มีช่วงชีวิตหนึ่งที่ได้เข้าคารวะและรับฟังคำแนะนำจากคุณย่า บก.หรืออาจารย์นิลวรรณ
ที่สำนักพิมพ์สตรีสาร แถววัดตรีทศเทพ
ไม่น่าเชื่อว่า นิตยสารมีอายุยืนยาว (ตอนนั้น) เล่มนี้จะซ่อนตัวอยู่ในตรอกซอยแคบๆ
เป็นตึกแถวเล็กๆ 2-3 ชั้น รีเซฟชั่นหรือพนักงานต้อนรับก็นั่งอยู่หน้าประตูห้องแถวนั้นเอง
ชั้นล่างคือโรงพิมพ์แบบเรียงพิมพ์ มีช่างมือระวิงเต็มไปหมด
ชั้นสองและสามถึงเป็นส่วนของบรรณาธิการ
ส่วนห้องของอาจารย์นิลวรรณ เป็นห้องเล็กๆแยกต่างหาก ปิดหน้าต่างหมด เปิดแอร์บางมากๆ
ถึงกระนั้น อาจารย์ก็ยังต้องมีผ้าห่มคลุมไหล่ พันคออยู่
รับทราบจากบรรดากองบรรณาธิการทั้งหลายว่า
ปกติอาจารย์จะทำงานตลอดและไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ใครเข้าพบ
จึงนับว่าตัวเองโชคดีที่ได้มีช่วงเวลาสนทนาวิสาสะกับท่านผู้ใหญ่
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์พูด เล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟังมากกว่า
สุ้มเสียงที่ค่อนข้างดุ เข้มงวด ทำให้กองบรรณาธิการเกร็งทุกครั้งที่มีเสียงเรียกจากโต๊ะท่าน
อ้อ..ท่านไม่ได้ตะโกนเรียกชื่อลูกน้องหรอกค่ะ
แต่มีกระดิ่งกระเบื้องเคลือบเล็กๆ 2-3 อัน เสียงเสนาะต่างกัน
เวลากระดิ่งหนึ่งดัง เสียงกุ๋งกิ๋งที่กังวานออกมา ก็รู้เลยว่า ท่านต้องการเรียกใคร
ในฐานะคนเขียนหนังสือ หัวใจที่ท่านใส่ย้ำลงไปก็คือ
เขียนในสิ่งที่รัก รักในสิ่งที่รู้ และรู้ในสิ่งที่เขียน
นักเขียนต้องทำงานหนักเพื่อเสนอผลงาน ตัวอักษร ทัศนะคติและความงดงามทางวรรณศิลป์ให้แก่ผู้อ่าน
จงใช้เวลาทุกนาทีกับการเขียนให้คุ้มค่า
อย่าคิดว่าคนอ่านสติปัญญาด้อยกว่าเรา เขียนอะไรไปก็ได้
นี่คือการฆ่าตัวตายของตัวตนนักเขียน
นักเขียนไม่ใช่นักพูด อย่าเสียเวลากับสิ่งที่เราไม่ได้เป็น
นักเขียนเก่งๆหลายคนตกม้าตายเพราะไปออกเวทีพูดสาธารณะมานักต่อนักแล้ว
หรือนักเขียนมีชื่อหลายคน รีบเร่งผลิตผลงานเกินไปจนไม่มีเวลาไตร่ตรองสาระที่นำเสนอออกมา
ต่อให้เป็นซีไร้ตก็เถอะ ดิฉัน(หมายถึงอาจารย์)ก็วางกองอยู่มุมห้องนั่นแหละ

ความเคร่งครัดและเนี๊ยบของ สตรีสาร เป็นที่รู้กันในหมู่ของบรรดานักอ่านและแวดวงคนทำหนังสือ
หากมีอีกบางมุมที่เกี่ยวกับส่วนโฆษณาที่หลายคนอาจจะไม่ได้รับรู้
ปกตินิตยสารทั่วไปจะอยู่ได้ด้วยโฆษณาเป็นหลัก
เพราะค่าดำเนินการต่างๆค่อนข้างสูง
แม้จะขายดิบขายดีแค่ไหน ก็ไม่สามารถครอบคลุมต้นทุนการผลิตได้
ฉะนั้นโฆษณาจึงเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของนิตยสาร (อาจจะคล้ายๆท่อน้ำเลี้ยงตอนนี้กระมัง)
สตรีสารเป็นนิตยสารแนวอนุรักษ์นิยม ไม่ได้เน้นแฟชั่น บันเทิงเฉิดฉาย
ฉะนั้นยอดขายย่อมไม่หวือหวาและมีทีท่าจะลดน้อยลงตามวัยของคนอ่าน
คนรุ่นใหม่หันไปหยิบนิตยสารทันสมัยเล่มอื่นๆ
กระนั้นก็ตาม สตรีสารก็ยังคงโควต้าของหน้าโฆษณาไว้จำกัด
และในโฆษณาดังกล่าวก็ยังเข้มงวดถึงเนื้อหาหรือผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอด้วย
ครั้งหนึ่งมีโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สรีระส่วนตัวของผู้หญิง
ลงพิมพ์ปกหลัง ถูกผู้อ่านร้องเรียนว่า ไม่เหมาะสม เพราะมีเด็กๆในบ้านหยิบอ่านด้วย
โฆษณาสินค้าชิ้นนั้นถูกยกเลิกในเวลาต่อมา
จากนั้น โฆษณาที่ปลอดภัยและประจำปกหลังตลอดมาก็คือ น้ำปลาตราปลาหมึกนั่นเอง

อ้อ ถ้าวันไหนไปช่วงถ่ายรายการอาหารประจำฉบับ
โชคดีอาจจะได้ชิมเมนูนั้น
เพราะอาจารย์ย้ำนักย้ำหนา อาหารที่เอามาถ่ายจะต้องกินได้จริงๆ
ไม่ใช่เติมสี แต่งรูปร่างวิลิศเสียจนคนไม่กล้าแตะ
หรือใช้เทคนิคคัลเลอร์ทำให้สีแกงแช้ดเกินเหตุ
หรือเคลือบน้ำมันเสียเงาวับ ทำให้ดูน่ารับประทานเสียเว่อร์
ฉะนั้น ไม่แปลกใจที่ จานอาหารใน สตรีสาร จะสีนุ่มนวล พาสเทล จุงเบย์
(ภาษาแบบนี้ไม่มีทางได้ลงพิมพ์ใน สตรีสารแน่ๆ แห่ะ แห่ะ)
