เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21 22 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 154787 โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร
natadol
ชมพูพาน
***
ตอบ: 171


ความคิดเห็นที่ 285  เมื่อ 08 มี.ค. 14, 21:00

กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ ประสูติเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๐๐ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓๐ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาจันทร์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค ทรงเป็นราชสกุล เกษมศรี เจ้าจอมมารดาจันทร์ นั้น ท่านเคยมีละครสืบทอดมรดกมาจากละครของเจ้าจอมมารดาอัมภา ในพระบาทสมเด็จกระพุทธเลิศหล้านภาลัย ฮืม ฮืม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 286  เมื่อ 08 มี.ค. 14, 21:16

วิกิเล่าเรื่องละครผู้หญิงของเจ้าจอมมารดาจันทร์  ว่า

"..พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทยในเรื่องศิลปะการแสดง โดยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หัดละครแสดงโดยสตรีล้วนขึ้นเป็นครั้งแรก
  และยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำบทพระราชนิพนธ์ไปเล่นได้ โดยโปรดเกล้า ฯ ให้ทำประกาศว่าด้วย ละครผู้หญิง พ.ศ. 2398 อนุญาตให้เจ้านาย ขุนนาง และผู้มีบรรดาศักดิ์หัดละครผู้หญิงขึ้นได้ แต่ได้ขอจำกัดสิทธิ์บางประการไว้สำหรับละครหลวง เช่น รัดเกล้ายอด เครื่องแต่งตัวลงยา พานทอง หีบทอง ซึ่งใช้เป็นเครื่องยศ เครื่องประโคมแตรสังข์ และห้ามมิให้บังคับผู้ที่ไม่สมัครใจเล่นละครให้ได้รับความเดือดร้อน
   เจ้าจอมมารดาจันทร์จึงได้ตั้งโรงละครขึ้นคณะหนึ่งในพระบรมมหาราชวังเพื่อสนองพระบรมราโชบายนี้ ทำการฝึกซ้อม และจัดแสดงจนเป็นที่รู้จัก ซึ่งตัวละครจากโรงละครของเจ้าจอมมารดาจันทร์นี้ ต่อมาได้เป็นครูหัดละครให้โรงละครอื่น ๆ ต่อไปอีกหลายคน"


   ส่วนเจ้าจอมมารดาอำภา เจ้าของละครผู้หญิงที่หม่อมเจ้าฉวีวาดอ้างว่าตกทอดเป็นมรดกของท่านนั้น   ไปพบในเว็บอีกนิดหน่อยว่า ท่านเป็นสตรีสี่แผ่นดิน คือมีอายุตั้งแต่รัชกาลที่ 1  ยืนยาวมาจนรัชกาลที่ 4   
บันทึกการเข้า
natadol
ชมพูพาน
***
ตอบ: 171


ความคิดเห็นที่ 287  เมื่อ 08 มี.ค. 14, 21:21

ถ้าเช่นนั้น คณะละครที่ ม.จ.ฉวีวาด นำไปก็ไม่ไช่ของเจ้าจอมมารดา อำภา เสด็จย่าของท่าน ไช่ไหมครับ อาจจะไม่มีไปเลยก็ได้


บันทึกการเข้า
natadol
ชมพูพาน
***
ตอบ: 171


ความคิดเห็นที่ 288  เมื่อ 08 มี.ค. 14, 21:23

จะเอารูปไปทายห้องโน้นสักหน่อย มาติดที่ห้องนี้ได้ไงเนี่ย ฮืม ฮืม ฮืม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 289  เมื่อ 08 มี.ค. 14, 21:56

จะให้ลบไหมคะ

ถ้าเจ้าจอมมารดาอำภามีอายุยืนยาวมาถึงรัชกาลที่ 4   ท่านคงยกคณะละครให้โอรสธิดาองค์ใดองค์หนึ่งที่มีบารมีมากพอจะเลี้ยงดูคนหลายสิบชีวิตได้   เพราะถึงแม้ว่าทำรายได้ให้เจ้าของคณะได้ แต่ก็เป็นภาระไม่ใช่เล่น
คงไม่ข้ามมาให้หลานสาวอายุน้อยๆคนหนึ่ง ที่ไม่ใช่หลานคนแรก    และในประวัติก็ไม่ได้แสดงว่าใกล้ชิดคุณย่าเป็นพิเศษมาแต่ครั้งไหน

ป.ล. เจ้าจอมมารดาเป็นสามัญชน ไม่ต้องเรียกว่า "เสด็จย่า" ค่ะ
บันทึกการเข้า
natadol
ชมพูพาน
***
ตอบ: 171


ความคิดเห็นที่ 290  เมื่อ 08 มี.ค. 14, 22:32

ครับผม รบกวนท่านอาจาร์ยด้วยครับ ทราบว่าเจ้าจอมมารดาอำภาท่านสิ้นตั้งแต่รัชกาลที่4 แต่บางข้อมูลยังกล่าวว่าท่านนำ หม่อมเจ้าคำรบไปเลี้ยงดูช่วงหลังเกิดเหตุการ์ณ ม.จ.ฉวีวาด ครับ
บันทึกการเข้า
natadol
ชมพูพาน
***
ตอบ: 171


ความคิดเห็นที่ 291  เมื่อ 08 มี.ค. 14, 22:42

ลองไล่อ่านประวัติศาสตร์หลังจากที่รัชกาลที่5 ทรงบรมราชาภิเษกครั้งที่2 ปี2416 เหตุการ์ณต่างๆเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะ เริ่มจาก วิกฤติ์วังหน้า 2417 ม.จ.ฉวีวาด 2419 พระปรีชากลการ 2422 พระนางเรือล่ม 2423  แต่ละเรื่องใหญ่ๆทั้งนั้นเลยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 292  เมื่อ 09 มี.ค. 14, 09:41

      ลองคะเนอายุของเจ้าจอมมารดาอำภา  จากพระชันษาของพระองค์เจ้าชายกปิตถา กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์  ว่า ประสูติ พ.ศ. 2357    ลบ 18 ปีเข้าไปว่าเป็นอายุโดยประมาณของเจ้าจอมมารดาของพระองค์ท่าน    เจ้าจอมมารดาอำภาก็น่าจะเกิดราวๆพ.ศ. 2339
      ตอนเกิดเรื่องหม่อมเจ้าฉวีวาดหนีไปเขมร ในพ.ศ. 2419   เจ้าจอมมารดาอายุประมาณ 80 ปี   ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็น่าจะชราเกินกว่าจะรับหลานไปเลี้ยงแล้ว

     
บันทึกการเข้า
thibodi
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


ความคิดเห็นที่ 293  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 01:04

สวัสดีทุกท่านครับ,

ผมตามอ่านกระทู้ในเรือนไทยอยู่บ้างตามโอกาส และได้ความรู้มากมายจากหลายท่าน
"โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์: ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร" ก็เป็นกระทู้อีกหนึ่งกระทู้ที่ผมตามอ่านด้วยความเจริญใจ ด้วยเพราะตรงกับจริต 1 ด้วยเพราะเคยเขียนถึงอะไรทำนองนี้ไว้ 1
อาศัยเหตุประการหลังจึงใคร่ขอแลกเปลี่ยนความเห็นกับทุกท่าน แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่พูดถึงกันไปแล้วและดูจะเป็นเรื่องนอกประเด็นที่กำลังอภิปรายกันในเวลานี้

---------------------

กระดูกของ “ท่านป้าฉวีวาด”: การชันสูตรใหม่ (1) เปิดตู้
 
ธิบดี บัวคำศรี
19 กุมภาพันธ์ 2555 (PST)
แก้ไขครั้งที่หนึ่ง - 2 กรกฎาคม 2555 (PDT)

http://www.facebook.com/notes/suwasadee-photpun/กระดูกของ-ท่านป้าฉวีวาด-การชันสูตรใหม่-1/390795040937864
 
1. เปิดตู้
 
ใครคือท่านป้าฉวีวาด?
 
ฉวีวาดเป็นหม่อมเจ้าในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ต้นสกุล ปราโมช เกิดแต่ ม.ร.ว. ดวงใจ ซึ่งเป็นหม่อมใหญ่ ฉวีวาดเกิดในตอนต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพี่สาวแม่เดียวกันกับหม่อมเจ้าคำรบ (ภายหลังรับเลื่อนเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า) บิดาของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ อาศัยเหตุดังนั้น คึกฤทธิ์จึงเรียกหม่อมเจ้าท่านนี้ว่า "ท่านป้าฉวีวาด"
 
เรื่องของฉวีวาดปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง โครงกระดูกในตู้ อันเป็นหนังสือที่คึกฤทธิ์เขียนเพื่อ “แจกเป็นมิตรพลีในงานทำบุญอายุครบห้ารอบ 20 เมษายน 2514” โดยคึกฤทธิ์เล่าถึงเรื่องอันไม่งามของฉวีวาดไว้สองสามเรื่อง เรื่องแรก เมื่อฉวีวาดอยู่ในวัยเด็กได้รังแกเจ้าฟ้าพระราชกุมารพระองค์ใหญ่ คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ โดยไม่ต้องรับทัณฑ์ใดๆ ด้วยผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ (คึกฤทธิ์ 2514, 55-56) คึกฤทธิ์อธิบายความเรื่องนี้ว่าเป็นเหตุให้ฉวีวาดลำพองใจแต่นั้นมา เป็นเหตุให้ยามเมื่อเติบใหญ่จึงได้ออกยักษ์อีกหลายคราว ที่สำคัญคือเรื่องที่ฉวีวาดไม่พอใจเจ้าวังหลวงแล้วไปเข้ากับเจ้าวังหน้า และเรื่องการหนีออกจากพระนครไปกรุงกัมพูชา (คึกฤทธิ์ 2514, 57-60, 66-70, 78-82) สองเรื่องหลังนี้เป็นเรื่องเกิดสืบเนื่องกัน
 
ด้วยเรื่องอันไม่งามของฉวีวาดที่ปกปิดกันไว้ในหมู่ญาติซึ่งคึกฤทธิ์เรียกตามอย่างธรรมเนียมฝรั่งว่า "โครงกระดูกในตู้" นี้เองที่ทำให้คึกฤทธิ์กล่าวถึง “ท่านป้าฉวีวาด” ซึ่งเธอเห็นว่าเฮี้ยวว่าใครในบรรดาพวกปราโมชว่าเป็น "โครงกระดูกในตู้โดยแท้" และ "โครงกระดูกอันใหญ่ในตู้" (คึกฤทธิ์ 2514, 37, 78)
 
ย่อหน้าสุดท้ายของ โครงกระดูกในตู้ มีอยู่ว่า
 
หนังสือเรื่องนี้เขียนรวดเดียวจบ ส่งเรียงพิมพ์ทีละ 10 หน้า 20 หน้า เรื่อยไป ไม่มีเวลาย้อนกลับไปตรวจ จึงคงจะมีผิดพลาดบกพร่องมาก ขอได้โปรดถือว่าเป็นความหลงใหลเลอะเทอะของคนแก่คนหนึ่ง อย่าได้ถือสาเลย (คึกฤทธิ์ 2514, 131)
 
แต่ตามข้อเท็จจริงนั้น คึกฤทธิ์เขียนหนังสือเรื่องนี้เมื่ออายุ 59 ปีมีเศษ ยังไม่ครบ 60 ปีบริบูรณ์ มิได้แก่ชราจนต้องอยู่ในความอนุบาลของผู้ใด การที่สามารถเขียนหนังสือขนาด 16 หน้ายก ความยาว 131 หน้า และเขียนรวดเดียวจบแสดงว่าเป็นผู้มีสติสัมปัชชัญญะบริบูรณ์ และเรื่องที่เขียนนั้นก็เป็นเรื่องบรรพบุรุษของตน ข้อที่มิให้ “ถือสา” จึงฟังไม่ขึ้น
 
ความที่คึกฤทธิ์กล่าวข้างต้นยังดูจะเป็นการออกตัวมากกว่าหมายใจเช่นนั้นจริง ในย่อหน้ารองสุดท้ายของหนังสือจึงมีความทำนองอย่างคำพิพากษาอันเป็นที่สุดว่า
 
อาจมีบางท่านเห็นว่าผู้เขียนนำเรื่องที่ไม่ควรเล่ามาเล่า แต่ผู้เขียนเองเห็นว่าเมื่อเรื่องเหล่านี้เป็นความจริง ถึงจะไม่เล่าเองต่อไปก็จะต้องมีผู้อื่นนำมาเล่าจนได้ แต่เมื่อผู้ที่จะนำมาเล่านั้นมิได้ใกล้ชิดกับบุคคลในเรื่อง และมิได้ยินกับหูรู้กับตา ก็อาจเล่าผิดพลาดซ้ำเติมและต่อเติมไปในทางที่ไม่เป็นจริงได้มาก เรื่องของบรรพบุรุษใครคนนั้นเล่าเองเสียจะดีกว่า (คึกฤทธิ์ 2514, 130–131. การเน้นเป็นของผม, tb)
 
ก็ใครที่ไหนจะรู้เรื่องของฉวีวาดซึ่ง “ถูกปิดบังซุบซิบกันมานาน ไม่ให้ลูกหลานได้รู้” ดีเท่าหลานป้าที่ชื่อคึกฤทธิ์ซึ่ง “รู้โดยละเอียด” เพราะ
 
สมัยหนึ่งที่ท่านป้าฉวีวาดชรามากแล้ว ท่านเกิดโปรดปรานหลานคนนี้ขึ้นมา และเอาไป “เลี้ยง” ไว้กับท่าน การเลี้ยงหลานของท่านก็ออกจะแปลก เพราะท่านบรรทมกลางวันเป็นส่วนมาก แต่ปลุกหลานขึ้นมาคุยตอนกลางคืนเล่าเรื่องอะไรต่ออะไรให้ฟัง (คึกฤทธิ์ 2514, 45)
 
และเรื่องอื่นๆ ที่คึกฤทธิ์เล่านั้นก็ “ได้ยินมาจากปากผู้ใหญ่ทั้งสิ้น (คึกฤทธิ์ 2514, 2) ซึ่งนั่นเป็นการวางอาญาสิทธิ์ (authority) กำกับเรื่องทั้งนั้นไว้ เรื่องท่านป้าฉวีวาดของผู้เขียน (author) ที่ชื่อคึกฤทธิ์จึงไม่ควรมีข้อให้สงสัยด้วยประการทั้งปวง และควรต้องกล่าวด้วยว่า อาญาสิทธิ์อีกหนึ่งคือความเป็น "หม่อมราชวงศ์" ของคึกฤทธิ์นั้นได้ช่วยเสริมความไม่พักต้องสงสัยให้กับเรื่องราวอีกด้วย
 
ผมเคยเชื่อในเรื่องที่คึกฤทธิ์เขียนอย่างไม่ใคร่จะสงสัยนัก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือยอมรับในอาญาสิทธิ์ของคึกฤทธิ์ กระทั่งเมื่อหลายปีก่อนที่ความสงสัยก่อตัวขึ้นอันมีกำเนิดจากการอ่านความทรงจำลางตอนของ "ผู้ใหญ่" ลางคน และทวีขึ้นโดยลำดับหลังจากนั้นเมื่อพบเข้ากับความทรงจำของอีกมากผู้หลายคน และเรื่องอื่นๆ ทั้งที่แวดล้อมและปรากฏอยู่เป็นฉากหลังชีวิตของฉวีวาด
 
โดยที่แม้จะยังไม่รู้อย่างกระจ่างชัด ผมพยายามจะหยิบ “กระดูกของท่านป้าฉวีวาด” ชิ้นที่สืบเนื่องกับเรื่องการหนีออกไปกรุงกัมพูชาของเธอขึ้นมาชันสูตรใหม่อย่างน้อยในสองประเด็นคือ เรื่องคณะละครที่คึกฤทธิ์ว่าฉวีวาดหอบหนีออกไปกรุงกัมพูชากับเธอด้วย และเรื่องชีวิต, ที่ยิ่งกว่าละคร, ทั้งในกรุงกัมพูชาและกรุงสยามของฉวีวาดและลูกชาย
 
สิ่งที่ผมพยายามจะทำในบทบันทึกนี้มีสองเรื่อง แรกที่สุดคือจะชี้ให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกัน, รวมถึงความพ้องกันอย่างประหลาด, ในระหว่างข้อเขียนเรื่องฉวีวาดและเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับฉวีวาดของคึกฤทธิ์และของคนอื่นๆ ส่วนเรื่องหลังนั้นผมอยากจะอธิบายว่าเพราะเงื่อนไขใดที่ทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันหรือเกิดความที่ลงกันได้สนิทในแต่ละเรื่อง เรื่องหลังนี้ผมไม่แนใจว่าผมจะทำได้แค่ไหน
 
อนึ่ง ควรกล่าวด้วยว่า การชันสูตรกระดูกของท่านป้าฉวีวาดใหม่ในครั้งนี้ จะนำเราไปพบกับกระดูกอีกหลายชิ้นที่ซุกซ่อนอยู่ในตู้ของพวกปราโมช
 

อ้างอิง
 
คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. 2514. โครงกระดูกในตู้. กรุงเทพฯ: ชัยฤทธิ์. (พิมพ์แจกเป็นมิตรพลีในงานทำบุญอายุ ครบห้ารอบ 20 เมษายน 2514).
 
_______________
 
ตอนต่อไปของ กระดูกของ"ท่านป้าฉวีวาด": การชันสูตรใหม่ (2) ละครเจ้าจอมมารดาอำภา
บันทึกการเข้า
thibodi
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


ความคิดเห็นที่ 294  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 01:46

กระดูกของ “ท่านป้าฉวีวาด”: การชันสูตรใหม่ (2) ละครเจ้าจอมมารดาอำภา
 
ธิบดี บัวคำศรี
8 กรกฎาคม 2555 (PDT)

https://www.facebook.com/notes/suwasadee-photpun/กระดูกของ-ท่านป้าฉวีวาด-การชันสูตรใหม่-2/495050763845624

2. ละครเจ้าจอมมารดาอำภา
 
คึกฤทธิ์เล่าไว้ใน โครงกระดูกในตู้ ว่า เมื่อฉวีวาดหนีออกไปกรุงกัมพูชาภายหลังการเกิดขึ้นของเหตุการณ์อันนำไปสู่วิกฤตวังหน้าเมื่อ ค.ศ.1874 นั้น ฉวีวาดนำ "ละครของเจ้าจอมมารดาอำภาซึ่งตกมาถึงท่านนั้นลงเรือทั้งโรงพร้อมด้วยเครื่องละครและดนตรีปี่พาทย์รวมเป็นคนหลายสิบคน" และกล่าวต่อไปด้วยว่า "ละครโรงนี้เป็นกุญแจไขประตูเมืองเขมรให้เปิดรับท่านอย่างกว้างขวาง" (คึกฤทธิ์ 2514, 68-69) ด้วยเหตุว่า
 
เรื่องละเม็งละครนั้น จะถือว่าเป็นเรื่องเล็กไม่ได้ในสมัยนั้น ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว เพราะประเทศต่างๆ แถวนี้ถือว่าโขนละครและหนังนั้นเป็นสมบัติที่ส่งเสริมเกียรติยศของบ้านเมือง และโขนละครและหนังใหญ่ของไทยนั้นถือกันว่าประเสริฐสุด ทุกประเทศก็อยากได้ไปไว้เป็นของตนหรือเป็นแบบฉบับ.....ที่เมืองเขมรนั้นในฐานะที่เป็นเมืองประเทศราชเช่นเดียวกับเวียงจันท์ คงไม่มีสิทธิ์ที่จะมีโขนหลวงและละครในเช่นเดียวกัน.....เมื่อท่านป้าฉวีวาดเอาละครเจ้าจอมมารดาอำภาซึ่งเล่นแบบละครในไปด้วยทั้งโรงเช่นนี้ สมเด็จพระนโรดมย่อมจะต้องเห็นว่าเป็นลาภอันประเสริฐที่ต้องการมานานแล้ว สมเด็จพระนโรดมจึงได้รับท่านป้าฉวีวาดและละครของท่านทั้งโรงเข้าไปอยู่ในพระราชวังในฐานะละครในเมืองเขมร และให้หัดละครเมืองเขมรสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ (คึกฤทธิ์ 2514, 78-80. การเน้นเป็นของผม, tb)
 
เรื่องนี้นับถือต่อๆ กันมา ถูกเติมแต้มความให้ขยายและกลายเป็นที่อ้างอิงของมากผู้หลายคนว่า ละครเขมรมีกำเนิดจากคณะละครที่ฉวีวาดนำไปนั้นเอง [Note 2.1]
 
กระนั้น ผมเห็นว่าความที่คึกฤทธิ์เขียนไว้ข้างต้นนั้นมีที่สงสัยอยู่หลายส่วน
 
เมื่อคึกฤทธิ์ไปเยือนกัมพูชาในปลาย ค.ศ.1952 ต่อต้น ค.ศ.1953 และเขียนถึงการเดินทางครั้งนั้นไว้ในหนังสือชื่อ ถกเขมร พิมพ์ครั้งแรกในเดือนธันวาคม 1953 นั้น คึกฤทธิ์และคณะไปเยือนเสียมราฐก่อน แวะเที่ยวที่นั่นอยู่หลายเพลาจากนั้นจึงเดินทางต่อมายังกรุงพนมเปญ พำนักที่นั่นเพียงชั่วไม่นานวันแล้วก็กลับเมืองไทย ถ้าใช้คำคึกฤทธิ์เองก็ต้องว่า "ผมอยู่พนมเป็ญไม่นานพอที่จะสังเกตการณ์ได้กว้างขวาง สิ่งที่ได้พบเห็นจึงนับว่าฉาบฉวย" (คึกฤทธิ์ 2506, 220)
 
เมื่ออยู่ ณ กรุงพนมเปญนั้น คึกฤทธิ์และพวกเข้าไปเที่ยวในพระบรมราชวัง
 
ในวังนั้นเราได้ยินเสียงใครซ้อมปี่พาทย์ และเราได้เห็นโรงละครขนาดใหญ่อยู่โรงหนึ่ง จึ่งทราบว่าในพระราชวังเมืองเขมรนั้น ยังมีละครในเป็นของออกหน้าออกตาอยู่ ละครในเมืองเขมรนั้นยังรักษาแบบแผนประเพณีและศิลปะละครรำอย่างของไทยไว้ ความจริงละครรำในเมืองเขมรนี้ ราชสำนักเขมรได้นำออกไปจากกรุงเทพฯ บทที่เล่นยังเป็นเรื่องอิเหนา อุณรุธ สุวรรณหงส์ ไกรทอง และสังข์ทอง และอื่นๆ ทำนองนั้น (คึกฤทธิ์ 2506, 209-210)
 
ข้อที่คึกฤทธิ์เขียนเล่าข้างต้นนี้เป็นเรื่องจริงอยู่มากส่วน แต่มีข้อแปลกตรงที่ว่า ถ้าละครเมืองเขมรสืบทอดมาแต่ละครเจ้าจอมมารดาอำภาที่ฉวีวาดนำเข้าไปอย่างที่คึกฤทธิ์เล่าไว้ใน โครงกระดูกในตู้ เหตุใดคึกฤทธิ์ผู้เป็นหลานที่ฉวีวาด "โปรดปราน...และเอาไป “เลี้ยง” ไว้กับท่าน" จึงไม่เอ่ยถึงฉวีวาดเลยเมื่อเล่าถึงเรื่องละครเมืองเขมรไว้ใน ถกเขมร
 
อาจเป็นได้ว่า เพราะฉวีวาดเป็น "โครงกระดูกอันใหญ่ในตู้" ที่คึกฤทธิ์เพิ่งจะตัดสินใจเปิดเผยใน ค.ศ.1971 เมื่อยลและยินปี่พาทย์ในพระบรมราชวังกรุงพนมเปญในวันใดวันหนึ่งระหว่างปลาย ค.ศ.1952 ต่อต้น ค.ศ.1953 คึกฤทธิ์จึงงำความข้อนี้ไว้เสีย กระดูกจึงยังอยู่ในตู้เรื่ิอยมากระทั่งเมื่อมีการพิมพ์ โครงกระดูกในตู้ เมื่อ ค.ศ.1971 หรืออาจจะมีคำอธิบายเป็นอย่างอื่นก็ได้ ซึ่งผมจะไม่อภิปรายในที่นี้
 
ที่นี้ลองมาค้นดูใน โครงกระดูกในตู้ อีกครั้ง ในนั้นคึกฤทธิ์เล่าว่าเคยได้ดูละครนอกเมืองเขมร
 
เช่นเรื่องไกรทอง ผู้เขียนเองก็เคยได้ดู พอได้ยินเสียงคนบอกบท เริ่มต้นว่า "กาลเนาะ โชมเจ้าไกรทองพงซา" ก็ต้องเบือนหน้าไปยิ้มกับฝาข้างโรง เพราะช่างแปล "เมื่อนั้น โฉมเจ้าไกรทองพงศา" ได้ดีแท้ (คึกฤทธิ์ 2514, 80. การเน้นเป็นของผม, tb)
 
ซึ่งถ้าว่าตามอย่างที่คึกฤทธิ์เล่าไว้เอง ละครที่คึกฤทธิ์ดูนั้นก็ต้องมีส่วนของมรดกที่ตกมาแต่ฉวีวาด
 
ปัญหาคือ คึกฤทธิ์ไม่ได้เล่าว่าเคยดูละครเรื่องไกรทองดังว่านั้นที่ไหน เมื่อไร
 
ข้อที่ว่าที่ไหนนั้น เป็นได้มากว่าคือที่กัมพูชา ให้แคบไปกว่านั้นคือที่กรุงพนมเปญ อาศัยเหตุดังนั้น คึกฤทธิ์จะได้ดูก็เมื่อก็ต้องเมื่อไปกัมพูชา
 
ณ เวลานี้ เท่าที่ผมทราบ คึกฤทธิ์ไปกัมพูชาครั้งแรก, และอาจจะเป็นครั้งเดียว, ในปลาย ค.ศ.1952 ต่อต้น ค.ศ.1953 และเขียนเรื่องการเดินทางครั้งนั้นไว้ใน ถกเขมร ดังที่กล่าวถึงข้างต้น หากแต่ใน ถกเขมร นั้นไม่มีความตอนใดเลยที่กล่าวถึงการชมละคร มีก็แต่ได้ยินและได้เห็นการซ้อมปี่พาทย์ดังความที่ยกมาข้างต้น และความที่ว่า
 
ผมสนใจเรื่องนี้ [ละครรำ - tb] สักหน่อยก็ไปหาโปรแกรมเก่าๆ ที่เล่นรับแขกเมืองมาดู ปรากกว่าเรื่องอิเหนาและสุวรรณหงส์นั้นยังต้องเล่นเป็นภาษาไทย เพราะตั้งแต่พระเจ้าศรีสวัสดิ์สวรรคตไปแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดจะแปลงบทละครรำของไทยออกเป็นภาษาเขมรได้อีกต่อไป (คึกฤทธิ์ 2506, 210) [Note 2.2]
 
นั่นคือคึกฤทธิ์ไม่ได้เล่าว่าได้ดูละครรำ
 
ถ้าที่ผมเดาไว้ข้างต้น, คึกฤทธิ์ต้องได้ดูละครรำเขมรที่กัมพูชาและคึกฤทธิ์ไปกัมพูชาครั้งแรกและครั้งเดียวในปลายปี 1952 ต่อต้นปี 1953, ไม่ผิดไปจากที่เป็นจริง ก็เป็นได้มากว่าคึกฤทธิ์ไม่เคยดูละครรำเขมร
 
ความที่เดาข้างต้นนี้มีความเสี่ยงในหลายประการ ข้อสำคัญคือไม่จำเป็นเสมอไปที่ผู้เขียนจะเขียนทุกเรื่องที่เขาเห็น ผมสงสัยว่าคึกฤทธิ์ใน ถกเขมร ก็เป็นเช่นนั้น เช่น เราเห็นภาพการ์ตูนประกอบเขียนเรื่องละครบาซะ โดย ประยูร จรรยาวงษ์ ซึ่งร่วมเดินทางไปด้วยกับคึกฤทธิ์

คึกฤทธิ์ไม่ได้เล่าเรื่องละครบาซะไว้ใน ถกเขมร แต่ผมค่อนไปทางเชื่อมากว่า คึกฤทธิ์ก็ได้ดูละครบาซะด้วย
 
กระนั้นก็ดี ผมก็ยังอยากจะเดาอยู่ว่า คึกฤทธิ์ไม่ได้ดูจึงไม่เล่าถึงละครรำไว้ใน ถกเขมร เพราะขนาดถึงว่าขวนขวายไปหา "โปรแกรมเก่าๆ ที่เล่นรับแขกเมืองมาดู" และยังเล่าเรื่องย่อไกรทองสำนวนเขมรไว้ด้วย (คึกฤทธิ์ 2506, 212, 215) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจเรื่องนี้อย่างมาก หากคึกฤทธิ์ได้ดูละครรำมาจริงแล้วน่าที่จะต้องเขียนถึง
 
พักเรื่อง โครงกระดูกในตู้ ไว้ชั่วครู่แล้วตัดฉากไปที่ นิราสนครวัด
 
นิราสนครวัด เป็นงานเขียนในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เวลาเมื่อยังเป็นที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระฯ ว่าด้วยการเยือนกัมพูชาและโคชินจีนเมื่อปลาย ค.ศ.1924 จับความตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ไปจนกระทั่งและกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม นิราสนครวัด พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1925
 
ในบ่ายวันที่ 3 ธันวาคม 1924 กรมพระดำรงฯ ไปดูภูมิสถานและของโบราณที่เมืองอุดงค์ ที่นั่น ราชการอาณานิคมฝรั่งเศสได้จัดมโหรี ปี่พาทย์ ลิเก และละคร ไว้รับรองด้วย กล่าวเฉพาะละครนั้น กรมพระดำรงฯ เล่าไว้ว่า
 
ละครนั้นก็น่าดู ว่าไปหามาจากเกาะแห่งหนึ่งในลำน้ำโขง มีผู้หญิงตัวละคอนสัก 10 คน กับปี่พาทย์เครื่องคู่สำรับหนึ่ง ละคอนแต่งตัวอย่างบ้านนอก แต่แต่งตามแบบละคอนหลวงกรุงกัมพูชา กระบวรเล่นเห็นรำแต่เพลงช้ากับเพลงเร็ว และมีรำเพลงจีนรำพัดได้ เห็นมีหนังสือบทมาวางไว้ ขอเขามาเปิดอ่านดูเปนหนังสือขอม ขึ้นต้นว่า “กาลเนาะ โฉมเจ้าไกรทองพงศา” ก็รู้ได้ว่าเอาบทละคอนไทยไปแปลงนั้นเอง นึกอยากจะให้เล่นให้ดูก็จวนค่ำเสียแล้ว (ดำรงราชานุภาพ 2468, 120. การเน้นเป็นของผม, tb)
 
น่าแปลกที่เมื่อคึกฤทธิ์เขียนในอีก 40 กว่าปีให้หลังว่าได้ดูละครเขมรก็เป็นต้องจำเพาะว่าได้ดูเรื่องไกรทอง และก็อ้างอิงบทละครวรรคเดียวกันกับที่กรมพระดำรงฯ เล่าไว้ คือวรรคที่ว่า “กาลเนาะ โฉมเจ้าไกรทองพงศา” เป็นแต่คึกฤทธิ์เขียนยักเยื้องให้ออกสำเนียงภาษาเขมรเป็นว่า "กาลเนาะ โชมเจ้าไกรทองพงซา" เท่านั้น
 
เราจะอธิบายความเหมือนกันอย่างประหลาดนี้อย่างไร ?
 
ผมเสนอว่ามีคำอธิบายอย่างน้อยสองแบบ
 
แบบแรก คึกฤทธิ์ไม่เคยดูไกรทองละครเขมร แต่หยิบเอาเรื่องไกรทองเขมร และบทละครไกรทองใน นิราสนครวัด มาดัดให้เป็นของตัว ควรกล่าวด้วยว่ามีผู้อธิบายว่าขนบอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในแวดวงปัญญาชนสยาม คนที่มีปัญญาทันกันก็จะรู้ว่าความข้อนั้นนี้มาจากแหล่งใด (อ้างคำอธิบายของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จากความทรงจำของผม, tb) การอ้างอิงตามหลักการทางวิชาการเป็นของฝรั่งที่มาทีหลัง
 
แบบที่สอง ไม่ว่าคึกฤทธิ์จะเคยดูไกรทองเขมรหรือไม่ก็ตาม ความพ้องกันอย่างประหลาดเป็นเรื่องบังเอิญ
 
ถ้าเราอ่าน ถกเขมร เทียบ นิราสนครวัด ต่อไปในประเด็นอื่นๆ เราจะเห็นอะไร
 
นิราสนครวัด เล่าเรื่องอื่นๆ ในแบบที่ลงรอยกันดีกับ ถกเขมร หรือไม่ อย่างไร ?
นิราสนครวัด กล่าวถึงฉวีวาดหรือไม่ อย่างไร ?
 
 
Note
 
2.1 - ท่านผู้อ่านอาจทำให้ความข้อนี้ประจักษ์แก่สายตาท่านเองด้วยการใส่คำค้น เช่นคำว่า ฉวีวาด + ละคร หรืออาจเพิ่มคำอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น คึกฤทธิ์ เขมร นโรดม ฯลฯ ลงใน search engine บรรดามี
เช่นเมื่อผมใส่คำว่า "ฉวีวาด" และ "ละคร" ลงไปในช่องค้นคำของ Google ผลที่ได้คือ "About 40,300 results (0.20 seconds)" รายการแรกคือ หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช - วิกิพีเดีย เมื่อคลิกเข้าไปและไล่สายตาลงมาเรื่อยๆ ก็จะพบข้อความว่า "โรงละครโรงใหญ่ของเจ้าจอมมารดาอำภาได้กลายเป็นต้นแบบของละครในประเทศเขมรปัจจุบันนี้" [สืบค้นเมื่อ Jul 8, 2012 (PDT)]
นอกจากนี้ ท่านยังอาจจะดูอัลบั้มที่ชื่อ โครงกระดูกในตู้ ในเฟซบุ๊คของผู้ใช้ชื่อว่า BIRD Cotton
http://www.facebook.com/media/set/?set=a.147099588676224.39942.125675814151935&type=3
ซึ่งไม่เพียงแต่คัดข้อความใน โครงกระดูกในตู้ มาเท่านั้น หากยังอุตสาหะหาภาพมาประกอบด้วย ควรกล่าวด้วยว่าหลายภาพนั้นไม่ไปกับข้อความ
 
2.2 - เมื่ออ่าน ถกเขมร ตอนนี้ เทียบกับ โครงกระดูกในตู้ ที่ว่า "ละครในเมืองเขมรในปัจจุบันเป็นละครที่ห่างครูไปนาน จึงเรื้อไปมาก บทที่เล่นนั้นถ้าเป็นละครในเรื่องอุณรุทธและอิเหนายังต้องร้องเป็นภาษาไทย แต่ถ้าเล่นละครนอกแล้ว สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ได้ทรงแปลไว้เป็นภาษาเขมรเป็นส่วนมาก" (คึกฤทธิ์ 2514, 80) จะเห็นได้ถึงความใกล้กันระหว่างเรื่องเล่าจากหนังสือสองเล่มซึ่งเขียนขึ้นในระยะเวลาที่ห่างกันเกือบ 20 ปี
 
 
อ้างอิง
 
คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. 2514. โครงกระดูกในตู้. กรุงเทพฯ: ชัยฤทธิ์. (พิมพ์แจกเป็นมิตรพลีในงานทำบุญอายุ ครบห้ารอบ 20 เมษายน 2514)
 
คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. ถกเขมร. พิมพ์ครั้งที่ 3. พระนคร: ก้าวหน้า, 2506.
 
ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. 2468. นิราสนครวัด. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร (ฉบับพิมพ์เป็นของฝากเมื่อปีฉลู พ.ศ.2468).
 
_______________
 
ตอนต่อไปของ กระดูกของ"ท่านป้าฉวีวาด": การชันสูตรใหม่ (3) ละครไทยในราชสำนักกัมพูชา
บันทึกการเข้า
thibodi
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


ความคิดเห็นที่ 295  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 01:49

[คำบรรยายภาพ] ลครเขมรของคุณพระแม่เนียงหญิน ตาด ซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดในพนมเป็ญ คนดูแน่นขนาดโรงแทบพัง มีทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แบเบาะไปจนกระทั่งแก่ตาเป็นน้ำข้าว เข้าไปนั่งดูพักใหญ่ รู้สึกว่าได้ดูทั้งลครรำ ยี่เก และงิ้ว พร้อมกันไปเลย (คึกฤทธิ์ 2506, 214)
 
ละครบาซะ (Lakhoun Bassac/Basak) ถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อราวทศวรรษ 1930 ในแถบบาซะ (Bassac/Basak area, เรียกอย่างปากไทยว่า ป่าสัก, ซึ่งเป็นชื่อเรียกแม่น้ำสายหนึ่งเริ่มแต่บริเวณจตุมุขพนมเปญไปจนไหลลงทะเลจีนใต้) หรือแถบจังหวัดจ่าวินห์ (Tra Vinh, เขมรเรียก เปรียะตรอเปียง [พระตระพัง]) ในเขตเขมรต่ำหรือโคชินจีนซึ่งเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวเวียดนาม เขมร และจีน ละครบาซะได้รับอิทธิพลจากงิ้วของจีนและเวียดนาม ผสมผสานกับละครรำและลิเก ประยูร จรรยาวงษ์ จึงกล่าวถึงว่าละครบาซะนั้นเป็นทั้ง "ลครรำ ยี่เก และงิ้ว"


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 296  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 08:51

อาจารย์คงจะมีตอน 3 มาต่อในกระทู้นี้อีก    ดิฉันและผู้อ่านเรือนไทยหลายท่านที่สนใจเรื่องนี้กำลังรออ่านอยู่

ระหว่างรออยู่  ขอแสดงความเห็นเพิ่มเติมในบางจุดที่อาจารย์แสดงไว้ ดังนี้

สมัยหนึ่งที่ท่านป้าฉวีวาดชรามากแล้ว ท่านเกิดโปรดปรานหลานคนนี้ขึ้นมา และเอาไป “เลี้ยง” ไว้กับท่าน การเลี้ยงหลานของท่านก็ออกจะแปลก เพราะท่านบรรทมกลางวันเป็นส่วนมาก แต่ปลุกหลานขึ้นมาคุยตอนกลางคืนเล่าเรื่องอะไรต่ออะไรให้ฟัง (คึกฤทธิ์ 2514, 45)
 
และเรื่องอื่นๆ ที่คึกฤทธิ์เล่านั้นก็ “ได้ยินมาจากปากผู้ใหญ่ทั้งสิ้น (คึกฤทธิ์ 2514, 2) ซึ่งนั่นเป็นการวางอาญาสิทธิ์ (authority) กำกับเรื่องทั้งนั้นไว้ เรื่องท่านป้าฉวีวาดของผู้เขียน (author) ที่ชื่อคึกฤทธิ์จึงไม่ควรมีข้อให้สงสัยด้วยประการทั้งปวง และควรต้องกล่าวด้วยว่า อาญาสิทธิ์อีกหนึ่งคือความเป็น "หม่อมราชวงศ์" ของคึกฤทธิ์นั้นได้ช่วยเสริมความไม่พักต้องสงสัยให้กับเรื่องราวอีกด้วย


ดิฉันเห็นว่า การที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ระบุว่า เรื่องเล่าทั้งหมด ได้ยินมาจากปากผู้ใหญ่ทั้งสิ้น จะเป็นการวางอาญาสิทธิ์หรือไม่ก็ตาม  แต่ที่เห็นชัดๆ ก็คือ เป็นการอ้างที่ไปที่มาอย่างนักวิชาการเขาทำกัน    ถ้าจะยกตัวอย่างก็ทำนองเดียวกับอาจารย์ธิบดีเล่าถึงละครเขมร  โดยมีหนังสืออ้างอิงนั่นเอง   เพียงแต่ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ท่านไม่ได้อ้างอิง "หนังสือ" แต่ท่านอ้างอิง "คน"ที่เป็นญาติผู้ใหญ่ของท่าน
การอ้างแบบนี้ทำกันเป็นปกติในแวดวงวิชาการ    ถ้ามีความผิดพลาดอย่างใดในเรื่องนี้  ก็ไปผิดที่แหล่งอ้างอิง  ไม่ได้ผิดที่ตัวผู้เขียน      คือผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะก่อความเข้าใจผิดขึ้น    ผู้ที่ค้นคว้าถึงต้นตอสามารถนำมาหักล้างได้โดยไม่ถือว่าเป็นการกล่าวหาหรือหักหน้าผู้เขียนคนแรก

อาญาสิทธิ์ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ถ้ามีจริงก็คงไม่ศักดิ์สิทธิ์นัก  เพราะบุคคลหลายๆคนก็ไม่ได้เชื่อตามท่าน   คนที่คัดง้างอย่างมากก็มีหลายคนด้วยกัน   อย่างอาจารย์เองก็เป็นนักวิชาการรุ่นหลังคนหนึ่งที่มีสิทธิ์จะตั้งประเด็นสงสัยต่างๆเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับ   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 297  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 10:30

อ้างถึง
แบบแรก คึกฤทธิ์ไม่เคยดูไกรทองละครเขมร แต่หยิบเอาเรื่องไกรทองเขมร และบทละครไกรทองใน นิราสนครวัด มาดัดให้เป็นของตัว ควรกล่าวด้วยว่ามีผู้อธิบายว่าขนบอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในแวดวงปัญญาชนสยาม คนที่มีปัญญาทันกันก็จะรู้ว่าความข้อนั้นนี้มาจากแหล่งใด (อ้างคำอธิบายของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จากความทรงจำของผม, tb) การอ้างอิงตามหลักการทางวิชาการเป็นของฝรั่งที่มาทีหลัง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อาจเคยดูละครเขมร ที่มาแสดงในประเทศไทย ในโอกาสพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง   
ก็เป็นได้ไหม?


บันทึกการเข้า
thibodi
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


ความคิดเห็นที่ 298  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 10:37

ขอบคุณท่านเจ้าเรือน อาจารย์เทาชมพู ที่กรุณารับต้อนผู้มาเยือนด้วยบทสนทนาอันงาม
ผมไม่มีข้อที่ไม่เห็นด้วยครับ และต้องสารภาพตามตรงด้วยว่า การสนทนาของหลายท่านที่มีมาก่อนในหัวข้อนี้นั้นชวนให้ผมอ่านด้วยความเพลิดเพลินเจริญใจ และรำพึงกับตัวผมเองไปตลอดทางว่าเออเนอะๆ ค่าที่ไม่เคยได้คิดถึงอย่างนั้นมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อตอนที่อาจารย์เทาชมพูกล่าวถึง "นิทาน(?)" เรื่องกรมขุนวรจักรฯ ในความเห็นที่ 131 และ 132 ผมก็เออเนอะๆ กับตัวเองอยู่หลายรอบ

ต่อตอนที่ 3 เลยนะครับ

กระดูกของ “ท่านป้าฉวีวาด”: การชันสูตรใหม่ (3) ละครไทยในราชสำนักกัมพูชา
 
ธิบดี บัวคำศรี
8 กรกฎาคม 2555 (PDT)

http://www.facebook.com/notes/suwasadee-photpun/กระดูกของ-ท่านป้าฉวีวาด-การชันสูตรใหม่-3/497822840235083

3. ละครไทยในราชสำนักกัมพูชา
 
เมื่อกรมพระดำรงฯ ไปกัมพูชานั้น (16 พฤศจิกายน-14 ธันวาคม) มีโอกาสได้อยู่ที่พนมเปญ 3 ช่วง [Note 3.1] ช่วงแรกนั้นได้ไปเที่ยวชมกรุง พิพิธภัณฑ์ พระบรมราชวังและวัด เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จสมเด็จพระศรีสุวัตถิ์ สนทนากับพระราชาคณะ และไปดูการจัดการหัวเมืองในแขวงใกล้กับกรุงพนมเปญ ช่วงที่สองนั้นเป็นแต่เพียงการแวะพักหลังกลับจากเสียมราฐก่อนเดินทางไปไซ่ง่อน ส่วนช่วงที่ 3 ซึ่งกินเวลายาวกว่าสองช่วงแรกนั้น กรมพระดำรงฯ ได้สนทนากับข้าราชการชั้นเก่า ชมละคร ไปเยี่ยมโรงเรียนพระสงฆ์ ไปเยี่ยมตอบแทนเจ้านายและข้าราชการ ชมอนุสาวรีย์ที่ระลึกสงครามโลกครั้งที่ 1 ชมพระบรมราชวังและพิพิธภัณฑ์ (ครั้งที่สอง) ไปงานเลี้ยงที่สมเด็จพระศรีสุวัตถิ์จัดพระราชทานและงานเลี้ยงที่ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสจัดถวาย และพบปะผู้คนทั้งไทย เขมร และฝรั่งเศส
 
กล่าวเฉพาะเรื่องละคร กรมพระดำรงฯ ได้ชมละครของหลวง ณ พระที่นั่งจันทรฉายาในพระบรมราชวังเมื่อเย็นวันที่ 7 ธันวาคม กรมพระดำรงฯ เล่าไว้ว่า
 
กิติศัพท์ปรากฏว่า พอเรามาถึงพนมเพ็ญ สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ก็ตรัสสั่งให้ซ้อมละคอน ว่าจะเล่นอวดให้เต็มฝีมือ ข้างพวกฝรั่งเลยโจษกันต่อไปว่าละคอนตัวโปรดของสมเด็จพระศรีสวัสดิ์จะออกเล่นทั้งหมดในคราวนี้.....พอเราไปถึงก็มีรับสั่งให้เล่นละคอน มีโปรแกรมพิมพ์ทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาเขมร ว่าละคอนหลวงจะเล่นเรื่องพระสมุทเปนภาษาไทยประทานเปนเกียรติยศแก่เรา (ดำรงราชานุภาพฯ 2468, 123-124)
 
กรมพระดำรงฯ เล่าเรื่องตำนานละครของหลวงกรุงกัมพูชาไว้ด้วยว่า
 
ละคอนกรุงกัมพูชานี้ ทราบเรื่องตำนานว่าแรกมีขึ้นครั้งสมเด็จพระหริรักษ์ ได้ครูไทยมาจากเจ้าพระยาบดินทรเดชาสิงห์เสนี หัดเล่นแต่ครั้งรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร แต่เล่นเปนอย่างละคอนเจ้าต่างกรม ต่อมาถึงสมเด็จพระนโรดมจึงเล่นเอาอย่างละคอนหลวงครั้งรัชกาลที่ 4 เมื่อสมเด็จพระนโรดมครองกรุงกัมพูชาอยู่นั้น พยายามหาครูละคอนมาจากกรุงเทพฯ ได้ใครออกมาก็ยกย่องชุบเลี้ยง ได้ละคอนตัวดีของเจ้าคุณจอมมารดาเอมบ้าง ละครพระองค์เจ้าดวงประภาบ้าง ละคอนพระองค์เจ้าสิงหนาทบ้าง และละคอนโรงอื่นๆ มาเปนครูอีกหลายคน (ดำรงราชานุภาพฯ 2468, 123-124)
 
คำของกรมพระดำรงฯ ใน นิราสนครวัด ข้างต้นขบกันอยู่หน่อยหนึ่งกับความที่คึกฤทธิ์ว่าไว้ใน โครงกระดูกในตู้
 
ที่เมืองเขมรนั้นในฐานะที่เป็นเมืองประเทศราชเช่นเดียวกับเวียงจันท์ คงไม่มีสิทธิ์ที่จะมีโขนหลวงและละครในเช่นเดียวกัน.....เมื่อท่านป้าฉวีวาดเอาละครเจ้าจอมมารดาอำภาซึ่งเล่นแบบละครในไปด้วยทั้งโรงเช่นนี้ สมเด็จพระนโรดมย่อมจะต้องเห็นว่าเป็นลาภอันประเสริฐที่ต้องการมานานแล้ว สมเด็จพระนโรดมจึงได้รับท่านป้าฉวีวาดและละครของท่านทั้งโรงเข้าไปอยู่ในพระราชวังในฐานะละครในเมืองเขมร และให้หัดละครเมืองเขมรสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ (คึกฤทธิ์ 2514, 79, 80.)
 
หากอ่านคึกฤทธิ์แบบเอาเรื่องก็จะได้อารมณ์ทำนองว่า เมืองเขมรนั้นไม่มีละครในมาแต่เดิม (เพราะ "ไม่มีสิทธิ์") เพิ่งจะมีขึ้นเมื่อฉวีวาดนำละครทั้งโรงของเจ้าจอมมารดาอำภาเข้าไปในกัมพูชา ("เป็นลาภอันประเสริฐที่ต้องการมานานแล้ว") ขณะที่อ่านกรมพระดำรงฯ ทำนองเดียวกันจะออกมาในทางว่า เมืองเขมรมีละครในอย่างเร็วที่สุดในแผ่นดินสมเด็จพระหริรักษ์ฯ (พระองค์ด้วง) แต่ไม่ใช่ของหลวง เป็นแต่ละครหลวงของเจ้านายต่างกรม ต่อเมื่อถึงรัชกาลสมเด็จพระนโรดมจึงมีละครของหลวงแต่ไม่ใช่ของ "พระราชทาน" เป็นแต่ "เล่นเอาอย่าง" โดยได้ละครจากกรุงสยามหลายต่อหลายคนไปเป็นครู
 
ถ้าเชื่อกรมพระดำรงฯ ก็ต้องบอกว่า ความที่คึกฤทธิ์อ้างอยู่ในทีว่าก่อนที่ฉวีวาดจะเข้าไปกัมพูชานั้น เมืองเขมรไม่มีละครใน เป็นความที่ผิด [Note 3.2]
 
นอกจากจะสอบคึกฤทธิ์ด้วยกรมพระดำรงฯ เราอาจใช้หลักฐานทางอื่นสอบคึกฤทธิ์ด้วยก็ได้ เท่าที่นึกออกในเวลานี้คือสถานะในความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับสยาม
 
คึกฤทธิ์ว่า "ที่เมืองเขมรนั้นในฐานะที่เป็นเมืองประเทศราชเช่นเดียวกับเวียงจันท์ คงไม่มีสิทธิ์ที่จะมีโขนหลวงและละครในเช่นเดียวกัน (2514, 79) แต่ข้อเท็จจริงคือ กัมพูชาพ้นจากสถานะประเทศราชของสยามไปอยู่ในอารักขาของฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ.1863 ขณะที่ฉวีวาดเพิ่งเข้าไปในกรุงกัมพูชาราว ค.ศ.1874 ข้อที่คึกฤทธิ์ว่าฐานะเมืองประเทศราชเป็นข้อกีดกันไม่ให้ราชสำนักกัมพูชามีละครในจึงฟังไม่ขึ้น
 
และสมมติว่าเชื่อตามที่คึกฤทธิ์อ้างว่าฉวีวาดนำละครเจ้าจอมมารดาอำภาเข้าไปในกัมพูชา ละครในกรุงกัมพูชาก็ไม่ได้สืบมาแต่ครูละครในโรงละครเจ้าจอมมารดาอำพา แต่สืบมาจากครูละครหลายคน กรมพระดำรงฯ เองก็ได้พบกับครูละครเหล่านั้นเป็นบางคน
 
มีคนจำพวกหนึ่งคือผู้หญิงไทยชาวกรุงเทพฯ ที่ออกมาเปนครูละคอนหรือเป็นพนักงารอยู่ในวังแต่ครั้งสมเด็จพระนโรดมซึ่งเราได้เคยรู้จักเมื่อเขาอยู่ในกรุงเทพฯ บ้าง ไม่รู้จักบ้าง พากันมาหาหลายคน มีนายโรงปริงตัวอิเหนาของเจ้าคุณจอมมารดาเอมในกรมพระราชวังบวรฯ เปนต้น ออกมาอยู่กรุงกัมพูชาได้เปนหม่อมสมเด็จพระนโรดม เปลี่ยนชื่อว่าหม่อมเหลียง พวกเหล่านี้ถึงแม้คนที่เคยรู้จักอยู่ก่อนก็จำไม่ได้เกือบทั้งนั้น ด้วยมาอยู่เมืองเขมรเสียตั้ง 30-40 ปี จนหัวหงอกฟันหัก แรกพบรู้ว่าเปนไทยแต่ด้วยสำเนียง ต้องถามนามและโคตร์จึงได้รู้ว่าเป็นใครต่อใคร พวกเหล่านี้มักยังมีความขวยเขินในข้อที่ทิ้งบ้านเมืองมา พอใจจะชี้แจงเหตุแก่เราโดยอ้างว่ายากจนเปนต้น ต้องตอบตัดความเสียว่า เกิดเปนมนุษย์ย่อมรักสุขชังทุกข์เปนธรรมดา จะอยู่เมืองไทยหรือเมืองเขมร ที่ไหนเปนสุขก็ควรอยู่ที่นั่น สำคัญแต่อย่าทำความชั่วให้เขาติเตียนขึ้นชื่อได้ว่าไทยเลวทราม ได้ไต่ถามถึงที่ออกมาอยู่ ได้ความว่าเปนครูละคอนครั้งสมเด็จพระนโรดมนั้น สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ก็ชุบเลี้ยงให้เปนครูละคอนต่อมา ได้รับเดือนตั้งแต่ 20 เหรียญ ลงมาจน 12 เหรียญ ดูก็ควรจะมีความสุข (ดำรงราชานุภาพฯ 2468, 139-140)
 
ไม่มีความตอนใดเลยใน นิราสนครวัด ที่เอ่ยถึงฉวีวาดซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะเวลานั้นฉวีวาดกลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว รวมถึงละครหรือครูละครของเจ้าจอมมารดาอำภาที่ฉวีวาดหอบมาถวายพระบาทสมเด็จพระนโรดมถึงกรุงกัมพูชาดังที่คึกฤทธิ์กล่าวอ้างใน โครงกระดูกในตู้
 
เป็นได้ไหมที่กรมพระดำรงฯ ก็เห็นว่า ฉวีวาดเป็นโครงกระดูกอันใหญ่ในตู้ของจักรีวงศ์ จึงละไว้ ไม่กล่าวถึงเสีย ?
ความข้อนี้ผมยังไม่เห็นทางที่จะพิสูจน์ให้หายสงสัยได้ในเวลานี้
 
แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า กรมพระดำรงฯ ได้เอ่ยถึงหม่อมเจ้าหญิงปุกไว้ใน นิราสนครวัด ด้วย ปุกผู้นี้ถ้าวัดตามมาตรฐานของคึกฤทธิ์แล้วก็ต้องกล่าวว่าเป็นโครงกระดูกในตู้อีกโครงหนึ่ง เพราะ
 
เมื่อท่านป้าฉวีวาดเข้าไปอยู่ในวังกับสมเด็จพระนโรดมนั้น ปรากฏว่ามีคนในวังหน้าลอบติดตามออกไปอยู่ด้วยหลายคน คนหนึ่งคือหม่อมเจ้าหญิงปุก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเจ้าวังหลวง แต่ไปฝักใฝ่อยู่ที่วังหน้าเช่นเดียวกับท่านป้าฉวีวาด.....ประทับที่เมืองเขมรตลอกมาจนชรามาก สิ้นชีพิตักษัยที่เมืองเขมรในรัชกาลที่ 7 (คึกฤทธิ์ 2514, 81)
 
เป็นแต่ไม่ได้อยู่ในตู้ของพวกปราโมชเท่านั้น
 
กรมพระดำรงฯ เล่าถึงปุกไว้ใน นิราสนครวัด ว่า
 
นอกจากเจ้านายสององค์ที่กล่าวมา ยังมีหม่อมเจ้าหญิงปุกในเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ซึ่งออกมาอยู่กรุงกัมพูชา ได้เปนหม่อมสมเด็จพระนโรดม ยกขึ้นเปนพระองค์เจ้าอรรคนารี เดี๋ยวนี้อายุได้ 76 ปี ยังอยู่ในวัง ทูลขอออกมาพบพวกเราอีกองค์หนึ่ง แต่กิริยาอาการดูเปนพันทาง จะเปนเขมรก็ไม่ใช่จะเปนไทยก็ไม่เชิง ไม่ชวนสมาคมเหมือนเจ้านายพวกกรุงกัมพูชา จึงเปนแต่ทักทายพอมิให้เสียอัชฌาสัย (ดำรงราชานุภาพฯ 2468, 132-133)
 
ว่าตามกรมพระดำรงฯ ปุกนั้นไม่ใช่ "ดูเหมือนจะเป็นเจ้าวังหลวง" อย่างที่คึกฤทธิ์ว่า หากแต่เป็นเจ้าวังหน้าโดยแท้ คือเป็นธิดาในเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ผู้เป็นโอรสในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
 
กรมพระดำรงฯ กล่าวถึงเพียงว่า ปุกนั้น "ออกมาอยู่กรุงกัมพูชา" ไม่ได้ระลึกไปถึงเหตุอันนำพาปุกมาสู่ราชสำนักสมเด็จพระนโรดม
 
เป็นได้ไหมว่า ปุกขออนุญาตออกมากรุงกัมพูชาถูกต้องตามกฎมนเทียรบาล ไม่ได้หนีออกมาอย่างที่คึกฤทธิ์ว่าไว้ กรมพระดำรงฯ จึงพบปะและเล่าถึงปุกไว้ใน นิราสนครวัด ได้
 
หรือว่าปุกก็มีผิดฐานละเมิดกฎมนเทียรบาลเช่นเดียวกับฉวีวาดอย่างที่คึกฤทธิ์เล่าไว้ แต่ความผิดของฉวีวาดนั้นเป็นเรื่องอับอายขายขี้หน้ามากกว่า
 
แม้จะไม่ปรากฏใน นิราสนครวัด ว่ากรมพระดำรงฯ เอ่ยถึงฉวีวาด แต่มีหลักฐานว่ากรมพระดำรงฯ สนใจที่จะถามถึงฉวีวาดจากปุก (สจช.สบ.2.53/138, 114)
 
 
Note
 
3.1 - ช่วงแรกตั้งแต่บ่ายวันที่ 18 พฤศจิกายน 1924 ไปจนกระทั่งเวลาเย็นของวันที่ 21 พฤศจิกายน ก่อนจะออกเดินทางไปเสียมราฐ และกลับจากเสียมราฐมาถึงพนมเปญอีกครั้งเมื่อสายของวันที่ 3 ธันวาคม พักคืนหนึ่งแล้วเดินทางไปไซ่ง่อนในตอนเช้าของวันที่ 4 ธันวาคม อยู่ไซ่ง่อนสองคืนก่อนเดินทางกลับพนมเปญ มาถึงในช่วงหัวค่ำของวันที่ 6 ธันวาคม และออกจากพนมเปญเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในตอนเช้าของวันที่ 11 ธันวาคม
 
3.2 - สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ก็ชี้ว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) นำละครผู้หญิงออกไปหัดให้ถึงในราชสำนักสมเด็จพระหริรักษ์ฯ
ความตรงนี้ผมได้จากเวปไซต์ เรือนไทย.วิชาการ.คอม (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4316.120;wap2) ผู้เข้าไปโพสต์ซึ่งใช้ชื่อว่า Siamese อ้างอิงไว้ว่านำมาจาก วิวัฒนาการนาฏศิลป์ไทยในกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ไม่ได้ให้ชื่อผู้เขียนไว้ ผมลองตรวจสอบดูแล้วเชื่อว่าน่าจะเป็นหนังสือชื่อ วิวัฒนาการนาฏยศิลป์ไทยในกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325-2477 เขียนโดย สุรพล วิรุฬห์รักษ์ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ.2543
ผมยังไม่มีโอกาสได้สอบดูใน วิวัฒนาการนาฏยศิลป์ไทย แต่อยากจะเดาว่า ความที่สุรพลเล่าถึงเรื่องเจ้าพระยาบดินทรฯ นำละครผู้หญิงออกไปกัมพูชานั้นน่าจะอ้างมาจากกรมพระดำรงฯ อีกต่อหนึ่ง
 
 
อ้างอิง
 
คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. 2514. โครงกระดูกในตู้. กรุงเทพฯ: ชัยฤทธิ์. (พิมพ์แจกเป็นมิตรพลีในงานทำบุญอายุ ครบห้ารอบ 20 เมษายน 2514)
 
ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. 2468. นิราสนครวัด. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร (ฉบับพิมพ์เป็นของฝากเมื่อปีฉลู พ.ศ.2468).
 
สจช.สบ.2.53/138 พระองค์เจ้าหญิงมาลิกา ยุคันธร
 
_______________
 
ตอนต่อไปของ กระดูกของ "ท่านป้าฉวีวาด": การชันสูตรใหม่ (4) เจ้านายเสเพล
บันทึกการเข้า
thibodi
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


ความคิดเห็นที่ 299  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 10:42

กระดูกของ “ท่านป้าฉวีวาด”: การชันสูตรใหม่ (4) เจ้านายเสเพล
 
ธิบดี บัวคำศรี
14 กรกฎาคม 2555 (PDT)

http://www.facebook.com/notes/suwasadee-photpun/กระดูกของ-ท่านป้าฉวีวาด-การชันสูตรใหม่-4/500309799986387

4. เจ้านายเสเพล
 
หลักฐานที่กล่าวถึงว่าระบุเรื่องกรมพระดำรงฯ สนใจที่จะถามถึงฉวีวาดจากปุกคือ เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร สจช.สบ.2.53/138 พระองค์เจ้าหญิงมาลิกา ยุคันธร เอกสารชุดนี้เป็นจดหมายที่มีไปมากันในระหว่างกรมพระดำรงฯ และมาลิกา
 
พระองค์เจ้ามาลิกาเป็นเจ้านายกรุงกัมพูชา ธิดาในสมเด็จพระนโรดม และเป็นชายาในพระองค์เจ้ายุคนธร ผมเล่าถึงเรื่องของมาลิกาไว้บ้างแล้วในบทความของผมเรื่อง "เรื่องของยุคนธร (ค.ศ. 1860–1934): ชีวิตลี้ภัยและการเผชิญหน้ากับระบอบอาณานิคม" (กำลังอยู่ในระหว่างการตีพิมพ์)
 
มาลิกานั้นคุ้นเคยกับกรมพระดำรงฯ อยู่มาก ทั้งสองจะรู้จักกันแต่เมื่อใดไม่ทราบได้ ผมคะเนว่าการพบปะกันครั้งแรกระหว่างมาลิกากับกรมพระดำรงฯ เกิดขึ้นที่หอพระสมุดสำหรับพระนคร (สจช สบ.2.53/ 138, 8-15) ในปีใดไม่ปรากฏ แต่อยู่ระหว่าง ค.ศ. 1915 กับ ค.ศ. 1920
 
ใน ค.ศ.1915 นั้น กรมพระดำรงฯ เข้ารับหน้าที่สภานายกหอพระสมุดฯ งานในรับผิดชอบคือการสอบสวน ชำระ เขียน และพิมพ์งานประวัติศาสตร์ โบราณคดี ตลอดไปจนธรรมเนียมราชประเพณีและอื่นๆ นั่นคงเป็นเหตุให้มาลิกาเป็นที่ “โปรษปานนับถือ” (สจช สบ.2.53/138, 11) ของกรมพระดำรงฯ เพราะมาลิกาสามารถตอบหรือไขข้อสงสัยให้แก่กรมพระดำรงฯ ในเรื่องประวัติศาสตร์และขนบธรรมเนียมประเพณีของกัมพูชา และมาลิกาเริ่มเขียนจดหมายถึงกรมพระดำรงฯ อย่างช้าที่สุดใน ค.ศ.1920
 
ในราวปี 1925 มาลิกามีจดหมายถึงกรมพระดำรงฯ ขอให้ช่วยเป็นธุระสืบหา "ชายเขมรคนหนึ่งอ้างตนว่าเป็นโอรสและไปรับรักษาโรคผู้คนอยู่ที่เมืองพิจิตร์ ขอให้ช่วยป้องกันเกียรติยศ" ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรในหนังสือลงวันที่ 25 กันยายน 1925 ถึงกรมพระดำรงฯ แจ้งว่า "ข่าวคราวทางจังหวัดนี้ยังไม่เคยปรากฏมีเลย" (สจชสบ.2.53/138, 60-61) แต่ในอีกหนึ่งปีต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรก็มีหนังสือลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 1926 แจ้งในเรื่องเดียวกันนั้นมาอีกว่า
 
ด้วยตามลายพระหัดถโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าสืบหาเจ้าเขมรซึ่งเปนโอรสของเจ้าหญิง
บัดนี้มีมาที่พิจิตรพักอยู่ที่วัดท่าหลวง ได้บอกว่าชื่อพระองค์เจ้าพานดุรี พระมารดาชื่อว่าหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด เปนหมอสักและหมอดู

(สจช สบ.2.53/138, 101)
 
คึกฤทธิ์เขียนถึงพานดุรีไว้ใน โครงกระดูก แต่ออกชื่อไว้ว่า พานคุลี ไว้ดังนี้
 
เมื่อท่านป้าฉวีวาดได้เข้าไปอยู่ในวังกับสมเด็จพระนโรดมแล้ว ความสนิทสนมระหว่างท่านกับสมเด็จพระนโรดมก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ากันว่าสมเด็จพระนโรดมตั้งท่านป้าฉวีวาดเป็นถึงพระราชเทวี แต่ความข้อนี้ผู้เขียนไม่ยืนยันเพราะท่านไม่ได้เล่าให้ฟัง ท่านบอกแต่ว่าท่านประสูติพระองค์เจ้าเขมรกับสมเด็จพระนโรดมพระองค์หนึ่งเป็นพระองค์เจ้าชาย มีนามว่าพระองค์เจ้าพานคุลี
 
แม้จะออกตัวว่า "ความข้อนี้ผู้เขียนไม่ยืนยัน" แต่ย่อหน้าถัดมาคึกฤทธิ์ก็เขียนว่า
 
เป็นอันว่าผู้เขียนเรื่องนี้มีสมเด็จพระนโรดมเป็นลุงเขย และมีพระองค์เจ้าเขมรเป็นลูกพี่ลูกน้องอยู่องค์หนึ่ง พระองค์เจ้าพานคุลีนี้เคยเข้ามาเยี่ยมท่านแม่ที่กรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง หลังจากที่ท่านป้าฉวีวาดกลับมาจากเมืองเขมรแล้วในรัชกาลที่ 6 ท่านกลับมาแล้วก็บวชเป็นรูปชี อยู่มาจนอายุ 80 กว่าจึงสิ้นชีพิตักษัย หลานๆ เรียกว่า "ท่านป้าแอหนัง" หรือ "ท่านยายแอหนัง" เพราะท่านเป็นนางเอกต้องระหกระเหินเหมือนนางบุษบาในเรื่องอิเหนา เมื่อนางบุษบาบวชชีก็มีชื่อว่า แอหนังติหลาอรสา คนในสกุลปราโมชนั้นมีอารมณ์ขันในทุกกรณี
 
(คึกฤทธิ์ 2514, 82)
 
แต่พานดุรีในจดหมายที่มีไปมาในระหว่างกรมพระดำรงฯ กับมาลิกานั้นเป็นคนละเรื่องกัน และเรื่องที่ฉวีวาดหนีออกไปกัมพูชาก็เป็นคนละเรื่องกับที่คึกฤทธิ์เล่าไว้ใน โครงกระดูกในตู้
 
เมื่อได้รับหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กรมพระดำรงฯ ก็มีหนังสือลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 1926 ไปทูลเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรรายงานให้ทราบ และกล่าวเพิ่มเติมไปด้วยว่า
 
หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดซึ่งผู้นั้นอ้างว่าเปนมารดานั้น เกล้าฯ เคยรู้จักตัวและทราบเรื่องประวัติดีอยู่ คือเปนหม่อมเจ้าในกรมขุนวรจักรธรานุภาพ เมื่อรุ่นสาวได้แต่งงารกับกรมหมื่นวรวัฒนสุภาพ แล้วประพฤติตัวเสเพลหนีออกไปเมืองเขมรแต่ในรัชกาลที่ 5 ชั้นเดิมดูเหมือนไปได้เจ้าเขมรเปนผัว แล้วไปประพฤติตัวเสเพลมีผัวต่อไปอิก ลงปลายตกเปนคนอนาถา เจ้าปุกในเจ้าฟ้าอิศราพงศซึ่งออกไปได้เปนพระองค์อัครนารีอยู่ที่เมืองพนมเพ็ญออกเงินช่วยส่งกลับเข้ามากรุงเทพฯ แต่เดี๋ยวนี้จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรหาทราบไม่. (สจช สบ.2.53/138, 105)
 
กรมพระดำรงฯ ยังได้มีจดหมายลงวันที่ 13 ธันวาคม 1926 ออกไปถามมาลิกาที่พนมเปญเรื่องพานดุรี นอกจากเท้าความไปถึงหนังสือของผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรแล้วก็ยังเล่าเรื่องฉวีวาดให้ฟังด้วย เนื้อความอย่างเดียวกับที่มีไปถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นแต่ใช้คำผิดกันและมีรายละเอียดเพิ่มเติมขึ้น
 
หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศนั้นเปนหม่อมเจ้าในกรมขุนวรจักรธรานุภาพ เมื่อสาวได้แต่งงานกับพระองค์เจ้าเฉลิม ลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาได้เปนกรมหมื่นวรวัฒนสุภาพร หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศประพฤติตัวเสเพล หนีตามผู้ชายออกไปกรุงกัมพูชา สมเด็จพระนโรดมจะได้ชุบเลี้ยงและไปมีบุตรคนนี้หรือไม่ฉันไม่ทราบ เมื่อฉันไปกรุงกัมพูชา พบหม่อมเจ้าหญิงปุกซึ่งไปเปนพระองค์อัครนารี ได้ถามเธอถึงหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศ เธอบอกว่าเมื่ออยู่ในกรุงกัมพูชาก็ไปประพฤติตัวเสเพลมีผัวหลายคน เธอก็นึกละอาย จึงได้ขวนขวายเสียเงินให้ แล้วส่งเข้ามากรุงเทพฯ นานแล้ว ฉันได้ยินว่ามาบวชเป็นชีอยู่ แต่จะอยู่ที่ไหนฉันก็หาได้พบปะไม่ ฉันมีจดหมายฉบับนี้มายังเธอด้วยอยากจะทราบว่าบุตรของหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศที่มาอ้างตนว่าเปนเจ้าเขมรนั้น เปนเชื้อเจ้าจริงหรืออย่างไรและใครเปนบิดา เธอทราบหรือไม่ ถ้าบอกมาให้ฉันทราบได้จะขอบพระทัยมาก (สจช สบ.2.53/138, 113-115)
 
จดหมายที่มาลิกาตอบกลับมานั้นบรรยายความโดยพิสดารว่าด้วยชีวิตสองแม่ลูก ฉวีวาด-พานดุรี
 
 
อ้างอิง
 
คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. 2514. โครงกระดูกในตู้. กรุงเทพฯ: ชัยฤทธิ์. (พิมพ์แจกเป็นมิตรพลีในงานทำบุญอายุ ครบห้ารอบ 20 เมษายน 2514)
 
สจช.สบ.2.53/138 พระองค์เจ้าหญิงมาลิกา ยุคันธร
 
_______________
 
ตอนต่อไปของ กระดูกของ"ท่านป้าฉวีวาด": การชันสูตรใหม่ (5) ชีวิตพิสดาร
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21 22 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.108 วินาที กับ 20 คำสั่ง