เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 88031 มาทายภาพบุรุษ และสตรีปริศนากันเถอะ (3)
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 14 มี.ค. 14, 21:17

พระประวัติจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิลรัตน กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา (12 สิงหาคม พ.ศ. 2354 - พ.ศ. 2410) พระราชโอรสลำดับที่ 57 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพิม เมื่อวันจันทร์ เดือน 9 แรม 8 ค่ำ ปีมะแม ตรีศก จ.ศ. 1173 ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2354 เมื่อประสูติทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าชายนิลรัตน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิลรัตน ทรงรับราชการในรัชกาลที่ 3 และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา เมื่อ พ.ศ. 2394 ในรัชกาลที่ 4 ทรงว่าราชการกรมแสงปืนต้น กรมแสงหอกดายและกำกับช่างเงินโรงกษาปณ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิลรัตน กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา สิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อวันพุธ เดือน 11 ขึ้น 11 ค่ำ ปีเถาะนพศก จ.ศ. 1229 ตรงกับ พ.ศ. 2410 ศิริพระชันษา 57 ปี พระราชทานเพลงพระศพเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2411
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิลรัตน กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ทรงเป็นนักถ่ายภาพชาวไทยรุ่นแรกๆ เมื่อครั้งที่การถ่ายภาพเริ่มเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทย รุ่นเดียวกับ พระปรีชากลการ และ หลวงอัคนีนฤมิตร
 
พระโอรส ธิดา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิลรัตน กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ทรงเป็นต้นราชสกุล นิลรัตน ณ อยุธยา ราชสกุลนี้ นับเป็นสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ลำดับที่ 2169 ในประเทศไทย เขียนได้เป็นตัวอักษรโรมันว่า "Nilaratna na Krungdeb" ผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน คือ หม่อมราชวงศ์อวบ ตำแหน่งประจำหน้าที่การสมุหบาญชีกรม เสนาธิการทหารบก สำหรับบรรดาผู้ที่สืบสกุลโดยตรงลงมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 2 กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา (พระองค์เจ้านิลรัตน์)

พระโอรส-พระธิดา มีรายพระนามเท่าที่รวบรวมได้ ดังนี้

หม่อมเจ้าชายชุ่ม
หม่อมเจ้าชายโมรา (พ.ศ. 2385 - 28 เม.ย. 2430)
หม่อมเจ้าชายหยอย (พ.ศ. 2385 - 10 ก.ค. 2419)
หม่อมเจ้าหญิงทับทิม
หม่อมเจ้าหญิงมรกฎ (พ.ศ. 2394 - 3 มี.ค. 2452) เสกสมรสกับ หม่อมเจ้าชายอลงกรณ์ สุทัศน์
หม่อมเจ้าชายพุด (พุก) (พ.ศ. 2398 - 29 มี.ค. 2437)
หม่อมเจ้าชายวิเชียร (พ.ศ. 2399 - 16 เม.ย. 2419)
หม่อมเจ้าหญิงแฉ่ง (พ.ศ. 2401 - 16 พ.ย. 2455) เป็น พระชายาในกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์
หม่อมเจ้าหญิงสวัสดิ์ (พ.ศ. 2401 - 28 ม.ค. 2475)
หม่อมเจ้าหญิงสังวาล
หม่อมเจ้าหญิงจำเริญ พระราชทานเพลิง 16 เม.ย. 2457
หม่อมเจ้าหญิงสะบาย
หม่อมเจ้าชายสุวรรณ (พ.ศ. 2407 - ?)
หม่อมเจ้าหญิงจำรัส (พ.ศ. 2410 - 11 ต.ค. 2476) เป็น พระชายาในกรมพระสมมตอมรพันธ์
หม่อมเจ้าหญิงอึ่ง (? - 28 เม.ย. 2440)
หม่อมเจ้าชายบงกฎ
หม่อมเจ้าชายปรีชา
หม่อมเจ้าหญิงประทุม


มีบันทึกว่าพระรูปทั้งสองถ่ายก่อนพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ดังนั้นถ้าไล่พ.ศ.กันแล้วเปรียบเทียบกับวัยของพระกุมารน้อย ก็คงจะเดาได้ว่าเป็นหม่อมเจ้าในกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชาองค์ใดตามรายพระนามข้างบน ที่ตามเสด็จทูลกระหม่อมจุฬาลงกรณ์ในพระราชพิธีครั้งนั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 14 มี.ค. 14, 21:44

ยกรูปข้ามมาในหน้าใหม่

น่าคิดมาก เพราะรูปทั้งสองนี้เป็นสถานที่เดียว มุมเดียวกันแน่นอน แต่คนละเวลา  
สังเกตได้จากเครื่องประกอบฉากที่แตกต่างกันไปบางชิ้น แต่หลายชิ้นก็อันเดิม แสดงว่าเวลาที่ต่างกันคงต่างไม่มากนัก
ถ้าหากว่าทรงถ่ายรูปเอง ก็เป็นได้มากว่าสถานที่นี้คือวังของเสด็จในกรมพระองค์นี้  ไม่ใช่ในพระบรมมหาราชวัง
ดูตัวเรือนและมุมที่ใช้จัดฉากค่อนข้างแคบ

พิจารณาจากพระชันษาของพระโอรสธิดา   องค์ที่เข้าข่ายเด็กน้อยในรูป น่าจะมี
หม่อมเจ้าหญิงสังวาล
หม่อมเจ้าหญิงจำเริญ พระราชทานเพลิง 16 เม.ย. 2457
หม่อมเจ้าหญิงสะบาย
หม่อมเจ้าชายสุวรรณ (พ.ศ. 2407 - ?)
แต่ก็เดายาก เพราะบางองค์เราก็ไม่รู้ปีประสูติค่ะ




บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 15 มี.ค. 14, 08:22

ถ้าหากว่าทรงถ่ายรูปเอง ก็เป็นได้มากว่าสถานที่นี้คือวังของเสด็จในกรมพระองค์นี้  ไม่ใช่ในพระบรมมหาราชวัง
ดูตัวเรือนและมุมที่ใช้จัดฉากค่อนข้างแคบ

ภาพนี้ จอห์น ทอมสันเป็นคนถ่าย   มีคำบรรยายไว้สั้นๆว่า  A Siamese Prince with his attendant, Siam.  [1865-1866]






คิดว่าทั้งสองภาพข้างบนเป็นฝีมือจอห์น ทอมสัน

นายทอมสันเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายทอมสันได้อยู่ในกรุงเทพฯ ๓ เดือน ระหว่างนั้นได้ทำหนังสือเสนอสำนักพระราชวัง โดยผ่านสถานกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ ขอเข้าไปถ่ายภาพในพระบรมมหาราชวัง  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบรับนายทอมสันเป็นภาษาอังกฤษ  ทรงมีพระบรมราชานุญาต และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ฉายพระรูปส่วนพระองค์เองอีกด้วย โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิลรัตน กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา เป็นผู้ประสานงานและพาเข้าเฝ้า  

ข้อมูลจาก "นายทอมสัน ผู้ถ่ายพระรูปพระจอมเกล้า" โดย นายแพทย์พิพัฒน์ ชูวรเวช วารสารตราไปรษณียากร  ปีที่ ๓๔ ฉบับที่ ๑๑  มิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๔๗

นายทอมสันคงมีโอกาสไปที่วังของเสด็จในกรมพระองค์นี้ และถ่ายภาพเสด็จในกรมและพระธิดา (หม่อมเจ้าหญิง สังวาล หรือ จำเริญ หรือ สะบาย) ในโอกาสเดียวกัน





บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 15 มี.ค. 14, 09:57

อ้างถึง
นายทอมสันคงมีโอกาสไปที่วังของเสด็จในกรมพระองค์นี้ และถ่ายภาพเสด็จในกรมและพระธิดา (หม่อมเจ้าหญิง สังวาล หรือ จำเริญ หรือ สะบาย) ในโอกาสเดียวกัน
ฉลองพระองค์แบบครึ่งท่อนเช่นนี้น่าจะเป็นพระโอรสนะครับ(ดังพระรูปข้างล่าง) ไม่ใช่พระธิดา และถ้าดูพ.ศ.ที่มีพระราชพิธีโสกันต์ที่นายทอมสันมีโอกาสเข้าไปถ่ายรูปนั้น คือ๒๔๐๙ พระโอรสสองพระองค์ทั้ง หม่อมเจ้าชายพุด (พุก) ประสูติพ.ศ.๒๓๙๘  หรือหม่อมเจ้าชายวิเชียร พ.ศ. ๒๓๙๙ จะทรงอยู่ในวัย ๑๐-๑๑ พรรษา น่าจะอยู่ในข่ายที่องค์ใดองค์หนึ่ง(น่าจะเป็นองค์พี่มากกว่า)จะได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯในคราวนั้นด้วย และพระบิดาเลยขอให้ฝรั่งถ่ายรูปไว้ให้หน่อยในฐานะที่สนิทสนมกันแล้ว


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 15 มี.ค. 14, 10:12

ขยายรูปให้ดูอีกครั้งว่า เจ้านายเล็กๆองค์นี้เป็นชายหรือหญิงกันแน่
น่าจะเป็นผู้ชายนะคะ ดูจากผ้าที่คาดอยู่บนลำตัว  น่าจะเป็นผ้ากราบ ซึ่งใช้กันเฉพาะผู้ชายเท่านั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 07:03

เอาเจ้าหญิงน้อยทรงฉลองพระองค์เพื่อเข้าพระราชพิธีโสกันต์มาให้ชมเฉยๆ ไม่ได้ให้ทายว่าเป็นพระองค์ใด แต่ถ้าใครทราบแล้วจะเฉลยก็เชิญนะครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 08:30

สังเกตว่าพระรูปเจ้านายที่ทรงชุดโสกันต์ บางองค์ทรงมงกุฎ  บางองค์ทรงพระเกี้ยว  บางองค์ก็ไม่มี มีแต่วงเหมือนมงคลสวมบนพระเศียรอย่างรูปข้างบนนี้
จะว่าแสดงลำดับความเป็นเจ้าว่าชั้นไหน   ก็ไม่น่าใช่  เพราะพระรูปข้างล่างที่นำมาแสดง  บางพระองค์ก็เป็นเจ้าฟ้า บางองค์มีคำบรรยายว่าเป็นหม่อมเจ้า

ถ้าจำได้ว่าองค์ไหนเป็นเจ้านายองค์ใด ก็เชิญทายเพิ่มนะคะ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 09:07

คุณจินตะหราวาตี แห่ง พันทิป ให้ข้อมูลเกี่ยวกับฉลองพระองค์ของเจ้านายที่จะโสกันต์ไว้ว่า

มีด้วยกันทั้งสิ้น ๔ สำรับ ตามลำดับพระราชพิธี คือ

๑. เมื่อเสด็จฟังพระเจริญพระพุทธมนต์

ฉลองพระองค์แขนกระบอกยาว ทรงสนับเพลา และพระภูษาโจงไว้หางหงส์ คาดเจียระบาด (ผ้าห้อยด้านข้าง – เฉพาะพระองค์เจ้าลงมา) ชายไหว (ผ้าห้อยด้านหน้า เฉพาะเจ้าฟ้า คาดทั้งเจียระบาดและชายไหวรวมเป็น ๓ ผืน) คาดประปั้นเหน่งประดับเพชร (หัวเข็มขัด) ทับ ทรงพระนวม (กรองคอ ประดับเพชรและอัญมณีสี) คาดพระสังวาลย์ มีหงส์เพชรหรือดอกไม้ไหวประดับบนพระอังษา ทรงพาหุรัด (บานพับ) ที่ต้นพระพาหา ข้อพระกรทรงพระวลัยเพชรหรือกำไลทองหลายวงซ้อนกันเป็นชั้นขึ้นไปต้งแต่ข้อพระหัตถ์ ทรงปวะหล่ำ (เม็ดทองคำร้อยเป็นวง) ลูกไม้ปลายแขน (ลูกไม้ปลายมือ ก็ว่า เป็นรูปสัตว์ ใบไม้ ผลไม้ทองคำ ร้อยห้อยกับสายสร้อยอ่อน) ข้อพระบาททรงกำไล ลูกกระพรวนทองคำ เครื่องทรงข้อมือ ข้อเท้านี้ โบราณเรียก กรองเชิง กรองได ก็มี สำหรับพระยศเจ้าฟ้าทรงเพชรล้วน นอกนั้นอาจใช้อัญมณีอื่นสลับเพชร (แต่ไม่นิยมใช้เพชรล้วนเทียบเท่าเจ้าฟ้า) พระบาทสวมถุงพระบาทขาวยาวถึงเข่า ทรงฉลองพระบาทกำมะหยี่ปักลวดลาย

พระเมาฬี (จุก) นั้น ทรงพระเกี้ยวยอด สำหรับเจ้าฟ้า พระองค์เจ้าลงมา ทรงเกี้ยวดอกไม้ไหวหรือเกี้ยว เมื่อเข้าพิธีสวมมงคลย่น (ทำด้วยสายสิญจน์ ๑๐๘ เส้น ต่อมาใช้บุในนวมและประดับด้วยอัญมณี เป็นดอกไม้ทิศ หรือดอกไม้ล้อม)

๒. เมื่อเวลาโสกันต์

ทรงฉลองพระองค์ถอด (เครื่องทรงสำรับสรงน้ำโดยเฉพาะ) เป็นผ้านุ่งขาวยาวถึงข้อพระบาท และมีผ้าทรงสะพักขาวขลิบทอง ทรงเครื่องประดับชุดเดิม แต่ไม่ทรงถุงพระบาทและฉลองพระบาท ทรงมงคลย่นรอบพระเกี้ยว เมื่อถึงเวลาโสกันต์ถอดพระเกี้ยวออกแล้วจึงแบ่งพระเมาฬีเป็นปอย ๓ ปอย มีพระธำมรงค์นพรัตน์ผูกไว้ทุกปอยเพื่อที่จะทรงจรดพระกรรไกรกรรบิด (กรรไกรและมีดโกน) และเมื่อเวลาจะสรงน้ำต้องถอดเครื่องประดับที่จะเปียกน้ำออกบ้าง เช่น มงคลย่นหรือนวมคอ แล้วทรงทัดใบมะตูมเหนือพระกรรณขวา

๓. เมื่อสรงน้ำแล้ว

ผลัดฉลองพระองค์ถอด (ที่เปียกน้ำ) แล้วทรงพระภูษายกจีบหน้านาง ทรงคาดฉลองพระองค์ครุยเฉวียงพระอังษา (สำหรับเจ้านายชาย) หรือทรงสะไบสะพัก (สำหรับเจ้านายหญิง) ทรงเครื่องประดับเช่นเดิม (บางครั้งสำหรับเจ้านายพระองค์ใหญ่ มักมีการเปลี่ยนสีอัญมณีเมื่อจะแห่เสด็จกลับ เป็นอีกสำรับใช้อัญมณีสีอื่น ไม่ให้ซ้ำสำรับแรก) ทรงมงคลย่นที่มีการประดับดอกไม้ทิศหรืออัญมณี ทัดใบมะตูมเหนือพระกรรณขวา

๔. เมื่อเวียนเทียนสมโภช

สำหรับพระราชกุมารที่ทรงพระยศเจ้าฟ้าหรือพระองค์เจ้า ทรงฉลองพระองค์อย่างขัติยราชกุมาร คือ ทรงพระชฎามหากฐิน ทรงพระภูษาโจงไว้หางหงษ์ทับพระสนับเพลา ฉลองพระองค์แขนกระบอกแนบพระองค์ ทรงชายไหวชายแครง รัดปั้นเหน่ง ประดับสร้อยสังวาลย์ ฉลองพระบาท บ้างมีเหน็บพระแสงกริช เรียกรวมว่า ทรงเครื่องต้น ทรงเครื่องประดับพร้อมเครื่องอิศริยยศราชูปโภคอย่างเต็มที่ หากเป็นพระราชกุมารที่ดำรงพระอิศริยยศรองลงมา ไม่ทรงพระชฎา


บันทึกการเข้า
ritti018
พาลี
****
ตอบ: 210


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 11:51

เฉลย ภาพใน คห.ที่ 25 ครับ

สตรี ชั้น ตจ. ท่านนี้ คือ คุณหญิงประเทียบ  ชลทรัพย์(2444-2548)

มารดาของ ท่านผู้หญิงวิจิตรา  ธนะรัชต์




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 11:56

ขออภัยค่ะคุณ rittio  ดิฉันลืมภาพนี้ไปเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 11:59

ขอแก้ตัวด้วยการขอให้ทายชื่อท่านเจ้าของภาพนี้นะคะ


บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 13:05

ขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยกรุณาสืบค้นรูปกุมารน้อย (น่าจะเชื่อได้แล้วว่าเป็นท่านชายน้อยๆ) ใน คห. ที่ 8

ดิฉันติดใจรูปนี้มาแต่แรกเห็น  กุมารน้อยในรูปช่างน่ารักนักหนา  ดูงามเสงี่ยมจิ้มลิ้มพริ้มเพรา  นึกถึงความรู้สึกกวีเวลาประทับใจใครก็จะเอ่ยบทกวีชื่นชมออกมา  เสียดายไม่มีความสามารถด้านนี้  พยายามนึกหาบทโคลงกลอนเก่าๆ ก็นึกไม่ออกเสียแล้ว
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 13:20

ขอแก้ตัวด้วยการขอให้ทายชื่อท่านเจ้าของภาพนี้นะคะ

ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ      ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ     ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 13:31

เห็นด้วยค่ะ พระกุมารน้อยในรูปหน้าตาน่ารักมาก   และดูจะอดทนในการเป็นนายแบบให้ถ่ายรูปได้ดีมาก เพราะถ่ายรูปสมัยโน้นกว่าจะกดชัตเตอร์ได้นั่งกันเมื่อยแล้วเมื่อยอีก
เห็นแล้วนึกถึงสียะตราค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 13:31

ฉลองพระองค์แบบครึ่งท่อนเช่นนี้น่าจะเป็นพระโอรสนะครับ(ดังพระรูปข้างล่าง) ไม่ใช่พระธิดา และถ้าดูพ.ศ.ที่มีพระราชพิธีโสกันต์ที่นายทอมสันมีโอกาสเข้าไปถ่ายรูปนั้น คือ๒๔๐๙ พระโอรสสองพระองค์ทั้ง หม่อมเจ้าชายพุด (พุก) ประสูติพ.ศ.๒๓๙๘  หรือหม่อมเจ้าชายวิเชียร พ.ศ. ๒๓๙๙ จะทรงอยู่ในวัย ๑๐-๑๑ พรรษา น่าจะอยู่ในข่ายที่องค์ใดองค์หนึ่ง(น่าจะเป็นองค์พี่มากกว่า)จะได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯในคราวนั้นด้วย และพระบิดาเลยขอให้ฝรั่งถ่ายรูปไว้ให้หน่อยในฐานะที่สนิทสนมกันแล้ว

หากเป็นพระโอรส



ติดขัดตรงที่พระกุมารในภาพไม่น่ามีพระชันษาถึง ๑๐-๑๑ ปี เหตุผลเดียวกับที่คุณเทาชมพูให้ไว้สำหรับพระองค์เจ้าเทวัญฯ ซึ่งประสูติ พ.ศ. ๒๔๐๑  ยิงฟันยิ้ม

จะเป็นปี 2408 หรือ 2409 ก็ตาม  พระองค์เจ้าเทวัญฯ  เจริญพระชันษามากเกินกว่าจะเป็นพระราชกุมารในรูป

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 20 คำสั่ง