เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 7990 ขออนุญาตเรียนถามเนื้อความบางประการใน "สรรพสิทธิ์คำฉันท์" ครับผม
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 06 ก.ค. 14, 15:38

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ณ เรือนไทยทุกท่านด้วยความเคารพยิ่งครับ

   ก่อนจะว่าด้วยคำถาม ผมขออนุญาตอารัมภบทสักนิดครับ กระทู้นี้ บางท่านอาจสงสัยว่า ผมตั้งขึ้นทำไม ถ้าหากผมไม่
ตาบอด หรือ ตาบอดตอนโต เคยเห็นสิ่งต่างๆมาบ้าง ก็คงจะพอสร้างจินตนาการขึ้นได้ ทว่า นับแต่รู้ความ ผมไม่เคยมองเห็นอะไรเลย ปัจจุบัน แม้ฝัน ก็ปราศจากภาพครับ ดังนั้น เมื่อต้องสร้างจินตภาพขึ้นจากถ้อยคำที่อ่าน บางอย่างจึงรัวๆรางๆเต็มที นี่คือที่มาของปรัศนีซึ่งทุกท่านจะได้อ่านสืบไปครับ

   เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณน้าท่านกรุณาบอกผมพิมพ์ “สรรพสิทธิ์คำฉันท์” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า
กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในตอนที่ผมอยากอ่านมานานแล้ว นั่นคือ การทำศึกระหว่างพระสรรพสิทธิ์กับอสูรชื่อกาลจักร ผมตื่นใจฉากดวนศรระหว่างคู่ต่อสู้ทั้งสองมากครับ องค์พระผู้ทรงนิพนธ์ ท่านทรงบรรยายไว้ว่า:


   “คั่งแค้นแสนเคียดเคืองระคาย
สองหัตถ์ททาย
มหามหิทธิศรแสลง
   โน้มน้าวท้าวแทตย์สำแดง
เดโชผลงแผลง
เปนเพลองพโพลงเวหาส
   พระแผลงศรศักดิ์อำนาจ
เปนพรรษาหยาด
แลหลั่งถถั่งเทธาร
   ดับเพลองเรองโรจคัคณานต์
ด้วยฤทธิ์นฤบาล
พิเศษศิลปประลอง
   กาลจักรแผลงเปนปืนนอง
เนืองเนกในคลอง
มารุตสุดสังขยา
   พระแผลงเปนพายุพัดพา
เพอกผองศัสตรา
รส่ายรส่ำสูญศร
   ยักษ์ยิงเปนนาคนิกร
กลากลาดอัมพร
อเนกอนันต์หนั่นหนา
   พระยิงเปนราชหริพา
หนฉกนาคา
ขจัดบำบัดบงงวาย
   ยักษ์แผลงเปนแหล่งไศลหลาย
เหลือหลากเรียงราย
จักทับจักทุ่มเอาองค์
   พระแผลงแย้งยุทธ์ศรทรง
เปนเทพย์ทัณฑ์รงค์
ทำลายทำลักภูผา
   ยักษ์สาดศรเปนไอยรา
เสื้องเสยสองงา
แลแหงนประแปร้นปรบกรรณ
   พระสาดศรศักดิ์สามรรถ์
เปนสีหโจมประจัน
กเรนทร์รเนนพสุธาร
   ยักษ์ยิงปืนเปนอันธการ
จตุรงค์บันดาล
บดูตระหนักไนยนา
   พระยิงปืนเปนจันทรา
โอภาสอาภา
พิโรจน์จำรัสรัศมี
   ตกต้องตัดกายินทรีย์
สินศออสุรี
ศิโรตมรด้าวดินแดน
   เกิดกลายกายอื่นหมื่นแสน
กลากลาดบมิแกลน
ก็เกลื่อนเข้ากลุ้มรุมรบ
   พระแผลงศรสิทธิท่าวทบ
มวญมารกาลสยบ
สยอนด้วยศรสังหาร
   ห่อนมอดม้วยมุดสุดปราณ
คืนขันธ์บันดาล
ดิเรกรูปอสุรินทร์
   ร้อยครั้งตั้งต่อนฤบดินทร์
ดื่นดากายิน
บสิ้นบสูญวิญญาณ
   บัดไท้ไขอาคมขาน
ถอดเทจิตรมาร
มาเนาในเนอนศีขรี
   กายโกฏิโหดร่างฤๅมี
เออาตม์อินทรีย์
สยบยังท้องพสุธา
   คือค่นขุนเขาหิมวา
เวรัมภวาตา
มาพัดมาเพอกพกพงง ฯลฯ”

   หมายเหตุ: ตัวสะกดคงไว้ตามเอกสารสำเนา สรรพสิทธิ์คำฉันท์ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า
กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จัดพิมพ์โดยคณะสงฆ์วัดพระเชตุพน พ.ศ. ๒๕๑๑

   ผมมีข้อฉงนตรง ยักษ์กาลจักรแผลงศรเป็นภูเขา ประสงค์จะให้ทุ่มทับพระสรรพสิทธิ์ แล้วพระสรรพสิทธิ์แผลงศรโต้เป็น “เทพย์ทัณฑ์” นี่แหละครับ อะไรคือ “เทพย์ทัณฑ์”

   เดิมที ผมแปลคำ “เทพย์ทัณฑ์” ว่า “ทิพยคธาวุธ” (กระบองเทพ) ฟาด หรือทุบภูเขาหินให้หักทำลายโค่นลง แต่แล้วก็กังขา บวกกับสับสนขึ้นมาครับ ว่า “เทพย์ทัณฑ์” จะหมายถึงสายฟ้าได้ไหม เหตุก็เพราะ ในสมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ฉากที่พระอินทร์ขู่บังคับพิทยาธรให้คืนพระขรรค์แก่พระสมุทรโฆษ
พระองค์ก็ทรงบรรยายว่า


   “กรกวัดวชิรา-
ธิกอาวุธทัณ-
ฑกระหลอกกระหลับผัน
และกระลึงคือภมร”

“วชิราธิกอาวุธทัณฑ์” น่าจะหมายความว่า สายฟ้าซึ่งเป็นกระบองทิพย์ของพระอินทร์อันมีฤทธานุภาพยิ่ง ข้อความจากสมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลายนี้เอง ทำให้ผมหวนกระหวัดไปหา สรรพสิทธิ์คำฉันท์ อีกครั้งครับ

   อันวิชาศรศิลป์ขั้นสูงนั้น ผู้เรียนสำเร็จ ย่อมจะสามารถแผลงศรเป็นอะไรก็ได้ตามจิตกำหนด ไม่แปลกเลย หาก
พระสรรพสิทธิ์จะทรงแผลงศรเป็นวชิระ สายฟ้า ฟาดเปรี้ยง ทำลายภูเขาให้แตกละเอียดชั่วพริบตา ผมไม่เคยเห็นรูปวชิราวุธที่
พระวิษณุกรรมสร้างขึ้นจากอัฐิของพระมหามุนีทธีจิ ก็เลยไม่แน่ใจครับ ว่าสิ่งที่พระอินทร์ท่านทรงถือ มีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร เหมือนไม้กระบอง หรือแตกต่างออกไปมากน้อยแค่ไหน ผลที่ได้ก็คือ จินตนาการอันยังเคลือบคลุมอยู่ครับ

   ดังนั้น ขออนุญาตสรุปเรียนถามในตอนท้ายว่า “เทพย์ทัณฑ์” ในสรรพสิทธิ์คำฉันท์ ควรจะหมายความอย่างไร แค่
ทิพยคธาวุธ (กระบองเทพ) หรือสายฟ้า ขอท่านผู้รู้ทุกท่าน ได้โปรดการุณย์อวยวิทยาทานให้ผมผู้ปัญญาโฉดเขลาด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 06 ก.ค. 14, 20:29

ดิฉันไม่เคยสอนเรื่องสรรพสิทธิ์คำฉันท์    แต่ไปค้นศัพท์มาให้แล้วว่า ทัณฑ์ มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตว่า ทณฺฑ (อ่านว่า ทัน-ดะ) แปลว่า ไม้เท้า ค่ะ
ไม้เท้าที่ใช้เป็นอาวุธ ก็คือใช้ตีหรือฟาด  คล้ายกับกระบอง  
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 06 ก.ค. 14, 21:53

อ้างถึง
ผมไม่เคยเห็นรูปวชิราวุธที่พระวิษณุกรรมสร้างขึ้นจากอัฐิของพระมหามุนีทธีจิ ก็เลยไม่แน่ใจครับ ว่าสิ่งที่พระอินทร์ท่านทรงถือ มีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร เหมือนไม้กระบอง หรือแตกต่างออกไปมากน้อยแค่ไหน
วชิราวุธ หรืออาวุธของพระอินทร์ มีลักษณะเหมือนสามง่ามแต่มีสี่แฉกทั้งสี่ทิศ ตรงกลางมีแท่งปลายแหลมสูงเด่นขึ้นมา ทั้งหมดเป็นเพชร(วชิระ) จึงส่งประกายแสงเหมือนสายฟ้าไปรอบทิศ ใช้เป็นอาวุธอีกประเภทหนึ่งด้วย ใครโดนเข้าไปอาจจะเสมือนโดนฟาดด้วยกระบองเช่นกัน

วชิราวุธจำลองที่มนุษย์ทำ ได้แต่ความเหมือนของอาวุธ แต่ประกายเพชรที่เหมือนสายฟ้า จะแสดงได้ก็ในภาพเขียนเท่านั้นครับ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 06 ก.ค. 14, 22:14

อ้างถึง
ดังนั้น ขออนุญาตสรุปเรียนถามในตอนท้ายว่า “เทพย์ทัณฑ์” ในสรรพสิทธิ์คำฉันท์ ควรจะหมายความอย่างไร แค่ทิพยคธาวุธ (กระบองเทพ) หรือสายฟ้า ขอท่านผู้รู้ทุกท่าน ได้โปรดการุณย์อวยวิทยาทานให้ผมผู้ปัญญาโฉดเขลาด้วยเถิดครับ

ไม่บังอาจถือตนเป็นผู้รู้ที่สามารถอวยวิทยาทานเรื่องเทวฤทธิ์ในวรรณคดีได้ แต่อยากแสดงความเห็นว่า “เทพย์ทัณฑ์” ในบริบทนี้ น่าจะเป็นกระบองระดับเทพที่กระทบภูเขา ภูเขาก็ทะลาย เหมือนเอาค้อนปอนด์ไปทุบก้อนกรวดน่ะครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 06 ก.ค. 14, 22:42

วัชระของอินเดีย  


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 07 ก.ค. 14, 08:58

   ยักษ์แผลงเปนแหล่งไศลหลาย
เหลือหลากเรียงราย
จักทับจักทุ่มเอาองค์
   พระแผลงแย้งยุทธ์ศรทรง
เปนเทพย์ทัณฑ์รงค์
ทำลายทำลักภูผา
   

ดังนั้น ขออนุญาตสรุปเรียนถามในตอนท้ายว่า “เทพย์ทัณฑ์” ในสรรพสิทธิ์คำฉันท์ ควรจะหมายความอย่างไร แค่
ทิพยคธาวุธ (กระบองเทพ) หรือสายฟ้า ขอท่านผู้รู้ทุกท่าน ได้โปรดการุณย์อวยวิทยาทานให้ผมผู้ปัญญาโฉดเขลาด้วยเถิดครับ

ได้ไปถามท่านรอยอินว่า "เทพย์ทัณฑ์" น่าจะหมายถึงอะไร ท่านรอยอินให้ความหมายคำใกล้เคียงคือ "เทพทัณฑ์" หมายถึง  ไม้มีปลายพันผ้าสําหรับชุบนํ้ามันจุดไฟใน พระราชพิธีกัตติเกยา

จะใช้เป็นอาวุธทำลายภูผาได้หรือไม่ ก็ขอเสนอไว้พิจารณา  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 07 ก.ค. 14, 09:24

มีอีกคำที่ต่อท้าย เทพทัณฑ์ คือคำว่า รงค์
ไปถามรอยอินเช่นกัน   ท่านให้คำตอบมาเกือบครอบจักรวาล เลยไม่รู้จนแล้วจนรอดว่าในที่นี้ แปลว่าอะไร

รงค–, รงค์   [รงคะ–, รง] น. สี, นํ้าย้อม; ความกําหนัด, ตัณหา, ความรัก; ที่ฟ้อนรํา,โรงละคร; สนามรบ, ลาน. (ป., ส. รงฺค).
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 07 ก.ค. 14, 12:08

มาพิจารณากันให้ลึกอีกหน่อยก็ได้ เอาจากอาวุธระดับเทพที่เรารู้จักกันอยู่บ้างแล้วก่อน

วชิระของไทยเราที่รับคติมาจากแขก จะออกไปทางรูปแบบอาวุธใช้คมในการประหาร ดังจะเป็นได้จากเครื่องหมายในพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ที่ทรงมีพระนามเดิมว่า วชิราวุธ (วชิร+อาวุธ) ซึ่งทรงใช้ทั้งที่มีคมด้านเดียว(ตามรูปที่แสดงไปแล้ว) และมีคมทั้งสองด้าน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 07 ก.ค. 14, 12:11

แต่ทว่าในลัทธิฮินดูแต่เดิมที พระอินทร์ผู้ถือวชิระเป็นอาวุธ ไม่ได้ใช้คมของอาวุธนี้ในการสังหารศัตรู แต่ใช้แสงที่เปล่งออกไปเหมือนแสงเลเซอร์ สามารถทำลายล้างทุกสิ่งได้


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 07 ก.ค. 14, 12:25

และวชิระ หรือวัชร(วัชระ)นี้ พุทธศาสนาลัทธิฝ่ายวัชรยานที่นับถือกันในธิเบตและเนปาล ได้นำไปใช้ พบได้ในหลายรูปแบบ ทั้งที่มีคมเป็นอาวุธและไม่มีคม โดยมีพระโพธิสัตว์ ชื่อพระอาทิพุทธะถือวัชระนี้เป็นอาวุธด้วย และวัชระก็เป็นอีกพระนามหนึ่งของพระโพธิสัตว์องค์นั้น วชิระรูปแบบนี้จึงเป็นที่รู้จักกันมาก เพราะเปล่งประกาย ประดุจปัญญาที่ฆ่ากิเลศมาร

ตามคติโบราณกาลทั้งสอง จะไม่ใช้แรงกระทำแบบพื้นๆที่มนุษย์ใช้ลำลายล้างกันมารจนาในเทพปกรณัม  อาวุธระดับเทพนั้น จะใช้ประกายหรือลำแสง ทำให้เกิดความร้อนแบบไฟบัลลัยกันต์ที่ร้อนกว่าไฟทั้งปวงที่มนุษย์ทั้งหลายรู้จัก สามารถทำลายหรือฆ่าอะไรๆที่ยากๆได้โดยง่าย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 07 ก.ค. 14, 12:45

ต่อมาที่ “เทพย์ทัณฑ์” เมื่อพิจารณาแนวคิดของแขกโบราณ  ก็ไม่น่าใช่กระบองระดับเทพที่กระทบภูเขา ภูเขาก็ทะลาย ตามสติปัญญาของมนุษย์ธรรมดาจะคาดฝัน  ส่วนไม้มีปลายพันผ้าสําหรับชุบนํ้ามันจุดไฟ ถ้าคิดแบบสมการชั้นเดียวก็ไม่ใช่เหมือนกัน

มาดูทั้งบริบท

พระแผลงแย้งยุทธ์ศรทรง
เปนเทพย์ทัณฑ์รงค์
ทำลายทำลักภูผา

  
เปนเทพย์ทัณฑ์รงค์ แปลตรงๆว่า สีอันเกิดจากคบเพลิง(แบบเทพๆ)  ถอดสมการอีกชั้น สีนั้นย่อมเกิดจากแสง ดังนั้นศรที่แผลงออกไปได้กลายเป็นคบเพลิงระดับเทพเรียกพี่(น่าจะเป็นพหูพจน์ด้วย) ที่สว่างไสวร้อนแรงราวกับระเบิดปรมาณู ทำลายภูเขาให้ละลายเป็นลาวาไปเลย


บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 07 ก.ค. 14, 13:40

กระผมขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพู แหละท่านอาจารย์ NAVARAT.C เป็นอเนกอนันต์ครับ สำหรับความรู้มากมาย ส่วนวิทยาที่คุณเพ็ญชมพูนำเสนอ ก็ทำให้ผมฉุกคิดอะไรขึ้นมาได้บางอย่าง จะมีประโยชน์ต่อการตีความหรือไม่ ยังไม่ทราบเหมือนกันครับ

   ปรกติ สรรพสิ่งที่พราหมณ์นำมาใช้ประกอบพิธีกรรมตามลัทธิ มักจะเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ถ้ามิใช่เครื่องหมายของเทพเจ้า ก็อาจจะใช้เป็นเครื่องหมายแทนหลักศาสนธรรมบางประการ ทีนี้ ทำไมพราหมณ์จึงต้องใช้ไม้อันมีนามว่า “เทพทัณฑ์” ในพระราชพิธีกัตติเกยา? ผมค้นหาคำ “กัตติเกยา” จากท่านรอยอินก็ได้นิยามมาเพียงสั้นๆแค่บรรทัดเดียวจริงๆครับ ดังนี้:

กัตติเกยา
น. การตามเพลิงในพิธีพราหมณ์.

   ไม่มีอะไรเพิ่มเติมนอกจากนี้อีกแล้วครับ ถ้าสามารถค้นรายละเอียดได้ว่า “เทพทัณฑ์” ที่พราหมณ์ใช้ในพระราชพิธีกัตติเกยานั้น เป็นสัญลักษณ์แทนอะไร ผมว่าก็น่าสนใจไม่น้อยครับ

   เมื่อวาน หลังจากตั้งกระทู้เสร็จ ผมนึกถึง สมุทรโฆษคำฉันท์ฉากหนึ่งขึ้นมาได้ ขออนุญาตนำมาเสนอเพื่อความบันเทิงเริงรมย์ในกระทู้เสียเลยครับ

   สมุทรโฆษคำฉันท์ในส่วนซึ่งเป็น สำนวนพระมหาราชครูนิพนธ์ ช่วงที่ผมชอบฟังมากกว่าตอนอื่นๆ ก็คือ “สิบกษัตริย์รบกับพระสมุทรโฆษ” ครับ ซาดิต ดุเดือดแท้ โดยเฉพาะ ท้าวเกาศึกรบพระสมุทรโฆษ คู่นี้ถึงพริกถึงขิงยิ่งยวด ดวนศรกันมันหยด ท่านพระมหาราชครูบรรยายไว้ว่า:

   “เกาศึกยิงปืนเปนไฟ
พระก็ยิงศรไป
เปนน้ำแลนองเวหา
   เกาศึกสาดศรวางมา
แปรเปนนาคา
คคว้างในกลางอากาศ
   ภูธรยิงปืนเปนราช
พิหคยุรยาตร
แลฉกภุชงค์ลาญปาน
   เกาศึกสาดศรเปนสาร
สามรรถรุกราน
รยืนรยั้งนาคี
   ภูธรยิงศรเปนสีห์
จับคชคั้นยี
แลล้มระนับทับกัน
   เกาศึกยิงปืนเปนควัน
คลุ้มหล้าฟ้าทัน
ทั้งเมฆก็บดบังตา
   พระยิงเปนลมพัดพา
สรว่างเมฆา
และแลตระล่งทุกทิศ
   เกาศึกยิงเขาป้องปิด
กรรกลมืดมิด
แลบังทั้งแสนเสนา
   พระยิงศรศิลปมหา
เปนเพชรผ่าผา
คิรีก็แตกผุยผง
   ต้องรี้พลแหลกแปลนองค์
เกาศึกพิศวง
ก็ดาลมเมอกลกรร
   ศรต้องเกาศึกย่อยยรร
ล้มลงด้วยพลัน
พิเรนทรดาลสยบแสยง”

   หมายเหตุ: ตัวสะกดคงไว้ตามหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์ จัดพิมพ์โดยองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ. ๒๕๒๘

   ผมอ่านตอนแรกร้อง โอ้โห เลยครับ สะใจขีดสุดก็ตรง ท้าวเกาศึกยิงศรเป็นภูเขาลูกเบ้อเริ่ม บังมืดไปหมด มองไม่เห็นแม้แต่รี้พลทหารทั้งปวง พระสมุทรโฆษแผลงศรเป็นสายฟ้า (ผมแปล “เพชร” ในที่นี้ ว่าเป็นคำเดียวกับ “วัชระ”, “วชิระ”, “วิเชียร” ถ้าผิดพลาด ขอทุกๆท่านโปรดเมตตาท้วงติงแก้ไขด้วยครับ)
อสุนีบาตฟาดลง “เปรี้ยง” สนั่นหวั่นไหว (ผมว่า น่าจะสะท้านสะเทือนทั้งสามโลกเชียวหละครับ) ภูเขาทั้งลูกกระจุย มิหนำซ้ำ หินผาก้อนโตๆมโหฬารยังหล่นลงมาทับไพร่พลศัตรูแหลกเป็นจุณมหาจุณเสียอีก เล่นเอาท้าวเกาศึกอึ้ง ตะลึงตึ่งตึ๊งไปเลย จึงถูกศรเข้าให้ ผมฟังกี่ทีกี่หน ก็ตบเข่าผัวะ อยากเห็นฉากนี้ถูกนำไปสร้างภาพยนตร์ หรือละครโทรทัศน์เหลือเกินครับ     
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 07 ก.ค. 14, 14:28

ผมค้นหาคำ “กัตติเกยา” จากท่านรอยอินก็ได้นิยามมาเพียงสั้นๆแค่บรรทัดเดียวจริงๆครับ ดังนี้:

กัตติเกยา
น. การตามเพลิงในพิธีพราหมณ์

ได้ทำระโยงความหมายของ "พระราชพิธีกัตติเกยา" ไว้แล้ว หากคุณชูพงศ์กดที่คำนี้แล้วจะได้คำตอบ

ท่านรอยอินให้ความหมายคำใกล้เคียงคือ "เทพทัณฑ์" หมายถึง  ไม้มีปลายพันผ้าสําหรับชุบนํ้ามันจุดไฟใน พระราชพิธีกัตติเกยา

พระราชพิธีกะติเกยา

การพระราชพิธีกะติเกยา ตามคำพระมหาราชครู (พระมหาราชครูคนชื่ออาจ) ได้กล่าวว่าการพระราชพิธีนี้แต่ก่อนได้เคยทำในเดือนอ้าย แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลื่อนลงมาในเดือนสิบสอง การซึ่งจะกำหนดทำพระราชพิธีเมื่อใดนั้น เป็นพนักงานของโหรต้องเขียนฎีกาถวาย ในฎีกานั้นว่าโหรมีชื่อได้คำนวณพระฤกษ์พิธีกะติเกยากำหนดวันนั้น ๆ พระมหาราชครูพิธีจะทำการราชพิธีเช่นนั้น ๆ ลงท้ายว่าจะมีคำทำนาย แต่ไม่ปรากฏว่าได้รับคำทำนายขึ้นมากราบเพ็ดกราบทูลอันใดต่อไปอีก ชะรอยจะเป็นด้วยทำนายดีทุกปีจนทรงจำได้ แล้วรับสั่งห้ามเสีย ไม่ให้ต้องกราบทูลแต่ครั้งใดมาไม่ทราบเลย

การซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลื่อนพิธีมาทำในเดือนสิบสองนั้น คือกำหนดเมื่อพระจันทร์เสวยฤกษ์กัตติกาเต็มบริบูรณ์เวลาไร เวลานั้นเป็นกำหนดพระราชพิธี การซึ่งถวายกำหนดเช่นนี้ก็แปลมาจากชื่อพิธีนั้นเอง การที่พระมหาราชครูพิธีว่าเมื่อก่อนทำเดือนอ้ายนั้น เป็นการเลื่อนลงมาเสียดอก แต่เดิมมาทำเดือนสิบสอง ครั้งเมื่อพิธีตรียัมพวายเลื่อนไปทำเดือนยี่แล้ว การพิธีนี้จึงเลื่อนตามลงไปเดือนอ้าย เพราะพระราชพิธีนี้เป็นพิธีตามเพลิงคอยรับพระเป็นเจ้าจะเสด็จลงมา ดูเป็นพิธีนำหน้าพิธีตรียัมพวาย ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กลับขึ้นไปทำเดือนสิบสองนั้น ก็เพราะจะให้ถูกกับชื่อพิธีดังที่ว่ามาแล้ว พระราชพิธีนี้คงตกอยู่ในระหว่างกลางเดือนสิบสอง เคลื่อนไปข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้างเล็กน้อย คงจะเกี่ยวกับพระราชพิธีจองเปรียงอยู่เสมอ

การทำที่นั้น คือปลูกเกยขึ้นที่หน้าเทวสถานสามเกย สถานพระอิศวรเกย ๑ สถานมหาวิฆเนศวรเกย ๑ สถานพระนาราณ์เกย ๑ เกยสูง๔ศอกนั้น ที่ข้างเกยเอามูลโคกับดินผสมกันก่อเป็นเขาสูงศอกหนึ่งทั้ง ๔ ทิศ เรียกว่าบัพพโต แล้วเอาหม้อใหม่ ๓ ใบ ถักเชือกรอบนอกเรียกว่าบาตรแก้ว มีหลอดเหล็กวิลาศร้อยไส้ด้ายดิบเก้าเส้น แล้วมีถุงข้าวเปลือกถั่วงาทิ้งลงไว้ในหม้อนั้นทั้ง ๓ หม้อ แล้วเอาไม้ยาว ๔ ศอก เรียกว่าไม้เทพทัณฑ์ ปลายพันผ้าสำหรับชุบน้ำมันจุดไฟ ครั้งเวลาค่ำพระมหาราชครูพิธีบูชาไม้เทพทัณฑ์และบาตรแก้ว แล้วอ่านตำหรับจุดไฟในบาตรแก้ว แล้วรดน้ำสังข์จุณเจิมไม้นั้น ครั้งจบพิธีแล้วจึงได้นำบาตรแก้วและไม้เทพทัณฑ์ออกไปที่หน้าเทวสถาน เอาบาตรแก้วตั้งบนหลักริเกย เอาปลายไม้เทพทัณฑ์ที่หุ้มผ้าชุบน้ำมันจุดไฟ พุ่งไปที่บัพพโตทั้ง ๔ ทิศ เป็นการเสียงทาย ทิศบูรพาสมมติว่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทิศทักษิณสมมติว่าเป็นสมณพราหมณ์ ทิศประจิมว่าเป็นอำมาตย์มนตรี ทิศอุดรว่าเป็นราชฎร พุ่งเกยที่หนึ่งแล้วเกยที่สองที่สามต่อไป จนครบทั้งสามเกยเป็นไม้สิบสองอัน แล้วตามเพลิงในบาตรแก้วไว้อีกสามคืน สมมติว่าตามเพลิงคอยรับพระเป็นเจ้าเสด็จงมาเยี่ยมโลก เมื่อพุ่งไม้แล้วกลับเข้าไปสวดบูชาข้าวตอก บูชาบาตรแก้วที่จุดไฟไว้หน้าเทวสถานทั้ง ๓ สถาน ต่อไปนั้นอีกสองวันก็ไม่เป็นพิธีอันใด วันที่สามนำบาตรแก้วเข้าไปในเทวสถานรดน้ำสังข์ดับเพลิง เป็นเสด็จพระราชพิธี การพระราชพิธีกะติเกยานี้ เป็นพิธีพราหมณ์แท้ และเหตุผลที่เลื่อนลอยมาก จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่รู้ที่จะทรงเติมการพิธีสงฆ์หรือแก้ไขเพิ่มเติมอันใด ได้แต่เปลี่ยนกำหนดให้ถูกชื่ออย่างเดียว คงอยู่ด้วยเป็นพิธีราคาถูกเพียง ๖ บาทเท่านั้น(ในสมัยรัชการที่ ๔)

จาก พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 07 ก.ค. 14, 15:23

         โดยส่วนตัว คำว่า รงค์ ใน เปนเทพย์ทัณฑ์รงค์ นี้ นึกถึง รงค์(สนามรบ)
ดังที่ใช้ใน รณรงค์ น. การรบ; สนามรบ. ครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 07 ก.ค. 14, 15:23

พระอินทร์ถือเป็นเทพโบราณองค์หนึ่ง เคยเป็นหมายเลขหนึ่งก่อนที่สามเทพของฮินดูคือพระพรหม พระศิวะ และพระนารายณ์จะถูกยกขึ้นมาเป็นใหญ๋

ขอให้สังเกตอุปกรณ์สร้างสายฟ้าของเทพโบราณข้างล่างนี้ดู ๆ ไปก็คล้ายวัชระของพระอินทร์เช่นกัน

ซ้าย : เทพเทพเตชับ Teshub แห่งจักรกรวรรดิฮิทไทต์  (ประมาณ ๒,๐๐๐-๑,๒๐๐ ก่อนคริสต์ศักราช)
ขวา : เทพมาร์ดุก Marduk แห่งดินแดนเมโสโปเตเมีย (ประมาณ ๒,๓๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช)

บางทีพระอินทร์จะเป็นองค์เดียวกันหรือสืบเชื้อสายมาจากเทพโบราณเหล่านี้ก็เป็นได้  ยิงฟันยิ้ม




บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 20 คำสั่ง