ไปดูจัดวังสราญรมย์สำหรับรับรัชทายาทเยอรมันวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน เวลาบ่าย ฉันได้ไปที่วังสราญรมย์, เพื่อเตรียมจัดรับรัชทายาทเยอรมัน, ซึ่งกำหนดว่าจะเข้าเยี่ยมกรุงสยามในปลายศก ๒๔๕๓ นั้น วังนี้ได้เปนที่อยู่ประจำของฉันในปลายรัชกาลที่ ๕, และพอทราบว่าทูลกระหม่อมต้องพระราชประสงค์จะใช้เปนที่รับแขกเมือง ฉันก็ได้จัดการแก้ไขและซ่อมแซมขึ้นเปนหลายแห่ง, ฉนั้นจึ่งดูสอาดสอ้านเรียบร้อยดี เมื่อไปดูวังนี้ทำให้รู้สึกออกจะใจหายอยู่บ้าง คือ ข้อ ๑ นึกเสียดายว่าเสียแรงได้จัดการแก้ไขซ่อมแซมแล้วก็เลยไม่ได้ใช้, และอีกข้อ ๑ รู้สึกว่าที่นั้นเปนบ้านเก่าของตน, ที่ได้เคยอยู่เปนสุขแล้วเปนหลายปี, มีเยื่อใยชอบใจติดพันยังไม่หาย
รัชทายาทเยอรมันงดมาเมืองเราตามที่ฉันได้กล่าวมาแล้ว, เราได้ตระเตรียมการรับรองรัชทายาทเยอรมันไว้ตลอดแล้ว, แต่ครั้นเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ฉันได้รับข่าวจากกระทรวงต่างประเทศ ว่ารัชทายาทเปนอันงดการมาเมืองเรา พระยาศรีธรรมสาสน (ทองดี สุวรรณสิริ), อัครราชทูตของเราที่กรุงเบอร์ลินในเวลานั้น (ภายหลังเปนพระยาบำเรอภักดิ์, แล้วเปนพระยาสุวรรณสิริ), ได้โทรเลขบอกมาว่า มีข้าราชการผู้ใหญ่แห่งกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันผู้ ๑ ได้บอกว่า, โดยเหตุที่เกิดมีกาฬโรคที่เมืองจีน, การที่รัชทายาทจะเข้ามาเมืองเราต้องงด, และว่าการไปเมืองจีนและเมืองญี่ปุ่นก็งดด้วย และว่าจะกลับจากอินเดียทีเดียว. แมื่อฉันได้รับข่าวนั้น ฉันรู้สึกไม่พอใจมากอยู่, เพราะประการ ๑ บอกเลิกเอาจวน ๆ เวลาที่กำหนดไว้ว่าจะเข้ามา, ฉนั้นการตระเตรียมต่าง ๆ ก็เปนอันต้องเปลืองเปล่าหมด, เพราะสั่งงดไม่ทัน, อีกประการ ๑ ไหน ๆ จะบอกเลิกทั้งทีแล้ว ตัวรัชทายาทเองจะบอกตรงมายังเราสักคำสองคำก็ไม่ได้, ใช้แต่ให้เจ้าพนักงานบอกทางทูตเท่านั้น ดูไม่มีกิริยาอัชฌาศัยเสียเลย. ต่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ฉันจึ่งได้รับโทรเลขจากไกเส้อร์มีมาว่า, โดยเหตุที่มีโรคภัยไข้เจ็บชุกชุมอยู่ในประเทศจึน, เปนการจำเปนที่จะต้องงดการที่รัชทายาทมาทางบุรพเทศอีก จึ่งจำเปนต้องของดการที่จะมากรุงสยาม, และขอบใจฉันและรัฐบาลที่ได้ตระเตรียมการับรองไว้ เรื่องงดการรัชทายาทเยอรมันเดิรทางต่อมาจากอินเดียครั้งนั้น ออกจะเปนการลึกลับอยู่หน่อย, และได้มีข้อความโจษกันต่าง ๆ นานา, บ้างก็ว่าเปนเหตุเพราะรัชทายาทได้ไปกระทำเหตุฉาวขึ้นในอินเดีย เนื่องด้วยเรื่องผู้หญิง, บ้างก็ว่าสาเหตุมีเนื่องด้วยการเมือง, แต่ความจริงจะเปนอย่างไรก็เลยไม่ได้ความชัด.
จาก ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ 