เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 51273 รูปหายากจากสมุดภาพเก่าของคุณศรีมนา
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 09 พ.ค. 14, 13:20

พระรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8  และรัชกาลที่ 9   ดิฉันไม่เคยเห็น ก็เลยนำมาลงในกระทู้นี้
ใครเคยเห็นบ้างคะ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 09 พ.ค. 14, 16:26

ดูเหมือนเคยเห็นในหนังสือ'เจ้านายเล็กๆ  ยุวกษัตริย์'ค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 12 พ.ค. 14, 10:32

ภาพหายากลำดับต่อไป

ขอเชิญคุณวี_มีกรุณาเข้ามาให้ข้อมูลหน่อยครับ
ผมหาไม่เจอจริงๆว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จประภาสอำเภอลับแล ซึ่งอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์เมื่อใด มีบันทึกไว้ที่ไหนบ้าง หาในเวปอย่างไรก็ไม่เจอ
แต่ เอ…คุณเพ็ญชมพูผู้ชำนาญในการใช้อินทรเนตรอาจเจอก็ได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 12 พ.ค. 14, 10:43

ข้อมูลที่หากันได้ในเวปจะมาจาก“ลิลิตพายัพ”” พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระยศสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือในพ.ศ. ๒๔๔๗ โดยเสด็จด้วยรถไฟไปลงที่ปากน้ำโพแล้วประทับเรือพระที่นั่ง ทวนน้ำขึ้นไปจนถึงเมืองตาก แล้วเสด็จพระราชดำเนินทางบกต่อไป
เสียดายภาพชุดนี้มีน้อยมาก เช่นที่บันทึกเป็นหลักฐานระบุว่าเป็นลำปางก็มีภาพเดียวเท่านี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 12 พ.ค. 14, 10:48

สุดท้ายที่มีในชุดคือภาพนี้
ไม่น่าจะเป็นที่ประทับระหว่างเสด็จอยู่เชียงใหม่


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 12 พ.ค. 14, 11:01

ภาพนี้มิได้อยู่ในอัลบั้มของคุณศรีมนา ผู้ที่นำมาลงในเวปบรรยายว่าเป็นที่ประทับแรมของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ขณะเสด็จประภาสเมืองเชียงใหม่
คุณวี_มีน่าจะทราบว่าเป็นที่ใด


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 12 พ.ค. 14, 15:18

ผมหาไม่เจอจริงๆว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จประภาสอำเภอลับแล ซึ่งอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์เมื่อใด มีบันทึกไว้ที่ไหนบ้าง หาในเวปอย่างไรก็ไม่เจอ
แต่ เอ…คุณเพ็ญชมพูผู้ชำนาญในการใช้อินทรเนตรอาจเจอก็ได้

พ.ศ. ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร เมืองสุโขทัย เมือง สวรรคโลก เมืองอุตรดิตถ์ และเมืองพิษณุโลก เพื่อทรงตรวจตราโบราณวัตถุสถาน และสอบสวนเรื่องตำนานของเมืองเหล่านั้นอันปรากฏอยู่ในหนังสือเก่า

ขณะที่เสด็จประพาสอุตรดิตถ์ พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงเมืองลับแลไว้ในหนังสือ "เที่ยวเมืองพระร่วง" ภาคที่ ๔ ระยะทางเสด็จกลับ อุตรดิตถ์ ลับแล ทุ่งยั้ง พิชัย พิษณุโลก สระหลวง ตอนที่  ๑ อุตรดิตถ์-ลับแล-ทุ่งยั้ง ตอนหนึ่งว่า

"เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวที่ลับแล  ออกจากที่พักที่อุตรดิตถ์ ขี่ม้าไปทางบ้านท่าอิฐ เดินตามถนนอินทใจมีไปเมืองลับแล พระศรีพนมมาศได้จัดแต่งที่พักไว้ที่ตำบลม่อนชิงช้า ที่ริมที่พักนี้พระศรีพนมมาศกับข้าราชการและราษฎรได้เรี่ยไรกันสร้างโรงเรียนขึ้นโรงหนึ่ง ซึ่งขอให้ข้าพเจ้าเปิด ข้าพเจ้าได้เปิดให้ในเวลาบ่ายวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ นั้น และให้นามว่า "โรงเรียนพนมมาศพิทยากร" แล้วได้เลยไปออกที่เขาม่อนจำศีล บนยอดเขานี้แลดูเห็นที่แผ่นดินโดยรอบได้ไกล มีทุ่งนาไปจนสุดสายตา และเห็นเขาเป็นทิวเทือกซ้อนสลับกันเป็นชั้น ๆ รวมกับกำแพงน่าดูหนักหนา"

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 12 พ.ค. 14, 16:36

ดังนั้น น่าจะเป็นขาที่เสด็จพระราชดำเนินกลับ และทำให้ผมจำขึ้นมาได้ว่า นอกจาก“ลิลิตพายัพ””แล้ว ยังมีพระราชนิพนธ์ "เที่ยวเมืองพระร่วง" อีกฉบับหนึ่งด้วย

ขอบคุณมากครับ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 12 พ.ค. 14, 19:13

ยืนยันว่าเสด็จพระราชดำเนินเมืองลับแลคราวเสด็จ "เที่ยวเมืองพระร่วง" ตามที่คุณเพ็ญฯ แถลงไว้ครับ
คราวเสด็จประพาสมณฑลพายัพนั้น  เสด็จโดยกระบวนเรือจากปากน้ำโพมาขึ้นบกที่ท่าอิฐ คือ เมืองอุตรดิต๔์  เสด็จตรวจสถานที่ราชการในเมืองแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินข้ามเขาพรึงไปเมืองแพร่  ซึ่งระหว่างที่ประทับแรมในระหว่างทางที่เขาพรึงนี้ที่มีอสูรชื่อ หิรันย์ มาเฝ้าฯ  และเมื่อเสด็จเสวยราชย์แล้วได้พระราชทานนามให้หิรันย์ว่า "ท้าวหิรัญพนาสูร

ต่อมาในตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๕๐  เสด็จเมืองกำแพงเพชร  สุโขทัย  ศรีสัชนาลัย  แล้วจึงเสด็จประพาสเมืองพิชัย พระแท่นศิลาอาสน์ ดังที่คุณเพ็ญฯ บรรยายไว้ข้างบน

ภาพในความเห็นที่ ๑๒๕  ที่มีคำบรรยายว่าเป็นที่ประทับแรมที่เชียงใหม่นั้น  ดูจากรูปลักษณะเรือนไทยหลังใหญ่นั้นน่าจะเป็นจวนข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลพายัพ ริมแม่น้ำปิง  ที่จัดเป็นที่ประทับแรมในระหว่างเสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่  เมื่อยุบการปกครองแบบเทศาภิบาลใน พ.ศ. ๒๔๗๖ แล้ว  จวนนี้ถูกทิ้งร้างจนผุพังและได้รื้อลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒  แล้วได้มีการก่อสร้างที่ทำการเทศบาลนครเชียงใหม่ขึ้นแทยในบริเวณที่เคยที่เป็นที่ตั้งจวน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 12 พ.ค. 14, 21:18

ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลพายัพ กับอุปราชมณฑลพายัพเห็นจะเป็นท่านเดียวกัน

จากภาพที่คุณakkarachaiนำมาเสนอในเน็ท บรรยายว่าเป็นจวนของท่าน และเคยจัดถวายการรับรองสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ณ เพลานั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 12 พ.ค. 14, 21:21

ภาพนี้ ผมหามาลงไว้ในเน็ทเองเมื่อนานมาแล้วจนลืมไปเลย เห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกันจึงนำมารวมไว้ด้วยครับ


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 13 พ.ค. 14, 06:34

ภาพขบวนเสด็จพระราชดำเนินเข้าเมืองเชียงใหม่ทั้งสองภาพนั้น  ภาพบนเป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินขณะยาตรากระบวนข้ามสะพานหมอชีคจากฝั่งวัดเกตุมายังฝั่งตะวันตกของลำน้ำปิง
ส่วนภาพล่างเป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินจากพลับพลาประทับร้อนบ้านแม่คาว  มาตามถนนแก้วนวรัฐ (ถนนสายดอยสะเก็ด - เชียงใหม่) ซึ่งทรงเปิดที่ดอยสะเก็ดในตอนเช้าวันนั้น  และพระราชทานนามถนนสายนั้นว่า ถนนแก้วนวรัฐ  อันมีความหมายว่า "แก้วเมืองนครเชียงใหม่"  เเพื่อป็นเกียรติแก่ เจ้าแก้ว อุปราชเมืองนครเชียงใหม่ ผู้อำนวยการตัดถนนสายดังกล่าว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 14 พ.ค. 14, 06:07

ชุดต่อไป แม้ในภาพไม่ได้ระบุแต่ก็สามารถเดาได้ว่าช่างผู้ถ่ายภาพนั้น ได้ร่วมอยู่ในขบวนเสด็จของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทั้งนี้โดยศึกษาจากพระนิพนธ์นิทานโบราณคดี  คราวเสด็จตรวจราชการทางอีสานระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๙ –๒๔๕๐

พระรูปสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพข้างล่าง ขณะประทับระแทะระหว่างการเสด็จในบางเส้นทางดังกล่าว ไม่มีอยู่ในอัลบั้มของคุณศรีมนา แต่ผมหามาลงไว้เองเพื่อประกอบเรื่อง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 14 พ.ค. 14, 06:15

ผมมิได้ประสงค์จะนำพระนิพนธ์มาลงไว้ทั้งหมด เพราะคุณกัมม์ได้ทำไว้แล้วโดยพิสดารในบล็อกของท่าน สามารถค้นหาได้ไม่ยาก แต่จะขอตัดตอนมาเท่าที่จำเป็นในการบรรยาย และพอเป็นกระสายให้ท่านที่มิเคยอ่าน จะได้ไปหาอ่านเพื่อประดับความรู้เรื่องราวในอดีตต่อไป
 ในนิทานที่ ๑๖  เรื่องลานช้าง ทรงเริ่มต้นเล่าไว้ดังนี้

         ฉันออกจากกรุงเทพฯเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม  ไปด้วยรถไฟพิเศษจนถึงนครราชสีมา  ออกจากเมืองนครราชสีมาไปมณฑลอุดร  ขี่ม้าไป ๑๔ วันถึงเมืองหนองคาย  ครั้งนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสมีแก่ใจจัดเรือไฟชื่อ ลาเครนเดีย อันเป็นพาหนะสำหรับข้าหลวงลำหนึ่ง  กับเรือไฟสำหรับบรรทุกของลำหนึ่งส่งมาให้ฉันใช้ทางลำแม่น้ำโขง  จึงลงเรือไฟมาจากเมืองหนองคายระยะทาง ๔ วันถึงเมืองนครพนม  ขึ้นเดินบก ขี่ม้าจากเมืองนครพนมทาง ๓ วันถึงเมืองสกลนคร  จากเมืองสกลนครเดินบกวกกลับลงไป ๓ วันถึงพระธาตุพนมที่ริมแม่น้ำโขง  ลงเรือยาวพายล่องจากพระธาตุพนมทาง ๒ วันถึงเมืองมุกดาหาร 

         ขึ้นเดินบกแต่เมืองมุกดาหารเข้ามณฑลอีสาน  ทาง ๕ วันถึงเมืองยโสธร  เวลานั้นข้าหลวงปันเขตแดนไทยกับฝรั่งเศสกำลังประชุมกันอยู่ที่เมืองอุบล  ฉันจึงไม่ไปเฝ้ากรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์  เป็นแต่ได้สนทนากันด้วยโทรศัพท์  ออกจากเมืองยโสธรเดินบกไปเมืองเสลภูมิ เมืองร้อยเอ็ด  แล้วผ่านเมืองมหาสารคามมาในเขตมณฑลอีสานทาง ๗ วันถึงเมืองผไทสง ปลายเขตมณฑลนครราชสีมา  แต่นั้นมาทาง ๓ วันถึงเมืองพิมาย 

         ได้รับสารตรากระทรวงมหาดไทย  ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาตรัสห้ามมิให้เข้าไปพักที่เมืองนครราชสีมา  ด้วยเป็นเวลามีกาฬโรค  ออกจากเมืองพิมายเดินทาง ๒ วันมาถึงบ้านท่าช้าง ห่างเมืองนครราชสีมา ๔๕๐ เส้น  จึงพักแรมอยู่ที่นั้น  แล้วออกเดินทางแต่ดึก มาถึงสถานีรถไฟพอได้เวลาขึ้นรถไฟพิเศษกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๙ นั้น  รวมเวลาที่ไปตรวจหัวเมืองครั้งนั้น ๓ เดือน หย่อน ๔ วัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 14 พ.ค. 14, 06:21

จะพรรณนาถึงหมู่บ้านในตำบลซึ่งฉันได้ไปแห่งหนึ่งให้เห็นเป็นตัวอย่าง  แต่เรียกชื่อว่าหมู่บ้านอะไรลืมไปเสียแล้ว  อยู่ในระหว่างเมืองชนบทกับเมืองขอนแก่น  เป็นตำบลมีบ้านกว่า ๑๐๐ หลังคาเรือนด้วยกัน  ราษฎรในตำบลนั้น ครัวหนึ่งก็มีบ้านอยู่แห่งหนึ่ง  เรือนโรงในบ้านล้วนทำด้วยไม้มุงแฝก  มีรั้วล้อมรอบบริเวณบ้าน ลานบ้านตอนในรั้วทำสวนปลูกผักฝักแฟงที่กินเป็นอาหาร  กับคอกเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่  ลานบ้านนอกรั้วออกไปทำไร่ฝ้ายและสวนกล้วยสวนพลู  สวนปลูกต้นหม่อมสำหรับเลี้ยงไหม  กับคอกเลี้ยงวัวเลี้ยงควายต่อหมู่บ้านออกไปถึงทุ่งนา  พวกชาวบ้านต่างมีนาทำทุกครัวเรือน  และถือกันเป็นธรรมเนียมว่าใครทำงานได้ต้องทำงานทุกคน  ผู้ชายทำงานหนัก เช่น ทำนาและเลี้ยงปศุสัตว์  ทั้งทำการปลูกสร้าง  และแบกขนต่างๆ  ผู้หญิงทำงานเบาอยู่กับบ้าน เช่นทำสวนทำไร่ เลี้ยงไหม และไก่หมู  ตลอดจนปั่นฝ้ายชักไหมและทอผ้า  ทุกครัวเรือนสามารถหาอาหารและสิ่งของจำเป็นจะต้องใช้ในการเลี้ยงชีพได้ โดยกำลังลำพังตนเพียงพอไม่อัตคัต


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง