เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 36023 แบบเรียนภาษาไทยเมื่อวัยเยาว์
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 04 ก.ค. 14, 11:06

ใช่ที่นี่ไหมครับ
http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/tour/bansakha.htm

"บ้านสาขลา เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมคลองสาขลา ในตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ"
อยู่ตำบลนาเกลือด้วย แต่ไม่รู้ว่าทุกวันนี้เขายังทำนาเกลือกันอยู่หรือไม่ 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 04 ก.ค. 14, 11:09



"ตากล่ำ ทำนาเกลือ กะตาสง่า อยู่ที่สาขลา…"

ประโยคหัดอ่านง่าย ๆ จากแบบหัดอ่านหนังสือไทยเล่มปลาย คนมีอายุสักหน่อยอาจคุ้นตากับหนังสือเล่มนี้ และคงผ่านตาชื่อ "บ้านสาขลา" อยู่บ้าง แต่ในหนังสือเล่มดังกล่าวกลับไม่ได้ระบุว่าสถานที่แห่งนี้อยู่ที่ไหน บ้างอาจเข้าใจว่าไม่มีอยู่จริง หรือมี ก็คงอยู่ในหนังสือเท่านั้น

ทว่าแท้จริงแล้วหมู่บ้านนี้มีตัวตน และอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลในเขตตำบลแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ  สำหรับคำว่า "สาขลา" ชาวบ้านเชื่อว่าเพี้ยนมาจาก "สาวกล้า" อันเป็นคำเชิดชูความกล้าหาญของบรรพบุรุษชาวสาขลาซึ่งมีแต่สตรีและคนชราเข้าร่วมต้านทัพพม่าในคราวสงครามเก้าทัพ ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนได้รับชัยชนะที่สมรภูมิคลองชัยซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านสาขลา

นอกจากประวัติชื่อบ้านที่น่าสนใจและยังคงเป็นปริศนาน่าค้นหาแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีเสน่ห์ในเรื่องวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ยังเป็นภาพความทรงจำของคนรุ่นหลัง นั่นคือการทำนาข้าวและนาเกลือ แม้ปัจจุบันจะไม่พบเห็นแล้วก็ตาม

หากดูสภาพพื้นที่แถบนี้ ออกจะแปลกใจอยู่ไม่น้อยว่าแต่ก่อนชาวบ้านสาขลาทำนากันได้อย่างไร ด้วยพื้นที่ตั้งอยู่ประชิดติดทะเลและสภาพดินแข็งยากแก่การปักดำ หากกระนั้นชาวสาขลาก็ยังปลูกข้าวได้ปีละครั้ง  ข้อสงสัยนี้ได้รับความกระจ่างจากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในท้องที่ที่พาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของวัดสาขลา ด้วยที่นี่นอกจากเก็บโบราณวัตถุของวัดแล้วยังรวบรวมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินของชาวบ้านทั้งในอดีตและปัจจุบันมาจัดแสดงด้วย

อุปกรณ์ชิ้นหนึ่งดูแปลกตาสำหรับคนรุ่นปัจจุบัน เป็นไม้เนื้อแข็งเหลาแหลมลักษณะเหมือนลูกบวบเหลี่ยมมีด้ามจับ นั่นคือเครื่องมือสำคัญในการทำนาของบ้านสาขลาเลยทีเดียว คือใช้แทงลงดินก่อนนำต้นกล้าลงปักดำ คนบ้านสาขลาบอกว่าการทำนาที่นี่ต้องรอช่วงเวลาน้ำเหนือหลากมา เพราะจะมีน้ำจืดมากพอที่จะปลูกข้าวได้ และไม่ใช้ควายไถนา อาศัยเพียงคราดเท่านั้น  บริเวณผืนนาของหมู่บ้านคือด้านหลังของวัดสาขลา ขณะที่อีกฟากหนึ่งเป็นผืนนาเกลือ โดยชาวบ้านจะทำเกลือในช่วงหน้าแล้งเพราะเป็นช่วงที่น้ำจืดไหลลงมาน้อย ปริมาณน้ำเค็มมากและหนุนสูง สามารถชักน้ำเค็มจากคลองส่งน้ำ เช่นคลองตลาดและคลองแหลม เข้าสู่ "วังขังน้ำ" ได้

อุปกรณ์ที่ชาวบ้านใช้ทำนาเกลือประกอบด้วย "รั่ว" ลักษณะคล้ายพลั่วสี่เหลี่ยมทำจากไม้ และ "ไม้มือ" ลักษณะเป็นแผ่นไม้ครึ่งวงกลมสองอันไว้สำหรับตักเกลือ  "คานหาบเกลือ" เป็นอุปกรณ์สำหรับขนย้ายเกลือเข้ายุ้งเก็บเกลือ

สำหรับขั้นตอนทำเกลือนั้นจะคล้ายกันในพื้นที่อื่น ๆ โดยมีการแบ่งส่วนนาเกลือไว้คือ "วังขังน้ำ" มีไว้สำหรับกักน้ำใช้ทำนาเกลือ แล้วเมื่อจะใช้ก็ชักน้ำเข้าไปยัง "นาตาก" ซึ่งเป็นบริเวณที่ใช้สำหรับตากน้ำทะเลกับแสงแดด ให้ส่วนที่เป็นน้ำระเหยไปเพื่อให้ได้น้ำที่มีความเค็มเข้มข้น เมื่อเสร็จแล้วจึงถ่ายสู่ "นาเชื้อ" อันเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำเค็มเข้มข้นพอที่จะทำเป็นเกลือได้ หลังจากนั้นจึงถ่ายมายัง "นาปลง" ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายที่จะผลิตเป็นเกลือเม็ด

เมื่อไขน้ำเกลือมาสู่นาผืนสุดท้ายนี้แล้ว ต้องตากไว้ประมาณ ๓-๔ วัน แล้วจึงถ่ายกลับไปยังนาเชื้ออีกที ทำเช่นนี้กลับไปมาอีก ๓-๔ ครั้งจนเกลือเริ่มตกผลึกและมีปริมาณเพียงพอแล้วจึงไขน้ำออกแล้วค่อยแซะเกลือมากองไว้เป็นกอง ๆ อย่างที่เราเห็นเวลาขับรถผ่านไปแถบจังหวัดสมุทรสาคร

การทำนาเกลือและนาข้าวของบ้านสาขลาจึงอาศัยการหมุนเวียนของปริมาณน้ำเป็นหลัก หากน้ำจืดไหลลงมาเยอะก็จะทำนาข้าว เมื่อไรที่น้ำเค็มขึ้นมาก ผลักน้ำจืดถอยร่นไป ก็จะทำนาเกลือแทน วิธีการทำนาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวของชาวสาขลาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปเกลือราคาถูกลง ทำให้เกลือจากบ้านสาขลาไม่อาจแข่งขันกับที่อื่นได้ อาจเพราะพื้นที่ทำนามีอยู่น้อย และความไม่แน่นอนของผลผลิตทำให้ไม่อาจสู้แหล่งผลิตใหญ่อย่างทางสมุทรสาครได้ ประกอบกับการเลี้ยงกุ้งเริ่มแพร่หลายและได้ราคาดี ชาวบ้านจึงหันมาทำนากุ้งแทน  อีกทั้งการพังทลายของชายฝั่งทำให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านสาขลาเลิกทำนาข้าวอย่างถาวรมากว่า ๕๐ ปีแล้ว ส่วนนาเกลือก็ค่อย ๆ เลิกรากันไปจนหมดในที่สุด

"…น้ำทะเลแท้ ๆ ทำไมทำเกลือได้ คือ เกลือมีอยู่ในน้ำทะเล"

ประโยคครั้งอดีตในหนังสือเรียนหัดอ่านฯ เล่มเดิมยังคงอยู่ในตำราเรียนเพียงเท่านั้น เพราะเวลานี้เกลือได้หายไปจากบ้านสาขลาหมดสิ้นแล้ว

จาก นิตยสารสารคดี ฉบับที่ี ๓๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๕

บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 04 ก.ค. 14, 11:14

อ้างถึง
แบบเรียนคณิตศาสตร์ของขุนประสงค์จรรยา
เล่มนี้ รุ่นผมก็ไม่ได้ใช้ครับ แต่คุณพ่อเคยหามาให้ทำ จำได้ว่าทำเรื่อง บัญญัติไตรยางค์
รู้สึกว่า โจทย์ยากกว่าหนังสือคณิตศาสตร์ที่ใช้เรียนอีกครับ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 04 ก.ค. 14, 11:24

ส่วนแบบเรียนคณิตศาสตร์ของขุนประสงค์จรรยา (มั้ง)

มศ. 4/5 วิชา Reading อาจารย์สอน Rebecca ยังจำได้คำหนึ่งในเรื่องคือ (You are) rotten through and through พระเอกว่ารีเบคก้าหรืออะไรทำนองนี้

พอเรียนอุดมศึกษา ก็อ่าน Schaum's จำวิธี solve problems ไปทำข้อสอบ อิอิ (เป็นคู่มือเฉลยวิธีวิเคราะห์ปัญหา)
ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

ท่านอาจารย์ อนุญาตให้มีได้แต่แบบเรียนภาษาไทยหรือเจ้าคะ   ยิ้ม
ึุคุณ POJA  เรียนแบบเรียนอะไรคะ?
ชื่อกระทู้นี้คือแบบเรียนภาษาไทยค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 04 ก.ค. 14, 15:32

ตากล่ำกับตาสง่า เอาเกลือใส่เรือไปขายที่แควใหญ่
แควใหญ่อยู่ที่ไหนคะ   กาญจนบุรีหรือเปล่า
ถ้างั้นทำไมตากล่ำแกถึงเดินเรือไปไกลนัก    ขายใกล้ๆสมุทรปราการไม่ดีกว่าหรือ
บันทึกการเข้า
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 04 ก.ค. 14, 17:25

 ร้องไห้  ร้องไห้  ร้องไห้

โดนดุซ้อนสองครั้ง ไม่รู้เนื้อรู้ตัว   ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 04 ก.ค. 14, 18:06

อ้างถึง
ขอเปลี่ยนจากแบบเรียน มาเป็นคำพังเพยไทย

"ไม่รู้จักเสือ เอาเรือเข้ามาจอด "      
 

           ด้วยรู้จักทั้งสองเสือ  จึงจอดเรือเข้ามาหยอก            

               ก็เพราะรักดอก  จะบอกให้หนอ

ไปค้นเจอบทพิเศษ นอกหนังสือเรียนเรื่องหนูหล่อ เลยคัดมาให้อ่าน

" เมื่อหนูหล่อหายดีแล้ว    พ่อเขาพาไปดูเสือสีชมพูที่นาน้าหนอ  น้าหนอแกก็เล่าให้รู้ว่า เสือแกดุ  ได้มาใหม่ ๆ   ถ้าอยากจับเสือ ให้ถามลุงกุ๊กเสียก่อน   ว่าเสือชื่ออะไร  อยู่ที่ไหน    เมื่อรู้ดีแล้ว ค่อยทักทายเสือ      หนูหล่อเชื่อแก ก็ไปหาลุงกุ๊ก ว่าเสือชื่ออะไร เมื่อรู้แล้วก็เข้าไปถามเสือ  "

เสียดาย หน้ากระดาษขาดไปแค่นี้เองค่ะ   เลยไม่รู้จนแล้วจนรอดว่าเสือสีชมพูตัวดุ  ชื่อว่าอะไร

ป.ล. เสือสีชมพูมีตัวเดียว  สีเทาลายชมพูเป็นแมวค่ะ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 04 ก.ค. 14, 19:57

หนูหล่อกำลังเล่นน้ำอยู่ข้างแพที่สำเหร่ คิดถึงคำถามเรื่อง"แควใหญ่" ของแมวเทาลายชมพู จึงคิดว่าคำตอบน่าจะเป็นชื่อตำบลในจังหวัดนครสวรรค์ จากสาขลา สมุทรปราการสามารถล่องเรือขึ้นเหนือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแควใหญ่ นครสวรรค์ได้ไม่ยาก

ป.ล. หนูหล่อไปดูมาแล้ว ที่นาน้าหนอไม่มีเสือดอกมีแต่แมว



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 04 ก.ค. 14, 20:43

แกนั่งเรือไปขายไกลมากนะคะ   คุ้มค่าใช้จ่ายและเวลาหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 05 ก.ค. 14, 10:23

ตั้งข้อสังเกตว่า
สินค้าในแบบเรียนพวกนี้ 99% มาจากทรัพยากรธรรมชาติของไทย     มี 2 อย่างที่คนผลิตขึ้นมาคือผ้าไหม และหม้อ   เป็นงานแฮนด์เมดทั้งสองอย่าง    สินค้าอุตสาหกรรมไม่มีเลย 
บันทึกการเข้า
scarlet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 155

โกหกเมียตายไปตกนรก แต่พูดความจริงตายทันที เลือกเอา


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 05 ก.ค. 14, 19:08

ตั้งข้อสังเกตว่า
สินค้าในแบบเรียนพวกนี้ 99% มาจากทรัพยากรธรรมชาติของไทย     มี 2 อย่างที่คนผลิตขึ้นมาคือผ้าไหม และหม้อ   เป็นงานแฮนด์เมดทั้งสองอย่าง    สินค้าอุตสาหกรรมไม่มีเลย  

หลังจากสงครามโลกครั้งที่2 ประเทศสยามก็เปิดต้อนรับสิ่งที่เรียกว่าอุตสาหกรรม ปัจจัยการผลิตคือไฟฟ้า ประปา ฯลฯซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 มีการจัดหมวดหมู่แบ่งแยกประเภทอุตสาหกรรม ผ้าไหมและเครื่องปั้นดินเผาจัดอยู่ในประเภทอุตสาหกรรมในครอบครัวครับ ที่จัดประเภทเพราะจะต้องวางแผนพัฒนาส่งเสริม หรืออย่างน้อยต้องมีฐานข้อมูลไว้

อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ คนไทยเรานิยมเรียกกันว่าสินค้าหัตถกรรม หรือสินค้าพื้นเมือง เคยพบเรียกโดยใช้คำ produce ที่หมายถึงวัตถุสิ่งของ ไม่ใช่คำกริยาที่แปลว่าผลิต เข้าใจว่าคงต้องการหมายถึงสินค้าพื้นเมือง ไม่ใช้คำ product ซึ่งปกติใช้หมายถึงผลิตภัณฑ์จากโรงงานอุตสาหกรรม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 07 ก.ค. 14, 09:51

และแล้วการศึกษาวิชาภาษาไทยระดับชั้นประถม ก็มาถึงจุดเปลี่ยน กระเทือนไปทั้งประเทศ

ก่อนหน้ามานะ มานี ปิติและชูใจ     นักเรียนประถมเคยมีเพื่อนชื่อดช.ปัญญา และดญ.เรณู เรียนที่โรงเรียน
และพาขึ้นรถไฟไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วย




ดังตัวอย่างที่ "บ้านดงดำ"

หนังสือเรียนนั้น ชั้นแรกมันไม่เท่าไรมีหนังสือหัดอ่านแบบเรียนเร็วเล่ม ๑ เล่มเดียว ราคาเล่มละบาท พอจะหยิบยืมของเก่าบ้าง ซื้อใหม่บ้างถูไถกันไปได้ปีหนึ่ง ๆ

ต่อมาซี ยุ่งกันใหญ่ ชาวบ้านไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน !

ครูใหญ่สะบัดหัวเร่า ๆ เพราะทางกระทรวงศึกษาธิการสั่งพิมพ์หนังสือจากญี่ปุ่น เป็นแบบเรียนมาตรฐานพิมพ์สอดสีสวยงามพิลึก กระดาษอย่างดี ทัดเทียมตำราฝรั่งเชียวละ  ที่เขาเรียกกัน แบบเบสิค

อ่านเป็นคำ

อ่านเป็นตัว

อ่านเป็นประโยค

อ่านเป็นเรื่องโดยมีเด็กชายปัญญาเป็นพระเอก  เด็กหญิงเรณูเป็นนางเอก

นักวิชาการบอกว่าวิธีผสมอักษรแบบ  ก-อา-กา, มา-อา-มา ,กา-มา นั่นมันล้าสมัย ล้าหลังเขานัก บ้านเมืองของเราจึงตามประเทศอื่นเขาไม่ทันสักที

เด็ก ๆ มันก็ชอบหรอก เพราะมีรูปสวย ๆ ให้เปิดดูเล่น พูดคุยกันสนุกสนาน เพลิดเพลิน แต่พ่อแม่เด็กนะสิไม่สนุกด้วย  หนังสือเล็ก ๆ เล่มเดียวต้องใช้เงินถึง ๕ บาท

พอเปิดเทอม  ก็มีคำสั่งบังคับลงมาเลยว่าให้ใช้แบบเรียนเล่มใหม่ แบบเก่าที่มีตาดีมือแปเป็นพระเอกมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่เป็นอันตกอันดับไป   ชาวบ้านที่เคยสงบเสงี่ยมก็ออกมาพูดคุยกัน วงสนทนาชักจะมีเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ

บางคนก็จะเอาลูกออกจากโรงเรียน ไปทำนา เลี้ยงควาย ไม่ต้องเรียนหนังสือ เพราะเรียนไปก็ไม่มีบุญวาสนาได้เป็นเจ้าคนนายคนอยู่แล้ว  บางคนก็บ่นว่าเดี๋ยวเปลี่ยน ๆ แทนที่จะใช้ของพี่ได้บ้างก็ต้องซื้อใหม่ ของเก่ายังใช้อ่าน ใช้เรียนไปได้อีกหลายปี

ครูใหญ่ก็เข้าใจชาวบ้าน แต่ในฐานะครูใหญ่ที่ทำงานไปตามนโยบายของราชการก็ต้องพยายามหาทางทำความเข้าใจ  แกบอกว่า  โลกมันเจริญขึ้นทุกวัน  พวกเราก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปให้ทันโลก  แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมเชื่อง่าย ๆ กลับย้อนว่า มันเจริญขึ้นยังไง  มีแต่ถอยลง   เหมือนกับเพลงที่เขาร้องในวิทยุว่า  “สาละวันเตี้ยลง....เตี้ยลง...สาละวัน” ดูตัวอย่างใกล้ ๆ ก็ได้  บ้านดงดำเมื่อก่อนพอเดือนหก  ฝนฟ้าก็ตกได้ทำนาทำไร่  ข้าวเต็มยุ้งเต็มฉาง  เดี๋ยวนี้ฝนฟ้ามันหลบหายไปไหนหมด    นี่หรือคือความเจริญของครู

ถึงกระนั้น ครูใหญ่ก็ยังเดินหน้าตามนโยบายของกระทรวงต่อไป


จาก ตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่า ตอนที่ ๗ โดย พันพูมิ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 07 ก.ค. 14, 10:02

เด็กชายปัญญาเข้ามามีบทบาทได้ไม่ถึงเทอมก็เกิด “กบฏ” ขึ้นในวงการศึกษา  เกือบถึงขั้นเดินขบวนต่อต้านกันทีเดียว เพราะบรรดาครูบ้านป่าทั่วประเทศไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนหนังสือเรียนจาก ก-อา-กา มาเป็นแบบ เบสิค ไม่ยอมรับเด็กชายปัญญาพระเอกคนใหม่ ยังอาลัยอาวรณ์ตาดีมือแปพระเอกคนก่อนอยู่

แต่มันก็มีเหตุปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวโยง

มีจดหมายครูบ้านป่าตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์

เรียน  บรรณาธิการ

เราคือครูบ้านป่า บ้านดง ภูมิปัญญาน้อย อยู่บ้านนอก บ้านนามีปากก็เหมือนมีอย่างอื่น พูดไม่ออก พูดไม่ดัง จึงขอยืมหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ของท่านเป็นสื่อ ช่วยเรียนท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในทำเนียบให้รับทราบด้วย

ตามที่ได้เปลี่ยนแปลงแบบเรียนชั้น ป. ๑ เป็นแบบเบสิคนั้น พวกเราฟังเสียงครูและผู้ปกครองเด็กแล้ว ต่างไม่เห็นด้วยกันทั้งนั้น ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการแรก ราคาแพงมาก ผู้ปกครองเด็กส่วนมากยากจน ไม่มีเงินซื้อ เป็นที่เดือดร้อนทั่วไป เมื่อผู้ปกครองไม่ยอมซื้อ ภาระก็ตกหนักอยู่ที่ครู  ประการที่สอง ไม่สะดวกในการสอน และการอ่านเป็นคำ ๆ นั้นเหมาะกับเมืองฝรั่ง ไม่เหมาะกับเมืองไทย ภาษาไทยอยู่คนละตระกูลกับภาษาฝรั่ง เป็นภาษาคำโดด  เราสอนแบบผสมอักษรตามแบบเรียนเล่มเก่าก็ไม่เห็นเสียหายอะไร สอนให้คนอ่านออกเขียนได้เป็นผู้ใหญ่ ผู้โตมานักแล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องเปลี่ยนให้แพงเงิน ประการที่สาม การพัฒนาบ้านเมืองไม่ได้อยู่ตรงนี้หรอก จะอ่านกันอีท่าไหนไม่สำคัญขอให้มันอ่านออกก็แล้วกัน หรือว่าการสั่งพิมพ์หนังสือจากญี่ปุ่นกำไรงาม...”


นี่คือเสียงสะท้อนในยุคที่มีการปกครองที่ไร้รัฐธรรมนูญ มีจคหมายหลั่งไหลไปจากทุกมุมของประเทศ เป็นการแสดงออกที่เหลือจะอดกลั้น คนไม่เคยอดไม่รู้รสความหิว คนเคยเดินถนนคอนกรีตไม่รู้รสการลุยโคลน ยุงกรุงเทพฯกัดเจ็บ แต่ยุงบ้านป่ามีเชื้อไข้มาเลเรีย

ข่าวว่า ครูจับกลุ่มกันวิจารณ์ทุกแห่งหน ไม่สนจะมีข่าวลือต่าง ๆ นานาหาว่ากลุ่มครูบ้านป่า บ้านดงกำลังก่อการกบฏ ทำตัวเหมือน "ผีบ้า-ผีบุญ" สภากาแฟโต้กันครื้นเครง จากวงการครูเข้าวงชาวบ้าน ใคร ๆ ก็รู้จักกลุ่มครูบ้านนอกที่ต่อต้านแบบเรียนใหม่ในยุคเผด็จการครองเมือง

จาก ตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่า ตอนที่ ๙


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 07 ก.ค. 14, 10:30

ถัดจาก "ปัญญาเรณู" ก็มี "สุดาคาวี"  แต่งโดยนายอภัย จันทวิมล  และมานะธิดา แต่งโดยนางเบญจา แสงมะลิ

นายอภัย จันทวิมล อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา ได้กล่าวถึงความเป็นมาของแบบเรียน "สุดาคาวี" ไว้ว่า

" ... เมื่อเริ่มปฏิบัติงานตามโครงการปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาฉะเชิงเทราในปี ๒๔๙๔ มิสเตอร์ โธมัส วิลสัน หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญขององค์การศึกษาฯ สหประชาชาติ ซึ่งประจำอยู่ที่ฉะเชิงเทรา ได้ปรารภแก่ข้าพเจ้าว่า ในการสอนอ่านสำหรับเด็กเริ่มเรียนนั้น ควรมีหนังสือแบบสอนอ่านอย่างง่าย ๆ ที่สอนให้เด็กอ่านเป็นคำสักชุดหนึ่ง ทำนองหนังสือชุด Janet and John ซึ่งใช้ในประเทศนิวซีแลนด์ ข้าพเจ้าจึงได้พยายามถอดหนังสือชุดนั้นออกเป็นภาษาไทย โดยดัดแปลงจากต้นฉบับเดิมตามที่ข้าพเจ้าเห็นสมควร ในที่สุด ได้หนังสือเล่มเล็ก ๆ ๔ เล่ม ซึ่งข้าพเจ้าให้ชื่อว่า หนังสือชุด สุดากับคาวี

เล่ม ๑ ให้ชื่อว่า "มาดูอะไร"
เล่ม ๒ ให้ชื่อว่า "ไปเล่นด้วยกัน"
เล่ม ๓ ให้ชื่อว่า "ออกไปข้างนอก"
เล่ม ๔ ให้ชื่อว่า "ฉันออกจากบ้าน"

หนังสือชุดนี้ได้พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๙๔ จำนวนเล่มละ ๒,๐๐๐ ฉบับ สำหรับใช้ในราชการตามโครงการปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาฉะเชิงเทรา โดยโครงการข้อ ๔ ของประธานาธิบดีทรูแมน เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ให้ ในการนี้ มิสเตอร์ โธมัส วิลสัน ได้แจ้งแก่ข้าพเจ้าว่า ได้ติดต่อกับบริษัท Row Peterson ซึ่งเป็นเจ้าของต้นฉบับหนังสือชุด Janet and John แล้ว ทางบริษัทไม่ขัดข้องในการที่องค์การปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาฉะเชิงเทราจะพิมพ์หนังสือชุดนี้ขึ้นเพื่อใช้ในราชการ ..."


จาก คำนำหนังสือชุด สุดากับคาวี ฉบับพิมพ์ของโรงพิมพ์คุรุสภา ปี พ.ศ.๒๕๐๐


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 07 ก.ค. 14, 11:09

หนังสือคู่แฝด Janet and John และ สุดาคาวี  ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 20 คำสั่ง