เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 22 23 [24] 25 26 27
  พิมพ์  
อ่าน: 154781 โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 345  เมื่อ 11 มี.ค. 14, 22:03


และเรื่องอื่นๆ ที่คึกฤทธิ์เล่านั้นก็ “ได้ยินมาจากปากผู้ใหญ่ทั้งสิ้น (คึกฤทธิ์ 2514, 2) ซึ่งนั่นเป็นการวางอาญาสิทธิ์ (authority) กำกับเรื่องทั้งนั้นไว้ เรื่องท่านป้าฉวีวาดของผู้เขียน (author) ที่ชื่อคึกฤทธิ์จึงไม่ควรมีข้อให้สงสัยด้วยประการทั้งปวง และควรต้องกล่าวด้วยว่า อาญาสิทธิ์อีกหนึ่งคือความเป็น "หม่อมราชวงศ์" ของคึกฤทธิ์นั้นได้ช่วยเสริมความไม่พักต้องสงสัยให้กับเรื่องราวอีกด้วย
 
ผมเคยเชื่อในเรื่องที่คึกฤทธิ์เขียนอย่างไม่ใคร่จะสงสัยนัก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือยอมรับในอาญาสิทธิ์ของคึกฤทธิ์ กระทั่งเมื่อหลายปีก่อนที่ความสงสัยก่อตัวขึ้นอันมีกำเนิดจากการอ่านความทรงจำลางตอนของ "ผู้ใหญ่" ลางคน และทวีขึ้นโดยลำดับหลังจากนั้นเมื่อพบเข้ากับความทรงจำของอีกมากผู้หลายคน และเรื่องอื่นๆ ทั้งที่แวดล้อมและปรากฏอยู่เป็นฉากหลังชีวิตของฉวีวาด

คุณธิบดีเล่นคำว่า author  และ authority ในข้อความตอนนี้  แสดงให้เห็นด้วยการใส่คำไว้ในวงเล็บ    ถ้าหากว่าแปลเป็นภาษาอังกฤษมันก็ฟังเท่มิใช่น้อย   เพราะเป็นการเล่นคำให้ฟังสละสลวย   เช่นใช้ในคำว่า the authority of the author   หรือ the author's authority   สันนิษฐานว่าคุณธิบดีตั้งใจจะให้ความหมายของ authority เพียงแค่คำว่า power    ไม่ใช่ authority ในความหมายที่ใช้กันโดยมาก คืออำนาจของรัฐ   หรือถ้าเป็นคนก็หมายถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการ      คำนี้คนไทยใช้คำเดียวรวมกันได้ทั้งอำนาจและคน คือคำว่า "ทางการบ้านเมือง"
ส่วนคำว่า "อาญาสิทธิ์"ที่คุณธิบดีแปลจาก authority เป็นไทยนั้น  มันไม่ตรง   เพราะอาญาสิทธิ์ คือสิทธิ์ในการลงโทษ  อาญาคือโทษ    สมัยโบราณเราใช้คำว่าอาญาสิทธิ์กับแม่ทัพที่ได้รับมอบอำนาจเด็ดขาดจากพระเจ้าแผ่นดิน ตัดสินโทษขั้นสูงสุดได้เอง คือตัดหัวใครก็ได้ ไม่ต้องกราบบังคมทูล    มักใช้กันในยามจำเป็นเช่นยามสงคราม เพราะมัววิ่งไปทูลอยู่เห็นจะไม่ทันการ    ถ้าในเกร็ดพงศาวดารจีน  ไจเสี่ยงหรืออัครมหาเสนาบดีของจีนได้รับพระราชทานกระบี่อาญาสิทธิ์ อยากตัดหัวใครตัดได้เลย   ไม่มีโทษ

ดังนั้น   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ไม่มีทั้ง authority  และ อาญาสิทธิ์  ไม่ว่าในความหมายของอังกฤษหรือไทย  แม้แต่จะแปลว่าท่านมี power ในการเขียนก็ยังไม่ใช่ด้วยซ้ำ      สิ่งที่คุณธิบดีหมายความนั้นน่าจะเป็นคำว่า privilege    มากกว่า authority   คือสิทธิพิเศษบางอย่างที่คนทั่วไปไม่มี    เรามีศัพท์คำนี้ ว่า "อภิสิทธิ์"    

  เมื่อคุณธิบดีบอกว่า
  "อาญาสิทธิ์อีกหนึ่งคือความเป็น "หม่อมราชวงศ์" ของคึกฤทธิ์นั้นได้ช่วยเสริมความไม่พักต้องสงสัยให้กับเรื่องราวอีกด้วย"
   คุณธิบดีหมายถึงอภิสิทธิ์เหนือคนทั่วไปที่เป็นนาย นางและนางสาว ธรรมดาๆ     เพราะท่านเป็นหม่อมราชวงศ์  ซึ่งหมายความว่าท่านมีอภิสิทธิ์ของการได้รับยกย่องโดยชาติกำเนิด  ซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่มี

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 346  เมื่อ 11 มี.ค. 14, 22:13

อ้างถึง
และเรื่องอื่นๆ ที่คึกฤทธิ์เล่านั้นก็ “ได้ยินมาจากปากผู้ใหญ่ทั้งสิ้น (คึกฤทธิ์ 2514, 2) ซึ่งนั่นเป็นการวางอาญาสิทธิ์ (authority) กำกับเรื่องทั้งนั้นไว้ เรื่องท่านป้าฉวีวาดของผู้เขียน (author) ที่ชื่อคึกฤทธิ์จึงไม่ควรมีข้อให้สงสัยด้วยประการทั้งปวง
เรื่องนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของคุณธิบดี ไม่ใช่ข้อเท็จจริง จึงควรจะใส่ไว้ให้ชัดเจนว่าเป็นการตีความของคุณ    เพราะคำว่า "ได้ยินมาจากปากผู้ใหญ่ทั้งสิ้น" จะตีความยังไงก็ได้หลายอย่าง   ไม่ใช่อยู่ในประเด็นเดียวว่ามันมี authority กำกับเป็นอำนาจผูกขาด   ห้ามคนสงสัยใดๆ   
สมมุติว่าคุณธิบดีเล่าให้ดิฉันฟังว่า " เรื่องผีปอบที่จะเล่าต่อไปนี้     ผมได้ยินมาจากปากผู้ใหญ่ทั้งสิ้น"  คุณคงไม่ได้ตั้งใจว่าคุณกำลัง "วางอาญาสิทธิ"    มิให้ดิฉันสงสัยด้วยประการทั้งปวงว่าเรื่องมันจริงหรือเปล่า    คุณอาจหมายความเพียงว่า คุณไม่ได้สมมุติเรื่องขึ้นมาเอง     คุณฟังมาจากบุคคลอื่น แล้วถ่ายทอดต่ออีกทีหนึ่งต่างหากเล่า   
หรืออาจจะหมายความว่า  คุณไม่ได้สมมุติเรื่องขึ้นมาเอง     คุณฟังมาจากบุคคลอื่น จะจริงเท็จยังไงคุณก็ไม่ยืนยัน  อยู่ที่ผู้เล่าเรื่องคนแรกว่าเล่าจริงหรือเท็จ
หรือ...ฯลฯ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 347  เมื่อ 12 มี.ค. 14, 08:45


ผมเคยเชื่อในเรื่องที่คึกฤทธิ์เขียนอย่างไม่ใคร่จะสงสัยนัก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือยอมรับในอาญาสิทธิ์ของคึกฤทธิ์ กระทั่งเมื่อหลายปีก่อนที่ความสงสัยก่อตัวขึ้นอันมีกำเนิดจากการอ่านความทรงจำลางตอนของ "ผู้ใหญ่" ลางคน และทวีขึ้นโดยลำดับหลังจากนั้นเมื่อพบเข้ากับความทรงจำของอีกมากผู้หลายคน และเรื่องอื่นๆ ทั้งที่แวดล้อมและปรากฏอยู่เป็นฉากหลังชีวิตของฉวีวาด

สะดุดการใช้ภาษา อีกคำหนึ่งของคุณธิบดี คือ ลางตอน  ลางคน

ในเมื่อเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ 
อ้างถึง
"ติดอยู่ในระหว่างสิ่งที่คุณ ประกอบ เรียกว่า จารีตธรรมเนียมนิยมภาษาไทย กับสิ่งที่อาจารย์เทาชมพูเรียกว่า
วิธีแบบต่างประเทศ  "ขลุกขลักๆ อยู่ตรงนั้น สุดท้ายก็ออกมาแบบลูกผีลูกคน
(ฟังความเห็นจากหลายท่านแล้วทีจะโน้มเอียง(กะเท่เร่)ไปทางลูกผีเสียมากกว่า)
ผมอาจจะไม่ได้แจงให้แจ้งแก่ใจของหลายท่าน เพราะผมก็ยังไม่แจ้งแก่ใจผมเองเสียทีเดียว 
ดิฉันก็ขอสนับสนุนให้คุณธิบดีเป็นคนรุ่นใหม่ไปเลยดีกว่าค่ะ      ด้วยการแก้คำว่า ลางตอน ลางคน เป็น บางตอน บางคน ที่คนรุ่นใหม่เขาใช้กัน    แม้แต่คนรุ่นเก่าอย่างดิฉันก็ใช้มาตั้งแต่จำความได้     
เพราะคำว่า "ลาง" ที่แปลว่า "บาง" นั้น  เป็นภาษาในหนังสือสมัยคุณหลวงสารานุประพันธ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๖  โน่นแน่ะ   เขาเลิกใช้กันมานานแล้ว    อาจหลงเหลืออยู่ในข้อเขียนของนักเขียนตกยุคบางคน   ซึ่งไม่จำเป็นต้องเอาอย่างให้คนอ่านยุคปัจจุบันแปร่งหูอีก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 348  เมื่อ 12 มี.ค. 14, 09:20

เห็นคุณเทาชมพูเข้า "ซอยภาษา" ก็เลยย่องตามมา

และเรื่องอื่นๆ ที่คึกฤทธิ์เล่านั้นก็ “ได้ยินมาจากปากผู้ใหญ่ทั้งสิ้น (คึกฤทธิ์ 2514, 2) ซึ่งนั่นเป็นการวางอาญาสิทธิ์ (authority) กำกับเรื่องทั้งนั้นไว้ เรื่องท่านป้าฉวีวาดของผู้เขียน (author) ที่ชื่อคึกฤทธิ์จึงไม่ควรมีข้อให้สงสัยด้วยประการทั้งปวง และควรต้องกล่าวด้วยว่า อาญาสิทธิ์อีกหนึ่งคือความเป็น "หม่อมราชวงศ์" ของคึกฤทธิ์นั้นได้ช่วยเสริมความไม่พักต้องสงสัยให้กับเรื่องราวอีกด้วย

คำว่า "อาญาสิทธิ์" หากไปถามท่านรอยอินก็จะได้ความหมายดั่งที่คุณเทาชมพูว่าไว้นั่นแหละ แต่ปัจจุบันความหมายของอาญาสิทธิ์เลื่อนไปตามเวลา เราจึงเห็นนิยายบางเรื่องใช้ชื่อว่า "อาญาสิทธิ์แห่งรัก" บ้าง "เสน่หาอาญาสิทธิ์" บ้าง (ชื่อพวกนี้ได้มาจากคุณกุ๊ก) ซึ่งคงมีความหมายว่า "อำนาจเด็ดขาด" ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "absolute power" หรือ "absolute authority"  อย่างน้อยเราก็เห็น "อาญาสิทธิ์" ของคุณชายคึกฤทธิ์ ที่ทำให้ประวัติของหม่อมเจ้าฉวีวาดผิดเพี้ยน และไปอยู่ตามหนังสือ และสื่อต่าง ๆ รอให้ชนรุ่นหลังแก้ไขต่อไป  ยิงฟันยิ้ม

ผมเคยเชื่อในเรื่องที่คึกฤทธิ์เขียนอย่างไม่ใคร่จะสงสัยนัก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือยอมรับในอาญาสิทธิ์ของคึกฤทธิ์ กระทั่งเมื่อหลายปีก่อนที่ความสงสัยก่อตัวขึ้นอันมีกำเนิดจากการอ่านความทรงจำลางตอนของ "ผู้ใหญ่" ลางคน และทวีขึ้นโดยลำดับหลังจากนั้นเมื่อพบเข้ากับความทรงจำของอีกมากผู้หลายคน และเรื่องอื่นๆ ทั้งที่แวดล้อมและปรากฏอยู่เป็นฉากหลังชีวิตของฉวีวาด

ดิฉันก็ขอสนับสนุนให้คุณธิบดีเป็นคนรุ่นใหม่ไปเลยดีกว่าค่ะ      ด้วยการแก้คำว่า ลางตอน ลางคน เป็น บางตอน บางคน ที่คนรุ่นใหม่เขาใช้กัน    แม้แต่คนรุ่นเก่าอย่างดิฉันก็ใช้มาตั้งแต่จำความได้    

บางทีการใช้คำประเภทนี้ ก็ทำให้ข้อเขียน "ขลัง" ขึ้นได้เหมือนกัน แต่ก็ขึ้นกับความชอบของแต่ละบุคคล

"ลางเนื้อชอบลางยา"



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 349  เมื่อ 12 มี.ค. 14, 09:57

คุณเพ็ญชมพูออกความเห็น!!


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 350  เมื่อ 12 มี.ค. 14, 18:03


"ลางเนื้อชอบลางยา"
ลางทีก็ใช่  ลางทีก็หาใช่ไม่   ลางบางลางเป็นได้แต่ลาง มิอาจเป็นบาง  
หากว่าลางกันมิเบาบาง ลางครั้งอาจไม่รู้ว่าลางไหนเป็นบางไหน

ลางลิงลิงลอดไม้             ลางลิง
แลลูกลิงลงชิง            ลูกไม้
ลิงลมไล่ลมติง            ลิงโลด หนีนา
แลลูกลิงลางไหล้            ลอดเลี้ยวลางลิง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 351  เมื่อ 12 มี.ค. 14, 18:43


คำว่า "อาญาสิทธิ์" หากไปถามท่านรอยอินก็จะได้ความหมายดั่งที่คุณเทาชมพูว่าไว้นั่นแหละ แต่ปัจจุบันความหมายของอาญาสิทธิ์เลื่อนไปตามเวลา เราจึงเห็นนิยายบางเรื่องใช้ชื่อว่า "อาญาสิทธิ์แห่งรัก" บ้าง "เสน่หาอาญาสิทธิ์" บ้าง (ชื่อพวกนี้ได้มาจากคุณกุ๊ก) ซึ่งคงมีความหมายว่า "อำนาจเด็ดขาด" ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "absolute power" หรือ "absolute authority"  อย่างน้อยเราก็เห็น "อาญาสิทธิ์" ของคุณชายคึกฤทธิ์ ที่ทำให้ประวัติของหม่อมเจ้าฉวีวาดผิดเพี้ยน และไปอยู่ตามหนังสือ และสื่อต่าง ๆ รอให้ชนรุ่นหลังแก้ไขต่อไป  ยิงฟันยิ้ม

ปัจจุบัน    ความหมายของอาญาสิทธิ์ผิดเพี้ยนไปตามเวลาต่างหากเล่า    เอาชื่อนิยายมาเป็นมาตรฐานแทนนิยามของท่านรอยอินกระไรได้ 


บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 352  เมื่อ 12 มี.ค. 14, 19:14

เข้ามาเกาะขอบเวที มุมแดงท่านเฒาว์ฌร์มภูว์ลูกจามจุฬี กับมุมน้ำเงิน เภ็ณย์ฌร์มภูว์ษิศย์ศามญ่าน ฮิฮิ งานนี้เหตุผลใครจะมีน้ำหนักกว่ากัน ในฐานะบ่างช่างยุ ต้องติดตามชมอย่างใกล้ชิด  เจ๋ง
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 353  เมื่อ 12 มี.ค. 14, 19:54

พากระทู้กลับไปหาเฟรชชี่ที่เพิ่งพ้นพิธีรับน้องใหม่หมาดๆดีกว่าค่ะ    ยึดเนื้อที่มาหลายค.ห.แล้ว


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 354  เมื่อ 17 มี.ค. 14, 13:57

สงสัยเฟรชชี่จะไม่กลับเสียแล้ว


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 355  เมื่อ 31 มี.ค. 14, 12:34

ถึงแม้เฟรชชี่จะดร็อปกระทู้นี้ไปแล้ว  แต่ยังมีงานเหลือเอาไว้ให้อ่านกันอยู่      ดิฉันเข้าใจว่าสมาชิกเรือนไทยอีกหลายท่านยังสนใจจะรู้จากที่คุณ Thibodi เกริ่นไว้
ดิฉันยังติดใจประเด็นนี้

พักเรื่อง โครงกระดูกในตู้ ไว้ชั่วครู่แล้วตัดฉากไปที่ นิราสนครวัด  
 
นิราสนครวัด เป็นงานเขียนในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เวลาเมื่อยังเป็นที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระฯ ว่าด้วยการเยือนกัมพูชาและโคชินจีนเมื่อปลาย ค.ศ.1924 จับความตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ไปจนกระทั่งและกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม นิราสนครวัด พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1925
 
ในบ่ายวันที่ 3 ธันวาคม 1924 กรมพระดำรงฯ ไปดูภูมิสถานและของโบราณที่เมืองอุดงค์ ที่นั่น ราชการอาณานิคมฝรั่งเศสได้จัดมโหรี ปี่พาทย์ ลิเก และละคร ไว้รับรองด้วย กล่าวเฉพาะละครนั้น กรมพระดำรงฯ เล่าไว้ว่า
 
ละครนั้นก็น่าดู ว่าไปหามาจากเกาะแห่งหนึ่งในลำน้ำโขง มีผู้หญิงตัวละคอนสัก 10 คน กับปี่พาทย์เครื่องคู่สำรับหนึ่ง ละคอนแต่งตัวอย่างบ้านนอก แต่แต่งตามแบบละคอนหลวงกรุงกัมพูชา กระบวรเล่นเห็นรำแต่เพลงช้ากับเพลงเร็ว และมีรำเพลงจีนรำพัดได้ เห็นมีหนังสือบทมาวางไว้ ขอเขามาเปิดอ่านดูเปนหนังสือขอม ขึ้นต้นว่า “กาลเนาะ โฉมเจ้าไกรทองพงศา” ก็รู้ได้ว่าเอาบทละคอนไทยไปแปลงนั้นเอง นึกอยากจะให้เล่นให้ดูก็จวนค่ำเสียแล้ว (ดำรงราชานุภาพ 2468, 120. การเน้นเป็นของผม, tb)
 
น่าแปลกที่เมื่อคึกฤทธิ์เขียนในอีก 40 กว่าปีให้หลังว่าได้ดูละครเขมรก็เป็นต้องจำเพาะว่าได้ดูเรื่องไกรทอง และก็อ้างอิงบทละครวรรคเดียวกันกับที่กรมพระดำรงฯ เล่าไว้ คือวรรคที่ว่า “กาลเนาะ โฉมเจ้าไกรทองพงศา” เป็นแต่คึกฤทธิ์เขียนยักเยื้องให้ออกสำเนียงภาษาเขมรเป็นว่า "กาลเนาะ โชมเจ้าไกรทองพงซา" เท่านั้น
 
เราจะอธิบายความเหมือนกันอย่างประหลาดนี้อย่างไร ?
 
ผมเสนอว่ามีคำอธิบายอย่างน้อยสองแบบ
 
แบบแรก คึกฤทธิ์ไม่เคยดูไกรทองละครเขมร แต่หยิบเอาเรื่องไกรทองเขมร และบทละครไกรทองใน นิราสนครวัด มาดัดให้เป็นของตัว  ควรกล่าวด้วยว่ามีผู้อธิบายว่าขนบอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในแวดวงปัญญาชนสยาม คนที่มีปัญญาทันกันก็จะรู้ว่าความข้อนั้นนี้มาจากแหล่งใด (อ้างคำอธิบายของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จากความทรงจำของผม, tb) การอ้างอิงตามหลักการทางวิชาการเป็นของฝรั่งที่มาทีหลัง
 
แบบที่สอง ไม่ว่าคึกฤทธิ์จะเคยดูไกรทองเขมรหรือไม่ก็ตาม ความพ้องกันอย่างประหลาดเป็นเรื่องบังเอิญ





นึกถึง "ไผ่แดง" กับ "กาเหว่าที่บางเพลง"



อ้างอิงข้อความ เพื่อเรียกแขกมานั่งหน้าม่านกันก่อนจะเปิดม่านค่ะ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 356  เมื่อ 31 มี.ค. 14, 14:10

แขกยังไม่มา ไทยมานั่งรอก่อนแล้วครับ


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 357  เมื่อ 31 มี.ค. 14, 16:05

ขออนุญาตส่งสารเชิญถึงเฟรชชีคนสำคัญ

กลับมาเยือนเรือนเก่าเราอีกหน
ยังมีคนเฝ้ารอขอความเห็น
มาแลกเปลี่ยนความรู้ชูประเด็น
อย่างน้อย "เพ็ญชมพู" หนอยังรอคอย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 358  เมื่อ 31 มี.ค. 14, 17:15

อ้างถึง
นิราสนครวัด เป็นงานเขียนในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เวลาเมื่อยังเป็นที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระฯ ว่าด้วยการเยือนกัมพูชาและโคชินจีนเมื่อปลาย ค.ศ.1924 จับความตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ไปจนกระทั่งและกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม นิราสนครวัด พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1925
 
ในบ่ายวันที่ 3 ธันวาคม 1924 กรมพระดำรงฯ ไปดูภูมิสถานและของโบราณที่เมืองอุดงค์

จับประเด็นเรื่องวิธีอ้างอิงก่อน
คุณThibodi  เล่าความไว้ว่า นิราสนครวัด(สะกดแบบสมัยพิมพ์หนังสือเล่มที่คุณอ่าน ไม่ได้เปลี่ยนเป็นตัวสะกดอย่างในปัจจุบัน) เป็นงานเขียน   ความจริงต้องใช้ว่าพระนิพนธ์    แต่ก็คงจะเป็นความสมัครใจของผู้เขียนบทความเองที่ถอดราชาศัพท์ไทยออก เวลาเขียนภาษาไทย      สมเด็จฯกรมพระยาดำรง จึงมีราชาศัพท์เฉพาะคำนำหน้าพระนาม  ส่วนกิริยาอาการนั้น คือ"ไป"และ"กลับ"  ไม่มีคำว่าเสด็จไป และเสด็จกลับ     
ที่มาที่ไปของภาษาเฉพาะตัวของคุณ thibodi เคยบอกเหตุผลเอาไว้แล้ว ในค.ห. 324   ก็จะไม่กล่าวซ้ำละค่ะ

แต่จะพูดถึงการอ้างอิงยศ บรรดาศักดิ์และคำนำหน้านามในงานเขียนวิชาการ    คือ เราใช้ยศ บรรดาศักดิ์ และคำนำหน้า สูงสุด หรือหลังสุด ของบุคคลนั้น      เพราะสิ่งเหล่านี้หรือแม้แต่ชื่อของบุคคลนั้นเปลี่ยนแปลงได้ไม่คงที่    จึงเอาที่สูงสุดหรือหลังสุดเป็นหลัก     ถ้าหากว่ายืนกรานจะใช้คำนำหน้าสมัยก่อนๆ ก็อาจจะก่อความสับสนแก่คนอ่านได้
ในกระทู้นี้ได้เกิดความสับสนขึ้นมาเป็นข้อพิสูจน์ความจริงแล้ว คือคุณ Thibodi  ใช้คำว่า กรมพระ  เมื่อเอ่ยถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ   เพราะคุณไปถือหลักกว่าเมื่อมีพระนิพนธ์ "นิราศนครวัด" ท่านทรงเป็นแค่กรมพระ ไม่ใช่สมเด็จกรมพระยา     ส่วนคนอ่านผู้คุ้นเคยกับคำว่า "สมเด็จกรมพระยา" ก็จะฉงนว่าคุณไปลดพระยศของท่านทำไม

การใช้ยศ บรรดาศักดิ์ และคำนำหน้าตามยุคและเวลาที่เกิดเหตุการณ์นั้น   ทำให้ผู้เขียนบทความอย่างคุณ Thibodi ต้องเหนื่อยกับการเรียกชื่อหลากหลาย     และเหนื่อยกับคนอ่านที่ต้องจดจำด้วย

เช่น   พระองค์เจ้าดิศวรกุมารทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับนายแพตเตอร์สัน      ต่อมาในพ.ศ. 2430  พันเอกกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงเป็นผู้บัญชาการทหารบก      จากนั้นกรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย    หลายปีต่อมา   กรมพระดำรงราชานุภาพเสด็จเยือนเขมร จนนิพนธ์เรื่อง "นิราศนครวัด" ขึ้น  ฯลฯ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 359  เมื่อ 02 เม.ย. 14, 13:37


เมื่อคึกฤทธิ์ไปเยือนกัมพูชาในปลาย ค.ศ.1952 ต่อต้น ค.ศ.1953 และเขียนถึงการเดินทางครั้งนั้นไว้ในหนังสือชื่อ ถกเขมร พิมพ์ครั้งแรกในเดือนธันวาคม 1953 นั้น คึกฤทธิ์และคณะไปเยือนเสียมราฐก่อน แวะเที่ยวที่นั่นอยู่หลายเพลาจากนั้นจึงเดินทางต่อมายังกรุงพนมเปญ พำนักที่นั่นเพียงชั่วไม่นานวันแล้วก็กลับเมืองไทย ถ้าใช้คำคึกฤทธิ์เองก็ต้องว่า "ผมอยู่พนมเป็ญไม่นานพอที่จะสังเกตการณ์ได้กว้างขวาง สิ่งที่ได้พบเห็นจึงนับว่าฉาบฉวย" (คึกฤทธิ์ 2506, 220)
 
เมื่ออยู่ ณ กรุงพนมเปญนั้น คึกฤทธิ์และพวกเข้าไปเที่ยวในพระบรมราชวัง
 
ในวังนั้นเราได้ยินเสียงใครซ้อมปี่พาทย์ และเราได้เห็นโรงละครขนาดใหญ่อยู่โรงหนึ่ง จึ่งทราบว่าในพระราชวังเมืองเขมรนั้น ยังมีละครในเป็นของออกหน้าออกตาอยู่ ละครในเมืองเขมรนั้นยังรักษาแบบแผนประเพณีและศิลปะละครรำอย่างของไทยไว้ ความจริงละครรำในเมืองเขมรนี้ ราชสำนักเขมรได้นำออกไปจากกรุงเทพฯ บทที่เล่นยังเป็นเรื่องอิเหนา อุณรุธ สุวรรณหงส์ ไกรทอง และสังข์ทอง และอื่นๆ ทำนองนั้น (คึกฤทธิ์ 2506, 209-210)
 
 
ที่นี้ลองมาค้นดูใน โครงกระดูกในตู้ อีกครั้ง ในนั้นคึกฤทธิ์เล่าว่าเคยได้ดูละครนอกเมืองเขมร
 
เช่นเรื่องไกรทอง ผู้เขียนเองก็เคยได้ดู พอได้ยินเสียงคนบอกบท เริ่มต้นว่า "กาลเนาะ โชมเจ้าไกรทองพงซา" ก็ต้องเบือนหน้าไปยิ้มกับฝาข้างโรง เพราะช่างแปล "เมื่อนั้น โฉมเจ้าไกรทองพงศา" ได้ดีแท้ (คึกฤทธิ์ 2514, 80. การเน้นเป็นของผม, tb)
 
ปัญหาคือ คึกฤทธิ์ไม่ได้เล่าว่าเคยดูละครเรื่องไกรทองดังว่านั้นที่ไหน เมื่อไร
 
ข้อที่ว่าที่ไหนนั้น เป็นได้มากว่าคือที่กัมพูชา ให้แคบไปกว่านั้นคือที่กรุงพนมเปญ อาศัยเหตุดังนั้น คึกฤทธิ์จะได้ดูก็เมื่อก็ต้องเมื่อไปกัมพูชา
 
ณ เวลานี้ เท่าที่ผมทราบ คึกฤทธิ์ไปกัมพูชาครั้งแรก, และอาจจะเป็นครั้งเดียว, ในปลาย ค.ศ.1952 ต่อต้น ค.ศ.1953 และเขียนเรื่องการเดินทางครั้งนั้นไว้ใน ถกเขมร ดังที่กล่าวถึงข้างต้น หากแต่ใน ถกเขมร นั้นไม่มีความตอนใดเลยที่กล่าวถึงการชมละคร มีก็แต่ได้ยินและได้เห็นการซ้อมปี่พาทย์ดังความที่ยกมาข้างต้น และความที่ว่า
 
ผมสนใจเรื่องนี้ [ละครรำ - tb] สักหน่อยก็ไปหาโปรแกรมเก่าๆ ที่เล่นรับแขกเมืองมาดู ปรากกว่าเรื่องอิเหนาและสุวรรณหงส์นั้นยังต้องเล่นเป็นภาษาไทย เพราะตั้งแต่พระเจ้าศรีสวัสดิ์สวรรคตไปแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดจะแปลงบทละครรำของไทยออกเป็นภาษาเขมรได้อีกต่อไป (คึกฤทธิ์ 2506, 210) [Note 2.2]
 
นั่นคือคึกฤทธิ์ไม่ได้เล่าว่าได้ดูละครรำ
 
ถ้าที่ผมเดาไว้ข้างต้น, คึกฤทธิ์ต้องได้ดูละครรำเขมรที่กัมพูชาและคึกฤทธิ์ไปกัมพูชาครั้งแรกและครั้งเดียวในปลายปี 1952 ต่อต้นปี 1953, ไม่ผิดไปจากที่เป็นจริง ก็เป็นได้มากว่าคึกฤทธิ์ไม่เคยดูละครรำเขมร
 
ความที่เดาข้างต้นนี้มีความเสี่ยงในหลายประการ ข้อสำคัญคือไม่จำเป็นเสมอไปที่ผู้เขียนจะเขียนทุกเรื่องที่เขาเห็น ผมสงสัยว่าคึกฤทธิ์ใน ถกเขมร ก็เป็นเช่นนั้น เช่น เราเห็นภาพการ์ตูนประกอบเขียนเรื่องละครบาซะ โดย ประยูร จรรยาวงษ์ ซึ่งร่วมเดินทางไปด้วยกับคึกฤทธิ์

คึกฤทธิ์ไม่ได้เล่าเรื่องละครบาซะไว้ใน ถกเขมร แต่ผมค่อนไปทางเชื่อมากว่า คึกฤทธิ์ก็ได้ดูละครบาซะด้วย
 
กระนั้นก็ดี ผมก็ยังอยากจะเดาอยู่ว่า คึกฤทธิ์ไม่ได้ดูจึงไม่เล่าถึงละครรำไว้ใน ถกเขมร เพราะขนาดถึงว่าขวนขวายไปหา "โปรแกรมเก่าๆ ที่เล่นรับแขกเมืองมาดู" และยังเล่าเรื่องย่อไกรทองสำนวนเขมรไว้ด้วย (คึกฤทธิ์ 2506, 212, 215) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจเรื่องนี้อย่างมาก หากคึกฤทธิ์ได้ดูละครรำมาจริงแล้วน่าที่จะต้องเขียนถึง
 
พักเรื่อง โครงกระดูกในตู้ ไว้ชั่วครู่แล้วตัดฉากไปที่ นิราสนครวัด
 
นิราสนครวัด เป็นงานเขียนในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เวลาเมื่อยังเป็นที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระฯ ว่าด้วยการเยือนกัมพูชาและโคชินจีนเมื่อปลาย ค.ศ.1924 จับความตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ไปจนกระทั่งและกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม นิราสนครวัด พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1925
 
ในบ่ายวันที่ 3 ธันวาคม 1924 กรมพระดำรงฯ ไปดูภูมิสถานและของโบราณที่เมืองอุดงค์ ที่นั่น ราชการอาณานิคมฝรั่งเศสได้จัดมโหรี ปี่พาทย์ ลิเก และละคร ไว้รับรองด้วย กล่าวเฉพาะละครนั้น กรมพระดำรงฯ เล่าไว้ว่า
 
ละครนั้นก็น่าดู ว่าไปหามาจากเกาะแห่งหนึ่งในลำน้ำโขง มีผู้หญิงตัวละคอนสัก 10 คน กับปี่พาทย์เครื่องคู่สำรับหนึ่ง ละคอนแต่งตัวอย่างบ้านนอก แต่แต่งตามแบบละคอนหลวงกรุงกัมพูชา กระบวรเล่นเห็นรำแต่เพลงช้ากับเพลงเร็ว และมีรำเพลงจีนรำพัดได้ เห็นมีหนังสือบทมาวางไว้ ขอเขามาเปิดอ่านดูเปนหนังสือขอม ขึ้นต้นว่า “กาลเนาะ โฉมเจ้าไกรทองพงศา” ก็รู้ได้ว่าเอาบทละคอนไทยไปแปลงนั้นเอง นึกอยากจะให้เล่นให้ดูก็จวนค่ำเสียแล้ว (ดำรงราชานุภาพ 2468, 120. การเน้นเป็นของผม, tb)
 
น่าแปลกที่เมื่อคึกฤทธิ์เขียนในอีก 40 กว่าปีให้หลังว่าได้ดูละครเขมรก็เป็นต้องจำเพาะว่าได้ดูเรื่องไกรทอง และก็อ้างอิงบทละครวรรคเดียวกันกับที่กรมพระดำรงฯ เล่าไว้ คือวรรคที่ว่า “กาลเนาะ โฉมเจ้าไกรทองพงศา” เป็นแต่คึกฤทธิ์เขียนยักเยื้องให้ออกสำเนียงภาษาเขมรเป็นว่า "กาลเนาะ โชมเจ้าไกรทองพงซา" เท่านั้น
 
เราจะอธิบายความเหมือนกันอย่างประหลาดนี้อย่างไร ?
 
ผมเสนอว่ามีคำอธิบายอย่างน้อยสองแบบ
 
แบบแรก คึกฤทธิ์ไม่เคยดูไกรทองละครเขมร แต่หยิบเอาเรื่องไกรทองเขมร และบทละครไกรทองใน นิราสนครวัด มาดัดให้เป็นของตัว ควรกล่าวด้วยว่ามีผู้อธิบายว่าขนบอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในแวดวงปัญญาชนสยาม คนที่มีปัญญาทันกันก็จะรู้ว่าความข้อนั้นนี้มาจากแหล่งใด (อ้างคำอธิบายของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จากความทรงจำของผม, tb) การอ้างอิงตามหลักการทางวิชาการเป็นของฝรั่งที่มาทีหลัง

คุณ Thibodi ลงความเห็นว่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไม่เคยดูละครไกรทองเขมร   แต่หยิบเอาเรื่องไกรทองเขมร และบทละครไกรทองใน นิราสนครวัด มาดัดให้เป็นของตัว    โดยอ้างคำอธิบายของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งเคยลงความเห็นไว้ ในฐานะ "คนมีปัญญาทันกัน"
ถ้าดิฉันเป็นบก.ตรวจบทความของคุณ    ดิฉันจะตั้งประเด็นถามว่า
 1   ในเมื่อคุณก็ยอมรับว่า"ไม่จำเป็นเสมอไปที่ผู้เขียนจะเขียนทุกเรื่องที่เขาเห็น"    ก็เท่ากับคุณยอมรับเป็นไปได้ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เคย ดูละครไกรทองเขมร  แต่ไม่ได้เล่าลงในหนังสือ "ถกเขมร"      ตัวอย่างนั้นคุณก็ยกมาเอง คือละครบาซะ  ที่เป็นภาพประกอบในเรื่อง ฝีมือคุณประยูร จรรยาวงษ์    แต่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไม่เอ่ยถึงสักคำ  ทั้งๆท่านไปเที่ยวเขมรกับคุณประยูร ย่อมได้ไปดูเช่นกัน
 2   ข้อ 1  ก็น่าจะพอแล้วที่จะหักล้างประเด็นในข้อต่อๆมาที่คุณยอมรับว่าคุณเดาเอาเอง ว่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไปลอกเรื่องไกรทองมาจากนิราศนครวัด  เพราะท่านยกตัวอย่างกลอนบทเดียวกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงลงไว้ใน "นิราศนครวัด"
 3  คุณไม่ได้สืบค้นว่า ละครเขมร "ไกรทอง" เคยมาแสดงที่ประเทศไทยบ้างหรือไม่  ก่อนค.ศ. 1971   อันเป็นเหตุให้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีโอกาสได้ดูการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างเขมรกับไทย    ถ้าคุณยืนยันด้วยหลักฐานทางการเมืองได้ว่าละครเขมรไม่เคยมาแสดงในกรุงเทพ ไม่ว่าโอกาสใดๆทั้งสิ้น   ข้อสันนิษฐานของคุณก็มีน้ำหนัก
   แต่ถ้าคุณไม่มีหลักฐานเรื่องนี้   ไม่รู้ว่าละครเขมรเคยมาแสดงให้กรมศิลปากร หรือที่ไหนก็ตามในกรุงเทพดู    น้ำหนักเหตุผลของคุณก็อ่อน
  4  คุณไม่ได้คิดเผื่อว่า คนอ่านหนังสือสำคัญๆมามากอย่างม.ร.ว.คึกฤทธิ์ย่อมเคยอ่านพระนิพนธ์นิราศนครวัดมาก่อน  จำพระนิพนธ์ตอนนี้ได้   เมื่อท่านได้ดูละครเขมรเรื่องไกรทอง(จะที่ไหนก็ตาม)  ความจำข้อนี้ก็คืนกลับมา   ท่านก็ถึง "บางอ๋อ"   ว่ามันเป็นยังงี้เอง  เหมือนในพระนิพนธ์เปี๊ยบเลย   ท่านจึงเท้าความเอาไว้ใน "ถกเขมร"
   5  คุณสรุปว่า  เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถึงละครไกรทองเขมร โดยยกตัวอย่างกลอนบทหนึ่งในนั้น    ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ยกบทนั้นขึ้นมาเหมือนกัน     อย่างนี้ ย่อมแสดงว่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไป "ฉก" ตอนนี้มาจากสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ โดยตัวท่านเองไม่เคยดูไม่เคยเห็นเรื่องไกรทองเขมร    แต่มาคุยโม้เหมือนกับว่าเคยดูมาแล้ว
   คำถามคือ  การดูละครไกรทองเขมร มันสลักสำคัญเพิ่มความน่าเชื่อถือ เสียจนต้องลงทุนแอบอ้างเชียวหรือ?     ถ้ามันสำคัญเสียจนทำแล้วเพิ่มดีกรีให้ตัวท่านเองได้มากมาย    ก็พอจะฟังขึ้น    แต่ถ้าเป็นประโยคเดียวในหนังสือทั้งเล่ม  โดยไม่ได้มีผลอะไรกับประเด็นของหนังสือ  ดิฉันก็ยังเห็นว่าคุณต้องหาหลักฐานมามากกว่านี้ จึงจะน่าเชื่อถือถึงแรงจูงใจของท่าน  
   6  ถ้าหากว่าประเด็นละครไกรทองเขมร คือ "โครงกระดูกในตู้" อีกโครงหนึ่งของม.ร.ว.คึกฤทธิ์อย่างที่คุณเกริ่นไว้     ดิฉันยังไม่เห็นแม้แต่กระดูกหนึ่งชิ้นค่ะ  
  
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 22 23 [24] 25 26 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.291 วินาที กับ 20 คำสั่ง