เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 14056 เรียนคุณเพ็ญชมพู.....
ammpere
อสุรผัด
*
ตอบ: 19


 เมื่อ 19 ก.ค. 14, 16:42

สวัสดีค่ะคุณเพ็ญชมพู...พอดีตอนนี้หนูกำลังตามหาประวัติบรรพบุรุษ...แล้วได้เปิดไปเจอกระทู้ของคุณเพ็ญชมพูเมื่อนานมาแล้วในเว็บไซด์พันทิพย์(แต่ไม่รู้ว่าใช่คุณเพ็ญชมพูคนเดียวกันรึป่าว)..ในหัวข้อเรื่อง..จดหมายหลวงอุดมสมบัติ...ที่เขียนเกี่ยวกับสงขลา..หนูสนใจในวรรคนึงที่บอกว่า..เมื่อก่อนเรื่องชื่อบุคคลจะมีหน้าที่อะไร(ประมาณนี้)แต่หรูสนใจเกี่ยวกับชื่อของบุคคลที่ปรากฏอยู่มากกว่า เช่นพระยาวิชิตณรงค์     พระณรงค์ชลที  หลวงทิพย์อักษร  ขุนโจรกลับใจ  ขุนพิทักษ์สงคราม(ชื่อนี้แหละที่หนูสะดุดเพราะมันเหมือนชื่อคุนทวด)  หนูเลยอยากรบกวนว่าพอจะมีข้อมูลอะไรอธิบายเพิ่มเติมบ้างรึป่าวเกี่ยวกีับประวัติ  หรือข้อมูลอื่นๆ  เพราะเข้าใจว่าตำแหน่งข้าราชการสมัยก่อนชื่อมักจะเหมือนกัน....รบกวนคุณเพ็ญชมพูและผู้รู้ท่านอื่นๆช่วยหนูด้วยนะค๊ะ..ขอบพระคุณจากใจจริงค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 09:05

อรุณสวัสดิ์คุณแอมแปร์ คำถามของคุณแอมมี ๒ ส่วน

ส่วนแรกถามเกี่ยวกับตัวกระทู้เก่าที่พันทิป

สวัสดีค่ะคุณเพ็ญชมพู...พอดีตอนนี้หนูกำลังตามหาประวัติบรรพบุรุษ...แล้วได้เปิดไปเจอกระทู้ของคุณเพ็ญชมพูเมื่อนานมาแล้วในเว็บไซด์พันทิพย์(แต่ไม่รู้ว่าใช่คุณเพ็ญชมพูคนเดียวกันรึป่าว)..ในหัวข้อเรื่อง..จดหมายหลวงอุดมสมบัติ...ที่เขียนเกี่ยวกับสงขลา..
ขออนุญาตตอบคำถามส่วนแรกก่อน เพราะตอบง่ายกว่าส่วนหลัง  ยิ้มเท่ห์

๑. กระทู้ที่คุณแอมกล่าวถึงเป็นของ "คุณนิค" พูดถึงเรื่องหนังสือเก่าที่ไปอ่านที่บ้าน "พี่เบิ้ม"  "เพ็ญชมพู" เป็นเพียงส่วนสนับสนุน

๒. เพ็ญชมพูที่ "พันทิป" และ "เรือนไทย" ใช่อื่นไกลเป็นคนเดียวกัน


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 09:18

ส่วนหลังถามเกี่ยวกับนามบุคคลและประวัติบรรพบุรุษ

หนูสนใจในวรรคนึงที่บอกว่า..เมื่อก่อนเรื่องชื่อบุคคลจะมีหน้าที่อะไร(ประมาณนี้)แต่หรูสนใจเกี่ยวกับชื่อของบุคคลที่ปรากฏอยู่มากกว่า เช่นพระยาวิชิตณรงค์     พระณรงค์ชลที  หลวงทิพย์อักษร  ขุนโจรกลับใจ  ขุนพิทักษ์สงคราม(ชื่อนี้แหละที่หนูสะดุดเพราะมันเหมือนชื่อคุนทวด)  หนูเลยอยากรบกวนว่าพอจะมีข้อมูลอะไรอธิบายเพิ่มเติมบ้างรึป่าวเกี่ยวกีับประวัติ  หรือข้อมูลอื่นๆ  เพราะเข้าใจว่าตำแหน่งข้าราชการสมัยก่อนชื่อมักจะเหมือนกัน....รบกวนคุณเพ็ญชมพูและผู้รู้ท่านอื่นๆช่วยหนูด้วยนะค๊ะ..ขอบพระคุณจากใจจริงค่ะ

นามบุคคลที่คุณแอมกล่าวถึงอยู่ในหนังสือ "หนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติ" กล่าวไว้ในความคิดเห็นที่ ๒๙ มีรายละเอียดดังนี้

คุณแสนอักษรสั่งการบ้านใน # ๒๑

ใครคือหลวงอุดมสมบัติ  เขียนจดหมาย เรื่องอะไร  ไปถึงใคร  ทำไมถึงต้องเขียน หาอ่านกันเถิดมิตรสหายน้องพี่

ยังหาหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติอ่านไม่ได้ อ่านบทวิจารณ์ไปก่อน  

คุณชาญณรงค์ เที่ยงธรรม แห่งศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ ม.หาดใหญ่ เขียนบทวิจารณ์ในเว็บโฟกัสปักษ์ใต้ ไว้ว่า

นาน ๆ ทีจะเจอหนังสือที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของภาคใต้ ชนิดที่ว่าอ่านแล้วไม่อยากจะวาง เพราะผู้เขียนบรรยายเรื่องราวได้ละเอียดละออ ทั้งเนื้อหาเหตุการณ์และเกร็ดทางประวัติศาสตร์ ผมจัดให้หนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติเล่มนี้เป็นหนังสืออีกเล่มที่ผมชอบครับ..

ก่อนจะพลิกไปอ่านเนื้อหาภายในเล่ม จะเห็นบทอธิบายแทรกไว้ในช่วงต้น ซึ่งเสมือนเป็นบทนำของหนังสือ ทรงพระนิพนธ์โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านชี้แจงถึงมูลเหตุอันเป็นที่มาของจดหมายหลวงอุดมสมบัติไว้ยืดยาวพอควร สรุปความได้ว่า พระยาศรีพิพัฒน์ฯ(ทัด)ได้ให้หลวงอุดมสมบัติ ซึ่งมีตำแหน่งในกรมพระคลังสินค้า(ทำนองเป็นเลขานุการ)เป็นธุระในการคอยสืบฟังข้อราชการ เรื่องกองทัพ หรือเรื่องอื่นใดที่ได้มีการปรึกษาหารือกันในกรุงเทพฯ ซึ่งการปรึกษาหารือข้อราชการในสมัย ร.๓ นั้น (สมัยที่หลวงอุดมสมบัติเขียนจดหมาย)

โดยปกติพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จออกพบขุนนางในท้องพระโรง วันละ ๒ ครั้ง ซึ่งในเวลาเช้าจะทรงว่าราชการฝ่ายตุลาการ อาทิ พิพากษาฎีกาของราษฎร ส่วนในเวลาค่ำนั้น จะเป็นราชการบ้านเมือง ซึ่งในเวลาค่ำนี้เองที่เสนาบดีต้องไปเข้าเฝ้าโดยพร้อมเพรียงกันทั้งหมด และหากมีใบบอกราชการใด ๆ มาจากหัวเมือง เสนาบดีเจ้ากระทรวงก็จะกราบทูลเบิกขึ้นมา จากนั้นปลัดทูลฉลองก็จะอ่านใบบอกที่คัดนั้นถวายให้ทรงฟัง เมื่อทรงฟังโดยตลอด รวมถึงได้ปรึกษาหารือกับเสนาบดีเพื่อหาข้อยุติแล้ว ทรงตรัสว่าอย่างไร ปลัดทูลฉลองก็จะจดจำพระกระแสรับสั่งนั้นมาดำเนินการ แต่ถ้าเป็นราชการที่สำคัญ ๆ ก็จะต้องให้นำร่างตรานั้นขึ้นถวายให้ทรงตรวจแก้ก่อนเสมอ..

ซึ่งหลังจากที่หลวงอุดมสมบัติได้ฟังข้อราชการแล้ว ก็ให้รายงานบอกมายังพระยาศรีพิพัฒน์ ฯ (ทัด) ซึ่งท่านได้มาตรวจราชการอยู่ที่ภาคใต้ ทำนองว่า มีข้อสนทนาใด ๆ ที่พาดพิง เกี่ยวข้อง หรือเป็นประโยชน์แก่การไปปฏิบัติราชการ ก็ให้บันทึกเป็นจดหมายรายงานมา แต่กระนั้นแม้กระทั่งในพระราชวังไม่ทรงตรัสถามถึง หลวงอุดมสมบัติก็ยังอุตส่าห์บันทึกเน้นแทรกไว้ในจดหมายเป็นระยะ ๆ อาทิ ..ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๑ ค่ำ หาได้ทรงตรัสถามถึงราชการเมืองไทรไม่.. เช่นนี้เป็นต้น

เหตุที่พระยาศรีพิพัฒน์ฯ(ทัด) ได้มอบหมายให้หลวงอุดมสมบัติปฏิบัติงานเรื่องนี้นั้น เสด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงให้ทัศนะไว้ว่า เห็นจะเป็นเพราะท่านเป็นผู้ที่มีความจำเป็นเลิศครับ ในตอนจบของบทอธิบายเสด็จกรมพระยาดำรงฯได้ทิ้งท้ายไว้ว่า "เรื่องต่อจากนี้ไปจะปรากฏโดยพิสดารในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ.." ยิ่งชวนให้น่าติดตามนัก ทีแรกผมก็รู้สึกขันไปกับสำนวนของพระองค์ แต่พออ่านไป ๆ ก็ชักจะเห็นว่าจริง !

รวมจดหมายที่หลวงอุดมสมบัติรายงานแล้วส่งไป นับเบ็ดเสร็จได้ ๑๕ ฉบับด้วยกัน เนื้อความเริ่มตั้งแต่ที่พระยาศรีพิพัฒน์ฯ(ทัด)เป็นแม่ทัพ ยกกองทัพออกจากกรุงเทพฯไปถึงเมืองสงขลา จดหมายฉบับที่ ๑ เริ่มต้นเหตุการณ์ในจุลศักราช ๑๒๐๐ (พ.ศ. ๒๓๘๑) หัวข้อที่สนทนาเป็นเรื่องราวของเมืองต่าง ๆ ในภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ พิจารณาแต่ละฉบับไม่ได้เขียนแบบสั้น ๆเลยครับ ทุกฉบับมีเนื้อหา สาระ รายละเอียด อัดแน่นเต็มเหยียดทุกฉบับ อาทิ ชื่อบุคคล ตำแหน่ง แม้กระทั่งชื่อเรือ ชื่อปืน หรือสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงชื่อเมือง ตำบล หมู่บ้าน ในพื้นที่แถบภาคใต้ตอนล่างไปจนถึงเมืองไทร

บางเรื่องอ่านแล้วก็รู้สึกสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นที่กล่าวขวัญอยู่ในปัจจุบัน เช่น เรื่องแผ่นดินไหว (ปรากฏในจดหมายฉบับที่ ๓ เขียนในจุลศักราช ๑๒๐๐ พ.ศ. ๒๓๘๑) หลวงอุดมสมบัติบันทึกเล่าไว้ว่า ..เพลาคืนนี้แผ่นดินไหวนักหนาทีเดียว ไหวมากกว่าครั้งก่อนจนคนซวนเซตั้งตัวไม่ตรงเลย ทรงทอดดิ่งทอดพระเนตรดูเห็นโยนไกวไปข้างเหนือมาข้างใต้ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไหวครั้งนี้ไหวมาก เจ้าคุณหาบนออกมาจากเรือนซวนออกมาทีเดียว ออกมาเห็นอัจกลับที่แขวนไว้ไกวโยนลอดตะวันไป ทรงตรัสว่า เป็นไรจึงไม่ทอดดิ่งดูบ้างเล่า.. จากความที่ปรากฏ ทำให้เราทราบว่า ใน พ.ศ.๒๓๘๑ (เดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ) นั้น ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงมาก (วิเคราะห์จากคำพูดฟังเหมือนว่าการทอดดิ่งเพื่อสังเกตการแกว่งไกวนั้น อาจจะเป็นวิธีหรือเป็นธรมเนียมวัดระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในยุคสมัยนั้นกระมัง)

นอกจากเรื่องนี้ สิ่งที่ผมอ่านแล้วอดอมยิ้มไม่ได้ ก็เห็นจะเป็นเรื่องชื่อบุคคลที่ปรากฏเกี่ยวข้องในยุคสมัยนั้นครับ คนยุคก่อน ๆ นี่ เขาคำนึงถึงความหมายของการตั้งขื่อกันมากทีเดียว ลองมาทายกันดูเล่น ๆ ไหม ว่าแต่ละท่านมีประวัติหรือมีความสามารถดีเด่นในทางใด เมื่อได้เห็นนัยที่แฝงอยู่ในชื่อ อาทิ พระยาวิชิตณรงค์ พระณรงค์ชลธี ขุนศรีสังหาร ขุนต่างตากรมการ หลวงวิจารณ์เดินบก ขุนจิตรใจรักษ์ หมื่นพิทักษ์นาวา ขุนจำหมื่นจอง(พวกที่ความจำเป็นเลิศ) หลวงทิพอักษร(เสมียนตรา) ขุนพิทักษ์สงคราม หลวงพลพิฆาต หลวงพิทักษ์นที ขุนโจรกลับใจ เป็นต้น

เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ ที่กล่าวถึงการจัดตั้งค่ายของเมืองสงขลา เพื่อตั้งรับขับสู้กับไพร่พลหัวเมืองมลายู ลักษณะของค่ายเมืองสงขลา ทำเป็นค่ายคูล้อมเมืองในลักษณะของค่ายปีกกา ตั้งแต่เตาอิฐไปจนถึงคลองสำโรงยาว ๓๐ เส้นเศษ ลักษณะของค่ายปีกกานี้ จะมีหัวปีกกา ๒ ข้าง ไม่มีช่องทางที่จะให้ข้าศึกเข้ามาได้ หัวปีกกาข้างหนึ่งเริ่มตั้งแต่เตาอิฐริมทะเลสาบไปจดริมคลองสำโรง สำหรับไพร่พลที่รักษาค่ายมีอยู่ราวๆ สองพัน แบ่งการตั้งรับออกเป็น ๔ ค่าย ได้แก่ ทางเขาเก้าเส้ง ๑ ค่าย ทางปลักแรด ๑ ค่าย(ปัจจุบันไม่ปรากฏชื่อในแผนที่) ทางเขาลูกช้าง ๑ ค่าย(ปัจจุบันเรียกเขารูปช้าง) ทางคลองสำโรง ๑ ค่าย ทั้ง ๔ ค่ายชักปีกกาถึงกัน มีระยะทางห่างกันราว ๑๐ เส้นเศษ และสามารถเดินถึงกันได้ มีการใช้ไม้เป็นวัสดุหลักในการทำค่าย ไม้ที่ใช้ทำเสาค่ายจะมีขนาดใหญ่ ส่วนบนของหอรบมีปืน ส่วนล่างของหอรบจะมีปืนใหญ่ ที่หน้าค่ายมีการลงรั้วขวากหนามดักไว้ นอกจากนี้ที่บ้านคลองสำโรงนั้นก็จะมีการตั้งค่ายล้อมเอาไว้ด้วย เมื่อยิ่งอ่านยิ่งชวนให้เห็นภาพของค่ายเมืองสงขลาปรากฏเด่นชัดขึ้น นี่ถ้าหากว่าค่ายปีกกายังคงหลงเหลือร่องรอยให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ผมคิดว่าน่าจะเป็นแหล่งศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้ดีอีกแห่งหนึ่ง หรือไม่ก็อาจจะประยุกต์เป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวก็ไม่เลวครับ แต่ครั้นสิ่งเหล่านี้ไม่หลงเหลือให้เห็นอีกแล้วในชั้นผิวดิน ผมก็คิดแบบสนุกๆ ขึ้นมาว่า..  

"แล้วในชั้นใต้ดินล่ะจะมีร่องรอยหลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่ "

ความคิดที่อยากจะออกสำรวจผุดพรายขึ้นมาอีกล่ะ

"แล้วจะไปด้วยกันไหมครับ"

http://www.focuspaktai.com/index.php?file=news&obj=news.view(id=6229)

จากคุณ : เพ็ญชมพู   - [ 25 ธ.ค. 50 13:12:41 ]


ขออภัยที่กาลเวลาพาให้ลิ้งก์ตันเรื่อง หายไปเสียแล้ว  ตกใจ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 10:10

จดหมายหลวงอุดมสมบัติเขียนรายงานถึงพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด) (ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติในรัชกาลที่ ๔) มีทั้งหมด ๑๕ ฉบับ

ฉบับที่ ๑ ลงวันอังคาร เดือน ๔ แรม ๖ ค่ำ ปีจอสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๐๐ (พ.ศ. ๒๓๘๑)
เล่าถึงเหตุการณ์แลกระแสรับสั่งย้อนเวลาขึ้นไปเริ่มตั้งแต่เดือน ๑๐ เวลาได้ข่าวว่าพวกแขกตีได้เมืองไทร เมืองตรัง แลยกมาตีเมืองสงขลา ทรงพระราชดำริปรึกษาการศึก แลจัดกองทัพกรุงเทพฯ ที่จะยกไป จนพระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพกราบถวายบังคมลา

ฉบับที่ ๒ ลงวันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ปีจอสัมฤทธิศก
บอกข่าวราชการแลกระแสรับสั่งในระยะเวลา ๗ วันตอนกองทัพจะยกออกจากกรุงเทพฯ

ฉบับที่ ๓ ลงวันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีกุนยังเป็นสัมฤทธิศก
บอกข่าวราชการแลกระแสรับสั่งในระยะเวลา ๙ วัน ตอนกองทัพจะยกออกจากกรุงเทพฯ แลได้ข่าวว่ากองทัพเมืองนครฯ ยกไปตีเมืองไทร

ฉบับที่ ๔ ลงวันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีกุนเอกศก จุลศักราช ๑๒๐๑ (พ.ศ. ๒๓๘๒)
บอกข่าวราชการแลกระแสรับสั่งในระยะเวลา ๖ วัน ตอนเร่งเรือกองทัพกรุงฯ คือเจ้าพระยายมราชเป็นต้นให้รีบยกไป แลได้ข่าวว่ากองทัพเมืองนครฯ ตีได้เมืองไทร

ฉบับที่ ๕ ลงวันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีกุนเอกศก
บอกข่าวราชการแลกระแสรับสั่งในระยะเวลา ๒๘ วัน ตอนสืบสวนถึงเรืองกองทัพกรุงฯ ที่ยกไปและได้ข่าวว่าพวกแขกที่มาตีเมืองสงขลาแตกหนีไป

ฉบับที่ ๖ ลงวันอาทิตย์ เดือน ๖ แรม ๗ ค่ำ ปีกุนเอกศก
บอกข่าวราชการแลกระแสรับสั่งในระยะเวลา ๙ วัน ตอนพระยาศรีพิพัฒน์ไปถึงเมืองไชยา แลได้ข่าวว่าที่เมืองกลันตัน ตนกูปสาเกิดรบกันขึ้นกับพระยากลันตัน

ฉบับที่ ๗ ลงวันพุธ เดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีกุนเอกศก
บอกข่าวราชการแลกระแสรับสั่งในระยะเวลา ๙ วัน ตอนกองทัพกรุงเทพฯ เริ่มไปถึงเมืองสงขลาและได้ข่าวว่า ตนกูปสากับพระยาโงยตั้งค่ายล้อมพระยากลันตันไว้

ฉบับที่ ๘ ลงวันพุธ เดือน ๗ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุนเอกศก
บอกข่าวราชการแลกระแสรับสั่งในระยะเวลา ๕ วัน การปรึกษาด้วยเรื่องระงับเหตุวิวาทที่เมืองกลันตัน

ฉบับที่ ๙ ลงวันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๕ ค่ำ ปีกุนเอกศก
บอกข่าวราชการแลกระแสรับสั่งในระยะเวลา ๙ วัน ตอนกวาดครัวเข้ามาถึงกรุงเทพฯข้าหลวงลงไปถึงเมืองกลันตัน แลได้ข่าวว่าเจ้าพระยานครฯ ป่วย

ฉบับที่ ๑๐ ลงวันพุธ เดือน ๗ แรม ๘ ค่ำ ปีกุนเอกศก
บอกข่าวราชการแลกระแสรับสั่งในระยะเวลา ๓ วัน มีเรื่องจับฝิ่น (เรื่องจับฝิ่น ที่จริงมีจดหมายแทบทุกฉบับเพราะเวลานั้นกำลังตรวจตราโดยแข็งแรงเพื่อจะมิให้ฝิ่นเข้ามาในพระราชอาณาเขต) แลทรงปรึกษาราชการเรื่องเมืองกลันตัน

ฉบับที่ ๑๑ ลงวันพุธ เดือน ๗ แรม ๑๐ ค่ำ ปีกุนเอกศก
บอกข่าวราชการแลกระแสรับสั่งในระยะเวลา ๑ วัน (เพราะมีเรือจะออกไปติด ๆ กัน) ทรงปรึกษาราชการเรื่องเมืองกลันตัน

ฉบับที่ ๑๒ ลงวันศุกร์ เดือน ๘ ปฐมาสาฒ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีกุนเอกศก
บอกข่าวราชการแลกระแสรับสั่งในระยะเวลา ๘ วัน ตอนได้ข่าวจากข้าหลวงที่ไปเมืองกลันตัน แลได้ข่าวว่าเจ้าพระยานครฯ ถึงอสัญกรรม ทรงปรึกษาที่จะจัดวางการปกครองเมืองนครฯ แลเมืองไทร

ฉบับที่ ๑๓ ลงวันอาทิตย์ เดือน ๘ ปฐมาสาฒ แรม ๑๐ ค่ำ ปีกุนเอกศก
บอกข่าวราชการแลกระแสรับสั่งในระยะเวลา ๒๓ วัน ตอนได้ข่าวว่าตีเกาะนางกวีแขวงเมืองไทรคืนได้ เรื่องพระยาไชยาแม่ทัพที่เมืองพังงา เกิดอริกับพระตะกั่วทุ่ง เรื่องพระยาศรีพิพัฒน์จัดการห้ามวิวาทที่เมืองกลันตัน แลทรงพระประชวร

ฉบับที่ ๑๔ ลงวันอาทิตย์ เดือน ๘ ทุติยาสาฒ แรม ๒ ค่ำ ปีกุนเอกศก
บอกข่าวราชการแลกระแสรับสั่งในระยะเวลา ๒๓ วัน ตอนพระยาเพชรบุรี (สุข) ยกกองทัพลงไปตั้งที่เมืองสาย ห้ามพวกเมืองกลันตันหยุดรบกัน กวาดครัวแขกเพิ่มเติมเข้ามา แลทรงปรึกษาเรื่องเลือกหาเจ้าเมืองไทร

ฉบับที่ ๑๕ ลงวันพฤหัสบดี เดือน ๙ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุนเอกศก
บอกข่าวราชการแลกระแสรับสั่งในระยะเวลา ๒๐ วัน ตอนตกลงจะตั้งแขกเป็นพระยาไทร ที่เมืองกลันตันเลิกการวิวาท แลเตรียมกองทัพกลับกรุงเทพฯ

ข้อมูลจาก http://branch.nlt.go.th/natlibchon/d-library/index.php?p=fstream&fid=4460&bid=2756  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 10:26

อ้างถึง
นอกจากเรื่องนี้ สิ่งที่ผมอ่านแล้วอดอมยิ้มไม่ได้ ก็เห็นจะเป็นเรื่องชื่อบุคคลที่ปรากฏเกี่ยวข้องในยุคสมัยนั้นครับ คนยุคก่อน ๆ นี่ เขาคำนึงถึงความหมายของการตั้งขื่อกันมากทีเดียว ลองมาทายกันดูเล่น ๆ ไหม ว่าแต่ละท่านมีประวัติหรือมีความสามารถดีเด่นในทางใด เมื่อได้เห็นนัยที่แฝงอยู่ในชื่อ อาทิ พระยาวิชิตณรงค์ พระณรงค์ชลธี ขุนศรีสังหาร ขุนต่างตากรมการ หลวงวิจารณ์เดินบก ขุนจิตรใจรักษ์ หมื่นพิทักษ์นาวา ขุนจำหมื่นจอง(พวกที่ความจำเป็นเลิศ) หลวงทิพอักษร(เสมียนตรา) ขุนพิทักษ์สงคราม หลวงพลพิฆาต หลวงพิทักษ์นที ขุนโจรกลับใจ เป็นต้น

ต่อจากขุนพิทักษ์สงครามแล้ว ช่วยสืบประวัติท่านขุนโจรกลับใจด้วยนะครับ ท่านได้ราชทินนามนี้มาเพราะท่านเองกลับใจ หรือเก่งด้านที่ทำให้พวกโจรกลับใจได้ ถ้าเป็นประการหลังยิ่งน่าสนใจใหญ่ ถ้ามีความสามารถดังกล่าวจริง เป็นแค่ขุนถือว่ายังน้อยไปอย่างน้อยก็ต้องระดับพระยา จะได้เป็นท่านเจ้าคุณเหมือนพระราชาคณะในวัด ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 10:30

ยังหาหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติอ่านไม่ได้   

ณ พ.ศ.นี้พอหาอ่านได้จากหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้  คุณนวรัตนลองเข้าไปอ่านอาจจะพบเรื่องของ "ขุนโจรกลับใจ" ก็เป็นได้  ยิ้มเท่ห์

จดหมายฉบับที่ ๑ หน้า ๓๗-๑๐๐    ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
ammpere
อสุรผัด
*
ตอบ: 19


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 11:38

สวัสดีค่ะคุณเพ็ญชมพู...หนูรออยู่นึกว่าจะไม่ตอบซะแล้ว...หนูต้องขอบคุณสำหรับข้อมูลนะค๊ะตอนนี้หนูได้หนังสือ(จดหมายเหตุในหัวเมืองปักษ์ใต้..จดหมายหลวงอุดมสมบัติ) มาอ่านแล้วค่ะเนื้อหาด้านในก็เขียนถึงขุนพิทักษ์สงคราม  แต่ก็ไม่ได้บอกรายละเอียดมากมาย หนูเลยอยากถามว่า
1.เราสามารถสืบค้นข้อมูล  ประวัติของขุนพิทักษ์สงครามได้จากที่ไหนบ้างค๊ะ  เพราะหนูคิดว่าท่านอาจจะไม่มีบทบาทมากพอเลยไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับตัวท่านว่าเป็นใคร  มาจากที่ไหน  พอจะทราบบ้างมั่ยค๊ะว่าต้องเริ่มต้นสืบค้นจากไหน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 11:47

ขุนพิทักษ์สงคราม(ชื่อนี้แหละที่หนูสะดุดเพราะมันเหมือนชื่อคุนทวด) 

ก่อนจะวิสัชนาถึงเรื่อง "ขุนพิทักษ์สงคราม"

ขอตั้งปุจฉาว่า ขุนพิทักษ์สงคราม คุณทวดของคุณแอม มีชื่อจริงว่ากระไร รับราชการในตำแหน่งอะไร

ป.ล. ขออนุญาตแก้ไขภาษาไทยของคุณแอม "ค๊ะ" ไม่มีดอก มีแต่ "คะ"  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ammpere
อสุรผัด
*
ตอบ: 19


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 12:49

ก่อนอื่นต้องขออภัยในการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง..
...ตามที่เคยได้ฟังเรื่องราวพอที่จะสรุปได้ว่า  คุณทวด ขุนพิทักษ์สงคราม ชื่อเดิมท่าน (นายภู่  ภิทักษธรรม)แต่ปัจจุบันเขียนเป็น พิทักษธรรม,พิทักษ์ธรรม บ้าง  จากคำบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น ท่านเคยรับราช(น่าจะเป็นตำรวจ)  และที่มาของนามสกุลก็มีเจ้านายที่มณฑลนครศรีธรรมราชตั้งให้...แต่ไม่ทราบว่าใครเพราะในปัจจุบันไม่หลงเหลือหลักฐานใดๆที่จะพิสูจน์ได้..นอกจากคำบอกเล่าจากคนรุ่นก่อนๆคะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 14:03

บวกข้อมูลเดิมของคุณแอมที่เคยให้ไว้ในกระทู้ก่อน อยากทราบทีมาของนามสกุล พิทักษธรรมหรือพิทักษ์ธรรม

คุณทวดของคุณแอมมี ๒ ท่านคือ  ขุน (หรือหลวง) พิทักษ์สงคราม (ภู่ พิทักษธรรม) น่าจะเคยรับราชการเป็นตำรวจ และ ขุนอินสุรินทร์ (ขำ  พิทักษธรรม) ตามคำบอกเล่าเรื่องที่มาของนามสกุลคือมีเจ้านายที่มณฑลนครศรีธรรมราชตั้งให้

มีข้อมูลเกี่ยวกับขุนพิทักษ์สงคราม (ซึ่งเป็นคนละคนกับคุณทวดของคุณแอม) ที่ค้นได้จากราชกิจจานุเบกษาและเว็บพระราชวังพญาไทมานำเสนอคุณแอม

นามสกุลพระราชทานลำดับที่ ๖๒๕๔ คือ กฤษณะพันธุ์ (Krishnabandhu) พระราชทานให้ รองอำมาตย์ตรี หลวงชาญธนากร (จ่ำ) ศุภมาตราจังหวัดนครศรีธรรมราช กับนายเผือกบิดา

จาก ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๙ หน้า ๑๔๑ วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕

ใน เว็บพระราชวังพญาไท ข้อมูลชื่อของผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล ต่างจากในราชกิจจานุเบกษาเล็กน้อย คือเป็นหลวงชำนาญธนากร (จ่ำ) และให้ข้อมูลเพิ่มว่า ปู่ทวดชื่อขุนจำนงโยธี (ดำ) ปู่ชื่อขุนพิทักษ์สงคราม (ฉิม)

ปู่ฉิมนี้มีสิทธิ์เป็นคนเดียวกับขุนพิทักษ์สงครามของหลวงอุดมสมบัติหรือเปล่า จะได้วิสัชนาต่อไป  ยิงฟันยิ้ม



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 14:10

อ้างถึง
พอจะทราบบ้างมั่ยค๊ะว่าต้องเริ่มต้นสืบค้นจากไหน
อ้างถึง
จากคำบอกเล่าจากคนรุ่นก่อนๆคะ

อยากแนะนำให้เข้าไปในเว็บนี้เพื่อฟังเสียงจากตัวสะกด สามารถเลือกภาษาไทยได้นะครับ ลองใส่คำดู ทั้ง คะ ขา ค๊ะ ค่ะ แล้วฟังดูว่าเราต้องการจะให้คำที่เขียนไปนั้น ออกเสียงอย่างไร


http://www.oddcast.com/home/demos/tts/tts_example.php?sitepal


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 14:22

คุณแอมทำตัวตามสบาย เรียนประวัติศาสตร์ควบคู่กับภาษาไทยก็แล้วกัน

อธิบายเพิ่มเติมเรื่อง คะ-ค่ะ ต่อจากคุณครูนวรัตน

นอกจากคำบอกเล่าจากคนรุ่นก่อนๆคะ

แก้ไขเป็น นอกจากคำบอกเล่าจากคนรุ่นก่อน ๆ ค่ะ

ลองอ่านกลอนสอนภาษาของหมออั้ม เข้าทีดี  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
ammpere
อสุรผัด
*
ตอบ: 19


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 14:54

ขอบคุณมากๆค่ะคุณเพ็ญชมพู,คุณนวรัตน ที่สอนภาษาไทยควบคู่กับประวัติศาสตร์หนูจะพยายามใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง
       ที่เป็นปัญหาสำหรับหนูตอนนี้ก็คือ  ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ  ขุนพิทักษ์สงคราม คือใครกันแน่ ระหว่างคุณทวดหนู  ขุนพิทักษ์สงคราม (ภู่) หรือ ขุนพิทักษ์สงคราม (ฉิม)  นี่เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้หนูต้องอ่านประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้นเลยกลายเป็นความชอบและอยากเรียนรู้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 15:22

ขุนพิทักษ์สงครามของหลวงอุดมสมบัติ อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ (อาจจะต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ ๔ ก็เป็นได้) เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นคนเดียวกับขุนพิทักษ์สงคราม (ภู่) คุณทวดของคุณแอม เพราะระยะเวลาห่างไกลเกินไป

แล้วจะเป็นคนเดียวกับขุนพิทักษ์สงคราม (ฉิม) ได้หรือไม่  

หลวงอุดมสมบัติกล่าวถึงขุนพิทักษ์สงครามในจดหมายราว พ.ศ. ๒๓๘๑-๒๓๘๒  ส่วนในราชกิจจานุเบกษามีประกาศว่าหลานของขุนพิทักษ์สงคราม (ฉิม) ได้พระราชทานนามสกุลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ระยะเวลาห่างกัน ๘๓-๘๔ ปี  หากท่านขุนทั้งสองเป็นคนคนเดียวกัน ทั้งท่านขุนและบุตรคือนายเผือกก็ต้องมีทายาทเมื่ออายุมากทีเดียว

ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือท่านขุนทั้งสามคือท่านขุนของหลวงอุดมฯ ท่านขุนฉิม และท่านขุนภู่ เป็นคนละคนกัน แต่มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งคือ ทั้งสามรับราชการหรือมีลูกหลานอยู่ในนครศรีธรรมราชเหมือนกัน  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ammpere
อสุรผัด
*
ตอบ: 19


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 18:17

ชี้แจงข้อมูลใหม่คะ คุณทวดหนูไม่ได้รับราชการตำรวจ ทำงานเกี่ยวกับกรมการเจ้าท่า(ประมาณนี้)  เคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน  เป็นกำนัน  และตำแหน่งสุดท้ายก็ไปทำงานราชการเกี่ยวกับกรมการเจ้าท่า(เมื่อก่อนเรียกอะไรไม่ทราบได้) อยู่ที่บ้านปากรอ ปัจจุบันเป็นอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา  ตัวท่านเองเป็นคนพัทลุง แต่มาได้ภรรยาอยู่ที่บ้านปะโอ อำเภอปละท่า (ปัจจุบันเป็นอำเภอสิงหนคร) จังหวัดสงขลา อายุท่านถึงปัจจุบัน บวกลบแล้วก็น่าจะอยู่ที่  175-185 ปี
##ถึงแม้ว่า ขุนพิทักษ์สงคราม ที่กล่าวถึงในจดหมายของหลวงอุดมสมบัติ
จะไม่ใช่คุณทวดของหนูก็ตาม แต่หนูก็อยากรบกวนผู้รู้ทุกท่านช่วยหนูคลายความสงสัย ในชื่อของบุคคลท่านนี้ต่อไปนะคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 19 คำสั่ง