เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9
  พิมพ์  
อ่าน: 46913 ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 16 ม.ค. 14, 21:11

เข้าใจว่า ทุกคนอยากจะชดเชยให้แมรี่
อยากจะให้แมรี่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดทดแทนการสูญเสียดวงตาไป

อีกทั้งออแกน เป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงเพลงความสุขรวมทั้งเพลงที่เกี่ยวกับศาสนา
ซึ่งเป็นเครื่องมือยึดเหนี่ยวความอบอุ่นของครอบครัวเข้าด้วยกันไม่ว่าในทุ่งกว้างหรือเมืองเล็ก

ลอราเองก็คิดเสมอว่า ตัวเองมีโอกาสที่ดีกว่าแมรี่
การเสียสละเพียงแค่นี้ เป็นเรื่องเล็กน้อยมากสำหรับเธอ
สมัยเด็กๆ  ลอรายังเคยอิจฉาแมรี่หลายๆด้านเช่นกัน
แต่ถึงตอนนี้  เธอรู้ว่าต้องมีหน้าที่ปกป้องและเป็นหูเป็นตาให้กับพี่สาว ยิงฟันยิ้ม

ตอนนี้กำลังซุ่มพิมพ์บทความของคุณสันติ นามธรรมอยู่นะคะ
รอสักพัก จะนำมาลงต่อเนื่องค่ะ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 16 ม.ค. 14, 21:18

ดิฉันก็มองเห็นเหตุผลอย่างคุณค่ะ   พ่อแม่และน้องๆรักแมรี่จริงๆ เป็นรักแท้ที่ประกอบด้วยความเห็นอกเห็นใจและเสียสละ ยากจะหาใครเทียบ
แต่ที่ท้วง  เพราะอดรู้สึกไม่ได้ว่าถ้าพ่อไม่เอาเงินจากลอร่าไปทั้งหมด 40 เหรียญ  เอาสักครึ่งเดียวก็น่าจะดีกว่า   เด็กเพิ่งทำงานด้วยความยากลำบาก เสี่ยงสารพัด  ได้เงินเป็นกอบเป็นกำครั้งแรก  พ่อเอาไปโม้ด


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 17 ม.ค. 14, 09:20

     จากความสนิทสนมที่เริ่มก่อตัวขึ้นระหว่างแอลแมนโซและลอร่า เมื่อออกไปนั่งรถม้าเล่นด้วยกันทุกวันอาทิตย์ ทำให้ลอร่าได้รู้ประวัติของครอบครัวเขา  แอลแมนโซมาจากครอบครัวเจ้าของนาเช่นกัน    เป็นลูกคนที่ห้าในจำนวนพี่น้องหกคน     ตอนเด็กๆเขาอยู่ในเมืองมาโลน รัฐนิวยอร์ค  พ่อทำฟาร์มที่นั่นได้ผลดี   อยู่กันอย่างสุขสมบูรณ์  แต่พออายุ 18 พืชผลที่เมืองมาโลนเกิดไม่ได้ผล พ่อแม่ก็เลยย้ายมาที่เมืองสปริงแวลลีย์ในรัฐมินเนโซตา    ลูก3 คนอยู่กับพ่อแม่ แต่ลูกที่โตๆแล้วอีก 3 คนมาบุกเบิกจับจองที่ดินในรัฐดาโกต้าใต้   ที่นี่แอลแมนโซจับจองที่ดินไว้ถึง 320 เอเคอร์  สองเท่าของพ่อลอร่า    เขามีม้ามอร์แกนคู่สวยที่นำมาจากบ้าน   ลอร่าชอบม้ามาก   เธอทำได้แม้แต่ช่วยแอลแมนโซขับม้าพยษ    ทั้งคู่จึงเข้ากันได้ดีเพราะมีความสนใจสอดคล้องต้องกัน
   แอลแมนโซกับลอร่าเห็นตรงกันอีกอย่างคือต่างคนต่างไม่ชอบชื่อของอีกฝ่ายหนึ่ง  ชื่อของแอลแมนโซมาจากภาษาอาหรับ   คนในตระกูลไวล์เดอร์อพยพมาจากอังกฤษ ย้อนหลังไปถึงยุคกลาง   เมื่อบรรพบุรุษในตระกูลนี้ไปสงครามครูเสด   แล้วมีชาวอาหรับชื่อ อัล มันซูร์  ช่วยชีวิตเขาไว้    เขาจึงรำลึกถึงด้วยการให้ลูกหลานแต่ละชั่วคนตั้งชื่อนี้อยู่คนหนึ่งเสมอไป นานๆเข้าก็เพี้ยนเป็นแอลแมนโซ
    พี่ๆเรียกแอลแมนโซว่าแมนนี่   ส่วนลอร่าไม่ชอบทั้งชื่อแอลแมนโซและแมนนี่   เธอจึงเรียกเขาเสียใหม่ว่า "แมนลี่"
    ส่วนชื่อลอร่าไปตรงกับชื่อพี่สาวคนโตของแอลแมนโซ เขาเองก็ไม่ชอบชื่อนี้  เมื่อรู้ว่าชื่อกลางของลอร่าคือเอลิซาเบธ เขาก็ตั้งชื่อเธอเสียใหม่ว่า "เบสซี่"    ต่อมาโรสลูกสาวลอร่าเรียกแม่ว่า "มาม่า เบส"   ชื่อลอร่า อิงกัลส์ ไวล์เดอร์เป็นนามปากกาอย่างเป็นทางการของเธอเท่านั้น

   ครอบครัวพ่อแม่พี่น้องของแอลแมนโซ ไวล์เดอร์ ค่ะ  แอลแมนโซคือเด็กชายคนที่สองจากซ้าย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 18 ม.ค. 14, 09:04

หลังจากดูใจกันอยู่ 3 ปี ลอร่าก็เข้าสู่พิธีแต่งงานกับแอลแมนโซ    เมื่อเธออายุ 18 และเขา 28  เจ้าบ่าวแก่กว่าเจ้าสาว 10 ปี  แต่เมื่อลอร่าเขียนนิยายชุดบ้านเล็กมาถึงตอน These Happy Golden Years   เธอลดอายุแอลแมนโซลงไปครึ่งหนึ่ง    เพราะไม่อยากให้แฟนหนังสือรุ่นเยาว์ในยุคหลังคิดว่าแอลแมนโซเป็น 'ตาแก่อยากมีเมียสาว'   
ค่านิยมในสมัยนั้นแตกต่างจากยุคนี้  เพราะยุคนี้หนุ่มสาววัยไล่เลี่ยกันจึงจะคบเป็นแฟนกัน  แต่ในสมัยลอร่าเป็นสาว  ผู้ชายในเดอสเม็ตมักจะอายุมากกว่าภรรยาหลายปี    ผู้หญิงสมัยนั้นบางคนก็แต่งงานตั้งแต่อายุน้อยๆ ไม่ถึง 15 ปีด้วยซ้ำไป   พ่อแม่ก็โล่งใจที่ลูกสาวเป็นฝั่งเป็นฝาไปเสียได้     อายุ 18 สำหรับลอร่า ถือว่าเป็นสาวเต็มตัวเท่ากับ 28 ในสมัยนี้

ลอร่ากับแอลแมนโซไม่มีพิธีแต่งงานอย่างที่เราเห็นกันในหนัง  ไม่มีชุดวิวาห์สีขาว หรือเข้าโบสถ์พร้อมด้วยแขกเหรื่อมาเป็นสักขีพยาน  เธอสวมชุดใหม่สีดำที่เพิ่งเย็บเสร็จ     ทำพิธีง่ายๆเสร็จในเวลาไม่กี่นาทีที่บ้านของนักเทศน์  จากนั้นก็อำลาพ่อแม่และน้องๆไปอยู่ในบ้านเล็กในที่ดินจับจองของแอลแมนโซ   เริ่มชีวิตใหม่กันในหนังสือตอนที่ชื่อว่า The First Four Years


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 18 ม.ค. 14, 09:18

นิยายชุด "บ้านเล็ก" เดิมจบลงแค่ตอน These Happy Golden Years  ซึ่งเล่าถึงชีวิตการทำงาน  ความรักและการแต่งงานของลอร่า     ผู้เขียนจบตอนท้ายลงอย่างเป็นสุขเมื่อลอร่านั่งอยู่ที่บ้านใหม่ของเธอ ส่งความคิดถึงถึงพ่อแม่และน้องๆ  โดยมีเสียงซอในความทรงจำสะท้อนมาเป็นเพลง
ส่วน The First Four Years  เป็นต้นฉบับร่างที่มาพบกันเมื่อลอร่าถึงแก่กรรมไปแล้ว     สันนิษฐานว่าเธอเขียนร่างไว้ แต่ยังไม่ทันเอามาแก้ไขให้สมบูรณ์ แอลแมนโซก็ถึงแก่กรรม     ลอร่าจึงไม่มีกะจิตกะใจจะเขียนตอนใหม่  ทิ้งเอาไว้อย่างนั้นจนเธอถึงแก่กรรมไปในที่สุด    แต่เมื่อผู้พิมพ์มาพบเข้าก็ตัดสินใจตีพิมพ์ไปโดยมิได้แก้ไขอย่างใด

    หนังสือเล่มนี้เล่าถึงชีวิตสี่ปีแรกในชีวิตแต่งงานของลอร่า      แอลแมนโซกับเธอเริ่มต้นชีวิตด้วยความหวังถึงอนาคตที่ดี อย่างหนุ่มสาวผู้เริ่มต้นชีวิตใหม่ทั้งหลาย     แต่ชีวิตก็ไม่มีอะไรสวยงามสำหรับชาวไร่ชาวนาในรัฐดาโกต้าใต้      แอลแมนโซพบว่าการเป็นชาวไร่-ไม่ใช่แค่จับจองที่ดินเอาไว้เฉยๆ  เป็นชีวิตที่หนักทั้งแรงงานและการลงทุน    เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆราคาแพง   เขาต้องเลี้ยงม้าเพื่อทำงานในไร่  แต่ม้าก็ต้องกิน ต้องมีที่อยู่     เมื่อถึงหน้าเก็บเกี่ยวก็ต้องจ้างลูกมือ   ทั้งหมดทำให้เขาต้องเป็นหนี้เป็นสินอย่างเลี่ยงไม่ได้  แม้แต่บ้านหลังเล็กๆที่ปลูกอยู่ก็ต้องผ่อนชำระค่าปลูกสร้าง
    ทั้งหมดนี้เงินทั้งนั้น  ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินแบกกันเพียบ ไม่น้อยกว่าเกษตรกรไทย


บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 18 ม.ค. 14, 20:48

อาจารย์เทาชมพู ค่อยๆปิดฉากชุดบ้านเล็กแล้ว
ไม่ทราบว่ายังมีบทส่งท้ายอีกเยอะมั้ยคะ


เลยขอเกริ่นนำบทวิจารณ์บ้านเล็ก ของ คุณสันติ นามธรรม ด้วยภาพนี้ก่อนเลย




เนื้อหาของบทวิจารณ์จะเป็นการกล่าวถึงหนังสือแต่ละเล่ม
แต่ดิฉันจะเรียงพิมพ์ใหม่ด้วยการนำประเด็นขึ้นมาแทน
ตัวอักษร ชื่อตัวละคร ปี ค.ศ. ยังเคารพต้นฉบับเดิมค่ะ

ฝากขอบพระคุณคุณสันติ นามธรรม มา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 18 ม.ค. 14, 21:03

เป็นจังหวะที่เหมาะจะลงบทความของคุณสันติแล้วค่ะ  ขอเชิญเลยค่ะ

ชีวิตจริงของลอร่ามีอีกช่วงยาวๆที่ไม่มีในหนังสือ   เพื่อที่คุณ kulapha จะได้เรียบเรียงลงตามสบาย จบเมื่อไหร่เมื่อนั้น   ไม่ต้องห่วงว่าดิฉันรออยู่
ดิฉันจะไปเปิดกระทู้ใหม่เล่าถึงช่วงชีวิตหลังจากหนังสือจบแล้วค่ะ  เป็นคนละตอนกับกระทู้นี้ แบ่งให้เห็นชัดๆกันค่ะ
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 18 ม.ค. 14, 21:24

ขอบรรเลงเลยนะคะ ยิ้มกว้างๆ

ตะวันตกที่ปรากฏในดวงตา

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผู้คนระลอกแล้วระลอกเล่า
อพยพหลั่งไหลสู่ดินแดนทางตะวันตกอันกว้างใหญ่และรกร้างว่างเปล่า
ชายแดน (frontiers) หรือดินแดนตะวันตกคือดินแดนแห่งความหวัง
ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ที่ทุกคนแสวงหา
เพราะที่นั่นที่ดินราคาถูกและโอกาสของชีวิตที่ดีกว่าทางเศรษฐกิจและสังคมรอคอยอยู่

ยิ่งกว่านั้นความลึกลับของตะวันตกยังเย้ายวนต่อการผจญภัยอันน่าตื่นเต้น
เพื่อหลีกหนีชีวิตอันน่าเบื่อหน่ายจากตะวันออกไปสู่เสรีภาพ ความเป็นอิสระ
และการพิสูจน์ตนเองในโลกกว้าง

นักบุกเบิกรุ่นแรกๆนับแต่นักค้าขนสัตว์ (Fur traders)
นักปศุสัตว์(Cattlemen) คนทำเหมือง (Miners) จนถึงชาวนานักบุกเบิก (Pioneer Farmers)
ชาวนาที่ตั้งรกราก (Equipped Farmers) คนสร้างเมือง (Town Planters)
นักล่าที่ดิน (Land speculators) และอื่นๆต่างมุ่งสู่ดินแดนอิสระอันกว้างใหญ่
ด้วยการมองเห็น  “ตะวันตกปรากฏในดวงตา”

นักบุกเบิกดินแดนตะวันตกสมัยนั้นแบ่งออกเป็น  2 กลุ่มใหญ่

กลุ่มแรก คือพวกที่เข้ามาตักตวงหาความมั่งคั่งแต่ไม่ได้ตั้งรกรากอย่างถาวร
พวกนี้กระจัดกระจายอยู่ทุกๆส่วนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่ป่าเถื่อน
สำรวจเส้นทาง  ทำลายรากฐานความมั่นคงของอินเดียน
ตลอดจนโฆษณาชักชวนผู้คนให้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนตะวันตก

นักบุกเบิกรุ่นแรกนี้คือ นักล่าขนสัตว์ นักสำรวจ มิชชั่นนารี คนทำเหมืองและนักเลี้ยงปศุสัตว์

กลุ่มที่สอง คือพวกที่เข้าตั้งรกรากอย่างถาวรและใช้ประโยชน์จากผืนดินเต็มที่
พร้อมกับเปลี่ยนดินแดนตะวันตกให้เป็นชุมชน  เมือง  นคร ตามลำดับ
กลุ่มดังกล่าวนี้ได้แก่ชาวนา พวกสร้างเมือง พ่อค้า นักล่าที่ดินและอื่นๆ

ครอบครัวของชาร์ลส์ อิงกัลส์ส์ รวมอยู่ในกลุ่มหลัง
และเป็นนักบุกเบิกผู้มีภาระต้องเอาชนะธรรมชาติในดินแดนตะวันตก ดัดแปลงและเข้ายึดกุม
มิใช่พยายามปรับตัวตามสภาพแวดล้อมดั้งเดิมเหมือนกลุ่มแรก
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 18 ม.ค. 14, 21:33

บ้านเล็กในป่าใหญ่ :  บันทึกก่อนกาลบนหยาดเหงื่อ ความรัก ความทรงจำของพ่อกับแม่

สำหรับลอรา  อิงกัลล์ส  ไวล์เดอร์
ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นในบ้านเล็กที่ทำด้วยไม้ซุงทั้งต้นในป่าใหญ่ของมลรัฐวิสคอนซิน
ฤดูหนาวที่หิมะตกอยู่เรื่อยๆตลอดคืนอันยาวนานจนกระจกหน้าต่างมีน้ำค้างแข็งจับเต็มในตอนเช้า
ดูเป็นรูปต้นไม้  ดอกไม้  และเทพธิดานางฟ้ามากมายหลายอย่าง

ส่วนฤดูใบไม้ผลิเล่าก็มีนกร้องเพลงอยู่ในพุ่มต้นเฮเซิล
หญ้าที่ขึ้นเขียวและดอกไม้ป่าหลากหลายที่บานไสวเต็มไปทั้งป่า
เสียงขวานของพ่อในป่าใหญ่และเสียงเห่าของเจ้าแจ็คได้ยินแว่วมาเป็นระยะ
ฤดูร้อนที่เร่งรีบเต็มไปด้วยการเยี่ยมเยือนไปมาหาสู่
และตามมาด้วยฤดูใบไม้ร่วงอันสนุกสนาน
ที่ลอราจะกระโดดโลดเต้นคุยจ้อเหมือนนกกระจอกตั้งแต่เช้าจรดกลางคืน
ทั้งหมดคือความทรงจำที่แสนหวานและวัยเด็กที่แสนสุข

แต่สำหรับพ่อกับแม่ ป่าใหญ่ของมลรัฐวิสคอนซินคือชีวิตคู่ทั้งเริ่มต้น
และเป็นเสมือนจุดพักสำหรับการเดินทางอันยาวนานไปสู่ดินแดนตะวันตก
เหตุการณ์ทั้งหมดผันผ่านมานานนักหนา แต่ลอราคิดว่าจะไม่มีใครลืมเลือนสิ่งเหล่านี้ได้

“เมื่อฉันเริ่มเขียนหนังสือสำหรับเด็ก ในความคิดของฉันมีอยู่เรื่องเดียว..”ครั้งหนึ่งลอรากล่าว
“นับเป็นปีๆที่ฉันคิดว่าเรื่องราวที่พ่อเคยเล่าควรจะถูกเล่าต่อไปยังเด็กคนอื่นๆ
ฉันรู้สึกว่าเรื่องเหล่านั้นทั้งหมดมันดีมาก..มากจนไม่อยากให้สูญหาย
ฉะนั้นฉันจึงเขียน บ้านเล็กในป่าใหญ่ (ค.ศ. ๑๙๓๑)
หนังสือเล่มนี้เป็นแรงงานและหยาดเหงื่อจากความรักและความทรงจำจริงๆสำหรับพ่อ...”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของหนังสือชุด บ้านเล็กในป่าใหญ่ และตามด้วย เด็กชายชาวนา (ค.ศ. ๑๙๓๒)
บ้านเล็กในทุ่งกว้าง (ค.ศ. ๑๙๓๕) บ้านเล็กริมห้วย (ค.ศ. ๑๙๓๗) 
ริมทะเลสาบสีเงิน (ค.ศ. ๑๙๓๙) ฤดูหนาวอันแสนนาน (ค.ศ. ๑๙๔๑) และปีทองอันแสนสุข (ค.ศ. ๑๙๔๓ )

ผู้อ่านส่วนมาก เข้าใจว่าเรื่องราวตั้งแต่บทแรกจนถึงบทสุดท้ายของหนังสือชุด “บ้านเล็ก”   
๒ เล่มแรกมาจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรงกับลอรา
แต่ในความเป็นจริง มันคือเรื่องราวของพ่อกับแม่ (ชาร์ลส์กับแคโรไลน์)และพี่น้องตระกูลอิงกัลล์ส์คนอื่นๆ

ปีในป่าใหญ่นั้น ลอราเพิ่งเกิด (ค.ศ.๑๘๖๗) และเมื่อครอบครัวอพยพไปอยู่มิสซูรี่
พร้อมกับตั้งรกรากในทุ่งกว้างของแคนซัส  ลอรามีอายุประมาณปีเศษ
เธอยังเล็กและจำอะไรไม่ค่อยได้  เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ที่ตั้งของบ้านเล็กในทุ่งกว้างอยู่ตรงไหนแน่
ในหนังสือลอรากล่าวว่าอยู่ห่างจากเมืองอินดีเพนเด้นซ์ราว ๔๐ ไมล์
และตั้งอยู่โดดเดี่ยวห่างไกลจากเพื่อนบ้าน
ข้อมูลดังกล่าวเธอได้มาเมื่อโตขึ้นและตอนเริ่มต้นเขียนหนังสือ
จริงๆแล้ว บ้านเล็กอยู่ห่างจากอินดีเพนเด้นซ์เพียง ๑๓ ไมล์เท่านั้น

และแม้จะอยู่ในทุ่งกว้างแต่ก็ไม่สันโดษจนเกินไป
เพราะผู้คนอพยพเข้ามามากในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. ๑๘๖๙
และบ้านเล็กถูกล้อมรอบด้วยเพื่อนบ้านที่อยู่ห่างออกไป
ด้วยระยะทางประมาณหนึ่งถึงครึ่งไมล์หรือน้อยกว่านั้น

เนื้อหาของหนังสือชุด บ้านเล็ก ตอนต้นๆทั้งหมดได้มาจากการบอกเล่าของพ่อกับแม่
แต่ลอราได้นำมาผูกเป็นเรื่องโดยให้ตัวเธอเองมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง
หนังสือชุดนี้จึงมีลักษณะเป็นดุจเรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอจริงๆ

ป่าใหญ่ของวิสคอนซินคือจุดพักสำหรับการเดินทางที่ยาวนานไปยังตะวันตกของพ่อกับแม่
แต่สำหรับลอรา โลกของเธอคือป่าใหญ่
ในบ้านเล็กที่เธอนอนบนตักแม่และซุกกับบ่าที่แข็งแรงของพ่อ
ปีในป่าใหญ่คือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง
ฤดูหนาวที่หิมะตกตลอดคืนจนบ้านไม้ซุงจมอยู่ในกองหิมะ
ฤดูใบไม้ผลิที่เต็มด้วยดอกไม้ป่า เสียงนก
และตามด้วยฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ทุกอย่างดูไม่มีสิ้นสุด
ลอรามีเวลาของชีวิตทั้งชีวิตรออยู่เบื้องหน้า

บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 19 ม.ค. 14, 13:10


เพิ่งย่อรูปได้ค่ะ เลยเอารูปในบทความมาเพิ่ม




ภาพเบื้องบนนี้ ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวกับครอบครัวของลอราหรือไม่  เพราะมีตัวละครเพิ่มขึ้น ไม่รู้จักหลายหน้าตาค่ะ
หรือเป็นภาพเขียนประวัติศาสตร์ยุค พิชิตตะวันตก ทำนองนั้นเพื่อเอามาเสริมให้เข้ากับเนื้อหาบทความ

แต่ภาพเบื้องล่างนี้ใช่แน่ๆค่ะ บางภาพอาจจะซ้ำกับของอาจารย์เทาชมพู คงไม่เป็นไรนะคะ

บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 19 ม.ค. 14, 13:22





ภูมิใจที่ได้เป็นเด็กชายชาวนา

เด็กชายชาวนา (ค.ศ. ๑๙๓๒) คืองานเขียนเล่มถัดมา
และเนื้อหาส่วนใหญ่คือชีวิตวัยเด็กของแอลแมนโซ  ไวล์เดอร์ ในภาคเหนือของรัฐนิวยอร์ค 
ลอราซึ่งเป็นผู้เขียนทำได้ไม่ดีนักสำหรับการปูพื้นความเป็นมาของแอลแมนโซให้กับผู้อ่าน
เพราะหนังสือจบในลักษณะห้วนไม่สมบูรณ์ในตัว

ไวล์เดอร์อายุประมาณ 11 ปี เมื่อหนังสือจบ และผู้อ่านจะพบกับเขาอีกเมื่ออายุประมาณ ๒๐ ปีในหนังสือเล่มหลังๆ
ช่วงเวลาที่หายไปนั้น เราไม่มีโอกาสทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับแอลแมนโซและครอบครัวชาวนาของเขา
และด้วยเหตุใดเขาจึงอพยพเข้ามาในรัฐเซ้าท์ดาโกต้าและตั้งรกรากอยู่ทางตอนเหนือของเมืองที่ครอบครัวลอราอยู่
เรื่องของแอลแมนโซในช่วงหลังยกเว้นใน  ปีทองอันแสนสุข มักจะปรากฏสั้นๆ
ไม่ได้ขยายความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเขาให้ชัดเจนเท่าใดนัก
บางทีอาจเป็นเพราะลอราไม่รู้เรื่องราวอะไรมากนักเกี่ยวกับแอลแมนโซ
และหนังสือชุดนี้เป็นอัตชีวประวัติของเธอเองโดยเฉพาะ

กระนั้นก็ตาม นับว่าลอราให้ภาพการทำงานและชีวิตชาวนาได้เป็นอย่างดี

พ่อของแอลแมนโซเองภาคภูมิใจในความเป็นชาวนาและถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ต่างๆให้กับลูก
จึงไม่น่าแปลกใจนักที่แอลแมนโซเองต้องการเป็นชาวนาและรักอาชีพนี้มากกว่าสิ่งอื่นใด

“..ดินแดนที่เป็นของปู่ย่าตาทวดของเรานั้นมีเพียงดินแดนแคบๆยาวๆคือตรงนี้
ระหว่างภูเขาใหญ่ไปจรดมหาสมุทรเท่านั้น
จากที่นี่ไปทางตะวันตกนั่นเป็นดินแดนของพวกอินเดียนแดงบ้าง ของสเปนบ้าง ของฝรั่งเศสบ้าง ของอังกฤษบ้าง
ชาวนาเรานี่แหละที่ท่องเที่ยวบุกบั่นไป ข้ามป่าเขาหักร้างถางพง
แล้วก็ตั้งบ้านเรือนขึ้นทำไร่นา แล้วก็ตั้งรกรากหลักฐานติดอยู่กับที่นาของเรา
เราเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว และชาวนาเรานี่แหละที่ยึดครองดินแดนเหล่านี้
และทำให้มันเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้น จำไว้นะลูก อย่าได้ลืม...(เด็กชายชาวนา หน้า ๒๑๖-๘)

ผิดกับพ่อและแม่ของลอรา พ่อแม่ของแอลแมนโซเป็นชาวนาหัวเก่าที่ต้อต้านชีวิตแบบชาวเมือง
ทั้งไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและไม่อาจปรับตัวเข้ากับสภาพใหม่ที่เกิดขึ้นรอบตัว

“นั่นมันเรื่องของคนขี้เกียจ...”พ่อให้ทัศนะต่อการเช่าเครื่องจักรมานวดข้าว
“รีบร้อนให้เสร็จเร็ว มันเปลืองของ
แค่คนขี้เกียจอยากจะให้งานเสร็จเสียเร็วๆโดยที่ตัวเองไม่ต้องทำ
ไอ้เครี่องจักรนั่นมันเคี้ยวฟางจนป่น เอามาเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ได้
ข้าวเปลือกก็กระจัดกระจายตกเรี่ยเสียหายมาก
มันดีอย่างเดียวที่ไม่เปลืองเวลามากเท่านั้นแหละลูก
แต่มันจะมีประโยชน์อะไรเล่า ถ้ามีเวลาเหลือแล้วเราไม่มีอะไรจะทำ “ (เด็กชายชาวนา หน้า ๓๕๖)

มีชาวนาอีกไม่น้อยที่คิดแบบเดียวกัน
พวกเขาไม่เข้าใจถึงรากฐานเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงและโครงสร้างสังคมรูปใหม่ที่ถูกกำหนดขึ้น
ตลอดจนการก้าวรุดไปข้างหน้าของเวลา
พวกเขามองไม่เห็นและไม่เข้าใจว่า
ต้นตอความทุกข์ยาก ความหายนะของกสิกรในทศวรรษ ๑๘๗๐ ถึง ๑๘๙๐ นั้นมาจากไหน
การต้อสู้แก้ไขจึงไร้ทิศทาง ไม่มีเป้าหมาย และในที่สุดระบบใหม่ที่เกิดขึ้นก็ได้กลืนทำลายชาวนาลงทั้งหมด

สภาวะบีบคั้นทางตะวันออก (สภาพบ้านเมืองที่แออัด ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การแก่งแย่งงาน ฯลฯ)
เส้นทางสู่ตะวันตกที่สะดวกและมีมากขึ้น และเสน่ห์ของผืนดินกว้างใหญ่ราคาถูกที่รออยู่เบื้องหน้า
คือสามปัจจัยหลักที่ผลักดันผู้คนมุ่งหน้าสู่ตะวันตก
เพราะหวังในชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 19 ม.ค. 14, 13:29



อินเดียนแดงที่ดี คืออินเดียนแดงที่ตายแล้ว


อินเดียนแดงคือเจ้าของทุ่งกว้างและดินแดนอันไพศาลทางตะวันตก
แต่นักบุกเบิกไม่ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว
พวกเขาถือว่า อินเดียนแดงคือมารร้ายและอุปสรรคการขยายตัวไปชายแดน
สนธิสัญญาหรือข้อตกลงที่รัฐบาลกลางทำกับอินเดียนแดงในการแบ่งดินแดนทางตะวันตก
เป็นหลักการที่ไม่อาจยอมรับได้

“ชาวคริสเตียน”จะปล่อยดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ให้ตกอยู่ในกำมือของคนป่าเถื่อนได้อย่างไร
ความขัดแย้งระหว่างคนขาวและคนอินเดียนแดงจุดชนวนสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า
และดินแดนตะวันตกก็คือที่มาของตำนานนิยายอันเลื่องชื่อของการกดขี่เอาเปรียบที่ชนชาติหนึ่งมีต่ออีกชนชาติหนึ่ง

ลอราไม่อาจอธิบายความขัดแย้ง พื้นฐานและปัญหาที่ซับซ้อนซ่อนเร้นระหว่างอารยธรรมความเจริญของ
คนขาวที่ก้าวหน้าทางเทคนิค อาวุธและความกระหายทางเศรษฐกิจ
กับอารยธรรมรวมหมู่ที่เป็นอิสระของอินเดียนแดงได้

แม้จะมีมนุษยธรรมในหัวใจ  แต่การสังกัดในกลุ่มของชาวผิวขาวผู้มุ่งหวังประโยชน์
ก็มีส่วนให้ทัศนะการมองปัญหาของเธอเป็นไปในทำนองคล้ายๆกับที่มิสซิสสก็อตพูดออกมา

“...แผ่นดินย่อมรู้ดีว่า พวกอินเดียนแดงไม่เคยได้ทำผลประโยชน์อะไรเลยกับผืนแผ่นดินนี้
ได้แต่เที่ยวเร่ร่อน พเนจรไปเหมือนสัตว์ป่า
สนธิสัญยงสัญญาอะไรฉันไม่รู้ด้วยละ
แผ่นดินควรจะเป็นของคนที่เขาถากไถทำไร่ทำนาซี
ว่ากันตามเหตุผลและความยุติธรรมมันก็ควรจะเป็นอย่างนี้..”

เธอไม่ทราบว่ารัฐบาลไปทำสนธิสัญญากับพวกอินเดียนแดงทำไม
อินเดียนแดงที่ดีคืออินเดียนแดงที่ตายแล้วเท่านั้น
พอนึกถึงอินเดียนแดงขึ้นมาทีไร เธอรู้สึกว่าเลือดเย็นชาวาบไปทั้งตัว เธอบอกว่า
“ฉันลืมการประหัตประหารครั้งใหญ่ที่มินเนโซต้าไม่ได้เลย
พ่อของฉันและพี่ชายของฉันออกไปพร้อมกับพวกอพยพอื่นๆ
ไปรบและยั้งมันห่างจากที่เราอยู่สัก ๑๕ ไมล์เท่านั้น
ฉันได้ยินพ่อเล่าบ่อยๆว่ามัน.....แม่กระกระแอมเสียงแหลมๆอยู่ในคอและมิสซิสสก็อตก็หยุดเล่า
(บ้านเล็กในทุ่งกว้าง หน้า ๔๓๗)

คงเป็นการยากที่จะลืมการประหัตประหารครั้งนั้น (ค.ศ. ๑๘๖๔)
เพราะการประหัตประหารครั้งนั้นมันเป็นปฎิบัติการที่ป่าเถื่อนนองเลือด
และนำมาซึ่งความด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ของชาวผิวขาวในสหรัฐฯ

กองทหารภายใต้การนำของพันเอกชิวิงตันเข้าล้อมค่ายอินเดียนและบุกโจมตีค่ายอินเดียนแดง ๕๐๐ คนที่หลับสนิทเมื่ออรุณรุ่ง
มันเป็นการล้อมปราบที่โหดเหี้ยมทารุณเพราะแม้แต่เด็กและผู้หญิงที่หลบหนีเข้าไปในถ้ำก็ถูกกระชากลากออกมายิงและแทง
“พวกเขาถูกถากหนังหัว” พยานที่เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งให้การ  “สมองทะลักอออกมาข้างนอก"
"พวกทหารใช้มีดจ้วงแทงผู้หญิง ซวกตีเด็กเล็กๆ ตีที่หัวด้วยด้ามปืนเลย”
กรณีสังหารหมู่ชิวิตัน (The Chivington Massacre)จุดชนวนสงครามหนึ่งตลอดฤดูหนาวระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๖๕-๑๘๖๗



เรื่องราวเกี่ยวกับอินเดียนแดงที่ลอราเล่า
ทำให้ผู้อ่านระลึกได้ว่า บ้านเล็กตั้งอยู่ในดินแดนของพวกอินเดียนแดง
อินเดียนแดงดังกล่าวคือเผ่าโอเสจและอาณาจักรเดิมของเผ่าครอบคลุมตั้งแต่อ่าวเม็กซิโกถึงแม่น้ำมิสซูรี
และจากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้จรดเทือกเขาร้อคกี้
จากสนธิสัญญาข้อตกลงและการหลอกลวงของคนขาว
อาณาจักรอันกว้างใหญ่ของเผ่าโอเสจเริ่มหดแคบลงทีละน้อย

เมื่อกระแสของผู้อพยพทะลักสู่ภาคใต้ของแคนซัสในปี ค.ศ.๑๘๖๙
(ซึ่งมีชาร์ลส์ อิงกัลล์ส รวมอยู่ด้วย)
ดินแดนของเผ่าโอเสจเหลือเพียงส่วนที่เรียกว่า “ดินแดนสงวนที่หดแคบ” (Diminished Reverse)
กระนั้นคนขาวก็ยังรุกล้ำเข้าไปในดินแดนดังกล่าว
และเห็นได้ชัดว่าพวกอินเดียนแดงถูกรุกรานแย่งชิงแผ่นดินที่อาศัย
ค่ายถูกเผาผลาญ ทรัพย์สินถูกยึด สัตว์ป่าหายากลง ฯลฯ
แต่กลับมีฟาร์ม  ทุ่งนา  โบสถ์  ถนน เข้ามาแทนที่
และมีทางเลือกอยู่  ๒  ทางสำหรับชาวอินเดียนแดง คือ หนีหรือสู้

อินเดียนแดงที่เข้ามาในบ้าน  ท้องทุ่งที่ถูกเผา
ซึ่งมิสเตอร์เอ็ดเวิร์ดส์เชื่อว่า เป็นเจตนาของพวกอินเดียนแดงที่จะคลอกฝรั่งให้ตาย
สัตว์เลี้ยงถูกขโมย การประชุมปรึกษาและเสียงโห่ร้องคืนแล้วคืนเล่า  และเหตุการณ์อื่นๆ
อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ของสงครามประสาท (A War of Nervous)ที่อินเดียนแดงต้องการขู่คนขาวให้กลัว
แต่เมื่อล้มเหลว และจากการพิจารณาอย่างรอบคอบของชาวอินเดียนแดง
การอพยพก็เริ่มต้นขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า

วันแล้ววันเล่าที่พวกอินเดียนแดงเดินทางผ่านท้องทุ่งสีทอง มุ่งหน้าไปตะวันตกอย่างไม่ขาดสาย
ลอรารู้ว่าพวกอินเดียนแดงจะไม่กลับมาอีก
“แต่พ่อจ๊ะ หนูคิดว่าที่นี่เป็นที่ทางของพวกอินเดียนแดงเขา  พวกอินเดียนแดงเขาไม่โกรธแย่หรือจ๊ะที่เขาต้อง...”
“ไม่ถามอีกละ ลอรา” พ่อพูดหนักแน่น “นอนเสียเถอะ” (บ้านเล็กในทุ่งกว้าง หน้า ๔๖๓)

หากเราจะถามลอราว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับอินเดียนแดงในดินแดนตะวันตกโน้นอีก
บางทีเธออาจจะไม่ได้ยินหรือหาคำตอบไม่ได้
เพราะประวัติศาสตร์ของชาวอินเดียนแดงหรือคนผิวดำนั่น
คนขาวมักแกล้งทำเป็นลืมหรือพยายามทำให้ถูกลืมไปเสีย

ลอราพูดถึงความ ขัดแย้งของชาวอินเดียนแดงหลายๆเผ่า
โดยตัวเธอเองไม่ทราบรายละเอียดในส่วนนี้เลย
เธอเพียงอาศัยข้อมูลและเรื่องราวที่ได้มาจากพ่อ
ดังนั้น ผู้อ่านจึงอาจสังเกตได้ถึงความคิด ความสงสัย
ที่แย้งกันอยู่ในใจของลอราเกี่ยวกับความรู้ที่เธอมีต่อชาวอินเดียนแดง
แต่เธอมิได้เอาใจใส่กับเรื่องนี้มากนัก

บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 19 ม.ค. 14, 14:11




ชาวอินเดียนแดงอพยพเปิดทางให้อาณาจักรปศุสัตว์และเรื่องราวที่มีสีสันสนุกสนานของพวกคาวบอยเข้ามามีบทบาท
ชายแดนสุดท้ายในที่ราบภาคกลางอันกว้างใหญ่(the Great Plains)กำลังถูกพิชิต

ปี ค.ศ. ๑๘๖๕-๑๘๘๗ คือช่วงสมัยของอาณาจักรปศุสัตว์
วัวพันธุ์เขายาวจากเท็กซัสเป็นราชาของตะวันตก
การต้อนวัวนับหมื่นๆจากทางใต้รอนแรมขึ้นสู่ตลาดค้าเนื้อทางภาคเหนือ
ก่อให้เกิดเรื่องราวโลกโผนผจญภัย “การรอนแรมอันยาวนาน”(The  Long  Drive)

ภาพชีวิตเปล่าเปลี่ยวในท้องทุ่งที่ฝุ่นตลบฟุ้งในขอบฟ้า
เสียงร้องเพลงโหยหวนวังเวงจากค่ายของพวกคาวบอยตอนกลางคืน
ฝูงวัวที่ตื่นเตลิด  การต้อนฝูงวัวกลางแดดกล้าที่เป็นเปลวระยิบ   การขี่ม้าอย่างช่ำชอง
ตลอดทั้งการต่อสู้กับโจรปล้นวัวและความป่าเถื่อนของเมืองโคบาล
เป็นเหตุการณ์ที่ฝังอยู่ในความทรงจำของคนอเมริกันยากที่จะลืมเลือน

แต่ลึกลงไปใต้ภาพสีสันที่สดสวยของพวกโคบาลคือเรื่องราวของชีวิตที่เปล่าเปลี่ยวและแสนเหงา
ตลอดจนการผจญภัยที่ยากลำบาก เมืองโคบาลที่มีร้านขายเหล้าเลวๆราคาถูก
โรงเต้นรำที่เกลื่อนกลาด โสเภณีและอบายมุขนานาชนิด   
ชีวิตที่ป่าเถื่อนกักขฬะอันเป็นขุมทรัพย์ของนักเขียน
และนักสร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ด

วีรบุรุษที่แท้จริงของอาณาจักรปศุสัตว์ หาใช่พวกคาวบอยหรือเจ้าวัวพันธุ์เขายาวไม่
แท้จริงมันคือพวกพ่อค้านายทุนและบริษัทผูกขาดค้าเนื้อสัตว์
บริษัทรถไฟที่ดำเนินการอยู่เบื้องหลังและผลักดันให้เกิดการเอาชนะพรมแดนใหม่นี้
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 19 ม.ค. 14, 14:19





โบสถ์ที่ Walnut Grove มินนิโซต้า

มิชชั่นนารีผู้ประศาสน์ชีวิตศิวิไลซ์ในแดนเถื่อน

มิชชันนารีกับภารกิจ  “การค้นหาดวงวิญญาณ”ก็มีบทบาทไม่น้อยในดินแดนตะวันตก
เพราะสำหรับครอบครัวนักบุกเบิกส่วนใหญ่ โบสถ์มีความหมายมากกว่าที่สวดมนต์กราบไหว้
มันให้ความรู้สึกของการมีชีวิตที่สมบูรณ์และทำให้ชีวิตตลอดทั้งวันเวลาที่น่าเบื่อหน่ายสิ้นสุดลง

สำหรับแคโรไลน์ โบสถ์เป็นสัญญลักขณ์แห่งความมั่นคงว่า
ในที่สุดครอบคัวของเธอจะเริ่มต้นชีวิตที่เจริญ (Civilized Life)
และสำหรับชาร์ลส์ เสียงประสานก้องกังวานของเพลงแห่งศรัทธา ( Song of Faith)
ให้ความรู้สึกเต็มตื้นในหัวใจและพลังที่จะก้าวไปข้างหน้า

ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนักที่ลอราจะเล่าเหตุการณ์วันอาทิตย์ปลายฤดูร้อนวันหนึ่งที่ทุกคนตื่นเต้นมีความสุข
แม่มีนัยน์ตาแจ่มใสเป็นประกายและดูสวยน่ารักในเสื้อผ้าชุดใหม่
น้องแครี่เองเหมือนเทวดามีปีกตัวเล็กๆในหนังสือพระคัมภีร์
ภายใต้กระโปรงตัวจิ๋วและหมวกผ้าสีขาวติดลูกไม้ขาว ทุกคนจะไปโบสถ์ของท่านแอลเดน

ปี ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๘๗๕  เป็นเวลาแห่งความสุขและความทุกข์
พ่อกับแม่เข้าเป็นสมาชิกของโบสถ์ ( The Union Congregation Church)
และพ่อมีบทบาทแข็งขัน ในฐานะกรรมาธิการคนหนึ่งของโบสถ์
โรงเรียนวันพระทุกวันอาทิตย์ ทำให้ชีวิตลอราสนุกสนาน

และตื่นเต้นที่สุดคือ คริสต์มาสปลายปี ค.ศ. ๑๘๗๔ ทั่วทั้งโบสถ์เต็มไปด้วยของขวัญคริสต์มาส
แสงไฟจากตะเกียงหลายๆดวง ผู้คนมากมายที่มีใบหน้าระบายด้วยรอยยิ้ม
เสียงพูดคุยหัวเราะเอะอะครึกครื้น  ต้นคริสต์มาสที่ประดับประดาด้วยของขวัญและสิ่งที่สวยงามเต็มไปหมด
มันเป็นต้นคริสต์มาสที่สวยที่สุดเท่าที่ลอราเคยเห็น
และวิเศษไปยิ่งกว่านั้นก็คือ ของขวัญคริสต์มาส เสื้อหนาวเฟอร์สีน้ำตาลทองที่ลอราได้รับ

ปี ค.ศ. ๑๘๗๕ ตั๊กแตนนับพันล้านทำลายพืชผลของชาวนาชาวไร่และความหวังที่จะตั้งตัวของพ่อต้องพังพินาศ
อันตรายและความรุนแรงไม่ว่าจะคนหรือธรรมชาติเป็นสิ่งคู่ขนานกับชีวิตชายแดน

วันคืนที่น่าเบื่อหน่าย งานหนักและความยากลำบาก
ตลอดจนความเปล่าเปลี่ยวอ้างว้างทำให้นักบุกเบิกบางคนคลุ้มคลั่ง

ทางใต้ของพลัมครี้กที่บ้านเล็กตั้งอยู่ ชายหนุ่มชื่อ เบอร์นาร์ดอยู่ตามลำพังเป็นเวลาหลายวันและยิงตัวตายในที่สุด
บางครั้งก็เกิดกรณีฆาตกรรมรอบๆเปปปิ้น  ศพถูกพบใต้ธารน้ำแข็งของแม่น้าชิปเปวา
พวกนอกกฎหมายและพวกปล้นมีอยู่ทั่วไป บางทีถึงกับปล้นกันกลางวันแสกๆ

เหตุการณ์ดังกล่าวมีส่วนให้แม่ปรารถนาชีวิตในเมืองหรืออย่างน้อยอยู่ใกล้กับตัวเมือง
เพราะมันหมายถึงความปลอดภัยและลูกๆจะได้มีโอกาสเข้าโรงเรียน
ลอราบันทึกเหตุการณ์ส่วนนี้น้อยมาก ส่วนใหญ่เธอเล่าถึงภัยจากธรรมชาติ
อาทิเช่น พายุหิมะ ไฟป่า น้ำป่า ฯลฯ และการยืนหยัดต่อสู้ของนักบุกเบิก

บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 20 ม.ค. 14, 20:23



เสียงหวู้ดมหัศจรรย์ : ถางทาง สร้างเมืองหรือประหารเจ้าถิ่น

ริมทะลสาบสีเงิน เริ่มต้นด้วยการอพยพครั้งใหม่ไปดาโกต้าด้วยรถไฟ
แต่มันเป็นการอพยพครั้งสุดท้ายตามสัญญาที่พ่อให้ไว้กับแม่
ผู้คนกำลังมา เมืองกำลังเติบโตและเวลากำลังก้าวสู่ยุคใหม่

ลอราเล่าถึงการบุกเบิกเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะ”รถไฟ”
ที่จะเชื่อมโยงภาคตะวันตกกับตะวันออกและส่วนอื่นๆของประเทศเข้าด้วยกัน
การวางทางรถไฟผ่านเข้าไปในพื้นที่อันเปล่าเปลี่ยวเป็นทุ่งหญ้า ภูเขาและทะเลทราย ตลอดจนภัยธรรมชาติ
อาทิ พายุหิมะที่ทำให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงัก ปัญหาแรงงานและการผูกขาดของกลุ่มบรรษัท
มีส่วนให้เรื่องราวของรถไฟเป็นประวัติศาสตร์อีกเสี้ยวหนึ่งที่มีสีสันสนุกสนาน

“...ลอราเข้าใจแล้วว่าพ่อหมายความว่าอย่างไร เมื่อคุยถึงเรื่องประหลาดน่าสนุกสนานต่างๆที่จะได้พบ
พ่อบอกว่าในประวัติศาสตร์ของโลกไม่เคยมีอะไรน่าประหลาดมหัศจรรย์ยิ่งกว่ารถไฟ
ไม่มีอะไรประหลาดมหัศจรรย์ยิ่งกว่ารถไฟอีกแล้ว
คนรถไฟต้องเก่งไม่ใช่เล่น จึงสามารถขับขี่เครื่องจักรมหึมา
และบังคับขบวนรถไฟที่วิ่งเร็วจี๋อย่างน่ากลัวอันตรายนี้ได้...” (ริมทะเลสาบสีเงิน หน้า ๔๓)

เราอยากบอกลอราว่า ยังมีสิ่งมหัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นอีก
สิ่งนั้นคือปัญหาแรงงานและชีวิตกรรมกรสร้างทางรถไฟ
ผู้พลิกฟื้นความป่าเถื่อนของดินแดนสหรัฐฯให้กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าความเจริญ
วางรากฐานสังคมเมืองและความก้าวหน้าทั้งมวล
 
แต่ลอรามองไม่เห็นความสำคัญของสิ่งนี้ และชาร์ลส์กับแคโรไลน์เองก็มีทัศนะต่อคนงานเหล่านี้ว่า

“เจ้าพวกนี้ล้วนแต่เป็นคนกระด้าง พูดหยาบๆคายๆ หนูได้พบได้ยินน้อยเท่าไหร่เป็นดีเท่านั้น
 เอ้า..จำไว้ให้ดีนะ ลอรา  แล้วหนูด้วย แครี่” พ่อพูดด้วยเสียงเคร่งเครียดจริงจัง..(ริมทะเลสาบสีเงิน หน้า ๑๑๑)

“ค่ายคนงานสร้างรถไฟซุ่มซ่ามเอะอะ และคงจะเป็นเวลาอีกนานกว่าบ้านเมืองที่นี่จะเจริญ
เพราะฉะนั้นก่อนถึงเวลานั้น   แม่คิดว่าทางดีที่สุดคือ ควรจะอยู่ตามลำพังในครอบครัว
แม่อยากให้ลอราหลีกให้ห่างไกลจากค่ายพวกคนงาน
ไม่อยากให้ไปคุ้นเคยสุงสิงกับคนพวกนั้น เพราะเขาไม่สุภาพพอ...” (ริมทะเลสาบสีเงิน หน้า ๑๔๑)

นอกจากนี้แล้ว ลอราก็มิได้พูดถึงบทบาทของกรรมกร
โดยเฉพาะกรรมกรชาวจีนที่เข้ามาสร้างทางรถไฟซึ่งถูกเพิกเฉยละเลยในประวัติศาสตร์อเมริกันตะวันตก
และลอราก็ไม่ได้บอกด้วยว่า การบุกเบิกเส้นทางรถไฟได้นำไปสู่การประหัตประหารชาวอินเดียนแดงที่โหดร้ายมากยิ่งขึ้น
เพราะรถไฟพยายามจะเข้าไปถึงทุกที่โดยไม่คำนึงว่า เจ้าของถิ่นดั้งเดิมจะรู้สึกอย่างไร



Chinese workers in the snow constructing the first transcontinental railroad

ลอราอึดอัด ไม่มีความสุขและรู้สึกไม่เป็นอิสระ เหมือนอยู่ตามลำพังในทุ่งกว้างอย่างแต่ก่อน
เพราะเมืองกำลังเกิดอย่างรวดเร็ว  
 
พ.ร.บ.ที่ดิน ค.ศ. ๑๘๖๒ ที่ให้สิทธิแก่พลเมืองทุกคนที่อายุเกิน ๒๑ ปี จับจองที่ดิน ๑๖๐ เอเคอร์ในราคาพอสมควร
แต่ต้องอยู่ในที่ดินนั้นเป็นเวลา ๕ ปี จึงจะได้กรรมสิทธิ์อย่างสมบูรณ์
มีส่วนทำให้ผู้คนหลั่งไหลมาตะวันตก พ.ร.บ.ดังกล่าว
เปิดโอกาสให้ชาร์ลส์และแอลแมนโซจับจองที่ดินและตั้งรกรากถาวรในดาโกต้า
และขณะเดียวกันก็เผยความสกปรกของบริษัทค้าที่ดิน นักล่าที่ดินและนายทุนที่
ใช้กลอุบายวิธีการต่างๆกว้านซื้อที่ดินมาขายเอากำไร  
ความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น ดินแดนทางตะวันตกกำลังพัฒนา
และในไม่ช้าก็จะมีสภาพไม่ผิดกับดินแดนตะวันออก
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.07 วินาที กับ 19 คำสั่ง