เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 67404 อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 12 พ.ย. 13, 21:23

หน้า ๕๒ และ ๕๓

๒ คน ฤๅ ๓  คน มายืนขึ้นให้เลือก ว่าจะชอบคนไหนใน ๒ ฤๅ ๓ คนนั้น เมื่อชอบคนไหนก็เลือกคนนั้นโดยต่างคนต่างให้คะแนนของตน ใครได้คะแนนมากก็ได้เข้าไปนั่งในรัฐสภาดังนี้

แต่ถ้ามีผู้ที่มารับเลือกแต่คนเดียว ก็นับว่าไม่เป็นปัญหา ประชาชนไม่ต้องลงคะแนน คน ๆ นั้น เปนอันได้เข้านั่งในรัฐสภาทีเดียว

ส่วนการที่จะจัดให้มีคนมารับเลือกนั้น ตามคอนสติตูชั่นว่า ให้มีผู้ใดผู้หนึ่งในเขตร์นั้น ๆ เปนผู้นำขึ้นว่าผู้ใดควรได้รับเลือก ถ้าไม่มีผู้อื่นนำเสนอนามใครขึ้นอีกคน ๑ แล้ว คนที่ ๑ ก็เปนคนได้เข้ารัฐสภาอยู่เอง แต่ถ้ามีผู้เสนอนามบุคคลใดขึ้นอีกคน ๑ จึ่งต้องนัดวันให้ประชาชนในเขตร์นั้นลงคะแนนในระหว่าง คน ๒ คน ที่ได้มีผู้เสนอนามขึ้น

ดูเผิน ๆ เพียงนี้ก็ยังดีอยู่ แต่ตามความจริงนั้น ไม่ใช่ว่าใคร ๆ สักแต่เปนมนุษแล้วก็จะมีโอกาศได้รับเลือกได้ ผู้ที่หยิบยกตัวบุคคลมาให้ราษฎรเลือกนั้น คือคณะฤาปาร์ตีซึ่งมีแบ่งกันอยู่ ตั้งแต่ ๒ ขึ้นไป

การที่ต้องมีปาร์ตีนั้น เพราะถ้าแม้ผู้ที่เข้าไปนั่งประชุมในรัฐสภา ต่างคนต่างพูดไปแสดงความเห็นไปตามอัตโนมัตของตน ๆ ทุกคน ก็คงจะไม่มีความตกลงกันได้ในเรื่องใดเลยสักเรื่องเดียว จึ่งต้องเกิดใช้วิธีจัดรวมเปนคณะ คือผู้ที่มีความเห็นพ้องกันในปัญหาสำคัญๆ รวมกันเข้าเปนคณะฤาปาร์ตี เพื่อจะได้ช่วยกันความเห็นเหมือน ๆ กัน มาก ๆ ในเมื่อเข้าที่ประชุมรัฐสภา ดังนี้เปนที่ตั้ง

ครั้นเมื่อเวลาจะมีการเลือกสมาชิกเข้ามาใหม่ ต่างคณะก็ย่อมจะต้องมีความประสงค์ที่จะให้ผู้มีความเห็นพ้องกับคณะตนได้รับเลือก ต่างคณะจึ่งต่างจัดหาบุคคลอันพึงประสงค์ไปให้รับเลือก และต่างคณะจึ่งต่างคิดดำเนินการให้คนของตนได้รับเลือก

วิธีดำเนินอันถูกต้องตามกฎหมายนั้น คือแต่งสมาชิกแห่งคณะไปเที่ยวพูดจาเกลี้ยกล่อมราษฎรให้แลเห็นผลอันดีที่จะพึงมีมา โดยทางที่ให้คณะได้มีโอกาศทำการโดยสดวก

เมื่อกล่าวมาถึงแค่นี้แล้ว ก็ยังไม่มีสิ่งไรที่นับว่าเสียหายอันจะบังเกิดมีมาได้จากการใช้วิธีเช่นนี้ และถ้าความจริงเปนไปแต่เพียงเท่านี้ก็เปนอันไม่มีที่ติ แต่ความจริงมิได้หมดอยู่เพียงแค่นี้ คือการเกลี้ยกล่อมมิได้ใช้แต่เฉพาะทางเที่ยวพูดจา ไม่ได้ใช่ฬ่อใจราษฎร แต่ด้วยถ้อยคำเท่านั้นยังมีฬ่อใจโดยทางอื่น ๆ อีก ตั้งแต่ทางเลี้ยงดู จัดยานพาหนะให้ไปมาโดยสดวกและไม่ต้องเสียทุนทรัพย์ จนถึงติดสินบนตรง ๆ เปนที่สุด คณะใดมีทุนมากจึ่งได้เปรียบมากอยู่

ก็ตกลงรวบรวมใจความว่า ราษฎรไม่ได้เลือกผู้แทนของตน เพราะรู้แน่ว่าเปนคนดี สมควรจะเปนผู้แทนตนด้วยประการทั้งปวงฉะนี้เลย ตามจริงเลือกบุคคลผู้นั้นผู้นี้เพราะมีผู้บอกให้เลือกฤๅติดสินบนให้เลือกเท่านั้น เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว ก็นับว่าผิดความมุ่งหมายเดิมของคอนสติตูชั่นแล้ว คือ อำนาจไม่ได้อยู่ประชาชนจริง ๆ แต่ไปอยู่ในมือแห่ง คนส่วน ๑ ซึ่งเปนส่วนน้อยแห่งชาติเท่านั้น

แต่ถ้าคนเหล่านี้มีความตั้งใจดีอยู่และเปนผู้ที่มีความรักชาติบ้านเมืองของตน ก็คงจะอุส่าห์พยายามกระทำการงานไปตามน่าที่อันได้รับมอบไว้นั้นโดยสุจริต แต่ผู้ที่มีความคิดซื่อตรงต่อชาติฝ่ายเดียว ไม่คิดถึงตนเองฤๅเข้าใจว่าถึงจะมีก็จะไม่มากปานใด คนโดยมากถึงว่าจะรักชาติบ้านเมืองก็มักจะมีความคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวเจือปนอยู่เปนอันมาก คงยังมี

หน้า ๕๔ และ ๕๕

ความต้องการอำนาจและต้องการผลอันจะพึงมีมาแต่การเปนผู้มีอำนาจต้องการโอกาศที่จะได้อนุเคราะห์แก่ญาติพี่น้องฤาคนชอบพอกันบ้านเปนธรรมดาอยู่ ความประสงค์อันนี้ทำให้เกิดมีผลอัน ๑ ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่ริเริ่มคิดวิธีปกครองด้วย “คอนสติตูชั่น” มิได้ตั้งใจไว้ว่าจะให้มีคือ

๓. เกิดมีคนขึ้นจำพวก ๑ ซึ่งเอาการบ้านเมือง (ปอลิติค) เปนทางหาชื่อเสียง เอาเปนงานประจำสำหรับทำ เอาเปนทางเลี้ยงชีพทีเดียว ที่มีบุคคลทำเช่นนี้ได้ถนัดนักก็เพราะเหตุผลอันได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๒ คือโดยเหตุที่ประชาชนโดยมากมีธุระและกิจการประจำต้องกระทำอยู่ ไม่มีเวลาพอที่จะดูแลฤๅดำริห์ในทาง “ปอลิติค” นั้น นึกแทนพูดแทนไป

การที่มีบุคคลจำพวก ๑ ซึ่งทำการคิดการทาง“ปอลิติค” ขึ้นนี้ ถ้าจะว่าไปตามตำราก็ต้องว่าไม่สมควร เพราะตำราว่าการบ้านเมืองให้เปนไปตามแต่ประชาชนจะเห็นชอบพร้อมกันต่างหาก การที่มีบุคคลจำพวก ๑ ซึ่งหาชื่อทาง “ปอลิติค” มาเปนผู้คิดแทนดังนี้ก็กลายเปนอำนาจอยู่ในมือคนจำพวกนี้โดยเฉพาะ จำพวกอื่นถึงจะต้องการอะไร ๆ ก็ไม่ได้สมประสงค์ นอกจากที่ความปรารถนาจะไปตรงเข้ากับพวกนักเลงปอลิติค

ถ้าจะเถียงว่าการที่เปนเช่นนี้มีทางแก้ได้ง่าย ๆ คือจัดหาคนที่ไม่ใช่พวก “ปอลิติเซียน” เข้าไปรับเลือกเสียงบ้างก็แล้วกันฉะนี้ไซร้ ก็ต้องตอบว่า ขอให้ดูความจริงว่าเปนไปได้ฤๅไม่ บุคคลที่เรียกตนว่า “อิศระ” (อินเดนเปนเดนต์) คือไม่ได้อยู่ในปาร์ตีใดปาร์ตี ๑ นั้น นาน ๆ จะหลุดเข้าไปนั่นเปนสมาชิกแห่งรัฐสภาได้สักคน ๑ ฤๅ ๒ คน แต่ถึงเข้าไปได้แล้วก็ไม่เข้าไปทำประโยชน์อะไร เพราะการงานใด ๆ ที่จะบรรลุถึงซึ่งความสำเร็จได้ก็โดยปรากฏว่าคนโดยมากเห็นชอบพร้อมกัน คือเมื่อตั้งเปนปัญหาขึ้นในที่ประชุมปาร์ลิยเมนต์แล้ว เมื่อถึงเวลาลงคะแนนกันก็ต้องเปนไปตามความเห็นของคะแนนตาม ๆ กัน สุดแต่หัวน่าแห่งคณะของตนจะบอกให้ลงคะแนนทางไหน ผู้ที่เรียกตนว่า “อิศระ”นั้น ไม่มีพวกพ้องที่จะนัดแนะกัน เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมีความคิดความเห็นดีปานใดก็ตาม แต่ก็คงไม่สามารถจะบันดาลให้การเปนไปตามความคิดความเห็นของตนได้

เมื่อการเปนอยู่เช่นนี้แล้ว จะหาผู้ที่สมัคเข้าไปเปนสมาชิกอิศระเช่นนั้นก็ยาก ผู้ที่ประสงค์เข้าปาร์ลิยเมนต์โดยมากจึ่งมักแสดงตนว่าเปนผู้เห็นพ้องด้วยปาร์ตีใดปาร์ตี ๑ แล้วแต่จะเปนการสดวกและตรงความเห็นของตนในขณะนั้นลักษณะปกครองเช่นนี้จึ่งมีนามปรากฏว่า “ปาร์ตี สิสเต็ม” (ลักษณะปกครองด้วยคณะ) เรียกตามภาษาของเขาว่าเปน “รัฐบาล” (เคาเวอร์เมนต์) อีกคณะ ๑ เรียกว่าเปน “ผู้คัดค้าน” (ออปโปสิชั่น) คณะที่เปนรัฐบาลนั้นคือคณะที่มีพวกมากในที่ประชุมปาร์ลิยเมนต์

สามารถที่จะเชื่อใจได้อยู่ว่าการใด ๆ ที่จะคิดจัดขึ้น แม้ว่าจะเกิดเปนปัญหาขึ้นในที่ประชุมบ้าง ก็สามารถที่จะท้าให้ลงคะแนนกันได้ โดยไม่ต้องวิตกว่าจะต้องแพ้กันในทางจำนวนคะแนน พอเมื่อใดไม่มีความเชื่อได้แน่นอนในข้อนี้แล้ว ฤๅเมื่อท้าลงคะแนนกันแล้วแพ้ข้างฝ่ายผู้คัดค้าน ฝ่ายรัฐบาลก็ออกจากตำแหน่งผู้คัดค้าน

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 12 พ.ย. 13, 21:39

หน้า ๕๖ และ ๕๗

เข้ารับตำแหน่งแทนต่อไป กลับกันไปมาอยู่เช่นนี้

อีกประการ ๑ ในขณะเมื่อปาร์ตีใดได้รับน่าที่ปกครอง ฤๅพูดตามศัพท์อังกฤษว่า “ถืออำนาจ”(“อินเปาเวอร”) ปาร์ตีนั้นก็เลือกเอาแต่คนที่มีความเห็นพ้องกับตนไปตั้งแต่งไว้ในตำแหน่งที่น่าที่ต่าง ๆ ในรัฐบาล เปนทางรางวัลผู้ที่เปนพวกพ้องและที่ได้ช่วยเหลือปาร์ตีในเมื่อกำลังพยายามหาอำนาจอยู่นั้น พอเปลี่ยนปาร์ตีใหม่ได้เข้าถืออำนาจ เจ้าน่าที่ต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปด้วยทั้งชุด ตั้งแต่ตัวเสนาบดีลงไป

การเปลี่ยนเจ้าน่าที่ทำการงานของรัฐบาลชุดเช่นนี้ถ้ายิ่งเปลี่ยนบ่อยเท่าใดก็ยิ่งชอกช้ำมากเท่านั้น การงานก็อาจที่จะเสียหายไปได้มาก ๆ เพราะบางที่คนพวก ๑ ได้เริ่มคิดไว้แล้ว แต่ยังมิทันจะได้กระทำไปให้สำเร็จก็มีคนอื่นเข้ามารับน่าที่เสียแล้ว งานการก็เท่ากับต้องเริ่มริไปใหม่

เขาแลเห็นกันอยู่เช่นนี้ทั่วกัน จึ่งต้องจัดให้มีคนจำพวก ๑ ซึ่งเรียกว่า “ข้าราชการประจำ” (“เปอรมะเนนต์ ออฟฟิเชียล”) ไว้ในกระทรวงและกรมต่างๆทุกแห่งเพื่อเปนผู้ดำเนินการงานของรัฐบาลไปตามระเบียบเรียบร้อย ซึ่งไม่ผิดอะไรกันกับวิธีจัดระเบียบราชการรัฐบาลแห่งเมืองอันพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจเต็มเปนผู้ปกครองนั้นเอง

เสนาบดีฤๅ พวกหัวน่ากรมกระทรวงที่ผลัดกันเข้าออกอยู่นั้น เปนแต่ผู้คิดทางการที่จะดำเนินต่อไปอย่างไร เมื่อคิดแล้วก็ต้องมอบให้พวกข้าราชการประจำเปนผู้ทำต่อไป จะทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น พวกข้าราชการประจำเหล่านี้คือผู้ที่ต้องเหน็จเหนื่อยจริง กรากกรำลำบากจริง นั่งออฟฟิซจริง ทำการงานของรัฐบาลจริง แต่พวกเหล่านี้ฤาได้รับบำเหน็จรางวัล ลาภยศฤๅถานันดรศักดิ์ หามิได้เลย ผู้ที่ได้รับบำเหน็จรางวัลคือผู้ที่มาขี่หลัง คือผู้ที่เข้ามาครอบ คือผู้ที่เปนพวกพ้องของหัวน่าปาร์ตีที่ถืออำนาจ

ถ้าแม้ว่าใคร ๆ ที่มีความรู้พอและพยายามพอที่จะอ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศอยู่เนือง ๆ และหมั่นตรวจดูอยู่ว่าผู้ที่ได้รับบำเหน็จ มีเลื่อนยศ รับยศใหม่ รับตรา เปนต้นเหล่านี้ คือใครบ้าง แล้วและสืบสาวดูว่าบุคคลนั้น ๆ ได้กระทำความชอบแก่ชาติบ้านเมืองอย่างไร คงจะได้แลเห็นว่า ในจำพวกที่รับบำเหน็จนั้น มีผู้ที่ปรากฎว่าได้ทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองจริง ๆ เปนส่วนน้อย (และทหารบกทหารเรือนาน ๆ จะมีนามอยู่ในหมู่ผู้รับบำเหน็จสูง ๆ สักคราว ๑) โดยมากเป็นพวกมีทรัพย์เท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่าการมีทรัพย์นั้นแลเปนเครื่องที่จะบันดาลให้คนได้รับบำเหน็จดู ๆ ไปก็คล้าย ๆ ซื้อบำเหน็จกันได้

วิธีซื้อนั้น ไม่ใช่ซื้อกันตรง ๆ มักเปนไปทางอ้อม คือทางส่งเงินไปเข้าเรื่ยรายในเงินกองกลางของปาร์ตี ปาร์ตีใช้เงินกองกลางนี้สำหรับใช้จ่ายในเมื่อจัดให้คนพวกของตนไปรับเลือกเปนเมมเบอร์ปาร์ลิยเมนต์ นับว่าเปนอันได้ช่วยโดยทางอ้อมเพื่อให้ปาร์ตีได้ถืออำนาจ ยกเอาว่าเปนความชอบแก่รัฐบาล จึ่งให้บำเหน็จเพื่อแสดงความพอใจของปาร์ตี

เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว ก็ไม่ผิดอะไรกันกับเจ้าแผ่นดินบำเหน็จรางวัลแต่พวกพ้องของตนเองที่ประจบประแจงบำเหน็จรางวัลก็คงเปนอันไปได้แก่คนหัวประจบอีก ไม่ใช่ได้แก่ผู้ที่ทำการงานจริง ๆ

คราวนี้ก็จะต้องแก้ขึ้นว่า ถึงแม้จะเปนไปได้เช่นนั้นก็ตาม แต่ถ้าเมื่อใดปรากฏขึ้นว่าคณะซึ่งเปนรัฐบาลมีความลำเอียงฤาประพฤติไม่เปนยุติธรรม ราษฎรก็อาจจะ

หน้า ๕๘ และ ๕๙

ร้องขึ้นได้ และอาจที่จะร้องให้คณะนั้นออกจากน่าที่รัฐบาลเสียได้เพราะฉนั้น คณะที่เปนรัฐบาลจำจะต้องระวังอยู่

ข้อนี้จริงและถูกต้องทุกประการตามตำรา แต่ตามความจริงนั้นเปนอยู่อย่างไร? ประชาชนจะร้องทักท้วงขึ้นได้ก็โดยอาไศรยปากแห่งผู้แทนซึ่งได้เลือกให้เข้าไปเปนสมาชิกแห่งรัฐสภาอยู่แล้ว ก็ในที่ประชุมปาร์ลิยเมนต์นั้น แล้วแต่คะแนนมากและน้อยมิใช่ฤๅ พวกรัฐบาลเขามีอยู่มาก ถึงใคร ๆ จะร้อง จะว่าเขาอย่างไร ๆ เมื่อท้าลงคะแนนกันเข้าเมื่อใดก็ต้องแพ้เขาเมื่อนั้น

อีกประการ ๑ การให้บำเหน็จรางวัลผู้ที่ให้เงิน “ลงขัน” กองกลางของปาร์ตีนั้น มิใช่ว่าจะกระทำอยู้แต่เฉภาะปาร์ตีเดียว ย่อมจะกระทำอยู่ด้วยกันทุกปาร์ตี เพราะฉะนั้นปาร์ตีใดจะร้องติเตียนอีกปาร์ตี ๑ ก็ไม่ใคร่ถนัดเปนเรื่อง “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” อยู่ฉะนี้ จึ่งเปนการยากที่จะแก้ไขให้หายไปได้ ข้อที่แสดงมาแล้วนี้ ก็นับว่าร้ายอยู่แล้ว แต่ยังมีต่อไปอีกขั้น ๑ คือ

๔. คณะฤๅปาร์ตีทั้ง ๒ ฝ่ายต่างตกลงกันเสียว่าจะผลัดเปลี่ยนกันเข้าเปนรัฐบาลผลัดเปลี่ยนกันมีโอกาศได้อุดหนุนพวกพ้องของตน เมื่อได้ตกลงกันเช่นนี้แล้วเมื่อใด ก็แปลว่าถึงที่สุดแห่งความเลวทราม เพราะเปนอันหมดทางที่จะแก้ไขได้ ในระหว่างที่ปาร์ตี “ก” เปนรัฐบาล ก็อุดหนุนพวกพ้องของตนเสียเต็มที่ ฝ่ายปาร์ตี “ข” ก็ไม่คัดค้านจริงจังอันใด จะคัดค้านบ้างก็แค่พอเปนกิริยา เพราะนึกอยู่ว่าไม่ช้าก็จะถึงคราวฝ่ายตนได้เข้าไปนั่งกินบ้าง

ความเสียหายอันนี้มีอยู่แก่ปาร์ลิยเมนต์แทบทุกเมือง แม้แต่ที่เมืองอังกฤษซึ่งนิยมกันว่าเปนประเทศซึ่งมีปาร์ลิยเมนต์อันดีที่สุด ก็ยังมีคนอังกฤษเองร้องติอยู่ว่า ในเรื่อง “ขายบำเหน็จ” นั้น ถึงแม้ใคร ๆ จะร้องขึ้นในปาร์ลิยเมนต์ก็ไม่เปนผลอันใด เพราะทั้งคณะลิเบรัลและคอนเชอร์วะติฟพากันตัดรอนปัญหาเสีย มิได้ทันต้องได้ปฤกษากัน ฤๅลงคะแนนกันเลย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินนั้น ถึงแม้ว่าทรงจะทราบเรื่องนี้ ก็ไม่มีอำนาจจะทรงแก้ไขอย่างใดได้ การที่จะประทานบำเหน็จรางวัลแก่ผู้ใด ก็ต้องเปนไปตามความแนะนำของเสนาบดีเปนพื้น จะมีที่เลือกประทานเองได้บ้างก็แต่พวกข้าราชการในราชสำนักนี้เท่านั้น ก็เมื่อในประเทศอังกฤษเปนเช่นนี้ได้แล้ว ในประเทศอื่นจะเปนอย่างไร

การมีปาร์ลิยเมนต์ ฤๅเปนริปับลิคไม่ตัดการฉ้อโกงฤๅการไม่สม่ำเสมอให้หมดได้ แต่ว่า-ข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ก็เปนแต่หัวข้อบางข้อ ซึ่งตามความเห็นของเราเหนว่าเปนสำคัญ และโทษทั้งปวงที่ได้แสดงมาแล้วนั้น อาจจะมีได้ไม่เฉภาะแต่ที่ในประเทศซึ่งใช้ลักษณปกครองเปน “รีปับลิค” ก็มีได้เหมือนกัน การมีปาร์ลิยเมนต์ก็ดี ฤๅ ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนลักษณปกครองเปนริปับลิคไปที่เดียวก็ดี ไม่ตัดการฉ้อโกงฤๅการไม่สม่ำเสมอให้หมดไปได้เลย

ถ้าผู้ถืออำนาจยังมีทางที่เลือกให้บำเหน็จรางวัลแก่ใคร ๆ ได้ตามใจอยู่ตราบใด คนสอพลอและหัวประจบก็คงยังต้องมีอยู่ตราบนั้น จะผิดกันก็แต่ชื่อที่เรียกผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่ว่า-มันก็มีข้อที่ควรคำนึงต่อไปอยู่บ้าง และถึงแม้ว่าจะเปนข้อที่ไม่พึงใจก็จำจะต้องมองดูตรง ๆ คือ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 12 พ.ย. 13, 21:48

หน้า ๖๐, ๖๑ และ ๖๒

“เสียงประชาคือเสียงเทวดา”

ความนิยมของคนโดยมากในสมัยนี้ทั่วไปมีอยู่ว่า การที่มอบอำนาจไว้ในมือบุคคลคนเดียว ให้เปนผู้จัดการปกครองชาติบ้านเมืองคนเดียวนั้น ต้องได้คนที่ ดีจริง เก่งจริง สามารถจริง จึ่งจะควรไว้ใจให้เปนผู้ครอบครองได้ โดยไม่ต้องเกรงว่าบุคคลผู้นั้นจะใช้อำนาจในที่ผิดและไม่เปนประโยชน์ฤๅความศุขแห่งประชาชน

แต่การที่จะหาคนเช่นนี้ก็มิใช่ง่าย และถ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่เปนผู้ที่เหมาะแก่น่าที่แล้ว จะเปลี่ยนตัวก็ยาก นอกจากที่เจ้าแผ่นดินนั้นเองจะมีความรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถพอที่จะทำน่าที่ได้ และมีความรักชาติพอ มีใจเด็ดเดี่ยวพอที่จะสละอำนาจ สละลาภยศและราไชสวรรย์จึ่งหลีกไปเสีย เพื่อให้ผู้ที่ประชาชนนิยมมากกว่าได้มีโอกาศทำการเพื่อบังเกิดผลอันใหญ่ยิ่งขึ้นแก่ชาติบ้านเมือง

แต่เจ้าแผ่นดินที่จะรู้สึกตัวว่าตัวนั้นไม่สามารถก็หายาก และถึงแม้ว่าจะมีบ้าง การที่จะออกจากน่าที่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไปได้โดยง่าย อาจจะมีเครื่องขัดขวางอยู่หลายประการ

เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว มหาชนจึ่งได้พากันค้นหาทางแก้ไขความไม่แน่นอนแห่งลักษณปกครองโดยมีเจ้าแผ่นดินถืออำนาจสิทธิ์ขาดนั้นโดยวิธีใดวิธี ๑ บางเมืองก็แก้ไปทางมี “คอนสติตูชั่น” ขึ้น และตัดอำนาจพระเจ้าแผ่นดินเสียทั้งหมด คงเหลือให้ไว้แต่อำนาจที่จะห้ามกฎหมาย (วีโต้) บางครั้งบางคราว กับการทำสงครามและเลิกสงคราม แต่ถึงแม้อำนาจทั้ง ๓ นี้ ก็ไม่ได้ใช้โดยลำพังคงต้องใช้ได้ด้วยความแนะนำของคณะเสนาบดีโดยมาก

แต่ถึงแม้ตัดอำนาจเจ้าแผ่นดินลงไปปานนี้แล้ว บางชาติก็เหนไม่พอ จึ่งเลยเปลี่ยนเปนริปับลิคไปอีกชั้น ๑ จึ่งเห็นได้ว่าความนิยมของมหาชนเวลานี้เดินไปหาทางประชาธิปตัย คือทางให้อำนาจอยู่ในมือของประชาชนเอง ต้องการที่จะมีเสียงฤๅมีส่วนในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเองให้มากที่สุดที่จะเปนไปได้ และเมื่อความเห็นของคนมาก ๆ ตรงกันเข้าแล้ว ก็ยากที่จะทัดทานฤาคัดค้านไว้ได้ คงจะต้องเปนไปตามความเห็นอันนั้นคราว ๑ จะผิดกันก็แต่เวลาจะช้าฤๅเร็วเท่านั้น

นักปราชญ์โรมันจึ่งได้แสดงเปนภาษิตไว้ว่า “Vox populi vox dei” แปลว่า “เสียงประชาคือเสียงเทวดา” ขยายความว่าเทวดาเปนผู้ที่นิยมกันว่ามีอานุภาพใหญ่สามารถจะบันดาลให้สิ่งทั้งปวงเปนไปตามปรารถนาทุกประการ อันประชาชนซึ่งมีความประสงค์ตรงกันอยู่แล้วโดยมาก และได้แสดงความประสงค์อันนั้นให้ปรากฏชัดแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดจะสามารถทัดทานได้ จึ่งนับว่ามีอานุภาพเปรียบด้วยเทวดาฉะนี้

เมื่อปรากฏอยู่เช่นนี้แล้ว ก็ไม่มีข้อควรสงไสยเลยว่า เมื่อไทยเรานี้คงจะต้องเปนไปอย่างประเทศอื่น ๆ ได้เปนมาแล้ว คงจะต้องมี “คอนสติตูชั่น” อัน ๑ เปนแน่แท้ ถึงแม้การมี “คอนสติตูชั่น” จะมีโทษเช่นที่กล่าวมาแล้วก็ตาม

แต่ลักษณะปกครองโดยมอบอำนาจไว้ในมือพระเจ้าแผ่นดินผู้เดียวก็มีโทษอยู่เหมือนกัน (ซึ่งในเวลาบัดนี้มีผู้แลเห็นและรู้สึกอยู่หลายคน) จึ่งตกอยู่ในปัญหาว่าจะเลือกเอาอย่างไหน และคำตอบปัญหาอันนี้ ก็มีอยู่ว่าแล้วแต่ประชาชนจะเห็นชอบและประสงค์ทั่วกันเถิด

ส่วนตัวเราเองนั้นย่อมรู้สึกอยู่ดีว่า การเปนเจ้าแผ่นดินมีความลำบากปานใด คับใจเพียงใด ที่ยังคงอุส่าห์ทำการไปโดยหวังใจให้บังเกิดผลอันดีที่สุดแก่ชาติบ้านเมืองของเราเท่านั้น การใด ๆ ที่เราจะทำไปให้บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จได้ ก็ด้วยอาไศรยความพร้อมใจแห่งข้าราชการ อันเปนผู้รับน่าที่ทำการงานของรัฐบาล ตั้งแต่เสนาบดีลงไปจนถึงผู้มีตำแหน่งน่าที่น้อยๆ อาไศรยความไว้ใจแห่งท่านเหล่านี้อันอยู่ในตัวเรา ไว้ใจว่ามีความมุ่งดีและมีความ สามารถพอที่จะเปนหัวน่าเปนนายเหนือเขาทั้งหลายได้

ถ้าเมื่อได้ความไว้ใจอันนี้เสื่อมถอยลงไป ฤๅสิ้นไปแล้ว ตัวเราก็เท่ากับท่อนไม้อัน ๑ ซึ่งบุคคลได้ทำขึ้นไว้เปนเตว็ดตั้งไว้ในศาล จะมีผู้เคารพนับถือก็แต่ผู้ที่มีปัญญาถ่อย ปราศจากความคิดเท่านั้น.

บันทึกการเข้า
saimai
อสุรผัด
*
ตอบ: 44


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 12 พ.ย. 13, 22:44

ขอบคุณค่ะคุณเพ็ญชมพู  ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 15 พ.ย. 13, 17:02

ขอบคุณค่ะคุณสายไหม
เป็นพระราชวิจารณ์ที่ใช้ได้ตลอดมา แม้แต่ในปี 2556  ก็ยังทันสมัยอยู่
เรามี "คอนสติตูชั่น" มาหลายฉบับแล้ว     ระบบรัฐสภาถูกต้องตามระเบียบแบบแผนเราก็มี    ข้าราชการประจำก็มี   ผู้แทนที่ได้รับเลือกตามระบบก็มี
แต่การเมืองก็ยังไม่เคยสงบเรียบร้อยเลยจนบัดนี้
บันทึกการเข้า
saimai
อสุรผัด
*
ตอบ: 44


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 23 พ.ย. 13, 19:30

เห็นด้วยค่ะคุณเทาชมพู ดิฉันคิดว่าพระราชวิจารณ์นี้ร่วมสมัยมาก ราวกับเขียนเมื่อไม่มานี้ ประเทศไทยคงใช้ "คอนสติตูชั่น"แบบชาติใดไม่ได้ เราคงต้องคิดแบบเฉพาะมาใช้เอง

ปัจจุบันนี้ยังอ่านเล่มนี้ไม่จบเลยค่ะ  ไปรับเป็นอาสาสมัครถอดเสียงธรรมะบรรยาย แล้วก็ไปเที่ยวอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยมา
ทำให้คิดถึงเหล่าคณะราษฎรเหลือเกิน..
บันทึกการเข้า
nutty
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 18 ธ.ค. 13, 10:42

ขอบคุณนะคับคุณเพ็ญชมพู
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 19 คำสั่ง