เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11
  พิมพ์  
อ่าน: 57185 ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 12 มี.ค. 14, 09:03

โรสถึงแก่กรรม เมื่อ ค.ศ. 1968  ร่างของเธอฝังอยู่ในสุสานเมืองแมนสฟิลด์เช่นเดียวกับพ่อและแม่
หลังจากหย่าขาดจากกิลเลต เลนแล้ว โรสไม่ได้แต่งงานใหม่     เธอถึงแก่กรรมโดยไม่มีบุตร   มีแต่ "หลานบุญธรรม" ชื่อโรเจอร์ แม็คไบรด์  ผู้เป็นทั้งผู้จัดการทรัพย์สินทางปัญญาของเธอ และเป็นนักเขียนด้วย     เขาใช้ความคุ้นเคยกับโรส เรียนรู้ชีวิตวัยเยาว์จนเขียนนิยายชุด "บ้านเล็ก" ในช่วงลอร่ากับแอลแมนโซย้ายไปมิสซูรี่แล้ว  มีโรสเป็นตัวเอก
    รวมเป็นหนังสือชุด  คือ
    Little House on Rocky Ridge (1993)
    Little Farm in the Ozarks (1994)
    In the Land of the Big Red Apple (1995)
    On the Other Side of the Hill (1995)
    Little Town in the Ozarks (1996)
    New Dawn on Rocky Ridge (1997)
    On the Banks of the Bayou (1998)
    Bachelor Girl (1999)

    ดิฉันอ่านเล่มแรกแล้ว ไม่ติดใจ   ก็เลยไม่ได้แนะนำใครให้อ่านอีกค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 12 มี.ค. 14, 09:07

 ยิ้มกว้างๆ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 12 มี.ค. 14, 22:00

      เคยถามตัวเองว่าเสน่ห์ของวรรณกรรม "บ้านเล็ก" อยู่ที่ตรงไหน     คำตอบคืออยู่ที่ความสุข ความอบอุ่นและความหวัง ที่แฝงอยู่ระหว่างบรรทัดในทุกตอนของนิยายชุดนี้        เรื่องนี้ ผู้เขียนไม่ได้ระบายสีชีวิตที่สุขสบายสวยหรูตรงไหนเลยตั้งแต่บทแรกจนบทสุดท้ายของหนังสือทั้ง 8 เล่ม
     แต่ในความลำเค็ญของชีวิตเมื่อปลายศตวรรษที่ 19   ของชาวบ้านในถิ่นห่างไกลความเจริญ   ลอร่าก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ชีวิตที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งวัตถุฟุ่มเฟือยใดๆเกินปัจจัย ๔    แค่มีที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า อาหารและยารักษาโรคง่ายๆของพื้นบ้าน  ก็พอแล้ว    สิ่งที่เป็นสีสันงดงามที่สุดของชีวิตคือความรักและความดีงามที่พ่อแม่มอบให้ลูกๆ  แม้ว่าไม่สามารถจะมอบความสมบูรณ์พูนสุขทางกายได้  แต่ทางใจ  ครอบครัวอิงกัลส์มีเต็มเปี่ยม
    ถ้าวัดความสำเร็จในชีวิตกันอย่างที่เขานับกันทุกวันนี้    ชาร์ลส์ อิงกัลส์ก็เรียกได้ว่าล้มเหลว    เขาไม่สามารถจะพาครอบครัวไปได้ดีกว่าตอนเริ่มต้น    ไม่ว่าจะอพยพไปที่ไหน ชีวิตก็ไม่เคยดีขึ้นกว่าเดิม  มีแต่ลำบากขึ้นและยากจนลง  แม้แต่ที่ดินที่จับจองเอาไว้ก็ต้องขายไปในที่สุด     เขาไม่มีลูกชายที่จะช่วยแรงงานพ่อแม่ ลูกสาวคนโตพิการไม่สามารถหารายได้เข้าบ้าน   ลูกสาวคนรองแบกภาระเกินวัย ตั้งแต่ยังเด็ก    ลูกสาวคนที่สามและที่สี่ก็เช่นกัน      แต่วรรณกรรมเรื่องนี้ทำให้เรามองเห็นว่าชาร์ลส์เป็นพ่อที่ดีที่สุดเท่าที่พ่อคนหนึ่งจะเป็นได้    ถึงลำบากยากจนอย่างไร  เขามีความสามารถน่าอัศจรรย์ที่ทำให้ลูกๆมีความสุข ความรักและประทับใจในอดีตวัยเยาว์ จนทำให้ชื่อของชาร์ลส์เป็นอมตะมาจนทุกวันนี้ 
   


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 13 มี.ค. 14, 13:31

     อีกคนหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาร์ลส์ ก็คือแคโรไลน์ภรรยาของเขา     ลอร่าบรรยายแม่ของเธอด้วยความจำที่ชัดเจนแจ่มใส แม่นยำในรายละเอียด   คนอ่านมองเห็นแคโรไลน์ตั้งแต่ยังเป็นแม่บ้านสาวสวยวัยไม่ถึง 30 ปี มีลูกเล็กๆ 3 คนในบ้านเล็กในป่าใหญ่     ไปจนเป็นหญิงวัยกลางคนพร้อมลูก 4 คน  ผ่านงานหนักประจำวันชนิดไม่มีวันหยุดพัก
    แม่บ้านยุคปัจจุบันที่บ่นเหนื่อยกับงานนอกบ้านและยังต้องกลับมาทำงานในบ้านอีก  ลองนึกภาพแคโรไลน์ดูก็ได้ว่า เธอจะต้องตื่นก่อนสว่างทุกวัน  หอบฟืนหรือกิ่งไม้มาติดไฟในเตาผิง เพื่อเตรียมหุงหาอาหารเช้าให้คน 6 คนในบ้าน     อาหารทุกจานบนโต๊ะต้องผ่านมือเธอตั้งแต่ยังเป็นของดิบ ไม่ว่าจะเป็นขนมปังที่ต้องตวงแป้งผสมเกลือและผงฟูมาทำเองทุกก้อน   เนยต้องปั่นเองจากนมวัว  เนยแข็งก็ต้องทำเองจากนมทุกขั้นตอน    เนื้อสัตว์ก็ต้องล่าจากในป่าเอง หรือเข้าเมืองไปซื้อเองมาเก็บไว้กินนานๆ ทีละหลายเดือน    จะกินผักก็ต้องปลูกผักสวนครัวเอง   พรวนดิน รดน้ำ  ตลอดจนถอนขึ้นมาล้างเอง หั่นเอง ปรุงเป็นอาหารเอง
   ในสมัยนั้นน้ำก๊อกยังไม่มี    น้ำต้องโพงขึ้นมาจากบ่อที่ขุดเองทีละถัง   หรือไม่ก็หิ้วถังไปตักน้ำในลำธาร    จะล้างจานหรือซักเสื้อผ้า ต้องหิ้วน้ำกันทั้งนั้น    การอาบน้ำก็เช่นกัน หน้าร้อนอาบน้ำในลำธาร  หน้าหนาวต้องตักน้ำใส่ถังใบเล็ก   หิ้วมาต้มในถังไม้ใบใหญ่ แล้วอาบอยู่ในครัวหน้าเตาผิง เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ไม่หนาวเย็นจนเป็นหวัดได้ง่าย
  นอกจากนี้ แคโรไลน์ยังต้องตัดเย็บเสื้อผ้าทุกชุดเอง   เสื้อเก่าๆทุกตัวไม่มีการทิ้ง   แม้แต่เสื้อขาดสวมไม่ได้แล้ว  เหลือแต่ผ้าก็ต้องเก็บเอาไว้ เพื่อเอามาตัดเป็นเสื้อเล็กๆให้ลูก  หรือปะติดปะต่อกันเป็นผ้านวม patchwork 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 13 มี.ค. 14, 13:34

  พูดถึงอาบน้ำ  ว่าสมัยโน้นเขาอาบกันยังไง  คำตอบคืออาบในถังใหญ่ค่ะ   อย่างในรูปข้างล่างนี้   ไม่มีห้องน้ำ   ถังถูกยกเข้ามาหน้าเตาผิงซึ่งใช้เป็นครัว   เอาเก้าอี้วางพาดผ้าเช็ดตัวไว้   กั้นพอเป็นส่วนสัด ให้มิดชิดไม่ประเจิดประเจ้อ 
  เมื่อลูกๆยังเล็ก  แคโรไลน์ก็อาบน้ำให้ลูก  พอลูกโตพอแล้วก็อาบน้ำเอง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 13 มี.ค. 14, 13:36

ถ้าถามว่าถังไม้ใบใหญ่ๆพอที่คนลงไปนั่งได้ มีเอาไว้อาบน้ำอย่างเดียวหรือ   คำตอบคือไม่ใช่   เครื่องใช้ไม้สอยสมัยนั้นมีประโยชน์ใช้สอยหลายอย่างในตัว   เพื่อให้คุ้มกับที่มีไว้ประจำบ้าน
ถังไม้อาบน้ำปกติใช้เป็นถังซักผ้า  มีไม้กระดานสำหรับรองรับผ้าเวลาถูให้สะอาด  ต้องซักมือทีละตัว  ไม่มีเครื่องซักผ้าอย่างสมัยนี้
งานทั้งหมดนี้แคโรไลน์ทำอยู่คนเดียวในช่วงเวลาที่ลูกยังเล็กๆ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 13 มี.ค. 14, 14:36

ไหนๆก็เล่าถึงการอาบน้ำแล้ว ก็พูดต่อถึงอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องขับถ่าย   สมัยโน้นในเมื่อไม่มีห้องน้ำ ไม่มีชักโครก หรือแม้แต่ส้วมซึม  ชาวบ้านเขาทำกันอย่างไร
คำตอบคือใช้กระโถน   เรียกว่า chamber pot  เพราะว่าเก็บไว้ในห้องนอน  โดยมากเก็บไว้ใต้เตียง
ก็เป็นหน้าที่ของแม่บ้านอย่างแคโรไลน์นั่นแหละ   จะต้องหิ้วออกไปเทและล้างทำความสะอาดทุกเช้า


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 13 มี.ค. 14, 15:35

     นอกจากทำหน้าที่แม่บ้าน  แคโรไลน์ยังต้องทำหน้าที่ "พ่อบ้าน" ด้วยในยามจำเป็น    เพราะชาร์ลส์ชอบเดินทางอพยพโยกย้ายไปอยู่ในแดนเถื่อนที่ไม่ค่อยจะมีผู้คน      หมายถึงว่าต้องผจญภัยรอบด้าน   อยู่ในแคนซัสก็ต้องเจออินเดียนแดง หมาป่า และสัตว์ร้ายอื่นๆในทุ่งกว้าง     อยู่ที่ทะเลสาบสีเงินก็เจอคนงานก่อจลาจล    เมื่ออยู่มินเนโซต้าเจอตั๊กแตนลงทำลายพืชผล  ชาร์ลส์ต้องทิ้งบ้านไปเป็นแรมเดือน เพื่อหางานทำ    เขาเดินทางถึงสามร้อยไมล์กว่าจะได้งาน   ทางนี้แคโรไลน์อยู่กับลูกสาวเล็กๆ 3 คน  เท่ากับเธออยู่ตัวคนเดียว ไม่มีผู้ใหญ่ให้พึ่งพาได้เลยไม่ว่ายามเจ็บไข้หรือว่าเจอปัญหา
     ลอร่าเล่าว่า แม่ยิงปืนได้  ใช้ปืนได้คล่องเท่ากับพ่อ   แต่ก็น่าคิดว่าถ้าเกิดเรื่องร้ายแรง ไม่ต้องอะไรมาก สมมุติว่าชาร์ลส์เกิดปุบปับตายลงไป แคโรไลน์จะทำอย่างไร   ลูกเล็กๆสามคนเป็นภาระหนัก ไม่ให้เธอหางานทำนอกบ้านเอารายได้มาเลี้ยงครอบครัวที่ขาดพ่อบ้าน   ก็นับว่าสวรรค์ยังปรานีอยู่บ้างที่เหตุร้ายขนาดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นตอนแคโรไลน์ยังสาว


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 13 มี.ค. 14, 16:48

ขอแถมท้ายเรื่องกระโถนอีกหน่อยค่ะ  
ถ้าในบ้านไฮโซสมัยนั้น เขาก็มีเก้าอี้อาร์มแชร์ (คือมีเท้าแขน) ให้นั่งอย่างสบาย  พร้อมกระโถนรองข้างล่าง   ก่อนพัฒนามาเป็นม้านั่งชักโครกอย่างปัจจุบัน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 16 มี.ค. 14, 11:07

ส่วนส้วมคือหน้าตาแบบนี้   เป็นส้วมหลุม  ทำเอาไว้นอกตัวบ้าน เข้าได้ในทุกฤดูยกเว้นฤดูหนาว 


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 16 มี.ค. 14, 12:07

       สิ่งสำคัญที่ทำให้วรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" เป็นที่ประทับใจกันมาทุกยุคทุกสมัย คือความจริงใจที่ผู้เขียนมีต่องานของเธอ    ข้อนี้เป็นข้อสำคัญ    นักเขียนหลายๆคนประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวในผลงาน ก็อยู่ที่คำว่า "จริงใจ" นี่เอง    เมื่อลงมือเขียน "บ้านเล็กในป่าใหญ่"   ลอร่าไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเพื่อหาชื่อเสียง   เพื่อหาเงินสักก้อนมาใช้จ่ายสบายๆ   หรือแม้แต่จะอวดลูกสาวว่าแม่ก็เขียนได้เหมือนกันนะ    แต่เธอมีความเชื่อมั่นโดยสุจริตใจว่าชีวิตในวัยเยาว์ของเธอ เป็นความสุขที่ยากจะลืมเลือน    เธอไม่อยากให้วันเวลาที่อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่พี่น้องต้องสูญหายไปกับกาลเวลา     เธอจึงขอบันทึกเอาไว้
     ความจริงใจที่มีต่อเรื่องในอดีตนี้เองแทรกอยู่ระหว่างบรรทัดทุกบรรทัด จนคนอ่านสัมผัสได้ถึงความรักที่ครอบครัวนี้มีต่อกัน     สัมผัสความสุขตามประสาเด็กน้อยที่ไม่ยึดถือเรื่องวัตถุนิยมมากไปกว่าจิตนิยม      ลอร่าไม่เคยรู้สึกว่าพ่อแม่ยากจน จนเป็นเหตุให้เธอขาดไร้สิ่งสมบูรณ์พูนสุขในชีวิต       แม้เธอพบเพื่อนที่รวยกว่าอย่างเนลลี่ ออลิสัน (ในตอน On the Banks of Plum Creek) มีเสื้อผ้าสวยๆ รองเท้าดีๆ  ตลอดจนตุ๊กตาราคาแพงที่ลอร่าไม่มีวันมี    เธอก็ไม่เคยเอาสิ่งนี้มาเปรียบเทียบจนเป็นปมด้อย    ตุ๊กตาเศษผ้าที่แม่ทำให้เมื่อเธออยู่ในป่าใหญ่ มีคุณค่ามากกว่าตุ๊กตาราคาแพงจากร้านค้ามากนัก
    ลอร่าทำให้คนอ่านรู้สึกว่าความยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ ไม่ได้อยู่ที่พ่อแม่ดลบันดาลบ้านใหญ่ๆ    ของกินของใช้อย่างดี ตลอดจนความสะดวกสบายให้ลูก    แต่อยู่ที่ว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยความรัก และเสียสละ   พ่อแม่ทำงานหนักทุกอย่างเพื่อลูก ๔ คน โดยไม่เคยปริปากบ่น    พ่อแม่อบรมสั่งสอนลูกให้มีศรัทธาในศาสนา ยอมรับความทุกข์และความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่าในชีวิตโดยไม่ปริปากบ่น     แมรี่รู้สึกว่าการที่เธอต้องสูญเสียดวงตาไปนั้นคือการที่พระเจ้าทดสอบความอดทนจากเธอ  และวันหนึ่งพระองค์ก็จะประทานรางวัลให้     คำตอบก็มาจริงๆในรูปของวิทยาลัยคนตาบอดที่พ่อแม่และลอร่าทำงานหนักจนส่งแมรี่ไปเรียนได้จนสำเร็จการศึกษา  ตามความใฝ่ฝันแต่วัยเด็กที่แมรี่อยากเล่าเรียนศึกษามาแต่ไหนแต่ไร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 11:52

  ถ้าถามว่าความจริงใจเป็นเรื่องสำคัญไหม  คำตอบก็คือสำคัญมากในลำดับต้นๆของงานเขียน     วรรณกรรมที่ประสบผลสำเร็จมักจะเขียนขึ้นโดยความเชื่อถือศรัทธาของนักเขียนที่มีต่อประเด็นในเรื่อง    เมื่อเป็นความรู้สึกอันแท้จริงของผู้เขียนต่อเรื่องที่เขียน   สิ่งที่เขาหยิบยกมาเสนอก็จะสอดคล้องกลมกลืนกันอย่างราบรื่นสมจริง  ไม่สะดุดติดขัดอย่างคนที่คิดอย่าง แต่เขียนอีกอย่าง  
  ในเมื่อลอร่ารู้สึกจริงๆว่าชีวิตในบ้านไม้ซุงในป่าใหญ่ของเธอเป็นชีวิตแสนสุข  ทุกสิ่งที่เธอมองเห็นก็สะท้อนออกมาในแง่ดี     เริ่มบทแรกเปิดฉากใกล้ฤดูหนาวที่พ่อแม่จะต้องสะสมอาหารการกินเอาไว้ในบ้าน เพราะสภาพแวดล้อมในฤดูหนาวไม่เอื้อให้ทำไร่ไถนาหรือล่าสัตว์ได้   การเตรียมอาหารก็เป็นเรื่องสนุกของเด็ก    การแล่เนื้อกวางกับหมูป่ารมควันหรือแล่ปลาแช่เกลือไว้กิน  การเก็บผักผลไม้  การทำเนย ฯลฯ ล้วนเป็นความตื่นเต้นสนุกสนานของเด็กน้อย
    แต่สมมุติว่าเราเดินทางย้อนกาลเวลากลับไปอยู่กับลอร่าได้   เราอาจไม่สนุกกับชีวิตที่ไม่มีตู้เย็น ไม่มีตลาดติดแอร์ให้ซื้อของ  จะกินจะใช้ก็เหน็ดเหนื่อยลำบากลำบนฯลฯ    จะให้เราเขียนออกมาว่ามันสนุก ก็ฝืนกับความรู้สึก  ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องเขียน  ถ้อยคำก็กลายเป็นสนุกอย่างแกนๆ หรือปรุงแต่งเสียจนจับได้ว่าไม่สมจริง
   การปรุงแต่งเสียจนเว่อไม่สมจริงนี้ มีศัพท์ทางวรรณกรรมเรียกว่า melodrama  ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้งานเขียนจำนวนมากไม่อาจไต่ระดับขึ้นสู่งานชั้นดีได้     วรรณกรรม "บ้านเล็ก" ไม่มีลักษณะดังกล่าว  เพราะลอร่าไม่ได้ปรุงแต่งชีวิตยุคบุกเบิกใส่สีใส่ไข่เสียเป็นภาพลวง   เธอเขียนบรรยายตามความจริงอันเรียบง่าย  และเป็นความเรียบง่ายที่สวยงามจับใจทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่อ่าน
  
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 20:26

อ่านความเห็นของอาจารย์เทาชมพูแล้ว  อิ่มเอมใจจังค่ะ
ในมุมมองของนักเขียนด้วยกัน คงเข้าใจหัวอกของการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดผ่านตัวอักษรที่เรียงร้อยอย่างงดงาม
ผูกเป็นเรื่องราวที่ชวนติดตาม ประทับใจ

ดิฉันขอเสริมอีกมุมมองหนึ่งในแง่ประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจของอเมริกัน

หนังสือชุดบ้านเล็ก เขียนภายหลังที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือที่รู้จักกันในชื่อ The Great  Depression
(ปลายปี 1930 ลากไปถึงกลางปี 1940 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 )

ตลาดหุ้น Wall Street ลูกโป่งแตกเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1929 รู้จักกันในชื่อ Black Tuesday อังคารทมิฬ
และกลายเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอื่นๆติดตามมา รวมทั้งความตกต่ำด้านราคาพืชผลการเกษตรด้วย
(เพราะถือเป็น ตลาดโภคภัณฑ์ Commodity)

การล่มจมของตลาดการเงิน ในกรุงนิวยอร์คกระเทือนไปถึงบ้านไร่ที่แมนสฟิลด์ของลอร่า ได้อย่างไร

พันธบัตรต่างๆ ทรัพย์สินที่ครอบครัวของเธอสะสม เก็บหอมรอมริบแลกจากหยาดเหงื่อ แรงกาย ฝ่ามือที่หยาบกร้าน
สูญมลายไปสิ้น (หากไม่สูญก็แทบจะด้อยค่าลงทันที)

หลายครัวเรือนอเมริกันชน สูญเสียความมั่งคั่งและมั่นคงในชีวิต
ไปกับตลาดการเก็งกำไรปั่นมูลค่าทรัพย์สินและเงินตราตลอดจนตลาดตราสารล่วงหน้า

แต่เพราะลอร่า และแอลแมนโซ เป็นชาวไร่ ชาวนาที่ผ่านบททดสอบจากธรรมชาติมาหลายครั้งหลายคราแล้ว
จนเกิดภูมิต้านทานและเลือดนักสู้ประมาณว่า ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา

ในเมื่อตลาดเงินที่ล่มจมใน Wall Street ไกลออกไปนับพันๆไมล์
เป็นสิ่งที่ครอบครัวชาวไร่อย่างเธอควบคุมไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นไป

แต่สิ่งที่เธอควบคุมได้ก็คือ บ้านไร่ของไวล์เดอร์ยังมีอาหารการกินที่สมบูรณ์พร้อม  
แถมยังสามารถเจือจุนเพื่อนบ้านข้างเคียง ได้อย่างสบายๆ

นี่แหละหนา  คือสิ่งที่เรียกว่า  เงินทองเป็นของมายา  ข้าวปลาซิเป็นของจริง

การเขียนบันทึกชุดบ้านเล็ก เหมือนกับเป็นการเตือนกลายๆให้เห็นหายนะของบริโภคนิยม
และถอยกลับไปสู่ความฝันของอเมริกันในแบบฉบับดั้งเดิม
อันหอมอวลกลิ่นอายของอเมริกันสปิริต ( ด้วยตัวอย่างที่ชัดเจนจากผู้เป็นพ่อ)

อเมริกันชนทุกคนมีอิสระเสรีที่จะแสวงหาวิถีที่ดีกว่า ด้วยความกล้าหาญ บากบั่น อดทน สู้งาน
ทุกคนได้รับสิทธิจากพระเจ้าเท่าๆกัน เพียงแต่ใครจะขวนขวายหาความก้าวหน้าได้มากกว่าขึ้นอยู่กับความขยันอุตสาหะ
แต่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องตามครรลอง และไม่เอาเปรียบพรรคพวก

ผลผลิตของแรงงานคือความภูมิใจที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวให้อยู่ได้ตามอัตถภาพ

การเก็งกำไร  ปั่นค่าเงิน  นั่งคำนวณแต่ตัวเลขโดยมิได้ออกแรงกายหรือลงแรงเพื่อสร้างผลผลิต
ไม่ใช่รูปแบบการใช้ชีวิตอย่างอิสระชนที่ควรจะเป็น

ลอร่าค่อยๆเรียงลำดับความคิดเพื่อเสนอด้านมุมของชีวิตชาวอเมริกันในความฝันดั้งเดิม
เพื่อปลุกปลอบและให้กำลังใจกับผู้คนซึ่งสิ้นหวังกับภาวะขณะนั้น

เราจะเห็นว่า  บันทึกทุกเล่มล้วนนำคนอ่านย้อนกลับสู่วิถีที่เรียบง่ายของบรรพบุรุษผู้สร้างสรรค์ชุมชนด้วยจิตวิญญาณมุ่งมั่น
ในความรื่นรมย์ของทุกช่วงชีวิต ทุกคนมีความสุขกับการทำงานที่เห็นเป็นกอบเป็นกำ
จะพลาดบ้าง พลั้งบ้างด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  
(ต้องทิ้งที่ดินและบ้านเล็กในทุ่งกว้างให้กับรัฐเพื่อกันเป็นเขตสงวนของอินเดียนแดง)
หรือสภาพธรรมชาติ ที่ไม่เป็นใจ แต่ก็ไม่มีใครยอมแพ้  สู้ครั้งใหม่อีกจนชนะ
( คราสงครามตั๊กแตนที่แห่ลงมากินพืชไร่ของครอบครัวลอร่าตอนอยู่บ้านเล็กริมห้วย
จนในที่สุด พ่อเธอยอมแพ้ อพยพไปดินแดนใหม่ ริมทะเลสาบสีเงิน เพื่อหาลู่ทางเพาะปลูกอีกครั้ง)

กะแค่สงครามการเงินที่มีแต่ตัวเลขขึ้นๆลงๆ  จะหนักหนาเท่าหิมะ 7 เดือนที่ทำให้ชาวเมืองเดอะสะเม็ตแทบอดตาย
ก็ให้รู้ไปซิน่า

ฉะนั้น เมื่อผู้คนที่กำลังจิตตกกับเงินทอง มูลค่าสินทรัพย์ที่ลดถอยลงทุกวัน
ได้มีโอกาสย้อนอดีตดูปูมหลังของบรรพชนที่สร้างชาติขึ้นมาด้วยความยากลำบาก
ก็น่าจะมีมุมมองของโลกสวยขึ้นบ้าง
ลุกขึ้นมา ตั้งต้นชีวิตใหม่ ทำงาน ทำการที่เห็นเป็นผลผลิตที่แท้จริง เจ๋ง
 


บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 20:40

เพื่อให้เกิดภาพเปรียบเทียบชีวิตของคนที่ใกล้จุดศูนย์กลางการเงินและรับผลกระทบชัดเจน
ขอเอาบทความบทหนึ่งของเด็กผู้หญิงที่ชือคล้ายๆกันคือ Clara Hancox

When Father took my piggy bank :The Depresssion's darkest days
หรือที่แปลเป็นไทยพาดหัวว่า "เมื่อพ่อเอาเงินทั้งหมดในกระปุกออมสินฉันไป"
เป็นหน้าบันทึกที่อยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนา "The Century"
ซึ่งเป็นการรวบรวมหน้าประวัติศาสตร์ของคนมะกันในรอบ 100 ปี ตั้งแต่1901-1999
โดย Peter Jennings อดีตผู้ประกาศข่าวและบรรณาธิการคนดัง
ABC New's World News Tonight รายการข่าว Prime Time ของช่องโทรทัศน์ Rating ติดดาว
( เสียชีวิตแล้วเมื่อปี 2005 ด้วยโรคมะเร็ง อายุ 67 ปี)
และ Todd Brewster อดีตบรรณาธิการ LIfe Magazine

หน้าตาหนังสือเป็นอย่างนี้ค่ะ



Clara Hancox เกิดปี 1918 ในละแวก Bronx
จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Iowa ในปี 1939
เคยเป็นนักเขียนคอลัมนิสต์ใน Daily News Record
หลังเกษียณแล้ว หันมามุ่งมั่นงานเขียนนิยายอย่างเดียว
 

   
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 20:41

บันทึกของหนูน้อย Clara Hancox จับใจความได้ดังนี้

"พ่อแม่ของฉันอพยพจาก Ukraine สู่มหานครนิวยอร์คในปี 1916
แรกเริ่มมาอาศัยในเขตสลัมทางฝั่งตะวันออก
แม้จะไม่ใช่ถิ่นพำพักที่ดูดีมีระดับ ออกจะซอมซ่อด้วยซ้ำ
แต่พวกเราก็ไม่เคยสิ้นหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น..สักวันหนึ่ง

ด้วยความบากบั่น อดทน หนักเอา เบาสู้ตามแบบฉบับของคนงานอพยพทั่วไป
พ่อได้ก่อร่างสร้างตัวจนสามารถประกอบอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจทำพื้นอาคาร (Flooring Business)
มีงานรับผิดชอบการปูพื้นอาคารตึกใหม่ๆซึ่งแข่งกันสร้างรองรับเมืองที่กำลังขยาย

ตอนนั้นไม่มีใครรู้เลยว่าจะเกิดอะไรในเวลาต่อมา

พ่อเริ่มมีเงินเก็บและลืมตาอ้าปากได้ จึงโยกย้ายไปพำนักถิ่นที่อยู่ที่ดีขึ้น
คือเขต Bronx ซึ่งอยู่นอกเมืองออกมา
อพาร์ทเม้นท์ 4 ห้องของเราเริ่มดูเป็นรูปเป็นร่าง
ด้วยเฟอร์นิเจอร์งานฝีมือและการตกแต่งอย่างมีรสนิยม
ทั้งนี้พ่อฝันเสมอว่าอยากจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีฐานะ
เพื่อชดเชยกับความยากลำบากครั้งเก่าก่อน

วันหนึ่งพ่อกลับมาพร้อมกับผืนพรมสีแดงเชอรี่ นุ่มสวยจนแทบจะชวนให้เกลือกกลิ้งทั่วผืน
แม่ถามว่าพ่อจ่ายไปเท่าไหร่ พ่อตอบว่า 250 เหรียญ แม่บอกให้เอาไปคืน
แต่พรมเชอรี่ก็ยังอยู่ที่พื้นอพาร์ตเม้นท์เรามาตลอด

ธุรกิจของพ่อยิ่งนานวัน ก็ยิ่งดีขึ้นตามลำดับ
พอๆกับการขยายตัวของตึกสูงระฟ้าที่แข่งพุ่งทะยานไม่หยุด
พ่อไปที่แบ็งก์เพื่อขอกู้เงินสำหรับซื้อวัสดุ สิ่งของที่เอามาใช้งานปูพื้น

แต่ไม่ทันจะได้เริ่มงาน ตลาดหุ้นก็ถูกถล่ม เศร้า
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 19 คำสั่ง