ผมค้นหาคำ “กัตติเกยา” จากท่านรอยอินก็ได้นิยามมาเพียงสั้นๆแค่บรรทัดเดียวจริงๆครับ ดังนี้:
กัตติเกยา
น. การตามเพลิงในพิธีพราหมณ์
ได้ทำระโยงความหมายของ "พระราชพิธีกัตติเกยา" ไว้แล้ว หากคุณชูพงศ์กดที่คำนี้แล้วจะได้คำตอบ
ท่านรอยอินให้ความหมายคำใกล้เคียงคือ "เทพทัณฑ์" หมายถึง ไม้มีปลายพันผ้าสําหรับชุบนํ้ามันจุดไฟใน พระราชพิธีกัตติเกยา พระราชพิธีกะติเกยาการพระราชพิธีกะติเกยา ตามคำพระมหาราชครู (พระมหาราชครูคนชื่ออาจ) ได้กล่าวว่าการพระราชพิธีนี้แต่ก่อนได้เคยทำในเดือนอ้าย แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลื่อนลงมาในเดือนสิบสอง การซึ่งจะกำหนดทำพระราชพิธีเมื่อใดนั้น เป็นพนักงานของโหรต้องเขียนฎีกาถวาย ในฎีกานั้นว่าโหรมีชื่อได้คำนวณพระฤกษ์พิธีกะติเกยากำหนดวันนั้น ๆ พระมหาราชครูพิธีจะทำการราชพิธีเช่นนั้น ๆ ลงท้ายว่าจะมีคำทำนาย แต่ไม่ปรากฏว่าได้รับคำทำนายขึ้นมากราบเพ็ดกราบทูลอันใดต่อไปอีก ชะรอยจะเป็นด้วยทำนายดีทุกปีจนทรงจำได้ แล้วรับสั่งห้ามเสีย ไม่ให้ต้องกราบทูลแต่ครั้งใดมาไม่ทราบเลย
การซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลื่อนพิธีมาทำในเดือนสิบสองนั้น คือกำหนดเมื่อพระจันทร์เสวยฤกษ์กัตติกาเต็มบริบูรณ์เวลาไร เวลานั้นเป็นกำหนดพระราชพิธี การซึ่งถวายกำหนดเช่นนี้ก็แปลมาจากชื่อพิธีนั้นเอง การที่พระมหาราชครูพิธีว่าเมื่อก่อนทำเดือนอ้ายนั้น เป็นการเลื่อนลงมาเสียดอก แต่เดิมมาทำเดือนสิบสอง ครั้งเมื่อพิธีตรียัมพวายเลื่อนไปทำเดือนยี่แล้ว การพิธีนี้จึงเลื่อนตามลงไปเดือนอ้าย เพราะพระราชพิธีนี้เป็นพิธีตามเพลิงคอยรับพระเป็นเจ้าจะเสด็จลงมา ดูเป็นพิธีนำหน้าพิธีตรียัมพวาย ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กลับขึ้นไปทำเดือนสิบสองนั้น ก็เพราะจะให้ถูกกับชื่อพิธีดังที่ว่ามาแล้ว พระราชพิธีนี้คงตกอยู่ในระหว่างกลางเดือนสิบสอง เคลื่อนไปข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้างเล็กน้อย คงจะเกี่ยวกับพระราชพิธีจองเปรียงอยู่เสมอ
การทำที่นั้น คือปลูกเกยขึ้นที่หน้าเทวสถานสามเกย สถานพระอิศวรเกย ๑ สถานมหาวิฆเนศวรเกย ๑ สถานพระนาราณ์เกย ๑ เกยสูง๔ศอกนั้น ที่ข้างเกยเอามูลโคกับดินผสมกันก่อเป็นเขาสูงศอกหนึ่งทั้ง ๔ ทิศ เรียกว่าบัพพโต แล้วเอาหม้อใหม่ ๓ ใบ ถักเชือกรอบนอกเรียกว่าบาตรแก้ว มีหลอดเหล็กวิลาศร้อยไส้ด้ายดิบเก้าเส้น แล้วมีถุงข้าวเปลือกถั่วงาทิ้งลงไว้ในหม้อนั้นทั้ง ๓ หม้อ
แล้วเอาไม้ยาว ๔ ศอก เรียกว่าไม้เทพทัณฑ์ ปลายพันผ้าสำหรับชุบน้ำมันจุดไฟ ครั้งเวลาค่ำพระมหาราชครูพิธีบูชาไม้เทพทัณฑ์และบาตรแก้ว แล้วอ่านตำหรับจุดไฟในบาตรแก้ว แล้วรดน้ำสังข์จุณเจิมไม้นั้น ครั้งจบพิธีแล้วจึงได้นำบาตรแก้วและไม้เทพทัณฑ์ออกไปที่หน้าเทวสถาน เอาบาตรแก้วตั้งบนหลักริเกย เอาปลายไม้เทพทัณฑ์ที่หุ้มผ้าชุบน้ำมันจุดไฟ พุ่งไปที่บัพพโตทั้ง ๔ ทิศ เป็นการเสียงทาย ทิศบูรพาสมมติว่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทิศทักษิณสมมติว่าเป็นสมณพราหมณ์ ทิศประจิมว่าเป็นอำมาตย์มนตรี ทิศอุดรว่าเป็นราชฎร พุ่งเกยที่หนึ่งแล้วเกยที่สองที่สามต่อไป จนครบทั้งสามเกยเป็นไม้สิบสองอัน แล้วตามเพลิงในบาตรแก้วไว้อีกสามคืน สมมติว่าตามเพลิงคอยรับพระเป็นเจ้าเสด็จงมาเยี่ยมโลก เมื่อพุ่งไม้แล้วกลับเข้าไปสวดบูชาข้าวตอก บูชาบาตรแก้วที่จุดไฟไว้หน้าเทวสถานทั้ง ๓ สถาน ต่อไปนั้นอีกสองวันก็ไม่เป็นพิธีอันใด วันที่สามนำบาตรแก้วเข้าไปในเทวสถานรดน้ำสังข์ดับเพลิง เป็นเสด็จพระราชพิธี การพระราชพิธีกะติเกยานี้ เป็นพิธีพราหมณ์แท้ และเหตุผลที่เลื่อนลอยมาก จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่รู้ที่จะทรงเติมการพิธีสงฆ์หรือแก้ไขเพิ่มเติมอันใด ได้แต่เปลี่ยนกำหนดให้ถูกชื่ออย่างเดียว คงอยู่ด้วยเป็นพิธีราคาถูกเพียง ๖ บาทเท่านั้น(ในสมัยรัชการที่ ๔)
จาก พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
