เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 20420 เคยเกิดเหตุอาคารถล่มบริเวณอาคารริมถนนราชดำเนินกลางหรือไม่คะ
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 19 ก.พ. 14, 15:55

ปัจจุบันที่ดินที่คุณ puyum พูดถึงเป็นที่ตั้งของหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

เดิมมิตร ชัยบัญชา ซื้อที่เอาไว้เพื่อเตรียมทำเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์ แต่ต้องชะงักเมื่อเค้าประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะถ่ายทำภาพยนตร์ช่วงปี ๒๕๑๓ ต่อมาที่ดินก็ตกเป็นของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีความรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรม เข้ามาบริหารจัดการ และได้ปรับปรุงเป็นหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในเวลาต่อมา




บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 19 ก.พ. 14, 15:59

เรื่องที่สอง ที่ดินหัวมุมถนนราชดำเนิน  ตรงที่เป็นธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)  สาขาสะพานผ่านฟ้า นั้น  ได้ยินผู้ใหญ่ท่านคุยกันว่า  ที่ดินแปลงนั้นเป็นบ้านเดิมของ หลวงราชดรุณรักษ์ (ม.ร.ว.สอาด  อิศรเสนา) คุณมหาดเล็กในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕  ซึ่งเล่ากันอีกว่า ล้นเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนฉลองพระบาทหนังสีดำมาให้คุณหลวงใช้  คุณหลงรับพระราชทานมาแล้วก็เชิญมาขัดเป็นเงางามทุกวัน  ขัดเสร็จท่านก็เชิญขึ้นไว้บนพาน  แล้วถวายบังคมฉลองพระบาทนั้นเป็นประจำทุกวัน

หลวงราชดรุณรักษ์นั้นมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ ม.ล.ทศทิศ  อิศรเสนา  ที่ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภะรตราชา  ผู้มีกิตติศัพท์ลือลั่นทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่วชิราวุธวิทยาลัย  ท่านเจ้าคุณท่านเล่าว่า ท่านเกิดที่บ้านนี้  ต่อมาก่อนท่านถึงอนิจกรรมไม่นาน  มีผู้มาขอซื้อที่ดินแปลงนี้ไปจากท่านในราคา ๓ ล้านบาท  ซื้อไปได้ราว ๒ ปี  มิตร  ชัยบัญชา ได้ซื้อที่ดินแปลงนั้นไปในราคา ๖ ล้านบาท  นัยว่าจะสร้างโรงภาพยนตร์เพื่อให้เข้าคู่กับ ศาลาเฉลิมไทย ที่ฝั่งตรงข้าม  

เมื่อมิตร  ชัยบัญชา เสียชีวิตลง  ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ในฐานะเจ้าหนี้ได้บังคับจำนองแล้วนำมาสร้างเป็นธนาคาร  แล้วดูเหมือนมิตร  ชัยบัญชาท่านยังอาวรณ์กับที่ดินแปลงนี้  จึงต้องมีรูปคุณมิตรประดับไว้ที่ธนาคาร  แล้วต่อมาธนาคารได้ปรับปรุงพื้นที่ชั้นเป็นสถานที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ทำให้คุณอนก  นาวิกมูล โด่งดังขึ้นมา  แล้วมาดัดแปลงเป็นหอศิลปสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 19 ก.พ. 14, 16:07

อ่านประวัติที่ดินผืนนี้แล้วก็ไม่สู้จะน่ากลัวอะไร แต่มีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง จริงเท็จประการใด ไม่ยืนยัน

"มิตร" สนใจที่ดินว่างเปล่าเชิงสะพานผ่านฟ้า อยู่ตรงข้ามกับโรงหนังเฉลิมไทย (ปัจจุบันคือ ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า) เล็งไว้สร้างโรงหนัง..สำหรับฉายหนังไทยโดยเฉพาะ ไม่ต้องรอคิวให้หนังฝรั่งฉายก่อน มิตรชอบมากถึงขนาดขับรถไปจอดไว้ตรงภูเขาทอง แล้วเดินข้ามถนนไปยืนดูที่ดินแปลงนี้ ท่ามกลางประชาชนแห่กันมาดูตัวพระเอกมิตร

ที่ดินมีขนาด ๕๑๔ ตารางวา เป็นของบริษัทไทยเอ็นจิเนียริ่ง ประกาศขาย ๗ ล้านบาท ประกาศขายมา ๗ ปี ไม่มีใครซื้อ เพราะ...เจ้าของดั้งเดิมอยู่มาหลายชั่วอายุคน สุดท้ายลูกระเบิดลงโดนตัวบ้านในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีคนตาย! เจ้าของย้ายไปที่อื่น แล้วตรงนี้ปลูกบ้านให้คนอื่นเช่า คนที่มาเช่าก็มักจะมาเสียชีวิตที่นี่ จนธุรกิจบ้านเช่าล้มเลิกไป แม้แต่ขอทานที่มาหลบพักอาศัย ยังมานอนตายไปเองบ่อย ๆ จนไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวกับที่ดินผืนนี้

ที่ดินเป็นรูป ๓ เหลี่ยมชายธง อยู่บนทาง ๓ แพร่ง เป็นที่ดินมีสะพานคร่อม คนโบราณถือว่า เป็นกาลกิณี..อย่าไปยุ่งเกี่ยว แต่..พระเอกมิตร ตัดสินใจซื้อ!


ข้อมูลจาก หนังสือ "มิตร ชัยบัญชา ความหมายแห่งชีวิต" โดย อิงคศักย์ เกตุหอม




บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 19 ก.พ. 14, 18:36

ภาพขยายบ้านเดิมของหลวงราชดรุณรักษ์ (ม.ร.ว.สอาด  อิศรเสนา) ถ่ายโดยวิลเลียมฮันท์ ถ่ายไว้เมื่อ พศ. ๒๔๘๙ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จากข้อมูลด้านบนแสดงว่า เป็นบ้านเช่าแล้ว


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 19 ก.พ. 14, 18:59

มาดูบ้านหลังที่ยังอยู่บ้าง บนถนนพระสุเมรุ



บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 19 ก.พ. 14, 19:03

ตึกแถวสองชั้นที่อยู่หน้าบ้านหลังนี้ในวงกลม ก็ยังอยู่ เป็นร้าขายกาแฟโบราณไปแล้ว



บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 19 ก.พ. 14, 23:14

ตึกที่ถล่มคือตึกนี้ใช่หรือไม่??


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 20 ก.พ. 14, 05:23

ตอบว่าไม่ใช่ครับ ในภาพตึกหมายเลข ๑ เคยเป็นที่ตั้งหน่วยงานกรมพาณิชย์สัมพันธ์ อาคารที่ถูกเผา คือตึกหมายเลข ๒ ครับ





บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 20 ก.พ. 14, 06:21

ขอบคุณครับลุงไก่

เมื่อคืนไปอ่านเรื่องการสร้างตึกริมราชดำเนิน ในศิลปวัฒนธรรมเล่มเก่า

อ่านไปจับใจความไม่ค่อยได้ ทั้งที่คนเขียนเตรียมเรื่องอย่างดี

แต่เขียนไม่ได้รายละเอียดเท่าที่ควร

ไปสัมภาษณ์คุณเฉลิม เชี่ยวสกุลซึ่งเป็นผู้จัดการบัญชี สนง ทรัพย์สินฯ

ที่เป็นผู้ลงทุนในโครงการนี้(สร้าง 15 ตึก เงินลงทุนสิบล้านบาทในสมัยนั้น พศ2480)

สถาปนิกคือ คุณหมิว อภัยวงศ์ สถาปนิก  ที่จบจากฝรั่งเศส 

ตึกที่ถล่มคือตึกริมแยกคอกวัว(อ่านแล้วไม่เข้าใจว่าตึกอันไหน)

สร้างโดยบริษัทคนไทย ชื่อคล้ายๆ กาฬวรรณดิศ สร้างเสร็จแล้วรอตกแต่งภายใน

ตึกพังลงมาตอนกลางคืน มีพวกสามล้อที่ไปแอบนอนในตึก    ตายไปหลายคน

เมื่อสอบสวนพบว่าเกิดจากดินอ่อน ทรุดตัว  ไม่ใช่เพราะปูนหรือเหล็กผิดขนาด

ครั้งหลัง สร้างใหม่โดย บ.คริสเตียนนี่ฯ
บันทึกการเข้า
Singing Blue Jay
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 20 ก.พ. 14, 18:13

ขอบคุณทุกท่านที่มาตอบให้นะคะ  เรื่องตึกถล่มหายข้องใจกันไป ภาษาใต้แถวนี้เรียกว่า "หวางไป" ค่ะ   ยิ้มกว้างๆ

ส่วนภาพที่ลุงไก่โพสต์ให้ดู ตัวเองไม่ทราบข้อมูลอะไรเลยค่ะ ไม่ทราบว่าเป็นอาคารหลังไหนแน่ เพียงแต่คุณแม่เคยบอกว่าอยู่หัวมุมพอดี และเป็นโรงเรียนที่มีที่พักให้นักเรียนต่างจังหวัดพักที่โรงเรียนได้ เคยถามคุณพ่อว่าชื่อโรงเรียนอะไรก็จำไม่ได้ บอกแต่ว่าสมัยนั้นย่านนั้นจะมีโรงเรียนสอนตัดเสื้อผ้าสอนทำผมหลายแห่ง มีที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งชื่อ "ลีฟวิ่ง" แต่โรงเรียนนี้ไม่ใช่ลีฟวิ่งค่ะ

เคยเห็นรูปถ่ายที่คุณแม่กับเพื่อนๆไปเดินเล่นกันแถวอนุสาวรีย์แล้วก็นั่งถ่ายรูปกันเป็นกลุ่มบนลานอนุสาวรีย์ ตอนเห็นรูปครั้งแรกตอนเด็กๆก็ถามว่าแล้วเดินข้ามถนนไปได้ยังไงคะ เพราะสมัยเรารถวิ่งกันขวักไขว่แล้ว ยุคนั้นถนนโล่ง เดินกันสบาย เย็นๆก็ไปเดินเล่นกัน

ขอกลับมาแจ้ง่ความคืบหน้าเกี่ยวกับโรงเรียนสอนตัดเสื้อที่ราชดำเนินทีได้ถามไว้นะคะ ข้องใจมากว่าคุณแม่เรียนที่ไหนแน่ ก็ได้พยายามสอบถามกลับไปที่คุณป้าพี่สาวของคุณแม่ ในที่สุดทราบว่าชื่อร้าน"เมธา"ค่ะ สมัยนั้นคงมีสาวๆมาเรียนกันมาก พี่สาวเล่าว่า เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งของคุณแม่คือ คุณป้าสนุ่น เทียนทอง พี่สาวของคุณเสนาะ เทียนทอง ก็มาเรียนอยู่ด้วยกัน คุณแม่ได้ไปเยี่ยมที่อำเภอวัฒนานครก่อนจะเสียชีวิตอีกไม่กี่ปีต่อมาค่ะ โดยทั้งคู่ไม่ได้เจอกันมาประมาณหกสิบปี แต่ต่างคนต่างก็จำความหลังสมัยก่อนกันได้!

ส่วนร้าน Living ที่คุณพ่อเล่าให้ฟังว่าเป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อชื่อดังในอดีต ค้นได้ว่า อาจารย์ปกรณ์ วุฒิยางกูร "ครูสอนตัดเสื้อ" ระดับตำนานของเมืองไทย ได้ย้อนความหลังให้ฟัง คัดมาจากสกุลไทยออนไลน์ค่ะ

"ความรู้สึกอยากเรียนมันเกิดขึ้นมาเอง เหมือนคนอยากเป็นหมอก็อยากจะเป็น ผมอยากเป็นช่างเสื้อ ชอบออกแบบ ผมทำเสื้อผ้าเป็นตั้งแต่ ม.๓ เมื่อก่อนจะมีร้านหนึ่งชื่อร้าน Living เป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อของแม่ชีฝรั่งอยู่แถวบางขุนพรหม เป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อโรงเรียนแรกๆที่พวกแหม่มสอน ก็ไปขอเขาเรียน เขาก็ไม่รับ เพราะเราเป็นผู้ชาย เราก็ขอเขา ขอเรียนตอนเย็น จนเขาสงสารก็เลยสอนให้ สมัยนั้นสร้างแบบกันบนหนังสือพิมพ์บ้าง ไม่มีกระดาษสร้างแบบเหมือนสมัยนี้ แล้วก็สมัยก่อนไม่ค่อยมีคัตติ้ง ง่ายๆ แบบแส็คง่ายๆแล้วก็ค่อยๆพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ แบบเสื้อเราก็ดูแบบจากต่างประเทศเป็นหลัก จากฮอลลีวู้ด ฝรั่งเศส ดีไซเนอร์ก็ไม่มี เพราะว่าพูดกันตามตรง คนไทยจะรับจากเมืองนอกทั้งนั้น ออกแบบให้ตาย เขาก็ต้องเอาแบบของนอกมาใช้"
http://www.yingthai-mag.com/?q=magazine/%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C-%E0%B8%A7%E0%B8%B8%E0%B8%92%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B8%A3

แนบรูปในกล่องเก็บภาพของที่บ้านค่ะ ไม่มั่นใจว่าเป็นรูปของคุณพ่อหรือคุณแม่ เพราะถ้าเป็นเพื่อนคุณแม่ก็จะมีแต่สาวๆอยู่กันเป็นกลุ่ม แต่ก็คงเป็นรูปสมัยนั้นค่ะ ยิ้ม


บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 20 ก.พ. 14, 19:51

ลักษณะของกระดาษอัดภาพแบบนี้ นิยมกันในช่วง พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๐๐ ฟิลม์ถ่ายภาพจำได้ว่าเรียกขนาดฟิล์มเบอร์ ๑๒๐ ในยุคแรกฟิล์มไม่ได้อยู่ในกลักฟิล์ม แต่จะม้วนอยู่รอบแกนฟิล์มและจะมีกระดาษสีดำทาบมากับฟิล์ม การใส่ฟิล์มก้ต้องค่อยๆ คลายฟิล์มออกมา สอดปลายกระดาษเข้าแกนเปล่าอีกด้านหนึ่ง ปิดฝาหลังกล้องให้สนิทแล้วค่อยๆ หมุนแกนให้ฟิล์มเลื่อนไป

บนฝาหลังกล้องจะมีช่องเล็กๆ สำหรับมองตัวเลขลำดับภาพของฟิล์มบนหลังกระดาษห่อฟิล์ม โดยปกติฟิล์ม ๑ ม้วน จะจัดมาให้ถ่ายได้ ๑๒ ภาพพอดี พอถ่ายหมดม้วน ก็หมุนแกนด้านแรกกลับให้หมด ถอดฟิล์มไปส่งร้านให้ล้างและอัดภาพ .. บรรดาตากล้องมือใหม่มักไม่กล้าถอดฟิล์มเอง ก็จะเอากล้องไปที่ร้านช่วยถอดฟิล์มให้

 
บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 20 ก.พ. 14, 20:46

ดูภาพถนนราชดำเนิน พศ 2497



บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 20 ก.พ. 14, 20:50

เคยมีตึกถล่มจริงค่ะ
เป็นตึกหลังเดิมตรงหัวมุมสี่แยกคอกวัว   อยู่มุมตรงข้ามคนละฝั่งกับตึกธนาคารออมสิน   เคยยุบตัวพังลงมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ว่ากันว่าเป็นเพราะคอรัปชั่นกินอิฐกินหินกินทรายกินเหล็กกันในการก่อสร้าง  ทำให้ตึกทานน้ำหนักไม่พอจึงทรุดตัวพังลงมา
ตึกนี้ต่อมาได้รื้อและสร้างขึ้นใหม่เป็นสถานีวิทยุ ททท.ของบริษัทไทยโทรทัศน์ ต่อมาถูกประชาชนและนักศึกษาเผาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516  จึงกลายเป็นที่ดินว่างๆ
หลายปีต่อมากลายเป็นที่ตั้งซุ้มขายสลากกินแบ่ง   ปัจจุบันคือที่ตั้งอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ค่ะ


เล่าเพิ่มเติมอีกหน่อย .. ผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่กำนันเคยเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นหนองน้ำ เมื่อสร้างตึกคงจะไม่ได้ถมดินและบดอัดให้แน่นเสียก่อน ตึกสมัยนั้นก็ไม่ได้ใช้เสาเข็มคอนกรีตยาวเหมือนสมัยนี้ ส่วนใหญ่จะใช้เสาเข็มไม้ยาวสักประมาณ ๔-๖ เมตร ตอกปูพรมลงไปตรงฐานเสาตึกและตามแนวคานคอดินของตึก คะเนตามประสบการณ์ว่าคงรับน้ำหนักของตึกได้ เมื่อเสาเข็มตอกจมอยู่ในดินอ่อนดินเลนไม่ใช่ดินแข็งเหมือนกับบนพื้นดินปกติ ก็ทำให้กลุ่มเสาเข็มไม่สามารถรับน้ำหนักได้

เมื่อก่อสร้างอาคารไปถึงจุดหนึ่งที่น้ำหนักของอาคารถ่ายลงเสาเข็มเกินกว่าที่เสาเข็มจะรับน้ำหนักได้ ตึกก็เลยพังลงมา .. ผู้ใหญ่เล่าว่าตึกยุบลงไปในดินทั้งหลัง ไม่ใช่ทลายล้มลงมาทางด้านข้าง ไม่ใช่การคอรัปชั่นกินหินกินปูนกินเหล็กครับ ส่วนเรื่องอาถรรพ์ของที่ตรงนี้นั้นไม่มีข้อมูลครับ
บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 22 ก.พ. 14, 09:13

ตึกที่ถล่มจากการสร้างครั้งแรก คือ ตึก ททท

จากข้อเขียนลุงใหญ่ นภายน

"ย้อนลงไปอีกนิดก็ถึงสี่แยกคอกวัว ตอนนั้นยังไม่มีอนุสาวรีย์ ๑๔ ตุลา ตึกตรงนั้นปรากฏ
ว่าพอสร้างแล้วพัง และพอพังแล้วก็สร้าง นั่นแหละมีตึกใหญ่เป็นห้างสรรพสินค้าของทาง
ราชการ มีชื่อย่อว่า อ.จ.ส. ต่อมาชั้นบนของตึกนี้เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุ ท.ท.ท. ดำเนิน
งานโดยคุณจำนง รังสิกุล และคุณสมจิตร สิทธิไชย สมัยนั้นภาคบ่ายมีทายปัญหาและ
การบรรเลงดนตรีของคณะสุนทราภรณ์ ทุกเสาร์ – อาทิตย์

ตึกนี้มาถูกเผาเมื่อคราว ๑๔ ตุลาคม ๑๖ ราบเรียบไปตามระเบียบอีกแห่งหนึ่ง"
บันทึกการเข้า
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 22 ก.พ. 14, 21:14

ตอบอย่างไม่แน่ใจนะคะ
4 ด้านของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไล่จากด้านร้านศรแดง (เมธาวลัย ศรแดง) ตามเข็มนาฬิกาไปเป็นร้านขายหนังสือริมขอบฟ้า (เมืองโบราณ) ขึ้นไปเป็นร้านแมคโดนัลด์ แต่ก่อนเป็นบาร์ชื่อ อเล็กซานดร้า แห่งสุดท้ายซึ่งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งคุณ Singing Blue Jay เอ่ยถาม น่าจะเป็นตึกที่ปัจจุบันเป็นร้านอาหาร Side Walk ก่อนหน้าหลายปีเป็นร้านอาหารวิจิตรมาลี  ก่อนจะเป็นร้านอาหารเป็นร้านดอกไม้ ถ้าจะเป็นโรงเรียนเสริมสวยก่อนหน้านั้น ก็เป็นไปได้มากค่ะ

ส่วนอาคาร ศูนย์พณิชยกรรม (ศูนย์แสดงสินค้า)ของกรมพาณิชย์สัมพันธ์ ที่สี่แยกคอกวัวนั้น ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว ล้อมรั้วอยู่เฉย ๆ มาหลายปีแล้วค่ะ  ได้ข่าวว่าทาง กทม มีโครงการปรับปรุงเป็นห้องสมุดประชาชน  ซึ่งอาจจะเลยไปถึงอาคารกองสลากด้วย คือตึกทางด้านนั้นทั้งแถบ มาสุดตรงอาคารกรมประชาสัมพันธ์เก่าที่ถูกเผาไปตอน พฤษภา 35 ก็จะทำเป็นอนุสรณ์สถาน

 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.081 วินาที กับ 20 คำสั่ง