เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 57332 ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
หลงลืม
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 24 ก.พ. 14, 08:43

เข้ามาลงชื่อให้ อ.เทาชมพูทราบว่า ยังติดตามทุกวันค่ะ  อายจัง อายจัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 24 ก.พ. 14, 10:44

ขอเสิฟกาแฟกับเค้ก แบบอเมริกันย้อนยุคให้แฟนกระทู้ทุกคน  ระหว่างติดตามค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 24 ก.พ. 14, 11:12

   เมื่อเริ่มเขียน  Little House on the Prairie  ลอร่าไม่ได้ใช้แต่ความทรงจำวัยเยาว์อย่างที่เขียนเล่มแรกและเล่มที่สอง   เธอพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกขั้น คือลงมือค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง      เมื่อครอบครัวอิงกัลส์อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนอินเดียนแดงในรัฐแคนซัส   เธอก็ใช้เวลาหลายสัปดาห์ค้นคว้าในห้องสมุดจนพบชื่อหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง ชื่อ โซลด้าต์ ดู แชน ที่ช่วยคนขาวทั้งหมดเอาไว้ไม่ให้อินเดียนแดงเผ่าอื่นๆฆ่าตาย    และเธอเคยเห็นเขาด้วยตัวเอง
   สามปีนับแต่หนังสือเล่มแรก   ลอร่าตระหนักว่าเธอไม่ได้เขียนแค่หนังสือเล็กๆเล่มหนึ่ง   แต่เธอเขียนวรรณกรรมที่บรรณารักษ์ยินดีซื้อเข้าห้องสมุดเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิง    ครูประวัติศาสตร์ใช้ประกอบการสอน    เด็กนักเรียนพากันอ่านในฐานะเรื่องราวบันทึกอดีต   เพราะฉะนั้นเธอจะต้องรักษาข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ให้ถูกต้องตรงความเป็นจริงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้       นอกจากค้นคว้าแล้ว เมื่อเขียนต้นฉบับเสร็จ    เรื่องของเธอถูกส่งให้ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ยุคบุกเบิกของอเมริกันตรวจสอบอีกขั้นตอนหนึ่ง ก่อนจะตีพิมพ์
   นับเป็นความรับผิดชอบเท่าที่นักเขียนคนหนึ่งจะทำได้ต่อสังคม

    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 24 ก.พ. 14, 11:13

หลังลอร่าถึงแก่กรรมไปแล้วสี่สิบกว่าปี   ไมเคิล แลงดอน ดาราหนุ่มที่ดังมาจากหนังทีวีชุด Bonanza  ในยุค 1960s  เริ่มสร้างหนังชุดทางทีวีเรื่องใหม่ในปี 1974  โดยเขาทั้งกำกับเองและแสดงนำเอง   เขาเลือกชีวิตของครอบครัวอิงกัลส์มาเป็นพื้นฐานของเรื่อง    จับตอนที่พ่อแม่พาลูกๆไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในมินเนโซต้า     แต่ว่าเขาเลือกชื่อหนังทีวีจากนิยายเล่มที่สาม คือตอนที่ครอบครัวนี้อยู่ในแคนซัส ชื่อ  Little House on the Prairie
   หนังทีวีชุดนี้ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม   ออกอากาศถึง 8 ปี ตั้งแต่ 1974-1982  หลังจากนั้นก็ยังมีตอนพิเศษออกมาชื่อ Little House: A New Beginning ในปี 1982-1983     ตอนพิเศษอื่นๆก็คือ  Little House on the Prairie: A Look Back to Yesterday (1983), Little House: Bless All the Dear Children (1983), and Little House: The Last Farewell (1984).


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 26 ก.พ. 14, 12:51

  ถึงตรงนี้ ลอร่าในวัย 70  ผมขาวเป็นสีเงินไปหมดแล้วทั้งหัว  เริ่มมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตขึ้นมา คือเธอจะเขียนนิยายชุดยาว ที่เป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์สำหรับเยาวชน  เล่าถึงทุกอย่างเกี่ยวกับดินแดนยุคบุกเบิกของอเมริกา    เพื่อเด็กๆจะได้เข้าใจชีวิตในยุคก่อนโน้นโดยไม่ต้องอ่านแต่ตำราอย่างเดียว     โดยใช้แกนของเรื่องคือชีวิตครอบครัวอิงกัลส์ของเธอเองเป็นตัวละครหลัก

  ห้าปีหลังจาก "บ้านเล็กในป่าใหญ่"  ลอร่าก็จบนิยายเรื่องที่ 4  คือ On the Banks of Plum Creek    เป็นชีวิตของพ่อแม่ลูกเมื่อเดินทางจากดินแดนอินเดียนแดงในแคนซัสมาตั้งถิ่นฐานที่ริมห้วยพลัมครี้กในรัฐมินเนโซต้า   
   หนูน้อยลอร่าในตอนต้นเรื่องเติบโตขึ้นเป็นเด็ก 8 ขวบ  เข้าโรงเรียน  รู้จักชีวิตในเมือง และรับรู้เรื่องภัยธรรมชาติไม่ว่าจากตั๊กแตน  พายุหิมะ ความแห้งแล้ง ที่ชาวนายุคบุกเบิกต้องผจญกัน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 26 ก.พ. 14, 13:07

     รายได้จากวรรณกรรมสำหรับเด็กทั้ง 4 เล่ม ซึ่งตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก  มากพอที่ลอร่าจะดำเนินชีวิตได้อย่างสบายโดยไม่ต้องพึ่งผลิตผลในฟาร์มอย่างเมื่อก่อน     โรสก็ถือว่าหมดภาระที่จะต้องอุดหนุนจุนเจือพ่อแม่      เธอตัดสินใจย้ายจากร็อคกี้ริดจ์ฟาร์มไปทำงานค้นคว้าวิจัยให้มหาวิทยาลัยมิสซูรี่    จากนั้นก็ไปซื้อบ้านใหม่อยู่ในรัฐคอนเนคติคัท 
    ลอร่าคิดถึงบ้านนาที่เธอกับแอลแมนโซสร้างขึ้นด้วยมือ  แม้ว่ากระท่อมอังกฤษหลังใหม่สวยงามกว่า แต่ก็ไม่อบอุ่นเหมือนบ้านเก่าอยู่ดี    เธอก็เลยย้ายกลับมาอยู่ที่ร็อคกี้ริดจ์ฟาร์มอีกครั้ง   คราวนี้ไม่โยกย้ายไปไหนอีกเลย      เธอวางแผนไว้ว่าจะเขียนงานอีก 3 เรื่องให้ครบชุดวรรณกรรม "บ้านเล็ก" ให้สำเร็จก่อนเธอตาย

    ลอร่าในนิยายเติบโตขึ้นจากเด็กหญิงวัยแปดขวบในเรื่องที่สี่  มาเป็นเด็กสาววัย 13 ในเรื่องที่ห้า  ลอร่าตั้งชื่อว่า ริมทะเลสาบสีเงิน  By the Shore of Silver Lake   เมื่อครอบครัวอิงกัลส์ย้ายจากมินเนโซต้ามาปักหลักในดินแดนดาโกต้าใต้      นิยายเรื่องที่ห้านี้เป็นตอนแรกที่เล่าถึงแมรี่ พี่สาวคู่ใจของลอร่าว่าประสบชะตากรรมเลวร้ายถึงขั้นป่วยและตาบอด      ในตอนที่เริ่มเขียน  โรสแนะนำให้เอาตอนนี้ออกจากหนังสือ  เธอไม่อยากเอาเรื่องเศร้าสลดหดหู่มาให้เด็กอ่าน     แต่ลอร่าไม่ยอม   พี่สาวของเธอจะต้องมีตัวตนอยู่ในหนังสือตามความเป็นจริง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 28 ก.พ. 14, 13:40

       เมื่อเขียน On the Banks of Plum Creek   ลอร่าก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง   นอกจากเป็นนักเขียนยอดนิยมในระยะแรก เธอก้าวขึ้นสู่ระดับรางวัลใหญ่ คือรางวัลนิวเบอรี่  (Newbery Award) ซึ่งเป็นรางวัลที่สมาคมห้องสมุดจากบรรณารักษ์ทั่วประเทศมอบให้วรรณกรรมเยาวชนของอเมริกันที่ดีเด่น  มี 2 แบบคือ ชนะเลิศ กับเกียรติยศ      นิยายของลอร่าได้รางวัลเกียรติยศ   เป็นกำลังใจให้เธอมุมานะจะผลิตตอนต่อมาให้ดีเยี่ยมไม่แพ้ตอนก่อนๆ    คือตอน   By the Shores of Silver Lake

     ลอร่าทำได้ตามมุ่งหมาย   By the Shores of Silver Lake ได้ Newbery Honor Award ในค.ศ. 1940       เรื่องนี้เล่าถึงชีวิตของครอบครัวอิงกัลส์เมื่ออพยพมาสู่รัฐดาโกต้าใต้   ปักหลักอยู่โดดเดี่ยวตลอดฤดูหนาวในบ้านพักของช่างรังวัดทำทางรถไฟ ริมทะเลสาบที่แคโรไลน์แม่ของเธอตั้งชื่อให้ว่า "ทะเลสาบสีเงิน"    ในตอนนั้นเมืองเดอสเม็ตยังไม่เกิด    เรื่องนี้เล่าถึงกำเนิดของเมือง  และการจับจองที่ดินครั้งสุดท้ายของพ่อ

     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 28 ก.พ. 14, 14:11

      อุดมการณ์ของลอร่าที่จะเขียนหนังสือเล่าประวัติศาสตร์ของอเมริกาในยุคบุกเบิกให้เด็กๆรุ่นหลังได้อ่าน  มาถึงตอนยากที่สุดในชุด "บ้านเล็ก" คือตอนที่ลอร่าอายุ 14 เต็ม    พ่อจับจองที่ดินอยู่นอกเมืองเดอสเม็ตในปลายค.ศ. 1880      เป็นครั้งแรกที่คนอเมริกันอพยพมาอยู่ในแถบนี้ของรัฐดาโกต้าใต้    จึงไม่มีใครรู้พิษสงของอากาศฤดูหนาวที่นี่ว่าร้ายแรงขนาดไหน     คนที่รู้ฤทธิ์ของมันคือชาวอินเดียนแดงที่เคยอยู่แถบนี้มาก่อน    ในตอนต้นเรื่อง ลอร่าจึงเล่าถึงคำทำนายของอินเดียนแดงชราคนหนึ่งที่เดินทางผ่านมาเมืองนี้  ว่าทุกๆ 7 ปีอากาศจะหนาวจัด   และเมื่อครบ 3 รอบของเจ็ดปีก็จะหนาวอย่างทารุณที่สุด   ปี 1880 ต่อกับ1881  เป็นปีครบสามรอบของเจ็ดปีพอดี    
     เมื่อลงมือ   ลอร่าตั้งชื่อหนังสือว่า The Hard Winter    ขณะที่กำลังเขียนๆอยู่  เธอก็คิดถึงบ้านเก่าที่เดอสเม็ตขึ้นมาจับใจ   ในที่สุดเธอตัดสินใจกลับไปเยี่ยมดาโกต้าใต้อีกครั้ง  มีแอลแมนโซขับรถจากมิสซูรี่ไปกันสองคน      เธอไปเยี่ยมเพื่อนฝูงเก่าๆที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมือง  ไต่ถามกันถึงเรื่องในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน  เพื่อรวบรวมข้อมูลมาเขียนในนิยายเล่มใหม่      เธอไปเยี่ยมน้องสาวและน้องเขย   เมื่ออยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง  พี่น้องทั้งสามคือลอร่า เกรซและแครี่คุยกันถึงชีวิตวัยเยาว์ที่มีพ่อ แม่ แมรี่ ยังอยู่พร้อมหน้า  เกรซกับแครี่ก็ช่วยกันจดจำรำลึกรายละเอียดในอดีตให้พี่สาว เพิ่มขึ้นจากที่เธอจดจำได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 28 ก.พ. 14, 14:16

        ทั้งหมดนี้เป็นแรงบันดาลใจแรงกล้าให้ลอร่าเขียนนิยายเรื่องใหม่ได้จนจบ       เรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่สุดของเธอ ในการพรรณนาฤดูหนาวที่แสนหนาวจัด  ทารุณและอดอยากยากแค้นแทบจะอดตายกันทั้งเมือง      ฝีมือของลอร่าอยู่ที่เธอสามารถบรรยายรายละเอียดของพายุหิมะและสภาพความหนาวทุกอย่างได้แจ่มแจ้งตรงตามความจริง  แม้แต่นักประวัติศาสตร์เองก็ยังพิศวงกับความถูกต้องด้านข้อมูลที่ลอร่าให้ไว้ในเรื่องนี้   ส่วนที่ดีที่สุดคือกำลังใจในครอบครัวอิงกัลส์ที่ทำให้ทุกคนฝ่าฟันมาได้ถึงฤดูใบไม้ผลิในตอนจบ
        เรื่องนี้เมื่อถูกส่งถึงสนพ.   ทางสนพ.ขอเปลี่ยนชื่อจาก The Hard Winter เพราะว่าฟังหดหู่ไปสำหรับเด็กๆคนอ่าน   เป็น The Long Winter   ลอร่าก็ตกลงโดยดี
        เรื่องนี้ได้รับรางวัล Newbery Honor Award ประจำปี 1941 อีกครั้ง   ลอร่ากลายเป็นนักเขียนใหญ่ระดับประเทศไปแล้ว

        แต่ความเศร้าโศกก็มาคั่นจังหวะความสุขของลอร่าในช่วงนี้    พร้อมๆกับ The Long Winter ได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม    เกรซน้องสาวคนเล็กก็ป่วย และถึงแก่กรรมก่อนที่จะทันเห็นผลงานของพี่สาวเล่มถัดไป   เหลือเพียงแครี่คนเดียวเป็นพยานรับรู้ถึงชีวิตของครอบครัวอิงกัลส์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 01 มี.ค. 14, 10:25

       ฤดูหนาวปลายปี 1880 ข้ามมาถึงปี 1881  เป็นฤดูหนาวประวัติการณ์ครั้งหนึ่งของรัฐดาโกต้าใต้    เรียกกันว่า The Snow Winter มีพายุหิมะกระหน่ำถึง 35 ครั้ง จากปลายเดือนตุลาคม ปี 1880 ไปจนถึงปลายเดือนเมษายน ปี 1882   พายุแต่ละครั้งกินเวลาประมาณ 3 วัน  มีช่วงพายุสงบคั่นกลางอยู่ประมาณ 2 วันครึ่ง      การคมนาคมไม่ว่าเส้นทางเกวียนหรือรถไฟถูกตัดขาดหมด  เมืองเล็กๆอย่างเดอสเม็ตถูกทิ้งไว้โดดเดี่ยวในทุ่งกว้างสุดลูกหูลูกตา   ให้ชาวเมืองผจญความอดอยากกันไปตามยะถากรรม    แต่ก็ด้วยความกล้าหาญของแอลแมนโซและแค้ป การ์แลนด์  ไปเสาะหาข้าวสาลีจากชาวบ้านนอกเมืองมาประทังชีวิตให้ชาวเมืองได้ จึงรอดตายกัน
      สำหรับพวกเราที่อยู่กันในเมืองร้อน เขตศูนย์สูตร อาจนึกไม่ออกว่าพายุหิมะเป็นเรื่องโหดร้ายขนาดไหน    แต่คนที่เคยเห็นย่อมรู้ว่าหิมะตกกับพายุหิมะ (Blizzard)  ไม่เหมือนกัน    หิมะตกก็เหมือนฝนตก เพียงแต่เปลี่ยนจากหยดน้ำเป็นละอองน้ำแข็งฝอยๆ  ลงมาเป็นกองขาวบนพื้นดิน ทำให้อากาศหนาวเจี๊ยบ  แต่ก็ยังพอเดินย่ำหิมะไปไหนมาไหนได้ ไม่ลำบาก    แต่ว่าพายุหิมะคือพายุน้ำแข็งกระหน่ำหนัก มีแรงลมที่หนาวเฉียบพัดแรงทุกทิศทุกทาง  พร้อมกับฝอยน้ำแข็งหมุนคว้างๆตรงหน้า  ทำให้อากาศขาวไปหมดเหมือนกางผ้าขาวกระพือบังหน้า   หากว่ายื่นมือออกไปก็จะมองไม่เห็นปลายมือเสียด้วยซ้ำ    ทำให้หลงทางได้แม้แต่เดินไม่กี่ก้าว  นี่ยังไม่รวมว่าอาจจะแข็งตายได้ต่างหาก

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 01 มี.ค. 14, 10:31

ภาพบันทึกประวัติศาสตร์
รถไฟติดอยู่ในหล่มหิมะ ทำให้ขนส่งสินค้าไปตามเมืองต่างๆไม่ได้   ติดอยู่อย่างนี้ตลอดฤดูหนาว  รถไถหิมะก็ไถไม่ได้เพราะหิมะผสมกับผิวดินจับแน่น  คนงานต้องใช้พลั่วขุดด้วยมือลงไปทีละฟุต เพื่อเอารถไฟออกมาจากหล่ม


บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 01 มี.ค. 14, 20:53

เป็นบันทึกช่วงเดียวที่ แคโรไลน์ แม่ของลอร่า
อารมณ์หงุดหงิดใส่สามีค่ะ  แลบลิ้น


เลยขออนุญาตเอาบทความทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับ หนังสือชุดนี้ มาลงในกระทู้เลยนะคะ
น่าจะเข้ากันได้ดี

บทความนี้ นำเสนอในคอลัมน์ สหัสวรรษประเทศไทย ในหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจฉบับหนึ่ง เมื่อปี 2540 หรือหลังจากนั้น
ขณะที่บ้านเรากลายเป็นต้มยำชามใหญ่ให้คนต่างชาติซดกิ่นอย่างเอร็ดอร่อย อิ่มหมีพีมัน


สหัสวรรษใหม่ประเทศไทย

ฤดูหนาวอันแสนนาน

พาดหัวสหัสวรรษใหม่ประเทศไทยคราวนี้ อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านหลายคนเลิกคิ้วแกมฉงน
เอ๊ะ   คนเขียนคงถูกพิษภัยเศรษฐกิจเล่นงานจนชักจะเพี้ยนๆไปแล้วหรืออย่างไร       
อากาศต้นเดือนกันยายนทั้งชื้นทั้งเฉอะแฉะ บางวันก็แดดจัดจ้านตั้งแต่เช้า
พอบ่ายคล้อยเมฆดำทะมึนก็แผ่กระจายวงกว้าง แล้วฟ้าก็อุ้มฝนฉ่ำไปทั่ว
มองเหนือขึ้นไปก็ไม่เห็นจะมีวี่แววเลยว่า หน้าหนาวจะมาถึงเมื่อไร
โดยเฉพาะในกรุงเทพเมืองฟ้าอมรนี่นะหรือจะมี  “ฤดูหนาวอันแสนนาน”

เปล่าเลย ท่านผู้อ่านที่เคารพ  ขณะที่ใครๆกำลังเห่ออ่านหนังสือเด็กเล่มดัง Harry Potter ทั่วทุกหนแห่ง
ตั้งแต่บนเครื่องบินยันรถไฟฟ้า ตัวเองกลับไปพลิกๆดูหนังสือเด็กชุด บ้านเล็ก (Little House)
ประพันธ์โดย ลอร่า อิงกัลล์ ไวล์เดอร์ แปลเป็นบทภาษาไทยที่สละสลวยโดย สุคนธรส 
ทั้งชุดประกอบด้วยหนังสือเล่มต่างๆเรียงลำดับต่อไปนี้  คือ บ้านเล็กในป่าใหญ่  เด็กชายชาวนา
บ้านเล็กริมห้วย ริมทะเลสาบสีเงิน เมืองเล็กในทุ่งกว้างและปีทองอันแสนสุข 

เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นการบันทึกเรื่องราวการต่อสู้ ของบรรพบุรุษชาวอเมริกันในยุคบุกเบิกมุ่งสู่ภาคตะวันตกเพื่อจับจองที่ดินทำกิน 
พวกเขาต้องผจญภัยกับภยันตรายต่างๆ และหาหนทางเพื่อเอาชนะและดำรงชีวิตอยู่ได้
ด้วยวิถีที่เรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาลและวิกฤตแปรปรวนตลอดเวลา 
สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมวิญญาณนักสู้รุ่นบรรพชนให้มีจิตใจหาญกล้า
และพร้อมจะเผชิญกับสิ่งท้าทายอย่างไม่ท้อถอย  พี่งพาตนเอง
อันเป็นแก่นเรื่องหลักที่เราได้รับจากการอ่านหนังสือชุดนี้

ในฤดูหนาวอันแสนนาน  ลอร่า อิงกัลล์ ไวล์เดอร์ ได้เล่าเรื่องบันทึกความไว้ว่า
ภายหลังที่บิดาของเธอได้จับจองกรรมสิทธิ์ที่ดินในทุ่งกว้าง ที่เมืองเดอสะเม็ต ในรัฐตอนกลางของอเมริกา 
ก็เริ่มทำการเกษตรกรรมแบบชาวท้องถิ่นคือปลูกข้าวโพด ข้าวสาลีไว้บริโภคภายในครัวเรือน
ส่วนที่เหลือก็เตรียมนำส่งขายในเมือง 

หากปีนั้นแล้งเร็วกว่าปกติทำให้ธัญญาหารที่เก็บเกี่ยวไม่เพียงพอสำหรับการยังชีพในช่วงฤดูหนาว 
แต่ทุกคนยังพออุ่นใจว่าถึงจะขาดแคลนอาหารเพียงไร  รัฐบาลลุงแซมก็คงจะไม่ใจดำทอดทิ้งพวกเขา 
คงจะเตรียมส่งขบวนรถไฟบรรทุกเสบียงมาให้ทันความต้องการ
และเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิอีกครั้ง พวกเขาก็สามารถเริ่มต้นเพาะปลูกได้ใหม่ 

หากสิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึงก็คือ 
ปีนั้นเป็นปีที่จะหนาวรุนแรงที่สุดตามคำบอกเล่าและความเชื่อของชาวอินเดียนแดงชาวพื้นเมืองผู้เคยชินกับสภาพภูมิอากาศมาเก่าก่อน
กล่าวคือจะหนาวจัดเป็นระยะเวลาที่พระจันทร์เต็มดวง จันทร์แรมและเต็มดวง ซ้ำใหม่อีกหลายๆครั้ง ร่วม ๗ เดือน 
ทุกคนได้เตรียมตัวต้อนรับความหนาวเหน็บอย่างเต็มที่   อายจัง
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 01 มี.ค. 14, 20:58

เริ่มตั้งแต่ครอบครัวของลอร่าเองได้ อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองพร้อมกับครอบครัวคนอื่นๆ
เพราะกระท่อมไม้กลางทุ่งกว้างไม่สามารถให้ความอบอุ่นกับเธอและพี่น้องได้หากอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว 
บิดาของลอร่าเก็บเกี่ยวธัญญพืชทุกชนิดอย่างเร่งด่วน
ไม่ลืมเตรียมหญ้าแห้งสำหรับเป็นอาหารตลอดฤดูหนาวแก่คอกวัวและปศุสัตว์ของตน

และแล้วฤดูหนาวก็เริ่มขึ้น  พร้อมกับพายุหิมะที่หวีดครางส่งเสียงกรีดแหลมแทรกเข้าไปในหัวใจของทุกคน
แต่แรกพายุยังปรานี พัดมาเป็นระลอกๆครั้งละสองถึงสามวันแล้วก็หยุดให้ชาวเมืองออกมาปฏิบัติภารกิจกลางแจ้งได้ตามปกติ 
หากยิ่งนานวัน ดูเหมือนพายุจะแกล้งทดสอบความอดทนของพวกเขาด้วยการยืดเวลาความเย็นทรมานออกไปอีกคราวละสี่ห้าวัน
นานเป็นอาทิตย์  จนกระทั่งไม่ยอมหยุดเลย 

โรงเรียนต้องปิด เพราะไม่เหลือถ่านหินในชั้นเรียนที่จะให้ความอบอุ่นระหว่างเรียนอีกแล้ว
ไม่มีใครอยากจะเสี่ยงกับการถูกหิมะกัดตลอดการเดินไปกลับ
ยิ่งแย่กว่านั้น หากนักเรียนคนใดคนหนึ่งถูกพายุกระหน่ำซัดเซหลงทางหลุดเขตเมืองออกไปในทุ่งกว้างนับเป็นร้อยๆตารางเอเคอร์
ก็คงไม่มีชีวิตกลับมาได้แน่ 

ตลอดช่วงพายุหิมะครอบครัวของลอร่าต้องทนอยู่กับภัยสีขาวหนาวเหน็บ 
เสบียงอาหารนับวันก็ร่อยหรอ  รถไฟก็ถูกหิมะทับถมจนไม่สามารถแล่นมาได้
แม้จะมีคนงานรถไฟมาช่วยขุดหิมะออก เพียงวันสองวันหิมะใหม่ก็ถล่มซ้ำพอกพูนยิ่งกว่าเดิม
จะหวังเนื้อสัตว์มาบริโภคหรือ กวางฝูงสุดท้ายเพิ่งอพยพออกไปจากทุ่งกว้างอย่างไร้ร่องรอย
ราวกับสัตว์เหล่านี้รู้ตัวล่วงหน้าว่าช่วงเวลาวิกฤตของมันใกล้เข้ามาแล้ว
ควรอพยพไปอยู่ในที่ๆอบอุ่นและปลอดภัยกว่า

ไม่มีการเดินไปมาหาสู่ระหว่างบ้านแม้จะอยู่ถนนตรงข้ามแค่นี้เอง
วันในฤดูหนาวของครอบครัวชาวเมืองเดอสะเม็ต จ่อมจมอยู่กับความมึนซึม ง่วงงุน ปวดร้าว หิวโหย และเย็นยะเยือก
 
หากกระนั้นพวกเขาก็ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองแข็งตายไปกับพายุหิมะ 
มีการคิดค้นเชื้อเพลิงรูปแบบใหม่ๆเพื่อทดแทนน้ำมันก๊าดและถ่านหินที่หมดไป
เช่น การทำตะเกียงกระดุม ด้วยการเอากระดุมเสื้อมาหุ้มด้วยผ้าหนาๆชุบขี้ผึ้งและจุดไฟ
ก็จะได้ความสว่างอบอุ่นขี้นมาบ้าง
การทำเชื้อเพลิงจากฟ่อนหญ้าแห้งซึ่งลอร่าต้องใช้มือมัดเกลียว
และขดให้เส้นหญ้าแห้งให้แน่นที่สุดเพื่อปะทุความร้อนได้ดีที่สุด
การโม่แป้งทำขนมปังดำเพื่อประทังชีวิตวันต่อวัน กินจิ้มกับเกลือและพริกไทย
มีน้ำชาร้อนๆให้ดื่มกล้ำกลืนคล่องคอ 

มาถึงตอนนี้ทุกคนในเมืองเล็กๆมองตากันอย่างวิตกกังวล 
เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด ไม่มีรถไฟให้พึ่งพา  ไม่มีสัตว์ป่าหลงเหลือให้ล่า
พวกเขาต้องพึ่งกันเองอีกนานจนกว่าฤดูหนาวจะสิ้นสุด 
 
แล้วไคลแม็กซ์ของเรื่องก็มาถึง เมื่อไม่มีเสบียงอาหารเหลืออีกเลยในเมืองเล็กๆนี้
ร้านค้าเพียงแห่งเดียวที่เป็นศูนย์กลางจำหน่ายเครื่องบริโภคคว่ำถังทุกถังลง
แสดงให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่จะบริโภคได้อีกแล้ว 

ชาวเดอสะเม็ตและเด็กๆทุกคนกำลังจะอดตาย
ครอบครัวของลอร่าซึ่งมีพ่อ แม่ พี่สาวชื่อแมรี่ ตัวเธอและน้องๆอีกสองคนคือแครี่และเกรซ
กำลังจะทิ้งชีวิตนักผจญภัยและตายอย่างทรมานด้วยความหนาวและหิวโหย ณ เมืองเล็กๆกลางทุ่งหิมะร้างแห่งนี้ เศร้า 
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 01 มี.ค. 14, 21:08

โชคดีที่พระเอกของเรื่องคือ แอลแมนโซ ไวด์เดอร์ โผล่ขึ้นมาและแสดงบทบาทอันกล้าหาญ  ยิงฟันยิ้ม

 
ความจริงพ่อหนุ่มแอลแมนโซ ก็ไม่ใช่ใครอื่น
เป็นเด็กหนุ่มนักบุกเบิกที่หวังสิทธิ์ในการจับจองที่ดินทำกันในทุ่งกว้างนี้เช่นกัน
และร่วมอยู่ในชะตากรรมเฉกเช่นชาวเมืองคนอื่นๆ

แต่สิ่งที่เขาแตกต่างจากคนอื่นก็คือ ความกล้าหาญถึงขั้นบ้าบิ่น
 
แอลแมนโซและชาวเมืองระแคะระคายว่า
มีแหล่งข้าวสาลีที่เก็บไว้อย่างดีในทุ่งกว้างแห่งหนึ่งไกลออกจากไปถึง ๒๐ ไมล์ 
ไปกลับก็เป็นระยะทางสี่สิบไมล์พอดิบพอดี
เขาและสหาย แค้ป การ์แลนด์ ตัดสินใจเทียมม้าและเลื่อนออกเดินทาง
ในวันที่อากาศเลวร้ายที่สุดด้วยอุณหภูมิสี่สิบองศาต่ำกว่าศูนย์
เพื่อเสาะหาแหล่งข้าวสาลีซึ่งไม่มีใครรับรองได้ว่าจะมีจริงหรือไม่ หรือจะเจอได้อย่างไร
โดยทั้งนี้ไม่มีการคิดค่าจ้างเสี่ยงตายแม้แต่สักเซนต์เดียว

แอลแมนโซและสหายกำลังประเดิมชีวิตบนมือมัจจุราชสีขาว 
บนทุ่งกว้างเวิ้งว้างที่ถมทับหนาด้วยหิมะชาวโพลน
เบื้องล่างล้วนเต็มไปด้วยหนองน้ำยะเยือกซึ่งพร้อมจะให้สิ่งมีชีวิตตกลงไปและแข็งตายได้ตลอดทุกฝีก้าว 

แอลแมนโซต้องเผชิญกับหลุมพรางหนองน้ำแข็งนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า 
จนในที่สุดเขาและสหายก็ดั้นด้นมาจนถึงกระท่อมหนึ่งและตกลงซื้อข้าวสาลีทั้งหมดด้วยราคาที่ถูกโก่งจนสูงผิดปกติ
หากทั้งคู่ก็ยอมเพราะเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยชีวิตชาวเมืองที่รอคอยอย่างมีความหวัง 
และบรรทุกข้าวสาลีทั้งหมดนักถึง ๖๐ บูเชิล ( หนึ่งบูเชิลเท่ากีบ ๒ ปี๊บ)กลับ เดอสะเม็ต อย่างสะบักสะบอม
จนเกือบแทบจะเอาชีวิตไม่รอดในไมล์สุดท้าย

เมื่อได้ข้าวสาลีมาจำนวนหนึ่ง ชาวเมืองได้ชุมนุมหารือพร้อมจัดสรรปริมาณที่แต่ละครอบครัวควรจะได้รับไปอย่างจำกัดจำเขี่ย
แต่อย่างน้อยทุกคนก็พอใจที่ไม่อดตายและรอจนกว่าพายุจะผ่านพ้นไปในที่สุด
ขวัญ กำลังใจเริ่มกลับมา  ชาวเมืองทุกครอบครัวพยายามรวมตัวกันเป็นกลุ่มหนาแน่นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยพายุ
ด้วยการถ่ายทอด เสนอความคิดริเริ่มใหม่ๆในการดำรงชีวิตที่แสนอัตคัด ปราศจากรถไฟ
พร้อมเป้าหมายในใจว่า จะต้องไม่มีใครพ่ายแพ้ให้แก่พายุวิกฤตครั้งนี้

ในที่สุดชัยชนะก็เป็นของชาวเมืองเล็กในทุ่งกว้าง
เมื่อคืนวันหนึ่งเสียงลมชีนุค ซึ่งเป็นลมฤดูไบไม้ผลิได้แทรกเข้ามาท่ามกลางเสียงพายุหวีดหวิว
และแรงขึ้นๆจนเกิดเป็นละอองฝนตกลงมา หิมะเริ่มละลาย ใบไม้ใบหญ้าค่อยๆผลิก้านเขียวอ่อนเป็นหย่อมๆ


บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 01 มี.ค. 14, 21:11

ดูเหมือนเรื่องราวจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้วครับ
แต่ถึงกระนั้นรถไฟก็ยังไม่ยอมมา เพราะรัฐบาลลุงแซมไม่ยอมสั่งการให้คนงานรถไฟเริ่มต้นทำงาน 
ชาวเมืองจึงพร้อมใจกันออกเดินทางไปโกยหิมะเพื่อปล่อยรถไฟแล่นมาได้
ท้ายสุดพวกเขาได้รับรางวัลชีวิตด้วยการเฉลิมฉลองคริสตมาสในเดือนพฤษภาคม 
สมกับน้ำอดน้ำทนตลอด ๗ เดือนที่ผ่านมา


ฤดูหนาวอันแสนนาน ผ่านพ้นไปแล้ว  พวกเขายังอยู่กันครบทุกคน
ไม่มีใครตายหรือสูญหาย จะมีบ้างที่อ่อนแอ เจ็บป่วย ซูบผอมลง
เพราะขาดแคลนอาหารที่เพียงพอในการยังชีพ 
แต่จิตใจนั้นเล่ากลับแกร่งและกล้ามากขึ้น 
ทั้งนี้เป็นผลมาจากปณิธานในใจ
พวกเขาไม่มีวันยอมจำนนกับโชคชะตาเป็นอันขาด

หันกลับมามองบ้านเราบ้าง 
ประเทศไทยโชคดีมหาศาลที่มีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม
ภัยธรรมชาติร้ายแรงสุดๆแทบจะไม่เคยกล้ำกรายเข้ามาถึงเลย
ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว พายุหิมะถล่ม  ภูเขาไฟระเบิด คลื่นความหนาวเหน็บ
ถึงกระนั้นเราก็ไม่วายที่จะถูกภัยอย่างอื่นมากระทบ 
โดยเฉพาะภัยจากวิกฤตเศรษฐกิจ

คลื่นความหนาวของพายุครั้งนี้ ไม่ทราบว่าจะทรมานยาวนานอีกสักเท่าไร 
อีกกี่จันทร์แรม อีกกี่จันทร์เพ็ญ  ไม่มีใครคาดเดาได้ 
ที่ผ่านมาทุกคนฝากความหวังไว้กับรัฐบาล
ซึ่งเปรียบเสมือนรถไฟในเรื่อง  คอยเท่าไรก็ดูเหมือนจะเดินทางมาไม่ถึงเสียที
จะติดหล่มหรือตกรางที่ไหน ก็ไม่อาจประเมินได้
พระเอกคนกล้าบ้าบิ่นที่จะฝ่าหิมะดั้นด้นไปตายเอาดาบหน้าก็คงจะหาได้ยาก
 
แต่ในท่ามกลางความมืดมน  ก็มีบางสิ่งที่เราทำได้ ไม่ใช่แค่ภาวนาหรือร้องขอ
แต่ควรเริ่มดำเนินทันที นั่นก็คือการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง   
วางฐานรากแห่งการเรียนรู้ให้แน่นหนาเสียแต่เบื้องต้น 
สร้างปราการทางความคิดให้แข็งแกร่ง  เสริมเกราะแห่งปัญญาให้แจ้งกระจ่าง 
เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไม่สิ้นสุด
รู้เขา รู้เรา โดยไม่เสียเปรียบ   

ภูมิคุ้มกัน เหล่านี้แหละครับ จะทำให้พวกเรารอดพันจากพายุที่มาถาถมระลอกแล้วระลอกเล่า 
ตั้งสติให้มั่น สำรวจแขนขาองคาพยพว่าอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมดีหรือไม่ 
แล้วเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันภัยกันตั้งแต่บัดนี้ 
   
ทุกคนยังต้องเผชิญกับ ฤดูหนาวอันแสนนาน อีกนานครับ ยิ้มกว้างๆ

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.081 วินาที กับ 20 คำสั่ง