เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 26 27 [28] 29 30 31
  พิมพ์  
อ่าน: 141097 นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 405  เมื่อ 06 ก.พ. 15, 19:43

พื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ประมาณ อ.ทับสะแก ลงไปจนสุดเขตแดน ก็พอจะจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ๆพอจะรู้สึกหรือสัมผัสอาการไหวของแผ่นดินได้    แต่หากจะเป็นกรณีรู้สึกไหวมาก ก็น่าจะเป็นแผ่นดินไหวที่มาจากจุดกำเนิดในพื้นที่ตามแนวตะเข็บพื้นที่ราบกับทิวเขาด้านตะวันออกของพม่า   ทั้งพื้นที่พอจะจัดได้ว่ามีความเสี่ยงต่อพิบัติภัยในระดับต่ำ (น่าจะเป็นระดับต่ำมากเสียอีกด้วย) 

ภาคตะวันตกของเรา ตั้งแต่เหนือสุดจนถึงแถวประจวบฯ เป็นพื้นที่ๆมักจะรับรู้แผ่นดินไหวที่เกิดในพม่าได้เสมอ ซึ่งมิใด้เป็นในลักษณะของพื้นที่แบบหย่อมๆ (แบบกว้างคูณยาว) แต่จะเป็นแบบพื้นที่ยาว (strip) ตามแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้    นอกจากนั้นก็ยังเป็นพื้นที่ๆมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเองอีกด้วย     ทั้งพื้นที่และโดยเฉพาะที่เป็นพืดเทือกเขาต่อเนื่องจนถึงชายแดน พอจะจัดได้ว่า มีโอกาสสูงมากที่จะได้สัมผัสกับการไหวของแผ่นดินในระดับที่เป็นภัยพิบัติ แต่ก็โชคดีที่มิใช่เป็นพื้นที่เมือง 

พื้นที่ภาคเหนือ สามารถจัดเป็นพื้นที่ๆรับรู้แผ่นดินไหวบ่อยครั้งมากที่สุด จนอาจจะกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นเป็นประจำ และเกือบทั้งหมดก็จะรับรู้หรือรู้สึกได้แบบมีวงเขตแยกกันเป็นแอ่งๆไป เช่น เฉพาะในพื้นที่ของแอ่ง จ.แพร่, จ.น่าน, จ.เชียงราย, จ.เชียงใหม่, อ.งาว, บ.แม่ตีบ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นแผ่นดินไหวประเภทไม่รุนแรง  ส่วนมากที่เป็นข่าวก็จะอยู่ในระดับแถวๆ 3 ริกเตอร์   แต่ที่ไม่เป็นข่าว (เช่น กรณีเสียงลั่นของหน้าต่างบ้าน หรือของกระจกตู้เก็บของ) นั้นมีอยู่มากจนเป็นความปรกติและความเคยชิน     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 406  เมื่อ 07 ก.พ. 15, 19:12

ยังมีอีกสองสามเรื่องที่อยากจะกล่าวถึง

เรื่องแรก   เคยสังเกตใหมครับว่า บรรดาบ่อน้ำร้อนที่พบในประทศไทยเรานั้น เกือบทั้งหมด (จะว่าทั้งหมดก็ได้) พบอยู่บนพื้นที่ตลิ่งใกล้ๆหรือข้างๆลำห้วยหรือลำน้ำต่างๆ  อาทิ ที่ บ.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่, บ.หินดาด (หรือกุยมั่ง) อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี,  บ.หาดส้มแป้น อ.เมือง จ.ระนอง, ......ฯลฯ     

ไทยเรามีพุน้ำร้อนอยู่มากกว่า 100 แห่ง ในจังหวัดเหล่านี้ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 407  เมื่อ 07 ก.พ. 15, 20:04

ต่อ..
กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา สตูล   ฯลฯ   ลืมอุทัยธานี ลพบุรี และเพชรบูรณ์

เมื่อเอาตำแหน่งพุน้ำร้อนเหล่านี้มาจุดลงบนแผนที่ ก็จะเห็นว่ามันค่อนข้างจะอยู่กันเป็นทิวใกล้และตามแนวรอยเลื่อนต่างๆที่ทางวิชาการเขาจัดให้เป็นรอยเลื่อนประเภทที่มีพลัง (active fault)

พุน้ำร้อนเหล่านี้ เกิดจากการที่มีน้ำ (จากผิวดิน) ซึมลงไปตามรอยแตกรอยแยกในหิน ลึกลงไปสัมผัสกับบริเวณที่ร้อน น้ำก็จะร้อน แล้วก็จะขยายตัวดันกลับขึ้นมาสู่ผิวดินกลายเป็นพุน้ำร้อน     น้ำเย็นที่ซึมลงไปจนกลายเป็นน้ำร้อนกลับขึ้นมานี้ แสดงถึงความเข้มข้นของแรงที่หินสองฝั่งของระนาบรอยเลื่อน (fault plane) เคลื่อนที่ผ่านกัน   

น้ำที่ซึมลงไปนี้ ช่วยทำหน้าที่ส่วนหนึ่งเป็นตัวหล่อลื่นบนระนาบรอยเลื่อน ช่วยทำให้หินทั้งสองฝั่งเคลื่อนที่ผ่านกันได้ลื่นไหลมากขึ้น แต่ก็มิได้หมายความว่าหินทั้งสองฝั่งของรอยเลื่อนจะไม่สะดุดหยุดชะงักบ้าง   เมื่อการหล่อลื่นไม่เพียงพอหรือสู้แรงความฝืดจากแรงเสียดทานไม่ได้ พอหลุดที่นึงก็เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวเบาๆได้ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 408  เมื่อ 12 ก.พ. 15, 18:36

ขนาดน้ำยังไหลซึมลงไปจนถึงจุดเสียดสีระหว่างหินสองฝั่งที่เคลื่อนที่ผ่านกัน ซึมลงไปถึง ณ จุดที่มีความร้อนมากพอจนทำให้กลายเป็นน้ำร้อนหรือกลายเป็นไอแล้วควบแน่บกลับมาเป็นน้ำร้อนที่พบบนพื้นผิวดิน  ดังนั้น จึงคงไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากเป็นก๊าซมันก็ยิ่งจะซึมผ่านได้อย่างสะดวกและด้วยความรวดเร็ว

ซึ่งผมเห็นว่า กรณีที่มีการกล่าวถึงอาการของสัตว์ที่ผิดปรกติก่อนเกิดแผ่นดินไหว หรือการใช้ข้อสังเกตอาการของสัตว์เพื่อบอกว่าจะเกิดแผ่นดินไหวนั้น น่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงของชนิดหรือส่วนผสมของก๊าซที่ผุดออกมาสู่ผิวดินนี้เอง  ซึ่งสัตว์ทั้งหลายที่มักจะกล่าวถึงนั้น มักจะเป็นสัตว์ในตระกูล Arthropods  (สัตว์ลำตัวเป็นปล้อง_แมลง, กิ้งกือ ฯลฯ) และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทพวกจมูกยาว (ใช้ทักษะทางกลิ่น)  สัตว์พวกนี้มีสัมผัสทืี่ไวมากก้บส่วนประกอบของอากาศที่ใช้หายใจและใช้หาอาหาร 

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 409  เมื่อ 12 ก.พ. 15, 19:34

ย้อนกลับไปพื้นฐาน      การแปรผันของสภาพ Eh (oxidation-reduction), pH (acidity-basicity), temperature, pressure เหล่านี้ ทำให้เกิดผลของสารประกอบทางเคมีที่แตกต่างกันมากมาย ทั้งในเชิงของการจัดตัวภายในสารประกอบนั้นๆ (unit cell arrangement) สภาพทางกายภาพภายนอก คุณสมบัติทางเคมี ฟิสิกส์ ความอยู่ยง ความคงทน ฯลฯ   

จุดแปรผันที่เหมาะสมขององค์ประกอบทางเคมีและฟิสิกส์เหล่านี้แหละครับที่เป็นความลับหวงห้ามของบริษัทผลิตสินค้าแทบจะทุกบริษัท

ผมจะไม่ก้าวล่วงเข้าไปอธิบายเรื่องเหล่านี้ทั้งในเชิงของ physical chemistry และ geochemistry นะครับ   ได้กล่าวถึงก็เพียงเพื่อจะบอกว่า ก็ด้วยการแปรผันของเงื่อนไขเพียงตัวเดียว ก็จะได้ผลที่ต่างกัน    ความต่างที่มี ก็อาทิ น้ำร้อนที่ อ.สันกำแพง มีฟลูออรีนสูงมาก ต่างกับอีกหลายแห่งที่มีสารละลายหินปูนสูง หรือมีกำมะถันสูง หรือมีก๊าซไข่เน่าสูง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 410  เมื่อ 16 ก.พ. 15, 18:51

เอาเป็นว่า หากเกิดความผันแปรมากกว่าขอบเขตหนึ่ง มันก็จะกระตุ้นให้สัตว์กลุ่มหนึ่งเกิดอาการตื่นตัวได้  แท้จริงแล้วก็สัตว์หลายชนิดที่มีประสาทที่ไวต่อการสั่นสะเทือนใดๆ ซึ่งมันก็ใช้โสตสัมผัสนี้ในการช่วยหาอาหาร   มันจึงสามารถรับรู้คลื่นสั่นสะเทือนแม้จะเพียงน้อยนิดเพียงใดที่จะเกิดขึ้นเมื่อหินสองฝั่งระนาบเริ่มจะครูดกันอย่างผิดปรกติก่อนที่จะกระชากหลุดออกจากกันจนเกิดแผ่นดินไหว

อย่าว่าแต่สัตว์เลยครับ  เราเอง เมื่อเห็นฟ้าใสเป็นสีคราม เราก็รู้แล้วว่าอากาศหนาวแน่ๆ หรือเมื่อลมเปลี่ยนทิศ เราก็พอจะรู้หรือคาดได้เหมือนกันว่ากำลังเปลี่ยนฤดู หรือจะเกิดฝนตก หรือจะเกิดพายุลมแรง       เห็นแมลงเม่ามาบินตอมหลอดไฟ เราก็รู้ว่าต้องมีฝนตกที่ใดที่หนึ่งที่ไม่ห่างจากที่เราอยู่มากนัก หรือเมื่อมดเริ่มอพยพขึ้นที่สูง เราก็พอจะรู้แล้วว่าน่าจะมีฝนตกหนักในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ฯลฯ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 411  เมื่อ 16 ก.พ. 15, 19:40

ก็คงมีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับแผ่นดินไหวอีกมาก  หากจะเอาให้ลึกซึ้งถึงระดับหนึ่งก็คงจะต้องเล่าอีกยาวเลยทีเดียว  เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เป็นระบบเปิด มีตัวแปรมากมาย ไม่ตรงไปตรงมาเหมือนกับ 1+1=2

ผมคิดว่า น่าจะพอแล้วนะครับ รู้พอที่จะทำให้นอนอยู่กับมันได้โดยไม่รู้สึกหวั่นไหวหรือเป็นกังวลจนเกินควร เอาพอจะรู้ว่า รู้หลบ รู้หลีก เอาตัวรอดได้อย่างไร ก็น่าจะเพียงพอ 

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 412  เมื่อ 16 ก.พ. 15, 19:56

ก่อนจะลาโรง  ก็อยากจะฝากข้อพึงระวังเรื่องนึงครับ

เมื่อเกิดแผ่นดินไหว มันก็ไม่ต่างไปจากการเขย่าดินทรายที่เอาใส่ไว้ในกะละมัง ซึ่งก็คือ เราจะเห็นฝุ่นผงฟุ้งออกมา
   
ฝุ่นผงหรืออากาศที่ฟุ้งออกมาจากผืนดินในบริเวณที่ถูกเขย่าจากแผ่นดินไหวนั้น แน่นอนว่าจะต้องมีจุลินทรีย์ฟุ้งลอยออกมาด้วย  ที่เคยมีกรณีเกิดขึ้นมา คือ ผู้คนเกิดอาการเจ็บป่วยด้วยอาการคล้ายๆกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งสุดท้ายก็พบว่าเกิดจากจุลินทรีย์ที่ฟุ้งออกมาจากใต้ผืนดินที่ถูกเขย่าโดยแผ่นดินไหวนั่นเอง

ครับผม

บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 413  เมื่อ 16 ก.พ. 15, 20:49

ขอบคุณครับอาจารย์naitangที่กรุณาแบ่งปันความรู้
ทุกกระทู้ของท่าน  ท่านก็ว่าไปคนเดียวแต่ต้นจนจบ
ก็เกรงว่าท่านจะว้าเหว่. แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเข้าแจมตรงไหน วุฒิไม่พอ
ติดตามตลอดตั้งแต่เร่ิมจนจบ
บันทึกการเข้า
ninpaat
ชมพูพาน
***
ตอบ: 167


ความคิดเห็นที่ 414  เมื่อ 17 ก.พ. 15, 11:02

ขอขอบพระคุณ ที่กรุณานำความรู้จากประสพการณ์ มามอบให้ครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 415  เมื่อ 17 ก.พ. 15, 19:30

ก็ต้องขอตอบขอบคุณกลับไปยังท่าน Jalito ท่าน ninpaat และสมาชิก/ผู้สนใจทุกๆท่าน  ขอบคุณที่ได้ติดตามเรื่องราวต่างๆ แม้ว่าจะดูกระท่อนกระแท่นไปบ้างนะครับ   

ดังที่ได้บอกกล่าวไว้ว่า กระบวนการทางธรรมชาติมันเป็นระบบเปิด (open system) มันจึงมีเรื่องและกระบวนการอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องและเข้ามาร่วมเป็นตัวแปรมากมาย  มันจึงไม่เป็นกฎแบบ rule of thumb แต่มันเป็นแบบ most likely หรือจะว่าเป็นแบบ...ก็มีกฎพื้นนฐานอยู่แต่มีข้อจำกัด เงื่อนไข หรือข้อยกเว้นเยอะแยะไปหมด...ก็ได้  มันจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเอาทุกแง่มุม (aspect) ของเรื่องต่างๆมาพิจารณา ซึ่งก็คือ การใช้วิธี holistic approach

ผมเริ่มกระทู้นี้ก็เพราะอยากจะเผยแพร่ข้อมูลพื้นฐานทางวิชาการที่ถูกต้องสู่สาธารณะ  ด้วยทราบมาแต่นานแล้วว่า ข้อมูลข่าวสารแผ่นดินไหวที่ออกสู่สาธารณะทางสื่อต่างๆนั้น มันอยู่ในภาพของ pessimistic tone (ให้ภาพออกไปทางน่ากลัว) ส่วนขยายที่เป็นคำอธิบายประกอบ ซึ่งเป็นเชิงวิชาการนั้นถูกละทิ้งไป ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะยากแก่การเข้าใจ      ที่ผมเดินเรื่องของกระทู้นี้ช้าหรือตะกุกตะกักอยู่นั้น ก็เพราะระวังอย่างมากในการให้ข้อมูล เพื่อมิให้เกิดมโนไปในทางที่ไม่ใช่      ผมมีประสพการณ์กับตัวเองเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวที่ อ.ทองผาภูมิ กาญจนบุรี (นานมาแล้ว)  ขนาดว่าผมอธิบายให้กับ จนท.ที่มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยฯสาธารณะ แบบง่ายๆชัดเจนแจ่มแจ๋ว ทบทวนว่าเข้าใจดีแล้วนะ   ก็ยังมิวายทำให้คนแตกตื่นลงมาจากตึกตอนเที่ยงวัน ก็คงเป็นการมโนต่อเนื่องบนฐานของข้อมูลที่ถูกมโนต่อกันเป็นทอดๆ

อีกประการหนึ่ง ก็ร่ำเรียนมาตรงๆ ก็มีคนเก่งกว่าเยอะแยะทั่วไปหมด  พอมีเวทีเรือนไทยให้ผ่องถ่ายความรู้ได้ ก็เลยดีใจที่จะได้ผ่องถ่ายความรู้ที่พอมีให้สาธารณะได้ทราบเรื่องที่ถูกต้องโดยทั่วกัน แก่แล้วจะเก็บไว้อีกทำไม  ก็รู้สึกว่าเขียนยากอยู่เหมือนกันเพราะมีศัพท์ทางเทคนิค มีศัพท์ทางภาษาในอีกความหมายลึกๆ แล้วก็มีคำทางเทคนิคที่อยู่ร่วมคำทางภาษาที่ให้ความหมายในมุมหนึ่ง 

ครับผม     
บันทึกการเข้า
จูลิน
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 416  เมื่อ 04 มี.ค. 15, 16:38

เจ้าของกระทู้เขียนมาเกือบปี เริ่มตั้งแต่ พค ปีที่แล้ว มาจบเอาเดือนกพปีนี้ ดิฉันอ่านบ่ายเดียวจบ

ต้องขอขอบพระคุณท่านเจ้าของกระทู้ที่ให้ความรู้และผู้ร่วมเสวนาทุกท่าน โดยเฉพาะรูปประกอบหลายรูปที่ทำให้หลุดขำค่ะ

สารภาพว่านานๆเข้ามาเรือนไทยครั้งและไม่ได้คาดหวังว่าจะได้อ่านกระทู้วิทยาศาสตร์เท่ากับที่จะได้อ่านเรื่องของโกมินทร์กุมาร (เสิร์ชชื่อการ์ตูนที่อ่านสมัยเด็ก พบกระทู้ในเรือนไทย จึงไล่ตามอ่านทีละกระทู้เป็นเวลา 2 สัปดาห์โดยไม่ได้แสดงความคิดเห็น) วันนี้เข้ามาอ่านกระทู้นี้ที่ตอบเพราะว่าท่านเจ้าของกระทู้ชี้แจงรูปไปทีละรูปโดยยังตกหล่นรูปที่ดิฉันเองหาคำตอบไม่ได้ (รูปอื่นๆพอจะตั้งสมมติฐานได้ว่าจะเป็นเช่นนั้น) คือรูปในความเห็นที่ 50 ค่ะ

ถ้าเจ้าของกระทู้ตอบแล้ว แต่ดิฉันตาลาย (เพราะอ่านกระทู้ข้ามปีในบ่ายเดียว) ต้องขออภัยนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 417  เมื่อ 04 มี.ค. 15, 17:14

รูปที่ 50 ที่คุณจูลินยังมีคำถามอยู่

เข้าประเด็นของคุณ NAVARAT.C ครับ

ความเสียหายเท่าที่ผมได้ไปสำรวจดูแบบฉาบฉวยและได้เห็นมากับตานะครับ ผมว่ามีอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวนน้อยมากและระดับของความเสียหายเกือบทั้งอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง กล่าวได้ว่าสมควรแก่เหตุ (จะค่อยๆขยายความต่อไปครับ) เมื่อเทียบกับปริมาณของบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในตำบลต่างๆและเมื่อเทียบกับแผ่นดินไหวระดับขนาดนี้
   
ข่าวก็คือข่าวละครับ ข่าวที่แพร่กระจายไปตามสื่อต่างๆ ดูแล้วน่ากลัว ดูแล้วทำให้คิดได้อย่างเดียวว่าจะต้องเกิดความเสียหายในวงกว้าง  ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าถ่ายภาพออกข่าวเฉพาะอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายในระดับรุนแรง


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 418  เมื่อ 08 มี.ค. 15, 18:47

ขอบคุณครับที่ได้ตามอ่าน

ผมรู้แก่ใจอยู่แล้วว่า ผู้อ่านจะต้องมีความรู้สึกว่า เรื่องมันเดินช้าจัง น่าเบื่อ   
ครับ ก็มีทั้งเจตนาและไม่เจตนา
 
ด้านเจตนานั้นก็ด้วยเห็นว่า มันจะช่วยให้เกิดการคิดล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นผลทำให้ได้เห็นกลไกที่น่าจะเป็นหรือไม่น่าจะเป็น   ก็คือ เพื่อการเข้าถึงและความเข้าใจเรื่องของ natural phenomena ในแบบ holistic approach ฯลฯ ก็ถึงบางอ้อเหมือนกันแต่เป็นบางอ้อที่ต่างกัน

สำหรับในด้านไม่เจตนานั้นก็ด้วยเหตุว่า ต้องพยายามสื่อความหมายให้ถูกต้อง มิใช่กำกวมหรือไม่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลต่อไปกระตุ้นให้เกิดอาการ phobia   ก็เลยต้องตรวจสอบการสื่อเรื่องราวและความหมายของคำทางเทคนิคต่างๆ ทำการปรับประโยคให้สื่อได้อย่างถูกต้อง  เรีื่องก็เลยเดินช้าๆแบบหอยทาก

ก็ขออภัยด้วยครับ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 419  เมื่อ 08 มี.ค. 15, 19:13

ผมใช้คำว่า phobia    ตัวเองยังนึกไม่ออกว่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่าอะไรดี

ผู้หญิงสวยๆคนหนึ่ง เราก็มีคำอธิบายได้ทั้ง beautiful, pretty, cute, gorgeous ฯลฯ  โดยผิวเผินดูเหมือนๆกัน แต่ลึกๆแล้วไม่เหมือนกันเลย

ในเรื่องที่เขียนมีความหมายของคำว่า pressure ใน context ที่ต่างกัน บ้างก็เป็นเรื่องของความดัน บ้างก็แรงอัด บ้างก็แรงดัน บ้างก็แรงกดดัน ฯลฯ

ครับ ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้ผมเขียนได้ช้า ระวังมากไปหรือเกินพอดีไปหน่อยหรือเปล่าก็ไม่รู้    จะว่าไป ผมก็คงมีอาการ phobia อยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งเกิดมาจากประสบการณ์เมื่อครั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวครั้งหนึ่ง  ซึ่งถูกนำไปเผยแพร่แบบไม่ครบถ้วนกระบวนความ จนทำให้แตกตื่นกันไปทั้ง กทม. 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 26 27 [28] 29 30 31
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 19 คำสั่ง