เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 46934 ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 23 ธ.ค. 13, 11:22

กระทู้นี้มาจากบทความ " ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"   เจ้าของสงวนลิขสิทธิ์ มิให้เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตและในหนังสือโดยมิได้รับอนุญาต

ใครที่เป็นแฟนวรรณกรรมเยาวชนชุด บ้านเล็ก หรือ Little Houses Series ของ Laura Ingalls Wilder  เชิญยกเก้าอี้มานั่งล้อมวงกันได้แล้วค่ะ
ดิฉันจะเล่า "ชีวิตจริง" ของครอบครัวอิงกัลส์ ที่เป็นภูมิหลังของวรรณกรรมเรื่องนี้ให้ฟัง

ก่อนอื่นขอฉายหนังตัวอย่างด้วยภาพครอบครัวอิงกัลส์ก่อนนะคะ
คือพ่อ แม่ และลูกสาวทั้งสี่
เรียงลำดับแถวยืน  แครี่  ลอร่า   เกรซน้องสาวคนเล็ก
แถวนั่ง  แม่ พ่อ และแมรี่ ลูกสาวคนโต


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 ม.ค. 14, 07:42 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 23 ธ.ค. 13, 13:46

นิยายชุดนี้  มีให้โหลดอ่านฟรีในภาคภาษาอังกฤษ นะคะ

http://kirilisa.com/downloads/ebooks/littlehouse/


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 ธ.ค. 13, 19:53

ก่อนหน้านี้ ลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์ ไม่มีความคิดจะเป็นนักเขียน   เธอเป็นหญิงวัยหกสิบ  ดำเนินชีวิตเรียบง่ายในฐานะเจ้าของฟาร์มเล็กๆแห่งหนึ่งในเมืองแมนส์ฟิลด์ รัฐมิสซูรี่     อยู่กับสามีชื่อแอลแมนโซ เจมส์ ไวล์เดอร์ผู้มีอายุมากถึง ๗๐ เพียงลำพังสองคนตายาย

ลูกสาวคนเดียวชื่อโรสเป็นหญิงวัยกลางคนอายุ ๔๐    ทำงานเป็นนักเขียนบทความอยู่ในเมืองใหญ่   โรสแต่งงานแยกบ้านไปนานหลายสิบปีแล้ว   ต่อมาก็หย่าขาดจากสามีโดยไม่มีบุตร     ความที่สนิทกับแม่ โรสก็แวะเวียนไปเยี่ยมบ้านเดิมของพ่อแม่เป็นประจำ

ตั้งแต่เด็ก ในฐานะลูกคนเดียว  โรสสนิทกับแม่มาก     ลอร่าเป็นหญิงที่ช่างจดช่างจำ  เล่าเรื่องเก่ง     เรื่องที่เธอชอบเล่าให้ลูกสาวฟังคือชีวิตในวัยเด็กเมื่อหลายสิบปีก่อนจะย้ายมาอยู่รัฐมิสซูรี่      ในยุคนั้น   ตากับยายอพยพพาลูกๆ โยกย้ายไปหลายรัฐด้วยกัน ทำให้เด็กๆได้พบเห็นประสบการณ์ต่างๆ ที่หาไม่ได้ในฟาร์มแห่งนี้   
วันเวลาในวัยเด็กของแม่จะว่าลำบากก็ลำบาก  เพราะขาดความสะดวกสบายอย่างไฟฟ้า น้ำประปา  รถยนต์ หรือแม้แต่ถนนหนทาง    แต่จะว่าเป็นสุขก็สุขมาก เพราะอยู่อย่างอบอุ่นในครอบครัวพร้อมหน้าพ่อแม่พี่น้อง    ไม่เคยขาดเสียงเพลงจากไวโอลินของพ่อในยามค่ำคืน   ไม่ขาดอาหารรสโอชะจากฝีมือของแม่       

เรื่องราวทั้งหมด แม่ถ่ายทอดให้ลูกสาวฟังอย่างละเอียดถี่ถ้วน  เพราะเห็นว่าเป็นเรื่อง "ดีเกินกว่าจะปล่อยให้สูญหายไป"   โรสฟังอย่างเพลิดเพลินมาตั้งแต่เล็กจนโต     นิสัยรักการอ่านและเขียน เธอก็ได้จากแม่    แม่ทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับเล็กๆ เขียนบทความประจำลงในนั้น 


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 24 ธ.ค. 13, 06:02

  ในวัยสี่สิบ โรสประสบความสำเร็จในฐานะนักเขียนมีชื่อเสียงคนหนึ่งแล้ว   รายได้ของเธอมากพอจะอุดหนุนจุนเจือพ่อแม่ได้   ฟาร์มเล็กๆของแอลแมนโซและลอร่ามีผลิตผลพออยู่ได้อย่างไม่ลำบากยากแค้นจนเกินไป แต่ก็ห่างไกลจากร่ำรวย      โรสสร้างกระท่อมแบบอังกฤษให้พ่อแม่อยู่ใหม่ บนเนื้อที่ติดกับฟาร์มเดิมที่ลอร่าขนานนามว่า "ร็อคกี้ ริดจ์"    ส่วนตัวโรสเองก็ตกแต่งบ้านเดิมของพ่อแม่เสียใหม่แล้วย้ายเข้าไปอยู่แทน
  วันหนึ่ง โรสก็นึกได้ว่าเรื่องชีวิตวัยเยาว์ที่แม่เล่าให้เธอฟังบ่อยๆ เป็นเรื่องสนุกสนานประทับใจ  ควรจะเขียนลงเป็นหนังสือสักเล่ม  เธอจะช่วยตรวจแก้ให้     ในตอนแรกลอร่าก็ไม่ได้คิดอะไรมาก   ลูกสาวคะยั้นคะยอหนักเข้าเธอก็นึกสนุก เขียนในทำนองอัตชีวประวัติขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า Pioneer Girl (สาวน้อยนักบุกเบิก)  เอาชีวิตจริงในวัยเด็กและสาวเป็นพื้นฐานหลักในโครงเรื่อง
   โรสส่งต้นฉบับเรื่องนี้ไปตามสำนักพิมพ์ต่างๆ   แต่ผิดหวัง   ไม่มีผู้พิมพ์รายไหนสนใจจะพิมพ์จำหน่าย     เป็นเพราะเนื้อเรื่องหนักไปทางรายละเอียด แทบว่าจะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์อยู่รอมร่อ     ไม่มีรสชาติสนุกสนานอย่างนิยาย      ในที่สุดก็ต้องเอาต้นฉบับกลับมาเก็บไว้ในบ้าน

   รูปของโรส ไวลเดอร์ เลน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 24 ธ.ค. 13, 06:19

บ้านนา ร็อคกี้ ริดจ์ (Rocky Ridge) ที่แอลแมนโซและลอร่าสร้างกันขึ้นมาเอง     โรสได้ตกแต่งใหม่และเข้ามาอยู่แทนในค.ศ. 1928


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 24 ธ.ค. 13, 06:24

กระท่อมสไตล์อังกฤษที่โรสสร้างให้พ่อแม่อยู่


บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 24 ธ.ค. 13, 10:33

ขออนุญาตลงชื่อนั่งฟัง

หนังสือชุดนี้เป็นหนึ่งในบรรดาหนังสือหัวเตียง  หยิบมาอ่านได้บ่อยๆ โดยไม่เบื่อเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 24 ธ.ค. 13, 10:58

คอเดียวกันค่ะคุณ tita   
ดิฉันอ่านชุดแรก จนเก่า  ปกขาดหน้าหลุด  ต้องซื้อใหม่อีกชุด และซื้อชุดภาษาอังกฤษมาด้วย  ยังเก็บไว้อย่างดีจนทุกวันนี้
สัมผัสถึงความรักและความอบอุุ่นของครอบครัวที่ส่งผ่านตัวอักษรมาถึงคนอ่าน  เป็นเสน่ห์ประจำตัวของหนังสือชุดนี้    ทำให้มองออกว่าหนังสือที่เขียนด้วยใจรัก มีคุณค่าอย่างนี้เองค่ะ

กลับมาถึงเรื่องลอร่ากับโรสต่อค่ะ

ในค.ศ. 1929 ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่      ชาวเรือนไทยคงจำได้ถึงเศรษฐกิจตกต่ำในยุคต้นรัชกาลที่ 7 ที่ส่งผลให้เกิด "ดุลยภาพ" ข้าราชการทั่วบ้านทั่วเมือง    เป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ได้นะคะ     วิกฤตเศรษฐกิจที่ว่านี้ก็ต้นเหตุอันเดียวกันละค่ะ   ตลาดหุ้นล้มครืน  ธนาคารล้มละลาย พันธบัตรรัฐบาลกลายเป็นเศษกระดาษ 
เงินทองของโรสและพันธบัตรที่เธอแนะนำให้พ่อแม่ซื้อเป็นหลักประกันความมั่นคงของฐานะ  ก็ละลายหายสูญไปในวิกฤตครั้งนี้ด้วย   ลอรากับแอลแมนโซไม่เหลืออะไรจากเงินทองที่อดออมกันมาตลอดชีวิต

ในตอนนี้เอง ลอร่ากลับไปปัดฝุ่นต้นฉบับหนังสือเรื่อง Pioneer Girl ของเธออีกครั้ง    แม้ว่าสำนักพิมพ์ทั้งหลายพากันส่ายหน้า โยนลงตะกร้ากันหมดทุกแห่ง  เธอก็หอบมันขึ้นมาจากก้นตะกร้าอย่างไม่ย่อท้อ
นักเขียนที่ไม่ยอมแพ้ ก็จะมองจนเห็นแสงสว่างขึ้นมาที่ปลายอุโมงค์จนได้ค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 24 ธ.ค. 13, 11:12

  คราวนี้ลอร่าวางแผนใหม่    เธอไม่เขียนหนังสือชีวิตหนักสมองอย่างคราวแรกอีก  แต่ว่าดัดแปลงใหม่  เป็นหนังสือสำหรับเด็ก    เจาะลงไปเฉพาะชีวิตในวัยเยาว์ของเธอ โดยเลือกช่วงชีวิตที่เธอมีความสุขที่สุด คือชีวิตวัยต้นอายุไม่เกิน 6 ขวบเมื่อครั้งอาศัยอยู่ในบ้านไม้ซุงในป่าใหญ่ของรัฐวิสคอนซิน พร้อมกับพ่อแม่และพี่สาว
  เธอย้อนรำลึกถึงการดำเนินชีวิตในสมัยนั้น  ยาวนานกว่า 50 ปีก่อน    เมื่ออาหารการกินและการดำรงชีวิตจะต้องพึ่งพาตัวเอง ไม่มีอะไรสะดวกอย่างสมัยเธอเข้าสู่วัยชรา      ชีวิตแบบนั้นหมดไปจากความรู้ความเข้าใจของเด็กๆในยุค 1930s หมดแล้ว เพราะบ้านเมืองพัฒนาอย่างรวดเร็ว   จากแสงเทียนมาเป็นไฟฟ้า  จากเกวียนประทุนมาเป็นรถยนต์   ฯลฯ  แต่มันยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำของเธอ
   เธอก็ถ่ายทอดความทรงจำเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ไม่ยาวนักเล่มหนึ่ง  เล่าถึงวงจรชีวิต 4 ฤดูในรอบปีที่พ่อแม่และลูกๆอยู่กันอย่างเป็นสุขในป่าใหญ่      เธอเรียกพ่อและแม่กลับมามีชีวิตอีกหนหนึ่ง พร้อมด้วยพี่สาวที่ตัวจริงล่วงลับไปแล้ว    กลับมาเป็นเด็กน้อยเล่นกันอยู่ในบ้านไม้ซุงอีกครั้ง
   เรื่องใหม่นี้ตอนแรกตั้งชื่อว่า When Grandma was a Little Girl    โรสช่วยอ่านและตรวจให้  ในที่สุดก็เปลี่ยนชื่อเป็น   Little House in the Big Woods   เธอติดต่อสำนักพิมพ์ต่างๆให้แม่อีกครั้ง ด้วยความกว้างขวางและชื่อเสียงของเธอเป็นทุนเดิมอยู่  ในที่สุดสำนักพิมพ์ใหญ่คือ  Harper & Brothers ก็ตกลงพิมพ์เรื่องนี้

  ฉบับพิมพ์ครั้งแรกค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 24 ธ.ค. 13, 11:25

  นิยายชุด "บ้านเล็ก" เล่มแรก  ตีพิมพ์วางจำหน่ายในค.ศ. 1932  (ตรงกับพ.ศ. 2475 ของไทย)  ในช่วงที่คนอเมริกันทั่วไปตกงาน อดอยาก ลำบากยากแค้น     หนังสือเล่มนี้กลายเป็นความชุ่มชื่นใจและจุดประกายความหวังให้คนอ่านจำนวนมาก ที่รู้สึกว่าชีวิตในอดีตก็ลำบากกว่าชีวิตพวกเขามากนัก   ตัวละครในเรื่องก็ยังอยู่มาได้อย่างเป็นสุขและอบอุ่น    เต็มไปด้วยความรักและความจริงใจต่อกัน       ทำให้คนอ่านค่อยกระปรี้กระเปร่าเกิดความหวังขึ้นมาอีกครั้ง
   หนังสือเรื่องนี้จึงประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามชั่วข้ามคืน   โดยไม่มีใครคาดฝันมาก่อน   แม้แต่ตัวลอร่าและโรสเอง

   ปัญหาเรื่องเงินทองของลอร่าก็หมดไปเพราะรายได้จากหนังสือที่ตีพิมพ์ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า  แม้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำก็ตาม    เธอไม่ได้คิดว่าจะเขียนหนังสือมากกว่านี้   แค่เล่มแรกก็เล่าถึงชีวิตวัยเยาว์ที่ประทับอยู่ในความทรงจำหมดแล้ว

   ในตอนที่ลอร่าเขียนเรื่องนี้  พ่อกับแม่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เช่นเดียวกับแมรี่พี่สาวคนโตของเธอ และเกรซน้องสาวคนเล็ก   เหลือแต่แครี่น้องสาวคนรองคนเดียว    อยู่ไกลกันคนละรัฐ  แต่แครี่ก็ตื่นเต้นกับเรื่องที่พี่สาวคิดจะเขียนนิยายบนพื้นฐานชีวิตครอบครัวในวัยเยาว์มาตั้งแต่แรก     เธอช่วยทบทวนจดจำข้อมูลต่างๆส่งให้พี่สาว 
   ความจริงเมื่อลอร่ากับแมรี่เกิดและอยู่ในบ้านไม้ซุงในป่าใหญ่นั้น  มีกันแค่สองคนพี่น้อง แครี่ยังไม่ทันเกิด      พ่อแม่อพยพไปแคนซัสอยู่พักหนึ่งก่อนจะอพยพกลับมาที่ป่าใหญ่ในรัฐวิสคอนซิน  แครี่เพิ่งมาเกิดเมื่อพ่อแม่กลับมาอยู่ที่นี่     แต่ลอร่าไม่อยากจะตัดน้องสาวออกไป   เมื่อเธอรวมชีวิต 2 ช่วงในป่าใหญ่เข้าเป็นช่วงเดียวกัน     เธอก็เลยให้แครี่เกิดเสียตั้งแต่ตอนนั้น กลายเป็นมีสามคนพี่น้องโตขึ้นมาด้วยกัน   

   รูปพี่น้องสามสาวตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงค่ะ   ไม่มีรูปถ่ายในวัยเยาว์กว่านี้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 24 ธ.ค. 13, 15:27

       ลอร่าบรรยายถึงพ่อว่า เป็นคนเก่ง ทั้งในด้านล่าสัตว์ พ่อสามารถฆ่าหมีหรือหมูป่าได้ด้วยกระสุนนัดเดียว  (ปืนสมัยนั้นยิงได้ทีละนัด  ถ้านัดแรกเอาสัตว์ป่าไม่อยู่ ก็แปลว่านายพรานจะเป็นฝ่ายเสร็จเสียเอง)   พ่อทำไร่ไถนาได้ดี    เป็นคนขี้เล่น อารมณ์ดี  รักลูกเมียเป็นแก้วตา  ไม่เคยดุไม่เคยว่าลูกๆ   ให้เกียรติภรรยาอย่างสม่ำเสมอ     ที่ดูออกในเรื่องแม้ว่าลอร่าไม่เคยพูดมาตรงๆ คือเธอเป็นลูกคนโปรดของพ่อ
        นอกจากนี้ พ่อยังมีคุณสมบัติอื่นๆที่หายากในชายสมัยนั้นคือมีความรู้ดี  สามารถเขียนอ่าน   สะกดศัพท์ยากๆได้เกินหน้าคนอื่น    และที่สำคัญคือพ่อเล่นไวโอลินเก่งมาก   ทุกค่ำคืนในฤดูหนาว  หนูน้อยอย่างลอร่าและแมรี่พี่สาวจะหลับไปพร้อมด้วยเสียงขับกล่อมจากไวโอลินของพ่อ    เป็นความสุขที่ลอร่าไม่อาจหาได้จากที่ไหนอีกตลอดชีวิตยาวนานถึง 90 ปี

     เรามาดูประวัติของพ่อผู้เป็นฮีโร่กันดีกว่านะคะ    
     ในเรื่อง ลอร่าเรียกพ่อว่า Pa   หรือแปลเป็นไทยตรงๆว่า "พ่อ" ง่ายๆนี่เอง     ชื่อเต็มของพ่อคือ ชาร์ลส์ ฟิลลิป อิงกัลส์   เป็นบุตรคนที่สามในจำนวน 10 คนของปู่และย่าผู้มีนามจริงว่าแลนสฟอร์ด ไวติ้ง อิงกัลส์ และลอร่า หลุยส์ คอลบี้       ตัวปู่เองเกิดในแคนาดาแต่ว่าอพยพมาอยู่ที่นิวยอร์ค     เชื้อสายทางแม่ของเขาสืบย้อนขึ้นไปได้ถึงพวกพิลกริมรุ่นแรกที่โดยสารเรือ เมย์ฟลาวเออร์ มาตั้งถิ่นฐานในอเมริกา   ข้อนี้ทำให้ลอร่าภูมิใจในประวัติตระกูลของเธอมาก
     ครอบครัวของแลนสฟอร์ดตั้งถิ่นฐานอยู่ในนิวยอร์คในตอนแรกๆ   ต่อมาก็อพยพจากนิวยอร์คมาอยู่ในอิลลินอยส์ ตอนนั้นชาร์ลส์ยังเล็กอยู่  พ่อแม่มาตั้งฟาร์มอยู่ที่นั่น     เลี้ยงลูกทั้ง 10 คน(ตายแต่ยังเล็กเสีย 1  เหลือลูกชายอีกหก และลูกสาวอีกสี่) ด้วยการฝึกงานลูกชายลูกสาวอย่างแข็งขัน      ชาร์ลส์และพี่น้องผู้ชายถูกใช้ให้ทำงานเป็นทุกอย่างตั้งแต่เลี้ยงสัตว์  ทำไร่ไถนา ดักสัตว์  งานช่างไม้    ฯลฯ  ถ้ายังพอมีเวลาว่างก็ไปรับจ้างเพื่อนบ้านทำงาน    ไม่ถูกปล่อยให้เที่ยวเล่นอยู่เปล่าๆ
     ชาร์ลส์ผิดจากพี่น้องอื่นๆตรงที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ  สมกับมีแม่ที่เคยเป็นครูโรงเรียนมาก่อน    แม้ไม่มีประวัติว่าเขาเล่าเรียนสูงกว่าคนอื่น เขาก็อ่านหนังสือได้แตกฉาน       โรงเรียนตามชนบทในสมัยนั้นเป็นแค่ห้องเรียนเล็กๆ สอนนักเรียนทุกชั้นรวมกันในห้องเดียว    เด็กๆเรียนพอให้อ่านออก เขียนได้ บวกลบเลขเป็น   เท่านั้นก็พอแล้ว    เด็กผู้ชายส่วนใหญ่ก็เรียนกันแค่นี้ เพราะพ่อแม่เห็นประโยชน์ในด้านช่วยแรงงานทางบ้านมากกว่าจะมาเสียเวลาในห้องเรียนนานๆหลายปี

รูปปู่กับย่าของลอร่า ค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 ธ.ค. 13, 05:38

   ปีเตอร์ เป็นลูกชายคนโต  รองลงมาคือชาร์ลส์ (พี่อีกคนหนึ่งเสียชีวิตไปตั้งแต่เล็ก)  ถัดไปก็คือลิเดีย  พอลลี่, แลนสฟอร์ด เจมส์, ลอร่า ลาดอเซีย( หรือลอร่าเรียกว่า อาดอเซีย) ไฮแรม,จอร์ช และรูบี้   
    เมื่อชาร์ลส์อายุ 17   พ่อแม่ก็พาลูกๆโยกย้ายถิ่นฐานจากอิลลินอยส์มาปักหลักอยู่ที่วิสคอนซิน  ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นรัฐไกลปืนเที่ยง เมื่อเทียบกับนิวยอร์ค    พ่อแม่ทำมาหากินด้วยการทำไร่ทำนา แบบเดียวกับเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงที่ล้วนแต่อพยพมาตั้งฟาร์มแบบเดียวกัน  ครอบครัวใหญ่ลูกเก้าคนตั้งถิ่นฐานอยู่ในวิสคอนซินต่อมาเป็นเวลานาน จนเด็กๆเติบโตเป็นหนุ่มสาว   
   เพื่อนบ้านใกล้เคียงที่เป็นเจ้าของที่นาชื่อเฟรดเดอริค โฮลบรุ๊ค  เขาแต่งงานกับแม่ม่ายลูกติดชื่อชาล็อตต์ ควินเนอร์     สามีเก่าของเธอเป็นพ่อค้าซื้อขายแลกเปลี่ยนขนสัตว์กับพวกอินเดียนแดง     แต่เขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเรือโดยสารล่มเมื่อเจอพายุ  เมื่อแคโรไลน์ลูกสาวคนโตอายุได้ 5 ขวบเท่านั้นเอง      ทิ้งชาล็อตต์ไว้กับลูกเด็กเล็กแดง ด้วยความลำบากยากแค้นที่ไม่มีหัวหน้าครอบครัว      ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจย้ายจากบ้านเดิมในเมืองไปอยู่ในชนบท ลงหลักปักฐานสร้างบ้านนาอยู่ที่นั่น เลี้ยงสัตว์เพื่อจะได้มีรายได้และมีกินสำหรับเด็กๆ      ชาล็อตต์แต่งงานใหม่กับเจ้าของฟาร์มเพื่อนบ้านกัน  มีลูกอีก 1 คนชื่อล็อตตี้

    บ้านนาของพ่อเลี้ยงของแคโรไลน์อยู่ติดกับบ้านนาของพวกอิงกัลส์     เด็กๆสองบ้านนี้โตเป็นหนุ่มสาวขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน  ทั้งสองฝ่ายต่างรู้จักมักคุ้นกันดี        ชาร์ลส์เป็นหนุ่มที่ใครๆก็นิยมเชิญไปร่วมงานปาร์ตี้ งานเต้นรำสังสรรค์กัน  เพราะเขามีคุณสมบัติพิเศษอีกอย่างคือเล่นซอไวโอลินเก่งมาก   สามารถเล่นเพลงให้ครึกครื้นกันได้ทุกงาน    ซ้ำยังเล่นได้ยาวนานจนเต้นรำกันได้ทั้งคืน
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 25 ธ.ค. 13, 05:46

  จนบัดนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าซอของชาร์ลส์นั้นเจ้าตัวได้มาจากไหน      ได้แต่เดากันว่าเขาอาจจะซื้อมาจากพ่อค้าเร่ หรือซื้อมือสองมาจากเพื่อนบ้านคนใดคนหนึ่งที่ต้องการขาย      นอกจากนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าชาร์ลส์ไปเรียนวิชาเล่นซอไวโอลินมาจากไหน    เพราะเขาไม่มีเวลาและไม่มีโอกาสจะไปเรียนในร.ร.แห่งไหนได้       ก็ได้แต่สรุปกันว่าชาร์ลส์คงหัดเล่นด้วยตัวเอง
   อย่างไรก็ตาม  ชาร์ลส์เป็นคนมีพรสวรรค์ในการเล่นซอ  เขาไม่ได้เล่นเพลงยากๆ อย่างเพลงของโมสาร์ทหรือบีโธเฟ่นอะไรแบบนั้น  แต่เป็นเพลงกล่อมเด็ก   เพลงพื้นเมืองจากสก๊อตแลนด์และอังกฤษ   เพลงพื้นบ้านง่ายๆสำหรับเต้นรำกัน      ซอคู่ใจของเขาเดินทางไปกับเจ้าตัวทุกหนทุกแห่ง โดยชาร์ลส์ทะนุถนอมรักษาไว้อย่างดีไม่ให้เสียหาย
   ลอร่าโตขึ้นมากับเสียงเพลงของพ่อ   ตั้งแต่เล็กจนกระทั่งเธอเป็นสาว แยกบ้านแต่งงานไป       เสียงเพลงของพ่อขับกล่อมเธอให้นอนหลับตั้งแต่เล็ก   โตขึ้นเธอก็ร้องเพลงคู่กับเสียงซอของพ่อในยามสุขและทุกข์   ในวันรื่นเริงอย่างคริสต์มาส และในวันยากแค้นเมื่อตกระกำลำบาก     
    เมื่อเธอเขียนนิยายเรื่องบ้านเล็ก  ซอก็มามีบทบาทสำคัญจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องก็ว่าได้     เพราะมันจะเคียงคู่เป็นเพื่อนแท้ของครอบครัวอิงกัลส์ไปทุกหนทุกแห่ง  ให้กำลังใจในทุกโอกาส ไม่ว่ายามทุกข์หรือสุข


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 25 ธ.ค. 13, 05:47

     พ่อยกซอให้ลอร่าเมื่อพ่อถึงแก่กรรม    ทุกวันนี้ซอคู่ใจของพ่อก็ยังเก็บรักษาไว้อย่างดีในพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเป็นเกียรติแก่เธอ  ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้
      ทุกปีเมื่อครบรอบปี จะมีคนนำออกมาเล่นเพลงเก่าๆที่พ่อเคยเล่น เป็นการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงนิยายชุด "บ้านเล็ก"


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 26 ธ.ค. 13, 06:37

ซอของชาร์ลส์ทำให้เขา "ป๊อป" มากในหมู่เพื่อนบ้าน   เพราะสมัยนั้นงานเต้นรำตามชนบท   อาศัยเครื่องดนตรีคือซอไวโอลินอย่างเดียวก็พอ  ไม่ต้องมีเปียโน กลอง ฯลฯ ครบชุด      เพราะเต้นรำที่ว่านี้คือ folk dance   ไม่ใช่ลีลาศแบบบอลรูมของเหล่าผู้ลากมากดีอย่างเราเห็นในหนังย้อนยุคของอังกฤษ     
เต้นรำแบบโฟคแดนซ์  ไม่จำเป็นต้องมีแต่หนุ่มสาว  เด็กๆหรือคนชราก็จับคู่กันเต้นรำได้อย่างสนุกสนาน
ลอร่าเล่าว่าอาจอร์ชน้องชายของพ่อเห็นลอร่าเต้นรำอยู่คนเดียว  ก็หัวเราะแล้วจูงไปเต้นรำคู่กันที่มุมห้อง(จะได้ไม่เกะกะคู่เต้นรำอื่นๆ)


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง