โดยรวมลิปูตาทัง เรียกได้ว่าเป็นเจ้ากรมพิธีการนั่นเองครับ เป็นตำแหน่งข้าราชการส่วนกลาง ไม่แปลกเลยที่ในบรรณาการที่ส่งไปจีน มี "ของฝาก" ไปถึงลิปูตาทัง มากกว่า จงตกหมูอี๋เสียอีก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์พระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ในกรณีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดแต่งคณะทูตไปสู่ขอพระธิดาพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมาในหมู่เจ้านายราชวงศ์จักรีในทำนอง "พงศาวดารกระซิบ" มาตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ความว่า
เรื่องขอลูกสาวเจ้าปักกิ่งนี้ เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งเล่าให้ฟัง แต่ครั้นเมื่อค้นดูในสำเนาพระราชสาส์นห้องอาลักษณ์ จำนวนจุลศักราช ๑๑๔๓ ได้ความว่าทูตครั้งนั้นเป็นสองสำรับ ทูตที่เชิญพระราชสาส์น คุมเครื่องราชบรรณาการตามเคยสำรับหนึ่ง แต่พระราชสาส์นนั้น ไม่ใช่ส่งของไปเจริญทางพระราชไมตรี ตามธรรมเนียมเท่านั้น มีข้อความแถมท้ายพระราชสาส์นเหมือนหนึ่งเข้าใจว่าหนังสือฉบับนั้น พระเจ้ากรุงจีนจะได้อ่านเอง
กล่าวโทษเจ้าพนักงาน ว่าเรียกค่าธรรมเนียมรับบรรณาการถึง ๓๐ ชั่ง แล้วก็ลดจำนวนบรรณาการลงเสีย หักเป็นค่าธรรมเนียมและขับทูตไม่ให้เที่ยวเตร่ และแกล้งทูตไม่ให้กลับด้วยเรือของตัว ต้องโดยสารเรือเข้ามา ข้อความทั้งนี้พระเจ้ากรุงต้าฉิ่งทรงทราบหรือไม่
ข้อหนึ่งเชลยที่ได้ส่งไปเมืองจีน เมื่อไม่อยากฟังเรื่องศึกพม่าแล้ว ขอให้ส่งกลับเข้ามาให้ถูกตัวถูกฝา คำที่ว่าถูกตัวถูกฝานี้ เจ้ากรุงธนบุรีชอบพูดนัก ตราตั้งเจ้านครก็ใช้ถูกตัวถูกฝา ถ้าเป็นกรรมการกิมตึ๋งก็เห็นจะเป็นสังฆราชผิดฝา ไม่ปรากฏว่าเชลยครั้งไร ส่งไปเมื่อไร ที่จริงเชลยเหล่านี้ ก็คงตกอยู่ตามกวางตุ้งนั้นเอง
ต่อไปอีกว่าตัวช่วยคนหาปลาเรือแตกพลัดเข้ามาบ้าง ช่วยจีนที่ลงมารบเมืองพม่า พม่าจับได้เอามาไว้เสียปลายเขตแดนข้างใต้ กองทัพกรุงเทพฯ ขึ้นไปรบพม่าได้จีนเหล่านั้นมาเป็นคราว ๆ หลายคราว ได้ให้ข้าวสารให้เสื้อผ้าคิดเฟื้องคิดสลึง รวมเบ็ดเสร็จเป็นเงิน ๔ ชั่งเศษ พระเจ้ากรุงต้าฉิ่งทราบความหรือไม่
คราวนี้ ถวายของนอกบรรณาการ ฝาง ๑๐๐๐๐ หาบ งาช้าง ๑๐๐ หาบ ดีบุก ๑๐๐ หาบ นอระมาด ๑ หาบ พริกไทย ๓๐๐๐ หาบ ช้างพลาย ๑ ช้าง
จะขอแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปเที่ยวละ ๓ ลำ อย่าให้ต้องเสียค่าจังกอบ จะซื้อของที่ไม่ต้องห้ามเช่นอิฐ เข้ามาสร้างพระนคร
ขอให้ช่วยหาต้นหนสำเภา จะแต่งไปซื้อทองแดงเมืองญี่ปุ่น เข้ามาทำพระนครเหมือนกัน
ข้อความทั้งนี้ว่าลงไปในพระราชสาส์นหมด พระราชสาส์นลงวันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก
พระราชสาส์นทราบภายหลัง ว่าถูกส่งคืนให้แก้ใหม่ ให้เหมือนอย่างเก่า ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลยมีหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ถึงจ๋งต๊กหมูอี้ ขอป้ายสำเภาสร้างใหม่ ๒ ลำ กับให้ช่วยจ้างต้นหนเป็นเงินเท่าไรจะเสียให้
อีกฉบับหนึ่ง เป็นหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ว่าแต่งให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช พระยาราชสุภาวดี พระพี่เลี้ยง หลวงราไชย หลวงศรียศ หลวงราชมนตรี นายฤทธิ นายศักดิ นายเวรมหาดเล็ก ข้าหลวง คุมสำเภา ๑๑ ลำพาของไปถวาย จำนวนเท่าที่ว่ามาแล้ว
ให้ลิปูต้าทั่ง ฝาง ๑๐๐๐ หาบ เหลืองฝางอีก ๙๐๐๐ หาบ ไม้ดำ ๓๐๐ หาบ ไม้แดง ๑๘๐๒ หาบ ๒๐ ชั่ง ให้จ๋งต๊กหมูอี๊ ฝาง ๕๐๐ หาบ ไม้แดง ๕๐๐ หาบ นายห้าง ๔ ห้าง ฝางห้างละ ๑๐๐ หาบ ไม้แดงห้างละ ๑๐๐ หาบ เหลืองฝาง ๑๗๐๐ หาบ ไม้แดง ๙๐๒ หาบ ไม้ดำ ๓๐๐ หาบ ๗๖ ชั่ง ให้ขายใช้จ่าย ต้องการเตรียบทองแดงสำหรับเลี้ยงพระ ๕๐๐ ใบ พานของคาวทองขาว ๒๕๐ ใบ หวาน ๒๕๐ ใบ หม้อทองแดงใส่ไฟ ๑๐๐ ใบ ส่งตัวอย่างให้คุมออกไปด้วย และให้ข้าหลวงมีชื่อเหล่านี้ซื้ออิฐส่งเข้ามาก่อน แล้วจึงให้เรือกลับไปรับทูต
ทูตสำรับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชนี้ คงมีพระราชสาส์นฉบับหนึ่งต่างหาก เรื่องขอลูกสาว แต่จะซ่อนแต่งซ่อนแปลกันอย่างไร ไม่ได้เก็บสำนวนไว้ในห้องอาลักษณ์ทีเดียว จึงไม่ได้ความ
มีบัญชีคิดเงินอยู่ในสมุดสำเนาพระราชสาส์น ว่าถวายเจ้าปักกิ่งเป็นของนอกบรรณาการ คิดราคาสิ่งของตามบัญชีที่กล่าวมาแล้วเป็นเงิน ๑๘๖๖ ชั่ง ๓ ตำลึง ๒ บาทสลึง
ให้ลิปูต้าทั่ง คิดราคาของ เป็นเงิน ๕๖ ชั่ง ๕ ตำลึง
ให้จ๋งต๊กหมูอี๊ คิดราคาของ เป็นเงิน ๓๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง
ให้นายห้าง ๔ ห้าง คิดราคาของ เป็นเงิน ๓๐ ชั่ง รวมที่ส่งของไปแจกเป็นเงิน ๑๙๘๙ ชั่ง ๑๘ ตำลึง ๒ บาทสลึง
เหลือสิ่งของสำหรับให้จำหน่ายใช้การ เพราะเหตุที่ไม่ได้เอาเงินออกไปจ่าย เอาของออกไปจ่ายต่างเงิน เป็นราคา ๔๕๓ ชั่ง ๖ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึงเฟื้อง
รวมเป็นสินค้าที่ได้บรรทุกเรือออกไป ๑๑ ลำครั้งนี้ เป็นราคาเงิน ๒๔๔๓ ชั่ง ๑๕ ตำลึงบาท ๓ สลึงเฟื้อง
ข้อมูลจาก
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308484624&grpid=no&catid=&subcatid=http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308829528&grpid=no&catid=53&subcatid=5300มีนายห้างเพิ่มขึ้นมาอีก ๔ ห้าง รอคำอธิบายจากคุณม้าว่านายห้างทั้ง ๔ นั้นคือใคร สำคัญอย่างไร 