เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 6219 จงตกหมูอี๋ และลิปูตาทัง
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 15 ก.ค. 14, 23:19

ที่น่าให้ชวนคิดสงสัยก็คือ เหตุการณ์ก่อนที่ราชสำนักต้าหมิงจะส่ง หลี่จงจวิน ไปยังอยุธยานั้น  ทำไมอยู่ดี ๆ ราชสำนักต้าหมิงจึงส่งราชทูตไปอยุธยา แล้วส่งไปในฐานะอะไร ? แล้วพระบรมราชโองการของจักรพรรดิหมิงไท่จูที่นำไปด้วยมีข้อความว่าอย่างไร ?

เป็นการผูกไมตรีกันในฐานะ กษัตริย์-กษัตริย์ ใช่หรือไม่ ?  หรือในฐานะอื่น ?
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 18 ก.ค. 14, 18:31

มีนายห้างเพิ่มขึ้นมาอีก ๔ ห้าง  รอคำอธิบายจากคุณม้าว่านายห้างทั้ง ๔ นั้นคือใคร สำคัญอย่างไร  ฮืม

ขออภัยที่หายหน้าไปหลายวันครับ เพิ่งจะหาเวลาเข้ามาตอบได้

เรื่องนายห้าง 4 ห้างนี้มีเงื่อนงำให้สืบทราบจากความรู้ที่ว่าการค้าต่างประเทศในสมัยราชวงศ์ชิงถูกผูกขาดโดย 公行 (จีนกลางอ่าน กงหัง แต่ฝรั่งเรียก cohong เพี้ยนจากสำเนียงกวางตุ้งว่า ก๊งห่อง) ที่รู้จักกันในนาม สิบสามห้างแห่งกวางเจา (广州十三行 จีนกลางอ่าน กว่างโจวสือซันหัง) หัง (行) นี้คนไทยเรียก ห้าง (ตามสำเนียงฮกเกี้ยน/แต้จิ๋ว แบบเพี้ยนๆหน่อย) กง (公) แปลว่า รวม กงหังแปลตามตัวอักษรก็คือ ห้างหลายๆห้างมารวมกัน รูปแบบของกงหังนี้เป็นการรวมตัวกันหลวมๆ เพื่ออำนาจต่อรอง ไม่ใช่เอาเงินมาลงขันกันแต่อย่างใด หนังสือไทยบางเล่มแปลไว้ว่าเป็นสมาคมการค้าก็มี ความสำคัญของสิบสามห้างแห่งกวางเจา (มีชื่อเป็นทางการว่า  外洋行 จีนกลางว่า ไว่หยังหัง) ก็คือ เป็นกงหังที่ได้สิทธิ์ผูกขาดการค้าต่างประเทศ (โดยเฉพาะชาติตะวันตก) ในกวางตุ้ง และในยุคสมัยนั้นราชสำนักจีนใช้นโยบายเปิดเมืองท่าเดียวให้ฝรั่งที่กวางตุ้งนี่แหละครับ เรือต่างชาติเข้าไปค้า จะต้องค้าขายผ่านสิบสามห้างนี้เท่านั้น ห้ามค้าขายกับคนอื่นเด็ดขาด เท่ากับว่าสิบสามห้างนี้รับผลประโยชน์มหาศาลจากการค้าต่างประเทศเต็มๆ ดังนั้นสิบสามห้างนี้จึงยิ่งใหญ่ร่ำรวยมาก โดยเฉพาะนายห้าง 4 คนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของสิบสามห้างคือ พันจื้อเสียง (潘致祥), หลูกวานเหิง (盧觀恒), อู่ปิ่งเจี้ยน (伍秉鉴) และเยี่ยซ่างหลิน (葉上林)

เหมือนจะเข้าเค้า แต่เปล่าครับ นายห้าง 4 คนนี้ไม่ใช่นายห้างที่ได้รับ “ของขวัญ” จากคณะจิ้มก้องจากสยาม เพราะทั้ง 4 คนนี้ยิ่งใหญ่หลังจากขบวนราชทูตไปถึงสัก 20 ปีเห็นจะได้ นายห้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคที่คณะทูตจากสยามไปถึงเมื่อ พ.ศ. 2324 (ค.ศ. 1781) คือ พันเจิ้นเฉิง (潘振承) พ่อของพันจื้อเสียง พันเจิ้นเฉิงผู้นี้คือผู้นำสำคัญของสิบสามห้างที่ยื่นฎีกาต่อจักรพรรดิ์เฉียนหลง เสนอจัดระเบียบการค้าต่างชาติในปี ค.ศ. 1761 (พ.ศ. 2304) แต่นายห้าง 4 ห้างจะมีพันเจิ้นเฉิง อยู่ด้วยหรือไม่ ข้อนี้ยังน่าสงสัยอยู่

ข้อมูลสำคัญที่ชี้ตัวนายห้าง 4 ห้าง อยู่ในหนังสือจิ้มก้องและกำไร ของคุณสารสิน วีระผล ซึ่งผมว่าเป็นคู่มือสำคัญเล่มหนึ่งของคนที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์สยาม-จีน (มีฉบับ pdf ให้ download ได้ฟรีในเว็บมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ แต่ฉบับ pdf จะไม่มีส่วนรายการอ้างอิง, บรรณานุกรม และรายการคำศัพท์ ซึ่งผมเห็นว่ามีความสำคัญสำหรับใช้ค้นคว้าต่อไป) หนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลว่าฏีกาของ พันเจิ้นเฉิงในปี 1761 นั้นนอกจากเรื่องให้ไว่หยังหัง (คือกงหังสิบสามห้าง) ดูแลการค้ากับชาติตะวันตกแล้ว ยังมีเรื่องให้การค้าบรรณาการจากสยามอยู่ในความรับผิดชอบ (หรือจะเรียกว่าได้สิทธิ์ผูกขาดก็น่าจะได้) ของกงหังที่ชื่อ เปิ่นเจี่ยงหัง (本港行) ด้วย

(ตรงนี้ผมขอแวะข้างทางเรื่องชื่อหน่อยครับ คุณสารสินเขียนคำอ่านไว้ว่า เปิ่นเจี่ยงหัง แต่กำกับตัวจีนเป็น 本港行 ซึ่งควรจะอ่านว่า เปิ่นกั่งหัง ในเว็บ baidu ของจีนก็เขียนว่า 本港行 เหมือนกัน ผมไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่มีตัวอักษรจีนอีกตัวหนึ่งซึ่งไม่ค่อยได้ใช้กันคือ 塂 ซึ่งตัวนี้จะอ่านว่าเจี่ยงครับ ดังนั้นชื่อที่ถูกต้องของกงหังนี้อาจจะเป็น 本塂行 และผมจะขอเรียกชื่อกงหังนี้ตามอย่างคุณสารสินว่าเปิ่นเจี่ยงหังนะครับ)

เปิ่นเจี่ยงหังเข้ามารับผิดชอบการค้าสยามในปี 1761 และล้มละลายในช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 ดังนั้นพอจะอนุมานได้ว่าในระหว่างช่วงเวลานี้ เปิ่นเจี่ยงหังเป็นผู้ดูแลการค้ากับสยามมาโดยตลอด ดังนั้นขบวนจิ้มก้องของไทยในคราวนั้นน่าจะอยู่ภายใต้การอำนวยการของเปิ่นเจี่ยงหัง น่าเสียดายว่าไม่สามารถหาหลักฐานได้ว่า ในปี ค.ศ. 1781 ที่ขบวนจิ้มก้องจากสยามไปถึง นายห้างทั้ง 4 ห้างที่น่าจะเป็นนายห้างที่อยู่ในสมาคมเปิ่นเจี่ยงหังนั้นเป็นใครบ้าง แต่หากย้อนไปถึงหลักฐานในปี 1771 ในปีนั้น เปิ่นเจี่ยงหางประกอบด้วยห้าง 3 ห้าง มีรายชื่อห้าง และเจ้าของดังต่อไปนี้
- หยูซุ่นหัง (如顺行) นายห้างชื่อ หลิวเหอซิน (刘和新)
- อี๋ซุ่นหัง (怡顺行) นายห้างชื่อ ซินสือตวน (辛时端)
- วั่นจวี้หัง (萬聚行) นายห้างชื่อ เติ้งจังเจี๋ย (邓彰杰)

มีความเป็นไปได้สูงว่า นายห้าง 3 ห้างนี้ ถ้ายังมีชีวิตต่อมาอีกสัก 10 ปี น่าจะอยู่ในกลุ่มนายห้าง 4 ห้างที่ได้รับของขวัญจากขบวนจิ้มก้องจากไทยครับ

ซตพ.

ปล. เรื่องสิบสามห้างนี้เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจมาก สมาชิกท่านใดสนใจ กรุณาตั้งเป็นกระทู้ใหม่ได้เลยครับ เพราะเรื่องน่าจะยาวมากและออกนอกหัวข้อกระทู้ไปไกลเกินไปครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 18 ก.ค. 14, 19:04

ขอบพระคุณคุณม้าสำหรับคำอธิบายที่น่าสนใจยิ่ง

เรื่องนายห้าง 4 ห้างนี้มีเงื่อนงำให้สืบทราบจากความรู้ที่ว่าการค้าต่างประเทศในสมัยราชวงศ์ชิงถูกผูกขาดโดย 公行 (จีนกลางอ่าน กงหัง แต่ฝรั่งเรียก cohong เพี้ยนจากสำเนียงกวางตุ้งว่า ก๊งห่อง)

เหตุที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังจัดแต่งคณะทูตสำรับที่ ๒ นำสิ่งของนอกบรรณาการไปพระราชทานลิปูตาทัง (ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงพิธีการ) จงตกหมูอี (ข้าหลวงระดับมณฑล) และนายห้างวาณิช (สมาคมพ่อค้าโคหอง) ก็เนื่องด้วยมีพระราชประสงค์ใคร่ผูกมิตรไมตรีกับขุนนางจีนเหล่านี้ เพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่คณะทูตบรรณาการของพระองค์เป็นสำคัญ เนื่องจากคณะทูตสยามชุดก่อนหน้านี้ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีนักจากเจ้าพนักงานจีน

 

ในบทความนี้แปลตรง ๆ ว่า สมาคมพ่อค้าโคหอง  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.035 วินาที กับ 19 คำสั่ง