เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 57186 ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" (ตอนจบ)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 19 ม.ค. 14, 10:20

   ชีวิตจริงของลอร่าเมื่อนิยายชุด "บ้านเล็ก" ตอนสุดท้าย คือ "ปีทองอันแสนสุข" -These Happy Golden Years จบลง  เป็นชีวิตที่หนักหนาเท่าที่สาวชาวนาคนหนึ่งจะประสบได้     
   ตามธรรมเนียมของอเมริกัน    งานที่ผู้หญิงทำมีอยู่น้อยมาก    ถ้าเป็นครูพอแต่งงานแล้วก็ต้องเลิก เพราะสมัยนั้นครูผู้หญิงมีแต่สาวโสดเท่านั้นที่ทำได้     เมื่อแต่งงานแล้วหน้าที่ก็คือทำงานบ้านและเลี้ยงลูก  ไม่ต้องทำงานในไร่นา    งานในเมืองก็มีแต่งานเย็บผ้าหรือเป็นพนักงานเสิฟในโรงแรม      แต่ทำไร่ทำนาต้องอาศัยทั้งแรงงานและแรงเงิน   เพื่อประหยัดเงินค่าจ้างลูกมือ  ลอร่าจึงต้องละเมิดบทบาท  ทำงานในนาเสียเอง   เธอช่วยเขาไถนา ถือคันไถเทียมด้วยม้าหกตัว ลากไปตามทุ่งนาเพื่อปลูกข้าวสาลี     เธอเลี้ยงไก่ไว้เอาไข่  ปั่นเนยเอง    เมื่อมีเหลือเกินต้องการเธอก็ให้แอลแมนโซเอาไปขายในเมือง  แต่พบว่าชาวเมืองต่างก็เลี้ยงไก่เอาไข่และปั่นเนยเองทั้งนั้น
   แต่อย่างไรก็ตาม ชีวิตหนักนี้ก็ไม่ได้ขาดความสุข  ทุกวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดงาน   แอลแมนโซกับลอร่าออกไปขี่ม้าเล่น   เธอหัดขี่ม้าโดยใช้บังเหียนและอานเหมือนโคบาลหญิง   และควบม้าได้เร็วกว่าสามีเสียอีก   บางวันเธอกับสามีก็นั่งรถม้าไปเยี่ยมพ่อแม่และน้องๆ
   เวลาล่วงมาจนถึงฤดูใบไม้ผลิ ปี 1886 เมื่อดอกกุหลาบป่า ดอกไม้โปรดของลอร่าเริ่มคลี่ดอกสีชมพูบานเต็มท้องทุ่ง  ลอร่าก็ออกไปควบม้าแข่งกับสามีไม่ได้ตามเคย  เพราะเธอพบว่ากำลังตั้งครรภ์     เมื่อสามีปรารภว่าจะได้ลูกชายหรือลูกสาวก็ไม่รู้  ลอร่าก็ตอบอย่างแน่ใจว่า
    "เป็นลูกสาว   ฉันจะตั้งชื่อแกว่า "โรส" "


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 19 ม.ค. 14, 21:05

  ในฤดูร้อนปี 1886   ข้าวสาลีเริ่มจะสุก   เป็นข้าวที่งามได้ผลดีเลิศจนแอลแมนโซคำนวณได้ว่าจะขายได้ราคาประมาณ 3000 ดอลล่าร์   เงินจำนวนนี้ต่อให้จ่ายภาษี  จ่ายค่าเครื่องไม้เครื่องมือทำนา  จ่ายค่าสร้างบ้าน ฯลฯ ก็ยังมีเงินเหลือพอกินพอใช้อย่างสบายทั้งสองคน   
   แต่พอล่วงมาถึงเดือนสิงหาคม  ใกล้ถึงเวลาเก็บเกี่ยวเต็มที   จู่ๆวันหนึ่งเมฆดำทะมึนก็เคลื่อนมาเต็มฟ้า    จากนั้นพายุลูกเห็บก็กระหน่ำลงมาอย่างหนัก     แอลแมนโซกับลอร่าได้แต่ตะลึงมองจากหน้าต่างบ้านโดยไม่รู้จะทำอะไรดีกว่านั้น     กว่าพายุจะสงบ  ไร่ข้าวสาลีก็พังพินาศไม่มีเหลือ    เงินก้อนใหญ่ละลายหายไปในอากาศ
   เมื่อไม่มีรายได้เข้ามา  แต่รายจ่ายยังคงที่  ทั้งสองก็ต้องหาเงินและจำกัดรายจ่ายลงเท่าที่จะทำได้     อย่างแรกคือเอาบ้านไปจำนองธนาคาร  เพื่อได้เงินมาเป็นทุนปลูกข้าวในปีต่อไป      แต่ธนาคารกำหนดให้ลูกหนี้ต้องพำนักอยู่ในที่ดินของตัวเอง ไม่ให้ย้ายไปที่อื่น  แอลแมนโซจึงซ่อมเพิงเก่าแก่ที่ปลูกอยู่บนที่ดิน    แล้วย้ายไปอยู่ที่นั่นแทน
   ลูกสาวคนแรกของลอร่าถือกำเนิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม    แม่มาช่วยดูแลให้สองสามวันก่อนจะกลับบ้าน   ต่อจากนั้นก็มีแต่พ่อแม่และลูกน้อยอยู่กันลำพัง 3 คนตลอดฤดูหนาว

  เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่า เมื่อลอร่าแต่งงานไปแล้ว  เกิดอะไรขึ้นกับพ่อแม่และพี่น้องทางบ้านของเธอ  เรื่องนี้ไม่ได้เล่าไว้ในหนังสือค่ะ

   โรส ไวล์เดอร์ ในวัยเยาว์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 ม.ค. 14, 10:52

   ย้อนกลับไปทางบ้านเก่าของลอร่า
   ชาร์ลส์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่เขาจับจองเอาไว้เป็นเจ้าของแล้ว หลังจากลอร่าแต่งงานไปได้ 1 ปี    แต่หลังจากนั้นอีก 2 ปี  เขาก็พบว่าแม้ที่ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะกับปลูกข้าวโพดข้าวสาลี  แต่ลมฟ้าอากาศและศัตรูธรรมชาติอย่างอื่นไม่เป็นใจเอาเสียเลย    บางปีก็เจอนกดำลงมากินข้าวจนเกลี้ยง    บางปีก็เจอพายุลูกเห็บ   บางปีอากาศก็เกิดแห้งแล้ง แดดจัดแผดเผาต้นข้าวจนเกรียมไม่ออกรวง    ทำไร่ทำนาไปก็มีแต่ขาดทุน   อย่าว่าแต่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลย แม้แต่ประคองตัวเองไม่ให้เป็นหนี้สินก็ไม่ไหวแล้ว
   ในค.ศ. 1887  ชาร์ลส์มีอายุ 51 ปี    ชราเกินกว่าจะทำงานหนักในไร่นาอีกต่อไป   เขาเป็นผู้ชายคนเดียวของครอบครัว  ไม่มีลูกชายจะแบ่งเบาช่วยแรงงาน     มีแต่ลูกสาวซึ่งยังเรียนหนังสือกันอยู่ทั้งสามคน     เขาก็เลยตัดสินใจ-ด้วยความเห็นชอบของแคโรไลน์  ขายที่นา เลิกทำฟาร์ม  แล้วอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองเดอสเม็ตแทน
   ชาร์ลส์ปลูกบ้านในที่เล็กๆ ริมถนนสายที่สามในเมือง  เป็นทำเลที่เหมาะมาก เพราะอยู่ใกล้โบสถ์และใกล้ร.ร. ที่แครี่และเกรซจะเดินไปได้สบายๆ     เขาสร้างบ้านด้วยตัวเอง   เป็นบ้านสองชั้น น่าสบาย มีห้องหลายห้อง สร้างอย่างดีมั่นคงแข็งแรง  จึงอยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้
   นักท่องเที่ยวก็ยังแวะเข้าไปชมบ้านหลังนี้  ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์และร้านขายของที่ระลึก
  



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 มี.ค. 16, 17:06 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 ม.ค. 14, 12:43

ย้อนกลับไปที่ลอร่า   
หลังจากพ่อขายที่นาแล้วไปตั้งต้นอาชีพใหม่ในเมือง  ลอร่ายังคงอยู่ที่เพิงกลางนากับแอลแมนโซ  เขาพยายามปลูกพืชผลอีกครั้งอย่างไม่ท้อถอย    แต่โชคนอกจากไม่เข้าข้างแล้ว เคราะห์ยังกระหน่ำซ้ำเติม   ลอร่ากับแอลแมนโซล้มป่วยลงด้วยโรคคอตีบ (Diphtheria) ในยุคนั้นยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
ส่วนโรสรอดพ้นไม่ติดเชื้อจากโรคนี้  เธอต้องถูกแยกจากพ่อแม่ไปอยู่กับตายายในเมืองชั่วระยะหนึ่ง   พ่อกับแม่ก็ต้องอยู่ที่เพิงกลางนา มีลุงรอยัลพี่ชายของแอลแมนโซเป็นคนดูแล
ลอร่าโชคดีกว่าสามีตรงที่หายป่วย รอดตายมาได้  ส่วนแอลแมนโซแม้ว่ารอดตายจากโรคนี้เช่นกัน  แต่เขามีอาการแทรกซ้อนจากติดเชื้อ ทำให้ประสาทอักเสบ (neuritis)
ถ้าท่านใดทราบว่าคืออะไร  กรุณาอธิบายเพิ่มเติมจะขอบคุณมากค่ะ
ผลจากอาการแทรกซ้อนทำให้ขาของแอลแมนโซพิการเดินไม่ได้ไปชั่วคราว    แม้ว่าหายแล้วก็ยังไม่กลับมาดีเท่าเดิม  เขาต้องใช้ไม้เท้าพยุงกาย   เดินกระโผลกกระเผลกไปตลอดชีวิต   
ร่างกายที่เคยหนุ่มแน่นแข็งแรงกลายเป็นร่างกายกึ่งพิการ  อ่อนแอเกินว่าจะหว่านข้าว ปลูกและไถข้างสาลี ได้อย่างเมื่อก่อน   บวกกับภัยธรรมชาติคือลมฟ้าอากาศแห้งแล้งหลายปีติดต่อกันในรัฐดาโกต้าใต้  ทำให้ลอร่าและแอลแมนโซแทบจะหมดเนื้อหมดตัว  เป็นหนี้สินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 21 ม.ค. 14, 09:31

เคราะห์ร้ายไม่ได้มาหนเดียว-อย่างที่โบราณว่ากัน     ลอร่าตั้งครรภ์เป็นครั้งที่สองในต้นปี 1889  ซึ่งเป็นปีที่อากาศร้อนและแห้งแล้วจนต้นข้าวสาลีถูกแดดแผดเผาตายทั้งๆยืนต้นอยู่ในนา      ในเดือนสิงหาคม เธอคลอดบุตรชายหน้าตาเหมือนพ่อ  แต่หนูน้อยอยู่ได้เพียงสองสัปดาห์ก็หมดลมหายใจไปเฉยๆ
ความเศร้าโศกของลอร่ามีมหาศาล ไม่แพ้แม่ของเธอเมื่อสูญเสียลูกน้อยเฟรดดี้    ในตระกูลนี้ สามชั่วคนเต็มๆที่ลูกชายไม่รอด  แคโรไลน์เสียเฟรดดี้  ลอร่าเสียลูกชายที่เธอยังไม่ทันตั้งชื่อ    และต่อมาเมื่อโรสโตเป็นสาว แต่งงานมีบุตรชาย ลูกน้อยของเธอก็สิ้นชีวิตหลังคลอดเช่นกัน     ไม่มีใครทราบว่าเป็นกรรมพันธุ์ที่สืบทอดกันมาหรืออย่างไร

ปัญหาใหญ่อีกเรื่องคือสุขภาพของแอลแมนโซ     งานในไร่นาเป็นงานหนัก ชาวนาต้องมีร่างกายแข็งแรงบึกบึนจึงจะทำงานไหว  มาบัดนี้เขากลายเป็นคนกึ่งพิการ นอกจากเดินเหินไม่ถนัด  นิ้วเขาก็ยังแข็งขัดหยิบจับอะไรไม่ได้    ลอร่าต้องช่วยเขาทุกอย่าง    รวมทั้งเทียมม้าให้ลากไถ    ที่ดิน 320 เอเคอร์ที่มีอยู่ก็กลายเป็นใหญ่เกินไปเสียแล้วสำหรับสองคน   เขาก็เลยต้องขายครึ่งหนึ่งออกไป เก็บไว้เพียงครึ่งเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 23 ม.ค. 14, 11:50

หลังสูญเสียลูกชาย ลอร่าตกอยู่ในภาวะเศร้าซึม ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร   โรสซึ่งขณะนั้นอายุเกือบสามขวบแล้ว  พอจะช่วยแม่ทำงานบ้านได้   หน้าที่เธอคือขนฟืนหญ้าแห้ง(หญ้าแห้งที่บิดและมัดเป็นท่อนยาวๆจนแข็งเหมือนฟืน) มาใส่เตาผิง      แต่วันหนึ่งหญ้าแห้งใส่เตานั้นติดไฟ ลามมาถึงหญ้าแห้งที่โรสกำลังใส่เข้าไปในเตา    โรสสะบัดหญ้าแห้งทิ้งลงบนพื้น   ไฟก็เลยลุกพรึ่บไปตามพื้นไม้กระดาน    ลอร่ามีเวลาเพียงฉวยตัวโรสวิ่งออกจากบ้าน   พร้อมด้วยข้าวของสองสามชิ้น     ส่วนบ้านทั้งหลังมอดไหม้ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้อื่นๆทั้งหมด
 
เมื่อสิ้นเนื้อประดาตัว   แอลแมนโซกับลอร่าก็ไม่มีทางอื่นนอกจากตัดสินใจอพยพออกจากดาโกต้าไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของเขาชั่วคราวที่มินเนโซตา  เพราะที่นั่นพ่อทำฟาร์มได้ผลดี  ต้องการลูกมือช่วยงาน     ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าทำไมลอร่าไม่หาทางไปอยู่ในเมืองกับพ่อแม่ของเธอ  คำตอบคือพ่อเองก็ใช่ว่าจะมีเงินทองพอจุนเจือลูกได้     เมื่อเลิกทำฟาร์ม เขาก็ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัวต่อไปอีกเช่นกัน     สุขภาพของแอลแมนโซก็อ่อนแอเกินกว่าจะทำงานในเมืองได้นาน

ด้วยเหตุนี้ หลังจากสี่ปีที่แต่งงานกัน  ลอร่า แอลแมนโซและโรสก็ออกเดินทางไกลไปมินเนโซตา    ชีวิตช่วงนี้ เธอไม่ได้เล่าเอาไว้ในนิยายของเธอ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 23 ม.ค. 14, 15:04

  พ่อกับแม่ของแอลแมนโซต้อนรับลูกชาย ลูกสะใภ้และหลานตัวน้อยๆด้วยเมตตาจิต      ลอร่าจึงอาศัยอยู่ในมินเนโซตายาวนานถึงหนึ่งปีเศษ      เธอสังเกตว่าสุขภาพของสามีฟื้นตัวช้ามาก    มีคนแนะนำว่าอากาศที่มินเนโซตาหนาวจัด  ถ้าหากว่าเขาย้ายไปในที่อากาศอุ่น สุขภาพจะแข็งแรงขึ้น     ประกอบกับลูกพี่ลูกน้องของลอร่า คือปีเตอร์   ไปแต่งงานและตั้งถิ่นฐานอยู่ในฟลอริดาในเวลานั้น  เขียนจดหมายมาชวนให้ไปอยู่ที่นั่น      เธอจึงปรึกษากับสามี  ไปตั้งหลักใหม่ในรัฐฟลอริดาที่อากาศอบอุ่น และชุ่มชื้นมากกว่ามินเนโซตาหลายเท่า    เมื่อปรึกษาแอลแมนโซ ตกลงกันได้  เขาก็ขายสัตว์เลี้ยงและเครื่องมือเครื่องใช้   เก็บเสื้อผ้าลงหีบ  พาภรรยาและลูกสาวนั่งรถไฟจากมินเนโซตาไปฟลอริดา
   ชีวิตที่ฟลอริดาไม่เป็นสุขอย่างที่คาดหวัง    อย่างแรกคือลอร่าไม่ถูกกับอากาศร้อนชื้นของรัฐนี้    อย่างที่สองคือบรรดาเพื่อนบ้านและแม้แต่ภรรยาของปีเตอร์ก็ไม่เป็นมิตรด้วย     ทุกคนมองลอร่าเป็น "สาวรัฐเหนือ" ที่หัวสูงเพราะเธอไม่เข้ากลุ่มสุมหัวกับพวกเพื่อนบ้าน   ข้อหลังนี้ก็พอเข้าใจได้  เพราะชีวิตที่ลอร่าคุ้นเคยคือชีวิตในทุ่งกว้างที่ชาวนาต่างคนต่างทำงานตัวเป็นเกลียวเกินกว่าจะมีเวลาสังสรรค์กันบ่อยๆ     ในที่สุด เมื่อทนต่อไปไม่ไหว  ลอร่าก็ตัดสินใจอีกครั้ง ขอกลับบ้านที่รัฐดาโกต้าใต้  ทั้งๆยังอยู่ฟลอริดาได้ไม่ถึงปี
   ประสบการณ์ในช่วงนี้คงไม่มีอะไรดีสำหรับลอร่า   เธอจึงไม่คิดจะถ่ายทอดเป็นนิยายให้เยาวชนได้อ่านกันเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 23 ม.ค. 14, 15:14

ลอร่าเขียนบันทึกเอาไว้ถึงฟลอริดาตอนหนึ่งว่า
" เป็นที่ๆต้นไม้กระซิบกระซาบต่อกัน...ผีเสื้อตัวใหญ่มหึมาบินโฉบไปมา   พืชพันธุ์ที่กินแมลงเจริญงอกงามอยู่ในอากาศชุ่มชื้น   จระเข้อาศัยอยู่ในน้ำไหลเอื่อยตามแม่น้ำ"
เคยไปฟลอริดามาหนหนึ่งในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิเข้าฤดูร้อน    อากาศที่นั่นทำให้นึกถึงประเทศไทย   คือตอนกลางวันอากาศสบายๆพอกับตอนเช้าของไทย  มีแดดอุ่นและชุ่มชื้น  ข้างไฮเวย์มีป่าไม้เบญจพรรณหรืออะไรที่ทำให้นึกถึงป่าเบญจพรรณ เพราะมันเป็นไม้ยืนต้นเขียวสดขึ้นเป็นแนวหนาแน่น   เหมือนป่าภาคกลางในยุคก่อนจะถางป่ากันจนเตียนอย่างเดี๋ยวนี้
บ้านเพื่อนที่ไปพักเป็นหมู่บ้านมีทะเลสาบหลังบ้าน  คล้ายๆบ้านจัดสรรชั้นดีในบ้านเรา     เพื่อนกำชับว่าต้องปิดประตูด้านหลังให้ดี  ไม่งั้นจระเข้ในบึง(ซึ่งเป็นบึงเปิดต่อกับทะเลสาบภายนอก) จะคลานขึ้นมากินแมวในบ้านได้     มีเพื่อนบ้านเปิดประตูหลังไปจ๊ะเอ๋กับไอ้เข้ไอ้โขงมาแล้ว
พออ่านถึงตอนนี้ก็เลยไม่สงสัยว่าทำไมลอร่าตื่นตาตื่นใจกับฟลอริดามากเมื่อแรกเห็น  มันแทบจะตรงข้ามกับดาโกต้าใต้และมินเนโซตาราวกับอยู่กันคนละประเทศ


บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 23 ม.ค. 14, 19:39

ลอร่าโชคดีกว่าสามีตรงที่หายป่วย รอดตายมาได้  ส่วนแอลแมนโซแม้ว่ารอดตายจากโรคนี้เช่นกัน  แต่เขามีอาการแทรกซ้อนจากติดเชื้อ ทำให้ประสาทอักเสบ (neuritis)
ถ้าท่านใดทราบว่าคืออะไร  กรุณาอธิบายเพิ่มเติมจะขอบคุณมากค่ะ
ผลจากอาการแทรกซ้อนทำให้ขาของแอลแมนโซพิการเดินไม่ได้ไปชั่วคราว    แม้ว่าหายแล้วก็ยังไม่กลับมาดีเท่าเดิม  เขาต้องใช้ไม้เท้าพยุงกาย   เดินกระโผลกกระเผลกไปตลอดชีวิต   
ร่างกายที่เคยหนุ่มแน่นแข็งแรงกลายเป็นร่างกายกึ่งพิการ  อ่อนแอเกินว่าจะหว่านข้าว ปลูกและไถข้างสาลี ได้อย่างเมื่อก่อน   บวกกับภัยธรรมชาติคือลมฟ้าอากาศแห้งแล้งหลายปีติดต่อกันในรัฐดาโกต้าใต้  ทำให้ลอร่าและแอลแมนโซแทบจะหมดเนื้อหมดตัว  เป็นหนี้สินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ไม่ได้อ่านกระทู้นี้ เพราะไม่เคยอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้
แต่มีคนไปตามมาให้ช่วยอธิบาย neuritis ตามคำขอของอาจารย์เทาชมพู

คำว่า neuritis หรือประสาทอักเสบ เป็นคำรวมๆ ที่หมายถึงการที่มีการอักเสบของเส้นประสาท
สาเหตุของประสาทอักเสบมีได้ตั้งแต่จากการบาดเจ็บโดยตรงในบริเวณเส้นประสาท หรือเกิดจากเนื้องอก เกิดจากการติดเชื้อ
อาการแสดงก็ขึ้นกับว่าเส้นประสาทนั้นทำหน้าที่อะไร
ถ้าเป็นเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหว (motor function) ก็ทำให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหวอวัยวะ
ถ้าเป็นเส้นประสาทที่ควบคุมการรับรู้การสัมผัส (sensory function) ก็จะทำให้มีอาการปวด หรือชา

Diphtheria หรือโรคคอตีบ เกิดจากเชื้อ Corynebacterium diphtheriae ซึ่งทำให้เกิดผลแทรกซ้อนคือประสาทอักเสบหลายเส้น รวมทั้งเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนขา
จึงเป็นเหตุให้แอลเมนโซเกิดอาการขาอ่อนแรงเดินไม่ได้ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 25 ม.ค. 14, 09:40

ขอบคุณทั้งคนที่ไปตาม และขอบคุณอาจารย์หมอ CVT ค่ะ ที่อธิบายเรื่องอาการของแอลแมนโซให้เข้าใจ  ทีแรกก็แปลกใจเหมือนกันว่าทำไมคอตีบทำให้แข้งขาพิการไปได้  ตอนนี้เข้าใจแล้ว
สงสารพระเอก ที่เกิดก่อนมีการค้นคิดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ    จึงได้รับผลให้ต้องเดินขาเขยกๆไปตลอดชีวิต   

กลับมาที่เรื่องจริงเบื้องหลังชีวิตลอร่า
เมื่อเธอกลับมาที่รัฐดาโกต้าใต้   ลอร่าและแอลแมนโซเหลือแต่ตัว     บ้านนาและที่ดินที่เคยจับจองถูกขายไปหมดแล้ว   ทั้งคู่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆในเมือง  ดิ้นรนหารายได้   ทั้งๆร่างกายไม่แข็งแรงนักแอลแมนโซก็รับจ้างเป็นช่างไม้ทั่วไปแล้วแต่ใครจะจ้าง     เป็นลูกมือในร้านขายอาหารสัตว์ของรอแยลพี่ชาย   ส่วนชาร์ลส์พ่อของลอร่าเปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ดทั่วไป    บางครั้งเขาก็เอาสินค้าใส่รถม้าตระเวนไปขายชาวไร่ชาวนาในรอบนอกของเมือง    แอลแมนโซก็ทำหน้าที่ผู้ช่วยพ่อตา    ส่วนลอร่าไปรับจ้างเย็บผ้าตั้งแต่เช้าถึงเย็นได้เงินวันละ 1 ดอลล่าร์ 
โรสเริ่มโตพอจะอ่านเขียนได้แล้ว  ตอนกลางวันเมื่อพ่อแม่ไปทำงาน เธอก็ไปอยู่กับคุณยายแคโรไลน์  และป้าๆน้าๆ    คุณยายสอนหนังสือโรสให้ที่บ้าน ก่อนเข้าร.ร.   เมื่อโรสไปเรียนหนังสือ ครูก็แปลกใจมากที่เธออ่านหนังสือได้แตกฉานกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน

ชีวิตช่วงนี้ ลอร่าไม่ได้บันทึกไว้  แต่โรสบันทึกไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ On the Way Home



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 25 ม.ค. 14, 12:02

     ดูเผินๆ  ชีวิตที่นี่ก็ไม่มีสิ่งใดยากลำบากไปกว่าที่ผ่านมา  อย่างน้อยก็มีงานทำ มีรายได้ มีที่อยู่อาศัย    แต่ลอร่ากับแอลแมนโซไม่อยากทนมีชีวิตอยู่ไปวันๆ แบบไร้อนาคตต่อไปได้ในเมืองเดอสเม็ต       ทั้งสองยังไม่ละทิ้งความฝันที่จะมีฟาร์มเล็กๆของตัวเอง ในดินแดนที่อากาศเป็นใจสุขภาพของแอลแมนโซดีขึ้น   
     หลังจากทำงานหนัก เก็บหอมรอมริบอยู่หลายปี   วันนั้นก็มาถึง
     ในค.ศ. 1894    เมื่อลอร่าอายุ 27 ปี โรสอายุ 8 ขวบ  แอลแมนโซและลอร่าได้ยินข่าวว่าทางตอนใต้ของรัฐมิสซูรี่ ณ พื้นที่ที่เรียกว่า เทือกเขาโอซาร์คส์    บริษัทที่ดินเข้าไปพัฒนาที่ดิน  ชักชวนชาวบ้านให้ไปทำไร่ทำนาตั้งบ้านเรือนที่นั่น    เพื่อนบ้านคนหนึ่งในเมืองเดอสเม็ตเดินทางไปดูลาดเลา  แล้วกลับมาด้วยแอบเปิ้ลสีแดงสดลูกใหญ่ที่สุดเท่าที่ลอร่าเคยเห็น    เขาบอกว่าที่นั่นปลูกแอปเปิ้ลได้ผลดีมาก   
     พอเห็น  ลอร่ากับแอลแมนโซก็รู้ว่าควรจะออกจากดาโกต้าใต้ที่แห้งแล้งในฤดูร้อนและหนาวจัดในฤดูหนาว ไปตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ที่ใด
   
ภาพ: เทือกเขาโอซาร์คส์ ในรัฐมิสซูรี่


บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 ม.ค. 14, 18:06

จบ "ปีทองอันแสนสุข" ก็นึกว่า ชีวิต ลอรา จะ Happy Ending เหมือนกับชื่อตอนจบของซีรีส์ ชุดนี้
ปรากฏเจอความยากลำบากกว่าเยอะเลยนะคะ
นึกแปลกใจว่า ตอนที่ลอรา เรียบเรียงความทรงจำตั้งแต่ บ้านเล็กในป่าใหญ่
เธอจะมีภาพสะดุดของความยากลำบากช่วงหลังแวบเข้ามาหรือไม่ แล้วสามารถกำจัดไปได้อย่างไรเพื่อไม่ให้รบกวนการเขียนย้อนประวัติ
เพราะในชุด"บ้านเล็ก" มีแต่มุมมองที่รื่นรมย์ไปกับชีวิตทั้งนั้นเลย

ชีวิตเกษตรทุกที่เหมือนกันไปหมด เจอแต่ความยากลำบาก
อนาคตผูกกับความเป็นไปของธรรมชาติ(และระบบตลาดในตอนหลัง)
ไม่ทราบมีประวัติศาสตร์ช่วงไหนที่เปลี่ยนแปลงสถานะของเกษตรกรให้ยืนตาอ้าปากได้

อย่างในญี่ปุ่น ชาวนาเริ่มมีฐานะดีขึ้นเมื่อมีการปฏิรูปที่ดิน (ดูจากภาพยนตร์ญี่ปุ่น โอชิน น่ะค่ะ)

มิสซูรี่เป็นรัฐพื้นที่ราบใหญ่ อากาศอุ่น
เหมาะสำหรับเกษตรกรรมขนาดใหญ่
คงเป็นสถานที่พักฟื้นกำลังกายและกำลังใจของแอลแมนโซได้ดี

วนอุทยานโอซาร์ค (ชื่อเป็นอินเดียนแดงมาก) เคยไปค่ะ
เป็นที่พักผ่อนฤดูร้อนของชาวมิซซูล่า ( เขาเรียกชาวมลรัฐตัวเองด้วยคำๆนี้)


เอากำลังใจช่วยครอบครัวไวล์เดอร์นะคะ ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 25 ม.ค. 14, 20:08

คุณ Kulapha ถามอย่างเดียวกับดิฉันอยากถามลอร่าอยู่เหมือนกันค่ะ
ลอร่าน่าจะเป็นคนที่คิดอย่างเพลง The Way We Were ตอนที่ว่า

What's too painful to remember we simply choose to forget
So it's the laughter we will remember

เธอเลือกที่จะไม่เขียนสิ่งที่เจ็บปวดเกินกว่าจะอยากจำ  แต่เลือกจำแต่สิ่งดีๆ    โดยเฉพาะในนิยายตอนแรกที่เขียนเพื่อเด็กชั้นประถม   เด็กในวัยนี้สมควรได้รับการปลูกฝังในทางดี เพื่อเขาจะเติบโตขึ้นโดยไม่ขมขื่นและมองโลกในแง่ร้าย    แต่ในนิยายหลังๆอย่าง The Long Winter  ซึ่งเหมาะกับเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก  เธอก็บันทึกถึงความลำเค็ญของชีวิตชาวไร่ชาวนาตั้งแต่ต้นจนจบ ให้รู้ว่าชีวิตก็ไม่ได้สวยงามตลอดไป
เห็นอยู่อย่างหนึ่งว่าไม่ว่าสุขหรือลำบาก ลอร่าไม่มองโลกในแง่ร้าย      แม้ว่าบางครั้งชีวิตร้ายกาจเกินกว่าจะมองในแง่ดี   อย่างตอนที่เธอสูญเสียลูกชาย บ้านไฟไหม้  ปลูกพืชไม่ได้ผล   เธอก็เขียนบันทึกเอาไว้   แต่เธอไม่เอามาเรียบเรียงและตีพิมพ์ ตลอดเวลาที่เธอมีชีวิตอยู่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 25 ม.ค. 14, 20:20


ชีวิตเกษตรทุกที่เหมือนกันไปหมด เจอแต่ความยากลำบาก
อนาคตผูกกับความเป็นไปของธรรมชาติ(และระบบตลาดในตอนหลัง)
ไม่ทราบมีประวัติศาสตร์ช่วงไหนที่เปลี่ยนแปลงสถานะของเกษตรกรให้ยืนตาอ้าปากได้

ไม่ทราบจริงๆข้อนี้ เพราะไม่เคยไปทางรัฐตะวันออกนอกจากไปเที่ยวไม่กี่วัน    แต่ในโคโลราโดเหนือ  เท่าที่เคยเห็นเจ้าของฟาร์มที่นี่รวยกันทั้งนั้นเลยค่ะ    เวลามาจ่ายของในซุปเปอร์ก็ขับรถคาดิลแลคกันมา

กลับมาที่พระเอกนางเอกของเรา

พ่อแม่ของแอลแมนโซไม่เห็นด้วยที่ทั้งสองจะไปตั้งรกรากใหม่ในดินแดนที่ไม่มีญาติพี่น้องอยู่    แต่ก็ขัดไม่ได้   ส่วนพ่อแม่ของลอร่าไม่ว่าอะไรอยู่แล้ว   แม้ว่าอาลัยลูกสาวมาก    ในวันสุดท้ายก่อนเดินทาง  พ่อแม่จัดเลี้ยงอาหารเย็นให้ลอร่า แอลแมนโซและโรส  จากนั้นพ่อก็สีซอไวโอลินเพลงต่างๆให้ฟัง อย่างยาวนาน    
ทั้งพ่อและลูกรู้ดีว่าอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน  ลอร่าจะกลับมาเยี่ยมพ่อได้อีกหรือเปล่าก็ไม่มีใครรู้   จึงขอเล่นเพลงให้ฟังเป็นครั้งสุดท้าย
จากนั้น  พ่อออกปากว่า เมื่อพ่อตาย  ขอยกไวโอลินนี้ให้ลูกสาวคนนี้

ลอราเริ่มออกเดินทางจากดาโกต้าใต้ไปมิสซูรี่ในฤดูใบไม้ผลิ โดยเกวียนประทุนอย่างที่พ่อของเธอเคยเดินทาง    ใช้เวลาเจ็ดสัปดาห์ถึงเมืองแมนสฟิลด์   ซึ่งเป็นเมืองที่แอลแมนโซตั้งใจว่าจะตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ที่นี่

รูปนี้พ่อพาแม่และลูกสาวทุกคนไปถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกพร้อมหน้ากัน ในปี 1894  ก่อนลอร่าออกเดินทางไปมิสซูรี่
สังเกตว่าลอร่าเอามือวางบนบ่าพ่อ    เธอรักพ่อมากเป็นพิเศษ และลอร่าเองก็น่าจะเป็นลูกคนโปรดของพ่อด้วย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 26 ม.ค. 14, 12:04

เทือกเขาโอซาร์คส์ความจริงไม่ใช่เทือกเขา เนินเขา  หรือทุ่งราบอย่างดาโกต้า     แต่เป็นหุบเขา  ตรงขอบหุบเขาอยู่ระดับเดียวกับขอบฟ้าพอดี เบื้องล่างมีลำธารไหลเซาะไปในระหว่างหินปูนไลม์สโตน    มีพุ่มแบล็คเบอรี่ป่าขึ้นอยู่หนาทึบ   ลอร่าชอบที่นี่มาก  เช่นเดียวกับชอบการเดินทาง   เธอเขียนบรรยายถึงการเดินทางในจดหมายส่งไปให้พ่อแม่พี่น้องอ่าน และอีกฉบับหนึ่งส่งไปให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอสเม็ตนิวส์
บก.นำจดหมายเธอลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์    แม่อ่านพบก็ตัดส่งมาให้ลูกสาว  ลอร่าเก็บเอาไว้ด้วยความภูมิใจ เธอเขียนไว้ตรงขอบกระดาษว่า
"งานชิ้นแรกที่ตีพิมพ์"

แอลแมนโซกับลอร่าเที่ยวสำรวจที่ดินใกล้เมืองแมนสฟิลด์ ที่จะจับจองทำฟาร์มที่นั่น    ลอร่าไปเจอที่นาที่ถูกทิ้งร้างไปแล้วที่หนึ่ง พื้นดินเป็นดินปนหินขรุขระ  เนื้อที่ 40 เอเคอร์  มีกระท่อมไม้ซุงไร้หน้าต่างปลูกอยู่หลังหนึ่ง      และของแถมคือกล้าแอปเปิ้ลจำนวน 400 ต้นที่เจ้าของเดิมไม่ต้องการแล้ว แถมมากับที่ดินด้วย    ราคาที่ดินผืนนี้คือ 400 เหรียญ  ตกเอเคอร์ละ 10 เหรียญ
แอลแมนโซไม่เห็นด้วยในตอนแรก  เพราะที่ดินตรงนี้เป็นดินมีหินเกะกะอยู่ทั่วไป  ไม่ใช่ผืนดินโดดๆปลูกพืชผลง่ายอย่างที่ดินในทุ่งกว้าง   แต่ลอร่าปักใจจะเอาที่ตรงนี้เสียแล้ว    สามีก็ต้องตามใจเธอ
ทั้งสองวางเงิน 100 ดอลล่าร์ที่เก็บหอมรอมริบไว้ให้ธนาคาร เป็นเงินดาวน์  ผ่อนชำระอีก 300 ดอลล่าร์ทีหลัง   จากนั้นก็ย้ายเข้าไปอยู่ในกระท่อมไม้ซุง คล้ายกับที่ลอร่าเคยอยู่ในป่าใหญ่วิสคอนซินเมื่อเธอยังเล็ก

ภาพข้างล่างคือแอลแมนโซ และลอร่าในวัย 37 และ 27 ตามลำดับค่ะ



บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 19 คำสั่ง