เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 26854 เวนคืนวังสระปทุม แค่คิดก็ผิดแล้ว
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 01 ก.ค. 14, 19:15

ผมไม่ต้องการให้กระทู้นี้เป็นกระทู้การเมืองนะครับ แต่ก็ตัดสินใจเอาข้อมูลข้างล่างลงไว้แบบเต็มๆ เพราะผู้เขียนห้ามตัดทอนข้อความ แต่เอามาทั้งหมดท่านไม่ว่า

จากเว็บนี้ครับ

https://www.facebook.com/media/set/?set=a.249014745288560.1073742026.187529244770444&type=1
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 01 ก.ค. 14, 19:17

ไขปริศนา..ที่แท้รัฐบาลเผาไทย เวนคืนวังสระปทุมพระเทพทำทางด่วน
อัพเดทล่าสุดเมื่อ เมื่อวันอาทิตย์

วันที่ 27 มิ.ย.57 ไขปริศนา..ที่แท้รัฐบาลเผาไทยปูเน่า เวนคืนวังสระปทุมพระเทพฯ ทำทางด่วน

พลันที่ พล.ต.ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ ท่านใหม่ ผู้ซึ่งเป็นพระโอรสลำดับที่ 4 ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ กับหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา เผยแพร่ข้อความผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวร์ค ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงซื้อที่ดินแปลงเล็กๆ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงปลูกบ้าน โดยเป็นการใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการซื้อที่ดินแปลงนี้

ข้อความดังกล่าว ความว่า “ ผมได้รับทราบเรื่องจากผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระเทพฯ มาว่า ท่านทรงซื้อที่ดินแปลงเล็ก ในจังหวัดเชียงใหม่ และท่านทรงรับสั่งว่า จะปลูกบ้านหลังเล็ก ๆ , ขอย้ำนะครับ ปลูกบ้าน ท่านรับสั่งว่า ไม่ปลูกวัง เพราะต่อไปเขา ( เขา??? ) จะไล่ฉัน ไม่ให้อยู่วังแล้ว จึงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อเอง , เหตุที่สมเด็จพระเทพฯ ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดิน ท่านรับสั่งว่าเขาจะได้มายึดไม่ได้ ผมได้ฟังแล้วรู้สึกตีบตันในลำคอ ขอบตาร้อนผ่าว

สงสารท่านเหลือเกินแล้ว พระบิดาทรงงานหนักเพื่อชาติและประชาชนมาตลอด แต่สุดท้ายจะไม่มีอะไรเหลือ ผมในฐานะปวงชนชาวไทย ขอกล่าวคำสัตย์สาบาน ด้วยชีวิต ณ ที่นี้ว่า ผมจะไม่ยอมให้มัน ไอ้ อี ผู้ใด มากระทำต่อพระองค์เยี่ยงนั้นได้ สถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องธำรงอยู่คู่ประเทศไทย ตราบนานเท่านาน..ใครเล่าเหวยจะร่วมสู้กับกูบ้าง “..

ก็เกิดคำถามขึ้นในใจคนไทยทุกคน ว่าที่มาที่ไปเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่ ใครกลุ่มไหนกัน ที่กล้าอาจหาญกระทำการมิบังควรเช่นนี้ ก่อนจะมีคำเฉลยปริศนานี้ มาดูประวัติความเป็นมา “ วังสระสระปทุม “ ที่เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อนว่ามีความสำคัญต่ออารยธรรมประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างไร

วังสระปทุม ตั้งอยู่บริเวณ ถ.พระรามที่ 1 และถนนพญาไท กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยอาณาเขตทางด้านทิศเหนือ ติดคลองแสนแสบ ทิศตะวันออกติดคลองอรชร ริมวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ทิศใต้ติด ถ.พระรามที่ 1 และทิศตะวันตกติดถนนพญาไท ปัจจุบันอยู่กลางย่านเศรษฐกิจที่คึกคัก ในเขตปทุมวัน

สมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีพระราชดำริ จะพระราชทานที่ดินบริเวณถนนปทุมวัน หรือถนนพระรามที่ 1 ให้เป็นสถานที่สร้างวัง ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรสซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

แต่เนื่องจากในขณะนั้นพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา จึงยังไม่มีการสร้างพระตำหนักขึ้น ตราบกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) จึงได้พระราชทานสิทธิ์ในที่ดินให้เป็นของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ในเวลาต่อมา

หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จออกมาประทับภายนอก พระบรมมหาราชวัง พระองค์โปรดฯ ที่ดินบริเวณนี้มาก ถึงแม้ว่าในขณะนั้นบริเวณประทุมวัน ถือว่าเป็นที่ดินที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ รวมทั้งการคมนาคมก็ลำบากมาก

พระองค์ทรงเตรียมการปลูกพระตำหนัก เพื่อจะเสด็จมาประทับอยู่เป็นการถาวร โดยพระองค์ทรงคิดผังพระตำหนักเอง ทั้งเรื่องทิศทางการวางตำแหน่งของอาคาร เนื่องจากทรงมีความรู้เรื่องทิศทางลมและฤดูกาลเป็นอย่างดี ทรงใช้ก้านไม้ขีด หางพลูเรียงเป็นรูปร่างห้อง และให้หม่อมเจ้าจันทรนิภา เทวกุล เขียนร่างเอาไว้ และส่งให้สถาปนิกออกแบบถวายตามพระราชประสงค์

พระตำหนักใหญ่นี้จึงได้รับแสงแดดและมีการถ่ายเทอากาศได้ดี ห้องทุกห้องได้รับลมเสมอกัน ในระหว่างการก่อสร้างพระตำหนักนั้น พระองค์ได้เสด็จมาประทับ ณ พลับพลาไม้ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นที่ประทับชั่วคราวบ่อย ๆ เมื่อพระตำหนักสร้างเสร็จแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จเข้าประทับ ณ วังสระปทุมเป็นการถาวรตราบจนเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2498

บริเวณโดยรอบวังในสมัยนั้นเดิมเป็นที่สวน สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้ปลูกพืชผักหลายชนิด เช่น กล้วย มะม่วง ขนุน เป็นต้น โดยทรงนำผลผลิตต่าง ๆ ที่ได้นั้นสำหรับตั้งโต๊ะเสวย รวมทั้งพระราชทานผลผลิตทางการเกษตรเหล่านั้นไปยังวังเจ้านายต่าง ๆ ส่วนที่เหลือ เช่น ใบตอง เชือกกล้วย กล้วยสุก ได้นำออกจำหน่ายได้รายได้ปีหนึ่ง ๆ เป็นเงินหลายร้อยบาท โดยส่วนหนึ่งพระองค์ ทรงใช้สำหรับเลี้ยงดูข้าราชบริพารและทะนุบำรุงวังสระปทุม

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ทรงสำเร็จการศึกษากลับมายังประเทศไทยแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดให้สร้างพระตำหนักขึ้นอีกหลังเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ได้ประทับอยู่พระตำหนักนี้จนสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2472

วังสระปทุมยังคงใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เรื่อยมาจนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2538 หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับของ “ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “ จนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน พื้นที่ของวังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกเป็นพื้นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นที่สงบเงียบ ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่นานาชนิด ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ให้เช่าทำศูนย์การค้าห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เช่น สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน สำหรับพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพฯ นั้น ประกอบด้วยพระตำหนักและเรือนต่าง ๆ ดังนี้

พระตำหนักใหญ่เป็นตำหนัก 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ทาสีเหลืองทั้งองค์พระตำหนัก โดยมีลักษณะเด่นอยู่ที่ฝาผนังใกล้เพดานชั้นบนซึ่งเป็นปูนปั้นรูปดอกไม้ ตั้งอยู่เกือบกลางของวังสระปทุม สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระตำหนักเขียว เป็นพระตำหนักแรก ที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับภายในวังสระปทุม สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 พระองค์จึงได้เสด็จประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้ พระตำหนักเขียวตั้งอยู่บริเวณริมคลองแสนแสบ เป็นพระตำหนักก่ออิฐถือปูน ทาสีเขียว เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ เช่น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระมเหสีและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมาประทับเมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดียังทรงพระเยาว์

พระตำหนักใหม่ หรือ พระตำหนักสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์
หลังจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงสำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่วังสระปทุมเป็นการถาวร ดังนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้สร้างพระตำหนักแห่งนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากรซึ่งทรงเคยรู้จักเมื่อประทับอยู่ต่างประเทศเป็นสถาปนิก โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 รูปแบบของพระตำหนักมีลักษณะเป็นแบบอังกฤษ สร้างอย่างประณีตและอยู่สบาย

พิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ (พระยศขณะนั้น) และคุณสังวาลย์ ตะละภัฏ (พระยศขณะนั้น) จัดขึ้น ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานและพระราชทานน้ำสังข์ นอกจากนี้ ยังมีการจดทะเบียนเป็นหลักฐานตามแบบแผนของทางการราชสำนักด้วย

หลังจากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินี"

หลังจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จประทับ ณ วังสระปทุมแล้ว พระองค์ทรงระลึกถึงพระราชปรารภ แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชดำริว่าวังสระปทุมเป็นสถานที่สำคัญแห่งพระราชวงศ์และชาติ สมควรที่จะจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระองค์จึงทรงจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า" ขึ้นภายในวังสระปทุม

เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอย่างถูกต้อง และครบถ้วน โดยทรงใช้พระตำหนักใหญ่ เป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ โดยสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปในการเปิด “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551

ภายใน “พระตำหนักใหญ่” หรือ “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ได้จัดแสดงเป็นห้องต่างๆ ไว้เป็น 3 ช่วงเวลา ห้อง “ยุววัฒน์รัชกรณีย์” ภายในจัดแสดงอ่างสรงของในหลวง ที่ใช้สรงเมื่อทรงพระเยาว์ จดหมายลายพระหัตถ์ของพระบรมราชชนก จดหมายของสมเด็จย่า โทรเลขของสมเด็จพระพันวัสสา เป็นต้น ซึ่งจัดแสดงใน “ห้องพิธี” และ “ห้องรับแขก”

ห้องที่จัดแสดงในช่วงที่สอง “ราชประดิพัทธภิษิต” เป็นช่วงที่สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเสกสมรสและมีพระราชธิดาแล้วหนึ่งพระองค์ ทรงพาครอบครัวเสด็จฯ กลับจากประเทศอังกฤษและมาประทับอยู่ที่วังสระปทุมอีกวาระหนึ่ง การจัดสิ่งของเครื่องใช้ในห้องแสดงของพิพิธภัณฑ์ในช่วงนี้ ได้แก่ “ห้องเทา” และ “ห้องทรงพระอักษร”

ส่วนจัดแสดงในช่วงสุดท้าย “ราชกฤตย์กตัญญุตา” จัดแสดงใน “ห้องทรงพระสำราญ” “ห้องทรงนมัสการ” และ “ห้องพระบรรทม” เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกมีพระราชโอรสเพิ่มขึ้นอีก 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์ เสด็จกลับจากสหรัฐอเมริกาพร้อมครอบครัว

นอกจากนี้บริเวณ “เฉลียงพระตำหนักใหญ่ชั้นบน” ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดที่จะประทับตรงเฉลียงบนหน้าห้องพระบรรทม ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นห้องทรงนมัสการ เมื่อทรงตื่นบรรทมแล้วจะเสด็จออกมาประทับที่เฉลียงตลอดทั้งวัน และเสวยพระกระยาหาร ณ ที่นี่ด้วย ซึ่งบริเวณนี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างยิ่ง

เนื่องจากเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีอันเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ ทรงเป็นประธานในพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ทรงรับดอกไม้ธูปเทียนแพ และพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ และเจิมพระนลาฏแก่ทั้งสองพระองค์ ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ในทะเบียนสมรสและโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรลงนามในทะเบียนนั้น

ตรงข้ามวังสระปทุม เคยมีวังกลางทุ่ง หรือ วังวินเซอร์สยาม โดยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 กลุ่มคณะราษฎร ได้ตั้งใจทุบทำลายวังกลางทุ่งทิ้ง เพียงเพื่อต้องการสร้างสนามกีฬาที่มีชื่อตนเอง ทั้งที่ห่างออกไปอีกไม่มากเป็นทุ่งนา แต่หลวงศุภชลาศัย ไม่ยอม จงใจจะเอาวังนี้ให้ได้ สร้างความโทมนัส แก่พระพันวัสสาฯ ยิ่งนัก ด้วยวังนี้ถือเป็นตัวแทนของพระราชโอรสของพระองค์ที่สวรรณคตขณะยังทรงพระเยาว์ พระองค์ได้ยินเสียงทุบวังทุกวัน ทุบวังก็เหมือนทุบตี รังแกหัวใจของพระองค์ จะเห็นได้ว่าภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นต้นมา นักการเมืองมีแต่รังแกเชื้อพระวงศ์ตลอดมา

แต่แล้ว สิ่งที่ไม่คาดฝันในยุคนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก เมื่อการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในสมัยรัฐบาลเลือกตั้งที่แล้ว มีการอ้างว่า เคยมีกรณีพิพาทกันตั้งแต่สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยในสมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2539 ได้มีการจัดทํา ประชาพิจารณ์

เนื่องจากเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน ของรัฐกับประชาชนชุมชนบ้านครัว อันเนื่องมาจากโครงการทางด่วนแยกอุรุพงษ์ – ราชดำริ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยชาวชุมชนบ้านครัวได้ร่วมกับชุมชนเพื่อนบ้านใกล้เคียง ต่อสู้คัดค้านโครงการดังกล่าวมานาน ตั้งแต่สมัยที่ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับผิดชอบการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2536 โดยให้ตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางขึ้นชุดหนึ่ง ทําหน้าที่ดำเนินการไต่สวนหา ข้อเท็จจริง และให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประกาศชี้แจงแผนงาน เอกสารข้อเท็จจริง พร้อมทั้งขอมีส่วนร่วมในการไต่ถามและเสนอพยานหลักฐานและข้อมูลโต้แย้ง ตลอดจนให้การดำเนินการดังกล่าวกระทํา โดยเปิดเผยต่อสาธารณชน

หลังจากนั้น พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 243/2536 ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2536 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาประโยชน์ของถนนรวมและกระจายการจราจรต่อระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ขึ้น โดยคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย 27 คณะกรรมการได้สรุปผลส่ง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2536

โดยคณะกรรมการมีมติชี้ขาดว่า โครงการดังกล่าว “ ไม่เป็นประโยชน์กับการจราจร และไม่เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังสร้างผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนบ้านครัว โดยภาระที่เกิดจะตกแก่ชุมชนบ้านครัวมากจนไม่เป็นธรรม “

ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่ยอมรับความเห็นของคณะกรรมการ โดยอ้างว่าข้อมูลที่คณะกรรมการนำมาพิจารณาเป็นข้อมูลเก่า จากข้อขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลให้ไม่สามารถหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าวได้ ทําให้ต้องมีการรับ ฟังความคิดเห็นรอบที่ 2 คณะกรรมการได้ยืนยันในมติเดิมว่า “ควรยกเลิกโครงการ”

แต่คณะรัฐมนตรีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ กลับมีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 ให้ก่อสร้างต่อไปได้ โดยเลี่ยงลงไปในคลองเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ รัฐบาลจะมีมติแย้งกับความเห็นของคณะกรรมการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 สมัย นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการดำเนินการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการรับ ฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ มอบให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) ร่วมกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีการปรับปรุง มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539

ระเบียบฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังการแสดงความคิดเห็นในปัญหา สำคัญของชาติที่มีข้อโต้เถียงหลายฝ่าย สำหรับ เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจของรัฐในการดำเนินงาน อันมีผลกระทบต่อประชาชนและยังไม่มีข้อยุติ

และเรื่องดังกล่าวก็ชะลอเงียบหายไป 16 ปี ผ่านมาหลายรัฐบาล จนต่อมาจู่ๆ ไม่มีปี่มีขลุ่ย เมื่อประชาชนกำลังสาละวนกับความเดือดร้อนน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 รัฐบาลที่แล้วที่มีปูเน่าเป็นนายกฯ ให้ครม.ในคอลโทรล ออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพฯ จนมีผลวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา คือ เนื่องจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจเขตที่ดินเพื่อเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ ยังไม่แล้วเสร็จ

สมควรกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจและเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกา บทบัญญัติและ มาตราสำคัญ มีดังนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 ”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป
มาตรา 3 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับได้มีกำหนดสี่ปี
มาตรา 4 ที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสร้างทางพิเศษ สายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่
มาตรา 5 ให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตาม พระราชกฤษฎีกานี้
มาตรา 6 เขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ อยู่ในท้องที่เขตราชเทวีและเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีส่วนแคบที่สุดสามร้อยห้าสิบเมตร และส่วนกว้างที่สุดหกร้อยเมตร ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้
มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

โอ้..อะไรนี้รัฐบาลประชาธิปไตย อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แอบงุบงิบออกกฎหมายเวนคืนที่ดิน ไม่เว้นแม้แต่วังสระปทุม ของสมเด็จพระเทพฯ เป็นที่ดินพระราชทานพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) , วังที่เคยประกอบพิธีทางประวัติศาสตร์ เช่น พิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ (พระยศขณะนั้น) และคุณสังวาลย์ ตะละภัฏ (พระยศขณะนั้น) เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463

วังที่เคยพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระยศขณะนั้น) และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระยศขณะนั้น) ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 โดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นองค์ประธาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ในทะเบียนสมรส และโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรลงนามในทะเบียนนั้น

เป็นที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ในราชวงศ์จักรี และปัจจุบันยังเป็นที่ตั้ง “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา อีกด้วย

นี่ยังไม่นับประวัติศาสตร์ทางความทรงจำ ที่ทรงคุณค่าต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีนาถ และเชื้อพระวงศ์อีกมากมาย ที่มิอาจพระเมินคุณค่าได้ ที่พระองค์ทรงตรากตรำพระวรกายมาตลอด เพื่ออุทิศทรงงานให้กับราษฎร์ของพระองค์กว่า 64 ปี

จู่ๆ รัฐบาลเผาไทย ออกกฎหมาย พรก.ฉบับเดียว เพื่อเวณคืนวังสระปทุมเก่าแก่ และสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนอีกจำนวนมาก เพียงแค่เอาไปสร้างทางด่วนให้รถวิ่ง ให้กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ดำเนินการ เป็นการรังแกเบื้องสูงที่ทรงงานหนักเพื่อราษฏรมาทั้งชีวิต

แม้จะเปลี่ยนแนวทางด่วน หรือเขตเวณคืนก็ยังมิบังควรเลย และจริงๆ ไม่ควรเฉียดใกล้แต่แรกแล้วด้วยซ้ำ แล้วรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากเลือกตั้งจากประชาชน กระทำมิบังควรกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินแบบนี้ มันดีตรงไหน ? ไม่ว่าผู้เกี่ยวข้อง จะออกมาพูดผ่านสื่ออย่างไรก็ไม่น่าเชื่อถือ ตราบใดที่ พรก.เวนคืนนี้ยังไม่ประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษา และมีแผนที่แนบท้าย พรก.ค้ำอยู่แบบนี้

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ตรวจสอบแนวเขตทางพิเศษตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่แล้ว ปรากฏว่า “ที่ดินบริเวณที่เป็นที่ตั้งของวังสระปทุมอยู่ในแนวเขตพระรากฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน “ ในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554

และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยัง “รักษาอำนาจสิทธิ์การเวนคืนเรื่องดังกล่าวอยู่” ตาม พรก.เวนคืนนี้ การอ้างว่ายกเลิกโครงการไม่ได้เพราะเกรงเอกชน BECL ฟ้องเป็นเรื่องที่แถ เพราะรัฐบาลเลือกตั้งสมัยหน้า ก็อาจจะปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาอีก ถ้าจะให้เรื่องนี้จบมีทางเดียวคือต้องยกเลิกโครงการ เพราะไม่มีความคุ้มค่า ไม่แก้ปัญหาจราจร และชาวบ้านคัดค้านมาก

เสธ เผอิญนึกขึ้นมาได้ว่า มีบุคคลสำคัญของประเทศคนหนึ่ง โดดประชุมสภาช่วงบ่าย ต้นเดือน ก.พ. 2555 แอบไปราชการลับ ว.5 ชั้น 7 ห้องสวีท หลังประกาศพระราชกฤษฎีกาเวนคืนนี้ เพราะทางด่วนที่จะก่อสร้างดังกล่าว เอื้อประโยชน์ต่อที่ดิน 2 แปลงของโครงการคอนโด ชื่อ หนึ่งไทยแท้ ซึ่งบริหารงาน โดยบริษัท บวกพร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งเป็น บริษัทลูก ของเครือหมื่นสิริ

แถมแปลนทางด่วนยังกำหนดจุดทางขึ้นลง ตรงที่ดินนั้นพอดีเป๊ะ !! ซึ่งหากโครงการทางด่วนนี้สำเร็จ จะทำให้ที่ดิน 2 แปลง ของโครงการคอนโดนี้มีผลประโยชน์มูลค่ามหาศาล..

@ เสธ น้ำเงิน3
https://www.facebook.com/topsecretthai

หมายเหตุ โปรดงดโพสลิ้งใดๆ ทุกชนิด / บทความจากแหล่งอื่นที่ทำให้เกิดความสับสนในเนื้อหากับผู้อ่าน / ออกความเห็นในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทความตอนนี้ / โพสคำหยาบและภาพที่เกิดความแตกแยก / ให้ร้าย คสช./ นำข่าวลือจากที่อื่นมาโพส ฯลฯ ผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกพิจารณาบล็อคเข้าเพจ

บันทึกการเข้า
พนักงานชาวที่
อสุรผัด
*
ตอบ: 14


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 01 ก.ค. 14, 21:05

แค่จะชี้ให้เห็นว่าเจ้านายท่านคงไม่โปรดเท่าไหร่ที่จะเว้นวังสระปทุมแล้วปล่อยชุมชน ชาวบ้านรอบๆวังได้รับความเดือดร้อน เพราะชุมชนรอบๆวังก็คือเพื่อนบ้านกับพระองค์ท่าน คือแนวกันชนเมื่อมีเหตุการณ์ที่จะกระทบกับวัง จะวังสระปทุม หรือบ้านที่เชียงใหม่พระองค์ท่านก็คิดเหมือนกัน ถ้าประชาชนต้องเดือดร้อนท่านก็พร้อมที่จะไปโดยไม่ใช้อภิสิทธื์ให้เกิดข้อครหา ส่วนคำที่ว่า "เขาจะไล่" ก็ตีความกันไปตามความคิดความเชื่อของแต่ละบุคคลว่าเขาที่ว่าคือใครโดยที่ก็ไม่มีใครรู้ว่าคือใคร
บันทึกการเข้า
พนักงานชาวที่
อสุรผัด
*
ตอบ: 14


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 01 ก.ค. 14, 21:13

ผมก็ข้าราชบริพารในวังสระปทุมคนหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบเหมือนกัน แล้วก็คงเป็นพวกหัวหงอก หัวดำ หัวสั่น หัวคลอน ที่ท่านจุลเจิมพูดถึงด้วยกระมัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 01 ก.ค. 14, 21:34

ในอินเทอร์เน็ต เราไม่ทราบว่าแต่ละคนเป็นใคร  เพราะทุกคนใช้นามแฝง   ดังนั้นถ้าจะบอกว่าตัวเองเป็นใครทำงานอะไรที่ไหนก็ได้ทั้งสิ้น  เพราะตรวจสอบกันยาก หรือบางคนก็ตรวจสอบไม่ได้เลย

ดิฉันมีเพื่อนเป็นข้าราชบริพารหลายคนด้วยกัน   หน้าที่อย่างหนึ่งที่ทุกคนรู้คือปิดปากให้สนิท   ไม่นำเจ้านายมาเอ่ยอ้างว่าท่านโปรดอย่างนั้นหรือไม่โปรดอย่างนี้  คิดอย่างนั้นไม่คิดอย่างนี้   เพราะถึงไม่มีเจตนา    ก็อาจจะก่อความเสียหายได้หากว่ามีผู้ถ่ายทอดต่อๆกันไป
อยากจะให้คุณพนักงานชาวที่โปรดนึกถึงข้อนี้ด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 01 ก.ค. 14, 22:10

ผมพยายามหลีกเลี่ยงที่จะคาดเดาในเรื่องที่ไม่ได้ฟังกับหูรู้กับตาตนเอง ทั้งที่ซาบซึ้งใจอย่างยิ่งที่เห็นว่า พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นลงพระปรมาภิไธยลงมา โดยไม่มีข่าวว่าทรงโต้แย้ง รวมทั้งน้ำพระทัยของสมเด็จพระเทพรัตน ที่ทรงยินดีจะแบกทุกข์นั้นไว้เอง ไม่ปัดไปที่ราษฎร ผมสำนึกในพระเมตตาธรรมของทั้งสองพระองค์อย่างยิ่งยวด

แต่ผมไม่เห็นด้วยที่คุณพนักงานชาวที่จะมาอ้างอะไรอย่างที่เขียนมา ให้เป็นหน้าที่ของท่านราชเลขาธิการท่านใดท่านหนึ่ง หากจะมีแถลงการณ์ใดๆในเรื่องนี้ออกมาจะดีกว่า
แต่ในเรื่องตามประเด็นของกระทู้นี้ ผมไม่เห็นด้วยในหลักการครับ

แน่นอน การสร้างถนนจะต้องมีคนกรุงเทพจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องเสียสละส่วนตนเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แต่มีที่ไหนในโลกที่เขาตะบันจะสร้างแต่ความเจริญโดยทำลายมรดกวัฒนธรรมของชาติหรืออาคารสถานที่บางประเภททิ้ง ผู้ว่าการการทางพิเศษก็พูดเอง ว่าก่อสร้างทางพิเศษทุกโครงการ มีหลักการหลีกเลี่ยงสถานที่สำคัญ เช่น พระราชวัง วัด โรงเรียน โรงพยาบาล โบราณสถาน เป็นต้น หลีกแล้วก็ต้องโดนอาคารที่ด้อยค่ากว่าหรือบ้านเรือนราษฎรเป็นธรรมดา

วังสระปทุม เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินอันเป็นที่รักของปวงชนยังประทับอยู่ วัดสระปทุม เป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ามัสยิดบ้านครัวที่รัฐบาลก่อนยอมเลี่ยงให้ มันจำเป็นอย่างไรเล่าที่มาทำแผนที่ยึกยักจะเวนคืนเอาที่ดินจำเพาะส่วนนั้น ไปทำด่านขึ้นลงทางด่วน ถ้ามันไม่อยู่ตรงนั้น ขยับออกไปสักร้อยสองร้อยเมตรจะเป็นอะไรหนักหนา หรือว่าทำตรงนั้นแล้วย่านนั้นถนนนั้นจะโล่ง รถราจะวื่งกันได้ปร๋อ
ถ้าหากเรื่องที่เขาโวยกันอยู่นี้ไม่เป็นความจริง เพราะแนวเส้นทางอยู่ฝั่งตรงข้ามวังสระปทุม คนละฝั่งคลองดังคำแถลงของท่านผู้ว่า ก็แก้แผนที่เวนคืนเสียสิครับ อย่ามาพูดอย่างทำอย่าง

หวังว่าคุณพนักงานชาวที่จะเข้าใจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 01 ก.ค. 14, 22:35

ส่วนคำที่ว่า "เขาจะไล่" ก็ตีความกันไปตามความคิดความเชื่อของแต่ละบุคคลว่าเขาที่ว่าคือใครโดยที่ก็ไม่มีใครรู้ว่าคือใคร

อย่างน้อยในกระทู้นี้  ก็รู้ว่ามี 1 รายแล้วละค่ะ
บันทึกการเข้า
scarlet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 155

โกหกเมียตายไปตกนรก แต่พูดความจริงตายทันที เลือกเอา


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 01 ก.ค. 14, 22:52

แค่จะชี้ให้เห็นว่าเจ้านายท่านคงไม่โปรดเท่าไหร่ที่จะเว้นวังสระปทุมแล้วปล่อยชุมชน ชาวบ้านรอบๆวังได้รับความเดือดร้อน เพราะชุมชนรอบๆวังก็คือเพื่อนบ้านกับพระองค์ท่าน คือแนวกันชนเมื่อมีเหตุการณ์ที่จะกระทบกับวัง จะวังสระปทุม หรือบ้านที่เชียงใหม่พระองค์ท่านก็คิดเหมือนกัน ถ้าประชาชนต้องเดือดร้อนท่านก็พร้อมที่จะไปโดยไม่ใช้อภิสิทธื์ให้เกิดข้อครหา ส่วนคำที่ว่า "เขาจะไล่" ก็ตีความกันไปตามความคิดความเชื่อของแต่ละบุคคลว่าเขาที่ว่าคือใครโดยที่ก็ไม่มีใครรู้ว่าคือใคร

สมเด็จพระเทพฯท่านจะทรงคิดอย่างพิมพ์มาอย่างนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ดูเหมือนว่าคุณพนักงานชาวที่ทราบว่าท่านคิดอะไร? ที่ไหน? เป็นเช่นนั้นหรือเปล่าครับ?

สนทนากัน ย่อมมีสิทธิเสนอความคิดเห็นครับ แต่ถ้ามีการกล่าวอ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถึงบุคคลอื่น ก็ควรมีหลักฐาน ไม่เช่นนั้น ถ้าเผยแพร่ต่อไปหรือมีผู้อื่นนำไปใช้ เรื่องจะยุ่งครับ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 01 ก.ค. 14, 23:46

ฮิฮิ กระทู้กำลังร้อนแรง ต้องเพิ่มความร้อนเข้าไปอีกหน่อย(หรือเปล่า)


ขอออกตัวก่อน ว่าถ้ามีการจัดเรียงลำดับคนเกลียดทักษิณ ดูถูกยิ่งลักษณ์ ผมเข้าอันดับหนึ่งด้วยแน่นอน ทุกวันนี้แค่เห็นหน้าคนในตระกูลนี้ เท้าก็กระตุกแล้ว
ความเกลียดที่ผมมีนั้น เผื่อแผ่ไปถึงคนรอบข้าง เช่น ส.ส. พรรคเดียวกัน รัฐมนตรีคนนอกคนใน ข้าราชการ พ่อค้า ญาติโกโหติกา ฯลฯ  ผมถือว่าพวกนี้คนเลวหมด พายเรือให้โจร
หรือแม้แต่ที่ได้รับความนิยม อย่างรัฐมนตรีสร้างภาพ ดีกรีสุดหรู จะมานั่งรถเมล์รถไฟโชว์ คนแบบนี้มาหลอกผมให้ชื่นชมไม่ได้หรอก
นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ผมเห็นแต่ที่มีแต่ข้อเสีย ทำลายชาติบ้านเมืองในระยะยาวทั้งนั้น


แต่แม้จะรังเกียจมากแค่ไหน ก็ไม่ได้แปลว่าผมจะต้องเชื่ออีกฝั่งด้วยเช่นกัน และมองว่าทุกอย่างที่รัฐบาลที่แล้วทำ เป็นเรื่องเลวๆ ล้วนทั้งหมด แม้ใจจะคิดว่าส่วนใหญ่ใช่
อย่างเรื่องการเวนคืนนี้เช่นกัน แม้ผู้ออกมาให้ข่าวจะเป็นเชื้อพระวงศ์ระดับหม่อมเจ้า แต่ผมก็ยังสงสัยต่อเจตนาและข้อมูลที่ท่านว่าด้วยเช่นกัน


ผมไม่ทราบว่าท่านจุลเจิมมีความเกี่ยวพันกับข้าราชบริพารของสมเด็จพระเทพมากแค่ไหน หรือสนิทสนมกับทางวังสระปทุมขนาดไหน เป็นวงในหรือเปล่า
สิ่งที่ท่านรับรู้มา รู้มาจากใคร จริงแค่ไหน  คำกล่าวที่ท่านอ้างรับสั่งสมเด็จพระเทพฯ จริงหรือไม่เราไม่มีทางรู้
แต่การที่ท่านมาอ้างเรื่องนี้ ผมมองว่าไม่เหมาะสม เพราะสมเด็จพระเทพฯท่านไม่อยู่ในสถานะจะออกมาตอบรับหรือปฏิเสธได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์อย่างปัจจุบัน
ถ้าท่านจุลเจิมหวังดีต่อสมเด็จพระเทพฯ จริง ด้วยสถานะหม่อมเจ้าของท่าน ก็สามารถออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ได้โดยไม่ต้องอ้างรับสั่งแม้แต่คำเดียวด้วยซ้ำ
แค่บอกว่าวังสระปทุม อยู่ในพื้นที่ที่จะต้องเวนคืน ท่านเป็นห่วงว่าปัจจุบันสมเด็จพระเทพฯทรงพำนักอยู่ที่นี่ ท่านวิตกว่าการเวนคืนนี้อาจสร้างความลำบากแก่สมเด็จพระเทพฯได้
การทำแบบนี้ จะง่ายกว่า ดูเป็นผู้ใหญ่กว่า และไม่กระเทือนเบื้องพระยุคลบาทด้วย    ถ้าผมสงสัยคุณพนักงาน ผมก็สงสัยท่านจุลเจิมด้วยเช่นกัน


ยิ่งอ่านจากเสธน้ำเงิน ผมก็ต้องบอกอีกว่าแม้ผมจะเกลียดรัฐบาลที่แล้วมากเพียงใด ผมก็ยิ่งจะต้องใช้สติในการรับข้อมูลตรงข้ามด้วยเช่นกัน
ผมเชื่อว่าถ้าจะไม่หลงเป็นเหยื่อการปลุกปั่น ไม่ว่าจากฝ่ายไหน เราต้องตั้งคำถามเยอะๆ  เพราะทุกวันนี้ มีข้อมูลลวง เรื่องเดียวกันบอกไม่หมดเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองเต็มไปหมด
ถ้าเป็นข้อมูลจาก TDRI แบบนี้ผมจะให้น้ำหนักมากและเชื่อง่ายหน่อย แต่จากเสธน้ำเงินนี่ ต้องฟังหูไว้หูเช่นกันครับ


การอ้างว่าทางขึ้นลงทางด่วนตรงกับที่ดินของนักพัฒนาที่ดินบางเจ้า เราไม่รู้และไม่มีข้อพิสูจน์ว่าจริงไหม ยังไม่เคยเห็นแผนที่การสร้างเลยว่าสรา้งจากตรงไหน ขึ้นลงตรงไหนแน่ มีแต่คำกล่าวอ้าง
รวมถึงพระราชกฤษฏิกานี้ ตกลงเป็นของใหม่ที่รัฐบาลที่แล้วเพิ่งจะออก เพื่อต้องการเวนคืนที่ดินจริง และมีผลประโยชน์ทับซ้อนจริง
หรือเป็นแค่การต่ออายุกระราชกฤษฏีกาตามวาระ เพื่อซื้อเวลา และซุกเรื่องไว้ใต้พรมต่อไป ตามแบบไทยๆ ที่เราทำกันเสมอมาเท่านั้น


ถ้าเป็นแบบแรก เราก็ควรออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ผมออกหน้าต้านด้วยแน่ แต่ถ้าเป็นแบบที่สอง เราต้องให้ความเป็นธรรมแม้แต่กับคนที่เราเกลียดที่สุดด้วย
ส่วนที่ท่านอาจารย์นวรัตนเห็นว่าควรจะเจรจา ยกเลิกการเวนคืนตรงนั้นซะ ถ้าทำได้ไม่มีค่าปรับก้อนโต ผมเห็นด้วยเต็มที่ครับ  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
พนักงานชาวที่
อสุรผัด
*
ตอบ: 14


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 02 ก.ค. 14, 06:21

รับทราบและเคารพทุกความคิดเห็นและคำตักเตือนของทุกท่านครับ ขอบพระคุณที่กรุณาชี้แนะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 02 ก.ค. 14, 07:52

ที่คุณประกอบว่ามานั้นชอบแล้วที่"ฟังหูไว้หู ดูตาไว้ตา" ทั้งๆที่ผมเอาข้อมูลมาเปิดหูเปิดตาแบบกระหน่ำให้

มีนิ๊ดเดียวจริงๆ ตอนท้ายที่ว่า "ยกเลิกการเวนคืนตรงนั้นซะ ถ้าทำได้ไม่มีค่าปรับก้อนโต ผมเห็นด้วยเต็มที่ครับ"
ถ้าบอกว่า ยกเลิกการเวนคืนตรงนั้นซะ มันจะปรับก็ปรับไป ผมเห็นด้วยเต็มที่ครับ อย่างนี้ผมให้คะแนนเต็ม

จะบอกคุณประกอบว่า กรณีย์อย่างนี้ถ้าถึงศาล ศาลท่านจะพิจารณาก่อนว่าโจทก์ผู้ฟ้องเสียหายจริงหรือไม่ และเสียหายเท่าไหร่ คดีนี้จำเลยต่อสู้ได้สบายมากโดยอ้างถึงเหตุผลของความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนตำแหน่งขึ้นลง เพราะขัดกับกฏหมาย(ที่นึกออกก็พ.ร.บ.โบราณสถานหนึ่งละ และอาจจะมีพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.ผังเมืองด้วย) การเปลี่ยนพื้นที่ก็ไม่ได้ทำให้โจกท์เสียหาย เพราะยังไม่ได้มีการส่งมอบและโจกท์ก็ยังไม่ได้ลงทุนทำสิ่งก่อสร้างใดๆซักกะบาทเดียว อย่างนี้คุณประกอบคิดว่าศาลท่านจะให้จำเลยชดเชยค่าเสียหายให้โจกท์ไหมครับ ถ้าให้จะให้กี่สลึง

ผมพยายามจะหาแนวถนนที่เป็นการออกแบบครั้งสุดท้าย ยังหาไม่ได้ครับ ถ้าได้ก็จะเอามาวิจารณ์กันอีกให้ทุกท่าน"ฟังหูไว้หู ดูตาไว้ตา"
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 02 ก.ค. 14, 10:28

ผมคิดว่าพระราชวงศ์ของเราทุกพระองค์ ทรงมีความคิดที่ประเสริฐสุด คือไม่ประสงค์ที่จะใช้สถานะความเป็นเจ้า แล้วผลักภาระไปให้ประชาชน อันนี้เป็นความเสียสละของท่าน แต่ประเด็นของผมคือ ทำไมจึงต้องไปบีบให้ท่านต้องเสียสละด้วยละครับ มีความจำเป็นอย่างไรถึงจะต้องยึดวังท่าน เพื่อให้ท่านแสดงความเสียสละ?
 
โอเคครับ ผมก็ทราบดีว่า การพัฒนาประเทศบางครั้งต้องมีการเสียสละ แต่ถ้าจะอ้างเช่นนั้น การทางฯ ก็ต้องแสดงให้ได้ว่า การมีทางด่วนตรงจุดนี้ จะเป็นประโยชน์มาก คุ้มค่าที่จะเอาวัดและวังไปแลกมา เอาข้อมูลมากางบนตาชั่ง ชั่งน้ำหนักกัน อีกด้านเป็นวัดและวังที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แล้วอีกฝั่งหนึ่งของตาชั่งหละคืออะไร? ผมยังมองไม่เห็นว่า จะมีอะไรที่มีน้ำหนักมากพอที่จะให้ยึดวัดและวังได้ ถ้าเราเสียวังสระปทุมไป แล้วมีทางด้วนเกิดขึ้นแทน ณ ที่ตรงนั้น แล้วการจราจรในกรุงเทพจะดีขึ้นอย่างนั้นหรือครับ  

นอกจากนี้ ผมยังเห็นว่านโยบายด้านการคมนาคมของบ้านเราเปลี่ยนไปแล้ว สมัยเมื่อ 20 ปีก่อน เรามีแนวคิดว่า การแก้ไขปัญหารถติด คือการสร้างถนนเพิ่มให้มาก ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าผิด ทำอย่างไรถนนก็ไม่พอกับการเพิ่มขึ้นของรถ ต้องแก้โดยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน แล้วรณรงค์ให้คนเลิกใช้รถแทน ก็ในเมื่อในละแวกนั้นปัจจุบัน มีสถานีรถไฟฟ้าราชเทวี และสถานีสยามแล้ว ยังจะต้องมีทางลงทางด่วนอีกหรือครับ (อ่อ เรื่องรถไฟฟ้านี่ก็อีก ถ้าสมมุติว่า ตอนนี้อยากจะทำทางด่วนลงตรงนั้นจริงๆ ปัจจุบันจะยังทำได้หรือครับ? ก็มันมีเส้นทางรถไฟฟ้าขวางอยู่ตั้ง 2 ด้านไปแล้ว ต้องรื้อรางรถไฟฟ้าด้วยไหมครับ)
 
ผมถึงได้เห็นว่า ที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไรก็ช่าง มาถึงวันนี้ โครงการนี้น่าจะทบทวนได้แล้ว ถ้าปรากฏว่า ไม่มีความจำเป็นแล้ว ก็ยกเลิกไปเสีย หากยกเลิกไม่ได้ เพราะติดขัดที่ไหนอย่างไร ก็ชี้แจงมา (ไม่ต้องมาชี้แจงกันในบอร์ดนะครับ ผมหมายถึง ชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี หรือต่อหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณา) แล้วช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางแก้ไข ถ้าติดขัดเรื่องข้อสัญญา ก็เชิญคู่สัญญาอีกฝ่ายเขามาร่วมแก้ปัญหาด้วยเลย เพราะผมคาดว่า ฝ่ายคู่สัญญาเขาก็ไม่ประสงค์จะทำตามสัญญาแล้วเหมือนกันแหละ เพราะค่าจ้างตามสัญญาที่ทำไว้เมื่อครั้งกระโน้น มาถึงวันนี้ ราคานั้นทำไม่ได้แล้ว (สมัยนั้น คิดค่าแรงวันละ 300 ป่ะหละ) ถ้าจะบังคับให้เขาทำต่อ เขาก็เจ๊งเหมือนกันนั่นแหละ รับประกันทิ้งงานหนีแหงๆ ก็ในเมื่อวันนี้ ท่านก็ยังไม่ได้ลงทุนทำอะไร ถ้าหยุดเสียวันนี้ ก็ไม่ต้องเจ๊ง อย่างนี้ ไม่ Win Win Win กันทุกฝ่ายหรือครับ (ประเทศไทยยังคงมีวัด+วัง ประชาชนสบายใจ การทางฯที่ลุกขึ้นมาขอยกเลิกสัญญาเองก็ได้หน้า เอกชนคู่สัญญาก็ไม่เจ๊ง)
    
ผมคิดว่า ปัญหานี้สามารถยุติลงได้ครับ หากหยิบยกขึ้นมาทำกันจริงๆ  

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 02 ก.ค. 14, 11:16

อ้างถึง
ผมถึงได้เห็นว่า ที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไรก็ช่าง มาถึงวันนี้ โครงการนี้น่าจะทบทวนได้แล้ว ถ้าปรากฏว่า ไม่มีความจำเป็นแล้ว ก็ยกเลิกไปเสีย หากยกเลิกไม่ได้ เพราะติดขัดที่ไหนอย่างไร ก็ชี้แจงมา (ไม่ต้องมาชี้แจงกันในบอร์ดนะครับ ผมหมายถึง ชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี หรือต่อหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณา) แล้วช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางแก้ไข ถ้าติดขัดเรื่องข้อสัญญา ก็เชิญคู่สัญญาอีกฝ่ายเขามาร่วมแก้ปัญหาด้วยเลย เพราะผมคาดว่า ฝ่ายคู่สัญญาเขาก็ไม่ประสงค์จะทำตามสัญญาแล้วเหมือนกันแหละ เพราะค่าจ้างตามสัญญาที่ทำไว้เมื่อครั้งกระโน้น มาถึงวันนี้ ราคานั้นทำไม่ได้แล้ว (สมัยนั้น คิดค่าแรงวันละ 300 ป่ะหละ) ถ้าจะบังคับให้เขาทำต่อ เขาก็เจ๊งเหมือนกันนั่นแหละ รับประกันทิ้งงานหนีแหงๆ ก็ในเมื่อวันนี้ ท่านก็ยังไม่ได้ลงทุนทำอะไร ถ้าหยุดเสียวันนี้ ก็ไม่ต้องเจ๊ง อย่างนี้ ไม่ Win Win Win กันทุกฝ่ายหรือครับ (ประเทศไทยยังคงมีวัด+วัง ประชาชนสบายใจ การทางฯที่ลุกขึ้นมาขอยกเลิกสัญญาเองก็ได้หน้า เอกชนคู่สัญญาก็ไม่เจ๊ง)
    
ผมคิดว่า ปัญหานี้สามารถยุติลงได้ครับ หากหยิบยกขึ้นมาทำกันจริงๆ  

ใจความนี้เป็นไปได้มากที่สุด

เรามาวิเคราะห์พร้อมๆกัน ดูแผนที่อีกทีครับ เส้นยึกยักนี้ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะวังและวัดที่ผมกล่าว แต่เป็นแผนที่ดั้งเดิมที่จุดระเบิดการลุกฮือครั้งใหญ่ของชุมชนมุสลิมเก่าแก่ ที่เราเรียกว่าพวกอาสาจาม ที่ยกครัวเรือนจากเขมรตั้งแต่สงครามอานัมสยามยุทธ มาปักถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 02 ก.ค. 14, 11:25

ผมไม่แน่ใจว่าที่การทางกำหนดพื้นที่ไว่ใหญ่โต สำหรับทางขึ้นลงทางด่วนไปเชื่อมกับถนนราชดำรินั้น เพื่อความคล่องตัวในการ"สับขาหลอก"ประชาชนหรือเปล่า แต่ไม่ว่าจะสับไปทางไหนก็เจอการต่อด้านอย่างยอมเป็นยอมตาย

ดูอดีตก่อน นี่สับไปทางเหนือของคลองแสนแสบ ก็โดนแข้งสวนออกมา

https://www.facebook.com/media/set/?set=a.324399101002873.72723.157215527721232&type=1

รำลึกอดีตแห่งการต่อสู้ของพี่น้องบ้านครัว


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 02 ก.ค. 14, 11:45

การต่อสู้ยกต่อไป กำลังจะ...?

“บ้านครัว” พร้อม ต้าน "มรดกกรรมทางด่วน"

(ผมตัดตอนต้นๆออก ใครอยากดูข้อความเต็มๆก็เข้าไปตามระโยงนี้นะครับ)

http://www.thaipost.net/node/50776

    "ปรเมษฐ์ ภู่โต" หนึ่งในแกนนำชุมชนบ้านครัวที่เคยต่อต้านเรื่องดังกล่าวตั้งแต่อดีต ให้ความเห็นย้ำว่า การสร้างทางด่วนสายนี้ไม่มีประโยชน์ต่อสาธารณะเลย ไม่ได้ช่วยให้ความสะดวกในการจราจร แต่กลับเป็นว่าเอารถไปกองกระจุกตัวกันอยู่ที่ราชดำริและราชประสงค์แทน รวมถึงไม่คุ้มค่าต่อเศรษฐกิจ เพราะการเก็บค่าผ่านทางจะคุ้มกับเงินที่ลงทุนไป 8,000 ล้านบาทหรือไม่

    “ถ้าโครงการมีประโยชน์กับบ้านเมืองจริง เราจะยอม แต่นี่ผ่านการพิสูจน์เชิงเหตุผลมาหลายปีแล้ว ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีประโยชน์ แต่ถ้าจะมาบอกเราว่าขอเจรจา เราก็ไม่มีอะไรต้องเจรจาแล้ว” 
    ปรเมษฐ์ยังเล่าถึงรูปแบบการต่อสู้ของชาวบ้านชุมชนบ้านครัวในอดีตว่า มีทั้งการยืนยันไม่ให้มีทีมเข้ามาสำรวจพื้นที่ภายในชุมชน สู้กันด้วยหลักข้อมูลเหตุผลกับสังคม และเคยมีการปะทะกัน 2-3 ครั้ง แต่ความรุนแรงของคนบ้านครัวคือเป็นความรุนแรงด้วยเนื้อหา ซึ่งต้องนำมาประยุกต์ใช้กับปัญหาในคราวนี้ ส่วนความชอบธรรมทางกฎหมายนั้น ชุมชนจะใช้สิทธิในการปกป้องตนเองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ อย่างมาตรา 33 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถาน บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข มาตรา 34, 42, 57, 66
 
    "เราขอยืนยันคำเดิมว่า ชาวบ้านไม่ได้ต้องการเรื่องเงินทอง เพราะเราไม่ใช่ม็อบที่มาเรียกร้องค่าเสียหายแพงๆ”
    อมุวัตริ บาฮา รองประธานชุมชนบ้านครัว เล่าว่า ปัญหาเรื่องนี้มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชุมชนก็ต่อต้านมาร่วมกว่า 20 ปี ซึ่งการต่อต้านนั้นไม่ใช่เพื่อขัดขวางความเจริญของประเทศ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม
    “ถ้ามีการสร้างทางด่วนสายนี้ ต้องมีปัญหาตามมาอีกมาก เพราะทางด่วนเส้นนี้อาจต้องตัดผ่านวังสระปทุม ที่อาจจะมีเรื่องความปลอดภัยและมลพิษทางอากาศ จะต้องกระทบกับเขตพระราชฐานอย่างแน่นอน
 
    นางเฉลิม ยูนุช อดีตประธานชุมชนบ้านครัว ในฐานะผู้อาวุโสในชุมชน แสดงความเห็นด้วยสีหน้ากังวลว่า เรื่องนี้ยอมไม่ได้ เพราะเราอยู่ที่นี่กันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แม้จะอายุมากแล้ว แต่พร้อมไปต่อสู้อยู่แถวหน้า ถึงจะตายเราก็ไม่ยอม
    "เราไม่เอา เงินทองไม่สำคัญ ไม่ว่าจะมากขนาดไหนเราก็ไม่เอา อยากจะฝากบอกกับรัฐบาลว่าให้ล้มเลิกเถอะ อย่ามายุ่งกับชุมชนบ้านครัวเลย เพราะเขาอยู่กันมากนานแล้ว ส่วนพื้นที่วังสระปทุมที่อาจถูกเวนคืนด้วยนั้น ฉันจะไม่ยอมเด็ดขาด เราพร้อมจะต่อสู้แทน" นางเฉลิมกล่าวอย่างมีอารมณ์

    "วิวัฒน์ มะลังพันธ์" เด็กรุ่นใหม่ในชุมชนบ้านครัว แสดงความเห็นว่า เมื่ออดีตได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่มาว่าต้องต่อสู้เรื่องอะไร จนปัจจุบันที่เราโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จึงต้องมาแทนที่ ก็พร้อมรักษาบ้านเกิด ซึ่งจะทำหน้าที่รับคำสั่งในการหาข้อมูลจากผู้ใหญ่อีกครั้งหนึ่ง รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่เป็นอาสาสมัครภายในชุมชน เพราะเราไม่วางใจว่าจะมีคนจากภาครัฐเข้ามาแทรกซึม ซึ่งสิ่งที่คนในชุมชนกังวลมากที่สุดคือการลอบวางเพลิง เพื่อให้เห็นว่าไฟไหม้บ่อย ไม่สามารถดูแลจัดการได้ โดยเมื่อ 20 ปีที่แล้วก็เคยมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น.


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.11 วินาที กับ 19 คำสั่ง