เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 8559 วิธีการคัดเลือกพระภรรยาเจ้า ของพระเจ้าแผ่นดิน
AroundTheWorld
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


 เมื่อ 10 เม.ย. 14, 16:40

เรียนผู้รู้ทุกท่านครับ

ผมมีความสงสัยในเรื่องวิธีการคัดเลือกพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง โดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ 5 ครับ เพราะเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด ผมสงสัย ดังนี้ครับ

1. เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดินทรงเลือกเองหรือไม่ ว่าต้องการให้ใครเป็นพระภรรยาเจ้า
2. เหล่าเสนาบดีเป็นผู้เลือกให้เอง และเสนอต่อพระเจ้าแผ่นดินว่าควรที่จะสถาปนาพระองค์ใดเป็นพระภรรยาเจ้า
3. พระองค์เจ้าน้องนางเธอเลือกที่จะถวายตัว ด้วยพระองค์เอง

ที่ผมสงสัยไม่ได้จะมีเจตนาลบหลู่พระเกียรติอันใด หากเห็นว่าไม่เหมาะสมก็แจ้งลบได้เลยครับ ขอบคุณทุกความคิดเห็นครับ
แต่สงสัยเนื่องจาก อ่านประวัติศาสตร์ช่วงนี้แล้วยังคาใจ ทำไมเป็นพี่น้องร่วมเจ้าจอมเดียวกันถึง 3 พระองค์ ทั้งที่พระองค์เจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 มีหลายพระองค์ 
และวิเคราะห์เองเล่นๆว่า

1. หากมีเสนาบดีคนใด ที่มีหลานเป็นพระองค์เจ้าหญิงแล้ว อยากให้อำนาจอยู่ของตระกูลดำรงต่อก็อาจจะให้หลานถวายตัวเพื่อที่จะได้เป็นภรรยาเจ้าและมีสมเด็จเจ้าฟ้า หรือมองถึงขั้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อไป
2. เหล่าเสนาบดีเลือกเอง แต่จงใจจะเลือกจากพระองค์เจ้าหญิงที่ไม่มีฐานอำนาจของตระกูลเดิมมากนัก เพื่อที่จะสามารถควบคุมนโยบายที่เกื้อหนุนกลุ่มของตนเองได้  หรือ
3. ทรงเลือกด้วยพระองค์เอง ว่าต้องการมีพระภรรยาเจ้าพระองค์ใด อาจจะเพื่อความปรองดอง การถ่วงอำนาจกัน ในพระราชสำนักฝ่ายใน

ผิดถูกประการใด ขอความคิดเห็นจากผู้รู้ทุกท่านด้วยครับ

ปล ผมตั้งกระทู้ไว้ในพันทิปด้วยนะครับ http://pantip.com/topic/31899248 แต่ผมก็เข้ามาอ่านในเรือนไทยด้วยบ่อยๆ เลยนำมาตั้งกระทู้ที่นี่ด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 เม.ย. 14, 20:21

เรื่องนี้คุณ V_Mee คุณ Siamese คุณเพ็ญชมพู น่าจะตอบได้
ถ้าเจาะจงลงไปว่าเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง   ไม่ทราบเหมือนกันว่านอกจากเป็นพระราชประสงค์แล้ว  เสนาบดีเข้ามามีสิทธิ์ในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่
บันทึกการเข้า
AroundTheWorld
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 เม.ย. 14, 20:51

ขอบคุณครับคุณเทาชมพู
บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 เม.ย. 14, 21:19

ในกรณีการสถาปนาพระภรรยาเจ้า  คิดว่าผู้มีบทบาทสำคัญน่าจะเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่มากกว่าเสนาบดีนะคะ  โดยเฉพาะในกรณีพระเจ้าแผ่นดินยังพระชนมายุน้อย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับพระบุญญาธิการของราชนารีแต่ละพระองค์ด้วย



บันทึกการเข้า
AroundTheWorld
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 เม.ย. 14, 21:48

เรียนคุณ tita ครับ
ผมสันนิษฐาน (เดา) ว่ากลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการเลือกภรรยาเจ้าเป็นเหล่าเสนาบดีมากกว่าพระบรมวงศานุวงศ์อ่ะครับ

เพราะกรณีพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ก็ถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้นรัชกาล ซึ่งเป็นช่วงที่อิทธิพลของพระบรมวงศานุวงศ์ถดถอยลง
แต่เสนาบดีตระกูลบุนนาครุ่งเรืองถึงขีดสุด ถึงขั้นเข้าแทรกแซงการสถาปนาวังหน้า ในรัชกาลที่ 5 ได้
แต่ไม่พบบทบาทของเหล่าเสนาบดีต่อการคัดสรรตำแหน่งที่สำคัญที่จะกำหนดพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อไปได้ ก็เลยเห็นว่าแปลกครับ ^__^
บันทึกการเข้า
ืnoon
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 11 เม.ย. 14, 00:03

อนุมานจากประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ตอน ฉันถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่
"ในงานนี้เสด็จแม่ได้ตรัสแก่ฉันว่าให้เลือกคู่เสียทีเถิด และทรงอ้างว่าทูลกระหม่อมก็ได้ทรงบ่นอยู่ว่าอยากให้ฉันมีเมีย ส่วนพระองค์เสด็จแม่เองนั้นมีพระประสงค์ให้ฉันเลือกลูกเธอของทูลกระหม่อมองค์ 1 และทรงแนะนำว่าหญิงน้อย (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล) เปนผู้ที่ทรงเห็นเหมาะ แต่ฉันก็ยืนยันอยู่เช่นที่ได้เคยยืนยันมาแล้วตั้งแต่กลับจากยุโรป ว่าไม่ยอมเลือกน้องสาวเปนเมียเปนอันขาด"

และ

"เมื่อฉันไม่ยอมเลือกน้องสาวเปนเมียแล้ว เสด็จแม่จึ่งทรงยอมว่า ถ้าเช่นนั้นก็ให้เลือกหม่อมเจ้าหญิงคนใดคน 1 ฝ่ายฉันเห็นว่าจะอิดเอื้อนหรือผัดผ่อนต่อไปก็ไม่งดงาม จึ่งทูลว่าถ้าเช่นนั้นขอเลือกลูกสาวเสด็จลุงคน 1"

น่าจะเป็นแนวว่าทรงเลือกเองจากราชนารีที่เหมาะสม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ นั้น เมื่อแรกสถาปนาพระมเหสีก็มิได้เลือกจากตระกูลขุนนางที่มีอำนาจในขณะนั้น ทรงเลือก
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี พระราชธิดาลำดับที่หกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์ (สกุลเดิม สุขสถิต) ธิดาของพระยาพิพิธสุนทรการ (สุข สุขสถิต) เจ้าเมืองตราด พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา คือ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร, พระองค์เจ้าศุขสวัสดี และพระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 11 เม.ย. 14, 08:42

ข้อความที่สมบูรณ์ของคุณนูน  ยิงฟันยิ้ม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ นั้น เมื่อแรกสถาปนาพระมเหสีก็มิได้เลือกจากตระกูลขุนนางที่มีอำนาจในขณะนั้น ทรงเลือก
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี พระราชธิดาลำดับที่หกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์ (สกุลเดิม สุขสถิต) ธิดาของพระยาพิพิธสุนทรการ (สุข สุขสถิต) เจ้าเมืองตราด พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา คือ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร, พระองค์เจ้าศุขสวัสดี และพระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค

พระองค์เจ้าทักษิณชาเป็นพระราชธิดาที่ประสูติหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปีแรก จึงทรงหนึ่งในเป็นกลุ่มราชธิดาที่พระราชบิดาทรงมีพระเมตตาสนิทเสน่หาเป็นพิเศษ ทั้งยังทรงอบรมเลี้ยงดูด้วยพระองค์เอง

ส่วนที่ว่าเหตุใดโปรดฯ ถึงสามพระองค์ในเจ้าคุณจอมมารดาเดียวกัน
ประวัติศาสตร์ฉบับซุบซิบเล่าว่า แรกทีเดียวโปรดฯ พระนางเรือล่มก่อน แล้วพระนางกราบบังคมทูลให้ทรงรับไว้ทั้งสามพระองค์ ข้อความนี้ไม่สามารถอ้างอิงหลักฐานใดได้ เป็นแต่เล่าต่อกันมาค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 11 เม.ย. 14, 11:39

พระองค์เจ้าทักษิณชาทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์แรกในรัชกาล ด้วยทรงสนิทสนมและเสด็จไปไหนมาไหนด้วยกันมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ มีพระชันษาใกล้เคียงกัน (พระองค์เจ้าทักษิณชาทรงมีพระชันษามากกว่ารัชกาลที่ห้า ๑ ปี)

ครั้งหนึ่งทรงประสบอุบัติเหตุในเหตุการณ์เดียวกันเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ เวลานั้นพระชันษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ๕ ปี สมเด็จพระบรมชนกนาถพาไปทรงรถ เกิดเหตุรถพระที่นั่งล่มถึงต้องบาดเจ็บ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเล่าเรื่องในพระราชหัตถเลขาถึงทูตไทยที่ไปประเทศอังกฤษ ดังนี้

เมื่อ ณ วันอังคารขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ (ปีมะโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๓๙๙) เวลาเย็นมีเหตุบังเกิดขึ้นเป็นที่ตกใจมากในพระบรมมหาราชวังนี้ เวลาบ่ายวันนั้นข้าออกไปดูนาที่ท้องสนามหลวง ตัวข้าขี่ม้าออกไป แต่ลูกข้า ๔ คน ยิ่งเยาวลักษณ์ ทักษิณชา โสมาวดี ชายจุฬาลงกรณ์ ไปบนรถที่ข้าเคยขี่ ครั้นไปถึงที่ท้องสนามหลวง ลงดูนาดูสวนที่นั้นแล้ว เมื่อกลับมาตัวข้าไปขึ้นรถกับลูก ๔ คนด้วยกัน ขับรถกลับเข้ามาแล้วหาได้เข้าประตูวิเศษไชยศรีไม่ เลยลงไปดูการที่โรงทานนอก และดูการที่ป้อมอินทรังสรรค์จะก่อแท่นเป็นที่ยิงปืน ไปหยุดอยู่ที่โน่นนานจนเย็นจวนค่ำ

ข้าขับรถกลับมา ลูกข้า ๔ คนนั่งบนที่นั่งเต็มหมดจนไม่มีที่นั่ง ตัวข้าเอาข้างหลังยันเบาะ เท้าทั้งสองยันพนักหน้ารถ นั่งลอยมาเพราะข้าวของเล็ก ๆ น้อย ๆ ลูก ๔ คนหาประทุกมาเต็มชานหน้ารถ ไม่มีที่นั่งที่ยืน และทางที่ไปนั้นมีแต่จะชักรถเลี้ยวข้างขวาอย่างเดียว ไม่มีทางที่จะชักรถเลี้ยวข้างซ้าย เพราะฉะนั้นสายถือข้างซ้ายชำรุดอยู่ด้วยด้ายที่เย็บหนังแถบสายถือ ที่คล้องเหนี่ยวประวินที่ปากบังเหียนม้าข้างซ้ายนั้น เปื่อยผุมานักแล้ว หามีใครสังเกตไม่ ตัวข้าก็ไม่รู้เลย

เมื่อรถตรงเข้ามาตามถนนประตูวิเศษไชยศรี ม้าก็เร็วเข้ามาตามตรง ข้าก็ถือสายถือรวบเข้าทั้งสองสายมือเดียวหน่วงไว้เบา ๆ ครั้นกระบวนมาถึงที่เลี้ยวจะไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พวกทหารแห่เลี้ยวเข้าไปข้างนั้น แล้วยืนอยู่ตามเคย ครั้นรถมาถึงมุมทิมสงฆ์ก็เป่าแตรตีกลองตามเคย ม้าก็กระโชกวิ่งหนักเข้า ข้าเห็นกระโชกหนักกลัวลูกนั่งบนรถจะคะมำลง จึงรั้งสายถือพร้อมกันทั้งสองสายรวบอยู่ในมือเดียวกันนั้นหนักเข้ามา ม้าก็เดินเลี่ยงเฉไปข้างซ้ายไม่รอช้าดังประสงค์ เพราะสายถือหนักไปข้างซ้ายข้างเดียว ข้างขวาขาดเสียแล้ว ข้าหาเห็นไม่ ด้วยหนังยังเกี่ยวอยู่

ข้าเห็นม้าเดินเชือนไปผิดทางข้างซ้าย จึงแก้บังเหียนข้างขวาชักหนักมาสายเดียว ปลายสายแถบก็หลุดออกมา ข้าเห็นแล้วก็ร้องให้คนช่วย ก็ไม่มีใครช่วยทัน ข้างรถก็กระทบกับแท่นปากกลางตันชัยพฤกษ์ และรั้วล้อมกงข้างซ้ายก็ปีนขึ้นไปบนแท่นก่อด้วยอิฐ หลังคาประทุนรถกระทบปลายรั้วล้มเทมาข้างซ้าย ข้าก็สิ้นที่พึ่งเพราะสายถือขาดเสียแล้ว ไม่รู้ที่จะทำอย่างไร ตัวข้าก็นั่งลอยนัก แก้ตัวไม่ทัน พลัดตกหกตะแคงลงมากับทั้งลูก ๔ คน ตัวข้ากลัวรถจะทับตาย เอามือขวาดันไว้ รถจึงทับได้ที่ตะคากข้างขวา แต่แขนซ้ายนั้นตัวทับลงไปยกขึ้นไม่ได้ รถทับข้างขวากดลงไปกลับอิฐเสือกไป แขนซ้ายและตะคากก็ถลอกช้ำชอกเป็นแผลเจ็บหลายแห่ง แต่ตะคากข้างขวาช้ำบวมห้อโลหิต กับชายโครงขวานั้น โสมาวดีพลัดตกทับลงจึงเจ็บช้ำยอกเสียดไป

แต่ลูก ๔ คนที่ตกลงมาด้วยกันนั้น ชายจุฬาลงกรณ์ศีรษะแตกสามแห่งแต่เล็กน้อย ลางแห่งฟกบวมบ้าง ยิ่งเยาวลักษณ์เท้าเคล็ด ห้อยยืนในเวลานั้นไม่ได้ ขัดยอกที่สันหลังด้วย แต่มีแผลเล็กน้อย โสมาวดีก็มีแผลบ้าง หลังบวมแห่งหนึ่ง แต่ทักษิณชาป่วยมาก จะเป็นอะไรทับก็สังเกตไม่ได้ หลังเท้าขวาฉีกยับเยิน โลหิตตกมากทีเดียว ขณะนั้นลูกก็ร้องไห้วุ่นทั้ง ๔ คน แต่เดชะบุญคุณเทวดาช่วย ม้าก็หยุดไม่วิ่งไป คนวิ่งตามช่วยยกรถที่ล่มขึ้นได้ ข้าก็ลุกวิ่งมาได้ในขณะนั้น ลูก ๔ คนก็มีคนมาอุ้มขึ้นได้

แต่ทักษิณชานั้นอาการน่ากลัวมาก โลหิตไหลไม่หยุดสักชั่วทุ่มหนึ่ง ต้องแก้ไข แต่หมอว่ากระดูกไม่แตก เป็นแต่เนื้อแหลกเหลวไป ในกลางคืนวันนั้นให้ชักให้กระตุกตัวสั่นไป แต่แก้ไขมาก็ค่อยยังชั่วขึ้น แต่ยิ่งเยาวลักษณ์นั้นเอาน้ำมันนวดก็หายแล้ว โสมาวดีอาเจียนออกมาในเวลากลางคืนเป็นแต่เสมหะ ไม่มีโลหิต ให้กินยาก็หายเป็นปกติแล้ว ชายจุฬาลงกรณ์เป็นแต่หัวแตกสามแห่งแผลเล็กๆ แต่ตัวข้านั้นป่วยบ้าง ที่ตะคากขวาบวมช้ำห้อโลหิตแห่งหนึ่ง ชายโครงขวายอกเสียดช้ำไปแห่งหนึ่ง แต่แขนซ้ายชายสะบักซ้ายข้างลงดิน เป็นแผลช้ำบ้าง ถลอกบ้างหลายแห่ง แต่มีแผลใหญ่สองแผล ช้ำมาก เดี๋ยวนี้เป็นบุพโพขาวข้นไหล แต่ค่อยยังชั่วแล้วไม่เป็นอะไร

ในเหตุอันนี้ข้ากลัวคนจะตื่นไปต่าง ๆ ก็ไม่ได้บอกป่วย ออกมาตามเวลาเสมอทุกวัน และให้มีงายทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ หล่อพระพุทธรูป มีละคร ข้าก็ฟังสวดมนต์ ไปเลี้ยงพระ และดูละครตามปกติ ไม่ได้บอกป่วย แผลหลายแผลก็ใส่เสื้อซ่อนเสีย หน้าตาและหัวดีอยู่แล้ว และเดินได้อยู่แล้ว ก็ไม่เป็นอะไรดอก

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 11 เม.ย. 14, 11:56

เมื่อเจริญพระชันษา ทรงมีพระสิริโฉมและความสามารถน่าชื่นชม



เซอร์แฮรี เซนต์ยอช ออด ผู้สำเร็จราชการมาลายูของอังกฤษประจำสิงคโปร์ ซึ่งมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้ บันทึกเกี่ยวกับการออกสมาคมของพระธิดารุ่นใหญ่ ดังนี้

พระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเสด็จออกมาทรงต้อนรับ ทรงแนะนำให้รู้จักกับข้าราชการฝ่ายใน และพระองค์เจ้าหญิงมีพระชนมายุในราว ๑๖ พรรษา จำนวน ๓ พระองค์ คือ พระเจ้าลูกพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าทักษิณชา และพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าโสมาวดี ซึ่งทุกองค์ทรงพระโฉมศุภลักษณ์ เสียแต่เสวยหมาก ถ้าไม่ย้อมพระทนต์ (ให้ดำ) ตามธรรมเนียมของชาวสยามแล้ว ต้องชมว่าเป็นสตรีที่ทรงกัลยาเลิศลักษณ์ที่เดียว พระกิริยามารยาทก็น่าชม และตรัสภาษาอังกฤษได้ทุกพระองค์

ทั้งความสนิทสนมตั้งแต่ทรงพระเยาว์ รวมทั้งพระสิริโฉมและความสามารถดังได้กล่าวแล้ว น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัชกาลที่ ๕ ทรงเลือกพระองค์เจ้าทักษิณชาเป็นพระภรรยาเจ้าพระองค์แรก  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 11 เม.ย. 14, 14:29

พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง  (พระราชธิดาในรัชกาลที่  ๔)  ลำดับตามพระชันษา  และการเข้ารับราชการ


พระเจ้าพี่นางเธอ  พระองค์เจ้าทักษิณชา  นราธิราชบุตรี

พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสุนัทากุมารีรัตน์

พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี

พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา

พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี


พระองค์เจ้าทักษิณชา  เป็นพระภรรยาเจ้าพระองค์แรกสุด  และเป็นเพียงพระองค์เดียวในขณะนั้น  ต่อมาเมื่อพระประชวรจนไม่อาจถวายงานได้  รัชกาลที่  ๕  จึงได้ทรงรับพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์อื่นมาถวายงานแทน  โดยเริ่มตั้งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารรีรัตน์  และเรียงลำดับกันไปพระองค์ละปี"...โดยพระภรรยาเจ้าทั้ง  ๔  พระองค์นี้เมื่อแรกรับราชการทรงยกย่องไว้เสมอกันทุกพระองค์  พระเกียรติยศที่จะทรงเพิ่มพูนนั้นขึ้นอยู่กับการที่ทรงมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเป็นสำคัญ..."  จากหนังสือสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ  ของคุณสมภพ  จันทรประภา

บันทึกการเข้า
AroundTheWorld
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 11 เม.ย. 14, 15:30

ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูมากครับ ที่ช่วยอธิบายเพิ่มเติม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 19 คำสั่ง