เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 18905 สอบถามประวัติถึงคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง
SRISOLIAN
อสุรผัด
*
ตอบ: 36


 เมื่อ 26 ก.พ. 14, 22:08

ขอสอบถามผู้รู้ทุกท่านเกี่ยวกับคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ผู้ให้กำเนิดนิตยสารสตรีสาร ไม่ทราบว่าท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ครับ ผมมีโอกาสอ่านสตรีสารและสตรีสารภาคพิเศษในช่วงวัยเด็กๆ คงหานิตยสารสตรีอันทรงคุณค่าอย่างสตรีสารได้น้อยลงในบรรณพิภพปัจจุบันสมัย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 ก.พ. 14, 12:32

ผมได้พบกับคุณป้านิลวรรณ(ตามที่แม่สอนให้เรียก)เมื่อเกือบหกสิบปีได้แล้วกระมัง ตอนยังเป็นเด็กไม่ถึงสิบขวบ เคยไปเป็นเพื่อนแม่เวลาที่ไปหาคุณป้าที่โรงพิมพ์สตรีสาร เพราะแม่เป็นนักเขียนส่งต้นฉบับแบบไม่ประจำ และไปช่วยคุณป้าทำงานสังคมบ้างเป็นครั้งคราว จำไม่ได้ว่าสำนักพิมพ์สตรีสารแต่แรกตั้งอยู่ที่ไหน แต่เป็นเรือนไม้โอ่โถง ครั้นย้ายมาอยู่ตึกแถวข้างวัดตรีทศเทพแล้ว รู้สึกอึดอัด ชั้นล่างตั้งแท่นพิมพ์แน่นไปหมด คุณป้าทำงานชั้นบนๆ ห้องเล็กกว่าเดิมและดูคับแคบเพราะหนังสือหนังหา ตำรับตำราของคุณป้าเต็มไปหมด

เมื่อพูดกับผมท่านเรียกตัวเองว่าป้า และมักจะหาอะไรให้ผมเสมอ ส่วนใหญ่จะเป็นบางหน้าของดรุณสารที่คุณป้าให้คนไปเอามาจากแท่นพิมพ์บ้าง เย็บเล่มรอจัดส่งบ้าง ทำให้ผมได้อ่านการ์ตูนที่ชื่นชอบก่อนที่จะได้รับเล่มที่แม่เป็นสมาชิก จัดส่งทางไปรษณีย์มาถึงบ้าน
ตามความทรงจำของผม คุณป้าจะเป็นสุภาพสตรีใจดี เหมือนอย่างในรูป ร่างสูงสง่า แต่งตัวดี พูดจาช้าชัดถ้อยชัดคำ เวลาผมนึกภาพผู้ดีที่เป็นสุภาพสตรี มโนภาพจะย้อนไปยังคุณป้านิลวรรณที่ผมเคยรู้จักเสมอ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 ก.พ. 14, 12:36

สตรีสาร ผมเลือกอ่านบางเรื่องตามที่เด็กผู้ชายวัยนั้นจะสนใจ ระยะหลังๆผมไปอยู่โรงเรียนประจำแล้ว โอกาสที่จะไปไหนต่อไหนเป็นเพื่อนแม่ก็หมดไปมาก ผมพบคุณป้าอีกครั้งหนึ่ง ที่ห้องทำงานเดิม จำได้ว่าท่านแก่ไปอักโข ผมเป็นสีเงิน หน้าตาและผิวหนังเหี่ยวลงตามสังขาร แต่ท่านยังงามสง่า สุ้มเสียงมีพลัง และใจดีเช่นเดิม แล้วภารกิจกับสิ่งใหม่ๆที่เข้ามาในชีวิต ทำให้วิถีชีวิตของผมโคจรไปไกลจากแวดวงของท่าน ไม่ได้ข่าวคราวอะไรเกี่ยวกับท่านหลังจากนั้นอีกเลย

กระทู้นี้ทำให้ความทรงจำเก่าๆฟุ้งขึ้นมา ไม่อาจตอบคำถามของผู้ตั้งกระทู้ได้ แต่อยากบันทึกเรื่องราวนี้ไว้เป็นเครื่องระลึกถึงคุณป้า นิลวรรณ ปิ่นทองครับ

ส่วนประวัติของท่าน คุณวิกี้ได้ลงไว้ตามนี้

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93_%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 ก.พ. 14, 18:59

เขียนจากความทรงจำ    โดยมีบางส่วนจากวิกิ ที่ท่านนวรัตนทำลิ้งค์ข้างบนมาให้อ่านกันค่ะ

คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง เกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2458  อดีตบรรณาธิการนิตยสาร สตรีสาร อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูถัมภ์    ได้รับรางวัลแมกไซไซ  สาขาบริการสาธารณะ(Public service)ของประเทศฟิลิปปินส์   รางวัลนี้เคยมีสมญาว่าเป็นรางวัลโนเบลแห่งเอเชีย

คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง จบชั้นมัธยม 6 จากโรงเรียนเบญจมราชาลัย และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ได้วุฒิป.ป. จากนั้นเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นรุ่นที่ 4 ปี 2477   ได้อักษรศาสตรบัณฑิต  ทำงานเป็นครู 1 ปี แล้วย้ายมารับราชการในกรมโฆษณาการอยู่ 9 ปี จึงลาออกมาทำงานเอกชน เมื่อปี พ.ศ. 2491  รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารสตรีสาร  ซึ่งมีเจ้าของคือเรวดี เทียนประภาส  เจ้าของโรงเรียนเอกชน "เรวดี"
 ต่อมาปี 2492 รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการอีก 2 เล่มคือ ดรุณสาร สำหรับเยาวชน และ สัปดาห์สาร สำหรับเรื่องข่าวสาร
นิตยสารสตรีสารเป็นนิตยสารที่มีชื่อเสียงทางด้านคุณภาพ ได้รับความเชื่อถืออย่างยาวนาน จนได้รับรางวัลพระเกี้ยวทองคำ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนิตยสารส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. 2530   มีนักเขียนประจำที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่นกัญญ์ชลาหรือกฤษณา อโศกสิน     ม.ล.ศรีฟ้า ลดาวัลย์  โบตั๋น   นันทนา วีรชน ฯลฯ  ดำเนินการถึงปี 2539 จึงได้ปิดตัวลงไป

คุณนิลวรรณ เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูถัมภ์ เคยได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการประชาชน จากมูลนิธิแมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2505 และได้รับปริญญา อักษรศาสตร์ดุษฏีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) เมื่อปี 2517 ท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า   ใช้คำหน้าว่า "คุณ" (เนื่องจากยังโสด  หากเป็นสตรีสมรสแล้วใช้ว่า “คุณหญิง” ) ปัจจุบันอายุ 99 ปี


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 ก.พ. 14, 20:19

      ด้วยผลงานในหน้าที่บรรณาธิการมาอย่างดีเยี่ยมและยาวนาน  สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงให้มีรางวัลบรรณาธิการดีเด่น โดยตั้งชื่อว่า  “รางวัลคุณนิลวรรณ  ปิ่นทอง”  เพื่อยกย่องบรรณาธิการผู้มีผลงานดีเด่น  ประกอบอาชีพบรรณาธิการมาเป็นเวลานาน  และได้สร้างคุณูปการอย่างยิ่งต่อสังคมเป็นที่ประจักษ์แจ้งโดยทั่วไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 27 ก.พ. 14, 20:25

http://library.uru.ac.th/webdb/images/sakulthai5_files/dsakulcolumnDetailsql.html
   
คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง : ครูของนักเขียนและบรรณาธิการ ครูของนักเขียนนักอ่าน     
โดย  ไพลิน รุ้งรัตน์

             นามของ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง เป็นที่รู้จักกันดีของนักเขียนนักอ่านในฐานะบรรณาธิการผู้มีคุณภาพยิ่ง ในยุคที่วัฒนธรรมการอ่านมีความสำคัญยิ่งยวด และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆยังเป็นรองอยู่ บทบาทบรรณาธิการจึงโดดเด่นเป็นที่ประทับใจนักอ่าน นิตยสาร “สตรีสาร” จึงยืนยงและยังอยู่ในใจนักอ่านนักเขียนมาจนทุกวันนี้ แม้จะปิดตัวเองไปเมื่อมีอายุได้เพียงครึ่งศตวรรษก็ตาม

            นั่นเพราะ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ก่อร่างสร้างไว้

            อย่างไรก็ดี สำหรับนักอ่านนักเขียนแล้ว คุณนิลวรรณมิได้เป็นเพียงบรรณาธิการธรรมดาโดยทั่วไป แต่หากได้เป็น “ครู” ในหัวใจของเขาเหล่านั้นไปด้วย พจนานุกรมได้ให้ความหมายของคำว่า “ครู” ไว้ว่า ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ แม้คุณนิลวรรณจะมิได้ทำหน้าที่ “สอน” อย่างเป็นรูปธรรม มิได้เป็นครูหรืออาจารย์ผู้ประสาทวิชาในห้องเรียนให้นักเขียนคนใดคนหนึ่ง แต่ตลอดระยะเวลาที่คุณนิล

วรรณ ทำหน้าที่บรรณาธิการ คุณนิลวรรณก็คือ “ครู” ผู้ประสาทวิชาการเขียนและการอ่านไปพร้อมกัน

            เป็นคุณครูผู้ตรวจงานของนักเขียน

            คุณนิลวรรณเป็นครูแก่นักเขียน นับแต่นาทีแรกที่อ่านผลงานของนักเขียน เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจ-อ่าน-วิจารณ์ต้นฉบับทุกชิ้นที่ส่งถึงมือ เช่นเดียวกับที่ครูได้อ่านงานของลูกศิษย์ในวิชาที่สอนเพียงแต่วิชาของครูคุณนิลวรรณนั้นเป็นวิชาการเขียนที่นักเรียนเขียนส่งทางไปรษณีย์ อาจได้เห็นหน้าครูหรือไม่ได้เห็นหน้าครู สุดแล้วแต่โอกาสและโชค ครูในชั้นเรียนอ่านแล้วให้คะแนนได้หรือตก ครูคุณนิลวรรณก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกัน คนที่ได้ตีพิมพ์ก็คือคนที่สอบผ่าน คนที่ไม่ได้ตีพิมพ์ก็คือคนที่สอบตก และที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ ครูคุณนิลวรรณสามารถกำหนดระดับคะแนนให้ได้ด้วย ข้าพเจ้าเคยอ่านสัมภาษณ์ท่านครั้งหนึ่งนานมาแล้ว แม้จะนึกไม่ออกว่าท่านได้ให้สัมภาษณ์ไว้ที่ใด แต่ก็จำความได้แม่นยำ ท่านกล่าวว่า ท่านจะแบ่งแฟ้มผลการพิจารณางานออกเป็นสามแฟ้ม แฟ้มแรกคือแฟ้มตีพิมพ์ทันที นั่นคือเขียนได้ดีเป็นที่พอใจ ได้ตีพิมพ์ทันที ก็คือพอได้ต้นฉบับก็สามารถตีพิมพ์ได้ในสัปดาห์นั้นๆหรือสัปดาห์ถัดไป (กรณีนี้หมายถึงเรื่องสั้น) งานแบบนี้ข้าพเจ้าคิดว่าก็เหมือนกับได้เกรด เอ หรือบี ส่วนแฟ้มที่ ๒ คือแฟ้มที่รอการพิจารณาอีกรอบหนึ่ง อาจจะเป็นผลงานที่พอใช้ได้ แต่ยังไม่ถูกใจนัก อาจมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง กรณีนี้ท่านจะใส่แฟ้มรอไว้อ่านอีกรอบหนึ่ง อ่านรอบสองรอบสามแล้วอาจจะเป็นที่พอใจได้ตีพิมพ์ กว่าจะมาอ่านใหม่ ผลงานจึงได้ตีพิมพ์ช้ากว่าแฟ้มแรก อาจเป็นภายในหนึ่งเดือนหรือสองเดือน กรณีนี้ข้าพเจ้าก็วิเคราะห์ว่าเหมือนว่านักเขียนได้เกรด ซี หรือดี ส่วนแฟ้มที่ ๓ นั้น คือพวกที่ไม่ผ่านการพิจารณา ข้าพเจ้าว่าเป็นพวกเกรดเอฟ นั่นแหละ
คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง กับ ปรีดา หนุนภักดี ผู้ร่วมงาน “สตรีสาร” มา ๔๐ ปี กับ อาจารย์ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง

            จำได้ว่า ตอนที่ได้ยินเรื่องการพิจารณาผลงานนี้ครั้งแรก ข้าพเจ้าตื่นเต้นมาก รีบทบทวนย้อนรำลึกความ สมัยที่ข้าพเจ้าเป็นละอ่อนน้อย จบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ส่งผลงานมาให้คุณนิลวรรณพิจารณา ข้าพเจ้ามีผลงานเรื่องสั้นได้ตีพิมพ์ในสมัยนั้น๔-๕ เรื่อง และในจำนวนนั้นมีเพียงเรื่องเดียวที่ได้ตีพิมพ์ทันที ข้าพเจ้ายังจำได้ว่าชื่อเรื่อง “หล่นแหลก” (รวมเล่มอยู่ในชุด ญ หญิงอดทน) ส่วนเรื่องอื่นๆก็มาจากแฟ้มรอทั้งสิ้น

            ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่แปลกใจเลยที่ได้ยินนักเขียนที่มีชื่อเสียงจำนวนมากกล่าวว่า เกิดเพราะ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง

            เป็นคุณครูผู้สร้างนักอ่าน

            ข้าพเจ้ายังคิดต่อไปอีกด้วยว่า ไม่แต่นักเขียนเท่านั้นที่เกิดเพราะคุณนิลวรรณ นักอ่านก็เกิดเพราะคุณนิลวรรณเช่นกัน นักอ่านจำนวนมากที่มีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป ล้วนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า สตรีสารได้ทำให้เขารักการอ่าน และกลายมาเป็นนักอ่านคุณภาพมาจนทุกวันนี้ รวมทั้งยังได้บ่มเพาะให้ลูกหลานในบ้านกลายเป็นนักอ่านต่อไปรุ่นแล้วรุ่นเล่าอีกด้วย ทั้งนี้ เพราะบรรณาธิการอย่าง คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ได้สร้างสรรค์นิตยสารสตรีสารให้เป็นเสมือนห้องเรียนในบ้านของนักอ่านทุกระดับ

            ข้าพเจ้าจำได้ว่า สตรีสารมีการจัดคอลัมน์ต่างๆอย่างลงตัว ให้สามารถอ่านได้ตั้งแต่พ่อบ้าน แม่บ้าน ไปจนกระทั่งถึงลูกๆ เรียกว่านอกจากนวนิยาย เรื่องสั้น และข่าวสารแล้ว ยังมีคอลัมน์ทัศนะชาย มีคอลัมน์ทัศนะหญิง มีคอลัมน์เกี่ยวกับทกวี มีสตรีสารภาคผู้เยาว์ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีคุณภาพและมุ่งให้เกิดความคิดความอ่านขึ้นในครอบครัว ข้าพเจ้าจึงอยากจะเรียกสตรีสารว่า เป็นห้องเรียนที่นักเรียนต้องเข้าเรียนทุกสัปดาห์ แต่มีความเป็นอิสระว่าในหนึ่งสัปดาห์นั้น ใครจะเลือกเรียนตอนไหนก็ได้ และเลือกเรียนวิชาไหนก่อนหลังก็ได้ รวมทั้งสามารถเลือกเรียนได้ตามอายุด้วย     

            ห้องเรียนดีๆ เช่นนี้ หากไม่มีคุณครูใหญ่ที่ชื่อ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ก็ยังนึกไม่ออกว่าพวกเรานักอ่านทั้งหลายจะสำเร็จหลักสูตรกันได้อย่างไร

            เป็นคุณครูอยู่ในตัวตน

            นอกจากในส่วนที่เกี่ยวกับสตรีสารแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่า คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ยังมีบุคลิกภาพและความเป็นครูอยู่ในตัวตนของท่านอย่างน่ามหัศจรรย์ ใครที่ได้พบเห็นท่าน แน่นอนที่สุด วาระแรกที่ได้พบเห็นคือ ความยำเกรงในบารมีของท่าน เพียงแค่คุณนิลวรรณมองปราดมาครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะสัมผัสได้ทันทีว่า ท่านใช้ความเป็นครูของท่านอ่านและสำรวจผู้อื่นเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อได้รู้จักท่านมากขึ้น ได้พูดคุยหรือร่วมงานกับท่านก็จะพบว่า บุคลิกภาพอันน่ายำเกรงนั้นมิได้เป็นอุปสรรคในการทำงานเลย

            เพราะท่านเป็นคนจริงใจและจริงจังในการทำงาน

            ข้าพเจ้าเคยร่วมงานกับท่านเมื่อครั้งเป็นเลขาธิการสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำได้ว่าครั้งหนึ่งท่านดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ และข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการ มีหลายครั้งที่ท่านแก้ภาษาในรายงานการประชุมของข้าพเจ้าจนแดงพราวไปทั้งหน้า ครั้งแรกข้าพเจ้าสะดุ้งตกใจ แต่หลังจากนั้นก็เรียนรู้และแก้ไขตามที่ท่านสอน จนในที่สุดก็เรียนรู้ได้อย่างชัดเจนว่า ท่านต้องการให้เขียนรายงานการประชุมอย่างชัดเจน ถูกต้อง และไม่เยิ่นเย้อประโยคกลางๆ ประเภท “รับไปดำเนินการ” หรือ “รับผิดชอบ” บางครั้งอาจถูกต้องคำถามจากท่านว่า รับไปดำเนินการอย่างไร หรือรับผิดชอบเรื่องอะไร เพราะท่านไม่ต้องการให้เกิดความกำกวม อันอาจเป็นปัญหาในภายหลังได้นั่นเอง

            การถูกแก้ภาษาในรายงานการประชุมจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าจำไม่ลืม

            นอกจากนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับทัศนะต่อโลกและชีวิต หลายครั้งที่ข้าพเจ้าแสดงความคิดเห็น และถูกตั้งคำถามตรงไปตรงมาจากท่าน จนต้องทบทวน ใคร่ครวญคิดอย่างรอบด้าน เพราะท่านเป็นครูที่ไม่ต้องเกรงใจศิษย์ จึงเกิดการเรียนรู้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

            ในฐานะนักเขียน เสียดายที่ข้าพเจ้ามีโอกาสร่วมงานกับ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง น้อยมาก อีกทั้งยังไม่มีโอกาสได้ส่งผลงานให้ท่านพิจารณามากนัก เนื่องจากว่า เมื่อข้าพเจ้าหันมาเขียนนวนิยายอย่างจริงจัง สตรีสารก็ปิดตัวไปแล้ว

            แต่ในฐานะนักอ่าน ข้าพเจ้าคิดว่าคุณนิลวรรณได้เป็นครูที่สอนให้ข้าพเจ้ารักการอ่าน รักหนังสือ และรักแวดวงวรรณกรรมนี้ ไม่ว่าท่านจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และความรักในการอ่านนี้เองได้ก่อให้เกิดความรักในการเขียนขึ้นในตัวตนของข้าพเจ้า และผลักดันข้าพเจ้าสู่เส้นทางนักเขียนมาจนทุกวันนี้

            วันครูนี้ ข้าพเจ้าขอคารวะครูนักเขียนนาม คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง มา ณ โอกาสนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 27 ก.พ. 14, 20:26

ทัศนะของ กฤษณา อโศกสิน
กราบ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง
‘ครู’ วรรณกรรม

            ในวาระ “วันครู”  ๑๖ มกราคม ๒๕๔๖ นี้

            มี “ครู”  ผู้ประสิทธิ์ประสาทความดีความงาม อเนกอนันต์แก่วงวรรณกรรมที่สมควรสดุดีเกียรติคุณอยู่ในใจของดิฉันไม่มีวันลืมได้ท่านหนึ่ง

            คือ ท่านอาจารย์ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ผู้เป็นปูชนียบุคคลที่ยิ่งใหญ่หาได้ยาก

            เมื่อหวนรำลึกถึงบทบาทอันโดดเด่นของท่าน นักเขียน นักวิชาการและนักอ่านทั่วประเทศย่อมรู้จักท่านเป็นอย่างดีในฐานะบรรณาธิการสตรีคนแรกของนิตยสารสตรีฉบับแรกของประเทศไทย โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐-๒๕๓๘ รวมเป็นเวลา ๔๘ ปีเต็ม มีผู้อ่านติดตาม ‘สตรีสาร’ นิตยสารสตรีชั้นนำ เลิศล้ำคุณภาพอย่างคับคั่งสืบมา

            ระหว่าง ๔๘ ปี ที่ท่านอาจารย์ทำหน้าที่บรรณาธิการ หรือเรียกง่ายๆว่า เป็นผู้บริหารนิตยสารฉบับนี้ โดยควบคุมการผลิตอันมีบุคคลหลายฝ่ายร่วมมือ...หนึ่งในหลายฝ่ายได้แก่ นักเขียน ซึ่งมีนักเขียนนวนิยาย สารคดี กวีนิพนธ์ บทความ วรรณกรรมเยาวชน รวมไปถึงความรู้ความเข้าใจในด้านอื่นๆ อันเป็นสาระที่สตรีควรรู้ ควรเข้าใจ เพื่อเพิ่มพูนทักษะ และประสบการณ์ให้ชีวิต ท่านจึงต้องติดตามตรวจสอบ รวมทั้งดูแลให้ทุกฝ่ายเดินไปด้วยกันในแนวทางที่วางไว้ สมสถานภาพของนิตยสารสตรีที่ได้มาตรฐาน

            ดิฉันมีโอกาสเข้าไปเป็นนักเขียนภาคใต้การบริหารงานของท่านอาจารย์เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๕๓๒ เป็นเวลา ๓๑ ปี ได้รับแค่สิ่งที่ดีงามอันเป็นคำแนะนำทักท้วงในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการเขียนนวนิยาย และความเมตตากรุณา เป็นส่วนตัว

            คำติงเตือนในเรื่องงานเป็นครั้งแรกก็คือ การแก้ปัญหาให้ตัวละครในเรื่อง “น้ำผึ้งขม” โดยดิฉันจะให้ “คุณลวง”  ยิงสั่งสอน “ปุริม”  เพื่อแก้ลำรักสามเส้า แต่ท่านอาจารย์ท้วงไว้ ด้วยเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาที่รุนแรงโดยไม่จำเป็น เนื่องจากทางอื่นยังพอมี เมื่อได้รับคำท้วงติงเช่นนี้ ดิฉันจึงมีโอกาสเปลี่ยนใจ ช่วยให้เรื่องราวอ่อนโยนกว่าเดิมเป็นอันมาก

            อีกเรื่องหนึ่งคือ “ลายดอกหญ้า”  ที่ดิฉันนำความคิดทางการเมืองสอดใส่แบบโดดเข้าไปดื้อๆ ท่านจึงขอตัดออกโดยให้เหตุผลว่า ความคิดดังกล่าวไม่สอดคล้องหรือเกี่ยวข้องอย่างใดกับตัวละคร จึงไม่ควรเพิ่มเข้าไปจะทำให้เสียหายแก่อรรถรส

            ดิฉันก็จดจำคำท้วงติงของท่านไว้ด้วยความเคารพและนับถืออย่างสูง ยึดเป็นคำสอนของ “ครู”  วรรณกรรมสืบมา

            เมื่อมาถึงวันนี้...เป็น “วันครู” ...ดิฉัน กฤษณา อโศกสิน ขอกราบคารวะท่านอาจารย์ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ด้วยความซาบซึ้งในคุณูปการที่ท่านได้ให้แก่ดิฉันตลอดเวลา ๓๑ ปี บนเวทีสตรีสาร นับเป็นความทรงจำอันมีค่ายืนนานที่ดิฉันจดจำรำลึกตลอดมา...ไม่มีวันลืมเลือนไปจากใจ

            ท่านเป็น “ครู”  ของดิฉัน และเป็นครูของนักเขียนอีกมากมายนับไม่ถ้วน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 27 ก.พ. 14, 20:27

ทัศนะของ สุภัทร สวัสดิรักษ์
บรรณาธิการอาวุโสนิตยสารสกุลไทย
“อาจารย์เป็นครูผู้ประเสริฐของดิฉันทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม”
            ดิฉันได้ผ่านงานทำนิตยสารมาหลายแห่งแล้วก็จริง แต่ก็กล่าวได้อย่างเต็มคำว่า แห่งแรกที่ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ยิ่งกว่านิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์ ยิ่งกว่าการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย คือการทำงานที่ “สตรีสาร”

            ดิฉันเข้าทำงานประจำกองบรรณาธิการสตรีสารอยู่สองระยะ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๔ หลังจากได้ผ่านงานนิตยสารเดลิเมล์วันจันทร์มาบ้างเล็กน้อย พอทำไปได้สักพักหนึ่งก็ถูกชวนไปหาประสบการณ์ใหม่จากการทำงานหนังสือและเขียนบทความในกรมข่าวทหารบก ไปเป็นบรรณาธิการนิตยสารนารีนาถ และทำรายการวิทยุให้แก่แผนกวิทยุและโทรทัศน์ สำนักข่าวสารอเมริกัน จากนั้นจึงกลับมาประจำที่สตรีสารอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต่อมา อาจารย์คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง มอบหมายให้ดิฉันทำงานด้านเลขานุการสำนักงานของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย ก่อนที่ดิฉันจะลาออกมารับงานที่สกุลไทยอย่างเต็มตัวจนทุกวันนี้

            ตลอดเวลาที่ดิฉันได้ทำงานด้านหนังสือ ด้านการเขียน รวมทั้งงานด้านวิทยุ และโทรทัศน์ ดิฉันสำนึกอยู่เสมอว่า พื้นฐานจากประสบการณ์การทำงานเหล่านี้ ดิฉันได้เรียนรู้มาจาก อาจารย์ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง อย่างแท้จริง อาจารย์เป็น “ครู” ผู้ประเสริฐของดิฉันทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ซึ่งงานหลายอย่างดิฉันได้เรียนรู้จากอาจารย์โดยที่อาจารย์อาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ นอกเหนือไปจากงานที่อาจารย์ได้กรุณาสอนและแนะนำโดยตรง

            สตรีสารในระยะต้นๆที่ดิฉันมีโอกาสได้ร่วมงานกับอาจารย์นั้น มีสำนักงานเป็นตึกแถว ๒ คูหา ที่ถนนเฟื่องนคร ชั้นล่างติดตั้งแท่นพิมพ์ซึ่งในสมัยนั้น ยังมีแท่นพิมพ์อย่างที่เรียกกันว่า “ฉับแกระ” คือป้อนกระดาษพิมพ์ทีละแผ่น ชั้นบนเป็นสำนักงาน มีคนทำงานเพียงไม่กี่คน โต๊ะทำงานของดิฉันอยู่เยื้องกับของอาจารย์ จึงได้มีโอกาสสังเกตเห็นการทำงานของอาจารย์อย่างมีระเบียบทุกเรื่อง อาจารย์จะแยกงานทุกชนิดออกเป็นแฟ้มๆ ไม่ปะปนกัน มีป้ายติดบอกรายละเอียดไว้อย่างเรียบร้อย เช่น แฟ้มต้นฉบับของนักเขียนแต่ละเรื่อง แฟ้มเรื่องที่ได้รับมาใหม่ ทุกเรื่องจะลงวันที่รับไว้ แฟ้มเรื่องที่ผ่านการคัดสรรจากอาจารย์แล้ว มีลายมือของอาจารย์ตรวจแก้และให้ตัวอักษรไว้พร้อมสำหรับการส่งเรียงพิมพ์ การเรียงพิมพ์ในสมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์เช่นสมัยนี้ ต้องใช้ตัวอักษรที่หล่อด้วยตะกั่ว ช่างเรียงจะมีความชำนาญในการหยิบออกมาจากช่องในกระบะทีละตัว และเรียงเป็นประโยคตามข้อความในต้นฉบับลงในกรอบโลหะเท่าขนาดของคอลัมน์แล้วผูกมัดอัดให้แน่นพร้อมที่จะวางลงบนแท่นปรู๊ฟ เพื่อส่งให้พนักงานตรวจปรู๊ฟหรือที่สมัยนี้เรียกกันว่า พิสูจน์อักษร...ที่กล่าวมานี้เป็น “ปรู๊ฟยาว” ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกเท่านั้น ยังมีขั้นตอนต่อไปอีกหลายขั้นตอน เช่น ปรู๊ฟหน้า และปรู๊ฟหน้าแท่น เป็นต้น ก่อนที่จะส่งแท่นพิมพ์พิมพ์ออกมาเป็นกรอบๆ ทั้งด้านหน้าด้านหลัง เพื่อที่จะส่งให้ช่างพับ พับเก็บเล่ม เย็บ และตัดออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือ

            ดิฉันไม่เคยลืมคำสอนของอาจารย์ที่ว่า คนทำหนังสือจะต้องรู้กรรมวิธีของแต่ละขั้นตอนให้ดีเพื่อที่จะได้สั่งงานได้ถูกต้อง และตรวจเช็คงานมิให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ตก พิมพ์ผิด การต่อหน้าผิด ฯลฯ เป็นต้น อาจารย์สอนให้ดิฉันรู้จักตั้งแต่การวาง “กรอบนอก” และ “กรอบใน” ของหนังสือ การแบ่งคอลัมน์ การให้ตัวอักษร การวางดัมมี หรือทำรูปเล่มจำลอง ฯลฯ ขั้นตอนต่างๆเหล่านี้ปัจจุบันเป็นหน้าที่ของบรรณาธิกรกิจหรือฝ่ายศิลป์ แต่ในสมัยที่ดิฉันเคยร่วมงานกับอาจารย์มานั้น ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่บรรณาธิการ

            อาจารย์สอนให้ดิฉันรู้จักวิธีอ่านและประเมินคุณค่าของเรื่อง หัดวิจารณ์เรื่อง อาจารย์บอกว่าเราต้องทำความเข้าใจกับเนื้อหาต่างๆที่เลือกพิจารณาเอาไว้ เพื่อมุ่งไปที่ประโยชน์ของผู้อ่านเป็นสำคัญ ทำอย่างไรจะให้ผู้อ่านรับได้ง่าย และเข้าใจง่าย เช่น การให้ตัวอักษรที่เหมาะสมกลมกลืนกับเนื้อเรื่อง อะไรที่เห็นว่าสำคัญควรเน้นตัวใหญ่ ลักษณะที่เป็นคำพูด บางอย่างอาจเน้นตัวเอน การเปลี่ยนกาลเวลา ควรทิ้งช่วงตัวหนังสือให้ห่าง ภาษาของคนทำหนังสือเรียกกันว่า “เว้นเอ็ม” แล้วขึ้นย่อหน้าใหม่ด้วยการเล่นตัวอักษรใหม่ อะไรดังนี้เป็นต้น รวมทั้งการโปรย คือจับจุดเด่นที่น่าสนใจของเรื่องแยกออกมาพิมพ์เน้นตัวใหญ่...อะไรเหล่านี้ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่งที่สามารถโน้มน้าวทำให้เรื่องนั้นๆมีความน่าอ่านมากขึ้น และเข้าใจง่ายขึ้น ช่วยส่งเสริมการอ่าน อาจารย์ได้กรุณาหาหนังสือดีๆและแนะนำให้ดิฉันอ่านหนังสืออีกมากมายหลายเล่ม เพื่อดิฉันจะได้มีโอกาสศึกษาทั้งการจัดรูปเล่มเนื้อหาและเรียนรู้ลักษณะการเขียนที่มีคุณภาพ รวมทั้งการใช้ภาษาที่ถูกต้อง มีวรรณศิลป์งดงาม ดิฉันอยากจะกล่าวว่า อาจารย์ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง เป็นผู้ที่ทำให้ดิฉันซึมซับการรักหนังสือและ “รักตัวหนังสือ” ไปโดยไม่รู้ตัวมาจนทุกวันนี้

            อาจารย์เป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่องานหนังสืออย่างแท้จริง เมื่อดิฉันกลับมาทำงานที่สตรีสารอีกครั้งหนึ่งราว พ.ศ.๒๕๐๑ นั้น สตรีสารได้ขยายกิจการย้ายไปอยู่ที่ถนนอุณากรรณแล้ว มีแท่นพิมพ์เพิ่มขึ้น อุปกรณ์การพิมพ์ทันสมัย และมีพนักงานเพิ่มขึ้นหลายคน มีงานหนังสือในเครือของสตรีสารเกิดขึ้นคือ ดรุณสาร และสัปดาห์สาร นอกจากนั้นยังมีงานรับพิมพ์พิเศษของบริษัทการพิมพ์สตรีสารด้วย อาจารย์ดูแลทุกเรื่องด้วยตนเอง แม้บางเรื่องบางด้านได้มอบหมายให้ผู้อื่นรับผิดชอบ แต่ทุกๆอย่างก็จะต้องผ่านสายตาของอาจารย์ด้วยความละเอียดรอบคอบอยู่เสมอ การอุทิศตนทำงานหนักเช่นนี้ ทำให้อาจารย์ต้องพำนักพักพิงอยู่ที่ชั้นบนด้านหลังของอาคารอุณากรรณ ที่ทำงานจึงเปรียบเป็นดัง “บ้าน” ของอาจารย์ไปโดยปริยาย

            มีอยู่ครั้งหนึ่ง ดิฉันไปทำงานแต่เช้า จึงได้ทราบว่าเกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นที่ห้องน้ำชั้นล่างด้านหลังของอาคารอุณากรรณ เจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่งกลับไป และยังได้ทราบอีกว่า เมื่อพนักงานดับเพลิงมาถึงนั้น อาจารย์ก็ได้ใช้เครื่องดับไฟเคมีดับการลุกลามของเพลิงไปได้อย่างมากแล้ว ทำให้เห็นบุคลิกลักษณะของการเป็น “หญิงเหล็ก” อีกด้านหนึ่งของอาจารย์ที่มีทั้งสติและความแข็งแกร่งกล้าหาญเพิ่มขึ้น จากการเป็นบรรณาธิการและนักบริหารที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ คุณวุฒิ ปัญญาความอุตสาหะวิริยะ และเอาจริงเอาจังกับการทำงาน

            อาจารย์คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสร้างงานใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อวงการหนังสือ วรรณกรรม ตลอดจนวงการอื่นๆซึ่งน่าจะได้มีการบันทึกไว้ ท่านเป็นผู้ที่ได้ริเริ่มให้มีการอภิปรายกันทางวิทยุ และร่วมกับ คุณจำนง รังสิกุล จัดรายการอภิปรายทางวิทยุข้ามแดนขึ้น คือระหว่างสถานีวิทยุ ๑ ป.ณ. ยุคที่ คุณเสงี่ยม เผ่าทองสุข เป็นผู้อำนวยการกับสถานีวิทยุ ท.ท.ท. ในระยะเวลาที่อาจารย์ริเริ่มบุกเบิกก่อตั้งสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย อาจารย์ได้จัดให้มีการชุมนุมบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตรวมทั้งท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา หนังสือ และวรรณกรรม มาพบปะแลกเปลี่ยนกันทุกวันศุกร์ เช่น พระยาอนุมานราชธน พระยาโกษาธิบดี มหาเกษม บุญศรี หลวงบุณยมานพพานิช (แสงทอง) อาจารย์ทวี ทวีวรรธนะ ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ฯลฯ และอีกหลายท่าน อาจารย์ได้มอบหมายให้ดิฉันเป็นผู้จดบันทึกการสนทนา ซึ่งได้เคยนำประเด็นที่น่าสนใจเรื่องการใช้คำต่างๆในภาษาไทยลงพิมพ์ในวารสารภาษาและหนังสือในยุคแรกๆไปแล้ว

            อาจารย์ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง เป็นผู้ทำประโยชน์ต่อวงการหนังสือและนักเขียนอีกหลายประการ เสมือนหนึ่งเป็นการเสริมจากบทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ อาจารย์เคยจัดสังสรรค์นักเขียนในกลุ่มย่อยหลายครั้ง เคยไปร่วมประชุมกับนักเขียนนานาชาติ (P.E.N.International) ในหลายประเทศ เคยเป็นผู้ริเริ่มจัดประชุมนักเขียนอาเซียขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯพระราชทานเลี้ยงที่สวนศิวาลัยในพระบรมมหาราชวัง นับเป็นเกียรติอย่างสูงแก่วงการนักเขียนไทยและนานาชาติ

            อาจารย์ยังเป็นหนึ่งในกระบวนการผู้ริเริ่มก่อตั้งสภาสตรีแห่งชาติขึ้นในสมัยของ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม อาจารย์ได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการและเป็นผู้ริเริ่มวางโครงการต่างๆ อันเป็นแนวทางรากฐานของสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ปัจจุบัน ยังมีสมาคมอื่นๆอีกหลายสมาคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่เด็ก เยาวชน ชุมชน และการศึกษาซึ่งอาจารย์ได้เคยมีบทบาทอยู่มากทั้งในการริเริ่มจัดตั้งและเป็นกรรมการดำเนินงาน เช่น สมาคมบริการนักศึกษานานาชาติฯ สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งทุกวันนี้มีมูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อาจารย์คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ซึ่งแม้ปัจจุบันมีอายุถึง ๘๙ ปีแล้ว แต่ด้วยใจที่มุ่งมั่นทำประโยชน์อยู่เสมอ จึงได้ริเริ่มโครงการหนึ่งในมูลนิธิขึ้นเรียกว่า “โครงการเวลาเป็นของมีค่า” มีห้องอ่านหนังสือ ห้องปฏิบัติการฝึกงานอดิเรกต่างๆของเด็ก อยู่ในบริเวณสมาคม และที่สำคัญอาจารย์ยังติดตามเก็บข่าวสารต่างๆที่มีประโยชน์ต่อวงการหนังสือ ต่อเยาวชน และบุคคลทั่วไปมารวบรวมเป็นข่าวสารของโครงการเวลาเป็นของมีค่า แจกจ่ายให้แก่ผู้ที่สนใจ

            เท่าที่กล่าวมาในหน้ากระดาษอันจำกัดนี้ เป็นเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้นของการทำงานของ อาจารย์ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง เท่าที่ดิฉันจำได้ในขณะนี้ ซึ่งอันที่จริงแล้วยังมีอีกมากมายทั้งงานและชีวิตอุปนิสัยส่วนตัวที่อาจารย์เป็น “แบบอย่าง” ของครูซึ่งหาผู้เปรียบได้ยาก เป็น “ครู” ในชีวิตการทำงานของผู้ที่มีอาชีพเป็นบรรณาธิการอย่างดิฉันซึ่งแม้ตั้งใจเจริญรอยครู แต่ก็ไม่มีความสามารถพอที่จะทำตามทุกอย่างของงานในหน้าที่บรรณาธิการดังที่ครูเคยทำได้ ขอให้ทำได้เพียงครึ่งหนึ่งของ “ครู” ดิฉันก็คงพอใจแล้ว ซึ่งก็คงจะต้องใช้ความพยายามต่อไป

            ในโอกาสของวันครู ดิฉันขอกราบคารวะ อาจารย์ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง  ด้วยความสำนึกในพระคุณ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 27 ก.พ. 14, 20:28

ทัศนะของ วารยา พึ่งตนเพียร
นักเขียน และบรรณาธิการผู้ร่วมงาน “สตรีสาร” ระยะหลังสุด
คือครูใหญ่ของการใช้ชีวิตทำงาน
            เมื่อคราว สตรีสาร ยุติกิจการในช่วงต้นปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีสื่อมวลชนมาขอสัมภาษณ์ บ.ก. คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง มากมายนับได้เป็นสิบ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ ท่านได้กรุณามอบหมายให้ คุณปรีดา หนุนภักดี ผู้มีอายุงาน ๔๑ ปี ที่สตรีสารและฉันผู้ทำงานได้เพียง ๑๐ ปี เป็นผู้ให้สัมภาษณ์สื่อเหล่านั้น (อันที่จริงท่านคงเจตนาให้ฉันดูแล พาผู้อาวุโสออกสื่อมากกว่า)

            ในช่วงเวลานั้นเอง ฉันได้บอกเล่าถึงที่มาที่ไปของสตรีสารอยู่หลายเที่ยวจนจำขึ้นใจ แต่มีเพียงครั้งเดียวที่ได้กล่าวถึงอาจารย์ บ.ก.ตามที่นักเขียนผู้หนึ่งถามว่า “อาจารย์ดุไหม...ได้ยินว่าเป็นเช่นนั้น” คำตอบโดยอัตโนมัติคือ “อาจารย์เข้มเรื่องงาน แต่อ่อนโยนในเรื่องในส่วนตัว”

            ความคิดรวบยอดนี้กระมัง ที่ฉันได้รับถ่ายทอดมาโดยไม่รู้ตัว

            ในความเข้มเรื่องงานนั้นมีผู้อ่านเป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะกลุ่มคนที่อาจารย์ดึงดูดมาชุมนุมผ่านตัวหนังสือนานเกือบครึ่งศตวรรษ เป็นนักอ่านที่ละเอียด รอบรู้ และพร้อมจะแลกเปลี่ยนอย่างเท่าทันกัน ถึงขนาดบางครั้งไม่พอใจตอนจบของนิยาย ก็จัดแจงแต่งส่งมาให้อ่านหรือบางคราวพบที่ผิดแม้เพียงเล็กๆน้อยๆ ก็ตวัดปากการ่อนไปรษณียบัตรมาถึงภายในชั่วข้ามวันหลังหนังสือวางแผง

            นักเขียนที่อาจารย์สร้างและเชื้อเชิญให้มาร่วมวง แต่ละท่านนั้นก็ไม่ธรรมดาเลย อาจารย์มีวิธีดูแลทั้งต้นฉบับและผู้เขียนอย่างประณีต ทำให้ผูกพันกันเนิ่นนาน เพราะส่งงานเขียน อ่าน และรู้จักกันไปถึงครอบครัวลูกหลาน ส่วนนักเขียนสาวๆหนุ่มๆบางคนจะเคยได้รับโน้ตสั้นๆที่ทำให้ใจพองและฮึกเหิมที่จะพัฒนาฝีมือ เมื่อเห็นว่าลายเซ็นท้ายจดหมายนั้นเป็นชื่อเดียวกับ บ.ก. ที่เขาให้ความนับถือ

            ในขณะทำงาน นอกเหนือจากแนวคิดในการทำนิตยสารที่มีประโยชน์ ซึ่งมีการตรึกตรองมาอย่างดีนานนับ ๑๐ ปีก่อนฉันเกิด ฉันยังได้เรียนรู้การดูแลทั้งผู้อ่านและผู้เขียน ทั้งผู้ใหญ่และผู้เยาว์ ด้วยวิธีเข้มงวดกับตนเองเป็นเบื้องต้น

            บทเรียนเรื่องความเข้มงวดกับตนเองนี้ เราทั้งหลายที่สตรีสารจะได้รับรู้พร้อมๆกันในวันพฤหัสบดีที่หนังสือออกทุกสัปดาห์ อาจารย์ บ.ก.จะนั่งเงียบๆ ในห้อง มี สตรีสารเล่มอุ่นๆจากแท่นพิมพ์อยู่ในมือ อ่...า...น...ทีละหน้า พ...ลิ...ก...ทีละคอลัมน์ ในขณะที่กองบรรณาธิการทำงานอยู่หน้าห้องด้วยใจระทึก ว่าใครจะเจอแจ๊คพ็อต ถูกเรียกเข้าไปชี้แจงความผิดพลาด...

            สะกดผิด ทั้งที่มีพจนานุกรมนับ ๑๐ เล่มว่างอยู่ข้างโต๊ะ

            วรรคตอน หรือเครื่องหมายตกหล่น ทั้งที่เป็นรูปแบบปกติทำกันมานานเกิน ๑๐ ปี

            จัดวางหน้าหรือคอร์ปรูปไม่เหมาะสม โดยไม่ใช้วิจารญาณ

            ปล่อยผ่านถ้อยคำหรือข้อความที่ผิดจากความเป็นจริง ด้วยความไม่เฉลียว ไม่รอบคอบ

            ความไม่ถี่ถ้วนเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำ จนอาจารย์ถึงกับท้าว่า หากฉบับใดไร้ร่องรอยแก้ไข จะจัดเลี้ยงโต๊ะจีน โดยเฉพาะ สตรีสารภาคพิเศษ นั้น อาจารย์ให้ความสำคัญยิ่ง เพราะถือว่าเด็กๆจะจดจำสิ่งที่ผ่านสายตาและความรับรู้ได้โดยง่าย แต่เราก็ไม่เคยได้กินโต๊ะจีนฉลองความสมบูรณ์ของ สตรีสาร ฉบับใดเลย ผิดกันได้ทุกฉบับ...ซิน่า

            เรื่องเล็กๆเหล่านี้ สอนสิ่งใหญ่ๆแก่ฉันมากมายต่อมา นั่นคือนอกจากความละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบ ฝึกความเฉลียวใจ ฝึกตนให้รอบรู้แล้ว เหนือสิ่งอื่นใด ฉันรู้สึกว่านี่คือการให้เกียรติแก่ผู้เขียนและผู้อ่าน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการทำนิตยสาร

            ส่วนความอ่อนโยนในเรื่องส่วนตัวนั้น นอกจากประสบมากับตนเอง เห็นจากการบริหารงาน ยังบังเอิญได้รับรู้มาไม่น้อย สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากครูที่หลายคนเห็นว่า ดุ ก็คือ การใส่ใจในทุกข์สุขของผู้คนรอบๆตัว

            แนวคิดการให้โบนัสแก่พนักงาน ๒ รอบ ช่วงปีใหม่และเปิดเทอม บอกถึงความเข้าใจในความจำเป็นของพนักงานที่มีลูก เรื่องพิเศษๆแบบนี้ บางทีก็เผื่อแผ่ไปถึงพนักงานร้านเพลทที่มานั่งรอรับงานกันเป็นประจำ หรือพนักงานส่งเอกสาร พนักงานขับรถ ฯลฯ

            สำหรับคนใกล้ชิด ทั้งญาติมิตรและนักเขียน พนักงานและบริวาร หลายครั้งที่หลายคนพบปัญหาในชีวิต มีความขัดสนในด้านต่างๆ ฉันได้เห็นอาจารย์ (แอบ) ช่วยเหลือ ทั้งด้วยถ้อยคำ กำลังทรัพย์ และความเอื้อเฟื้อนานาประการ

            ที่เห็นบ่อยที่สุดคือ อาจารย์มักจะปันใจให้กับเด็กๆเสมอ นอกจากจะชอบอ่าน แววกวี และให้ความสำคัญกับ สตรีสารภาคพิเศษ แล้ว ในช่วงปีใหม่ มีใครต่อใครแวะเวียนไปกราบอาจารย์กันไม่ได้ขาดสาย หลายคนพาครอบครัวลูกๆมาด้วย อาจารย์มักจะเตรียมขนมอร่อยใส่กล่องใส่โหลไว้แจก แม้จะคุยอยู่กับพ่อแม่ อาจารย์ก็ยังเห็นว่าเด็กๆบางคนล้วงหยิบขนมบ่อยๆ ต้องชอบแน่ๆ ก็จะบอกยกให้ไปเลยทั้งโหล รายการอร่อยยกโหลแบบนี้มีเกิดขึ้นบ่อยๆ

            นี่คือเรื่องเล็กๆในสิบ ร้อย พัน เรื่องที่ไม่เพียงคนใกล้เท่านั้นจะทราบ แต่คนไกลหลายคนก็มีโอกาสได้สัมผัสความอ่อนโยนนี้เช่นกัน

            ทั้งความเข้มและความอ่อนโยนที่ฉันได้สัมผัสและรับรู้ นับเป็นบทเรียนเรื่องการทำงานและการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ จากผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างสง่างามมาจวบจนถึงวัย ๘๙ ในปีนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 27 ก.พ. 14, 20:30

ทัศนะของ คุณหญิงคณิตา เลขะกุล
อดีตบรรณาธิการ อนุสาร อสท.
คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง

ครูสี่คน

            เมื่อกลางเดือนธันวาคมนี้ ดิฉันได้ไปกราบ พลโท เฉลิมชัย จารุวัสตร์ เจ้านายเก่าในวาระคล้ายวันเกิดท่าน พร้อมกับน้องๆชาวการท่องเที่ยวฯ ทั้งที่เกษียณไปแล้ว และยังรับราชการอยู่ หลังจาก (อดีต) ผู้ว่าฯ ททท. เสรี วังส์ไพจิตร กล่าวอวยพรในนามพวกเราแล้ว ทุกคนก็พากันมอบของขวัญ ดิฉันเองมี Executive Diary ปี ๒๐๐๔ ที่ตัวมีส่วนจัดทำมอบให้ท่านและพูดว่า

            “กราบครูคนที่สี่ของคณิตาค่ะ” ท่านถามทันทีว่า

            “ครูอีกสามคนของคุณมีใครบ้าง?” ดิฉันตอบว่า

            “ครูคนแรกชื่อ คุณพี่สุภาพ เลขะกุล ภรรยาหมอบุญส่งค่ะ คนที่สองชื่อ พลโท ดำเนิร เลขะกุล คนที่สามชื่อ อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง ที่สอนให้คณิตาทำหนังสือเป็นอาชีพมาเกือบครึ่งศตวรรษ คนที่สี่ คือ พลโท เฉลิมชัย จารุวัสตร์ ที่สอนว่า เมื่อทำงานอะไรเสร็จแล้วต้อง double check-triple check” พลโทเฉลิมชัยยิ้มอย่างพอใจ (แต่ในใจคณิตาน่ะอยากจะพูดว่า เพราะครูสอนให้ทำงานดีเกินไปหรือเปล่า อายุ ๗๒ แล้ว งานยังไหลมาให้ทำมากตามอายุ)

ครูผู้สอนอาชีพบรรณาธิการของข้าพเจ้า

            หลังจากแต่งงานได้ ๖ เดือน ดิฉันก็ขอให้สามีหางานให้ทำ เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในบ้าน พลโทดำเนิร (สามี) ก็พาไปฝากอาจารย์ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์สตรีสาร ซึ่งพี่เนิรเขียนเรื่องวัดไทยในพุทธศาสนาอยู่ทุกเล่ม อาจารย์นิลวรรณรับดิฉันเข้าทำงานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๙๗ ท่านให้ดิฉันเป็นลูกมือ คุณนวลศรี ประภาศิริ (ผู้ตรวจปรู๊ฟไม่เคยผิดสักตัวเดียว) ดิฉันเริ่มฝึกหัดและทำหน้าที่ตรวจปรู๊ฟสตรีสาร เป็นพนักงานพิสูจน์อักษรประจำกองบรรณาธิการสตรีสาร

            ประการสำคัญคือ เมื่อ ๔๐ กว่าปีก่อนนั้น “สมาคมภาษาและหนังสือ” ตั้งอยู่ที่เดียวกับสตรีสาร ดิฉันจึงมีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง ได้เรียนรู้จากนักปราชญ์ราชบัณฑิตสมาชิกของสมาคมฯที่มาพบปะเสวนากันทุกเดือน เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร และ หม่อมงานจิตร พระยาอนุมานราชธน อาจารย์เจือ ผตะเวทิน อาจารย์คุณบรรจบ พันธุเมธา คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร คุณหญิงแม้นมาศ ชวลิต ฯลฯ การที่อาจารย์อนุญาตให้ดิฉันได้ฟังผู้รู้เสวนากันบ่อยๆเช่นนี้ ทำให้ดิฉันสนใจอ่านข้อเขียนของท่านผู้รู้ทั้งหลายในทุกเรื่อง เวลาอาจารย์ออกไปประชุมข้างนอก เช่น ที่สมาคม วาย ดับเบิลยู ซี เอ ท่านก็ให้ดิฉันไปด้วย ทีมงานของท่านมี พี่กนก (สามเสน) วิลล์ ซึ่งเป็นทั้งช่างภาพและนักข่าว ทำงานคล่องแคล่วฉับไว (จนต้องจำไว้เป็นตัวอย่าง) สิ่งที่ดิฉันประทับใจคือ เมื่อ (ฝรั่ง) ทางวาย ดับเบิลยู ซี เอ กล่าวเป็นภาษาอังกฤษ อาจารย์นิลวรรณ แปลเป็นภาษาไทย เป็นภาษาง่ายๆ กะทัดรัด (จนต้องจำไว้เป็นตัวอย่าง)

            ต่อมา อาจารย์ได้ออกวารสารรายสัปดาห์สำหรับเด็กอีกเล่มหนึ่งชื่อ “ดรุณสาร” อาจารย์อยากให้ผู้อ่านรุ่นเยาว์วัยต่างๆกัน ตั้งแต่ชั้นประถม จนกระทั่งมัธยมต้น มัธยมปลาย ได้มีหนังสือที่ดีอ่านนอกเวลาเรียนสักเล่มหนึ่งในเล่มจึงมีเรื่องน่าอ่าน เช่น ประวัติบุคคล สถานที่สำคัญของไทยของโลก เพลินภาพ-การ์ตูน ห้องช่างและศิลปะ คำไพเราะ เล่นเกมเรียน-ไขอักษร เล่นเลข ท่องจำคำศัพท์ ระบายสี เล่าเรื่อง ธรรมชาติน่ารู้วิทยาศาสตร์ สำหรับดรุณ นิทานนานาชาติ ฯลฯ มีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านคุมคอลัมน์ เช่น คุณประยูร จรรยาวงศ์ เขียนการ์ตูน อาจารย์ปุ๋ย-ม.ร.ว.สอางค์โฉม โรจนบุรานนท์ เขียนด้านวิทยาศาสตร์ “วาทินี” เล่นนิทาน คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต แปลประวัติบุคคลสำคัญของโลกอย่าง “มารี คุรี” อ่านดรุณสารแล้วเราจะรู้จัก “โพคาฮอนทัส” เจ้าหญิงอินเดียนแดงที่แต่งงานกับนายทหารอังกฤษได้พบ อาจารย์บรรจบ พันธุเมธา ไปค้นคว้าคำไทยถึงรัฐฉาน ฯลฯ

            ดิฉันมีหน้าที่จัดทำดรุณสารให้ออกทุกวันจันทร์ เมื่ออาจารย์สั่งงานแต่ละเล่มแล้ว ท่านปล่อยให้เราดำเนินการเอง จนสั่งพิมพ์ “จากบรรณาธิการ” เป็นหน้าสุดท้ายภายในเที่ยงวันเสาร์แล้ว ดิฉันจึงจะกลับบ้านได้ พอเช้าวันจันทร์หนังสือดรุณสารออกมาเป็นเล่มแล้ว อาจารย์จะเรียกดิฉันไปพบท่านเปิดหนังสือทีละหน้า แล้ววิจารณ์ให้ฟังเพื่อเราจะได้ปรับปรุงแก้ไขในเล่มต่อไป ท่านสอนกระทั่งการเลือกใช้ตัวหนังสือ ถ้ากระซิบก็น่าจะใช้ตัวเล็กๆ ถ้าตะโกนก็ใช้ตัวโต ถ้าเป็นคำพูดหรือบรรยายสิ่งสวยงาม ก็น่าจะใช้ตัวเอน ผู้อ่านจะได้เข้าถึงสิ่งที่เราเสนอ

            (ความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ ดิฉันได้นำมาประกอบอาชีพบรรณาธิการหนังสือกว่า ๒๐ เล่ม)

            ผลงานยิ่งใหญ่ที่ อาจารย์คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ได้ทำให้แก่เยาวชนของชาติที่เราไม่ควรลืมคือ การตั้ง “สโมสรปรียา” สำหรับสมาชิกผู้อ่านดรุณสารตั้งแต่วัย ๗-๒๐ ปี ทั้งหญิงชายได้ร่วมกันทำกิจกรรมเป็นชุมนุมต่างๆ เช่น ชุมนุมอ่าน-เขียน ชุมนุมละครและดนตรี ชุมนุมนักสะสม ชุมนุมนักออกแบบและประดิษฐ์ ชุมนุมทัศนาจร ชุมนุมบำเพ็ญประโยชน์ ชุมนุมสัมพันธภาพมิตรต่างแดน ชุมนุมศิลปิน เป็นต้น อาจารย์เปิดโอกาสให้เยาวชนผู้สนใจด้านไหนก็เลือกเป็นสมาชิกชุมนุมนั้น สมาชิกแต่ละชุมนุมเลือกประธานกันเอง เวลาจัดงานการชุมนุมมิตรดรุณสโมสรปรียาแต่ละครั้ง อาจารย์จัดหาสถานที่ให้ เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆมาให้ความรู้ นอกนั้นให้สมาชิกชุมนุมต่างๆจัดกันเอง ผลงานของสมาชิกทั้งงานเขียน ภาพวาด อะไรต่างๆได้ลงพิมพ์ในดรุณสาร และรายการวิทยุของดรุณสารทางสถานีวิทยุ ๑ ป.ณ.

            การสนับสนุนให้เยาวชนของชาติได้ร่วมกันทำแต่สิ่งที่สร้างสรรค์นี้ ทำให้สมาชิกสโมสรปรียามากมายเติบโตขึ้นเป็นบุคคลสำคัญของชาติหลายสาขาอาชีพ ทั้งหมอ คณบดี อธิการบดี เจ้าของสำนักพิมพ์ ฯลฯ ดังนั้น เราจึงภูมิใจมากเมื่ออาจารย์นิลวรรณได้รับรางวัลแม็กไซไซ ท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลอันมีเกียรตินี้

            ในโอกาสวันครู พ.ศ.๒๕๔๗ ดิฉันขอกราบคารวะ “ครูคนที่สาม” มาด้วยความเคารพรัก และรำลึกในพระคุณเป็นอย่างสูง

คุณหญิงคณิตา เลขะกุล

 
   
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 27 ก.พ. 14, 21:39

มีช่วงชีวิตหนึ่งที่ได้เข้าคารวะและรับฟังคำแนะนำจากคุณย่า บก.หรืออาจารย์นิลวรรณ
ที่สำนักพิมพ์สตรีสาร แถววัดตรีทศเทพ

ไม่น่าเชื่อว่า นิตยสารมีอายุยืนยาว (ตอนนั้น) เล่มนี้จะซ่อนตัวอยู่ในตรอกซอยแคบๆ
เป็นตึกแถวเล็กๆ 2-3 ชั้น  รีเซฟชั่นหรือพนักงานต้อนรับก็นั่งอยู่หน้าประตูห้องแถวนั้นเอง
ชั้นล่างคือโรงพิมพ์แบบเรียงพิมพ์ มีช่างมือระวิงเต็มไปหมด

ชั้นสองและสามถึงเป็นส่วนของบรรณาธิการ
ส่วนห้องของอาจารย์นิลวรรณ เป็นห้องเล็กๆแยกต่างหาก ปิดหน้าต่างหมด เปิดแอร์บางมากๆ
ถึงกระนั้น อาจารย์ก็ยังต้องมีผ้าห่มคลุมไหล่ พันคออยู่

รับทราบจากบรรดากองบรรณาธิการทั้งหลายว่า
ปกติอาจารย์จะทำงานตลอดและไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ใครเข้าพบ
จึงนับว่าตัวเองโชคดีที่ได้มีช่วงเวลาสนทนาวิสาสะกับท่านผู้ใหญ่
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์พูด เล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟังมากกว่า

สุ้มเสียงที่ค่อนข้างดุ เข้มงวด ทำให้กองบรรณาธิการเกร็งทุกครั้งที่มีเสียงเรียกจากโต๊ะท่าน
อ้อ..ท่านไม่ได้ตะโกนเรียกชื่อลูกน้องหรอกค่ะ
แต่มีกระดิ่งกระเบื้องเคลือบเล็กๆ 2-3 อัน เสียงเสนาะต่างกัน
เวลากระดิ่งหนึ่งดัง เสียงกุ๋งกิ๋งที่กังวานออกมา ก็รู้เลยว่า ท่านต้องการเรียกใคร

ในฐานะคนเขียนหนังสือ หัวใจที่ท่านใส่ย้ำลงไปก็คือ

เขียนในสิ่งที่รัก  รักในสิ่งที่รู้  และรู้ในสิ่งที่เขียน

นักเขียนต้องทำงานหนักเพื่อเสนอผลงาน ตัวอักษร ทัศนะคติและความงดงามทางวรรณศิลป์ให้แก่ผู้อ่าน
จงใช้เวลาทุกนาทีกับการเขียนให้คุ้มค่า
อย่าคิดว่าคนอ่านสติปัญญาด้อยกว่าเรา เขียนอะไรไปก็ได้
นี่คือการฆ่าตัวตายของตัวตนนักเขียน

นักเขียนไม่ใช่นักพูด  อย่าเสียเวลากับสิ่งที่เราไม่ได้เป็น
นักเขียนเก่งๆหลายคนตกม้าตายเพราะไปออกเวทีพูดสาธารณะมานักต่อนักแล้ว

หรือนักเขียนมีชื่อหลายคน รีบเร่งผลิตผลงานเกินไปจนไม่มีเวลาไตร่ตรองสาระที่นำเสนอออกมา
ต่อให้เป็นซีไร้ตก็เถอะ  ดิฉัน(หมายถึงอาจารย์)ก็วางกองอยู่มุมห้องนั่นแหละ  ร้องไห้

ความเคร่งครัดและเนี๊ยบของ สตรีสาร เป็นที่รู้กันในหมู่ของบรรดานักอ่านและแวดวงคนทำหนังสือ
หากมีอีกบางมุมที่เกี่ยวกับส่วนโฆษณาที่หลายคนอาจจะไม่ได้รับรู้

ปกตินิตยสารทั่วไปจะอยู่ได้ด้วยโฆษณาเป็นหลัก
เพราะค่าดำเนินการต่างๆค่อนข้างสูง
แม้จะขายดิบขายดีแค่ไหน ก็ไม่สามารถครอบคลุมต้นทุนการผลิตได้
ฉะนั้นโฆษณาจึงเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของนิตยสาร (อาจจะคล้ายๆท่อน้ำเลี้ยงตอนนี้กระมัง)

สตรีสารเป็นนิตยสารแนวอนุรักษ์นิยม ไม่ได้เน้นแฟชั่น บันเทิงเฉิดฉาย
ฉะนั้นยอดขายย่อมไม่หวือหวาและมีทีท่าจะลดน้อยลงตามวัยของคนอ่าน
คนรุ่นใหม่หันไปหยิบนิตยสารทันสมัยเล่มอื่นๆ

กระนั้นก็ตาม สตรีสารก็ยังคงโควต้าของหน้าโฆษณาไว้จำกัด
และในโฆษณาดังกล่าวก็ยังเข้มงวดถึงเนื้อหาหรือผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอด้วย

ครั้งหนึ่งมีโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สรีระส่วนตัวของผู้หญิง
ลงพิมพ์ปกหลัง ถูกผู้อ่านร้องเรียนว่า ไม่เหมาะสม เพราะมีเด็กๆในบ้านหยิบอ่านด้วย
โฆษณาสินค้าชิ้นนั้นถูกยกเลิกในเวลาต่อมา

จากนั้น โฆษณาที่ปลอดภัยและประจำปกหลังตลอดมาก็คือ น้ำปลาตราปลาหมึกนั่นเอง อายจัง

อ้อ ถ้าวันไหนไปช่วงถ่ายรายการอาหารประจำฉบับ
โชคดีอาจจะได้ชิมเมนูนั้น
เพราะอาจารย์ย้ำนักย้ำหนา อาหารที่เอามาถ่ายจะต้องกินได้จริงๆ
ไม่ใช่เติมสี แต่งรูปร่างวิลิศเสียจนคนไม่กล้าแตะ
หรือใช้เทคนิคคัลเลอร์ทำให้สีแกงแช้ดเกินเหตุ
หรือเคลือบน้ำมันเสียเงาวับ ทำให้ดูน่ารับประทานเสียเว่อร์

ฉะนั้น ไม่แปลกใจที่ จานอาหารใน สตรีสาร จะสีนุ่มนวล พาสเทล จุงเบย์
(ภาษาแบบนี้ไม่มีทางได้ลงพิมพ์ใน สตรีสารแน่ๆ แห่ะ แห่ะ) ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 27 ก.พ. 14, 22:29

  คุณ Kulapha นึกอะไรออกมากกว่านี้อีกไหมคะ   อยากอ่านค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 28 ก.พ. 14, 08:48

เมื่อปี พ.ศ. 2491  รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารสตรีสาร  ซึ่งมีเจ้าของคือเรวดี เทียนประภาส  เจ้าของโรงเรียนเอกชน "เรวดี"

สตรีสาร ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ฉบับละ ๒ บาท



คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง มีชื่อเป็นกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ ส่วนบรรณาธิการคือ นางสาวจรวยพร พัฒนางกูร  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 28 ก.พ. 14, 10:02

             ได้ยินชื่ออ.นิลวรรณ บก.สตรีสาร มาแต่เด็ก ในฐานะคนไทยผู้ได้รับรางวัลแม็กไซไซ
นักเรียนสมัยนั้นต้องจำไว้ใช้เวลาตอบปัญหาความรู้รอบตัว

             โดยส่วนตัวไม่ได้ติดตามอ่านสตรีสารเป็นประจำ แต่ได้อ่านงานเขียนของนักเขียนที่ผ่าน
(หรือจบจาก) "โรงเรียนสตรีสาร" ได้แก่
             โสภาค สุวรรณ จำได้ว่า ชื่อเรื่อง ฟ้าจรดทราย นั้น อ.นิลวรรณเป็นคนตั้งให้
             จันทรำไพ กับไพรัชนิยาย
             สิริมา อภิจาริน และ
             วาณิช จรุงกิจอนันต์

             เป็นที่น่าสังเกตว่า นักเขียนสามท่านหลังนี้ได้มามีผลงานที่ ลลนา ในเวลา ต่อมา
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 28 ก.พ. 14, 10:04

            อยากจะเปรียบเทียบว่า ลลนา เหมือนกับ ลูกสาวสตรีสาร สดใส ทันสมัยแต่เนื่องจาก
มีแม่เป็น"คุณครูภาษาไทย" ลลนาที่แม้จะเปรี้ยวไปบ้าง จึงยังอยู่ในกรอบ ใช้ภาษาไทยได้ถูกต้อง
เป็นคนรุ่นใหม่ที่ยังสืบทอดสิ่งที่ดีงามของคนรุ่นก่อนไว้

คาร่า พลสิทธิ์ บนหน้าปกสตรีสาร(2534) และ ลลนา(2529)



บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.086 วินาที กับ 19 คำสั่ง