลตามปรกติจะมีภาพตัดขวางเป็นรูปตัว V เรียกว่า V shape valley  


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 22 ก.ย. 14, 22:54

ผลจากการกัดเซาะและแซะออกไป ทำให้เกิดยอดเขาที่มียอดแหลม เรียกว่า horn คล้ายกับการตักไอซ์ครีมเป็น scoop วนรอบจุดใดจุดหนึ่ง ก็จะทำให้เกิด horn   ส่วนร่องที่เกิดจากการควักไอติมออกไป รอบๆ horn นี้ เรียกว่า cirque  

ยอดเขาในเทือกเขาแอลป์จึงมีชื่อเรียกที่ลงท้ายด้วยคำว่า horn    ส่วนคำว่า peak นั้นจะใช้ในลักษณะเป็นคำลักษณะนาม (? คิดว่าใช้ศัพท์ถูกต้องนะครับ)

นึกถึงเทือกเขา Big Horn ใน Wyoming ที่เคยขับรถข้ามไปแล้วเมื่อออกจากโคโลราโดจะไปเที่ยวเยลโล่สโตน  มันเป็นเทือกเขายาวเหยียด  มีถนนวนขึ้นไปถึงยอดแล้ววนลงไปอีกด้านหนึ่งของเขา     ตอนไป หิมะตกบนยอดเขาอยู่ด้วย  รถคันอื่นๆที่ตอนแรกก็ขับตามกันมาดีๆ   แล้วหายไปทีละคัน   ไม่รู้ว่าเลี้ยวไปทางไหน  มีแต่รถเราคันเดียวขับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ 
ดูจากเมฆลอยผ่านหน้ารถไป ก้อนแล้วก้อนเล่า ทำไมมันสูงขนาดนี้   จะเลี้ยวกลับก็ไม่มีทางเลี้ยว  เพราะเป็นทางไหล่เขา    ค่อยๆไต่ไป จนข้ามเขาไปได้ในที่สุด   
นึกว่าจะเอาชีวิตไปทิ้งในเหวข้างทางเสียแล้วค่ะ

มารู้ทีหลังว่ากางแผนที่ไปผิดทาง   เพราะตอนดูแผนที่  ผู้ไม่ชำนาญการไปเลือกทางสั้นที่สุดซึ่งต้องข้ามเขาไป แทนที่จะเลือกทางเลียบเชิงเขาที่ไกลกว่าแต่ปลอดภัยกว่าค่ะ


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 24 ก.ย. 14, 21:47

Wyoming และ Colorado เป็นรัฐที่ไม่มีโอกาสได้ไปเยือนเลย ได้เห็นแต่ภาพว่าสวยมาก เคยวาดฝันไว้แต่ดั้งเดิมถึงการไปพำนักอยู่ในกระต๊อบกลางป่าบนภูเขา เดินลุยหิมะอยู่ในดงต้น Birch  ใส่เสื้อ flannel นั่งอยู่กับเตาผิง   

แต่ก็ได้มีโอกาสสัมผัสสถานที่คล้ายแบบนี้ในรัฐ Quebec ในแคนาดา แต่เป็นช่วงฤดูร้อนที่อากาศยังคงหนาวเย็น ได้ช่วยเขาตัดต้น birch ตัดเป็นท่อนๆแล้วผ่าเป็นฟืน  ใช้ส้วมหลุม  ได้พายเรือแคนนูในแอ่งน้ำขนากเล็กที่เรียกว่า lake ที่น้ำใสจนกระทั่งมองเห็นพื้น   ทะเลสาบนี้เป็นผลมาจากการกระทำของธารน้ำแข็ง ซึ่งเรียกแอ่งน้ำแบบนี้ว่า kettle lake
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 19 คำสั่ง