เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16 17 ... 31
  พิมพ์  
อ่าน: 141071 นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 210  เมื่อ 08 ก.ค. 14, 22:07

มีเรื่องของภูเขาไฟแล้ว   ก็มาถึงเรื่องของแผ่นดินไหว

ครับ ก่อนจะลงไปในเรื่องของแผ่นดินไหวในบรเวณพื้นที่ขอบของแผ่นเปลือกโลก  ก็จะขอขยายความเรื่องแผ่นดินไหวในอีกรูปหนึ่ง คือ   
     - แผ่นดินไหวขนาดไม่เกินประมาณ 3-4 ริกเตอร์ นั้น    เกิดอยู่ทุกวันทัวโลกและเป็นจำนวนมากในแต่ละวันเสียอีกด้วย  บริเวณที่เกิดมากที่สุดก็คือ ตามแนวทิวเขาใต้ท้องมหาสมุทรที่เรียกว่า mid-oceanic ridge นั่นแหละ     แผ่นดินไหวขนาดนี้มันเป็นเรื่องปรกติเสียจนไม่จำเป็นที่จะต้องหยิบออกมาเป็นข่าวหรือเผยแพร่เลย เว้นแต่มันจะส่งผลให้เกิดความตระหนกตกใจกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ  และเกือบจะทั้งหมดของมันก็เป็นพวกที่ไม่ทำให้เกิด tsunami (ในขนาดที่เราต้องรู้สึกสยองกับมัน)  ความลึกของจุดกำเนิดของแผ่นดินไหวในท้องมหาสมุทรเหล่านี้เกือบทั้งหมดจะอยู่ตื้น (น้อยกว่า 30 กม. และมักจะอยู่แถวๆ 10 +/- กม.)
 
ดูเงื่อนไขจะครบและท่องเป็นสูตรได้เลยว่าหากเกิดแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ในทะเลแล้ว ก็อาจจะเกิด tsunami ตามมา  ซึ่งก็มีความจริงอยู่บางส่วน แต่เกือบทั้งหมดแล้วจะไม่เป็นไปตามสูตรนี้     คลื่นน้ำเกิดได้จากการเขย่า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระเพื่อมและการยกตัวของระดัดน้ำที่อยู่ห่างไกลออกไปบ้าง

ต่อพรุ่งนี้นะครับ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 211  เมื่อ 09 ก.ค. 14, 21:48

เมื่อคืนที่ผ่านมา  เกิดอาการเงิบขณะกำลังพยายามประมวลเรื่องว่าจะขยับเขียนต่อไปอย่างไรดี  เกิดเป็นจินตนาการ แล้วก็กลายเป็นเรื่องราวแบบล่องลอยไปสู่ฝัน แล้วหัวก็ผงกป๊อก  ไปไม่รอดแน่เลยต้องหยุดเขียนครับ  ขออภัยจริงๆ

ต่อครับ
เอาเรื่อง tsunami ก่อน

การสั่นสะเทือนตามแนวทิวเขาใต้ท้องมหาสมุทรนั้น ย่อมทำให้เกิดน้ำกระเพื่อมเป็นระลอกคลื่นได้  แต่คงจะต้องสั่นอย่างแรงมากๆๆๆๆ..ล่ะครับ จึงจะทำให้เกิด tsunami ลูกใหญ่ๆเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งได้      ที่จริงแล้วดูเหมือนจะไม่เคยมีแผ่นดินไหวที่เกิดในบริเวณ divergent plate boundary ที่ทำให้เกิดคลื่น tsunami ในขนาดที่จัดเป็นพิบัติภัยเลย  ซึ่งหากมันทำให้เกิดขึ้นได้ขนาดนั้นละก็ ก็คงจะมีการออกประกาศให้ระวังคลื่น tsunami กันตลอดทั้งวัน  ทุกๆวัน และตลอดทั้งปีทุกๆปี  เนื่องจากแผ่นดินไหวที่เกิดในบริเวณ divergent plate boundary ในทุกมหาสมุทรนี้ นับจำนวนได้เป็นหลักหมื่นๆครั้งต่อปี   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 212  เมื่อ 09 ก.ค. 14, 22:36

เอาละครับ   คราวนี้หากจะเหมาเอาว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในทะเลหรือมหาสมุทรแล้วย่อมทำให้เกิดระลอกคลื่น และคลื่นนั้นก็คือคลื่น tsunami   จะให้ว่าถูกก็ได้ครับ     แต่ลองพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคลื่น ดังนี้

คลื่นน้ำที่เราเห็นทั้งหลายนั้นเป็น sine wave  คือ เป็นคลื่นที่มีรูปทรงเป็นลักษณะตัว S     คลื่นในทะเล  คลื่นในมหาสมุทร หรือในพื้นที่แอ่งน้ำทั้งหลายนั้น เกิดจากการที่ลมพัดผ่านผิวน้ำนั้นๆ  ลมที่พัดผ่านผิวน้ำนั้นๆ ยิ่งเป็นลมแรงและยิ่งพัดผ่านผิวน้ำเป็นระยะทางยิ่งไกลมากเพียงใด ก็ยิ่งทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ หรือคลื่นสูงมากขึ้นเท่านั้น  ซึ่งหมายความว่า ยิ่งเป็นทะเลเปิด (open sea) ยิ่งมีคลื่นใหญ่   ดังนั้น ทะเลฝั่งอันดามันของเราจึงมีคลื่นใหญ่กว่าทะเลฝั่งอ่าวไทย 

คราวนี้ ลมที่พัดผ่านผิวน้ำนั้น แม้ว่ามันจะพัดไปในทิศทางเดียวกัน มันก็ยังมีแบบพัดแรงบ้างค่อยบ้าง พัดกระโชกก็มี และบางทีก็ยังมีแบบพัดเป๋ไปในทิศทางอื่นๆ    ดังที่บอกกล่าวมาแล้วว่า ลมทำให้เกิดคลื่น  ดังนั้น ในคลื่นที่พัดเข้าหาฝั่งนั้น ใน 1 ตัว S มันก็จะมีตัว s เล็กๆขี่มาด้วยอีกหลายๆตัว   
เมื่อไปเที่ยวทะเลก็ลองนั่งดูคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งซิครับ เรามักจะเห็นภาพของคลื่นใหญ่บ้างเล็กบ้างคละกันไปมา  บางครั้งก็มีคลื่นขนาดค่อนข้างใหญ่ซัดลึกเข้ามาในชายหาด    เหตุการณ์ของชายหาดสุรินทร์ใน จ.ภูเก็ต ที่อยู่ดีๆก็มีคลื่นใหญ่ซัดเข้ามาม้วนเอาคนออกไป สาเหตุก็คือเรื่องนี้แหละครับ
เล่ามาเสียยืดยาว ก็เพื่อจะบอกว่าแยก ไม่ออกหรอกครับว่าคลื่นที่ซัดเข้าฝั่งนั้นเป็นคลื่น tsunami ที่เกิดจากแผ่นดินไหวตามแนวทิวเขาใต้ท้องทะเล หรือ เป็นคลื่นที่เกิดจากลม   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 213  เมื่อ 09 ก.ค. 14, 22:54

แล้วจริงๆแล้ว เราพอจะแยกระหว่างคลื่นจากลม กับ คลื่น tsunami ขนาดเล็กๆ (ในระดับคลื่นสูงซัก 10 ซม.) ได้ใหม    ก็พอได้ครับ 
 
tsunami เป็นประเภทคลื่นยาว (long wavelength) ดังนั้น ก่อนที่หัวคลื่นจะโถมฟัดชายหาด  ระดับน้ำทะเลจะลดถอยลงไปอย่างผิดปรกติ จากนั้นน้ำจึงจะเอ่อทะลักเข้ามาบนชายฝั่ง    แต่กระนั้นก็ตาม หากเป็น tsunami ขนาดเล็กๆ ก็ไม่รู้หรอกครับ ยกเว้นแต่จะไปสังเกตดูระดับน้ำในคูคลองที่มีระดับน้ำเชื่อมต่อกับน้ำทะเล (น้ำขึ้น/น้ำลง)


ผมจะขอพักเรื่องราวไว้ตรงนี้ประมาณ 7 วันครับ  จะไปต่างจังหวัดครับ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 214  เมื่อ 20 ก.ค. 14, 22:27

กลับมาแล้วครับ 
ไปนอนอยู่กับแผ่นดินไหวมาอีกครับ
ไปครั้งนี้ ได้สัมผัสแบบเบาๆ พอรู้สึกได้ว่าเหมือนยืนอยู่บนยางในรถยนต์ที่พองลมไว้  บางครั้งก็มีเสียงเบาๆจากการโยกคลอนของโครงหลังคา หรือกรอบประตูหน้าต่างมาประกอบความรู้สึก  อย่างไรก็ตาม ไม่รู้สึกถึงความเข้มข้นเหมือนครั้งแรกๆ

ผมใช้คำว่า "ความเข้มข้น" ในเรื่องราวที่เขียนนี้เพื่อบรรยายสัมผัสทางความรู้สึก   ทั้งนี้ ในทางวิชาการนั้น นอกจากคำว่า "ขนาด" ที่เราคุ้นหูแล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งที่สำคัญมาก คือ "ความรุนแรง" ซึ่งเป็นสัมผัสทางผลที่เกิดขึ้นที่สามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเรา ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่เราเกือบจะไม่เคยได้ยินการกล่าวถึงเลย   
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น การรายงานข่าวสารและความสนใจของผู้คนมักจะไปติดอยู่กับคำว่า "ขนาด"  ซึ่งแม้จะมีการบรรยายความเสียหายผนวกเข้าไปในเเบื่องต้นด้วยแล้วก็ตาม  ฝ่ายผู้รับข่าวสารก็มักจะมีจินตนาการถึงความเสียหายต่อไปตามความรู้สึกที่พ่วงกับตัวเลขของขนาด

ขนาด หรือ magnitude เป็นการบอกถึงระดับของพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมา (เพื่อทำให้เกิดการไหวของแผ่นดินในแต่ละครั้งนั้นๆ)   เป็นการจัดระดับแบบ log scale ฐาน 10  (เช่น ขนาด 4 richter ก็จะมีความแรงมากกว่าขนาด 3 อยู่ 10 เท่า)     

ความรุนแรง (หรือ ความเข้มข้น)  หรือ intensity นั้น เป็นการบอกถึงระดับของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การไหวของแผ่นดินครั้งนั้นๆ

 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 215  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 14:46

มีวิธีวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวของไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ จากจดหมายหลวงอุดมสมบัติ มานำเสนอ  ยิงฟันยิ้ม


คุณชาญณรงค์ เที่ยงธรรม แห่งศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ ม.หาดใหญ่ เขียนบทวิจารณ์ในเว็บโฟกัสปักษ์ใต้ ไว้ว่า

บางเรื่องอ่านแล้วก็รู้สึกสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นที่กล่าวขวัญอยู่ในปัจจุบัน เช่น เรื่องแผ่นดินไหว (ปรากฏในจดหมายฉบับที่ ๓ เขียนในจุลศักราช ๑๒๐๐ พ.ศ. ๒๓๘๑) หลวงอุดมสมบัติบันทึกเล่าไว้ว่า ..เพลาคืนนี้แผ่นดินไหวนักหนาทีเดียว ไหวมากกว่าครั้งก่อนจนคนซวนเซตั้งตัวไม่ตรงเลย ทรงทอดดิ่งทอดพระเนตรดูเห็นโยนไกวไปข้างเหนือมาข้างใต้ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไหวครั้งนี้ไหวมาก เจ้าคุณหาบนออกมาจากเรือนซวนออกมาทีเดียว ออกมาเห็นอัจกลับที่แขวนไว้ไกวโยนลอดตะวันไป ทรงตรัสว่า เป็นไรจึงไม่ทอดดิ่งดูบ้างเล่า.. จากความที่ปรากฏ ทำให้เราทราบว่า ใน พ.ศ.๒๓๘๑ (เดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ) นั้น ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงมาก (วิเคราะห์จากคำพูดฟังเหมือนว่าการทอดดิ่งเพื่อสังเกตการแกว่งไกวนั้น อาจจะเป็นวิธีหรือเป็นธรรมเนียมวัดระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในยุคสมัยนั้นกระมัง)

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 216  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 19:05

ขอบพระคุณครับสำหรับข้อมูล

ข้อมูลแผ่นดินไหวที่มีจุดกำเนิดอยู่ภายในเขตประเทศไทย หรือที่อยู่นอกเขตแต่รู้สึกการไหวได้ในไทย   เท่าที่มีการบันทึกเป็นหลักฐานไว้ในพงศาวดารหรือจดหมายเหตุต่างๆ และรวมทั้งที่มีบันทึกอยู่ในฐานข้อมูลของ NOAA (National Oceanographic and Atmospheric Administration) และ USGS (United States Geological Survey) นั้น ได้เคยมีการค้นคว้าและรวบรวมไว้เป็นฐานข้อมูลโดย ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ปรมาจารย์ของไทยทางวิชาการด้านธรณีวิทยาและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง    ผมเคยมีและใช้ข้อมูลนี้ และเข้าใจว่าน่าจะยังคงมีเก็บไว้อยู่ที่กรมทรัพยากรธรณีและที่กรมอุตุนิยมวิทยา

ข้อมูลรุ่นเก๋าเหล่านี้ ต่างก็ได้บรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในรูปของ intensity (จะแปลว่า ระดับความเข้มข้น ระดับความรุนแรง ระดับของการสัมผัสรับรู้  หรือระดับความเสียหาย อย่างไรก็ได้) อาทิ น้ำในแม่น้ำกระฉอก บ้านเรือนโยกไหว มีเสียงดังครืนๆ ฯลฯ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 217  เมื่อ 21 ก.ค. 14, 19:46

สำหรับข้อมูลเรื่องการทอดดิ่งที่คุณเพ็ญชมพูได้กรุณาให้มานั้น  จะขอต่อความดังนี้ครับ

หลักการพื้นฐานในการสร้างเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว (Seismograph) ก็คือ การห้อยลูกตุ้มที่มีน้ำหนักมากๆและมีปากกาโผล่มาที่ก้นของลูกตุ้มนั้น เอากระดาษวางและยึดไว้กับพื้นดิน ให้อยู่ใต้ปลายปากกาเพื่อจะได้บันทึกการแกว่งไกวของลูกต้มนั้น (เมื่อเกิดแผ่นดินไหว)    ซึ่งโดยเนื้อในของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆกลับเป็นผลของเรื่องในหลักของเรื่องแรงเฉื่อย (moment of inertia) คือ ตัวลูกตุ้มมิได้แกว่งไกว ตัวกระดาษต่างหากล่ะที่เคลื่อนที่

ครับ เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ก็เป็นธรรมดาที่เราก็จะเห็นหลอดไฟหรือโคมไฟที่ห้อยลงมาจากเพดานแกว่งไปมา (เพราะมีน้ำหนักน้อย)

แต่หากชุดหลอดไฟหรือโคมไฟที่ห้อยลงมานั้นมีน้ำหนักมากสักหน่อย เมื่อเห็นการแกว่งเกิดขึ้น ก็จะเป็นสองเรื่องผสมกัน คือ หลอดไฟนั้นห้อยแขวนเกือบนิ่งอยู่กับที่ แต่เพราะบ้านโยกไปมา เลยเห็นเป็นภาพสองภาพบวกกัน ทำให้เห็นไปว่าหลอดไฟนั้นแกว่ง      กรณีการสังเกตลูกดิ่งที่ทอดห้อยลงไปนั้นคงจะเป็นในลักษณะนี้


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 218  เมื่อ 22 ก.ค. 14, 20:01

มาถึง ณ.เวลานี้ เราก็ได้พบกับ 2 วิธีการที่จะบอกเล่าถึงลักษณะของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น คือ
      - บอกด้วยขนาดของพลังที่ปลดปล่อยออกมา ณ.บริเวณจุดกำเนิด     และ
      - บอกด้วยลักษณะอาการของความรุนแรงของการไหวที่เกิดขึ้น ณ.สถานที่ต่างๆที่รับรู้การไหวสะเทือนของแผ่นดินครั้งนั้นๆ

ครับ ก็มาสู่คำ 2 คำ ซึ่งใช้เป็นคำเรียกมาตรของการวัดลักษณะและอาการทั้งสองที่ได้กล่าวมา  คำแรกคือ magnitude (สำหรับเรื่องแรก) ซึ่งภาษาไทยเราใช้คำแปลว่า "ขนาด"     และคำที่สองคือ intensity (สำหรับเรื่องที่สอง) ซึ่งภาษาไทยเราใช้คำแปลว่า "ความรุนแรง"

อย่างง่ายๆ ก็คือ magnitude เป็นเรื่องของการวัดที่ต้นตอแหล่งกำเนิด (ความรุนแรงด้านเหตุ)   ในขณะที่ intensity เป็นเรื่องของการวัดด้านผลกระทบที่ได้รับ (ความรุนแรงด้านผล)   
 
ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงที่ต้นตอครั้งหนึ่ง ทำให้เกิดผลกระทบ (ความเสียหาย) ณ.สถานที่ต่างๆ (โดยรอบออกไป) ไม่เท่ากัน ขึ้นกับความตื้นลึก ความใกล้ไกล รูปแบบและลักษณะของการกำเนิด สภาพและลักษณะของพื้นดินฐานราก ตัวอาคาร โครงสร้างของอาคารและคุณภาพของการก่อสร้าง ทิศทางการวางตัวของอาคาร ฯลฯ .......... สารพัดเรื่องที่เป็นองค์ประกอบ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 219  เมื่อ 22 ก.ค. 14, 22:03

มาตรวัดขนาดที่เรารู้จักกันดีและใช้กันในสากลนั้น ได้แก่ Richter Scale  ซึ่งได้พัฒนาไปมากจากแต่เดิมเมื่อเริ่มสร้าง

สำหรับมาตรวัดความรุนแรงนั้น ไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป คงจะมีแต่นักวิชาการเท่านั้นที่รู้เรื่อง (แต่กระนั้นก็ตาม ก็ยังนิยมที่จะให้ความสนใจไปในเรื่องของขนาดมากกว่าเรื่องของความรุนแรง)   มาตรนี้แต่ดังเดิมที่นิยมกันก็มีอยู่ 2 มาตร คือ Modified Mercalli Scale (MM scale) และ Rossi Forel Scale   
สำหรับญี่ปุ่นนั้น เนื่องจากเขาอยู่ในพื้นที่ๆมีแผ่นดินไหวตลอดเวลาและมีความเสี่ยงค่อนต่อความสูญเสียใดๆค่อนข้างมาก จึงมีการพัฒนามาตรวัดเป็นของตนเองขึ้นมา เป็นมาตรวัดความรุนแรง เรียกว่า JMA Seismic Intensity Scale (JMA = Japan Meteorological Agency)  ซึ่งมาตรนี้ ไต้หวัน ก็ยอมรับนำไปใช้ด้วย 

ข้อมูลระดับของความรุนแรง ณ.สถานที่ต่างๆที่อ้างอิงอยู่กับมาตรวัด intensity นี้ คือข้อมูลเบื้องต้นที่จะใช้ชี้นำและนำพาไปสู่การจำแนกพื้นที่เสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหว ซึ่งจะถูกประมวลจัดทำเป็นแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวสำหรับใช้ในหน่วยงานที่ทำงานด้านงานสารธารณะต่างๆต่อไป 

เอาไว้ค่อยๆเล่าครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 220  เมื่อ 22 ก.ค. 14, 23:06

ผมมีเรื่องให้หวนคิดอยู่ในใจเสมอเมื่อกล่าวถึง Richter scale และ MM scale

ครับ  .....แผ่นดินไหวระดับ 6 ริกเตอร์ ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ว่าแรงนั้น ตามมโนก็น่าจะต้องสร้างความเสียหายได้มากในพื้นที่ใกล้จุดกำเนิด แต่ในความเป็นจริงนั้น มันอาจจะเพียงมีบ้างไม่รุนแรง แต่กลับไปรุนแรงมากในที่ๆห่างออกไป ....จุดกำเนิดอยู่ตื้น ก็ส่งผลรุนแรงมาก อยู่ลึกมากก็ส่งผลรุนแรงน้อยหรือไม่มีเลย   ....ขึ้นอยู่กับองคาพยพของแรงที่สร้างให้เกิดรอยเลื่อนชุดนั้นๆ (ว่าเป็น wrench tectonic  เป็น compressional tectonic   เป็น synthetic หรือ antithetic regime ....)  โอ้ สารพัดเรื่องเลยทีเดียว

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ข้อมูลริกเตอร์และตำแหน่งกำเนิดนั้นจะออกสู่สาธารณะเร็วมากๆ แต่มีประโยชน์ค่อนข้างน้อย   ในขณะที่ข้อมูลที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงในทุกๆเรื่อง ในทุกๆด้าน คือ ระดับของความเสียหาย   จะบอกด้วยมาตรอะไรก็ได้ จะเป็นการบรรยายลักษณะเนื้อในของความเสียหายของแต่ละพื้นที่ก็ได้ (เสาบ้านล้ม เสาบ้านหัก ตึกล้ม ตึกทรุด ฯลฯ) ข้อมูลดังกลาวนี้แม้เพียงจากพื้นที่เดียว ก็ยังเพียงพอที่จะคาดเดาความอัตราความเสียหายที่จะพบในพื้นที่อื่นๆได้   รายงานที่บอกแต่เพียงว่าเกิดความเสียหาย อาคารบ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้นั้น ไม่เพียงพอ (รู้แต่ด้านปริมาณแต่ไม่รู้ด้านคุณภาพ)

ก็จะพยายามค่อยๆเล่าให้ฟังนะครับ เล่าเป็นแบบการ์ตูนก็จะเข้าใจได้ง่าย ครับ

     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 221  เมื่อ 23 ก.ค. 14, 18:20

เรื่อยเฉื่อยไปทางด้านผลกระทบจากการไหวของแผ่นดินมากโขแล้ว ก็พอดีพบช่องที่จะย้อนกลับไปเรื่องทางด้านต้นตอสาเหตุที่ค้างไว้

แต่ก่อนจะวกกลับไป จะขอทิ้งท้ายไว้นิดนึงเพื่อขยายเรื่องมาตรของความรุนแรงให้พอเห็นภาพ และเพื่อจะได้กลับมาต่อได้เมื่อได้ดำเนินเรื่องต่อๆไป

มาตรของความรุนแรงนั้น เป็นการบรรยายลักษณะของความรู้สึกของคน ลักษณะของการเคลื่อนของสิ่งของ และลักษณะของความเสียหายของถาวรวัตถุต่างๆ  ซึ่งแต่ละมาตรนั้นมีจำนวนระดับที่ต่างกัน  อาทิ

            - ของ MM scale นั้นมี 12 ระดับ (และใช้ตัวเลขแบบโรมัน)  เช่น ระดับ VI เป็นแผ่นดินไหวในระดับแรง (strong) รู้สึกได้ทั้งคนที่อยู่ในอาคารและนอกอาคาร สิ่งของหล่นจากชั้นที่เก็บ โต๊ะเก้าอี้เคลื่อนที่ คนแตกตื่นวิ่งหนีออกนอกสิ่งก๋สร้าง รู้สึกมึนงง (โคลงเคลง) อาคารที่ก่อสร้างไม่ดีอาจพังหรือได้รับความเสียหาย เป็นต้น

            - ของ Rossi Forrel เป็นมาตรที่สร้างก่อน MM scale มี 10 ระดับ (และใช้ตัวเลขโรมันเหมือนกัน) เช่น ระดับ VI จัดเป็นแผ่นดินไหวระดับค่อนข้างแรง (Fairy strong) คนที่นอนหลับรู้สึกและตื่นนอน คนวิ่งออกนอกที่พักอาศัย โคมไฟที่้ห้อยแกว่งไกว เป็นต้น

            - ของ JMA scale  มี 7 ระดับ (ใช้ตัวเลขอาราบิค) เป็นการพัฒนามาตรโดยผสมผสานระหว่างขนาด (magnitude) กับผล (แยกก้น) ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ สิ่งของ สิ่งก่อสร้าง ธรรมชาติ และรวมถึงอัตราเร่งของแผ่นดิน ( peak ground acceleration force _ วิศวกรใช้เป็นฐานในออกแบบโครงสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ) เช่น ระดับ 6  คนรู้สึกยืนไม่ได้ เสาไฟฟ้าโยกไปมา สาธารณูปโภคได้รับความเสียหาย อัตราเร่งของแผ่นดินที่ประมาณ 2.50 - 3.15 m/sec2  เป็นต้น
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 222  เมื่อ 23 ก.ค. 14, 19:35

กลับไปที่เรื่องราวในพื้นที่ต้นตอของการไหวของแผ่นดินครับ

ผมไปหยุดเรื่องไว้ที่เรื่องของ tsunami    ก็จะขอต่อเรื่องนี้เพื่อนำพาการเดินเรื่องไปสู่เรื่องอื่นต่อไป

โดยสรุปก็ได้ความว่า tsunami เป็นคลื่นยาว (long wavelength)  มีโอกาสเกิดได้จากการสั่นสะเทือน (หรือการไหวของแผ่นดิน ณ. บริเวณจุดกำเนิด) ซึ่งตามปรกติแล้ว คลื่นที่เกิดจากกรณีการสั่นสะเทือนนี้ ไม่ใช่ประเภทที่จะสร้างความหายนะอย่างมากมายและรุนแรง

ลองนึกดูถึงการเขย่ากะละมังใส่น้ำนะครับ การเขย่านั้นมันอยู่ในเรื่องของความถี่สูง (เช่นเดียวกับแผ่นดินไหว) ซึ่งเป็นการสร้างให้เกิดคลื่นน้ำที่มีความถี่สูงไปด้วย แทบจะไม่สร้างให้เกิดเป็นคลื่นประเภทช่วงคลื่นยาวแบบของคลื่นที่เป็๋นคลื่น tsunami ที่เรากลัวกัน     ความถี่สูงเป็นพวกคลื่นที่มีช่วงคลื่นสั้น     บางทีพวกคลื่นที่เกิดจากลมแรงหรือพายุในทะเลเปิดนั้นยังอาจจะสร้างความกลัวและความเสียหายได้น่ากลัวกว่าคลื่นที่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้พื้นท้องทะเลที่เกิดขึ้นนับเป็นหลายหมื่นครั้งต่อปี 

คลื่น tsunami ประเภทที่สร้างให้เกิดความเสียหายนั้น  จะต้องเกิดจากการขยับเขยื้อนของรอยเรื่องแบบกระชากอย่างแรง และจะต้องยังผลให้เกิดการเหลื่อมล้ำ (displacement) อย่างมาก (ที่ผิดไปจากสภาพเดิมของหินที่อยู่ตรงกันข้ามคนละฝั่งของรอยเลื่อนนั้น) ดังเช่น กรณีของเหตุการณ์ tsunami ที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2547 ในมหาสมุทรอินเดียนั้น เกิดจากการ displacement ในลักษณะของการเกิดการยกตัว-ทรุดตัวของหินสองฝั่งรอยเลื่อน อันยังผลให้เกิดเป็นหน้าผาสูงชันหลายสิบฟุตอยู่ใต้ท้องทะเลในบัดดลในทันทีทันได  ยังผลให้มวลน้ำและระดับน้ำที่ผิวน้ำเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ต้องปรับตัวปรับระดับในมันที เกิดเป็นสภาพคล้ายน้ำตก เป็นการสร้างให้น้ำกระเพื่อมเกิดเป็นคลื่นขนาดใหญ่ที่วิ่งอยู่ใต้น้ำด้วยความเร็วประมาณ 800 กม.ต่อชม.   

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 223  เมื่อ 23 ก.ค. 14, 19:44

ครับ    tsunami เป็นคลื่นประเภทช่วงคลื่นยาว มีความสูงของคลื่นซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำ  เมื่อคลื่นเคลื่อนที่เข้าหาฝั่ง น้ำตื้นขึ้น ท้องคลื่นก็จะแตะพื้นและถูกยกขึ้นไปตามระดับของพื้นทะเล ยอดคลื่นก็จะสูงขึ้น จนเห็นเป็นหน้าผาน้ำ   ด้วยความที่เป็นคลื่นประเภทช่วงคลื่นยาว เราจึงเห็นระดับน้ำบริเวณชายหาดลดลง กลายเป็นชายหาดแห้งๆช่วงระยะสั้นๆ ก่อนที่จะเห็นหน้าผาน้ำถล่มทลายเข้ามา

ทราบแล้วเช่นนี้  ก็ต้องมีความสังเกตหน่อยนะครับว่า เมื่อใดที่น้ำมันถูกดึงลงไปจากชายหาดไกลมากขึ้น ก็ให้รู้ไว้ได้เลยว่าคลื่นที่จะซัดกลับมาต่อจากนั้นในเวลาอันน้อยนิดนั้น จะเป็นคลื่นที่ใหญ่กว่าปรกติ และอาจจะม้วนลากเราลงไปในทะเลได้ง่ายๆ     หลักการสำคัญของการหนี tsunami จึงคือการวิ่งขึ้นที่สูงอย่างรวดเร็ว

ผมได้เห็นพื้นที่ชายทะเลบางแห่ง (ที่อาจจะเสี่ยงต่อคลื่น tsunami)  เห็นแล้วก็เกิดความกลัว คือ ป้ายบอกทิศทางให้วิ่งหนีไปหาที่สูงนั้น ต้องวิ่งไปตามชายหาดเพื่อไปยังช่องทางขึ้นที่สูง คงไม่ทันแน่ๆเลยครับ  ไปเที่ยวชายทะเลกันก็ดูๆหน่อยนะครับ   ฝั่งอ่าวไทยคงไม่ต้องไปกังวลอะไร  มีแต่ฝั่งอันดามันที่เป็นด้านทะเลเปิดนั้น คงจะต้องระลึกอยู่ในใจเสมอ      
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 224  เมื่อ 27 ก.ค. 14, 19:12

ขออภัยที่หายไปสองสามวันครับ  นั่งคิดและวาดฝันเรื่องราวว่าจะเล่าไปอย่างไร เพื่อให้เรื่องมันง่าย ก็เลยเงิบ กลายเป็นงีบ แล้วก็ติดลมไปสองสามคืนเลยทีเดียว

จากโครงสร้างแบบชายฝั่งทะเลของมหาสมุทรแอตแลนติค  ซึ่งเป็นลักษณะของการกระทำของแรงในลักษณะการผลัก หรือการกางแขนกางขาดันให้กว้างออกไปเรื่อยๆ    ก็มาถึงเรื่องราวของการที่แผ่นดินต่อต้านแล้วฮึดสู้  ก็เลยทำให้เกิดลักษณะของชายฝั่งทะเลแบบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งยังผลให้ฝ่ายพื้นท้องมหาสมุทรต้องมุดตัวลงไปอยู่ข้างใต้ (ในทำนองเดียวกัน (relatively) ที่อีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องเกยอยู่ข้างบน) ซึ่งเรียกลักษณะของสภาพที่เกิดขึ้นนี้ว่า Subduction zone  นี่เป็นรูปแบบหนึ่ง 

ในอีกรูปแบบหนึ่งก็คือไม่ยอมก้มหัวให้แก่กัน เลยทำให้เกิดชนกันจนย่น กองเป็นภูเขาเลากา ซึ่งเรียกลักษณะของสภาพที่เกิดขึ้นนี้ว่า Collision zone เช่น เทือกเขาหิมาลัย-แอลพ์ (Alpine-Himalayan mountain range)   

แต่หากกลับทางกัน เมื่อชนกันแล้วเกิดกลับกลายเป็นว่าฝ่ายพื้นท้องมหาสมุทรเกิดเกยขึ้นมาทับอยู่บนแผ่นดิน ก็เกืดเป็นสภาพที่เรียกว่า Obduction zone    เทือกเขาร็อกกี้ตอนเหนือที่ต่อเข้าไปในแคนาดาจนถึงอลาสก้าตอนใต้ เช่น Klamath range เป็นตัวอย่างของเรื่องนี้

สุดท้าย หากสองฝั่งไม่ปะทะกันโดยตรง แต่ต่างฝ่ายต่างเคลื่อนที่เสียดสีผ่านกัน สภาพดังกล่าวนี้เรียกว่า  Transform fault zone เช่น San Andreas Fault ที่มีแนวพาดผ่านมาตั้งแต่รัฐตอนเหนือของรัฐ Vancouver ของแคนาดา ผ่าน San Fransisco ผ่าน Los Angeles ลงไป   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16 17 ... 31
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 20 คำสั่ง