เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 34213 จากนวนิยายสู่ภาพยนต์: คนเขียนบทละครนั้นสำคัญไฉน?
winter_rain
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


 เมื่อ 02 ม.ค. 14, 14:56

สวสดีค่ะ

เมื่อสมัยเรียน ม. ต้น ดิฉันเคยอ่านนวนิยายเรื่องเมียหลวง ของ กฤษณา อโศกสิน
อ่านหลายรอบ รู้สึกติดใจในคารมคมคายของนักเขียนท่านนี้ ในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง
ภาษาที่ท่านใช้ราบเรียบ ธรรมด๊า ธรรมดา เด็กอายุ 12-13 รู้สึกว่าอ่านง่าย แต่คมกริบเหลือใจ
นวนิยายเรื่องนี้ นับว่าเป็นหนึ่งในดวงใจเลยเทียว   



มาเดี๋ยวนี้ดิฉันมีโอกาสดูยูทูบย้อนหลัง ทราบว่าเมียหลวงได้ถูกนำมาทำเป็นละครล่าสุด 2 ครั้ง
คือปี 2542 คู่พระนางคือ คุณจอนนี่-สิเรียม และปี 2552 คุณธีรภัทร-ปิยธิดา
จากการตามดูย้อนหลัง และอ่านนิยายอีกครั้ง รู้สึกขัดใจเป็นอย่างยิ่งที่ละครได้ยำนิยายในดวงใจเละเทะ

ยังคิดไม่ตกว่าจำเลยตัวจริงที่ควรรับผิดชอบ คือ คนเขียนบทละคร หรือผู้กำกับกันแน่


บันทึกการเข้า
winter_rain
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 02 ม.ค. 14, 15:10

สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นนัก ดิฉันขอปูทางย่อๆ ว่า ผู้แต่งวางพระเอก (ดร. อนิรุทธ์) และนางเอก (ดร. วิกันดา) ว่าเหมาะสมดังกิ่งทองใบหยก
แต่พระเอกสวมบทขุนแผนแสนสนิท สถาปนาตำแหน่งเมียหลวงให้ ดร. วิกันดา
หญิงใดพลัดมาเข้าทางพระเอกโดนสำเร็จโทษหมด ไม่ว่าจะเป็นนงคราญสาวเสริฟ หรือ นวล พี่เลี้ยงลูก
นางบำเรอชั้นต่ำของสามี ดร. วิกันดา ยอมมองข้ามไปบ้าง

แต่เมียน้อยที่มาเหนือเมฆ และเป็นหนามตำใจเมียหลวง คือ อรอินทร์
ผู้ประพันธ์ จบเรื่องโดยใช้กลยุทธ์หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง คือสร้างตัวละครใหม่ สด คือ นุดี (ผู้ช่วยของ ดร วิกันดา)
มาทำให้อรอินทร์หึง ก่อนจะแตกหักกับ ดร. อนิรุทธ์ และนุดี กินยาตาย

เมื่อนางเล็กๆ น้อยๆ ของสามี ไปกันหมดแล้ว (คือ ม่ายอรอินทร์ไปมีสามีใหม่ และนุดี ไปสวรรค์)  ดร. อนิรุทธ์ ก็ขอย้ายเข้าบ้าน
แรกๆ ดร. วิกันดา ก็ไม่ยอม เมื่อเห็นอดีตสามีหลั่งน้ำตา ดร. วิกันดา จึงยอมให้พ่อของลูก ขนของเข้ามาอาศัยร่วมชายคาอย่างเพื่อน
มิใช่อย่างสามี

นิยายจบลงเพียงว่า ดร. อนิรุทธ์ ดักลอบหมั่นกู้ ทำคะแนนเรียกศรัทธา เพียรพยายามขอกลับมาเริ่มต้นชีวิตสามี-ภรรยาใหม่
แต่ ดร. วิกันดา ก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่า เอาดีไม่เอาดี
บันทึกการเข้า
winter_rain
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 02 ม.ค. 14, 15:40

นิยายที่เป็นามธรรมเกิน เอาไปสร้างหนังสร้างละคร ก็คงยาก
คนสร้างละครจึงต้อง "ยืมมือ" คนเขียนบทละคร ให้สร้างเนื้อหาขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดเป็นบทละครที่สนุก ชวนติดตาม
หากละครเรื่องใดเค้าโครงดี ตัวละครน้อยเกิน เนื้อหาสาระไม่พอ จะเพิ่มเติมตัวละครบ้าง ก็สมควรอยู่

แต่ว่าคนเขียนบทละครจะแต่งเติมอะไร อย่าทำให้มันเปรอะ จนนิยายถูกปู้ยี่ปู้ยำ หาของเดิมไม่เจอจะได้ไหม
เหมือนมัณฑนากรจะออกแบบตกแต่งภายในบ้าน ก็อย่าได้กระทบกระเทือนถึงเสาบ้าน หรือโครงสร้างหลักจะดีกว่า
ขืนตัดเสาโน้น เพิ่มเสานี้ ดีไม่ดีบ้านจะพังเอา
บันทึกการเข้า
winter_rain
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 02 ม.ค. 14, 16:02

คนเขียนบทละครบางคน เห็นท่าว่าไม่รู้จัก "โนเบิล คาแรคเตอร์" เหมือนที่ผู้ประพันธ์พยายามสอดแทรกให้ผู้อ่านได้เกิดจินตนาภาพ


พระเอก: รูปงาม-นามเพราะ-พ่อแม่รวย-การศึกษาสูง-เกรงใจเมียหลวง
นางเอก: รูปงาม-นามเพราะ-พ่อแม่รวย-การศึกษาสูง-สง่างาม-ใจกว้าง-ผ่อนหนักผ่อนเบา

สามีจะเกรงใจเมีย เพราะเมียมีความดี ตามทันสามีอย่างไม่น่าอาย

ตามนวนิยาย แม้สามีเป็นคนเจ้าชู้ประตูดิน แต่เพราะความดีของเมีย ทำให้สามีไม่กล้าหักหาญนัก เช่น วันหนึ่งอรอินทร์ขอค้างบ้านวิกันดา
เธออนุญาต และให้คนใช้จัดห้องให้คุณอร
แต่ตามละครเวอร์ชั่น 2542 อนิรุทธ์เป็นคนกำกับการจัดห้อง สั่งเฟอร์นิเจอร์ใหม่เข้าห้อง
อย่างกับตกแต่งห้องหอให้คุณอร ในบ้านตัวเอง
มันไม่สมจริงไปไหม?

แถมอนิรุทธ์ ในละคร ยังไปขอเมียหลวงว่าตัวเองจัดห้องให้อรอินทร์ จะได้ทำอะไรกับอรอินทร์ไม่ประเจิดประเจ้อ
กลางคืนก็ขลุกอยู่ในห้องกับเมียน้อย
อ้าว แล้ววิกันดาเป็นหัวหลักหัวตอเหรอนี่
ถ้าเป็นชีวิตจริง มีหวังโดนแหกอก ทั้งสามีทั้งชู้
ในนวนิยาย สามีกับอรอินทร์ เป็นเพียงแอบกิน ขโมยกิน ตอนเมียหลวงเผลอ แม้จะ "โจ๋งครึ่ม" ไปบ้าง แต่ก็เป็นเพียง "ลักลอบ"

สรุปว่า นวนิยายลำดับเรื่องได้เนียน แต่ละครทำออกมาโฉ่งฉ่างเกินไป
บันทึกการเข้า
winter_rain
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 02 ม.ค. 14, 16:33

กลับมาว่ากันต่อถึง "โนเบิล คาแรคเตอร์" ที่คนเขียนบทละครไม่เข้าใจ


ในนิยาย นุดีเป็น ผช ที่วิกันดาเอ็นดูความใส และความอ่อนโลกของเธอ
วิกันดาเคยขอร้องสามีว่า "คุณจะยุ่งกับใครฉันไม่ว่า" คุณจะคว้าคนไหนฉันไม่สน แต่ฉันขอนุดีไว้คน
นุดีจึงไม่โดนอนิรุทธ์ประหารเพราะวิกันดาขอไว้ก่อน
ความสามารถ "ยับยั้งชั่งใจ" ของอนิรุทธ์ คือ "โนเบิล คาแรคเตอร์" ที่ทำให้อนิรุทธ์มีคุณค่า
ไม่ใช่ว่าคลำดูไม่มีหางรวบหมด
ความดีของอนิรุทธ์ข้อนี้ ช่วยง้างใจวิกันดา ให้ใจอ่อน ยอมให้อดีตสามีกลับมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน
เพราะอนิรุทธ์บอกว่า "ผมไม่มีอะไรกับนุดี มันยังพิสูจน์ไม่พออีกเหรอ"

แต่ตามบทละคร 2542 นุดีเป็นนักเรียนของอนิรุทธ์ และมีฉากที่อนิรุทธ์นอนคอยบนเตียง และฉากที่นุดีเปลื้องผ้าพลีร่าง
เท่ากับว่าคนเขียนบทละครมองข้าม "โนเบิล คาแรคเตอร์" ของอนิรุทธ์ไปเสียทั้งสิ้น
นั่นคืออนิรุทธ์เป็นแค่ชายเจ้าชู้ดาษๆ คนหนึ่งเท่านั้นเอง

ในบทละคร 2542 ฉากใกล้จบ ยุทธการ (แฟนนุดี) ไล่ยิงอนิรุทธ์บนดาดฟ้าตึก ขาลาก เสียเลือด
ทั้งๆ ที่ในนิยายอนิรุทธ์ไม่ได้สร้างบาปอะไรต่อนุดีเลย และยุทธการก็ไม่ได้แค้นฝังหุ่นขนาดนี้


อยากจะบอกคนเขียนบทละครว่าเนื้อหาที่ดี ช่วยคงไว้ (มองไม่เห็นว่าทำไมนุดีต้องโดนเปลี่ยนจาก ผช ของวิกันดา มาเป็นนักเรียนของอนิรุทธ์)
อย่าแต่งเติมจนจำของเดิมไม่ได้
หากคุณอยากแต่งเติมนักละก็ วันดีคืนดีลองมาเป็นนักประพันธ์เสียเอง ท่าจะดี


บันทึกการเข้า
winter_rain
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 02 ม.ค. 14, 19:12

คนเขียนบทละครเรื่อง "เมียหลวง" ความจริงควรกินดิบ ไม่ต้องเสียแรงคิดมากมายให้เมื่อย
เพราะบทประพันธ์และบทพูดที่เชือดเฉือนมีอยู่ครบสมบูรณ์ในเรื่อง กอปลงมาให้หมด คมคายทั้งนั้น
คนเขียนบทละครเพียงแต่จัดหมวดหมู่เนื้อเรื่องและแอคชั่นแต่ละตอนให้เพียงพอ และลื่นไหลเท่านั้น


แต่ทว่าบทดีๆ ในเรื่องไม่ถ่ายทอดออกมา แต่บทไม่เข้าท่า ใส่ลงมามากมาย
เช่น ตอนอรอินทร์มาขอนอนค้าง วิกันดาอยู่ข้างบนบ้าน
ดึกๆ อนิรุทธ์กลับเข้าบ้าน ในห้องชั้นล่างปิดประตูหน้าต่างแล้ว มิดชิด ไม่มีคนอื่นเข้าไปยุ่มย่าม
เสียงเพลงจากสเตอริโอเบาๆ อนิรุทธ์กับอรอินทร์เต้นรำกันอยู่
แขนอนิรุทธ์อยู่บนบ่าเธอ ส่วนแขนอรอินทร์โอบรอบทรวงอก

ทั้งสองพูดอะไรกันอยู่หลายประโยค แต่เมื่อตกลงกันได้ทั้งสองโผเข้ากอดกันแน่น
อนิรุทธ์จูบปากและเลื่อนลงมาซอกคอ
อรอินทร์เหลือบตาเห็นวิกันดาลงมา แสร้งตกใจ ส่วนอนิรุทธ์ตกใจมากกว่าหน่อย ผละออกจากกันแล้วเสเดินไปกินเหล้า

วิกันดาบังคับสีหน้าตัวเองให้ปกติ ทักทาย เอ่ยถึงเพลงที่กำลังเปิด
อนิรุทธ์แก้เก้อ จูงมือเมียเต้นรำกัน สักพักก็บอกว่าพอเถอะ ทำเหมือนว่าหมดรอบวิกันดา ถึงคิวอรอินทร์
อรอินทร์กำลังเมา หาเรื่องขึ้นว่า "บอกมาคุณพี่ว่าจะให้อรจัดงานวันเกิดที่นี่หรือไม่"


ฉากแบบนี้............>ในละครเป็นแค่อนิรุทธ์กำลังไซ้อรอินทร์ครึ่งนั่งครึ่งนอนบนโซฟา เอากามรมณ์ลุ่นๆมาแสดง น่าจะมีความงามปนบ้าง

ฉากที่ไม่น่ามี.........>เพื่อนวิกันดาทุบตีอรอินทร์ โดยอนิรุทธ์เป็นผู้หย่าศึก


คนเขียนบทละคร ตีบทไม่ออกหรือว่าเพื่อนวิกันดาผู้ดีทั้งนั้านนนนนน






บันทึกการเข้า
winter_rain
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 06 ม.ค. 14, 23:40

ดิฉันร้างลาดูละครจอแก้วมาหลายปีนัก จึงไม่ใคร่รู้จักหน้าค่าตาของนักแสดงเท่าไร

เมียหลวงเวอร์ชั่น 2552 เพิ่งเห็นคุณป๊อก ปิยธิดา เป็นครั้งแรก รู้สึกทึ่ง
เธอแสดงเป็นดร. วิกันดา ได้นิ่ง ทั้งสีหน้า แววตา และน้ำเสียง ถ่ายทอดออกมาได้ดีมาก
แอคติ้งไม่แพ้คุณหมิว ลลิตา

สำหรับบทละครโทรทัศน์ พอใจกับเวอร์ชั่นนี้ เพราะถอดความเป็นนวนิยายเมียหลวงของแท้ออกมาได้มาก แม้จะไม่หมด

ดร. อนิรุทธ์ ในนิยาย ปากจัด และเพลย์บอยกว่าในละคร
ในละคร พระเอกหงอเมียไปหน่อย เวลาประชันกับเมีย ทาบเธอไม่ติด

**ละครที่ออนแอร์ไปถ่ายไป มันเสี่ยงอยู่นา
เกิดดาราถ่ายท้อง ออกหน้ากล้องไม่ได้ล่ะ 555
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 ม.ค. 14, 07:16 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
winter_rain
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 08 ม.ค. 14, 17:47

ขอบคุณค่ะ

เพราะว่า "เรตติ้ง" นี่เอง ที่ทำให้เรื่อง "วนิดา" ต้องเปลี่ยนบทกระจุย

เรื่องวนิดา บิดานางเอก จับลูกสาวคลุมถุงชนกับพระเอก เพราะน้องพระเอกหนีหนี้เงินกู้
วันใดที่น้องพระเอกหาเงินมาชดใช้หนี้ได้หมด วันนั้นพระเอกก็เป็นอิสระ สามารถอย่าขาดจากกันได้

ในนิยาย จบลงตรงพ่อนางเอกมารับลูกสาวกลับบ้าน แต่พระเอกบอกรักเธอเดี๋ยวนั้น และขอให้อยู่ครองเรือนต่อ ดังเช่นสามีภรรยาจริง
แม่พระเอกวีนแตก จนพันตรีประจักษ์ต้องพาวนิดาไปเช่าบ้านอยู่ แยกจากเรือนใหญ่
แม่สามีคืนดีสะใภ้เมื่อหลงหลานที่เริ่มเตาะแตะ พลอตเรื่องคล้ายบ้านทรายทอง


ในละครเวอร์ชั่น 2534 (หมิวและตั้ว) นางเอกถูกรับกลับบ้าน พอพระเอกกลับมาไม่เจอภรรยา น้ำตาท่วมจอ
ละครถูกยืดไปอีกหลายสัปดาห์ กว่าจะแฮปปี้เอ็นดิ้ง

เวอร์ชั่น 2553  (แอฟและติ๊ก) แต่งเติมบทคล้าย 2534
แต่แม่ผัวจูบปากลูกสะใภ้เดี๋ยวนั้น พร้อมกับจัดงานแต่งอีกครั้ง เอาใจแฟนละครเต็มที่


ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่า นิยายที่พระนางเป็นสามีกันตั้งแต่ต้นเรื่อง ทำเป็นละครเมื่อใด ดังทุกเรื่อง

บันทึกการเข้า
winter_rain
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 09 ม.ค. 14, 11:11

ช่ายค่ะ เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ
คนดูชอบบทกระเง้ากระงอด ชอบลุ้นว่าวันนี้นางเอกจะโดนพระเอกจูบหลังงานประกวดเต้นรำไหม

เคยสงสัยว่าเรื่องวนิดา สนุกตรงไหน จึงหามาอ่านดู
เรื่องนี้เป็นนามธรรมทั้งเรื่อง เนือยๆ บทโรมานซ์ก็ไม่มีเลย จืดสนิท
ทำให้คนเขียนบทแต่งเติมฉากที่เป็นรูปธรรมเพิ่มได้เต็มที่
(แต่ภาษาของท่านวรรณสิริ เจ็บแสบเกิน ภาษาเก่าชวนเสียวสันหลัง เช่น แม่ผัวด่าสะใภ้....อีชาติไพร่
สมัยนี้ ปากแบบนี้ โดนมีดโต้เฉาะแน่)

ในนิยายไม่มีเพื่อนพระเอก ที่ชื่อมนตรี ก็เติมลงไป ทำให้พระเอกหึงภรรยาในนามได้อีกหลายฉาก

เวลาคนจัดละครเซ็นสัญญาซื้อนิยายไปทำละคร ทำไมไม่จ้างเจ้าของบทประพันธ์เขียนบทละครไปเลยล่ะคะ
ที่คิดได้อาจเป็น
๑) ผู้ประพันธ์ชรา หรือถึงแก่กรรมแล้ว
๒) ผู้ประพันธ์ปากกาเลี่ยมทอง ลำพังค่าลิขสิทธิ์ก็รากเลือด
๓) ภารกิจส่งต้นฉบับที่อื่นรัดตัว ไม่มีเวลาให้
๔) ผู้ประพันธ์ชำนาญอักษร แต่การถ่ายทอดเป็นแอคชั่นยังไม่เจนสังเวียน
๕) ผู้ประพันธ์ไม่ยอมให้ใครถือบังเหียนในการเขียนบท ตามใจฉัน คนจ้างจึงพึงใจจ้างคนในอาณัติ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 09 ม.ค. 14, 11:18

ภาษาของคุณแปลกๆนะคะ   ไม่เหมาะจะสนทนาในเรือนไทยเลยค่ะ

อ้างถึง
๒) ผู้ประพันธ์ปากกาเลี่ยมทอง ลำพังค่าลิขสิทธิ์ก็รากเลือด

บันทึกการเข้า
winter_rain
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 09 ม.ค. 14, 11:58

ขอประทานโทษค่ะ ดิฉันไม่มีเจตนาใช้ภาษาหยาบคาย หากสื่อสารไม่สุภาพขอประทานอภัยด้วยค่ะ

ระหว่างคุยในหมู่เพื่อนเรื่องหนังสือ เราคุยกันถึงนักเขียนเก่าแก่นามอุโฆษท่านหนึ่ง เขียนเรื่องใดก็สนุกทุกเรื่อง ไม่ผิดหวังสักเรื่องหนึ่ง
แต่ผิดหวังที่ว่าเท่าที่เห็นนิยายของท่านแทบไม่ได้นำมาสร้างละครเลย
บางคนเดาว่าการสื่อสาร อีกคนซึ่งอยู่ในแวดวงหนังสือฟันธงว่าราคาค่ะ
-จบ-
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.036 วินาที กับ 19 คำสั่ง