เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 11882 ข้อสงสัยเล็กน้อย เกี่ยวกับราชสกุล ศักดิเดชน์ ภาณุพันธ์
jilkung
อสุรผัด
*
ตอบ: 38


 เมื่อ 23 มิ.ย. 14, 18:24

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต สมรสกับหม่อมมณี ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม บุนนาค) สุภาพสตรีลูกครึ่งไทย-อังกฤษ นักเรียนทุน ก.พ. ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด พิธีมงคลสมรสจัดขึ้นที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเป็นองค์ประธาน เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2482 เมื่อหม่อมมณี ตั้งครรภ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงพระกรุณาพระราชทานนาม ศักดิเดชน์ จากพระนามาภิไธย ประชาธิปกศักดิเดชน์ เพื่อใช้เป็นชื่อราชสกุล แต่ทางรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชกาลที่ 8 ได้คัดค้านว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต อยู่ในราชสกุล ภาณุพันธุ์ อยู่แล้ว (โดยมีเหตุผลเกี่ยวกับสิทธิ์ในการสืบสันตติวงศ์ และเรื่องอื่นๆที่สืบเนื่องจากสมเด็จพระปกเกล้าฯ) จึงใช้ชื่อสกุลว่า ศักดิเดชน์ ภาณุพันธ์ แทน
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย
ผมมีความสงสัยว่าเหตุใดจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชกาลที่ 8 จึงได้คัดค้านว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต อยู่ในราชสกุล ภาณุพันธุ์ อยู่แล้ว
คืออยากทราบเหตุผลทางการเมืองนะครับ ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 23 มิ.ย. 14, 20:28

จากกระทู้เก่า เคยเอ่ยถึงเรื่องนี้ไว้นิดหน่อยค่ะ

หม่อมมณี  ได้พูดไว้ว่ารัฐบาลเองก็มองๆอยู่เหมือนกันว่าพระองค์เจ้าจิรศักดิ์จะมีสิทธิ์ในการสืบราชบัลลังก์ได้หรือไม่   จึงตัดไฟเสียแต่ต้นลมด้วยการยืนยันให้พระองค์เจ้าจีรศักดิ์ใช้นามสกุล " ภาณุพันธ์"   ไม่ยอมให้ใช้ ศักดิเดชน์  เพื่อตัดปัญหาในการเป็นทายาทของพระปกเกล้าฯ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 มิ.ย. 14, 20:35

อ้างถึง
แต่ทางรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชกาลที่ 8 ได้คัดค้านว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต อยู่ในราชสกุล ภาณุพันธุ์ อยู่แล้ว โดยมีเหตุผลเกี่ยวกับสิทธิ์ในการสืบสันตติวงศ์ และเรื่องอื่นๆที่สืบเนื่องจากสมเด็จพระปกเกล้าฯ

ควรหาเอกสารชั้นต้นในเรื่องนี้มาอ่านให้ได้ครับ ไม่ทราบว่าคุณเพ็ญชมพูผู้มีอินทรเนตรอันทรงฤทธิ์จะหามาได้ไหมหนอ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 23 มิ.ย. 14, 21:07

ในระหว่างนี้ เชิญคุณJillkungเข้าไปอ่านตามระโยงนี้ ก็คงได้คำตอบในข้อที่สงสัย

http://www.vcharkarn.com/vcafe/16678
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 24 มิ.ย. 14, 01:24

ฮิฮิ ตามลายแทงไปอ่านแล้วครับ ยิ้ม
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 24 มิ.ย. 14, 08:20

คำตอบคงอยู่ตรงนี้  ยิงฟันยิ้ม

ความสุขในครอบครัวเล็กๆนี้เพิ่มขึ้นอีกเมื่อหม่อมมณีให้กำเนิดบุตรชายคนแรก สมพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯยิ่งนัก
ทายาทของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯได้รับชื่อว่า ม.ร.ว. เดชนศักดิ์   ส่วนนามสกุลคือ
"ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์"

เรื่องนามสกุล  เป็นเรื่องขมขื่นของสมเด็จพระปกเกล้าฯอีกเรื่อง
หลังสละราชสมบัติ้เสด็จไปประทับที่อังกฤษ  แทนที่จะได้อยู่อย่างสงบ  เพราะไม่กีดหน้าขวางตาใครอีก   ก็กลับถูกบีบคั้นกดดันจากรัฐบาลหลายเรื่องด้วยกัน   

รวมทั้งเรื่องรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามฟ้องร้องต่อศาลว่าทรงขนทรัพย์สินเงินทองออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมายและยึดทรัพย์ของพระองค์ท่านรวมทั้งวังศุโขทัยไว้ด้วย ตั้งแต่คดีเพิ่งจะถึงศาล ยังไม่ได้ตัดสินว่าผิดจริง
แล้วยังเรียกร้องให้เสด็จกลับมาแก้คดีในเมืองไทย

แม้เรื่องเล็กๆอย่างนามสกุลของพระนัดดาบุญธรรมก็ยังไม่วายเป็นเรื่องขัดข้องขึ้นมาอีกจนได้
เริ่มแรก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงตั้งนามสกุลสำหรับเชื้อสายพระองค์เองว่า "ศักดิเดชน์"(ณ อยุธยา)
ในเชิงกฎหมายเราก็คงทราบกันแล้วว่าลูกบุญธรรมเป็นผู้มีสิทธิ์ทุกอย่างเท่าลูกจริง  เพราะเหตุนี้นามสกุลใหม่ที่พระราชทานให้
พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯก็มีสิทธิ์จะใช้พอกับพระราชโอรสจริงๆ(ถ้าหากว่ามี)
แต่เมื่อแจ้งไปทางเมืองไทยให้ทราบเป็นทางการ   เรื่องกลับตาลปัตร
ทางคณะผู้สำเร็จราชการกลับตอบมาว่า ไม่สามารถจะทำได้ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯมีนามสกุลเดิมอยู่แล้วคือภาณุพันธุ์   ก็ต้องใช้ภาณุพันธุ์ตามพระบิดาแท้จริง
ทั้งนี้เป็นได้ว่ารัฐบาลไม่่ประสงค์จะให้พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯมีสิทธิ์ในเรื่องต่างๆที่สำคัญ เช่นสิทธิ์ในการสืบสันตติวงศ์   หรือเรื่องอะไรอื่นก็ตามที่เป็นสิทธิ์สืบเนื่องจากสมเด็จพระปกเกล้าฯ
สมเด็จพระปกเกล้าฯทรงแค้นเคืองมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้   จึงได้แต่พระราชทาน ศักดิเดชน์ เป็นส่วนหนึ่งของ ภาณุพันธุ์
พระนัดดาบุญธรรมน้อยๆที่เกิดมาจึงเป็น ม.ร.ว. เดชนศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 24 มิ.ย. 14, 09:04

รัชกาลที่ ๗ ทรงตั้งพระทัยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖  ก่อนพระนัดดาบุญธรรมคือม.ร.ว. เดชนศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์เกิด ๖ ปีว่าให้ใช้นามสกุล "ศักดิเดชน์" และจะเติมเข้ากับ "ภาณุพันธุ์" ก็ได้

เอกสารชั้นต้นในเรื่องนี้คือ พระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต

สวนไกลกังวล

วันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๗๕  (พระราชหัตถเลขาฉบับนี้รัชกาลที่ ๗ ทรงเมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิ.ย.๒๔๗๕ แล้วประมาณ ๘ เดือน เพราะยังนับเดือนเมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้น มี.ค.ยังใช้พ.ศ.เดิม)

ถึงลูกที่รัก  

        อาทิตย์นี้ฉันไม่ได้หนังสือจากเล็กอีกเปนอาทิตย์ที่ ๒ คงเปนเพราะเมล์แต่ก็เจ้ากรรมที่สุดที่มักจะยุ่งอย่างนี้  พร้อมกับเวลาที่ฉันไม่สบายที่สุดเสมอ  หนังสือฉบับก่อนที่เขียนไปนั้น  เล็กอาจเห็นว่าฉันตื่นอะไรต่าง ๆ  ไม่เปนเรื่อง  แล้วก็ไม่มีเหตุยุ่งอะไร  เพราะว่ากว่าหนังสือจะไปถึงเล็กเรื่องจะมีหรือไม่มีก็แล้วไปแล้ว  อย่างไรก็ดี  พวกเราอยู่กันที่นี่กลัวกันจริง ๆ  และตกใจกันจริง ๆ ด้วย  เราทุกคนรู้ไม่ได้เลยว่าจะถูกเชือดคอเมื่อไร  เสียวกันอยู่เสมอ  พอมีลืออะไรกันทีหนึ่งก็ตกใจกันแทบตาย  เพราะจะไม่เชื่อเสียงลือก็ไม่ได้  เข็ดจากคราวก่อนที่ไม่เชื่อกัน  แล้วก็เกิดขึ้นจริง ๆ  เวลานี้มีเสียงลืออะไรก็ต้องเชื่อหมด ฉันเองก็เชื่อแน่ว่าความยุ่งยากในเมืองไทยจะต้องมีต่อไปอีกอย่างน้อย ๒๐ ปี  เพราะอะไร ๆ มันยุ่ง ๆไปหมด  ไม่มีใครไว้ใจกันหมดทั้งเมืองไทย  เวลานี้เปนนรกแท้ ๆ.......

        กว่าหนังสือจะไปถึงเล็ก  เรื่องมันคงเสร็จกันไปแล้วเล็กอาจเห็นฉันพูดมากไป  ตื่นมากไปก็ได้  หรือจะได้รับเมื่อฉันตายแล้วก็เปนได้เหมือนกัน  ถ้าฉันต้องตายในคราวนี้  ฉันอยากขอให้เล็กทำอะไรสักอย่าง คือ  ต่อไปถ้าเล็กมีลูกขอให้ใช้นามสกุลว่า “ศักดิเดชน์ “  ซึ่งเปนชื่อของฉัน  และจะเติมเข้ากับ “ภาณุพันธุ์” ก็ได้  แต่ฉันอยากให้มันมีติดอยู่ว่า เล็กเปนลูกของฉันจะทำให้สบายใจมาก  เสียใจที่เรื่องสนุกไม่มีเสียเลย  เพราะเรากำลัง gloomy กันจัง  นั่งมึน  และขรึมกันโดยมาก  เพราะ คอย !  คอย !   คอย ! วันตาย  เมื่อถึงเวลา fight จริง ๆ สบายกว่ามาก  


                                                                                                                             คิดถึงเหลือเกิน

                                                                                                                             จากพ่อ

                                                                                                                             ประชาธิปก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 24 มิ.ย. 14, 10:20

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลี้ยงพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตประดุจดังพระราชโอรสของพระองค์เอง สะท้อนให้เห็นในงานพระราชพิธีโกนเกศากันต์ครั้งสุดท้ายในกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๔๗๑ อย่างไรก็ดีในตลอดรัชสมัย ก็มิได้ทรงประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตเป็นพระราชบุตรบุญธรรม เพราะทรงเกรงจะเกิดจะเกิดปัญหาการสืบสันตติวงศ์เรื่องรัชทายาทของพระมหากษัตริย์นี้แหละ ทั้งๆที่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะทรงกระทำอย่างไรก็ได้ แม้จะเลี่อนลำดับพระองค์เจ้าขึ้นเป็นเจ้าฟ้าก็มิได้ทรงกระทำ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 24 มิ.ย. 14, 10:25

หากดูบริบททางการเมืองสมัยนั้น หลวงพิบูลสงคราม(แปลก)ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีท่ามกลางความขัดแย้ง และกำลังกำจัดผู้ต้องสงสัยทุกคนที่คิดว่าเป็นศัตรู ถ้าท่านอ่าน “ชะตากรรมของพระยาทรงสุเดช หนึ่งในสี่เสือของคณะราษฎร์”ก็คงจำได้ ในช่วงนี้มีการสร้างพยานเท็จขึ้นมาให้ร้ายกล่าวหาพวกเจ้า ซึ่งพระปกเกล้าถือเป็นหัวแถว แล้วเอาผิดเหยื่อด้วยการลงโทษประหารชีวิตถึง๑๘คน

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3363.0

จึงไม่แปลก ในเมื่อนายแปลกคิดว่าพระปกเกล้าจะลดพระองค์ลงมาเป็นหนึ่งในศัตรูของตน ก็ชอบที่จะกวนอวัยวะทุกอย่างเพื่อกลั่นแกล้งท่าน ทำร้ายร่างกายไม่ได้ก็ทำร้ายจิตใจ ดังเช่นเรื่องคดีความที่มีเป้าหมายจะยึดพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่อยู่ในเมืองไทยเป็นอาทิ

ผมจึงอยากอ่านเอกสารชั้นต้นฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วย จะได้วิเคราะห์กันให้กระจะแจ้งกว่านี้


บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 24 มิ.ย. 14, 11:18

" ทรงเลี้ยงพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตประดุจดังพระราชโอรสของพระองค์เอง สะท้อนให้เห็นในงานพระราชพิธีโกนเกศากันต์ครั้งสุดท้ายในกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๔๗๑"

พระราชพิธีโสกันต์ครั้งสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์สรุปแล้วคืองานของ พระองค์จิรศักดิ์ใช่ไหมคะ เหมือนเคยได้ยินบางท่านบอกของพระองค์หญิงวิมลฉัตร
บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 24 มิ.ย. 14, 12:31

ผมจึงอยากอ่านเอกสารชั้นต้นฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วย จะได้วิเคราะห์กันให้กระจะแจ้งกว่านี้

ขอเสนอเอกสารชั้นรอง เป็น บทความเรื่อง ผลพระคุณ ธ รักษา : พัฒนาการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย (๕๑) คอลัมน์ "มุมมองสองวัย" ของ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณและอิสริยาภรณ์ อุวรรณโณ ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

สำหรับ “ความพอใจที่จะขัดพระราชดำริเสียทุกอย่าง” ของรัฐบาลก็ไม่เคยลดละ แม้กระทั่งเรื่องปลีกย่อย เช่น เมื่อสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงแจ้งคณะผู้สำเร็จราชการซึ่งมีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นองค์ประธานให้รับทราบ เรื่องพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระโอรสบุญธรรมถือนามสกุล ’ศักดิเดชน์“ ตามพระนามของพระองค์ คือสมเด็จเจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิเดชน์ เป็นนามสกุล หรือส่วนหนึ่งของนามสกุล และให้ประกาศเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา
 
คณะผู้สำเร็จราชการตอบว่า ทำไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะอนุญาตให้พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต เปลี่ยนนามสกุลจาก ’ภาณุพันธุ์“ เป็น ’ศักดิเดชน์“ เนื่องจากสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระชนกของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต เป็นต้นตระกูลของราชสกุล ’ภาณุพันธุ์“ และได้รับพระราชทานราชสกุลมาจากพระเจ้าแผ่นดิน

สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงขัดเคืองมาก มีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตว่า “...เรื่องนี้ต้องทำให้สำเร็จในวันหนึ่งให้ได้ และถ้าเราตายกันหมดแล้ว ก็หวังว่าหนูเดชน์ (ม.ร.ว.เดชน์ศักดิ์ โอรสในพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ –ผู้เขียน) มันจะจัดการได้ เพราะกว่ามันจะโต พวกห่าโลกต่าง ๆ คงตายไปแล้ว”


ถ้าหากเพียงต้องการให้ "ศักดิเดชน์" เป็นส่วนหนึ่งของนามสกุล ก็ต้องถือว่าเรื่องนี้สำเร็จแล้ว   ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 24 มิ.ย. 14, 12:54

นั่นสิครับ ดร.บวรศักดิ์เข้าถึงเอกสารชั้นต้นนี่ได้อย่างไร ที่ไหนฯ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 24 มิ.ย. 14, 13:01

อ้างถึง
พระราชพิธีโสกันต์ครั้งสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์สรุปแล้วคืองานของ พระองค์จิรศักดิ์ใช่ไหมคะ เหมือนเคยได้ยินบางท่านบอกของพระองค์หญิงวิมลฉัตร
จากภาพนี้ใช้ไหมครับ เนื้อเรืองบรรยายว่าเป็นพระองค์หญิงวิมลฉัตร

ผิดครับ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์
ตามรูปชุดที่แล้วครับ


บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 24 มิ.ย. 14, 13:22

พระมาลาอย่างนี้ พระองค์หญิงไม่น่าจะทรง น่าจะเป็นของเฉพาะผู้ชาย/เจ้านายฝ่ายหน้า ดูคล้ายๆ กันกับเครื่องยศประกอบเครื่องราชปฐมจุลจอมเกล้าครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 20 คำสั่ง