เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 35974 หลุมลึกลับ
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 04 ส.ค. 14, 19:41

นอกจากเราจะเห็นในภาพว่ามีชั้นตะกอนดินสลับสีกัน แล้วเรายังเห็นร่องรอยเป็นลายเส้น (striae) ในแนวดิ่ง ซึ่งแสดงถึงว่ามีอะไรสักอย่างมาครูดกันและทิ้งร่องรอยไว้  อันนี้ง่ายมาก เพราะลักษณะเช่นนี้เกือบจะเป็นเอกลักษณ์ของการกัดกร่อนแบบเสียดสีจากน้ำแข็ง  (ใน glacier นั้นไม่ใช่น้ำสะอาด มีเม็ดกรวด หิน ดิน ทรายเต็มไปหมด เป็นกระดาษทรายอย่างดีเลยทีเดียว)

ถึงตรงนี้ก็พอจะสรุปได้แล้วว่า ฉาก ตัวแสดงหลัก ตัวรอง ตัวประกอบในเรื่องนี้จะมีหน้าตาท่าทางเป็นอย่างไร

คำตอบแบบง่ายๆ คือ เป็นเรื่องของแกสระเบิด ในสิ่งแวดล้อมที่สภาพ permafrost เปลี่ยนไป   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 06 ส.ค. 14, 19:59

เรื่องราวน่าจะเป็นดังนี้ครับ

โลกได้เกิดยุคน้ำแข็ง (glacial period หรือ ice age) ครั้งหลังสุด เริ่มเมื่อประมาณ 100,000+ ปีมาแล้ว ทำให้น้ำในมหาสมุทรต่างๆได้ลดระดับลง จนทำให้หลายพื้นที่ได้กลายเป็นแผ่นดินเชื่อมติดต่อกันเป็นผืนใหญ่  เกิดมีการเคลื่อนย้ายพื้นที่หากินและถิ่นอาศัยของสรรพสัตว์บกกระจัดกระจายไปในที่ต่างๆที่เป็นแผ่นดิน (รู้ได้จากซากและ fossil ต่างๆ) รวมทั้งพืชพันธ์ุไม้ต่างๆด้วย (รู้ได้จากการศึกษาเกษรของพืช_pollen_ในชั้นดินต่างๆตามหลักวิชา Palynology)    เป็นยุคที่มีมนุษย์และเพื่อนมนุษย์ในสกุล Homo เกิดอยู่ในโลกนี้แล้วแน่นอน 

เมื่อเข้าสู่ยุคน้ำแข็งละลาย ระดับน้ำทะเลของโลกโดยรวม (eustatic sea level) ก็ค่อยๆจะสูงขึ้น  ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีช่วงเวลาของระดับน้ำสูงและต่ำอย่างที่เราประสบพบกันในโลกทุกๆวันนี้  ในคาบสมุทร Yamal ที่พบหลุมลึกลับก็เช่นกัน     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 07 ส.ค. 14, 18:26

ระดับน้ำทะเลที่สูงต่ำในแต่ละช่วงของปี ทำให้เกิดมีตะกอนแผ่เข้ามาสะสมได้ตามการขึ้นลงของระดับน้ำ ผนวกกับการมีฤดูเย็นจัดกับฤดูอบอุ่นสลับกัน ทำให้มีฤดูน้ำแข็งปกคลุมและมีฤดูน้ำแข็งละลายชุ่มฉ่ำสลับกัน ทำให้พืชเกิดเติบโตและตายสลับกัน

พืชที่ตายไปจะแปรเปลี่ยนไปเป็นดินอินทรีย์ (ดินดำ_humus) ซึ่งกระบวนการย่อยสลายไปเป็นดินอินทรีย์นี้ เป็นกระบวนการที่ได้ผลิตผลส่วนหนึ่งเป็นแกสมีเทน (การคายหรือปล่อยแกสออกมา)     ตะกอนดิน (clay) และทรายที่ละเอียด (silt) ก็จะเข้ามาเข้ามาปิดทับพืชที่ตายในแต่ละปี (เพราะน้ำทะเลในชายทะเลที่ค่อนข้างราบจะไม่มีความสามารถ (competency) ในการนำพาตะกอนขนาดใหญ่เข้ามา)
 
ผลก็คือ ในระหว่างการย่อยสลายแปรสภาพของพืช ซึ่งในขณะที่กระบวนการยังไม่สิ้นสุดและยังคงมีการคายแกสมีเทนออกมาอย่างต่อเนื่องนั้น  ก็เกิดมีตะกอนดินมาปิดทับ นานเข้าตะกอนดินก็จะหนัก เกิดการบดอัดทำให้น้ำที่อยู่ในระหว่างเม็ดของตะกอนดินทรายละเอียดนั้นถูกบีบดันตัวแทรกตัวหนีออกมา ไปรวมตัวอยู่เป็นกระเปาะ (pocket) บ้าง  หรือเซาะเป็นช่อง เป็นท่อ เป็นปล่องขึันไปสู่ผิวดิน     

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 07 ส.ค. 14, 19:20

น้ำที่ถูกบีบออกมาเป็นกระเปาะและที่ค้างอยู่ในปล่องนั้น เมื่ออากาศเย็นจัดก็จะเป็นน้ำแข็ง ซึ่งหากอากาศเย็นจัดต่อเนื่องไม่อบอุนเข้าสู่ระดับที่น้ำแข็งจะละลายได้หรือได้บ้างเล็กน้อย ก็จะเกิดสภาพของพื้นที่ที่เรียกว่า permafrost คือใต้ผืนดินเป็นน้ำแข็งทั้งปี   
(รถไฟสายธิเบตของจีน เส้นทางคมนาคม อาคารบ้านเรือน และสิ่งก่อสร้างทั้งหลายในหลายๆประเทศที่อยู่เหนือละติจูด 40 องศาขึ้นไป จึงเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ    งานทางวิศวกรรมในพื้นที่เช่นนี้จึงมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปรกติมาก  ที่จริงแล้วงานทางวิศวกรรมในพื้นที่ดินอ่อนเช่นเราก็มีค่าใช้จ่ายมากเช่นกัน แต่มันเป็นแบบ ++ เสียเยอะ)

ครับ เมื่อน้ำเย็นเข้าจนเป็นน้ำแข็ง มันก็จะมีการขยายตัว (ร้อนมันก็ขยายตัวเหมือนกัน)  การขยายตัวจะมีแรงมากมายขนาดใหนก็ไม่ทราบ แต่มันก็ทำให้ขวดน้ำที่มีน้ำเต็มขวดที่ปิดฝาแล้วนำไปใส่ช่องแข็งในตู้เย็นก็เกิดขวดแตกได้     

การขยายตัวนี้ก็เกิดในกระเปาะน้ำใต้ดินและในปล่องน้ำหนีเหมือนกัน  โดยเฉพาะที่ปล่องน้ำหนีนั้น มีทั้งขยายตัวออก (เพราะมีน้ำใหม่มาเพิ่ม) และมีระดับน้ำขึ้นลง ซึ่งก็คือทำให้เกิดกระบวนการ erosion ขึ้น ปล่องเล็กก็กลายเป็นปล่องใหญ่ เกิดการขัดสีรอบๆปล่องจนเห็นลักษณะ  striae เป็นต้น 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 07 ส.ค. 14, 19:39

ส่วนแกสมีเทนนั้น (Methane) (ซึ่งโดยความจริงแล้วมีแกสอื่นๆร่วอยู่ด้วย) บางส่วนก็จะระบายออกสู่อากาศ  แต่ก็มีส่วนที่ไม่มีช่องทางไปสู่อากาศ ก็เลยถูกกักไว้ในช่องว่างต่างๆ ทั้งในที่ที่เป็นโพรง (cavity) และในรูพรุน (porespace) ของตะกอนต่างๆ แถมถูกปิดทับด้วยชั้นผ้าห่มดิน (ชั้นตะกอนละเอียด_clay blanket) อีกหลายชั้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ชั้นตะกอนยังไม่แห้งสนิทและแข็งตัวเต็มที่นั้น (semiconsolidated) แกสต่างๆก็สามารถซึมผ่านหินตะกอนเหล่านี้ได้ ไปสะสมในที่ๆเหมาะมากกว่าได้ง่าย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 08 ส.ค. 14, 18:34

ในฤดูหนาว พื้นที่ทั้งหมดก็ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งที่แข็งตัวมาจากน้ำที่ชุมฉ่ำทั่วผิวดินและจากหิมะที่ตกมาสะสมในแต่ละปี เมื่อเข้าฤดูอากาศอบอุ่น น้ำแข็งที่ปกคลุมพื้นผิวดินก็ละลาย แต่น้ำแข็งในปล่องอาจจะไม่ละลายตามไปด้วย เพราะใต้พื้นดินยังก็เย็นจัดอยู่ ยังเป็น permafrost อยู่  ก็เลยเกิดสภาพของเนินดินที่มีตะกอนดินทรายปิดทับอยู่ (hydrolaccolith)

หลุมลึกลับที่ได้เกิดขึ้นนี้ บ่งบอกเรื่องสำคัญบางประการ คือ ธรรมชาติอาจจะกำลังบอกว่า  ความเย็นจัดของอากาศและช่วงระยะเวลาของสภาพนี้กำลังลดถอยลง ซึ่งทำให้สภาพ permafrost กำลังเปลี่ยนไป     
   ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามวัฏจักรของระบบ (cycle)  หรือ อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ   
   ก็นำไปสู่หลากหลายความคิดตามความเชื่อและข้อมูลที่จะใช้อ้างอิงกัน เช่น เรื่องโลกร้อนขึ้น   เรื่องกาซเรือนกระจก  หรือเรื่องโลกกำลังเข้าสู่ยุคน้ำแข็งละลายเต็มตัว (inter-glacial period)

ครับ เมื่อน้ำแข็งละลายและ permafrost หมดไป กาซมีเทนที่สะสมใต้ดินอยู่จึงดันพลุ่งขึ้นสู่อากาศทางปล่อง ระเบิดเอาตะกอนดินทรายที่ปิดทับปากปล่องออกไปกองอยู่ข้างๆรอบปากปล่อง น้ำที่พบอยู่ก้นปล่องก็คือน้ำของกระเปาะน้ำแข็งเดิม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 08 ส.ค. 14, 19:10

ผืนแผ่นดินที่พบหลุมลึกลับนี้ เป็นพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของรัสเซีย    ผมเข้าใจว่าเป็นแหล่งที่พบช้าง mammoth น้อยที่ถูกแช่เย็นไว้โดยน้ำแข็งมานาน และเป็นแหล่งที่พบงาช้าง mammoth มากมายอีกด้วย


ความสนใจเป็นพิเศษของผมในกรณีหลุมยักษ์ลึกลับนี้ คือ เรื่องของ methane hydrate หรือ methane clathrate  ซึ่ง คือ ก๊าซมีเทนที่จับตัวกันเป็นแน่นในโครงสร้างคล้ายน้ำแข็งสะสมตัวร่วมอยู่กับตะกอนดินทราย ซึ่งมีการค้นพบในหลายๆแห่งในโลกแล้วในบริเวณที่มีน้ำเย็นจัด หรือในน้ำลึก (เช่น ในอลาสกา ในทะเลสาปไบคาล และในตะกอนที่ฐานของไหล่ทวีป)  ครับก็เป็นแหล่งพลังงานใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งขณะนี้รู้ว่ามีศักยภาพที่น่าสนใจ แต่จะควบคุมมันอย่างไรดี 

ครับ หลุมที่เกิดก๊าซดันพลุ่งออกมานี้ มาจาก methane hydrate หรือเปล่าก็ไม่รู้ ฮืม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 08 ส.ค. 14, 19:38

คำอธิบายเรื่องของหลุมลึกลับก็น่าพอเพียงเท่านี้นะครับ 

ไม่ทราบว่าจะทำให้พอเห็นภาพได้บ้างหรือไม่ครับ ว่าเกิดได้อย่างไร
   
ส่วนสำหรับเรื่องคำอธิบายจะพอฟังได้หรือไม่ รวมทั้งจะถูกจะผิด หรือจะเชื่อได้หรือไม่นั้น ก็สุดแท้แต่จะพิจารณา ซึ่ง ณ ขณะนี้ น่าจะมีข้อมูลจากการสำรวจเพิ่มเติมและมีคำอธิบายที่สอดคล้องกับสิ่งที่พบ ลองควานหาเปิดอ่านดูครับ

ดินแดนนี้เป็นหนึ่งในความฝันของผมที่อยากจะไปเข้าไปสัมผัส  เป็นอีกหนึ่งของ wilderness ที่อยากจะเข้าไปมีประสบการณ์ โดยเฉพาะการเดินทางโดยใช้รถตีนตะขาบ (track vehicle) และการพักแรมแบบชนบทท้องถิ่นกับพวกเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 09 ส.ค. 14, 14:02

ขอขอบคุณคุณตั้งอย่างมาก  ที่สละเวลามาให้ความรู้ในเรื่องที่หายากอย่างในกระทู้นี้ค่ะ      ดิฉันได้แต่นั่งฟังอย่างเดียวเวลาคุณตั้งตั้งอกตั้งใจติวความรู้ให้   แต่ก็ได้ความรู้อะไรหลายอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน

ก่อนจบกระทู้นี้ เจอข่าวหลุม(ไม่)ลึกลับอีกแล้ว

โคราชผวา ! เขาใหญ่เกิดแผ่นดินยุบ พบโพรงหินปูนใหญ่อื้อ-จี้เร่งสำรวจป้องกัน

ศูนย์ข่าวนครราชสีมา-โคราชผวาเขาใหญ่แผ่นดินยุบ พบโพรงหินปูนขนาดใหญ่เสี่ยงเกิดแผ่นดินทรุดและยุบตัวอื้อ เรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องหารือแนวทางการป้องกันด่วน เผยประสานสำนักธรณีวิทยาลงสำรวจพื้นที่เสี่ยง 12 ตำบล อ.ปากช่อง และ 2 ตำบล อ.วังน้ำเขียว เพื่อให้รู้ข้อมูลแท้จริง ด้าน ผอ.สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน เสนอ 4 มาตรการเพื่อป้องกัน เผยผลสำรวจแม้เสี่ยงไม่สูงแต่บางจุดน่าเป็นห่วงและมีโอกาสเกิดหลุมยุบได้
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณปริสุทโธ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ทางจังหวัดนครราชสีมา ได้เรียกประชุมด่วนการป้องกันและแก้ไขปัญหาโพลงหินปูนในพื้นที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 ส.ค. โดยมี นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เช่น ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา , ตัวแทนสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 5 นครราชสีมา , สำนักงานธรณีวิทยาเขต 2 (ขอนแก่น) , ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา ,สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา และ ผู้แทนทหารจากมณฑลทหารบกที่ 21 (มทบ. 21) กองทัพภาคที่ 2
       
       นายชยาวุธ กล่าวว่า สืบเนื่องกรณีที่ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ได้เปิดเผยผลสำรวจทางธรณีวิทยาบริเวณพื้นที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พบว่า เกิดโพรงหินปูนซึ่งเสี่ยงจะเกิดแผ่นดินทรุด และยุบตัวมากขึ้น หากมีการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้จำนวนมาก รวมทั้งหินปูนดังกล่าวได้ไหลอุดตันการไหลเวียนของแหล่งน้ำใต้ดิน ขัดขวางการอุ้มน้ำไว้ในพื้นที่ภูเขา ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดอุทกภัย น้ำป่าไหลหลากได้ ฉะนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาหารือและเตรียมแผนรองรับเช่นกัน
       
       ทั้งนี้จากรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสรุปได้ว่า โพรงหินปูนที่มีจำนวนมากในพื้นที่ อ.ปากช่อง 12 ตำบล และ อ.วังน้ำเขียว อีก 2 ตำบล นั้น ยังไม่อยู่ในระดับที่เสี่ยงมากเหมือนบางพื้นที่ของภาคใต้ โดยหลุมยุบที่พบในพื้นที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง นั้นเกิดมานานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งโพรงหินปูนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังค่อนข้างแข็งแรง แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีความเสี่ยงในบางจุดซึ่งจะต้องหาแนวทางในการป้องกัน
       
       ขณะที่สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 5 นครราชสีมา ระบุว่า บ่อน้ำบาดาลที่เจาะบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง มีความลึกระหว่าง 15-60 เมตร ระดับน้ำบาดาล อยู่ระหว่าง 5-20 เมตร ขึ้นอยู่กับว่าบ่อน้ำบาดาลนั้น เจาะบนที่ลุ่มหรือเนิน การไหลของน้ำบาดาล พบว่าเส้นระดับน้ำบาดาลในพื้นที่รอบอุทยานฯ มีระดับความสูง 300-380 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีทิศทางการไหลลงสู่ลำห้วยสายต่างๆ ที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งระดับกักเก็บน้ำสูงสุดของอ่างอยู่ที่ 278.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
       
       จะเห็นได้ว่าระดับน้ำบาดาลอยู่สูงกว่าระดับกักเก็บน้ำของอ่างฯ จึงยังคงมีน้ำบาดาลไหลลงสู่อ่างอย่างต่อเนื่องจึงไม่เป็นสาเหตุที่จะทำให้ลำตะคองแห้งและพื้นที่ดังกล่าวเป็นหินปูนที่มีความแข็งแรงเก็บน้ำได้ดี เสี่ยงต่อการเกิดการยุบตัวของดินด้านบนได้น้อย
       
       อย่างไรก็ตามทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจได้เสนอให้หน่วยงานด้านธรณีวิทยาลงมาสำรวจพื้นที่เสี่ยงใน อ.ปากช่อง และวังน้ำเขียวเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงและเพื่อให้ความกระจ่างแก่ประชาชนซึ่งหากมีความเสี่ยงสูงจะได้เตรียมการในการรับมือได้อย่างทันท่วงที
       
       ด้าน ผศ.ดร.ประเทือง เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา ได้พบกับหลุมยุบในพื้นที่ ต.หมูสี และมีน้ำผุดซึ่งเกิดจากการโพรงหินปูนดังกล่าวหลายแห่ง โดยพื้นที่เสี่ยงที่มีโพรงหินปูนอยู่ใน 12 ตำบลของ อ.ปากช่อง ประกอบด้วย ต.ปากช่อง, กลางดง ,จันทึก, วังกระทะ ,หมูสี, หนองสาหร่าย, ขนงพระ, โป่งดาลอง, คลองม่วง, หนองน้ำแดง, วังไทร และ ต.พญาเย็น ส่วนที่ อ.วังน้ำเขียว มี 2 ตำบล คือ ต.วังน้ำเขียว และ ต.ระเริง
       
       ทั้งนี้ทางสถาบันฯ ได้เสนอให้ทางจังหวัดหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไข ประกอบด้วย 1. ควรมีการสำรวจโดยกรมทรัพยากรธรณี หรือ กรมทรัพยากรน้ำบาดดาล เพื่อให้เห็นลักษณะและโครงสร้างโพรงหินปูนใต้ดินใน อ.ปากช่อง โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ที่มีสิ่งก่อสร้างต่างๆ แล้วเผยแพร่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นหรือประชาชนได้รับทราบ
       
       2. หลุบยุบเป็นภัยที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ใน อ.ปากช่อง จึงควรมีการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องภูมิประเทศศาสตร์ ในโรงเรียน 12 ตำบลของ อ.ปากช่อง และ 2 ตำบลใน อ.วังน้ำเขียว
       
       3.ควรมีการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ศาสตร์ของ อ.ปากช่องและ อ.วังน้ำเขียวโดยกำหนดให้อยู่ในข้อกำหนดงานของการจัดทำอุทยานธรณี ตามเกณฑ์ของยูเนสโก
       
       และ 4. ควรจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์เผยแพร่ใน อ.ปากช่อง เช่น ภัยจากหลุมยุบสามารถป้องกันได้ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้นำเสนอไปทางจังหวัดนครราชสีมาเรียบร้อยแล้ว

http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9570000090716


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 09 ส.ค. 14, 19:26

ขอบคุณสำหรับคำขอบคุณครับ   

แล้วก็ต้องขอขอบคุณ อ.เทาชมพู ย้อนกลับไป   ที่ได้เลือกตั้งประเด็นขึ้นมา    เป็นความตั้งใจของผมอยู่แล้วที่จะพยายามระบายความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการคืนไปให้กับชนรุ่นหลังให้มากที่สุด แต่ช่องทางที่จะกระทำได้นั้นมีจำกัดมาก   จะไปตั้งหัวข้อเอง ตั้งหัวเรื่องเองก็กระไรอยู่ ดูจะเป็นการอวดภูมิไปเสียมากกว่า

หลายๆครั้งก็เกิดการหงุดหงิดที่มีคำบอกเล่าอธิบายอะไรๆแปลกๆ คล้ายกับกรณีเรื่องใน คห.ของ อ.เทาชมพูก่อนหน้า คห.นี้  ที่ได้กล่าว (โดยสรุป) ว่า ระดับน้ำบาดาลในพื้นที่เนินรอบอ่างลำตะคองสูงกว่าระดับกักเก็บน้ำของอ่าง จนทำให้ (ในทำนองนี้) ไม่ต้องกลัวว่า อ่างเก็บน้ำจะแห้ง   

มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแต่มีผลน้อยนิดมากๆๆที่จะไม่ทำให้น้ำในอ่างไม่แห้งลงไป    เพราะมันเป็นเพียงระบบน้ำใต้ผิวดิน (subsurface water table) ซึ่งในธรรมชาติก็เกือบจะเรียกได้ว่ามีระดับสอดคล้องไปตามความรูปทรงและความสูงต่ำของภูมิประเทศ     ทั้งนี้ ถ้าเนินเขารอบอ่างน้ำมีต้นไม้และพืชพรรณไม้หนาแน่นสมบูรณ์ตั้งแต่ระดับพุ่มยอดของไม้ใหญ่ ลงมาถึงไม้ความสูงระดับกลาง จนถึงไม้คลุมดิน แล้วก็มีฝนตกชุ่มชื้นในปริมาณมากละก็ ก็เป็นไปได้จริงๆที่จะมีน้ำเติมเข้าอ่างตลอดเวลา  แล้วก็ยังไปเกี่ยวพันกับขนาดของพื้นที่รับน้ำ (catchment area) รวมทั้งระบบและปริมาณของลำธารสาขาอีกด้วย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 09 ส.ค. 14, 19:41

เลยเถิดไปไกลครับ     เพียงตั้งใจจะบอกว่า คงจะพอในเรื่องหลุมลึกลับ แล้วจะต่อไปเรื่องของหลุมยุบ (sink hole) ที่เกิดขึ้นอยู่กลางเมืองดังภาพใน คห.7  แล้วก็จะต่อไปยังเรื่องของทะเลสาบเล็กๆในทะเลทราย ใน คห.11  ก็บังเอิญ อ.เทาชมพู ได้กล่าวถึงเรื่องโพรงใต้ดินแถวๆ อ.ปากช่อง ใน คห.23

ก็จะขออนุญาตต่อไปเรื่องทะเละสาบเล็กๆในทะเลทรายก่อนนะครับ แล้วค่อยมาต่อเรื่องของหลุมยุบ   

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 09 ส.ค. 14, 20:01

ทะเลสาบในทะเลทราย   Desert Gafsa Beach

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 13 ส.ค. 14, 19:11

กรณีทะเลสาปเล็กๆนี้ เมื่อดูวิดีโอแล้ว ผมพอจะเล่าเรื่องได้ดังนี้ครับ

สิ่งที่ผมเห็นในภาพมีอะไรบ้าง
   - ผมเห็นตะกอนทรายเรียงตัวทับถมกันเป็นชั้นๆเอียงเทไปในทิศทางเข้าอ่างน้ำ
   - ที่บริเวณฐานของชั้นหินที่เอียงเท เหนือระดับน้ำเล็กน้อย ผมเห็นมีโพรงซึ่งมีลักษณะเกิดจากการพังลงของชั้นหินส่วนที่ถูกปิดทับ
   - ผมเห็นมีแผ่นหินและเศษหินที่บริเวณชายหาด ในทำนองเดียวกันก็เห็นพื้นที่ปกคลุมด้วยทราย แต่ไม่หนานัก เพราะว่า คนเดินแล้วไม่ยุบดังที่เดินบนกองทรายแห้งๆ
   - ภาพข้างต้นนี้ แสดงว่าในพื้นที่นี้ รองรับด้วยทรายที่บดอัดกันแต่ยังไม่แข็งตัวเต็มที่จนกลายเป็นหินแข็ง จัดเป็นหินตะกอนประเภทที่เรียกกันว่า semi consolidated rock 

   - ผมเห็นมีไม้พุ่มเกิดอยู่ที่บริเวณหาดทราย
   - เห็นก้อนหินเป็นก้อนๆวางเรียงกันที่บริเวณรอยต่อระหว่างชายหาดกับพื้นน้ำ
   - แล้วก็เห็นตะพักชายหาด (berm) เหนือกองหินที่ได้กล่าวถึงนี้
   - ภาพนี้พอสรุปได้ว่า ทะเลสาบเล็กๆนี้ คงจะมิใช่เพิ่งจะเกิด น่าจะเป็นเพิ่งค้นพบเสียมากกว่า หรือมิฉะนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องราวที่ปั้นขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือ......อะไรสักอย่าง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 13 ส.ค. 14, 20:31

คราวนี้ก็มาถึงเรื่องว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

เบื้องแรกก็ต้องปรับความคิดเสียแต่แรกเริ่มว่า ในทะเลทรายนั้นไม่ได้แห้งแล้งจนไม่มีน้ำเอาเลย

พื้นที่ๆมีสภาพเป็นทะเลทรายนั้น เกิดมาจาก 2 เรื่องผสมผสานกัน คือ โดยทั่วไปก็คือการมีฝนตกในปริมาณน้อยมากๆ หรือไม่มีฝนตกต่อเนื่องมาหลายๆปีหรือนานมากมาแล้ว  ซึ่งก็มีต้นเหตุมาจากการที่พื้นที่นั้นๆอยู่ห่างไกลมากจากชายขอบของรอยต่อระหว่างผืนน้ำกับผืนแผ่นดิน หรือพื้นที่นั้นๆถูกบังด้วยเทือกเขาสูง ไปปิดเมฆฝนมิให้พัดผ่านเข้ามาในพื้นที่

ในทะเลทรายมีน้ำบนพื้นผิวดินหรือใกล้ผิวดินที่อาจจะจำกัดอยู่เฉพาะที่และมีพื้นที่จำกัด  แล้วก็มีน้ำบาดาลอยู่ใต้แผ่นดินเช่นกัน มากน้อยต่างกันไป 

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 15 ส.ค. 14, 19:41

ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ว่าอยู่ทะเลสาบนี้อยู่ที่ใหน  อ้อ อยู่ในประเทศตูนีเซียนี่  แล้วก็เลยอ้าว ก็อยู่ในอัฟริกาเหนืออีกฝั่งแผ่นดินหนึ่งที่ซึ่งฝั่งตรงกันข้ามเป็นปลายหัวรองเท้าบูทของอิตาลีซึ่งเป็นบริเวณที่มีภูเขาไฟที่มีพลังอยู่  ฉะนั้น คงจะต้องประสบกับเรื่องของแผ่นดินไหวด้วย

ก็เลยพอจะได้คำอธิบายการเกิดของทะเลสาบเล็กๆนี้ ดังนี้  ค่อนไปทางเดานะครับ เพราะมีข้อมูลและความรู้กับพื้นที่น้อยมาก

เรื่องแรก คือ ได้กล่าวแล้วว่า ใต้พื้นทรายที่ปกคลุมเป็นทะเลทรายนั้น ก็มีน้ำอยู่เหมือนกันใน 2 รูปแบบ คือ ที่อยู่ใกล้ผิวดิน กับที่อยู่ในชั้นหินลึกใต้ทะเลทราย
สำหรับที่อยู่ใกล้ผิวดินนั้น บางจุดก็โผล่พ้นผิวดิน หรืออยู่ใกล้ผิวมากๆ จนกลายเป็นพื้นที่โอเอซีส (Oasis) ชั้นน้ำพวกนี้ไม่อยู่ในสภาพที่มีแรงอัด คือ ไม่อยู่ในลักษณะที่มีชั้นอะไรที่น้ำผ่านไม่ได้มาปิดกดทับไว้ (unconfined aquifer) ต่างกับน้ำบาดาลที่อยู่ลึกใต้ดินซึ่งจะมีชั้นหินที่อยู่เหนือกว่ามาปิดทับ ทำให้น้ำที่อยู่ในรูพรุนของหินอยู่ภายใต้สภาวะที่มีแรงอัดหรือแรงดัน (confined aquifer)

เรื่องที่สอง คือ ในภาพวิดีโอนั้น จะเห็นว่าชั้นของหินทรายที่ยังไม่แข็งตัวเต็มที่นั้น ไม่วางตัวในลักษณะราบๆแต่วางตัวแบบเอียงเท  แล้วก็เห็นว่ามีด้านที่ชัน (escarpment slope) ทีคล้ายกับมีอะไรมาตัดความต่อเนื่องของชั้้นหินออกๆไป  และก็มีด้านที่ไม่ชัน (dip slope) ที่เอียงเทลงเข้าหาแอ่งน้ำ คล้างกับของกะละมัง
ลักษณะของด้านชันที่กล่าวถึงนี้ แสดงว่าในพื้นที่นี้ต้องมีรอยแตก (crack) ไม่ว่าจะเป็นรอยเลื่อน (fault) หรือรอยแตกอย่างเป็นระบบ (joint)  ซึ่งก็คือรอยแตกที่น้ำสามารถจะซึมผ่านไปได้

เรื่องที่สาม คือ พื้นที่นี้อยู่ในแถบที่มีภูเขาไฟ หรือในอีกนัยหนึ่งก็คือ มีจุดร้อนกว่าปรกติอยู่ข้างใต้   ในสภาพเช่นนี้ น้ำบาดาลก็ย่อมขยายตัว ส่งผลให้แรงอัดหรือแรงดันในชั้นน้ำบาดาลมีมากขึ้น พร้อมที่จะพุ่งฟุ้งกระจายไปตามรอยแตกรอยแยกต่างๆ

เรื่องที่สี่ คือ ในพื้นที่นี้มีแผ่นดินไหวอีกด้วย

เมื่อเอาเรื่องทั้งสี่มาผสมผสานกัน ก็เลยทำให้เห็นภาพว่า แรงเขย่าจากแผ่นดินไหวในแต่ละครั้งได้ช่วยขยับขยายร่องรอยแตกต่างๆให้กว้างขึ้น น้ำบาดาลที่อยู่ภายใต้แรงอัดหรือแรงดันก็พยายามจะดันออกมา วันดีคืนดี ก็สามารถดันทะลุออกมาได้และไหลนองไปสะสมในที่ต่ำ  ก็คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง คือ น้ำในบ่อน้ำตื้น จะดันขึ้นมาล้นปากบ่อ หรือไม่ น้ำในบ่อก็แห้งลงไป  เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวที่เชียงรายเร็วๆนี้ ก็เกิดสภาพคล้ายๆกัน (หากตามดูข่าวก็จะเห็นมีข่าวว่ามีโคลนทะลักออกมาจากปากบ่อน้ำ)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.078 วินาที กับ 19 คำสั่ง