เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14
  พิมพ์  
อ่าน: 51447 รูปหายากจากสมุดภาพเก่าของคุณศรีมนา
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 17 พ.ค. 14, 10:28

อีกอย่างนะคะ  
อิริยาบถที่นั่งพับเพียบ รวมกลุ่มเป็นระเบียบ จัดแถวเรียบร้อย มีหญิงที่ดูหน้าตาเป็นผู้ใหญ่กว่าเพื่อนนั่งหน้า  มันไม่ใช่อิริยาบถของคนกำลังลงเล่นน้ำ ซึ่งควรกระจายตัวตามสบายไม่มีระเบียบอะไร

ภาพนี้บอกให้รู้ว่าพวกอิฉันกำลังนั่งพับเพียบอยู่ริมหนองน้ำนะเจ้าคะ  ข้างล่างถ้าไม่ใช่ทรายก็โคลนคันคะเยอ  ข้างบนก็แดดเผา   นุ่งห่มก็เต็มเพียบ  ทรมานกายยิ้มไม่ออกเลยเจ้าค่ะ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 17 พ.ค. 14, 11:14

สงสารยายที่นั่งเกาฮ่องกงฟุตยิกๆอยู่ใต้น้ำ แถมบ่นดังๆให้อีหล่าตาฮักตาแพงยิ้มหัวกันกะด้อกะเดี้ย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 18 พ.ค. 14, 09:12

ดิฉันแยกคำถามของคุณ anna ออกไปแล้ว เพราะเธอน่าจะโพสผิดกระทู้  เลยพลอยเกี่ยวเอาค.ห.ของคุณ Jalito ออกไปด้วย
ต้องใช้วิธี quote  ของคุณ Jalito เอากลับมาอีกครั้งค่ะ

อ้างจาก: NAVARAT.C ที่  16 พ.ค. 14, 07:51
... แต่นึกขึ้นว่าถ้าเวลาเมื่อฉันไป  มีพวกราษฎรในเมืองเวียงจันทน์พากันมาห้อมล้อมไหว้เจ้า ตามประสาของเขาเหมือนอย่างทางฝั่งข้างนี้  ก็อาจจะกระเทือนไปถึงการเมือง...

เพิ่งทราบว่าคำ "การเมือง" มีใช้มาแต่สมัยกรมพระยาดำรงฯ รู้สึกว่าใช้กับประเด็นระหว่างประเทศมากกว่าภายในประเทศ เพราะตอนนั้นการเมืองในประเทศเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์แต่พระองค์เดียว
อีกไม่กี่สิบปีต่อมาเสด็จในกรมก็หลบเลี่ยงคำนี้ไม่พ้น จนต้องไปประทับต่างประเทศพักใหญ่
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 20 พ.ค. 14, 06:02

ผมไปค้นดูพบว่าคำว่าการเมืองปรากฏตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่๕แล้ว ดังเช่นพระราชหัตถเลขาที่มีไปถึงสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯคราวเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ. ๑๐๘ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๒ ช่วงที่เสด็จขึ้นเมืองยิหริ่ง (อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน)ใจความว่า

เขาแต่งโรงหลังหนึ่งคล้ายโรงเลื่อยไม้เปนพลับพลาที่รับริมท่า ขึ้นนั่งรอพอพรักพร้อมกัน นิโซ๊ะบุตรพระยายิหริ่ง พาสีตวันกรมการมาคอยรับอยู่ที่นั่น แล้วออกเดิรตามหนทางที่เรียกว่าเปนถนนไม่ได้ เพราะเปนพื้นทรายปรกติทั่วไป ทรายลึกเดิรลำบาก ผ่านน่าบ้านพระยายิหริ่งเก่า มีหอนั่งเปนโรงหลังคามุงกระเบื้อง เรือนฝากระดานหลังคามุงกระเบื้องหลายหลังแต่ชำรุดทรุดโทรม ต้นไม้ขึ้นรกเปนที่ร้าง ต่อนั้นไปสุเหร่ามีโรงสวดหลังย่อมๆ หลังคามุงกระเบื้องหลังหนึ่ง มีหอระฆังหอหนึ่ง ที่วัดนั้นก็อยู่ข้างจะโทรมแต่ไม่ถึงร้าง อีกฟากถนนหนึ่งถึงก็เปนบ้านเรือน มีบ้านนิโซ๊ะอยู่ต้นทาง แต่รั้วและเรือนเกือบๆ จะพังอยู่แล้วทั้งนั้น

ถนนเลี้ยวไปทางริมน้ำเปนตลาดปลูกต้นประดู่กลางถนน ร่มในใต้ต้นประดู่นั้น มีร้านเล็กๆ เรียงเปนสี่แถวหันหน้าเข้าหากัน เดินเปนสองทางคล้ายตลาดเมืองกลันตัน แต่ขายผ้าและของกินคละปะปนกัน ประมาณสัก ๕๐ – ๖๐ ร้าน ดูก็มีผ้าผ่อนมาก แต่ราคาผ้าที่ซื้อขายกันแพงกว่าเมืองตานี เปนผ้าทอในเมืองยิหริ่งบ้าง ผ้าดอกมาแต่สิงคโปร์บ้าง มีหีบและกลักเหล็กวิลาศอย่างหนึ่ง ซึ่งเปนของทำซื้อขายในเมืองยิหริ่งเอง

ได้ไต่ถามในการเมืองยิหริ่งจากนิโซ๊ะก็ทราบบ้างไม่ทราบบ้าง ดูไม่สู้เปนคนคุ้นเคยในราชการนัก


แต่พิจารณาในบริบทแล้ว ความหมายของคำว่าการเมืองดังกล่าวในที่นี้น่าจะตรงกับราชการงานเมืองทั่วๆไป ไม่มีความหมายไปถึงงานช่วงชิงรักษาอำนาจการบริหารบ้านเมืองตามความหมายปัจจุบันนะครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 20 พ.ค. 14, 07:19

ก่อนที่จะนำท่านไปยังเนื้อหาของพระนิพนธ์ที่ทรงจะเล่าถึงความโหดในระหว่างการเดินทางโดยแม่น้ำโขง ขอปูความสักนิดว่า หลังจากที่ใช้รับเสด็จครั้งนั้นแล้ว  หนึ่งปีให้หลังเรือลาแครนเดียลำนี้ก็อับปางลงในขณะที่เป็นพาหนะนำนายพลเบกีย์  (General Beylié) และ หมอรูเชียนดีส์ (Rouffiandis) นายแพทย์ชาวฝรั่งเศสที่เพิ่งจะหมดวาระราชการในตำแหน่งหัวหน้าการสาธารณะสุขลาวหมาดๆ ขออาศัยเรือจากเมืองหลวงพระบางมุ่งหน้ากลับบ้านในฝรั่งเศสด้วย การเดินทางครั้งนั้นมีกลาสีลาวที่เชี่ยวชาญสองคนเป็นผู้ควบคุมเรือ แต่เมื่อล่องลงมาถึงแก่งโตนสูงห่างจากเมืองลงมาประมาณ๖๕กิโลเมตร เรือได้ถูกกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากพัดพาเข้าไปเกยเข้ากับหินใต้น้ำ ทำให้เรือหมุนคว้างขวางลำแล้วพลิกคว่ำลงไปคร่ากับหินอย่างรุนแรงจนแตกเป็นเสี่ยง จมลงใต้กระแสน้ำอันบ้าคลั่งในพริบตา ทุกชีวิตบนเรือพร้อมกับของกำนัลอันมีค่าที่นายพลฝรั่งเศสเพิ่งจะได้มาจากเจ้ามหาชีวิตจมหายวับไปในห้วงน้ำทันที กว่าซากศพของนายพลผู้นี้จะถูกค้นพบก็อีกแปดวันต่อมา โดยไปโผล่ที่ปากเซ ห่างจากจุดเกิดเหตุร่วม๗๐กิโลเมตร

การตายของคนสำคัญคราวนี้บั่นทอนความตั้งใจของฝรั่งเศสที่จะใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลัก เพื่อกอบโกยทรัพยากรจากชาติเมืองขึ้นในอินโดจีนนั้น ให้ริบหรี่ไปมากกระทั่งมอดดับไปในที่สุด จนกระทั่งเร็วๆนี้ จีน มหาอำนาจเจ้าถิ่นของแท้ได้ใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ ระเบิดหินในเกาะแก่งต่างๆเพื่อเปิดร่องน้ำเป็นช่องทางเดินเรือ เอื้ออำนวยให้เรือสินค้าของจีนวิ่งขึ้นล่องได้โดยปลอดภัยจนถึงเชียงรายแล้ว ต่อไปอาจจะได้เห็นเรือรบจีนวิ่งมาอวดธงเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีถึงบ้านเราสักวันหนึ่ง


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 21 พ.ค. 14, 08:29

ในเรื่องเดียวกันนี้ ในพระนิพนธ์ก็กล่าวถึงเช่นกัน แต่รายละเอียดต่างกับรายงานของฝรั่งเศสเล็กน้อย

จะว่าถึงแก่งแม่น้ำโขงต่อไป เพราะแม่น้ำโขงใหญ่โต แก่งก็ใหญ่โตช่องแก่งก็กว้าง ผ่านได้ทั้งเรือแพ แม้เรือไฟดาดฟ้าสองชั้นก็ผ่านแก่งขึ้นล่องได้ตลอดปี ขาขึ้นแก่งแม่น้ำโขงเขาจะขึ้นกันอย่างไรฉันไม่เคยเห็น แต่เมื่อคิดเทียบกับแก่งเชียงใหม่ เห็นว่าเรือไฟคงแล่นขึ้นได้ ถ้าเป็นเรือพายก็คงต้องใช้เชือกโยงลากเรือขึ้นอย่างเดียวกันกับแก่งเชียงใหม่ เป็นข้อสำคัญอยู่ที่น้ำวนร้าย พวกชาวเมืองเรียกกันว่า "เวิน" กลัวกันเสียยิ่งกว่าหินที่ในแก่ง เพราะธรรมดาแก่งย่อมมีวังน้ำลึกอยู่ข้างใต้แก่ง วังทางแก่งเชียงใหม่ในฤดูแล้งเป็นที่น้ำนิ่งดังกล่าวมาแล้ว ต่อฤดูน้ำจึงเป็นน้ำวนก็ไม่ใหญ่โตเพียงใดนัก แต่แก่งแม่น้ำโขง เพราะสายน้ำแรงทำให้น้ำที่ในวังไหลวนเป็นวงใหญ่เวียนลึกลงไปอย่างก้นหอย มีสะดืออยู่ที่กลางวงเป็นนิจ ผิดกันแต่ในฤดูแล้งน้ำวนอ่อนกว่าฤดูน้ำ เรือแพพายลงแก่งจำต้องผ่านไปในวงน้ำวน ถ้าหลีกสะดือวนไม่พ้น น้ำก็อาจจะดูดเอาเรือจมหายลงไปในวนได้ทั้งลำ ดังเช่นเคยเกิดเหตุแก่เรือไฟลาแครนเดีย ลำที่ฉันลงมานั้นเอง เมื่อปีหลังเขาว่ารับนายพลฝรั่งเศสขึ้นไปตรวจทหารที่เมืองหลวงพระบาง ถือท้ายเรือไม่พ้นสะดือน้ำวนได้ น้ำดูดเอาเรือลาแครนเดียจนหมดทั้งลำ นายพลฝรั่งเศสก็เลยจมน้ำตายด้วย



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 21 พ.ค. 14, 08:42

ฉันนั่งดูมาในเรือก็เห็นตระหนักว่าผายเรือล่องแก่งเป็นการยาก และมีเสี่ยงภัยจริงๆ เพราะในแก่งมีหินเป็นแง่ระกะไปทั้งนั้น ช่องเรือลงไม่ตรงเหมือนกับลำคลอง เรือลอยลงมากับเกลียวน้ำเร็วเท่ารถไฟแล่น จะยับยั้งไม่ได้ ถ้าค้ำพลาดหัวเรือแปรออกนอกร่องก็ต้องโดนหินล่มทุกลำ ได้เห็นความชำนิชำนาญของพวกเชี่ยวชาญอย่างน่าพิศวง เมื่อใกล้จะถึงแก่ง นายฮ้อยถือท้ายเรือร้องสั่งว่า "เอา" เป็นสัญญาเร่งกรรเชียงคำเดียว แล้วก็ไม่ออกปากพูดจาอะไรกันอีก คนอยู่ตอนหัวเรือถือถ่อขึ้นไปยืนบนโขนเรือคนหนึ่ง อีก ๓ คนยืนถือถ่อประจำสองแคมคอยค้ำให้เรือเลี้ยวหลีกเลี่ยงก้อนหิน นายฮ้อยก็คัดท้ายช่วยคนถ่อ ดูเหมือนกับนัดแนะเข้าใจกันว่า คนไหนควรจะค้ำหินก้อนไหน และนายฮ้อยควรจะเบี่ยงบ่ายท้ายเรือเพียงไหนให้เบาแรงคนค้ำทางหัวเรือ ไม่มีที่จะก้าวก่ายหรือต้องตักเตือนกันอย่างไร

ตามแก่งสำคัญๆในตอนที่ฉันผ่านมามีเครื่องหมายทำไว้แต่โบราณทั้งข้างเหนือข้างใต้แก่ง เมื่อเรือแพชาวเมืองจะผ่านแก่ง ต้องแวะดูคราบระดับน้ำที่เครื่องหมาย ถ้าเห็นระดับน้ำถึงขนาดมีภัย ก็ต้องจอดเรือคอยอยู่นอกแก่ง จนเห็นระดับน้ำได้ขนาดปลอดภัยจึงขึ้นล่อง นอกจากแก่งหินในแม่น้ำโขงยังมี "เรี่ยว" อีกอย่างหนึ่ง เรี่ยวนั้นเป็นแต่ชายหาด ๒ ฟากยื่นออกมาใกล้กัน ทำให้ร่องน้ำแคบคดเคี้ยว น้าไหลเชี่ยวเหมือนเช่นแก่งยืดยาว ถ้าเรือล่องหลีกไม่พ้นชายหาดก็ล่ม เรี่ยวบางแห่งร้ายถึงต้องมีคนนำร่องสำหรับพาเรือไฟผ่านเรี่ยว

ทางแม่น้ำโขง ผู้เชี่ยวชาญในการเอาเรือผ่านแก่ง ไม่ได้ตั้งบ้านเรือนรวมกันอยู่เป็นตำบลเหมือนทางแม่น้ำพิงค์ ด้วยแม่น้ำโขงมีแก่งรายไปตลอดทาง แก่งไม่อยู่เป็นเทือกเดียวเหมือนกับแก่งเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นผู้ที่ใช้เรือแพในแม่น้ำโขง ต้องเชี่ยวชาญอยู่ในตัวเอง ถ้าไปยังถิ่นที่ตนไม่ชำนาญ ก็ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญในถิ่นนั้นๆ คงจะเป็นเพราะใช้เรือขึ้นล่องลำบากดังว่ามา การค้าขายทางลำแม่น้ำโขงจึงมีน้อย มักขนสินค้ากันทางบกโดยมาก ประหลาดอยู่ที่พวกล่องแพทางลำแม่น้ำโขง สามารถล่องแพผ่านแก่งได้ทุกชนิด เขาว่าเป็นแพของพวกชาวเมืองหลวงพระบาง บรรทุกสินค้าลงมาขายในมณฑลอุดรเสมอทุกปี สมกับคำเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์เล่า ว่าท่านเคยมาแพอย่างนั้นตั้งแต่เมืองหลวงพระบางจนถึงเมืองเชียงคาน ฉันถามว่าเมื่อลงแก่งทำอย่างไร ท่านบอกว่าน่ากลัวมาก แต่ท่านไม่สามารถจะทำอะไรได้ ก็ต้องทอดธุระแล้วแต่พวกเชี่ยวชาญเขาจะทำอย่างไรกัน ตัวท่านได้แต่นั่งนึกเสี่ยงกรรม ว่าถ้ายังไม่ถึงที่ตายก็คงรอดไปได้ พวกล่องแพทางแม่น้ำโขงเห็นจะเคยหากินในการล่องแพมาค้าขายในมณฑลอุดรเป็นอาชีพสำหรับตระกูลสืบต่อพ่อลูกหลานมาช้านาน เคยล่องแพจนเจนทางและสายน้ำ ทั้งชำนาญการบังคับแพให้ล่องหลีกเลี่ยงอันตรายได้ดังใจ จึงสามารถล่องแพปลอดภัยลงมาได้ไกลถึงเพียงนั้น ที่ทำแพเป็นรูปร่างอย่างเช่นที่พรรณนามาแล้ว ก็คงเป็นเพราะได้ทดลองกันมาจนตระหนักแน่ว่าแพรูปร่างอย่างนั้น และขนาดเท่านั้นล่องได้สะดวกกว่าอย่างอื่น จึงทำแพแต่อย่างเดียวเหมือนกันหมด ดูน่าพิศวง



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 22 พ.ค. 14, 06:52

ฉันไปเห็นแม่น้ำโขงเป็นครั้งแรกที่เมืองหนองคาย พอแลเห็นก็ตระหนักใจว่า ใหญ่โตกว่าแม่น้ำอื่นๆในเมืองไทยทั้งสิ้น ยืนบนตลิ่งแลดูไปทางฟากข้างโน้น เห็นวัวควายที่อยู่ตามชายหาดตัวเล็กจิ๋ว ถึงถามกันว่า "นั่นวัวหรือควาย" คนที่อยู่ทางฝั่งโน้นก็เห็นถนัดต่อเมื่อเดิน ถ้านิ่งอยู่กับที่ก็มิใคร่สังเกตได้ แต่นอกจากเห็นว่าใหญ่โตแล้ว ดูแม่น้ำโขงที่เมืองหนองคายยังไม่เห็นอย่างอื่นผิดกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางเมืองเหนือเท่าใดนัก ต่อเมื่อล่องเรือจากเมืองหนองคายจึงรู้ว่าแม่น้ำโขงผิดกับแม่น้ำอื่นในเมืองไทยอย่างไรบ้าง…

….. ฝรั่งเศสเอาเรือไฟไปใช้ในแม่น้ำโขงตอนนั้น นอกจากเรือไฟของรัฐบาลที่มาส่งฉัน ฉันได้เห็นเรือไฟบริษัทฝรั่งเศสรับจ้างส่งคนโดยสารและสินค้ามี ๒ ลำ เป็นเรือดาดฟ้าสองชั้นยาวราวสัก ๑๕ วา ขึ้นล่องในระหว่างเมืองสุวรรณเขตกับเมืองเวียงจันทน์ สัปดาห์ละครั้งหนึ่ง แต่รัฐบาลต้องช่วยมาก เป็นต้นแต่ตั้งสถานีให้มีฟืนสำหรับเรือไฟเป็นระยะตลอดทาง และให้มีพนักงานตรวจร่องน้ำก่อกรุยหมายทางแล่นเรือตามแก่งและที่น้ำตื้น บางแห่งก็มีคนสำหรับนำร่อง นอกจากนั้นว่ายังต้องให้เงินหนุนทุนบริษัทที่เดินเรือไฟในแม่น้ำโขง ทั้งตอนนี้และตอนอื่นถึงปีละ ๔๐๐,๐๐๐ แฟรงก์ มิฉะนั้นบริษัทก็ขาดทุน ไม่สามารถเดินเรือในแม่น้ำโขงได้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 22 พ.ค. 14, 07:17

เรือรับจ้างส่งคนโดยสารและสินค้าของฝรั่งเศสซึ่งนำมาวิ่งในแม่น้ำโขงที่ทรงกล่าวถึง


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 22 พ.ค. 14, 07:27

ยังมีหินนอนวันอยู่ในท้องน้ำ คนล่องเรือแลไม่เห็นด้วยน้ำขุ่น แม้เรือไฟฝรั่งเศสลำที่ฉันมาก็โดนหินนอนวันใกล้กับเมืองหนองคาย แต่โดนเบาเพียงทำให้เรือเอียงหน่อยหนึ่งแล้วหลุดได้ นอกจากนั้นยังมีหาดทรายลอยอีกอย่างหนึ่ง คือทรายซึ่งลอยมากับสายน้ำตกพูนกันขึ้นเป็นหาดอยู่ใต้น้ำชั่วคราว แล้วสายน้ำพัดเปลี่ยนที่ไปตกพูนที่อื่นอีก ไม่รู้ที่ไหนแน่ เรือไฟที่ฉันมาก็เกยติดทั้งสองลำ ติดอยู่นานหลายชั่วโมง ทำอย่างไรก็ไม่หลุด จนเรือเมืองหนองคายพายตามลงมาทัน มาช่วยกันลำเลียงของให้เรือไฟลอยจึงหลุดมาได้....

......ตอนล่องแม่น้ำโขงแต่เมืองหนองคายจนเมืองนครพนม ฉันมาในเรือไฟลาแครนเดีย นั่งอยู่บนดาดฟ้าชั้นบน มิใคร่จะได้เห็นสายน้ำที่ในแก่ง จนมาลงเรือยาวพายล่องจากพระธาตุพนมลงมาเมืองมุกดาหาร ฉันลงเรือพายของเจ้าเมืองมา จึงได้เห็นน้ำวนในแม่น้ำโขงถนัดที่แก่งคันกะเบา เป็นแก่งใหญ่แห่งหนึ่งในแขวงเมืองมุกดาหาร แม้ในฤดูแล้วน้ำก็ยังไหลวนเป็นวงใหญ่ ที่กลางวงลึกดูน่ากลัว ถ้าเรือพลัดเข้าไปถึงสะดือวนก็คงดูดจมเป็นแน่ไม่ต้องสงสัย เรือยาวที่ฉันไปเป็นเรือขุดมาดอยู่ข้างจะเปลี้ยน้ำ น่ากลัวอยู่บ้าง แต่อุ่นใจที่ฝีพายล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญสัก ๑๕ คนด้วยกัน เมื่อใกล้จะถึงแก่ง ได้ยินนายเรือสั่งให้ฝีพายเตรียมตัว พอเรือเข้าวงวนก็ตั้งข้อพายเต็มเหนี่ยวพรักพร้อม รู้ท่วงทีกันทั้งคนคัดหัวถือท้ายและฝีพายตลอดลำราวกับได้ซักซ้อมกันไว้ สังเกตดูวิธีเขาเอาเรือผ่านน้ำวน ดูเหมือนจะต้องเข้าตามน้ำให้ค่อนข้างขอบวงวนซึ่งสายน้ำอ่อน แล้วเร่งฝีพายเต็มเหนี่ยว ให้สายน้ำกับแรงพายพาเรือแล่น ให้หัวพุ่งออกจากขอบวงทางข้างโน้น มิทันให้น้ำพัดเรือแปรไปวงของสายน้ำ เรืออยู่ในวงวนราวสักนาทีเดียวก็พ้นไปได้ พอเรือออกนอกวงวน พวกฝีพายก็พากันรื่นเริงตลอดลำ...

... ลักษณะของแม่น้ำโขงตามที่พรรณนามา ตามความเห็นของฉัน เห็นว่าน่ากลัวยิ่งกว่าน่าชม ถ้ามีใครถามว่าน่าไปเที่ยวหรือไม่ ฉันตอบว่า ถ้าใครยังไม่เคยเห็นก็น่าไปดู ด้วยแปลกกับแม่น้ำอื่นๆแต่เห็นจะไม่รู้สึกสนุกสนาน เหมือนอย่างไปเที่ยวทางแม่น้ำพิงค์หรือแม่น้ำสักและแม่น้ำไทรโยค ฉันไปหนหนึ่งแล้วยังไม่นึกอยากไปล่องแม่น้ำโขงอีกจนเดี๋ยวนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 22 พ.ค. 14, 07:31

แม่น้ำโขงผิดกับแม่น้ำในเมืองไทยอีกอย่างหนึ่ง ที่ภัยอันตรายในการขึ้นล่องมีมากกว่า และแปลกกับแม่น้ำอื่นๆ เป็นต้นแต่สัตว์ร้ายที่ในน้ำเช่น จระเข้ก็มี และยังมีเงือกเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เขาว่าเป็นปลาชนิดหนึ่งที่มีแรงไฟฟ้าในตัว ถ้าใครไปพ้องพานให้ตกใจ มันก็ปล่อยพิษไฟฟ้าให้ถูกตัวสลบเลยจมน้ำตาย ปลาอย่างนี้ไม่เคยได้ยินว่ามีในเมืองไทยที่แม่น้ำอื่น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 22 พ.ค. 14, 07:42

เมื่อวานจั้งแต่เช้าจนค่อนคืน จระเข้ตัวนี้เข้ามาอาละวาดในเรือนไทย ผู้คนทั้งหลายรวมทั้งแอดมินหนีจระเข้กันอลหม่านปล่อยให้จอว่างเปล่า ประหนึ่งโดนใบสั่งของกอ.รสเข้าไปด้วย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 22 พ.ค. 14, 09:23

เมื่อวาน ดิฉันเป็นคนหนีจระเข้  ส่วนแอดมินสวมวิญญาณหมอจระเข้สามพราน  โรมรันพันตูกับจระเข้อย่างดุเดือดตั้งแต่กลางดึกไปจนตลอดวันและถึงกลางคืน  
จับจระเข้ไปปล่อยได้สำเร็จแล้วค่ะ
กลับมาเมื่อไหร่ก็คงได้จับปล่อยกันอีก

ขอเชิญท่านทั้งหลายล่องแม่น้ำโขงตามพระยาศรีนวรัตน    ดิฉันเคยไปล่องก้นแม่น้ำโขงมาแล้ว  ไต่ตลิ่งที่ชันแทบจะ 90 องศาไปลงเรือ    นั่งเรือไปก็เห็นเกาะหินแหลมๆระเกะระกะอยู่เต็มไปหมด ให้เรือต้องหลีกหลบไปตลอดทาง  


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 22 พ.ค. 14, 10:16

ลงเรือไฟมาจากเมืองหนองคายระยะทาง ๔ วันถึงเมืองนครพนม ขึ้นเดินบก ขี่ม้าจากเมืองนครพนมทาง ๓ วันถึงเมืองสกลนคร 



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 22 พ.ค. 14, 10:19

ท่าอุเทน ทางผ่านที่ขบวนเสด็จได้หยุดพักแรม เดี๋ยวนี้เป็นอำเภอหนึ่งในอุบลราชธานีครับ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.095 วินาที กับ 19 คำสั่ง