เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 21 22 [23] 24 25 ... 31
  พิมพ์  
อ่าน: 141128 นอนอยู่กับแผ่นดินไหว
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 330  เมื่อ 09 พ.ย. 14, 19:27

แว๊บนึงของผมอาจจะนานไปหน่อยนะครับ  ขอต่อเลยนะครับ

ข้อมูลพื้นฐานดังเช่นในเรื่องนี้ จะทำให้รู้ว่าจะต้องทำอะไรทั้งก่อนและหลังกันบ้างในภาพของเหตุการณ์ต่างๆ (scenario) เช่น ในภาพของการจราจรที่เคลื่อนตัวไม่ได้  ในภาพของมวลชนเคลื่อนที่หนีแบบไม่รู้ทิศทาง ในภาพของ ณ เหตุการนั้นๆจะต้องเครื่องมืออุปกรณ์และกำลังพลในการเข้าไปช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด และในภาพของระดับความสูญเสียที่แปรผันไปตามระยะเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น

ด้วยพื้นคิดเช่นดังกล่าว เราจึงได้เห็นถนนเดินรถทางเดียวในมุมที่เราคิดว่ามันน่าจะกลับทิศทางกัน  ได้เห็นป้ายบอกทางออกฉุกเฉินและทางไปบันไดขึ้นลงในอาคารมากมาย ฯลฯ   
 
ถึงตอนนี้ ท่านทั้งหลายคงมโนไปได้ไกลมากแล้ว ผมคงจะไม่ต้องขยายความต่อ

    ท่าน N.C. เป็นผู้ที่ทราบเรื่องเหล่านี้ดี ซึ่งเป็นข้อที่ต้องคิดคำนึงในการออกแบบอาคารที่มีพื้นที่สาธารณะมากๆตลอดเวลา  ซึ่งก็จะสวนทางกับความต้องการปริมาณพื้นที่ใช้สอยที่ทำเงินให้ได้มากที่สุดสำหรับผู้ลงทุน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 331  เมื่อ 12 พ.ย. 14, 19:14

สำหรับการเตรียมการของญี่ปุ่นนั้น มีในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผมยังไม่เห็นในที่อื่นใดว่าจะมีการดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คือเรื่องของการรักษาชีวิตของแต่ละบุคคลให้รอดเมื่อเกิดเหตุก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือใดๆ    ซึ่งในที่อื่นๆเกือบทั้งหมดจะเป็นเพียงการเผยแพร่ให้รับรู้ แต่ที่ญี่ปุ่นไปถึงระดับที่เป็นข้อกำหนดว่าจะต้องทำ และดูเหมือนว่าจะมีโทษอยู่ด้วย  ที่สำคัญมีอาทิ

   - การรายงานต่อเขตเมื่อมีผู้เข้ามาพักพิงอาศัยอยู่ในเขตนั้นๆ (มิใช่ระบบทะเบียนบ้าน เป็นระบบจดทะเบียน เพื่อสิทธิอันพึงมี)
   - แต่ละบ้านจะต้องมีหมวกกันน๊อก (ครบตามจำนวนผู้อยู่อาศัย) มีไฟฉาย มีอาหารแห้ง และมีแผ่นคู่มือคำแนะนำว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดเหตุ ทั้งหมดนี้จะต้องจัดวางไว้ในสถานที่ๆที่หยิบฉวยได้ง่าย ซึ่งก็คือ มักจะเป็นตู้แขวนเสื้อคลุม เสื้อฝน ร่ม หมวก ฯลฯ บริเวณทางเข้าทางออกบ้าน
   - กำหนดระยะเวลาการตรวจสอบ ซ่อมแซม และปรับปรุงอาคารสถานที่ต่างๆ
   - drill exercise __ การซักซ้อมการปฏิบัติต่างๆเมื่อเกิดเหตุและอยู่ในสถานะการณ์ฉุกเฉิน   

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 332  เมื่อ 12 พ.ย. 14, 19:30

ในอินโดนีเซีย ก็มีการดำเนินการ  ในลักษณะส่งเสริมการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

เรื่องหนึ่งก็คือ การใช้ไม้ตีใขว้เป็นตัว x ระหว่างเสาบ้านไม้ และหากจะก่ออิฐปิดเป็นผนังระหว่างเสาบ้าน  ก็ควรจะใช้ตะแกรงลวด (wire mesh) แผ่นสั้นๆตีกับเสาบ้าน (ซึ่งเป็นไม้) แล้ววางลาดมาบนชั้นอิฐที่ก่อขึ้นมา คือทำให้ไม้กับปูนยึดหรือเชื่อมต่อกันใกล้เคียงกับการเป็นเนื้อเดียวกันต่อเนื่องกัน 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 333  เมื่อ 14 พ.ย. 14, 19:05

มีอีกเรื่องหนึ่งที่ฝ่ายรัฐของญี่ปุ่นเขาทำ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง  คือ

จากข้อมูลและการวิเคราะห์คาดเดาในทางวิชาการสถิติ (return period & maximum likelihood magnitude)  เขาเห็นพ้องกันว่ามีความเป็นไปได้มากๆๆๆ ที่จะต้องเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จากรอยเลื่อนของโครงสร้างในกลุ่ม synthetic fault ในช่วงทศวรรษของปี 2000 +  + และ + (?) คือ พื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกด้านเหนือและใต้ของกรุงโตเกียว (หลายร้อย กม.)   แม้ว่าจะได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่โดยทั่วไปรู้จักกันในชื่อ Kobe earthquake เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ.1995  (ญี่ปุ่นได้ตั้งชื่อเรียกขานว่า  The Great Hanshin Earthquake) มาแล้วก็ตาม   

ซึ่ง...แล้วก็เกิดจริงๆเมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2011 ที่เป็นข่าวไปทั่วโลก เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากๆ และก็เกิด Tsunami ไปทั่วชายฝั่ง เป็นพื้นที่กว้างขวาง (ญี่ปุ่นตั้งชื่อเรียกขานว่า The Great Tohoku Earthquake)

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 334  เมื่อ 14 พ.ย. 14, 19:32

เขาได้เตรียมการอย่างไรบ้าง ??

หลังจากเกิดเหตุใน ปี 1995  ญี่ป่นได้ทำการศึกษาลงลึกในแทบจะทุกแง่มุมที่สามารถจะคิดได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการมากพอที่จะจัดทำเป็นข้อกำหนดหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านวิศวกรรม   และมากพอที่จะสื่อกับประชาชนทุกๆแง่มุมในเชิงของ mitigation

แล้วได้ทำอะไรบ้าง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 335  เมื่อ 15 พ.ย. 14, 19:24

มากมายหลายเรื่องเลยครับ
 
ผมได้มีโอกาสไปเห็น ไปสัมผัส และเรียนรู้มากมาย ในเข้าไปร่วมใน Petit Forum ของทางราชการญี่ปุ่น ซึ่งเป็นปฏิบัติการของฝ่ายรัฐของญี่ปุ่นเพื่อการแสดงถึงศักยภาพ หลักคิด หลักนิยม และความก้าวหน้าต่างๆในทุกมิติของญี่ปุ่น

ซึ่งในด้านภัยพิบัติจากธรรมชาติ โดยเฉพาะจากแผ่นดินไหวนี้ เขาได้ดำเนินการเพื่อลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน (ที่มุ่งเน้นไปถึงระดับปัจเฉกบุคคล ดังที่ได้เล่ามา) ดังนี้ อาทิ

   - การสร้างกำแพง (เขื่อน คันดิน ถนน แบริเออร์ปูน ประตูน้ำ ฯลฯ) สูง 5 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตลอดชายฝั่งด้านมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อกัน tsunami (แต่ก็ผิดพลาดนะ)  ซึ่งหากย้อนไปดูภาพของ tsunami ครั้งรุนแรงเมื่อเร็วๆนี้ ก็จะเห็นภาพของน้ำล้นข้ามกำแพงกัน tsunami เหล่านั้น    ซึ่งความสูงของกำแพงระดับนี้ ได้มาจากการคำนวนจากรูปแบบจำลองกรณีของรอยเลื่อนและขนาดของแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นต่างๆ

ผมได้เห็นกำแพงลักษณะนี้ แม้กระทั่งในแถบชายทะเลทางใต้ของประเทศ    ก็แปลกดีครับ มีกำแพงปูนสูงขั้นระหว่างพื้นที่ทำนากับหาดทรายของทะเล   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 336  เมื่อ 16 พ.ย. 14, 19:39

   - การสร้าง Simulator จำลองการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ Kobe Earthquake   ซึ่งทำทั้งในลักษณะตั้งอยู่ในศูนย์ถ่ายทอดตวามรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว (คือในอาคาร) และในลักษณะของ mobile unit (บนรถ 6 ล้อขนาดเล็ก)

ก็สร้าง simulator ในหลักเดียวกันกับ flight simulator  เพียงแต่แทนที่จะเป็นห้องแบบห้องนักบินที่ปิดมิดชิด ก็เป็นแผ่นพื้นราบที่เปรียบเสมือนพื้นห้องในบ้าน มีฝาผนังหนึ่งหรือสองด้าน คือ จัดให้เห็นว่าเป็นพื้นที่ของห้องครัว มีเคาท์เตอร์ มีอ่างล้างมือ มีเตาแกสที่มีกาต้มน้ำวางอยู่บนเตาแล้วก็มีถังแกสอยู่ข้างเตา มีโต๊ะเล็กๆพร้อมเก้าอี้ สำหรับนั่งทานอาหารกัน  ที่ผนังก็มีรูปภาพแขวนอยู่


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 337  เมื่อ 18 พ.ย. 14, 18:46

simulator นี้ เขาให้คนขึ้นไปยืน เพื่อจะได้รับรู้ และสัมผัสกับการไหวสะเทือนของแผ่นดินที่เกิดขึ้นจริง (เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวขนาดต่างๆ) เขาใจดีมากพอที่จะให้ลองสองครั้ง โดยครั้งที่สองจะบอกว่า เมื่อรู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหว เราจะต้องรีบทำอะไรบ้าง (รีบปิดเตาแกส ปิดวาล์วถังแกส ย่อตัวลง)  เอาเข้าจริงๆ พอเริ่มสั่น เราก็มักจะยืนหยุดนิ่ง พอสั่นมากขึ้น ก็จะย่อตัวลง อยู่กับที่ ไม่มีการเคลื่อนตัวไปปิดเตาแกส ปิดถังแกส และเอาหัวมุดใต้โต๊ะ แม้จะเป็นครั้งที่สองแล้วก็ตาม   มันก็เป็นลักษณะของการตอบสนองแบบอัตโนมัติของมนุษย์ต่อสถานการณ์เช่นนี้

การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ มิได้มุ่งประเด็นไปในเรื่องของการฝึกฝน แต่เป็นการกระตุ้นให้เอาข้อมูลที่ได้พบไปฝังอยู่ในต่อมสัญชาติญาณ ไม่ว่าผู้นั้นจะได้ยืนอยู่บนแท่นนั้นหรือไม่ก็ตาม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 338  เมื่อ 18 พ.ย. 14, 19:25

   - การสร้างและใช้ประโยชน์กับศูนย์ประชาชนประจำ Ku (เขต ตำบล หมู่บ้าน) ให้เต็มตามศักยภาพของสถานที่นั้น
   
ตามเขตต่างๆของญี่ปุ่นจะมีการสร้างศูนย์ประชาชนหรือศูนย์ชุมชน ซึ่งจะมีขนาดและพื้นที่สำหรับกิจกรรมสันทนาการต่างกันไป   ดูอย่างผิวเผินก็เหมือนกับสถานที่ๆไม่มีชีวิตชีวา  แต่แท้จริงแล้วมันมีกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา และมิใช่เฉพาะกับคนญี่ปุ่น แต่กับคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเขตนั้นด้วย อาทิ สระว่ายน้ำ สนามแบตมินตัน  สอนทำอาหารญี่ปุ่น สอนปักแจกันดอกไม้แบบ Ikebana  สอนภาษา ฯลฯ   เป็นกิจกรรมที่พยายามสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้คนที่พำนักอยู่ในเขตนั้น   สร้างความจำลึกๆให้คิดถึงสถานที่หลบภัย สถานที่พักพิง สถานที่เอาชีวิตรอด   ซึ่งก็คือสถานที่ๆเมื่อเกิดเหตุหรือภัยใดๆแล้วคนจะมารวมกัน มีสาธารณูปโภค มีความช่วยเหลือ มีสาธารณสุข มีการสื่อสารกับภายนอก ฯลฯ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 339  เมื่อ 21 พ.ย. 14, 19:14

   - การดำเนินการด้านการคมนาคม   คงจะมีอยู่หลายเรื่องมากๆ  แต่ที่ผมรู้นั้นมีเรื่องนึง  ที่ได้เห็นเรื่องนึง  กับที่ได้ประสบด้วยตนเองนั้นอีกเรื่องนึง
 
เรื่องแรก  เกี่ยวกับรถไฟ Shinkansen  รถไฟนี้มีความเร็วสูงมาก วิ่งระหว่างเมือง และวิ่งอยู่บนทางยกระดับค่อนข้างมาก  ด้วยความเร็วในระดับ 200+กม.ต่อ ชม.  แผ่นดินไหวสามารถจะทำให้รถไฟตกรางได้โดยง่ายมากๆ  ลองนึกดูภาพของตัวเราเองเดินช้าๆในห้างสรรพสินค้า ถุกกระแทกไปมาก็ไม่หกล้ม แต่หากเรากำลังวิ่ง ชนอะไรเพียงนิดเดียวก็หกล้มได้   

ญี่ปุ่นเขาใช้ความรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนที่เดินทางของคลื่นแผ่นดินไหวนี้ มาใช้ประโยชน์ ซึ่งก็คือ คลื่น P เดินทางเร็วกว่าคลื่น S มาก
   
ดังนั้น หากเกิดแผ่นดินไหวที่มาจากจุดกำเนิดห่างไปไกลในระยะทางไกลระดับนึง ก็จะมีช่วงเวลาสั้นๆที่สามารถจะใช้ช่วงเวลานี้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อลดระดับของความสูญเสียของชีวิตได้       ฉะนั้น เมื่อเครื่องมือได้รับสัมผัสแรกของคลื่น P ณ พิกัดนั้นๆ  (คลื่น P ให้ความรู้สึกคล้ายกับการทุบประตู ตามมาด้วยคลื่อน S ที่เหมือนกับการเขย่าประตู) ระบบอัตโนมัติ ทั้งจากระบบราง ระบบตัวรถไฟ และระบบสัญญาณ ก็จะไปสั่งการให้รถไฟลดความเร็วและหยุดในระยะทางที่สั้นที่สุด โดยเร็วที่สุด (ในระดับที่ไม่ทำให้ผู้โดยสารได้รับการบาดเจ็บรุนแรง) ก็คือ หยุดรถ Shinkansen อยู่กับที่ ในแทบจะทั้ังระบบการเดินรถเลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 340  เมื่อ 21 พ.ย. 14, 19:47

การใช้ประโยชน์ของช่วงเวลาของความต่างระหว่างความเร็วของคลื่น P กับคลื่น S นี้ มีการนำไปใช้ในประเทศหนึ่งในละตินอเมริกา   ณ เมืองหนึ่งที่อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดของแผ่นดินไหว (ชายฝั่งทะเล) ประมาณ 500 กม.  ใช้ในรูปของการเตือนภัยว่าต้องหาที่ปลอดภัยจากการพังทลายของอาคารบ้านเรือนต่างๆ 

ผมไม่ได้ติดตามว่าจะได้ผลเป็นหมู่หรือเป็นจ่า

อย่างว่าแหละครับ ก็มีทั้ง pro และ con ตามธรรมชาติของมนุษย์
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 341  เมื่อ 21 พ.ย. 14, 19:47

ผมมารู้เรื่องนี้จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่แถบเมือง Niigata ซึ่งอยู่ด้านชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น (Sea of Japan) ซึ่งเป็น Back arc basin ที่พบในระบบ Subduction zone ที่มีอัตราการมุดตัวค่อนข้างเร็ว

รถไฟ Shinkansen สายนี้มีชื่อว่า Joetsu Shinkansen   ซึ่งตลอดระยะทางของทางรถไฟสายนี้มีตัวจับสัญญาณคลื่นแผ่นดินไหว 19 ตัว (หากจำไม่ผิดนะครับ)     ขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหวนั้น มีขบวนรถไฟอยู่บนรางในช่วงที่ใช้ความเร็วสูงเต็มพิกัด  
ผลครับ   รถไฟหยุด ไม่ตกราง ไม่มีคนบาดเจ็บในระดับสาหัส   แต่กลับไปมีปัญหาว่ารถไฟหยุดในช่วงที่เป็นรางยกระดับ ผู้โดยสารออกจากรถไฟได้ แต่ไม่สามารลงสู่พื้นดินได้ ต้องเดินอยู่บนราง

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 342  เมื่อ 23 พ.ย. 14, 18:40

รถไฟจะหยุดและจะไม่เคลื่อนเข้าสถานี (พร้อมผู้โดยสาร)  จนกว่าจะมีการตรวจสอบความเสียหายที่อาจจะเกิดกับระบบราง (ตลอดทั้งเส้น) และระบบอีเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในระบบการเดินรถ  ก็ใช้เวลานานเป็นวันๆอยู่     เหตุที่ใช้เวลานานหน่อยก็เพราะว่า มันเป็นทางรถไฟยกระดับ ดังนั้น ชุดของโครงเสาที่ยกระดับรางจะต้องได้รับการตรวจสอบด้วย (ซึ่งเป็นแต่ละชุดแยกจากกัน) ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่ตัวเสาของชุดโครงเสา การทรุด การเอียงเท และแนวระดับต่างๆ

ญี่ปุ่นยังใช้เวลาเป็นวันๆ ที่อื่นมิแย่เลยหรือ ?
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 343  เมื่อ 23 พ.ย. 14, 19:05

สำหรับรถไฟฟ้าของระบบขนส่งมวลชนก็จะหยุดเหมือนกัน แต่จะค่อยๆเคลื่อนเข้าไปจอดที่สถานี เปิดประตูให้คนเข้าออกตู้รถโดยสาร พร้อมๆกับประกาศว่าเกิดอะไรขึ้น  

ผมประสบกับเรื่องนี้ครั้งหนึ่ง ฟังภาษาไม่ออกหรอกครับ ได้แต่นั่งรอ   ผู้โดยสารนั่งข้างๆเขาบอกจึงได้รู้ ประกาศแรกบอกว่าเกิดอะไรขึ้น    ประกาศที่สองบอกว่ารอระสักระยะ กำลังประเมินสภานการณ์   ประกาศที่สามบอกว่าจะใช้เวลานานและจะหยุดบริการจนกว่าจะตรวจสอบระบบว่ายังใช้ได้ดีและอย่างปลอดภัยหรือไม่ จึงจะเดินรถต่อไปได้ และขอให้ผู้โดยสารได้ออกจากสถานีไปใช้รถเมล์โดยไม่เสียค่าโดยสาร ซึ่งรถเมล์นี้จะไปยังสถานีที่เป็นชุมทางสำคัญของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ใกล้ที่สุด

ผมพบว่าเป็นรถเมล์วิ่งผ่านสถานีที่รถไฟฟ้าหยุดแต่มิใช่เป็นระเมล์ที่วิ่งผ่านสถานีที่จะไปส่งผู้โดยสารเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ (เพราะมีการปรับป้ายสายของรถเมล์นั้นๆ) ก็เป็นการปรับเปลี่ยนเส้นทางเพื่อการอำนวยความสดวก และเพื่อลดปัญหาสภาพความสับสนวุ่นวายที่อาจจะจัดการได้ยากมากขึ้น  

ครับเขาเปลี่ยนหรือซ้อนระบบการขนส่งมวลชนจากระบบรางไปเป็นระบบรถเมล์ได้อย่างแทบจะไร้รอยต่อ

ขนาดฟังภาษาไม่ออก ไม่รู้ระบบ mitigation ของเขาเลย ผมยังเสียเวลาเพิ่มไปเพียงประมาณ 45 นาทีเท่านั้น จากแทนที่จะเป็นการใช้รถไฟฟ้า ก็เปลี่ยนเป็นรถเมล์
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 344  เมื่อ 23 พ.ย. 14, 19:32

พูดถึงรถไฟฟ้าของญี่ปุ่น ก็ทำให้นึกถึงอีกเรื่องนึง 

เคยสังเกตใหมครับว่า ทำใมรถในระบบขนส่งมวลชนของระบบรางของหลายประเทศ  ที่รถหัวขบวนคันแรกจะมีประตูอยู่ที่ด้านหน้า เช่นเดียวกับที่มีอยู่ท้ายสุดของรถคันสุดท้ายของขบวน   

แน่นอนว่า เป็นประตูเชื่อมระหว่างตู้โดยสารเมื่อต้องต่อ/ต้องปลดตู้โดยสาร แต่ก็เป็นการเตรียมการไว้ในกรณีฉุกเฉินอีกด้วย     เพราะว่าประตูด้านข้างของตัวรถทั้งหมดจะมีระดับเท่ากับระดับพื้นของชานชลา หากมีเรื่องสำคัญที่รถต้องหยุดคารางนอกสถานี ผู้โดยสารจะลงจากรถลำบากมาก (ต้องกระโดดลง) เป็นเรื่องลำบากมากๆสำหรับผู้สูงอายุ   แต่การลงทางประตูด้านหน้าหรือท้ายขบวนนั้น ลงได้ง่ายกว่าโดยใช้บันได (บนรถมีกระไดเก็บซ่อนอยู่)   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 21 22 [23] 24 25 ... 31
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.329 วินาที กับ 19 คำสั่ง