เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4646 ขออนุญาตเรียนถามความรู้ เรื่อง บทกวีแปลสำนวนหนึ่ง ครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 21 เม.ย. 14, 20:22

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู แหละท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ณ เรือนไทยทุกท่านด้วยความเคารพยิ่งครับ

   กระทู้นี้ เกิดจากความเขลาของผมเองครับ เมื่อสติปัญญาเฉาโฉดด้านภาษาอังกฤษ ก็ขอยอมรับตามตรงเป็นอันดับแรก เพื่อจะได้ขอวิทยาทานจากทุกๆท่านสืบไปครับ

ต้นเหตุของการตั้งกระทู้นี้ขึ้นคือ วันหนึ่งเมื่อประมาณสักสองเดือนก่อน ผมเข้าเว็บไซต์ google แล้วพิมพ์ข้อความ “กาพย์ยานี”+”นายผี” ลงไปในช่องค้นหา เพื่อจะลองตรวจสอบดูว่า มีผู้ค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับลีลากาพย์ยานีของท่านอัศนี พลจันทร (นายผี) เอาไว้มากน้อยกี่ท่าน ผลลัพธ์ที่ได้ ก็สมใจครับ แต่ ไม่คิดเลยว่า จะได้ของแถมตามมาด้วยชนิดคาดไม่ถึง ท่าน google พาผมเข้าไปเจอบทกวีแปลชิ้นหนึ่งเข้า ขออนุญาตนำมาลงดังนี้ครับ

   “I
 The extinguished fire they blow.
 Two crouching figures
 Now the one is blowing
 Then the other alternately
 Yet the fire flames not
 Perturbed smoke’s enshrouding the body
 Thin, black and full of pus
 Knees sticking to the ribs
 Bones squeezing together
 The down-trodden in the cold
II
 People pass by indifferently
 Casting a look or two
 Then glide away
 Despised figure left behind
 On dry, yellow grass
 Behind the shadow of Djrak Plant
 In the dim, lazy light
 Cricket’s creaking, Grasshopper’s chirping
 Crying complaint in empty hole
 The down-trodden die nakedly.
**
 ๑
 เสียเปลวก็เป่าเถ้า
 ทุเรศเร้าทั้งสองรา
 บัดใจจะเป่ามา
 และมิตรน้อยนั่นเป่าไป
 เถ้าร่อยบ่ลุกเรือง
 กะเตื้องคลุ้งแต่ควันไฟ
 ดำผอมพุหนองไผ
 ผนึกเข่ากะโครงคราง
 ดูกะดูกเด่นเผ่นผอมพาง
 พ่ายภัยเพียบปาง
 จะป่นจะปี้นี่หนาว

 ผองชนก็ผ่านเฉย
 ชำเลืองเลยทุกคราคราว
 ลิ่วย่าง ณ ทางยาว
 ละสองอยู่แต่หลังหยาม
 ยังหญ้าชราเหลือง
 และเบื้องร่มละหุ่งตาม
 เงาเศร้าและแสงทราม
 เสนาะหรีดและเรไร
 ร้องร่ำรำพันเนืองใน
 รูเปล่าเปลืองใจ
 จึงสองพินาศเนือยเปลือย”

   ผมอึ้งอยู่พักใหญ่เชียวครับ ถ้าสมมุติว่า มีใครสักคน นำเฉพาะส่วนที่แปลเป็นไทยแล้วมาให้ผมอ่านโดยมิบอกที่มาที่ไปกันก่อน  ผมสารภาพครับ ดูไม่ออกจริงๆ ว่านี่คือบทกวีซึ่งต้นฉบับเป็นไพรัชพากย์ เพราะท่านผู้แปล (จะเป็นใครก็ตาม) ได้สร้างลีลาดำเนินกาพย์อย่างไพเราะ ลงตัว ซ้ำยังเพิ่มสีสัน ตกแต่งเสียงสัมผัสพยัญชนะแบบอลังการเข้าไปอีก จนทำให้ลีลาของกาพย์ยานี (แปล) ชิ้นนี้ ละม้ายขนบอินทรวิเชียรฉันท์สมัยเก่า ส่วนกาพย์ฉบังนั้นเล่าก็เพริศพริ้ง นอกจากเล่นสัมผัสพยัญชนะในวรรคเดียวกันแล้ว ยังมีการส่งข้ามวรรคด้วย กล่าวคือ เสียงพยัญชนะต้นของคำสุดท้าย วรรคแรก เป็นเสียงเดียวกับเสียงพยัญชนะต้นของคำที่ ๑ วรรคที่ ๒ ฝีมือระดับนี้ แม้ยังพิสูจน์มิได้เด่นชัดว่าท่านอัศนี พลจันทร ใช่ไหม ผมก็สงสัยว่าอาจเป็นท่านผู้นั้น ถ้ามิใช่ ก็น่าจะเป็นกวีผู้ทรงคุณวุฒิระดับใกล้ๆกัน

   เท่าที่ผมพอจะรู้มาบ้างแบบตื้นเขินเต็มที ก็คือ โครงสร้างฉันทลักษณ์ของกวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษนั้น ผิดแผกกับไทยเรา นี่เองครับ ทำให้ผมฉงน ว่าบทกวีแปลชิ้นนี้ มีอะไรที่ยังแปลไม่หมด หรือจำเป็นต้องตัดทอน มิฉะนั้นก็รวบความเพื่อให้เหมาะสมกับฉันทลักษณ์กาพย์ยานีและฉบังบ้างไหม ยิ่งเป็นยานีกับฉบังแบบประดับอาภรณ์เพิ่มเข้าไปอีก ข้อยุ่งยากย่อมมากขึ้น

   ผมขออนุญาตเรียนท่านอาจารย์เทาชมพู รวมถึงท่านผู้อ่านทุกท่านอีกครั้งครับ ว่าผมโง่เง่าวิชาภาษาอังกฤษเหลือเกิน ความพยายามในการถอดความบทกวีภาษาอังกฤษข้างบนออกเป็นร้อยแก้วจึงล้มเหลว แต่โดยเหตุที่ ตื่นเต้นกับสำนวนแปลนักหนา ผมจึงขออนุญาตเรียนถามครับ ว่า
๑. สำนวนแปลเป็นสยามพากย์นี้ แปลแบบวรรคต่อวรรค หรือใช้วิธีรวบความครับ
๒. มีคำใดที่ถูกละไว้มิได้แปล หรือ แปลโดยเลี่ยงไปใช้ศัพท์อื่นเพื่อให้ได้คำบรรจุลงในกาพย์ขนบไทยอย่างเหมาะเจาะหรือเปล่าครับ ขอทุกท่านโปรดการุณย์เกื้อหนุนสัตว์ผู้ปัญญาทรามอย่างผม ให้พอได้แสงแห่งเชาวน์วิชาในการศึกษาบทกวีแปล แหละวิธีแปลบทกวี บ้างเถิดครับ อนึ่ง ขออนุญาตเรียนชี้แจงในตอนท้ายว่า บทความที่เขียนขึ้นต่อจากบทกวีแปลนั้น มีข้อที่ผมมิเห็นด้วย หรือไม่ก็มองต่างออกไปอยู่บ้าง  แต่เนื่องจาก เป็นประเด็นรอง จึงไม่ขออภิปราย ครับผม

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

   เว็บไซต์อ้างอิง ที่มาของบทกวี

http://readjournal.org/contents/editorial/

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 22 เม.ย. 14, 09:06

เข้าไปอ่านตามลิ้งค์แล้วค่ะ    ดูจากสำนวนโวหารของ ธอ. ผู้แต่งบทประพันธ์นี้ ไม่คิดว่าเป็นอัศนี พลจันทร์    คิดว่าเป็นหนึ่งในผู้ทำวารสารอักษรสาส์นนั่นแหละค่ะ    ในยุคพ.ศ. 2493    กวีไทยตัวจริงยังหายใจเป็นกาพย์กลอนโคลงฉันท์กันได้คล่องกว่าสมัยปัจจุบันมาก     
วันนี้ดิฉันติดงานภายนอก ทั้งวัน     ไม่มีเวลามาวิเคราะห์เปรียบเทียบตามที่คุณชูพงศ์ขอมา    ขอผัดไปเป็นพรุ่งนี้นะคะ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 22 เม.ย. 14, 12:28

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูอย่างสูงยิ่งครับที่เมตตา กระผมจะรออ่าน ในวันที่อาจารย์สะดวก จะเป็นวันใดก็จะตั้งใจอ่านครับ

   ประการแรกที่ผมกังขาก็คือ ตัวละครซึ่งสำนวนแปลใช้คำว่า “สอง” แสดงจำนวนพหูพจน์นั้น คนหนึ่งถูกระบุไว้ในกาพย์ยานีวรรคที่ ๔ ของบทแรกแล้วว่า
“แลมิตรน้อยนั่นเป่าไป” เมื่อหนึ่งในนั้นเป็นผู้เยาว์อายุ (มิตรน้อย)  แล้วอีกคนหนึ่งเล่า บทกวีแปลมิได้ระบุชัดถึงอายุ หรือวัย ว่าแตกต่างห่างกันเท่าไหร่ ถ้าหากกาพย์ยานีวรรคที่ ๓ ของบทแรกในสำนวนแปลเป็น
“มิตรใหญ่นั่นเป่ามา” หรือข้อความทำนองนั้น ผมก็พอคลายความสงสัยลงได้บ้างครับ แต่
“บัดใจจะเป่ามา” มิได้ระบุว่า คนเป่ามาคือใคร  ผมคลางแคลงว่า กวีท่านแปลแบบกระชับหรือเปล่า ดังนี้เป็นต้นครับอาจารย์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 24 เม.ย. 14, 08:50

   ดิฉันคงทำได้แค่แปลบทกวีนี้เป็นความเรียงธรรมดาๆ  ให้คุณชูพงศ์ไปเทียบเองค่ะ

  The extinguished fire they blow.                    พวกเขาเป่าไฟที่มอดดับไปแล้ว
 Two crouching figures                                    ร่างทั้งสองหมอบคุดคู้
 Now the one is blowing                                  ตอนนี้ คนหนึ่งกำลังเป่าไฟให้ติด
 Then the other alternately                              จากนั้น อีกคนก็มาเป่าสลับกัน
 Yet the fire flames not                                    จนแล้วจนรอด  เปลวไฟก็มิได้
 Perturbed smoke’s enshrouding the body         กระทบควันที่ห้อมล้อมร่าง
 Thin, black and full of pus                               ผอม ดำ  เต็มไปด้วยรอยช้ำเลือดช้ำหนอง
 Knees sticking to the ribs                                เข่าหมอบแนบติดอยู่กับซี่โครง
 Bones squeezing together                               กระดูกแขนขาบีบเข้าติดกัน

People pass by indifferently                              ผู้คนเดินผ่านไปมาอย่างไม่แยแส
 Casting a look or two                                      ชำเลืองมองสักแวบหนึ่งหรือสอง
 Then glide away                                             แล้วมองเมินไป
 Despised figure left behind                              ร่างอันน่าชังนั้นถูกทอดทิ้งอย่างไม่เหลียวแล
 On dry, yellow grass                                       บนหญ้าเหลืองแห้ง
 Behind the shadow of Djrak Plant                     ด้านหลังเงาของต้นละหุ่ง
 In the dim, lazy light                                      ในแสงอันหรุบหรู่ และเนิบช้า
 Cricket’s creaking, Grasshopper’s chirping          จิ้งหรีดเริ่มกรีดเสียง    ตั๊กแตนร้องระงม
 Crying complaint in empty hole                        ร้องทุกข์อยู่ในโพรงอันว่างเปล่า
 The down-trodden die nakedly.                        คนเข็ญใจตายอย่างเปล่าเปลือย

 The down-trodden in the cold                          คนเข็ญใจตายในความหนาว
 
คุณชูพงศ์คงจะทราบว่าการแปลบทกวี ไม่ได้หมายความว่าแปลศัพท์หนึ่งตัวในภาษาเดิมให้ตรงกับศัพท์อีกหนึ่งตัวในภาษาใหม่  แต่เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่ง      ดังนั้น จึงต้องมี "ความ" เพิ่มบ้าง ขยายบ้าง ตัดบ้าง เปลี่ยนบ้าง  ตีความบ้าง    เพื่อให้ได้ความหมายและความเข้าใจใกล้เคียงของเดิมและใกล้เคียงกับจุดมุ่งหมายของผู้ประพันธ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
คำแปลข้างบนนี้ดิฉันแปลด้วยความอึดอัดมาก      เพราะแปลเพื่อให้คุณชูพงศ์เข้าใจถึงการถอดศัพท์ในภาษาอังกฤษให้ออกมาครบ คำต่อคำ     ถ้าจะแปลออกมาให้ได้ใจความดีกว่านี้  คุณชูพงศ์ก็จะถามว่า คำนี้เพิ่มขึ้นมาใช่ไหม  คำนั้นตรงหรือตีความ ฯลฯ  ทำให้ต้องอธิบายกันอีกยืดยาวค่ะ
เอาเป็นว่าแปลแบบนี้เพื่อให้คุณชูพงศ์เปรียบเทียบ "ความ" และ "คำ" กับบทกวีที่กวีปริศนา ธอ. แปลดีกว่า  ว่ามีตรงไหนขาดตรงไหนเกินมาบ้าง
ถ้าอยากคุยต่อ มาถามอีกทีนะคะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 24 เม.ย. 14, 11:29


เสียเปลวก็เป่าเถ้า
ทุเรศเร้าทั้งสองรา
บัดใจจะเป่ามา
และมิตรน้อยนั่นเป่าไป
เถ้าร่อยบ่ลุกเรือง
กะเตื้องคลุ้งแต่ควันไฟ
ดำผอมพุหนองไผ
ผนึกเข่ากะโครงคราง
ดูกะดูกเด่นเผ่นผอมพาง
พ่ายภัยเพียบปาง
จะป่นจะปี้นี่หนาว



ผองชนก็ผ่านเฉย
ชำเลืองเลยทุกคราคราว
ลิ่วย่าง ณ ทางยาว
ละสองอยู่แต่หลังหยาม
ยังหญ้าชราเหลือง
และเบื้องร่มละหุ่งตาม
เงาเศร้าและแสงทราม
เสนาะหรีดและเรไร
ร้องร่ำรำพันเนืองใน
รูเปล่าเปลืองใจ
จึงสองพินาศเนือยเปลือย


ถ้าไม่ใช่ว่าคัดลอกมาผิด ผมมั่นใจว่าไม่ใช่งานของอัศนี พลจันทร์ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 24 เม.ย. 14, 13:28

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูเป็นล้นพ้นครับ ข้อความที่อาจารย์กรุณาถอดจากภาษาอังกฤษ พร้อมคำอธิบายถึงวิธีแปลบทกวีนั้น ทำให้ผมกระจ่างขึ้นมากครับ ว่าเหตุใด กวีจึงต้องละบางคำ หรือเติมบางสิ่งที่ภาษาอังกฤษไม่มี เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของไทยๆเรา วิทยาทานที่อาจารย์เมตตาครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ซึ่งจะต่อยอดในการศึกษาบทกวีแปลของผมสืบไปครับ

   เรียนคุณ CrazyHOrse ครับ

   ผมไล่ตรวจนามปากกาของท่านอัศนี พลจันทร ก็ไม่พบนาม (ธอ.) เช่นกันครับ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขอคารวะท่าน ธอ. หละครับ ในภูมิวิทยาของท่าน ที่บรรจง
ประดับประดากาพย์จนพรายเพริศ เล่นเอาผมสับสนไปพักหนึ่ง เพราะลีลาบางช่วง ใกล้เคียงท่วงทำนองกาพย์ท่านอัศนีมาก ถือว่ามีฝีมือฉกาจฉกรรจ์ยิ่งนักครับผม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 24 เม.ย. 14, 15:01

เป็นผลงานของนายผีหรือไม่ ไม่แน่ใจ

ดูจากสำนวนโวหารของ ธอ. ผู้แต่งบทประพันธ์นี้ ไม่คิดว่าเป็นอัศนี พลจันทร์   

ถ้าไม่ใช่ว่าคัดลอกมาผิด ผมมั่นใจว่าไม่ใช่งานของอัศนี พลจันทร์ครับ

อยากทราบเหตุผลของคุณเทาชมพูและคุณม้าที่ฟันธงว่าบทประพันธ์นี้ไม่ใช่ของนายผี  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 เม.ย. 14, 17:59

สำนวนไม่เหมือนกันค่ะ  คนละทาง
บทกวีของนายผีมีลักษณะดังนี้
๑  ใช้คำทุกคำ อย่างมีความหมาย ถูกหลักภาษา ไม่มีคำที่เกินเข้ามาเพื่อใช้แค่สัมผัสในและนอกให้ลงตัว
๒  อ่านง่าย แจ่มชัด บอกถึงความรอบรู้และมั่นใจในสิ่งที่พรรณนา
๓  ภาษามีเค้าของวรรณคดีไทยเรื่องเอกๆ   แสดงถึงภูมิหลังที่อ่านวรรณคดีจนขึ้นใจ 

ส่วนธอ. อ่านยากมากเพราะไม่รู้ว่าพิมพ์ผิดหรือเปล่า      ถ้าพิมพ์ไม่ผิด ก็แปลว่าผู้แต่งใช้ศัพท์พิลึกมาก

ดำผอมพุหนองไผ
ผนึกเข่ากะโครงคราง
ดูกะดูกเด่นเผ่นผอมพาง
พ่ายภัยเพียบปาง
จะป่นจะปี้นี่หนาว
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 25 เม.ย. 14, 20:04

ช่วง พ.ศ. ๒๔๙๒-๒๔๙๓ นายผีมีผลงานบทกวีลงใน "อักษรสาส์น" อยู่บ้าง นอกจากนั้นก็มีลงที่ "สยามนิกร" และ "สยามสมัย"  ที่อักษรสาส์น นายผีได้รับมอบหมายให้เป็น "บรรณาธการผู้กำกับแผนกวรรณคดี" กับเป็นผู้ควบคุมคอลัมน์ "ปุษกริณี" อันเป็นคอลัมน์สำหรับลงบทร้อยกรอง

ข้อมูลจาก "ถนนหนังสือ" ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

บทกวีชิ้นนี้ถ้าไม่ใช่ของนายผี ก็น่าจะผ่านตาของเขามาบ้าง อาจจะผ่านการขัดเกลามาบ้างพอสมควร  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 เม.ย. 14, 10:09

ถ้านายผีขัดเกลา  คำต้องแจ่มแจ้งกว่านี้

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 20 คำสั่ง