เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 13281 อยากทราบผลกระทบทางด้านสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 11:03

เมื่อขึ้นชั้นมัธยม จึงเห็นความค่อยๆเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ในกรุงเทพเริ่มมีรถยนต์มาวิ่งเบียดที่รถราง จนในที่สุดรถรางชราก็ถูกเลิกใช้ด้วยข้อหาว่าเกะกะถนน แต่ถนนก็หาได้มีพอสนองความต้องการผิวจราจรของรถยนต์ไม่ รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการถมคูคลองข้างถนนไปเสียเกือบหมด ตึกรามบ้านเรือนใหม่ๆก็ถูกสร้างขึ้นแทนอาคารไม้เดิมๆริมถนนหลักๆทั้งหลาย
ครั้นเมื่ออยู่มหาวิทยาลัย กรุงเทพเริ่มขยายตัวออกไปทั่วปริมณฑล ระยะนี้เองที่สังคมและเศรษฐกิจของชาติเริ่มเร่งความเร็วในการเปลี่ยนแปลง อุปมาเหมือนคนขี่จักรยาน เริ่มจากต้องประคองตัวเองและรถให้นิ่งก่อนในความเร็วต่ำ เมื่อตั้งหลักได้แล้วจึงเพิ่มกำลังเร่งความเร็ว จากเร็วน้อยไปเร็วมาก จากเร็วมากไปถึงเร็วที่สุด ถึงตรงนี้แล้วหากไม่ชลอกำลังเร่งเสียบ้างคนขี่คงขาดใจตายคาอาน คล้ายเศรษฐกิจไทยที่ครั้งหนึ่งละลายเป็นฟองสบู่แตกมาแล้ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 11:22

จากคำถามของคุณเอื้องหลวง ผมเชื่อว่า ตัวแรกที่เข้ามากระตุ้นสังคมเศรษฐกิจไทย คืออิทธิพลของฝรั่งที่เข้ามาในช่วงสงครามเลิก ตัวหลักคืออเมริกันที่พยายามจะ Americanize ให้เมืองไทยให้กลมกลืนกับเขา

เมื่อสงครามโลกจะยุติลง แต่พันธมิตรสงครามก็ยังแปลกแยกกันมากระหว่างประเทศคอมมิวนิสต์และประเทศเสรีทุนนิยม เมื่อชำระความกับญี่ปุ่นและเยอรมันแล้ว สงครามเย็นระหว่างรัสเซียและจีนแผ่นดินใหญ่ค่ายหนึ่ง กับอเมริกันและยุโรปอีกค่ายหนึ่งก็เริ่มเล่นกันแรงขึ้นทุกที ในอุษาคเนย์ก็เป็นอีกสังเวียนหนึ่งที่มหาอำนาจแยกเขี้ยวหวงก้างกันอยู่


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 11:37

การเข้ามาเมืองไทยเพื่อประโยชน์ของอเมริกันนั้น ไม่ได้ใช้วิธีล่าเมืองขึ้นอย่างสมัยโบราณ แต่เขามองข้ามไปอีกทฤษฏีหนึ่งเลย คือขุนให้อ้วนก่อนแลัวค่อยๆรีดเนื้อนมไข่กินทีหลัง พูดให้เป็นรูปธรรม อเมริกาได้เข้ามาสอนให้เรารู้จักการพัฒนาประเทศ โดยให้ทุนสารพัด ตั้งแต่ส่งคนไปเรียน ไปดูงาน ตลอดจนให้กู้เงินทั้งปลอดดอกเบี้ยหรือคิดถูกๆ ให้เอามาสร้างระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น เพิ่มคุณภาพให้การสาธารณสุข หรือการศึกษาให้พลเมือง หวังว่าวันหนึ่งสังคมและเศรษฐกิจไทยจะเจริญขึ้นถึงขีดที่จะรองรับการเข้ามาลงทุนของเขา ที่จะเข้ามาใช้ทรัพยากรใต้ดินและแรงงานที่มีความรู้ความสามารถ แต่ราคาถูกของเรา เพื่อทำกำไรส่งกลับไปบ้านเขาได้เป็นกอบเป็นกำต่อไป

ในละแวกอาเชี่ยน อเมริกันได้ไทยไปเดินตามหลังต้อยๆ ในขณะที่อังกฤษได้มาเลเซียและสิงคโปรตามบารมีดั้งเดิม นอกนั้นบอกว่าขอเป็นกลาง คือไม่ยอมให้มหาอำนาจใดเข้าไปผูกขาดเพราะเข็ดเขี้ยวเจ้าอาณานิคมเก่า แต่ถ้าใครจะให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไขก็เอา ซึ่งจีนแดงได้รับบทผู้บริจาคนี้ไป อเมริกันจึงบอกเราว่าพวกพม่า ญวน เขมร ลาว นี้ฝักไฝ่คอมมิวนิสต์ ก็คงจริงส่วนหนึ่ง และเราก็ดูแคลนว่าประเทศเหล่านั้นล้าหลังเรา ที่เจริญขึ้นกว่าเขาอย่างพรวดพราดมาก

เหมือนอีหนูจากพัฒน์พงศ์กลับไปเยี่ยมบ้าน แล้วดูถูกอีสาวบ้านนาว่า ไม่มีเสื้อผ้าเครื่องสำอางค์จะแต่ง ผมจะยังไม่พูดว่าถึงวันสุดท้ายแล้วใครที่คิดผิดคิดถูก นั่นเป็นเรื่องอนาคตต้องดูไปยาวๆ แต่จะย้อนกลับไปอดีตอีกครั้งหนึ่ง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 11:46

ในสมัยรัฐบาลจอมพลป.ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานราชการใหม่ขึ้นในปี ๒๔๙๓ เรียกว่า "สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ" ตามที่ยูซ่อม (USOM-United States Operations Mission)แนะนำ มีหน้าที่เสนอความเห็นต่อรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ  แต่รัฐบาลตั้งมาแล้วก็คงฟังมั่งไม่ฟังมั่ง ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องไหนจะมีเงินช่วยเหลือติดปลายนวมมาด้วยหรือเปล่า
เมื่อเปลี่ยนมาถึงยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนาคารโลก(ซึ่งอเมริกันมีอิทธิพลมาก)ได้เสนอแนะรัฐบาลไทยให้เพิ่มบทบาทหน้าที่ของสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานกลางที่ปลอดจากการแทรกแซงของนักการเมือง เพื่อทำหน้าที่วางแผนพัฒนาประเทศขึ้นมาโดยใช้หลักวิชาการล้วนๆ ไม่มีวาระซ่อนเร้นเพื่อหาคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองใด  จึงเรียกชื่อหน่วยงานนี้เสียใหม่ในปี ๒๕๐๒ ว่า "สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ" เรียกสั้นๆว่า “สภาพัฒน์”

ผมฟังธงเลยว่า “สภาพัฒน์” นี้แหละที่เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า“ความเจริญ”ทั้งสังคมและเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด

จอมพลสฤษดิ์นั้นมีคุณความดีอยู่ประการหนึ่ง ในฐานะที่เป็นผู้ที่ใช้คนเป็นและให้เกียรติ เรื่องในระดับชาติเช่นนี้ ท่านจะไม่เข้าไปแทรกแซงในรายละเอียดยิบย่อยเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ไปจัดสรรกันในระหว่างตนเองและสมุนบริวาร โครงการที่สภาพัฒน์เสนอในที่ประชุม ท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการจะตัดสินใจในหลักการทันทีว่าเอาหรือไม่เอา ถ้าเอาก็ไปทำตามวิธีของคุณ ให้สำเร็จตามที่คุณว่าก็แล้วกัน
 
หน่วยงานในสภาพัฒน์นั้นอุดมไปด้วยบุคคลระดับมันสมองของประเทศ สมัยก่อนใครจบเศรษฐศาสตร์มาต้องมุ่งเข้าทำงานที่สภาพัฒน์ก่อน เมื่อมีประสบการณ์แล้ว ธนาคารต่างๆจะประมูลตัวไปอีกที จึงไม่ต้องสงสัยว่าผลงานของท่านเหล่านั้นจะสร้างคุณานุคุณให้แก่ชาติไว้อย่างไร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 11:53

ผลงานของสภาพัฒน์จะเสนอเป็นแผน คล้ายการทำงานของสถาปนิกเวลาจะสร้างอาคาร จะต้องมีแผนแบบเสียก่อน ไม่ใช่คิดไปสร้างไป สำหรับงานพัฒนาประเทศนั้น เรียกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ  ซึ่งประกาศใช้ฉบับที่๑ในปีพ.ศ. ๒๕๐๔ สำหรับโครงการต่างๆที่จะกระทำก่อนและหลังในเวลา๕ปี คือตั้งแต่ ๒๕๐๔ถึง๒๕๐๗

สาระสำคัญของแผนแรกนี้ตามที่ผมลอกมาจากเวปนึงก็คือ

เน้นการลงทุนสร้างปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (infra-structure) ของประเทศ ได้แก่ การสร้างทางหลวงสายประธาน การพัฒนาเส้นทางรถไฟ การปรับปรุงการประปา และการสร้างเขื่อนเพื่อการชลประทานและการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นต้น

ส่งเสริมการลงทุนของเอกชนในด้านอุตสาหกรรม และเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม สินค้าสำเร็จรูป

ส่งเสริมการศึกษาขั้นอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผน ประสบความสำเร็จในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.1 ต่อปี มูลค่าสินค้าออกเพิ่มมากขึ้น มีสินค้าออกที่เป็นรายได้ หลักของประเทศเพิ่มชนิดขึ้น ได้แก่ ข้าวโพด ปอ มันสำปะหลัง นอกเหนือจากข้าว ไม้สัก ยางพารา และดีบุกที่มีอยู่แต่เดิม

ปัญหาและอุปสรรค ขาดแคลนบุคลากรทางด้านเทคนิค วิชาการ และการบริหาร และต้องพึ่งเงินทุนเงินกู้จากต่างประเทศทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานตามโครงการ ผลกระทบประการสำคัญคือการกระจายรายได้ยังไม่ยุติธรรม เพราะผลจากการพัฒนาตกอยู่กับผู้มีโอกาสทางเศรษฐกิจ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 12:14

จนถึงปัจจุบัน สภาพัฒน์ได้เสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาแล้วถึง๑๑ฉบับ เมืองไทยจึงเป็นอย่างที่คุณเห็น ซึ่ง หลังเกิดปฏิวัตินักศึกษาในปี๒๕๑๔ สมัยนั้นประชาธิปไตยเบิกบาน ผู้มีความคิดทางด้านสังคมนิยมได้ประนามสภาพัฒน์ว่า ดีแต่รับใช้นายทุน โดยมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจจนลืมความสำคัญในด้านสังคมไป ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย บางเรื่องก็กลายเป็นเรื่องขัดแย้งระหว่างนายทุนกับชาวไร่ชาวนา หรือนายทุนกับผู้ใช้แรงงาน จนถึงใช้กำลังปะทะก็เห็นๆ คนฉลาดในสภาพัฒน์ก็รับฟังและรีบนำไปปรับปรุงแนวคิด  

ในปี๒๕๑๕ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อของหน่วยงานใหม่อีกครั้งหนึ่งเป็น "สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" โดยนำกระบวนการวางแผนพัฒนาสังคมเข้ามาใช้ควบคู่กับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจังด้วย แต่จะจริงจังได้แค่ไหนนั่นเป็นคนละประเด็น

เอาเท่านี้ก่อน หวังว่าคุณเอื้องหลวงคงได้การบ้านไปอ่านโดยไม่ตาแฉะไปเหมือนคนจิ้มแป้นพิมพ์หน้าคอม
ขออภัยคุณหนุ่มสยามด้วย ความจริงคำถามนี้ผู้ถามเจาะจงถามคุณหนุ่มสยาม แต่ผมเสนอตนเข้ามาตอบซะยืดยาว ไม่ทราบจะเห็นตรงกันหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 12:35

เข้ามาแอบอยู่หลังห้อง    นึกไม่ออกว่าจะเพิ่มตรงไหนดี   


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 12:40

จอมพลสฤษดิ์นั้นมีคุณความดีอยู่ประการหนึ่ง ในฐานะที่เป็นผู้ที่ใช้คนเป็นและให้เกียรติ เรื่องในระดับชาติเช่นนี้ ท่านจะไม่เข้าไปแทรกแซงในรายละเอียดยิบย่อยเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ไปจัดสรรกันในระหว่างตนเองและสมุนบริวาร โครงการที่สภาพัฒน์เสนอในที่ประชุม ท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการจะตัดสินใจในหลักการทันทีว่าเอาหรือไม่เอา ถ้าเอาก็ไปทำตามวิธีของคุณ ให้สำเร็จตามที่คุณว่าก็แล้วกัน

ขออนุญาตนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งของ "จอมพลคนดี"  คุณเอื้องหลวงสามารถเข้าไปอ่านได้ในกระทู้  โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา กวีนิพนธ์ ของ จิตร ภูมิศักดิ์   ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 12:51

อ่านที่คุณเพ็ญระโยงไว้แล้ว ผมก็ยังยืนยันความเห็นของผมตามที่พยายามเขียนอย่างระมัดระวังแล้วในล้อมกรอบ

อ้างถึง
จอมพลสฤษดิ์นั้นมีคุณความดีอยู่ประการหนึ่ง ในฐานะที่เป็นผู้ที่ใช้คนเป็นและให้เกียรติ เรื่องในระดับชาติเช่นนี้ ท่านจะไม่เข้าไปแทรกแซงในรายละเอียดยิบย่อยเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ไปจัดสรรกันในระหว่างตนเองและสมุนบริวาร โครงการที่สภาพัฒน์เสนอในที่ประชุม ท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการจะตัดสินใจในหลักการทันทีว่าเอาหรือไม่เอา ถ้าเอาก็ไปทำตามวิธีของคุณ ให้สำเร็จตามที่คุณว่าก็แล้วกัน


ผมเขียนผิดตรงไหนก็ว่ามาเลยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 14:24

จิตร ภูมิศักดิ์ถูกจับในข้อหา "สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายใน และภายนอกราชอาณาจักรและกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์" เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501    ถูกคุมขังอยู่จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2507 จึงได้รับอิสรภาพ

เมื่อออกจากคุก  ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 จิตรได้เดินทางสู่ชนบทภาคอีสาน เพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิสนิสต์ต่อสู้กับรัฐบาล  ในนาม "สหายปรีชา"   ในการต่อสู้กับฝ่ายบ้านเมือง   จิตรถูกอดีตกำนันตำบลคำบ่อ อาสาสมัคร และทหารล้อมยิงจนเสียชีวิต  กลางป่าละเมาะ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509

ก็เป็นที่เข้าใจว่าทำไมจิตรจึงไม่เห็นความดีในตัวจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งมีนโยบายปราบปรามกวาดล้างคอมมิวนิสต์อย่างหนัก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 15:16

นอกจากจิตร ภูมิศักดิ์ แม้แต่รุ้ง จิตเกษมซึ่งประกาศว่าตนเองไม่ใช่คอมมิวนิสต์ก็ยังไม่พ้นอำนาจของท่านจอมพล

"รัฐบาลของผู้นำแห่งประเทศ   ได้จับกุมปรปักษ์ของตนไปทำทารุณกรรมจำนวนมากขึ้นทุกที    รัฐบาลอาจไม่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการตัดทอนโอกาสแห่งความเจริญของชาติ   ด้วยมีอคติ รัก โลภ โกรธ หลง มากำบังปัญญา"
รุ้งเขียนข้อความนี้ลงในผดุงวิทยา   เมื่อกลับมาจากไปเยี่ยมเพื่อนร่วมอาชีพของเขาที่ลาดยาว

วันรุ่งขึ้นเมื่อบทความนี้ตีพิมพ์   บ่ายวันนั้นเอง รุ้งก็ได้รับเกียรติไปพบรองอธิบดีตำรวจ ด้วยการมาเชิญถึงบ้าน จากนายตำรวจระดับพันตำรวจเอก
เพื่อจะถูกแจ้งข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์


" ผมขี้เกียจเถียงกับคุณอีกแล้ว    ถามคำเดียว คุณจะเขียนอย่างที่ผมต้องการให้เขียนหรือเปล่า"
" ถ้าผมไม่เขียนยกย่องสรรเสริญรัฐบาลตามที่คุณต้องการ    คุณจะทำอะไร" เขาถาม
" คุณก็เดาคำตอบได้แล้วไม่ใช่หรือ"

จากวันนั้น   รุ้งถูกส่งตัวไปเรือนจำลาดยาว ไม่มีกำหนดว่าจะพ้นโทษเมื่อใด


คุณเอื้องหลวงสามารถเข้าไปอ่านเรื่องของรุ้งกับท่านจอมพลได้ที่กระทู้ รุ้ง จิตเกษม หน้า ๙-๑๐  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 15:33

รุ้งเผชิญกับจอมพลป.พิบูลสงคราม   ไม่ใช่จอมพลสฤษดิ์ ค่ะ
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ขึ้นสู่อำนาจ ในพ.ศ. 2500    ม.ร.ว.นิมิตรมงคล ผู้ให้ชีวิตแก่รุ้ง จิตเกษม ถึงแก่กรรมไปเกือบ 10 ปีแล้ว

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 15:50

หมายถึงรุ้งในภาคต่อของคุณเทาชมพู  ยิงฟันยิ้ม

อย่างไรก็ตาม  รุ้งไม่ต้องทนทรมานอยู่ในลาดยาวนานนัก   เพราะจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่  8 ธันวาคม  2506  หลังจากรุ้งอยู่ในลาดยาวเพียงสองสามเดือน
อำนวย เจ้าของหนังสือพิมพ์ผดุงวิทยาใหม่  ให้ทนายความยื่นคำร้องต่ออธิบดีตำรวจคนใหม่ ขอให้ปล่อยตัวรุ้งเป็นอิสระ   แค่หนึ่งเดือนต่อมา   รุ้งก็ถูกปล่อยตัวกลับบ้านได้อีกครั้ง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 15:56

ก่อนที่คุณเอื้องหลวงจะมึนงงจนรับไม่ไหวจากโรงเรียนกวดวิชาทางอินเทอเน็ท ผมขอชี้แจงเพิ่มเติมดังนี้

การที่ผมไม่ได้เอ่ยถึงจอมพลสฤษดิ์ในบทบาทของนายกรัฐมนตรีแบบเผด็จการที่ใช้อำนาจรุนแรงในการปกครอง เพราะผมต้องการตอบกระทู้นี้ในขอบเขตของ คำถาม แต่เมื่อเอ่ยถึงสภาพัฒน์ก็จำเป็นต้องเอ่ยถึงจอมพลสฤษดิ์ เพราะสภาพัฒน์ผ่านยุคที่เสมือนคนขี่จักรยานช่วงจะล้มหรือจะรอด จนกระทั่งตั้งหลักเร่งความเร็วได้ก็เพราะนายกรัฐมนตรีเผด็จการคนนี้มิได้เข้าไปล้วงลูกกระทำ"คอรัปชั่นเชิงนโยบาย" แต่ปล่อยให้มืออาชีพเขาร่างแผนของเขาไป แผนพัฒนาฉบับที่ ๑ จึงแล้วเสร็จออกมาอย่างมีคุณภาพ เป็นต้นแบบให้แก่แผนพัฒนาฉบับต่อๆไปที่ออกทุกๆ ๕ ปี โดยที่นายกรัฐมนตรีที่ถือว่าเป็นเผด็จการทหารคนต่อๆมาก็มิได้เข้าไปแทรกแซง  ผมต้องการเสนอเพียงจุดนี้
ส่วนเมื่อกระทรวงกรมกองต่างๆนำแผนไปปฏิบัติ โดยการตั้งงบประมาณประจำปีขึ้นตามแผน อะไรที่เป็นงานก่อสร้างจะต้องประมูล ก็ประมูลกันไปตามระเบียบราชการ ในชั้นนี้ผมไม่ปฏิเสธว่ามีการฮั้วกันโดยบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่ส่วนใหญ่แล้วเส้นใหญ่เพราะมีผู้ถือหุ้นลมระดับเบิ้มๆทั้งนั้น เชื่อได้ว่าจอมพลสฤษดิ์ก็มีบริษัทบริวารกับเขาด้วย แต่มิได้ผูกขาด ก็แบ่งๆกันไปกับบริษัทของคนอื่นๆเขาด้วยบ้าง จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ถูกด่า หลายสำนวนที่ด่าจอมพลสฤษดิ์อ่านแล้วน่าเชื่อถือกว่ากวีนิพนธ์ของจิตรด้วยซ้ำ

คนเรานั้น ถ้ามองด้วยความเป็นกลาง ไม่ว่าใครจะดีแสนดีอย่างไร ก็ย่อมมีข้อเสียให้ถูกตำหนิได้ เช่นเดียวกับคนที่เลวแสนเลว ที่อาจจะมีข้อดีอยู่เหมือนกัน

การโกงกินแบบจอมพลสฤษดิ์ นักการเมืองยุคหลังบอกว่านั่นมันเด็กๆ เดี๋ยวนี้ต้องเล่นระดับนโนบาย เพราะกินแบบเดิมๆมันคำเล็กไป สู้ปั้นอภิมหาโคตระโปรเจกต์ขนาดหมื่นล้านแสนล้านผ่านสภาโดยไม่ผ่านสภาพัฒน์มากินกันเนียนกว่า ดีกว่ากันแยะเลย

ผมไม่อยากจะกล่าวมาถึงตรงนี้เล้ย เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นห้องราชดำเนินไป ไม่สนุกและไม่ได้ความรู้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 30 เม.ย. 14, 15:59

หมายถึงรุ้งในภาคต่อของคุณเทาชมพู  ยิงฟันยิ้ม

อย่างไรก็ตาม  รุ้งไม่ต้องทนทรมานอยู่ในลาดยาวนานนัก   เพราะจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่  8 ธันวาคม  2506  หลังจากรุ้งอยู่ในลาดยาวเพียงสองสามเดือน
อำนวย เจ้าของหนังสือพิมพ์ผดุงวิทยาใหม่  ให้ทนายความยื่นคำร้องต่ออธิบดีตำรวจคนใหม่ ขอให้ปล่อยตัวรุ้งเป็นอิสระ   แค่หนึ่งเดือนต่อมา   รุ้งก็ถูกปล่อยตัวกลับบ้านได้อีกครั้ง

ไม่อนุญาตให้นำมาอ้าง   เดี๋ยวคนอื่นจะสับสนกับรุ้งตัวจริงในหนังสือ เมืองนิมิตร ความฝันของนักอุดมคติ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 20 คำสั่ง