เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 6197 จงตกหมูอี๋ และลิปูตาทัง
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
 เมื่อ 11 ก.ค. 14, 21:50

ท่านที่เคยได้อ่านเรื่องความสัมพันธ์สยาม-จีนผ่านการจิ้มก้องต้องเคยได้เห็นคำ จงตกหมูอี๋ และลิปูตาทัง อย่างแน่นอน ผมเองพอจับความได้เลาๆ ว่าจงตกหมูอี๋และลิปูตาทังเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของจีน แต่หมายถึงใคร ตำแหน่งใด ติดค้างอยู่ในใจมานานครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 11 ก.ค. 14, 21:50


คำว่าจงตกหมูอี๋ พบในนิราศกวางตุ้งหลายครั้ง เขียนสะกดต่างกันบ้าง สลับจงตกกับหมูอี๋บ้าง เขียนแยกคำจงตกกับหมูอี๋กันบ้าง ดังต่อไปนี้

ภัทรบทกำหนดปีอุศุภศก      ข้างหมูอี้จงตกเขาปรึกษา
แล้วมารับคำนับราชสารา      กับทูตาข้าหลวงทั้งปวงไป
.
.
ข้างจงตกหมูอี๋ผู้มีสติ              เขาดำริแล้วไม่รับประทานได้
ว่ากฎห้ามกวดขันถึงบรรลัย      ประนมไหว้ควรขอบพระคุณมา
.
.
ผู้ถือสารจึงเอาสารรับสั่งส่ง      ให้กับจงตกดูหมูอี๋
แล้วคัดข้อสารามาพาที      ว่าพระเจ้าหมื่นปีนั้นโปรดปราน
.
.
ครั้นถึงวันที่จะทำโดยกำหนด      เดือนสิบเอ็ดขึ้นทศมาสา
จึงจงตกหมูอี๋ให้ลีลา          มาเชิญทูตกับข้าหลวงจร
.
.
แล้วก็แซมดอกไม้กับใบสน      เป็นที่ยลนับถือกันหนักหนา
พอจงตกหมูอี๋ลีลามา             ทั้งขุนนางซ้อนหน้ามาเนื่องกัน
.
.
จงตกให้ยกโต๊ะมาตั้งเลี้ยง      ตลอดเรียงรวดรายทั้งนายไพร่
ครั้นเสพเสร็จสำเร็จกันจะครรไล   หมูอี๋จึงปราศรัยด้วยวาจา
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 ก.ค. 14, 22:06

จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕ เอ่ยถึง จงตก (เขียน จงต๊ก) ไว้สองครั้งดังนี้

แผ่นดินหงตี้ปีที่ ๑๐ เตงจี๋ (ตรงปีมะเสง จุลศักราช ๘๕๙) ราชทูตเสี้ยมหลอก๊กมาถวายเครื่องบรรณาการ ขณะนั้นในสถานรับราชทูตนานาประเทศ ไม่มีเจ้าพนักงานแปลหนังสือเสี้ยมหลอก๊ก อุปราชชื่อฉีปู๋ทูลขอให้มีหนังสือรับสั่งไปมณฑลกวางตง ให้จงต๊ก (เทศาภิบาล) หาคนที่รู้ภาษาแลหนังสือเสี้ยมหลอก๊กเข้ามารับราชการในเมืองหลวง พระเจ้าเฮาจงฮองเต้ก็ทรงอนุญาต

แผ่นดินบ้วนเละปีที่ ๒๐ หยิมสิน (ตรงปีมะโรงจุลศักราช ๙๕๔) ชาวเยะป๋าน (ยี่ปุ่น) ยกกองทัพไปตีเฉียวเซียน (เกาหลี) ในปีนั้นเสี้ยมหลอก๊กอ๋องให้ราชทูตนำสิ่งของในพื้นประเทศมาถวาย กับมีราชสาสนมาว่า จะขอยกกองทัพลอบไปตีเยะป๋านก๊ก (ประเทศยี่ปุ่น) ตัดกำลังตอนหลังชาวเยะป่านเสีย พระเจ้าสินจงฮองเต้รับสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่หารือกัน ขณะนั้นจงคี (ขุนนางในที่ว่าการอุปราช) ชื่อเซกเชง เห็นตามข้อความใน ราชสาสนที่มีมา แต่เลี้ยงกวางจงต๊ก (เทศาภิบาลสำเร็จราชการสองมณฑล คือ มณฑลกวางตงกับมณฑลกวางชี) ชื่อเซียวเง่น มีหนังสือบอกมายังเมืองหลวงว่า ขออย่าได้ยอมให้ชาวเสี้ยมหลอก๊กยกกองทัพไปเปนอันขาด พระเจ้าสินจงฮองเต้ทรงเห็นด้วยก็ไม่ยอม


ระบุไว้ด้วยว่าจงต๊กคือเทศาภิบาลสำเร็จราชการสองมณฑล คือ มณฑลกวางตงกับมณฑลกวางซี

มณฑลกวางตง (广东 ออกเสียงจีนกลางว่ากว่างตง ที่คนไทยคุ้นเคยกันในชื่อกวางตุ้ง) กับมณฑลกวางซี (广西 ออกเสียงจีนกลางว่ากว่างซี คนไทยเรียกกันว่ากวางสี) รวมเรียกว่าเหลียงกว่าง (两广 แปลตรงตัวว่าสองกว่าง) ก็คือเลี้ยงกวางที่ปรากฏในจดหมายเหตุนี้เองครับ

ในจดหมายเหตุนี้ ยังมีกล่าวถึง ลิปู๋ ดังนี้

เมื่อครั้งก่อน ๆ เรือเครื่องบรรณาการงั่วเอี๋ย (ต่างประเทศ) มาถึงแขวงมณฑลก้วงตง เจ้าพนักงานรักษาน่าที่ตรวจดูถูกต้อง แล้วก็ปล่อยให้เรือเข้าจอดในลำแม่น้ำ ส่งเครื่องบรรณาการขึ้นไปเมืองหลวง แต่สินค้าขนเข้าไว้ในตึกใส่กุญแจ คอยหนังสือบอกลิปู๋ (กระทรวงขนบธรรมเนียม) มาถึงจึงอนุญาตให้จำหน่าย สินค้าก็เปื่อยผุเสียมาก

ระบุไว้ว่า ลิปู๋ คือกระทรวงขนบธรรมเนียม
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 11 ก.ค. 14, 22:23

รัชกาลที่ ๔ ทรงมีประกาศเรื่องการค้าเมืองจีน มีความอ้างถึงลิปูตาทั่ง และต๋งตก (คือจงตก) ดังนี้

ในเวลานั้น พระเจ้าแผ่นดินไทย มีพระราชประสงค์จะแต่งสำเภาหลวงไปค้าขายที่เมืองจีนบ้าง เพื่อจะเก็บเลือกสรรจัดซื้อของที่ประหลาดมาใช้ในเมืองไทยบ้าง พวกจีนเหล่านั้นจึงมีอุบายกราบทูลว่า ไทยจะไปค้าขายในเมืองจีนนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุว่า พระเจ้าแผ่นดินไทย ยังไม่ได้รู้จักกับพระเจ้าแผ่นดินจีน ถ้าเรือสำเภาไทยจะไปค้าขายที่เมืองจีนเมื่อใดแล้ว พวกจีนนายด่านเขาจะจับเอาเรือนั้นไว้แล้วจะริบเอาของทั้งสิ้น เพราะไม่ได้เคยไปค้าขาย เขาจะสำคัญคิดผิดไปว่าเป็นเรือข้าศึกต่างประเทศ ด้วยจีนยังไม่รู้จักคนไทยเลย ถ้าพระองค์จะอยากไป ค้าขายที่เมืองจีนแล้ว จะต้องมีพระราชสาส์น แลเครื่องมงคลราชบรรณาการพอสมควร ให้ทูตไทยออกไปเจริญทางพระราชไมตรี ผูกพันสันถวะมิตรกับพระเจ้าแผ่นดินจีนเสียก่อน ให้รู้จักชอบอัชฌาสัยแล้วจึงจะได้ใช้สำเภาไทยไปค้าขายในประเทศจีนได้โดยสะดวก พวกจีนเหล่านั้นกราบทูลเป็นกลอบายล่อลวงยุยงพระเจ้าแผ่นดินไทยให้หลงเชื่อ แล้วจึงกราบทูลขอรับอาสาว่า จะนำพาทูตไทยไปให้ถึงกรุงปักกิ่ง คือ เมืองหลวงของจีนทั้งปวง ขณะนั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยก็ทรงเชื่อถ้อยคำพวกจีนยุยง จึงโปรดให้เจ้าพนักงานแต่งพระราชสาส์นฉบับหนึ่งเป็นอักษรไทยมีความว่า ขอเป็นทางพระราชไมตรีต่อกรุงปักกิ่ง เพื่อประโยชน์จะไปมาค้าขาย พระราชสาส์นนั้นให้จารลงในแผ่นทองคำ แล้วม้วนไว้ในกล่องทองคำประดับพลอยต่างๆ สี แล้วโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือฉบับหนึ่งไปถึงลิปูตาทั่ง คือ เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ในกรุงปักกิ่ง เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือไปถึงต๋งตก คือ เจ้าเมืองกวางตุ้งเป็นเมืองท่าสำเภา ต้นทางบกจะขึ้นไปกรุงปักกิ่งนั้น ครั้งนั้นพวกจีนเหล่านั้นจึงกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินไทยว่า ในเมืองจีนนั้น ล่ามจีนที่จะแปลภาษาไทยได้ก็ไม่มี แลคนที่จะแปลพระราชสาส์นไทยนั้นก็ไม่มี อนึ่งพวกข้าพเจ้าเหล่านี้เป็นผู้นำไทยไปจากเมืองไทยนั้น ครั้นจะแปลเองก็ดูเหมือนว่าไป แกล้งพูดเล่นตามชอบใจไม่มีหลักหลาย เพราะเป็นจีนอยู่ที่เมืองไทยนี้ เกลือกว่าจีนที่เมืองจีนเขาจะไม่เชื่อแน่ เขาจะกลับสำคัญผิดๆ ไปต่างๆ แลธรรมเนียมจีน พระเจ้าแผ่นดินจีนก็ทรงพระราชสาส์นด้วยพระองค์เอง ลิปูตาทั่งแลต๋งตกก็อ่านหนังสือเอง จะได้ให้ล่ามแปลก็หามิได้ ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลานั้นหลงใหล เชื่อคำพวกจีนเหล่านั้นกราบทูลหลอกลวงต่างๆ ช่างโง่เง่าทั้งพระเจ้าแผ่นดินแลเสนาบดี จึงยอมให้จีนพวกนั้น แต่งพระราชสาส์นเป็นหนังสือจีน แต่ว่ารับสั่งว่าให้ล่ามจีนพวกนั้นแต่งตามฉบับ สำเนาความในพระราชสาส์น ซึ่งเป็นอักษรไทยแลความไทย ฝ่ายพวกจีนทั้งนั้นก็แต่งย้ายเสียใหม่ตามชอบใจของตัว ไม่ให้ไทยทราบด้วย ครั้นแต่งเป็นหนังสือจีน ก็กลับความเสียอย่างอื่น เขียนใจความว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยลุกขึ้นยืนกุ๋ยไปถึงพระเจ้าแผ่นดินกรุงปักกิ่ง ขออ่อนน้อมยอมตัวถวายเป็นข้าขอบขันธเสมาอาณาจักรของพระเจ้ากรุงปักกิ่ง แลขอถวายเมืองเป็นเมืองก้อง ๓ ปีครั้งหนึ่ง พอพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงปักกิ่งซึ่งเป็นเอกอุดมยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งปวงทั่วโลก จะขอให้พระเจ้ากรุงปักกิ่งทรงพระมหากรุณาอนุญาตให้สำเภาของพระเจ้าแผ่นดินไทยได้ไปมาค้าขายที่เมืองจีนเหมือนได้โปรดให้ซื้อสิ่งของบนสวรรค์มาใช้ในเมืองไทยไกลทะเลกันดารนั้นเถิด ถึงหนังสือฉบับเจ้าพระยาพระคลังนั้น ไปถึงลิปูตาทั่งแลต๋งตกทั้ง ๒ ฉบับนั้น ล่ามจีนเหล่านั้นกลับเอาพระนามของพระเจ้าแผ่นดินไทยเป็นเจ้าของหนังสืออ่อนน้อมไปถึงต๋งตกแลลิปูตาทั่งไปหมดสิ้น

ครั้นพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงปักกิ่งมาถึงในกรุงไทยแล้ว เมื่อแปลนั้นพวกจีนท่องซือที่เป็นล่ามก็กลับแปลความกลับเอาชั่วเป็นดีไปเสียหมด แปลกลับว่าเป็นทางไมตรีแก่กรุงไทยกรุงปักกิ่งยอมรับกรุงไทยเป็นเมืองพี่น้องกันสนิท ล่ามแปลเป็นคำของจีนตอบมาให้สมควรกับพระราชสาส์นไทยที่ส่งไปนั้น แลหนังสือลิปูตาทั่งแลหนังสือต๋งตกนั้นทั้ง ๒ ฉบับก็กลับแปล แก้ไขเป็นว่ามาถึงเจ้าพระยาพระคลัง ให้สมกับหนังสือฉบับไทยของเจ้าพระยาพระคลังที่ส่งไปนั้น อันที่จริงนั้นต๋งตกแลลิปูตาทั่ง เขามีมาถึงพระเจ้าแผ่นดินไทยตามความในหนังสือของไทยที่เป็นฉบับหนังสือจีนลงไปนั้น หนังสือหองคือ หนังสือของกรุงปักกิ่งตั้งไทยให้เป็นเมืองขึ้นนั้น พวกล่ามก็กลับความแปลว่าเป็นหนังสือพระเจ้ากรุงปักกิ่งอวยชัยให้พรแก่กรุงไทยทั้งสิ้น


เห็นได้ว่า ต๋งตกและลิปูต้าทั่ง ในประกาศนี้ มีบทบาทสำคัญในการทูตไทยจีนครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 11 ก.ค. 14, 23:49

ความจริงแล้ว "จงตก" นี่เดาไม่ยากว่าคือขุนนางตำแหน่งใด แต่หมูอี๋นี่เป็นปริศนามานานสำหรับผม เพราะเดาไม่ออกว่าเป็นคำจีนคำใด จนเมื่อไปเจอหนังสือ The Chinese Government ของ William Frederick Mayers ในเว็บ www.archive.org ถึงได้กระจ่างแจ้งแทงตลอด ตั้งแต่ จงตก, หมูอี๋ ไปจนถึงลิปูตาทังด้วย

ตำแหน่ง "จงตก" ปรากฏอยู่ในหัวข้อที่ 273 ในหนังสือเล่มนี้ คือ 总督 (ออกเสียงจีนกลางว่า จ่งตู๋, ฮกเกี้ยนว่า จงตก) ในหนังสือกำกับภาษาอังกฤษว่าเป็น Governor General ในขณะที่ใน wiki กำกับว่า Viceroy หรือ Governor General
ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งขุนนางส่วนท้องถิ่นที่สูงที่สุด โดยทั่วไปจะกำกับราชการสองมณฑลหรือมากกว่านั้น ในประชุมพงศาวดารภาค ๕ แปลไว้ว่าเป็นเทศาภิบาล แต่ถ้าแปลอย่างฝรั่งเรียก Viceroy ก็น่าจะเรียกว่าเป็นอุปราชได้ครับ จงตกคนที่ฝ่ายไทยติดต่อด้วยจะเป็นจงตกที่ดูแลเหลียงกว่าง (คือมณฑลกว่างตง และมณฑลกว่างซี)

ส่วน "หมูอี๋" ปรากฏอยู่ในหัวข้อที่ 274 ในหนังสือนี้ระบุชื่อตำแหน่งว่า 巡抚 (จีนกลางว่า สวินฝู่) ระบุ Off. des. (เข้าใจว่าย่อจาก Official description) เป็น 抚院 (จีนกลางว่า ฝู่เอวี้ยน, ฮกเกี้ยนว่า หูอี เห็นได้ชัดว่า หูอี คือที่มาของ หมูอี๋) ในหนังสือกำกับว่าเป็น Governor เรียกได้ว่าเป็นผู้สำเร็จราชการมณฑล ตำแหน่งนี้น่าจะตรงกับเทศาภิบาลมากกว่าจงตกนะครับ ทั้งนี้ถึงตำแหน่งนี้ขอบข่ายอำนาจจะต่ำกว่าจงตกขั้นหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นลูกน้องของจงตกครับ ถือเป็นเพื่อนร่วมงานกัน หมูอี๋คนที่ฝ่ายไทยติดต่อด้วยคือหมูอี๋ที่ดูแลมณฑลกว่างตง

น่าสังเกตว่าชื่อ จงตก และหมูอี๋ ล้วนมีที่มาจากภาษาจีนสำเนียงฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นจีนพวกที่มีอิทธิพลทางการค้าสำคัญในไทยสมัยอยุธยาครับ

มาถึง "ลิปูตาทัง" คำว่าลิปูปรากฏอยู่ในหัวข้อที่ 154 ในหนังสือเล่มนี้ 礼部 (จีนกลางว่า หลี่ปู้) หมายถึง Board of Ceremonies ในกระทรวงต่างประเทศ ในขณะที่ ตาทัง คือ 大堂 (จีนกลางว่า ต้าถัง) ในที่นี้แปลว่าผู้เป็นใหญ่ โดยรวมลิปูตาทัง เรียกได้ว่าเป็นเจ้ากรมพิธีการนั่นเองครับ เป็นตำแหน่งข้าราชการส่วนกลาง ไม่แปลกเลยที่ในบรรณาการที่ส่งไปจีน มี "ของฝาก" ไปถึงลิปูตาทัง มากกว่า จงตกหมูอี๋เสียอีก

ที่น่าสังเกคคือ ลิปูตาทัง นี้เป็นภาษาจีนกลาง ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในเมืองหลวงของจีน (และเป็นที่อยู่ของ ลิปูตาทัง ด้วย)  ไม่ใช่ภาษาฮกเกี้ยนเหมือนจงตกหมูอี๋
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 ก.ค. 14, 07:06

ขอบคุณคุณม้าที่นำความรู้มาเผยแพร่ครับ

สำหรับผมข้องใจอย่างเดียว ปกติพระยาหรือเจ้าพระยาพระคลังผู้กำกับดูแลกรมท่าซ้าย ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีฯมาแล้วสยามจะแต่งตั้งให้คนจีนเป็นทั้งสิ้น เจ้าสัวเหล่านี้น่าจะระดับปัญญาชนมีความรู้ทั้งภาษาไทยและจีนทั้งภาษาพูดภาษาเขียนเป็นอย่างดี ไฉนเลยจะยอมให้ล่ามแปลความอันสำคัญของบ้านเมืองให้เลยเถิดไปได้ถึงปานนั้น นอกเสียจากว่าตนเองรู้เห็นเป็นใจอยู่หลังฉาก เชิดล่ามออกมาเป็นกันชน

แต่ถึงอย่างไร ถ้าในวังเกิดมี Double Check ก็คงไม่แคล้วหัวขาดทั้งล่ามทั้งคนเชิด นอกเสียจากว่า จะมีมือที่มองไม่เห็น เชิดพระยาพระคลังออกมาจากกำบังชั้นในอีกที
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 ก.ค. 14, 20:13

ผมก็เห็นอย่างนั้นครับ จิ้มก้องมาจากคำจีนว่าจิ้นก้ง (进贡) จิ้น (进) แปลว่ายื่น ก้ง (贡) แปลว่าบรรณาการ ความหมายชัดเจน เป็นไปไม่ได้ที่คนจีนระดับพระยาพระคลังจะไม่รู้จักความหมายครับ

นอกจากนั้น กระบวนการของการจิ้มก้อง ยังมีพิธีการขอหองอีก แม้เรียกชื่อแตกต่างกันไป ผมยังยากที่จะเชื่อว่า คนชั้นนำในราชสำนักสยามจะดูไม่ออกว่าจิ้มก้องคือส่งบรรณาการ ขอหองคือขอตราตั้ง เป็นกระบวนการปกติที่ประเทศราชของสยามทำกับเราครับ

การเรียกให้ต่างกันนี้ ผมเห็นว่าทำเพื่อรักษาพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 ก.ค. 14, 20:26

คารวะหม่าเหล่าซือ ศิษย์มาขอเข้าชั้นเรียนด้วยคนค่ะ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 14 ก.ค. 14, 20:34

มายกมือเห็นด้วยกับคุณม้าค่ะ  ใจดิฉันก็คิดอย่างเดียวกัน
ถ้าหลับตาเสียข้างหนึ่ง   แล้วได้กำไรมากมายคุ้มเหนื่อย   มันก็น่าทำนะคะ   
จนกาลเวลาผ่านไป  สภาพสังคมเปลี่ยนไป     หมดยุคที่จะต้องทำอย่างเมื่อก่อน ก็ว่ากันอีกที

บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 14 ก.ค. 14, 22:06

ใช่ครับ ก่อนสนธิสัญญาบาวริ่ง ระบบเศรษฐกิจไทยส่วนมากเป็นการผลิตเพื่อบริโภค ราชสำนักเก็บภาษีอากรได้เป็นตัวเงินน้อย ได้เป็นแรงงานเป็นข้าวของเสียมาก ผลประโยชน์จากการค้ามีความสำคัญมาก การค้าฝ่ายจีน ผมตีว่าสักเกือบครึ่ง ดังนั้นจำยอมต้องอนุโลมตามเงื่อนไขของทางจีน แต่หลังบาวริ่ง โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไป รายได้จากภาษีอากรเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับภูมิภาคนี้ก็ถูกกดดันทางการเมืองจากพวกล่าอาณานิคม แม้แต่จีนเองก็เอาตัวไม่รอด การที่ราชสำนักไทยถอยห่างจากจีน ผมเห็นว่าเป็นหมากตาที่ชาญฉลาดมากครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 ก.ค. 14, 15:16

รัชกาลที่ ๔ ทรงมีประกาศเรื่องการค้าเมืองจีน มีความอ้างถึงลิปูตาทั่ง และต๋งตก (คือจงตก) ดังนี้

ในเวลานั้น พระเจ้าแผ่นดินไทย มีพระราชประสงค์จะแต่งสำเภาหลวงไปค้าขายที่เมืองจีนบ้าง เพื่อจะเก็บเลือกสรรจัดซื้อของที่ประหลาดมาใช้ในเมืองไทยบ้าง พวกจีนเหล่านั้นจึงมีอุบายกราบทูลว่า ไทยจะไปค้าขายในเมืองจีนนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุว่า พระเจ้าแผ่นดินไทย ยังไม่ได้รู้จักกับพระเจ้าแผ่นดินจีน.....

หนังสือหองคือ หนังสือของกรุงปักกิ่งตั้งไทยให้เป็นเมืองขึ้นนั้น พวกล่ามก็กลับความแปลว่าเป็นหนังสือพระเจ้ากรุงปักกิ่งอวยชัยให้พรแก่กรุงไทยทั้งสิ้น

(ต่อ)

ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยามในเวลานั้นแล้ว ก็เชื่อถือพวกท่องซื่อจีนไม่สงสัย เพราะว่าได้เครื่องบรรณาการตอบแทนของจีนกรุงปักกิ่งมามาก มีกำไรมากกว่าเครื่องบรรณาการที่ส่งออกไปนั้น มีกำไรราคาสูงขึ้นไปกว่าบรรณาการที่ส่งไปกรุงปักกิ่งนั้นหลายสิบชั่ง ฝ่ายเสนาบดีในเวลานั้นก็พลอยนิยมไปสิ้นไม่ขัดขวาง เพราะว่าได้ของตอบแทนแก่พวกจีนล่ามท่องซือนั้นบ้างเล็กน้อย แลพวกทูตานุทูตไทยไปครั้งแรกนั้น พระเจ้ากรุงปักกิ่งโปรดยอมให้เรือสำเภาไทยไปค้าขายที่เมืองกวางตุ้งแห่งเดียว แต่ปีละ ๒ ลำเท่านั้น แล้วพระเจ้ากรุงปักกิ่งโปรดให้ต๋งตกเจ้าเมืองกวางตุ้งจัดที่แห่งหนึ่งให้แก่ไทย พระเจ้ากรุงปักกิ่งโปรดพระราชทานที่แผ่นดินแห่งหนึ่งที่เมืองกวางตุ้งนั้นเรียกว่า กงกวนเป็นที่ของไทยสำหรับทูตไทยไป จะได้พักอาศัยจัดซื้อของต่าง ๆ ตามประสงค์แล้วได้ตึกใหญ่ ๔ หลังเป็นที่พัก ครั้นปีที่ ๒ จวนปีก้องฝ่ายต๋งตกเจ้าเมืองกวางตุ้งมีหนังสือมาถึงกรุงไทยใจความว่า ในปีหน้าให้พระเจ้ากรุงไทยแต่งขุนนางไปก้องกรุงปักกิ่ง คำว่าก้องนั้นคือว่า อ่อนน้อม ครั้นพวกจีนท่องซือล่ามก็กลับแปลคำก้องกลับเสียว่า เป็นเจริญทางพระราชไมตรี ล่ามกลับแปลความว่า พระเจ้ากรุงปักกิ่งมีความระลึกถึงทางพระราชไมตรีกรุงไทย ๓ ปี ให้ไทยไปเฝ้าครั้งหนึ่งอย่าให้ขาด ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลาล่วงแล้วนั้น คิดเพลิดเพลินเกินนัก ด้วยว่า การค้าขายสำเภามีกำไรมากมาย แลส่งเครื่องบรรณาการไปครั้งหนึ่งครั้งใด ก็มีกำไรมากกว่าบรรณาการของที่ส่งไป แล้วพวกทูตานุทูตไทยที่ออกไปเมืองจีนก็ได้เบี้ยเลี้ยง แต่หัวเมืองจีนต่าง ๆ นั้น  ๆ ก็จัดซื้อของที่ดี ๆ ประหลาด ๆ เอามาเป็นของถวายพระเจ้าแผ่นดินไทย แล้วกำนัลเสนาบดีไทย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลาล่วงแล้วนั้น ไม่มีความกระดากกระเดื่องว่าพวกจีนล่อลวงให้เสียยศ จีนสั่งให้ไปก้องเมื่อไรก็ไปเมื่อนั้น ถูกลวงทั้งก้องทั้งซิ่ว ไม่มีอายขายหน้า โง่งมงายตลอดลงมาหลายชั่วอายุคน ความโง่เป็นไป ทั้งนี้ ต้นเหตุใหญ่ เพราะว่ามีหนังสือจีนรู้โดยยากที่สุด ไม่เหมือนหนังสือไทยแลหนังสือต่างประเทศทั้งหลาย พอจะรู้ได้บ้าง ก็ไทยแท้มิใช่บุตรจีนรู้หนังสือก็ไม่มี ก็เมื่องมงายโง่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว พระเจ้าแผ่นดินไทยทั้งหลายในเวลาก่อนนั้น แลเสนาบดีไทยก็โง่งมมาด้วยหลายชั่วแผ่นดินนั้น เพราะความมักง่าย ครั้นทูตเก่าแลล่ามเก่าตายไปหมดแล้ว ได้ยินว่าคราวหนึ่งมีล่ามจีนเป็นคนซื่อ แปลความตามฉบับหนังสือจีนที่จริงแจ้งความจริงให้ท่านเสนาบดีฝ่ายไทย ในเวลาที่ล่วงแล้วเป็นลำดับมานั้นให้รู้แท้แน่ว่า จีนกวางตุ้งดูหมิ่นดูแคลนมีหนังสือมาสั่งให้ไปก้อง คือ ให้ไปอ่อนน้อม ฝ่ายเสนาบดีไทยเวลาหลังนั้น ก็นำความกราบทูลต่อพระเจ้ากรุงไทยในเวลาลำดับ ครั้นภายหลังพระเจ้าแผ่นดินไทย จะแต่งพระราชสาส์นไปกรุงปักกิ่งอีกจึงโปรดให้จัดหาล่ามจีนที่ซื่อตรง มาแปลพระราชสาส์นไทยแลหนังสือเจ้าพระยาพระคลังตามความในสำนวนไทย เขียนเป็นอักษรจีน ส่งออกไปกับทูตานุทูตไทย ฝ่ายพวกจีนที่เป็นท่องซือใหม่ ๆ นั้น ครั้นออกไปถึงเมืองกวางตุ้งก็ไม่ไว้ใจ จึงเอาความไปแจ้งแก่ต๋งตกตามสำเนาพระราชสาส์นที่ส่งไปนั้น ฝ่ายต๋งตกเขาก็โกรธทูตไทย ต๋งตกเขาไม่รับรอง เขาไล่ขับทูตไทยกลับมาโดยการขู่เข็ญว่า ถ้าจะขืนใช้หนังสือเป็นอย่างใหม่นี้ ไม่ใช้เหมือนอย่างเก่าแต่ก่อนนั้น สำเภาไทยไปมาค้าขายสืบได้ความแน่แล้ว เขาจะริบเอาไว้เสียสิ้น สำเภาเมืองจีนก็จะห้ามไม่ให้ไปมาค้าขายที่เมืองไทย สืบต่อไป ครั้นพวกทูตานุทูตไทยได้ถูกขู่เข็ญดังนี้แล้ว ก็ต้องกลับมากรุงไทยแจ้งความกลับเสนาบดีไทยทุกประการ ฝ่ายพวกพ่อค้าสำเภาจีนทั้งหลายในเมืองไทยนั้น บ้างมีญาติเคยไปมาค้าขายที่เมืองจีนก็ร้องทุกข์กระสับกระส่ายขึ้นว่า ขอพระเจ้าแผ่นดินได้โปรดการเป็นดังนี้

ฝ่ายเมืองไทยในเวลานั้น ไม่มีทางค้าขายกับเมืองต่างประเทศ ฝ่ายทางทะเลมีแต่เมืองจีนแห่งเดียว จึงยอมกันทำหนังสือไปตามเคย แต่ฝ่ายฉบับเป็นพระราชสาส์นแท้อักษรไทยนั้น ก็ยังคงเขียนเป็นอักษรไทยไปเป็นทางไมตรีอย่างเดิม หนังสือสำเนาก็ต้องแข็งใจข่มขืนเขียนไปเป็นหนังสือจีน ข้อความนั้นก็ต้องเก็บเอาความเก่าที่ล่ามจีนหลอกลวงเขียนไว้แต่ก่อนนั้น เขียนไปให้เป็นที่ชอบอัชฌาสัยพวกจีนปักกิ่ง พระราชสาส์นแลหนังสือเสนาบดีจีนที่มีมาแต่เมืองปักกิ่งนั้น ครั้นมาถึงเมืองไทยแล้วก็เขียนอ่านให้ชอบหูไทย อย่างเช่นแปลมาแต่ก่อนนั้นเป็นตัวอย่างแล้ว ๆ ก็เอาออกอวดกันเล่นในท้องพระโรงหลวงอ่านตามชอบใจไทย ให้เพราะหูไทยเท่านั้น คนที่โง่เง่าไม่สืบรู้เท่านั้น ก็เชื่อเอาเป็นแน่แท้จริง ผู้ที่สืบรู้ก็กลั้นหัวเราะไม่ใคร่จะได้ พลอยอดสูใจไปด้วย แต่เป็นการจำเป็นต้องนิ่งงุบงิบเสียเพราะไม่รู้ที่จะทำอย่างไรได้ ธรรมเนียมนี้จึงเสียสืบมาแต่โบราณมิใช่ใหม่ ๆ ในปัจจุบันนี้ใคร ๆ อย่าพาโลทึกเอาไม่ได้


ว่าด้วยเรื่องเมืองจีนนี้ ว่าให้เห็นเป็นการเดิมเสียมาแต่เดิมดังนี้ ในธรรมเนียมที่แห่รับพระราชสาส์น ก็ทูตจีนนั้น จะมาส่งพระราชสาส์นแก่เมืองไทยสักครั้งหนึ่งก็ไม่มีเลย ไม่ได้ยินว่าจีนมาส่งบรรณาการไทยบ้างเหมือนเช่นอย่างเมืองอื่น ๆ ยังว่าได้ยินบ้างตามเวลาสมควรไปมาหากันตามที่เหตุนั้น อาการที่ไทยไปส่งบรรณาการแก่จีนให้เสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลาก่อนนั้น ความจริงเรื่องนี้ ไทยจะได้ถูกรบถูกตีด้วยกองทัพเมืองจีนนั้นหามิได้เลย เป็นเหตุเพราะในเวลานั้น ล่วงแล้วกว่า ๕๐๐ ปีเศษ ด้วยต้นเดิมเสียธรรมเนียม เพราะไทยถูกล่อลวง จึงเป็นธรรมเนียมเสียไปตามการเก่านั้นเอง หรือว่าไทยจะหมายพึ่งพาอาศัยกับจีน ให้อำนาจจีนคุ้มเกรงปกปักรักษาอะไรได้ ก็ไม่มีเหตุเลยสักอย่างหนึ่ง เป็นแต่ในเวลาล่วงลับไปแล้วนั้น ไทยหูสั้นตาสั้นจึงถูกหลอกลวงอย่างว่ามาแต่หลังนั้น จึงได้ทำให้เสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินไทยไปต่างๆ รู้ว่าถูกหลอกลวงแน่แล้วก็เพราะเมื่อการถลำไปเสียมากแล้ว

การทั้งนี้ต้นเหตุใหญ่ เพราะไทยถูกหลอกลวงจึงเสียพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินไทยตลอดลงมาถึงกรุงเทพมหานครนี้ ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบการนี้แล้วก็กลับพระทัย หาได้ไปส่งบรรณาการแก่กรุงปักกิ่งอีกไม่

สรุปว่า แต่เดิมนั้นอาจไม่ทราบ แต่เมื่อทราบแล้วก็ต้องทำต่อเพราะว่ามีผลประโยชน์ด้านการค้าขายรออยู่  ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 ก.ค. 14, 15:45

โดยรวมลิปูตาทัง เรียกได้ว่าเป็นเจ้ากรมพิธีการนั่นเองครับ เป็นตำแหน่งข้าราชการส่วนกลาง ไม่แปลกเลยที่ในบรรณาการที่ส่งไปจีน มี "ของฝาก" ไปถึงลิปูตาทัง มากกว่า จงตกหมูอี๋เสียอีก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์พระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ในกรณีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดแต่งคณะทูตไปสู่ขอพระธิดาพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมาในหมู่เจ้านายราชวงศ์จักรีในทำนอง "พงศาวดารกระซิบ" มาตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ความว่า

เรื่องขอลูกสาวเจ้าปักกิ่งนี้ เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งเล่าให้ฟัง แต่ครั้นเมื่อค้นดูในสำเนาพระราชสาส์นห้องอาลักษณ์ จำนวนจุลศักราช ๑๑๔๓ ได้ความว่าทูตครั้งนั้นเป็นสองสำรับ ทูตที่เชิญพระราชสาส์น คุมเครื่องราชบรรณาการตามเคยสำรับหนึ่ง แต่พระราชสาส์นนั้น ไม่ใช่ส่งของไปเจริญทางพระราชไมตรี ตามธรรมเนียมเท่านั้น มีข้อความแถมท้ายพระราชสาส์นเหมือนหนึ่งเข้าใจว่าหนังสือฉบับนั้น พระเจ้ากรุงจีนจะได้อ่านเอง

กล่าวโทษเจ้าพนักงาน ว่าเรียกค่าธรรมเนียมรับบรรณาการถึง ๓๐ ชั่ง แล้วก็ลดจำนวนบรรณาการลงเสีย หักเป็นค่าธรรมเนียมและขับทูตไม่ให้เที่ยวเตร่ และแกล้งทูตไม่ให้กลับด้วยเรือของตัว ต้องโดยสารเรือเข้ามา ข้อความทั้งนี้พระเจ้ากรุงต้าฉิ่งทรงทราบหรือไม่

ข้อหนึ่งเชลยที่ได้ส่งไปเมืองจีน เมื่อไม่อยากฟังเรื่องศึกพม่าแล้ว ขอให้ส่งกลับเข้ามาให้ถูกตัวถูกฝา คำที่ว่าถูกตัวถูกฝานี้ เจ้ากรุงธนบุรีชอบพูดนัก ตราตั้งเจ้านครก็ใช้ถูกตัวถูกฝา ถ้าเป็นกรรมการกิมตึ๋งก็เห็นจะเป็นสังฆราชผิดฝา ไม่ปรากฏว่าเชลยครั้งไร ส่งไปเมื่อไร ที่จริงเชลยเหล่านี้ ก็คงตกอยู่ตามกวางตุ้งนั้นเอง

ต่อไปอีกว่าตัวช่วยคนหาปลาเรือแตกพลัดเข้ามาบ้าง ช่วยจีนที่ลงมารบเมืองพม่า พม่าจับได้เอามาไว้เสียปลายเขตแดนข้างใต้ กองทัพกรุงเทพฯ ขึ้นไปรบพม่าได้จีนเหล่านั้นมาเป็นคราว ๆ หลายคราว ได้ให้ข้าวสารให้เสื้อผ้าคิดเฟื้องคิดสลึง รวมเบ็ดเสร็จเป็นเงิน ๔ ชั่งเศษ พระเจ้ากรุงต้าฉิ่งทราบความหรือไม่

คราวนี้ ถวายของนอกบรรณาการ ฝาง ๑๐๐๐๐ หาบ งาช้าง ๑๐๐ หาบ ดีบุก ๑๐๐ หาบ นอระมาด ๑ หาบ พริกไทย ๓๐๐๐ หาบ ช้างพลาย ๑ ช้าง

จะขอแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปเที่ยวละ ๓ ลำ อย่าให้ต้องเสียค่าจังกอบ จะซื้อของที่ไม่ต้องห้ามเช่นอิฐ เข้ามาสร้างพระนคร

ขอให้ช่วยหาต้นหนสำเภา จะแต่งไปซื้อทองแดงเมืองญี่ปุ่น เข้ามาทำพระนครเหมือนกัน

ข้อความทั้งนี้ว่าลงไปในพระราชสาส์นหมด พระราชสาส์นลงวันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก

พระราชสาส์นทราบภายหลัง ว่าถูกส่งคืนให้แก้ใหม่ ให้เหมือนอย่างเก่า ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลย


มีหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ถึงจ๋งต๊กหมูอี้ ขอป้ายสำเภาสร้างใหม่ ๒ ลำ กับให้ช่วยจ้างต้นหนเป็นเงินเท่าไรจะเสียให้


อีกฉบับหนึ่ง เป็นหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ว่าแต่งให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช พระยาราชสุภาวดี พระพี่เลี้ยง หลวงราไชย หลวงศรียศ หลวงราชมนตรี นายฤทธิ นายศักดิ นายเวรมหาดเล็ก ข้าหลวง คุมสำเภา ๑๑ ลำพาของไปถวาย จำนวนเท่าที่ว่ามาแล้ว ให้ลิปูต้าทั่ง ฝาง ๑๐๐๐ หาบ  เหลืองฝางอีก ๙๐๐๐ หาบ ไม้ดำ ๓๐๐ หาบ ไม้แดง ๑๘๐๒ หาบ ๒๐ ชั่ง ให้จ๋งต๊กหมูอี๊ ฝาง ๕๐๐ หาบ ไม้แดง ๕๐๐ หาบ นายห้าง ๔ ห้าง ฝางห้างละ ๑๐๐ หาบ ไม้แดงห้างละ ๑๐๐ หาบ เหลืองฝาง ๑๗๐๐ หาบ ไม้แดง ๙๐๒ หาบ ไม้ดำ ๓๐๐ หาบ ๗๖ ชั่ง ให้ขายใช้จ่าย ต้องการเตรียบทองแดงสำหรับเลี้ยงพระ ๕๐๐ ใบ พานของคาวทองขาว ๒๕๐ ใบ หวาน ๒๕๐ ใบ หม้อทองแดงใส่ไฟ ๑๐๐ ใบ ส่งตัวอย่างให้คุมออกไปด้วย และให้ข้าหลวงมีชื่อเหล่านี้ซื้ออิฐส่งเข้ามาก่อน แล้วจึงให้เรือกลับไปรับทูต

ทูตสำรับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชนี้ คงมีพระราชสาส์นฉบับหนึ่งต่างหาก เรื่องขอลูกสาว แต่จะซ่อนแต่งซ่อนแปลกันอย่างไร ไม่ได้เก็บสำนวนไว้ในห้องอาลักษณ์ทีเดียว จึงไม่ได้ความ

มีบัญชีคิดเงินอยู่ในสมุดสำเนาพระราชสาส์น ว่าถวายเจ้าปักกิ่งเป็นของนอกบรรณาการ คิดราคาสิ่งของตามบัญชีที่กล่าวมาแล้วเป็นเงิน ๑๘๖๖ ชั่ง ๓ ตำลึง ๒ บาทสลึง
    
ให้ลิปูต้าทั่ง คิดราคาของ เป็นเงิน ๕๖ ชั่ง ๕ ตำลึง
    
ให้จ๋งต๊กหมูอี๊ คิดราคาของ เป็นเงิน ๓๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง
    
ให้นายห้าง ๔ ห้าง คิดราคาของ เป็นเงิน ๓๐ ชั่ง

    
รวมที่ส่งของไปแจกเป็นเงิน ๑๙๘๙ ชั่ง ๑๘ ตำลึง ๒ บาทสลึง


เหลือสิ่งของสำหรับให้จำหน่ายใช้การ เพราะเหตุที่ไม่ได้เอาเงินออกไปจ่าย เอาของออกไปจ่ายต่างเงิน เป็นราคา ๔๕๓ ชั่ง ๖ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึงเฟื้อง

รวมเป็นสินค้าที่ได้บรรทุกเรือออกไป ๑๑ ลำครั้งนี้ เป็นราคาเงิน ๒๔๔๓ ชั่ง ๑๕ ตำลึงบาท ๓ สลึงเฟื้อง

ข้อมูลจาก

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308484624&grpid=no&catid=&subcatid=

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308829528&grpid=no&catid=53&subcatid=5300

มีนายห้างเพิ่มขึ้นมาอีก ๔ ห้าง  รอคำอธิบายจากคุณม้าว่านายห้างทั้ง ๔ นั้นคือใคร สำคัญอย่างไร  ฮืม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 ก.ค. 14, 10:20 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 ก.ค. 14, 21:03

ขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมบวกกับปัญหาล้านแตก ผมพอจะทราบคำตอบเลาๆ แต่ขอเวลารวบรวมข้อมูลสักหน่อยครับ เผื่อว่าจะระบุชื่อตัวนายห้างทั้งสี่ได้

 ยิ้ม
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 15 ก.ค. 14, 23:03

เท่าที่พอจะจำได้แบบมั่ว ๆ ตามประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้  จีนต้าหยวน เป็นราชวงศ์แรก ที่ส่งราชทูตมายังอาณาจักรสุโขทัย พร้อมกับ "ขู่" ให้อาณาจักรสุโขทัยส่งเครื่องบรรณาการไปให้ แต่ยังไม่ทันสำเร็จสมอารมณ์หมาย จักรพรรดิหยวนซื่อสู่ ( 元世祖) หรือที่เรารู้จักกันในนาม กุบไลข่าน ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน สุโขทัยจึงไม่ต้องส่งจิ้มก้องให้จีน


เมื่อมีการเปลี่ยนราชวงศ์มาเป็นราชวงศ์หมิง  ในบันทึกทางการของราชวงศ์หมิงอย่าง หมิงสือลู่ (明實錄)  ได้บรรยายไว้เกี่ยวกับการติดต่อทางการทูตระหว่าง อยุธยา-ต้าหมิง เป็นครั้งแรกเมื่อศักราชหงอู่ (รัชสมัยจักรพรรดิหมิงไท่จู : ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิง)  ปีที่ ๓ เดือน ๘  วันที่ ๕  ตรงกับวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.  ๑๙๑๓  ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา


ความถอดเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า

Lu Zong-jun and others were sent to take a proclamation of instruction for the country of Siam.

ข้าหลวงที่ชื่อ หลี่จงจวิน ได้ถูกส่งไปยังสยามพร้อมกับพระบรมราชโองการเพื่อ ?  (ไม่แน่ใจว่าประโยค instruction for the country of Siam หมายถึงอะไรเหมือนกันครับ)


หลังจากนั้น





บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 15 ก.ค. 14, 23:15

อีก ๑ ปีกับ ๒ เดือนต่อมา ตรงกับวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๑๙๑๔ บันทึกของหมิงสือลู่ บันทึกไว้ว่า

ใจความถอดเป็นภาษาอังกฤษคือ

Lu Zong-jun returned from the country of Siam. The minister Zhao Yan-gu-man and others who had been sent by the king of Siam Can-lie Zhao Pi-ya, accompanied Zong-jun and came to Court. They offered as tribute trained elephants, a six-legged tortoise (六足龜) and local products. It was Imperially commanded that silk gauzes and patterned fine silks interwoven with gold thread be conferred upon their king and that their envoys be each given a set of clothing.


เท่าที่แปลแบบงู ๆ ปลา ๆ ก็คือ  หลี่จงจวินได้เดินทางกลับจากสยาม (อยุธยา) พร้อมด้วยคณะราชทูตจากสยาม อันประกอบไปด้วย Zhao Yan gu man (เจ้ายี่กุมาร ? ) ซึ่งเป็นตัวแทนของกษัตริย์สยาม Can-lie Zhao Pi-ya (กาน-เลี่ย เจ้าพระยา ?) ได้มาถึงหนานจิง (ราชธานีเดิมก่อนจะย้ายไปเป่ยจิงในภายหลัง) พร้อมกับเครื่องราชบรรณาการหลายรายการ




บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 20 คำสั่ง