เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9]
  พิมพ์  
อ่าน: 46915 ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 20 ม.ค. 14, 20:42




กฎของพระเจ้า สิ่งเดียวที่ให้สิทธิ์อิสระ

เมืองเล็กในทุ่งกว้าง
ลอราบรรยายสภาพบ้านเมืองที่กำลังเจริญ
ชีวิตของครอบครัวอิงกัลล์ส์ในเมืองและบนที่ดินจับจอง
ลอราทำงานหนักเพราะปรารถนาจะมีส่วนช่วยให้แมรี่มีโอกาสเข้าเรียนวิทยาลัยคนตาบอดในไอโอวา
เงินรายได้รวมของเธอรวมกับของพ่อ ช่วยให้ความปรารถนานั้นบรรลุผล

เนลลี่ ออลิสัน เพื่อนร่วมชั้นเจ้าเล่ห์ขี้อิจฉาสร้างบรรยากาศสนุกสนานและช่วยให้เรื่องราวของโรงเรียนมีรสชาติ
มิสไวล์เดอร์ครูประจำชั้นทำให้ลอรารู้จักครอบครัวไวล์เดอร์มากขึ้น
โดยเฉพาะเจ้าม้าเทียมรถที่แอลแมนโซขี่มารับพี่สาวที่โรงเรียน
มันกรุยทางสู่ความสัมพันธ์รักระหว่างเธอกับแอลแมนโซในเวลาต่อมา

เมืองเล็กในทุ่งกว้าง จบด้วยการที่ลอราสอบบรรจุเป็นครูได้
เธอไปสอนที่โรงเรียนของมิสเตอร์บรูว์สเตอร์ ที่อยู่ห่างจากบ้าน 2 ไมล์
งานเฉลิมฉลองเอกราช  ๕  กรกฎาคมของสหรัฐ(พิมพ์จากต้นฉบับ)
ทำให้ผู้คนในเมืองเล็กๆนั้นสนุกสนานและภาคภูมิใจกับประวัติศาสตร์ของประเทศตน

“เราทุกคนมีอิสรภาพ เสรีภาพ อยู่ในดินแดนของพระผู้เป็นเจ้า
ประเทศนี้ประเทศเดียวในโลกที่ทุกคนมีเสรีภาพ มีเสรีภาพ เต็มที่(เมืองเล็กในทุ่งกว้าง หน้า ๑๑๖)

คำประกาศเอกราชที่ก้องกังวานทำให้ลอราคิดว่า

“ชาวอเมริกันจะไม่เชื่อฟัง พระมหากษัตริย์องค์ใดในโลกนี้
ชาวอเมริกันเป็นอิสระเสรีซึ่งหมายความว่า ทุกคนจะต้องเชี่อฟังมโนธรรมของตนเอง
ไม่มีพระมหากษัตริย์องค์ใดจะมาเป็นเจ้านายของพ่อ พ่อเป็นนายของตัวเอง
แล้วทำไมล่ะ(เธอคิด) เมื่อฉันโตขึ้นกว่านี้อีกสักหน่อย พ่อกับแม่ก็จะเลิกบอกฉันว่า ให้ทำโน่นทำนี่
และจะไม่มีใครอีกแล้วที่มีสิทธิจะมาออกคำสั่งแก่ฉัน
ฉันจะต้องทำตัวของฉันเองให้เป็นคนดี  จิตใจของเธอดูเหมือนจะสว่างไสวขึ้น

เพราะความคิดอั้นนี้นั่นเอง คือความหมายของคำว่าอิสรเสรี
มันหมายความว่า เราจะต้องเป็นคนดีด้วยตัวเอง
พ่อของเราคือพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นผู้สร้างเสรีภาพซึ่งเป็นกฎธรรมชาติ
และกฎธรรมชาติอันนี้พระผู้เป็นเข้าได้ประสิทธิ์ประสาทให้แก่เรา
ให้เรามีสิทธิเหนือชีวิตและเสรีภาพ
และเราจะต้องรักษากฎอันนี้ชองพระผู้เป็นเจ้าไว้
เพราะกฎของพระผู้เป็นเจ้าเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เรามีสิทธิที่จะเป็นอิสระ” (เมืองเล็กในทุ่งกว้าง หน้า ๑๒๒-๑๒๓)

คนจำนวนไม่น้อยก็คิดแบบเดียวกับลอราซึ่งเป็นทัศนะที่ไม่ถูกต้องนัก
ในความเป็นจริง คนคือที่มาของทุกสิ่ง ไม่มีอะไรจะมาเป็นนายเหนือมนุษย์
และไม่มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอันใดจะแอบอ้างเป็น”พระเจ้า”ได้
เพราะปรากฏการณ์ทุกอย่างอยู่ใต้การกระทำของคน
และมันรวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆที่คนสร้างขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใครและเพื่ออะไร

การต่อสู้ปลดแอกจากอังกฤษของคนอเมริกันในครั้งนั้น
ได้มาซึ่งสังคมใหม่จากการสู้ด้วยสองมือของคนอเมริกันเอง
และเสรีภาพเป็นผลพวงมาจากเลือดเนื้อครั้งนั้น

การเป็นคนดีด้วยตัวเองไม่ได้หมายถึงความมีอิสรเสรี
เพราะคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
หากสังคมมีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบและเป็นเผด็จการ
เสรีภาพที่แท้จริงก็หามีไม่
เสรีชนไม่อาจทำงานได้อย่างกระตือรือร้นเต็มกำลัง
เพราะระบบสังคมจะควบคุมและเป็นอุปสรรค
สังคมที่ปราศจากการขูดรีดเท่านั้น คนจึงจะเป็นเสรีและมีเสรีภาพอย่างแท้จริง


หมายเหตุ :  คุณสันติ นามธรรมไม่ได้จุดประเด็นสาระสำคัญใน "ฤดูหนาวอันแสนนาน"
แต่ดิฉันมีบทความทางเศรษฐกิจที่อ้างอิงถึง หนังสือตอนนี้ จะนำมาพิมพ์ต่อไปค่ะ
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 20 ม.ค. 14, 20:52



ตะวันออกหรือตะวันตก บ้านดีที่สุด
East or West, Home is the Best


Golden years are passing by
Happy, happy golden years
Passing on the wing of time,
These happy golden years
Call them back as they go by
Sweet their memories are
Oh! Improve them as they fly
These happy golden years”
(จาก ปีทองอันแสนสุข หน้า ๒๕๒)

จิตใจของลอรากำลังเบิกบานเต็มเปี่ยมด้วยความสุข
เสียงทุ้มเบาๆของพ่อที่ร้องเพลงประสานเสียงซอ
ฟังเหมือนได้ยินมาแต่ไกล แต่มันกังวานแจ่มชัดในความทรงจำของเธอ
ลอรารู้ว่าเธอจะไม่เศร้าสร้อยคิดถึงบ้านเก่าและวันคืนที่แสนสุขอีกต่อไป
เธอกับแอลแมนโซกำลังเริ่มต้นชีวิตใหม่ภายในบ้านเล็กสีเทาหลังนี้
เส้นทางสายใหม่ของชีวิตทอดตัวอยู่เบื้องหน้าและคนทั้งคู่จะร่วมกันก้าวเดิน
ชีวิตใหม่กำลังเริ่มขึ้นและเช่นเดียวกัน ชีวิตเก่าและเรื่องราวของ “บ้านเล็ก” ได้ปิดฉากลง

ในช่วงต่อมา ยังมีผลงานชื่อ The First Four Years และ On the Way Home
อีก ๒ ชิ้นที่จะทำให้หนังสือชุดบ้านเล็ก สมบูรณ์
สุคนธรส ได้แปลเป็นตอนๆลงในนิตยสาร ลลนา แต่ไม่ได้ตีพิมพ์เป็นเล่ม
ส่วนเล่มหลังยังไม่มีผู้ใดแปลและ สุคนธรส ผู้สร้างผลงานแปลอมตะของลอรา  อิงกัลล์ส์  ไวล์เดอร์
 ได้ถึงแก่กรรมไปเสียก่อน
(ปล. จริงๆแล้ว  On The Way Home มีการแปลภายหลังในชื่อ  ตามทางสู่เหย้า – Kulapha)

ในเรื่อง The First Four Years เราจะได้รู้ถึงชีวิตของลอรากับแอลแมนโซบนที่ดินจับจอง
ลอราชอบทุ่งกว้างและความอิสระ เธอเรียกตัวเองว่า “หญิงนักบุกเบิก” (Pioneer Girl)
และไม่แน่ใจว่าเธอจะต้องการเป็นภรรยาชาวนาหรือไม่
ชาวนาไม่มีอิสระ และชีวิตผูกพันกับงาน งาน และงาน
ทั้งตกเป็นทาสความเมตตาจากตลาด จากนายทุนและจากลมฟ้าอากาศ
แต่แอลแมนโซรักอาชีพชาวงนาและมักจะพูดเสมอว่า
คนรวยมีน้ำแข็งกินในฤดูร้อน แต่คนจนมีกินในฤดูหนาว
ลอราจึงสัญญาที่จะทดลองใช้ชีวิต ๔ ปี บนผืนฟาร์ม
และหากไม่ได้ผล แอลแมนโซก็จะยกเลิก

๔  ปีของลอราเป็นปีของการต่อสู้ที่มีช่วงสั้นๆที่แสนสุข
ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความเดือดร้อน ทุกข์ยาก พืชผลเสียหาย ความแห้งแล้ง หนี้สิน
ลูกชายที่สิ้นชีวิตหลังจากเกิดได้ ๑๒ วัน
ลอราและแอลแมนโซล้มเจ็บ ไฟไหม้บ้านและอื่นๆ
ตาคนทั้งคู่ก็ต่อสู้ยืนหยัด เมื่อปีทดสอบปีสุดท้ายสิ้นสุดลง
ลอราก็ตัดสินใจว่า อาชีพชาวนาและชีวิตบนแผ่นดินคือสิ่งที่เธอและแอลแมนโซเลือกแล้ว

ภายหลังปี ค.ศ. ๑๙๔๓ เมื่องานเขียนชุด บ้านเล็ก ตีพิมพ์ออกมาจนหมดชุด
ผู้อ่านนับพันๆได้เขียนจดหมายเรียกร้องตอนต่อๆไปว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับ ลอราและแอลแมนโซอีกบ้าง
นั่นคือคำถามที่ผู้อ่านอยากรู้แต่ลอราก็ไม่ได้ตอบข้อสงสัยและคำถามดังกล่าว



หนังสือเล่มต่อมาของลอราที่ยังไม่มีใครแปลคือ On The Way Home
ได้ให้ภาพชีวิตภาพสุดท้ายของคนทั้งคู่
หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกสั้นๆที่เล่าการอพยพจากดาโกต้า ไปมิสซูรีระหว่าง ๑๗ กรกฎาคมถึง ๓๐  สิงหาคม ๑๘๙๔
ลอราบรรยายถึงท้องทุ่ง แม่น้ำ เมืองและภาพต่างๆตลอดเส้นทางอพยพ
นับเป็นงานเขียนชิ้นสุดท้ายและจากนั้นเราจะไม่ได้พบกับลอราและหนังสือชุด บ้านเล็ก ของเธออีกต่อไป

ผู้อ่านบางคนท่านอาจสงสัยว่า ไม่ระย่อมรสุม งานแปลของ สุคนธรส ที่พูดถึงชีวิตในดินแดนตะวันตก
มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือชุด บ้านเล็ก หรือไม่และอดย่างไร
จริงๆแล้ว งานเขียนชิ้นนี้  โรส  เลน ลูกสาวของลอราเป็นผู้เขียน(แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลงานผู้เป็นแม่)
โดยเลียนรูปแบบและเนื้อหามาจากหนังสือชุด บ้านเล็ก
แต่ทว่าดูเหมือนไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

งานเขียนของ Donald  Zochert ที่ปรากฏออกมากลางปี ค.ศ. ๑๙๗๗ โดยสำนักพิมพ์ Avon
เรื่อง Laura : The Life of Laura Ingalls Wilder
คือหนังสือเล่มล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับผลงานชุด บ้านเล็ก และจะตอบคำถามทั้งหมดของผู้อ่าน
เกี่ยวกับครอบครัวอิงกัลล์ส์โดยเฉพาะชีวิตของลอรา
หนังสือมีลักษณะเป็นนวนิยายเชิงอัตชีวประวัติที่ให้ข้อเท็จจริงหลายๆด้าน
และมีส่วนทำให้ภาพชีวิตที่พร่าเลือนของลอรา อิงกัลล์ส์  ไวล์เดอร์  แจ่มชัดและสมบูรณ์ขึ้น


บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 20 ม.ค. 14, 21:19



Laura Ingalls Wilder at book signing, October 1952
 Brown's Book Store, Springfield, MO

พิจารณาอดีต   ปรับปรุงสังคมปัจจุบัน

ปี ค.ศ. ๑๙๓๐ ลอราอายุ ๖๓  ปี ผู้คนที่ใกล้ชิดกับเธอหลายๆคนสิ้นชีวิต
ไม่ว่าจะเป็นปู่ ย่า พ่อกับแม่ แมรี่ ลุงเฮนรี่ หรือแคป การ์แลนด์
และสังคมอเมริกันในทศวรรษ  ๑๙๒๐ ก็ตกอยู่ในสภาวะผันผวนสับสน
นั่นก็ยุคของเพลงแจ๊สและความส่ำส่อนเหลวแหลกทางศีลธรรม
ปัญญาชนอเมริกันจำนวนมากผิดหวังในสังคมและปลีกตัวไปแสวงหาสความหวังใหม่ในยุโรป
ซึ่งต่อมาเป็นยุคทางวรรณกรรมอเมริกันที่เรียกว่า “The Lost Generation”

ยุคนี้  ช่องว่างและความขัดแย้งทางสังคม การเมืองของคนอเมริกันกำลังแผ่กว้าง
ไม่ว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ปัญหาผิว
และการประหัตประหารขององค์การขวาจัด Ku Klux Klan ที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่
สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและความหวาดกลัวต่อ”ภัยแดง”
ที่ถูกปลุกขึ้นมาโดยนักการเมืองประเภท “หมอผี”
คือสภาพรอบตัวอย่างใหม่ของในขณะนั้น

บางที สภาวะเหล่านี้คงมากเกินกว่าที่ลอราจะทนได้
ดังนั้น วันคืนเก่าๆและอดีตแสนสุขจึงเป็นสิ่งที่เธอหวนหา
อย่างน้อยมันก็ช่วยปลุกปลอบใจและสร้างความหวังให้กับชีวิตเพื่อทดแทนกับสภาพความเสื่อมสลาย
ที่ไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวของสังคมอเมริกันขณะนั้น

เหตุนี้ เมื่อหนังสือชุด บ้านเล็ก ตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. ๑๙๓๒
ผลงานของเธอชุดนี้จึงสอดคล้องกับสภาพจิตของผู้คนในสังคมขณะนั้นซึ่งกำลังไขว้คว้าหาทางออก
และได้รับการยกย่องเป็นที่นิยมกันแพร่หลายต่อมา

สิ่งที่ลอราทำก็คือ มองย้อนหลังกลับเพื่อเรียกร้องให้คนอเมริกันไปพิจารณาอดีตและกลับมาปรับปรุงสังคมปัจจุบัน
อเมริกาดินแดนแห่งความฝัน ดินแดนแห่งคำมั่นสัญญากำลังจะสูญสลาย


บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 20 ม.ค. 14, 21:21




เราจะทำอะไรกันได้บ้าง นั่นอาจเป็นคำถามและข้อคิดที่ลอราได้ทิ้งไว้ให้กับผู้อ่านทั่วไป
ไม่ว่าเปรียบเทียบสังคมนั้น เป็นสังคมไทยหรือสังคมอเมริกันก็ตาม

หนังสือชุด บ้านเล็ก ไม่เพียงแต่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตรฺ์
และความทรงจำของคนอเมริกันยุคบุกเบิกไว้เท่านั้่น
แต่ยังให้บทสรุปและแนวทางหลายอย่างสำหรับคนรุ่นหลัง

ชีวิตของครอบครัวอิงกัลล์ส์และไวล์เดอร์
ได้สะท้อนภาพการต่อสู้ที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคทั้งจากธรรมชาติและสังคม
แต่ผลจากความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อก็นำพวกเขาไปสู่จุดหมาย
ภาพของลอร่ากับพ่อที่นั่งบิดหญ้าแห้งทำเป็นเชื้อเพลิง
แอลแมนโซและแคบ การ์แลนด์ ที่บุกฝ่าพายุหิมะและความหนาวอันทารุณโหดร้าย
เพื่อไปหาข้าวสาลีมาให้ชาวเมืองที่หิวโหย
เกวียนประทุนที่เปลี่ยนรอยทางเกวียนเป็นถนน  เป็นทางและเป็นอื่นๆ
ได้ชี้ให้เราเห็นว่า การยืนหยัดต่อสู้กับความยากลำบากนั้นย่อมมีหนทาง
เพราะมันจะถ่ายทอดผ่านการทดสอบจากการปฎิบัติมาจนเป็นผล

ดังนั้นเมื่อหนังสือหน้าสุดท้ายถูกปิดลง
บางที บ้านเล็กในป่าใหญ่ ในความฝันและความนึกคิดของผู้อ่าน
จึงอาจกำลังเริ่มต้นพร้อมกับบทสรุปว่า
ถ้าหากไม่ยืนหยัดต่อสู้แล้ว..ชัยชนะก็จะไม่ได้มา"


จบบทความของคุณ สันติ นามธรรม



บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 27 ม.ค. 14, 12:50

ขอบคุณคุณ Kulapha ค่ะ  งานเขียนชิ้นนี้ดิฉันไม่เคยอ่านมาก่อน

ดิฉันจำได้ว่าเคยผ่านตาบทวิจารณ์บางฉบับมาเหมือนกัน  เกี่ยวกับทัศนคติของแม่ของลอร่าต่อชาวอินเดียนแดงที่มีลักษณะออกไปทางลบ 

แคโรไลน์แม่ของลอร่าดูท่าทางจะเป็นสตรีค่อนข้างจารีตนิยม  แม้จะไม่ใช่คนฐานะดี  แต่ก็ได้รับการศึกษาอบรม  รู้แบบแผนกิริยามารยาท  เธออบรมลูกสาวให้เป็นกุลสตรี  ดิฉันไม่ทราบว่ากรอบความคิดของเธออาจจะเป็นเช่นเดียวกับชาวอเมริกันยุคนั้นโดยทั่วไปหรือไม่  แต่เท่าที่อ่าน  นอกจากหลายตอนที่แคโรไลน์แสดงท่าทางค่อนไปในเชิงลบต่อชาวอินเดียนแดง  เหมือนกับว่าเธอก็มองสตรีต่างชาติในเชิงแบ่งแยกด้วย  (ประโยคคล้ายกับว่าลูกสาวของเธอเป็นผู้หญิงอเมริกัน  ไม่ควรออกไปทำงานนอกบ้านเหมือนผู้หญิงต่างชาติ  ประมาณนี้ค่ะ  จำไม่ได้ว่าเล่มไหน)
บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 27 ม.ค. 14, 13:09

ดิฉันไม่แน่ใจว่าหนังสือ Let the Hurricane Roars - ไม่ระย่อมรสุม ของโรส  กับหนังสือชุดบ้านเล็ก  เล่มใดตีพิมพ์ก่อนกันเพราะทราบว่าตีพิมพ์ในปี คศ. 1932  ไล่เลี่ยกัน  อันที่จริงเคยมีข้อสงสัยกันด้วยว่าแท้จริงแล้วงานเขียนชุดบ้านเล็กนี้เป็นผลงานเขียนของลอร่า  หรือเป็นโรสนำข้อมูลจากลอร่ามาช่วยเขียนขึ้น (นักเขียนเงา)  เพราะโรสเองก็มีอาชีพทางด้านการขีดเขียนมาตั้งแต่แรก  ในความคิดของดิฉันเองค่อนข้างจะให้เครดิตทางลอร่า  ลอร่าเองดูจากพิ้นฐานการศึกษาดิฉันคิดว่าเธอก็น่าจะมีความสามารถทางการเขียนอยู่บ้างแล้ว  และข้อมูลละเอียดมากมายขนาดนี้  น่าจะต้องเป็นเจ้าของเรื่องจึงจะสามารถดึงข้อมูลออกมาเรียบเรียงขึ้นเป็นชิ้นงานได้  แต่ทั่งนี้ทั้งนั้น โรสน่าจะมีบทบาทอยู่ไม่น้อยในงานเขียนของลอร่า  เพราะเธอมีประสบการณ์การเขียนงานเป็นอาชีพมาก่อน  เธอน่าจะมีข้อแนะนำเทคนิคการเขียนหีือช่วยปรับปรุงงานเขียนของลอร่า  ตลอดจนหาลู่ทางในการตีพิมพ์  ในขณะเดียวกันโรสก็ได้ทราบข้อมูลจากลอร่ามาเป็นวัตถุดิบสำหรับงานเขียนของเธอ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 27 ม.ค. 14, 18:26

ทัศนะในเชิงลบที่แคโรไลน์มีต่ออินเดียนแดง เกิดจากอารมณ์อย่างเดียวคือความกลัว    ไม่ได้เกิดจากการแบ่งชาติแบ่งผิวอะไรทำนองนั้น    เพราะเมื่อไปตั้งหลักแหล่งในรัฐแคนซัส  อินเดียนแดงที่มาที่บ้านทุกคนมาอย่างโจร ข่มขู่เอาอาหารการกินและฉกฉวยของใช้เท่าที่จะเห็นในสายตาไปยึดครองเอาดื้อๆ   
ตอนนั้นแคโรไลน์ยังอยู่ในวัยสาว มีลูกเล็กๆไม่ประสีประสา   สามีก็เป็นผู้ชายตัวคนเดียว  กลางวันออกไปล่าสัตว์ ทิ้งภรรยาไว้ที่บ้าน  ถ้าหากว่าเธอถูกทำร้ายก็จะไม่มีใครช่วยเหลือได้       หรือแม้แต่สามีอยู่บ้านก็ไม่แน่ว่าจะช่วยเหลือได้อยู่ดี   
 
สมัยนั้นความสัมพันธ์ระหว่างคนขาวกับอินเดียนแดงนับว่าเลวร้ายค่ะ    มีหลายครั้งอินเดียนแดงโจมตีคนขาวที่บุกรุกเข้าไปในถิ่นของเขา ฆ่าไม่มีเหลือ    ทหารผิวขาวก็ตอบโต้ด้วยการไปฆ่าอินเดียนแดงทั้งผู้หญิงและเด็กไม่เหลือเหมือนกัน   ตัวอย่างที่เห็นชัดคือการประหัตประหารครั้งใหญ่ที่มินเนโซตา  ที่ลอร่าเอ่ยไว้ในตอน Little House on the Prairie   เมื่อมิสซิสสก๊อตเพื่อนบ้านมาเยี่ยมแม่

ดิฉันเองอ่านถึงตอนนี้แล้วก็ยังสงสารแคโรไลน์  เพราะชาร์ลส์สามีเธอนับว่าใจถึงเอาการ  กล้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในแดนเถื่อนขนาดนั้น  เชื่อมั่นว่าอินเดียนแดงไม่กล้าทำร้ายพวกเขาเพราะกลัวทหารที่ฟอร์ทน็อกซ์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายไมล์      ก็ยังดีที่อินเดียนแดงพวกนั้นไม่ได้ทำร้ายครอบครัวเล็กๆนี้มากไปกว่าข่มขู่บีบบังคับเอาของกินเอาใช้เท่าที่จะทำได้     ถ้าเป็นสมัยนี้ที่คดีโหดๆเกิดขึ้นง่าย    น่ากลัวจะถูกฆ่ากันเรียบวุธทั้งครอบครัวแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 27 ม.ค. 14, 18:29

ขอบคุณคุณ Kulapha ค่ะ  งานเขียนชิ้นนี้ดิฉันไม่เคยอ่านมาก่อน

นอกจากหลายตอนที่แคโรไลน์แสดงท่าทางค่อนไปในเชิงลบต่อชาวอินเดียนแดง  เหมือนกับว่าเธอก็มองสตรีต่างชาติในเชิงแบ่งแยกด้วย  (ประโยคคล้ายกับว่าลูกสาวของเธอเป็นผู้หญิงอเมริกัน  ไม่ควรออกไปทำงานนอกบ้านเหมือนผู้หญิงต่างชาติ  ประมาณนี้ค่ะ  จำไม่ได้ว่าเล่มไหน)
อยู่ในตอน The Long Winter ค่ะ
แคโรไลน์ถือธรรมเนียมว่า ที่ทางของผู้หญิงอเมริกันคืออยู่ในบ้าน   ผู้หญิงต่างชาติเท่านั้นที่ทำงานกลางแจ้ง     สมัยนั้นอเมริกาก็เป็นอย่างนี้จริงๆ   การแต่งงานเหมือนเป็นอาชีพอย่างหนึ่งที่พอแต่งแล้วก็ต้องอยู่แต่ในบ้าน   หรืออย่างน้อยก็คือทำงานอยู่ในที่มีหลังคาคุ้มหัว เช่นไปเย็บผ้า หรือเป็นแม่ครัว      อาชีพครูก็เป็นไม่ได้ เพราะครูที่ไปสอนต่างถิ่นจะต้องไปอาศัยนอนตามบ้านพ่อแม่นักเรียนในหมู่บ้าน  ไม่เหมาะกับสตรีที่สมรสแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 27 ม.ค. 14, 18:42

ดิฉันไม่แน่ใจว่าหนังสือ Let the Hurricane Roars - ไม่ระย่อมรสุม ของโรส  กับหนังสือชุดบ้านเล็ก  เล่มใดตีพิมพ์ก่อนกันเพราะทราบว่าตีพิมพ์ในปี คศ. 1932  ไล่เลี่ยกัน  อันที่จริงเคยมีข้อสงสัยกันด้วยว่าแท้จริงแล้วงานเขียนชุดบ้านเล็กนี้เป็นผลงานเขียนของลอร่า  หรือเป็นโรสนำข้อมูลจากลอร่ามาช่วยเขียนขึ้น (นักเขียนเงา)  เพราะโรสเองก็มีอาชีพทางด้านการขีดเขียนมาตั้งแต่แรก  ในความคิดของดิฉันเองค่อนข้างจะให้เครดิตทางลอร่า  ลอร่าเองดูจากพิ้นฐานการศึกษาดิฉันคิดว่าเธอก็น่าจะมีความสามารถทางการเขียนอยู่บ้างแล้ว  และข้อมูลละเอียดมากมายขนาดนี้  น่าจะต้องเป็นเจ้าของเรื่องจึงจะสามารถดึงข้อมูลออกมาเรียบเรียงขึ้นเป็นชิ้นงานได้  แต่ทั่งนี้ทั้งนั้น โรสน่าจะมีบทบาทอยู่ไม่น้อยในงานเขียนของลอร่า  เพราะเธอมีประสบการณ์การเขียนงานเป็นอาชีพมาก่อน  เธอน่าจะมีข้อแนะนำเทคนิคการเขียนหีือช่วยปรับปรุงงานเขียนของลอร่า  ตลอดจนหาลู่ทางในการตีพิมพ์  ในขณะเดียวกันโรสก็ได้ทราบข้อมูลจากลอร่ามาเป็นวัตถุดิบสำหรับงานเขียนของเธอ
จำได้ว่า" บ้านเล็ก" เขียนขึ้นก่อน แต่อยากหาหลักฐานยืนยันเพิ่มก็เลยไปค้นในเน็ต  พบว่าเมื่อนิยายของโรสตีพิมพ์ออกมา   ลอร่ากำลังเขียนตอน Farmer Boy อันเป็นตอนสองของนิยายชุดบ้านเล็ก ค่ะ
มีนักวิชาการบางคนเชื่อว่าโรสเป็นนักเขียนเงาให้แม่   เพราะเธอเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จมาหลายปีแล้วเมื่อแม่เริ่มลงมือเขียน   แต่ดิฉันไม่เชื่อเช่นนั้น   ทั้งสองคนแม่ลูกมีลีลาการแต่งที่แตกต่างกันมาก     โรสเขียนในแนว realistic มากกว่าแม่  นิยาย Let the Hurricane Roar  ให้คำบรรยายชีวิตที่โหดร้ายลำเค็ญจากภัยธรรมชาติในแนวสมจริงมาก   อ่านแล้วกดดันจนไม่อยากอ่านซ้ำ       หรือแม้แต่บันทึกของเธอในเรื่อง On the Way Home ก็เช่นกัน   เห็นได้ว่าโรสมองชีวิตคนละแบบกับลอร่า   คนละนิสัยกันเลยทีเดียว

นิยายชุดบ้านเล็กทั้งแปดเรื่องถูกนำเสนอให้เห็นความสุขในครอบครัว ไม่ว่าสภาพแวดล้อมเลวร้ายขนาดไหน    แต่โรสมองชีวิตของตายายและแม่แบบเฉยๆ กว่านั้น  แม้ว่ารักพ่อแม่ ตายายป้าและน้า แต่ก็ขาดความซาบซึ้งอย่างลอร่ามีให้พ่อแม่และพี่น้องของเธอ     เพราะโรสไม่ได้ใกล้ชิดครอบครัวฝ่ายแม่นานนัก  เธอไปอยู่บ้านตายายประมาณ 3 ปีก่อนไปมิสซูรี่เมื่ออายุ 8 ขวบ  แล้วไม่เคยกลับมาอีกเลย
แต่โรสมีบทบาทในการตรวจ และอ่านงานเขียนของแม่  ข้อนี้เห็นด้วย  เธอสามารถบอกได้ว่าควรเพิ่มรายละเอียดตรงไหน หรือเว้นอะไร    จนออกมาเป็นงานที่งดงามประณีต  งานที่โรสไม่ได้แตะอย่าง The First Four Years  เพราะแม่เก็บไว้ไม่เอาออกมา   เป็นสไตล์ของลอร่าแต่ว่าเขียนอย่างคร่าวๆ  ขาดรายละเอียดที่สวยงามอย่างเรื่องก่อนหน้านี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 20 คำสั่ง