เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 31
  พิมพ์  
อ่าน: 140904 นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 05 มิ.ย. 14, 17:12

อ้างถึง
กรุงเทพเป็นดินอ่อน แต่ดินอ่อนไม่ปกป้องตึกรามบ้านช่องในกรุงเทพ แต่กลับจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในระดับรุนแรงในบริเวณไม่ไกลนักเช่นแถวกาญจนบุรีเป็นต้น  รายละเอียดของเรื่องนี้อยู่ใน คำบรรยายของผู้เชียวชาญเรื่องแผ่นดินไหว  หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ภูเก็ตครั้งล่าสุด

รศ.ดร.อมร พิมานมาศ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ มีความตื่นตัวในเรื่องแผ่นดินไหวกันมากขึ้น ซึ่งจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงทั้งในนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จนถึงแผ่นดินไหวล่าสุดที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ ๑๖ เม.ย.๕๕ นั้น อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ มีการสั่นไหวอย่างรุนแรง
       
เหตุที่อาคารสูงในกรุงเทพฯ สั่นไหวอย่างรุนแรง เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่ดินอ่อน หรือดินเลน เมื่อถูกกระตุ้น จึงขยายการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงได้ถึง ๓ เท่า  แม้เหตุแผ่นดินไหวเมื่อ ๒๖ ธ.ค.๔๑ ที่เกาะสุมาตรา มีจุดศูนย์กลางอยู่ไกล ๑,๒๐๐ กิโลเมตร หรือแผ่นดินไหวในจีนที่อยู่ไกลออกไปถึง ๒,๖๐๐ กิโลเมตร ก็พบว่า มีการเขย่าของตึกสูงในกรุงเทพฯ แต่ รศ.ดร.อมร กล่าวว่า แม้อาคารสูงจะสั่นอย่างรุนแรง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องถล่มเสมอไป ส่วนหนึ่งเพราะอาคารสูงมักได้รับการออกแบบให้รองรับแรงลมระดับหนึ่งอยู่แล้ว
       
อย่างไรก็ดี ตึกสูงในกรุงเทพฯ ยังคงมีความเสี่ยงจากเหตุแผ่นดินไหวอยู่ดี โดย รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า คลื่นสั่นสะเทือนจากพื้นดินมีความรุนแรงมากกว่าแรงลมอยู่มาก และแม้กรุงเทพฯ ไม่ได้ตั้งอยู่ในแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว แต่สภาพดินก็ขยายความรุนแรงได้ถึง ๓ เท่า โดยเฉพาะความถี่ต่ำ ๆ จากแผ่นดินไหวจะถูกขยายความรุนแรงโดยอาคารสูงที่มีการโยกอย่างช้า ๆ หรือมีความถี่ธรรมชาติที่ตรงกับคลื่นแผ่นดินไหว จึงเกิดการสั่นพ้อง หรือการกำทอนขึ้น
       
ทางด้าน รศ.ดร.อมร ได้เปรียบเทียบว่า กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวเหมือนกรุงเม็กซิโกซิตี ของเม็กซิโก เนื่องจากมี ๓ ปัจจัยคล้ายกัน คือ ๑.ไม่มีรอยเลื่อนอยู่ใต้เมือง ๒.ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน และ ๓.อาคารไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหว ซึ่งเมื่อปี ๒๕๒๘ เกิดแผ่นดินไหว ๘.๕ ริกเตอร์ ห่างจากกรุงเม็กซิโกซิตี ออกไป ๓๕๐ กิโลเมตร ส่งผลให้อาคารต่าง ๆ ถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตไปกว่า ๑๐,๐๐๐ คน

ใช่ ๆ ๆ ใช่แล้วครับ ผมก็เคยผ่านตาคำแถลงนี้มาเช่นกัน ฟังแล้วยังสับสนว่า ไหง๋วิศวกรจึงอธิบายคุณสมบัติของดินเลนที่กรุงเทพตั้งอยู่ไปในทางตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง สมัย ๒๕๑๘ ศาตราจารย์ดอกเตอร์ท่านหนึ่งก็ว่าไปอย่าง อีกสี่สิบปี รองศาสตราจารย์ดอกเตอร์อีกท่านก็ว่าไปอย่าง รอคุณตั้งมาวิพากษ์ดีกว่าว่าอะไรเป็นอะไร

ส่วนตัวแล้วเชื่อว่า แผ่นดินไหวที่กรุงเทพในปี๒๕๑๘นั้น มีความรุนแรงมาก ขนาดอยู่บ้านติดดินยังรู้สึกว่าแผ่นดินโยกเยกได้ถึงขนาดนั้น แต่ประหลาดที่ความเสียหายกับตึกสูงเกือบจะไม่มี นอกจากผนังกระจกขนาดใหญ่ของตึกโชคชัยสุขุมวิทจะแตก แต่ไม่ถึงกับหลุดร่อนลงมาให้หวาดเสียว
ส่วนวันที่ ๑๖ เม.ย.๕๕นั้น ถ้าในกรุงเทพมีแผ่นดินไหวจริง ผมก็ไม่ได้สัมผัสประสพการณ์นี้ ตอบไม่ได้ว่ารุนแรงหรือไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับ๓๗ปีที่แล้ว
       

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 05 มิ.ย. 14, 19:15

ส่วนวันที่ ๑๖ เม.ย.๕๕นั้น ถ้าในกรุงเทพมีแผ่นดินไหวจริง ผมก็ไม่ได้สัมผัสประสพการณ์นี้ ตอบไม่ได้ว่ารุนแรงหรือไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับ๓๗ปีที่แล้ว

วันนั้นมีแผ่นดินไหวที่ภูเก็ต แผ่นดินไหวครั้งนั้นและทุก ๆ ครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยรวมทั้งครั้งล่าสุดที่เชียงราย แม้นไม่ได้เกิดที่กรุงเทพแต่ก็สามารถรู้สึกได้ที่ตึกสูงในกรุงเทพ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 05 มิ.ย. 14, 19:32

คุณเพ็ญอยู่บนตึกสูงในวันเหล่านั้น และรู้สึกได้ด้วยตนเองหรือครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 05 มิ.ย. 14, 20:34

ความรู้บางอย่างอาจหาได้จากการอ่านแลสอบถาม ไม่เคยมีประสบการณ์ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวสักครั้งหนึ่ง แต่ข้อมูลที่กล่าวนั้นอ่านจากรายงานทางหน้าหนังสือพิมพ์ และมีครั้งหนึ่งได้รับฟังจากพี่ชายซึ่งอยู่คอนโดชานกรุงเทพ เล่าว่าเมื่อครั้งมีแผ่นดินไหวและสึนามิทางใต้ น้ำในสระที่อยู่ชั้นบน ๆ ของคอนโดกระฉอกจนล้นขอบสระเชียว

มีคลิปการสาธิตของอาจารย์เป็นหนึ่ง วานิชชัย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เรื่องผลของแผ่นดินไหวต่อตึกสูงขนาดต่าง ๆ กัน



อธิบายได้ว่า การสั่นของตึกสูง กลาง และต่ำมีช่วงคลื่นต่างกัน หากเกิดแผ่นดินไหวห่างไกลจากกรุงเทพ ความสั่นสะเทือนที่มาถึงจะมีช่วงคลื่นยาวซึ่งมี "ความสั่นพ้อง" กับช่วงคลื่นการสั่นของตึกสูง ทำให้คนบนตึกสูงรู้สึกถึงการสั่นสะเทือนได้ แต่หากเกิดแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางที่กรุงเทพ ความสั่นสะเทือนจะมีคลืนสั้นคือมี "ความสั่นพ้อง" กับช่วงคลื่นของการสั่นของตึกเตี้ย ๆ ในกรณีนี้ตึกสูงจะไม่รู้สึกอะไร แต่ตึกเตี้ยอาจจะพังลงมาได้  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 05 มิ.ย. 14, 20:58

อ้างถึง
ส่วนวันที่ ๑๖ เม.ย.๕๕นั้น ถ้าในกรุงเทพมีแผ่นดินไหวจริง ผมก็ไม่ได้สัมผัสประสพการณ์นี้ ตอบไม่ได้ว่ารุนแรงหรือไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับ๓๗ปีที่แล้ว
อ้างถึง
เพ็ญชมพู
วันนั้นมีแผ่นดินไหวที่ภูเก็ต แผ่นดินไหวครั้งนั้นและทุก ๆ ครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยรวมทั้งครั้งล่าสุดที่เชียงราย แม้นไม่ได้เกิดที่กรุงเทพแต่ก็สามารถรู้สึกได้ที่ตึกสูงในกรุงเทพ
อ้างถึง
คุณเพ็ญอยู่บนตึกสูงในวันเหล่านั้น และรู้สึกได้ด้วยตนเองหรือครับ
อ้างถึง
เพ็ญชมพู
ความรู้บางอย่างอาจหาได้จากการอ่านแลสอบถาม ไม่เคยมีประสบการณ์ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวสักครั้งหนึ่ง

โอเค ก็อยากจะรู้แค่เนี๊ยะ

แล้วจากความรู้ที่หาได้จากการอ่านแลสอบถาม มีไหมครับที่เปรียบเทียบการสั่นของอาคารสูงและเตี้ยที่เกิดขึ้นในปี๒๕๑๘และปีอื่นๆที่อ้างถึง
บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 05 มิ.ย. 14, 21:13

อ้างถึง
จึงเกิดการสั่นพ้อง หรือการกำทอนขึ้น

คำว่า "กำทอน" จะฮิทเท่า "กระชุ่น" ไหมหนอ
กำทอน เป็นชื่อเพื่อนนิสิตของอาจารย์NAVARAT.Cที่เกิดตอนจอมพลป. ปฏิรูปภาษาไทย อาจารย์เคยบอกว่าเห็นชื่อเพี่อนแล้วเห็นการเก็บค่าโดยสารบนรถประจำทาง
พอเห็นคำ กำทอน เลยนึกถึงอาจารย์NAVARATด้วย
ออกนอกเชียงรายไปนิดนึงครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 05 มิ.ย. 14, 21:30

ใช่ครับอาจารย์หมอ กำทอนคนเดียวกันกับที่เคยเล่า ไม่แน่ใจว่าเพื่อนจะพอใจความหมายที่แปลว่า"การสั่นพ้อง"เท่ากับฉายาที่เพื่อนตั้งให้หรือเปล่า

เอ๋...ความจริงการสั่นพ้องน่าจะแปลว่ากระซุ่นได้ด้วย
หรืออีกนัยหนึ่ง กำทอนก็น่าจะแปลว่ากระซุ่นได้เช่นกัน

เอ้า ช่วยกันลากไปไกลๆเชียงรายอีกหน่อย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 05 มิ.ย. 14, 21:52

ชักสนุกแล้วครับ  กำลังไปสู่ภาคความรู้เรื่อง กำทอน หรือ สั่นพ้อง (ศัพท์ใหม่สำหรับผม ไม่เคยรู้จักคำนี้เลย ใช้แต่คำว่า resonance)

คงจะพอเห็นแล้วนะครับว่า เรื่องของ resonance ก็เป็นอีกหนึ่งของคำอธิบายถึงกระบวนการทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารอันเนื่องมาจากแผ่นดินไหว  ซึ่งเป็นเรื่องทางวิชาการวิศวกรรมของพวกวิศวกร   ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ ผนวกกับข้อมูลและความรู้จักตัวตนของแหล่งกำเนิดและลักษณะของแผ่นดินไหวในภูมิภาคนั้นๆ  เป็นทั้งคำอธิบายว่า ทำไม ในพื้นที่เดียวกัน ตึกเตี้ยกว่าจึงพังแต่ตึกสูงกว่ากลับไม่เป็นอะไร  และเป็นเหตุผลว่า ทำไม สถาปนิกและวิศวกรของญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศจึงกล้าและตัดสินใจสร้างตึกที่สูงมากๆไปสู่ระดับมากกว่าห้าหกสิบชั้น แทนที่จะสร้างในระดับสิบยี่สิบชั้น
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 05 มิ.ย. 14, 23:20

เอ๋...ความจริงการสั่นพ้องน่าจะแปลว่ากระซุ่นได้ด้วย
หรืออีกนัยหนึ่ง กำทอนก็น่าจะแปลว่ากระซุ่นได้เช่นกัน

เห็นด้วยนะครับ    resonance เป็นอาการที่เกิดจากการแทรกเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างสอดคล้องกับ movement ที่มีอยู่เดิม ซึ่งทำให้เกิดการเพิ่มขนาดของ movement นั้นๆ
     
ลองมโน ตามภาพนี้นะครับ เปลเด็กอ่อนที่แขนอยู่ เมื่อจะไกวเปล เราจะค่อยๆผลักให้มันเคลื่อนที่ เราจะไม่ผลักมันมากจนเกินไป  ซึ่งจะไปทำให้เปลนั้นแกว่งไปมา (เด็กเวียนหัวตายเลย)  เปลที่มันไกวไปมาได้อย่างนุ่มนวลนั้น คือ อาการที่เปลนั้นเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติในสภาพและองคาพยพของมัน เรียกสภาพนี้กันว่า natural frequency ของมัน (frequency = จำนวนรอบของคลื่นใน 1 วินาที หรือ จะกล่าวในอีกมุมหนึ่งก็ได้ คือ natural period  __period = ระยะเวลาที่ใช้สำหรับการเคลื่อนตัวของคลื่นครบหนึ่งรอบ)    เชือกที่ห้อยเปลยาวหรือสั้นต่างกัน ก็จะมี natural frequency ต่างกัน
คราวนี้เมื่อเราต้องการจะไกวเปลให้แรงขึ้น เราก็จะต้องใส่แรงผลักหรือดึงเพิ่มเข้าไป เราก็จะต้องรอจังหวะการผลักหรือดึงให้สอดคล้องกันการแกว่งไกวของมัน จะใส่แรงมากไปก็ไม่ได้ เพราะมันจะไปทำให้เปลนั้นแกว่งไปมาอย่างไร้ทิศทาง (period เปลี่ยนไป) จะใส่แรงน้อยไปมันก็ไม่ช่วยอะไรเลย แถมหากหากไม่ได้จังหวะตาม ก็จะกลายเป็นการขวางการแกว่งไกวของเปลนั้น

การเข้าไปแทรกที่สอดคล้องกับ movement ของเปลเด็กอ่อนนี้ ก็คือการกระทำที่ resonance     ในความเห็นของผมนะ ความหมายจะตรงกับคำว่า "กระชุ่น" มากกที่สุด

ต่ออีกนิดครับ คลื่นแผ่นดินไหวที่วิ่งผ่านอาคารสิ่งก่อสร้างนั้น หาก resonance กับ natural frequency ของตัวอาคาร มันก็จะไปเพิ่ม amplitude ของ natural frequency ซึ่งจะส่งผลให้วงรอบของคลื่นใช้เวลายาวขึ้น  natural period ของอาคารก็จะเปลี่ยนไป  อาคารซึ่งไหวโอนเอนได้อย่างจำกัด ก็จะเกิดความเสียหายในระดับต่างๆ และถึงกับพังลงได้

จาก กำทอน ไปเป็น กำธร ไปเป็น สั่นพ้อง กำลังลงไปเป็น กระชุ่น แล้ว ฮิๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 06 มิ.ย. 14, 19:03

ท่าน NAVARAT.C บอกว่าให้ช่วยกันลากไปไกลๆเชียงรายอีกหน่อย

ครับผม เลยต้องขอต่อเรื่องต่อไปจาก resonance

ตกลงนะครับว่า  resonance มีความหมายตรงกับคำว่า กระชุ่น  ซึ่งก็คือ การแทรกเข้าไปช่วยเสริม (enhance) ช่วยเพิ่มหรือช่วยขยายการเคลื่่อนไหวต่างๆอย่างสอดคล้องกับลักษณะของการเคลื่อนไหวนั้นๆ
กลับไปที่การผลักเปลเด็กให้แกว่งไกวมากขึ้น    เราก็ใส่แรงเข้าไปอย่างสอดคล้องกับการแกว่ง ซึ่งก็เท่ากับไปเพิ่ม amplitude   

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 06 มิ.ย. 14, 19:19

อ้า..ขออภัยขอรับท่านนายตั้ง

ที่ผมบอกให้ช่วยกันลากไปไกลๆเชียงรายอีกหน่อยน่ะ ผมบอกท่านอื่นน่ะครับ
ส่วนท่านนายตั้งนั้น ขอให้หมั่นลากเข้า เดี๋ยวจะไกลชื่อกระทู้จนออกทะเลกู่ไม่กลับ

แต่เรื่องกระซุ่นกับกำทอนที่ท่านนายตั้งกำลังกล่าวอยู่นี่ ถือว่ายังใกล้เชียงรายพอได้ครับ ส่วนผมจะเงียบๆไว้ไม่เข้าไปเติมความทั้งๆที่คันมือเหลือกำลัง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 06 มิ.ย. 14, 19:57

ครับผม เลยต้องขอต่อเรื่องต่อไปจาก resonance

ตกลงนะครับว่า  resonance มีความหมายตรงกับคำว่า กระชุ่น  ซึ่งก็คือ การแทรกเข้าไปช่วยเสริม (enhance) ช่วยเพิ่มหรือช่วยขยายการเคลื่่อนไหวต่างๆอย่างสอดคล้องกับลักษณะของการเคลื่อนไหวนั้นๆ
กลับไปที่การผลักเปลเด็กให้แกว่งไกวมากขึ้น    เราก็จะต้องใส่แรงเข้าไปอย่างสอดคล้องกับการแกว่ง ซึ่งก็เท่ากับไปเพิ่ม amplitude ซึ่งก็คือการใส่หรือเพิ่มอัตราเร่งเข้าไป (ซึ่งในทางวิศวกรรมเขาใช้อัตราเร่งเนื่องจากแรงดึงดูดของโลก แรง g = 32 ฟุตต่อวินาทีต่อวินาที หรือ 981 ซม.ต่อวินาทีต่อวินาที เป็นฐานสำหรับการคำนวณต่างๆ) 
ในอีกรูปหนึ่ง ก็คือ การทำให้ระยะทางของการแกว่งไกวของเปลระหว่างจุดสูงสุดของด้านหนึ่งกับอีกด้านหนึ่งมีระยะทางที่ยาวมากขึ้น ซึ่งก็คือการเคลื่อนที่ๆเปลี่ยนไปจากเดิม (displacement)   
กลับไปที่ภาพของอาคารที่สร้างอยู่บนพื้นดิน    ในสภาพปรกติ อาคารก็จะเคลื่อนไหวอย่างสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวใดๆของพื้นดิน  แต่หากอยู่ดีๆก็มีคลื่นแผ่นดินไหวผ่านมา ทำให้พื้นดินเคลื่อนที่แบบกระชากไปสัก 2-3 ซม. อาคารที่ตั้งอยู่นั้นจะตั้งอยู่ได้หรือไม่  ก็่เหมือนกับสภาพที่เกิดขึ้นกับการที่คนยืนอยู่แล้วถูกเตะรวบที่ข้อเท้า จะล้มหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายๆอย่าง อาทิ แรงที่ถูกเตะ เตะแล้วเท้าเขาขยับไปแค่ใหน น้ำหนักของคนที่ถูกเตะ ความสูงของคนที่ถูกเตะ คนที่ถูกเตะยื่นตรงทื่อๆ หรือเมื่อถูกเตะแล้วมีการโค้งงอตัวเพื่อปรับสมดุลย์ให้สามารถทรงตัวยืนอยู่ต่อไปได้ ฯลฯ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 06 มิ.ย. 14, 21:30

...ส่วนผมจะเงียบๆไว้ไม่เข้าไปเติมความทั้งๆที่คันมือเหลือกำลัง

เรียนเชิญเข้าร่วมวงเสวนาด้วยความยินดีครับ แจมได้ทุกเวลาครับ อันที่จริงแล้วมีเรื่องที่จะต้องพึ่งพาความรู้ทางวิชาชีพของท่านช่วยอรรถาธิบายเพื่อความกระจ่างและเป็นข้อมูลสำหรับสาธารณะชนครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 06 มิ.ย. 14, 22:07

วกกลับไปที่ภาพใน คห.51

ในภาพนี้มีบ้านพังอยู่บ้านเดียว พังแบบแตกกระจายอีกด้วย (shattered) บ้านเรือนรอบๆดูจะไม่ได้รับความเสียหายใดๆเลย ดูจากภาพแล้ว เห็นได้ว่าเป็นบ้านที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
หากถ่ายภาพเฉพาะบ้านนี้โดยไม่มีฉากของอาคารบ้านเรือนรอบๆประกอบ ก็จะได้ภาพที่สื่อความหมายไปว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงจริงๆ และหากเป็นภาพที่มีฉากประกอบเป็นเพียงอาคารบ้านเรือนเพียงหลังหรือสองหลัง มันก็อาจจะสื่อความหมายไปได้ในอีกมุมหนึ่ง  พอเห็นภาพในมุมกว้างก็ให้ความหมายไปในอีกมุมหนึ่ง

ครับ ข้อเท็จจริงบางอย่างที่ผมได้พบมาจากการไปสำรวจหลังจากการเกิดแผ่นดินไหว ผนวกกับข้อมูลประสพการณ์ที่ได้รับรู้และเห็นด้วยตาตนเอง เป็นดังนี้ครับ  (และจะใช้ภาพนี้เพื่อประกอบข้อสนเทศต่างๆ)


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 06 มิ.ย. 14, 22:41

ถึงแม้ว่าบ้านจะออกแบบโดย สถาปนึก (มิใช่สถาปนิกนะครับ) และทำการก่อสร้างโดยกลุ่มคนที่เรียกว่า สล่า (ช่าง) ที่มีประสพกาณ์ในการสร้างบ้านมาหลายหลังแล้วก็ตาม
ประเด็นของเรื่อง เป็นเรื่องของคุณภาพของงานอันพึงได้รับนั้น ยังได้รับมาในลักษณะที่ไม่คู่ควรกับค่าใช้จ่ายและราคาที่จ่ายเงินออกไป  อาคารบางหลังจึงได้รับความเสียหายในขณะที่อาคารที่ในอีกรั้วหนึ่งที่ติดกันยังอยู่ในสภาพที่ดี
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 31
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.065 วินาที กับ 19 คำสั่ง