เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 154788 โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 13 พ.ย. 13, 22:41

แผนผังวังกรมขุนวรจักรสวยมากครับ อ.พีรศรี
อย่าเพิ่งหลงทิศนะครับ อ.เทาชมพู จากผังวังด้านบนคือคลองวัดจักรวรรดิ์ ท้องพระโรงหันหน้าออกคลอง อันเป็นทิศตะวันออก กลุมเรือนถนนวรจักรอยู่หลังวังทิศตะวันตก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 14 พ.ย. 13, 06:07

แล้วถนนเจ้าคำรพอยู่ด้านไหนของวังตามแผนที่คุณพีรศรี บริเวณนั้นน่าจะมีตำหนักที่ม.ร.ว.ดวงใจเคยอาศัยอยู่กับลูกๆ คุณหนุ่มสยามช่วยสงเคราะห์แสดงให้แจ้งหน่อยได้ไหมครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 14 พ.ย. 13, 09:19

เข้ามาสรุป
พี่น้องฟ้องร้องกันเรื่องที่อยู่อาศัยในวังวรจักร  น่าจะเป็น" โครงกระดูก" อีกโครงใหญ่ ที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไม่เล่ารายละเอียด  เป็นได้ว่าท่านไม่ทราบ   คงทราบแต่เพียงผลภายหลัง จึงสรุปไว้สั้นๆว่าพระองค์เจ้าปรีดาทรงแบ่งวังวรจักรให้น้องๆ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว    
ข้อเท็จจริงที่เห็นได้คือหลังจากพระองค์ปรีดาสิ้นพระชนม์แล้ว วังวรจักรก็หมดอายุ    ที่ดินถูกขายพระคลังเอาเงินมาแบ่งกันในหมู่ทายาท   ไม่ได้อยู่รวมกันเช่นเดิมอีก      ที่ดินผืนใหญ่นี้ก็พ้นจากเจ้าของเดิมกลายเป็นของหลวงไป

ส่วนในความเป็นจริง  พระองค์เจ้าปรีดาแบ่งให้หรือถูกฟ้องร้องให้ต้องแบ่ง    และแบ่งให้น้องๆ หรือแบ่งให้ลูกๆ  หรือแบ่งให้ทั้งน้องทั้งลูก   เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่กระจ่าง

ย้อนหลังกลับเมื่อกรมขุนวรจักรฯสิ้นพระชนม์ ท่านแบ่งทรัพย์สินไว้ให้โอรสธิดา   แต่ละองค์ก็ได้กันไปในส่วนของตัวเอง     แต่สมบัติชิ้นใหญ่สุดคือวังวรจักรตกเป็นของพระองค์เจ้าปรีดาแต่เพียงผู้เดียว
แต่พระองค์เจ้าปรีดามิได้ผูกขาดการเป็นเจ้าของ    ท่านยังให้น้องๆครอบครองบ้านอยู่ในเนื้อที่ของวัง   อยู่มาอีกนาน อย่างน้อยในพ.ศ. 2426  หรือ 11 หลังเสด็จพ่อสิ้นพระชนม์   น้องๆของท่านก็ยังอยู่กัน  คือหม่อมเจ้าเอนก หม่อมเจ้าดำรงค์      หม่อมเจ้าสอาด       หม่อมเจ้าเสพยบัณฑิต  หม่อมเจ้ากรรมสิทธิ์   และ หม่อมเจ้าประพฤษดี  (หรือหม่อมเจ้าประพฤติ )
นอกจากนี้ยังมีม.ร.ว. อย่างน้อยอีก 3 คนปลูกเรือนอยู่  คือ มรว. อังกาบ ปลูกเรือนปั้นหยา  มรว. จีบ ปลูกเรือนแตะ มรว. ชื่น ปลูกเรือนฝากระดาน  
ทั้งสามนี้คงเป็นโอรสธิดาของพระองค์เจ้าปรีดา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 14 พ.ย. 13, 09:56

     ปัญหาเริ่มเกิดในพ.ศ. 2329นี้เอง เมื่อหม่อมเจ้าจำรูญ    ซึ่งเป็นโอรสชายคนโตอันประสูติจากหม่อมดวงใจ ย่าของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทำเรื่องถวายฎีภาพระเจ้าอยู่หัว ว่าท่านไม่มีที่อยู่อาศัยของตัวเอง    ต้องไปพึ่งพระบารมีสมเด็จวังบูรพาอยู่นานแล้ว    จึงใคร่ขอที่อยู่ในเนื้อที่ของวังวรจักร   
     ท่านไปทูลขอพระองค์เจ้าปรีดาแต่พี่ชายคนโตของท่านไม่ยอมให้   ปีต่อมาพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสว่าให้พี่น้องตกลงกันเอง   ถ้าพระองค์เจ้าปรีดาจะให้หม่อมเจ้าจำรูญอาศัยอยู่ในเนื้อที่ของวังวรจักรก็ได้   แต่ไม่ต้องยกให้เป็นกรรมสิทธิ์
     คำกราบถวายบังคมทูลของพระองค์เจ้าปรีดาก็คือ 
     
อ้างถึง
๓ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๓ พระองค์เจ้าปรีดากราบบังคมทูล ว่าหม่อมเจ้าจำรูญมีบ้านอยู่แล้วที่ริมวัดราชนัดดา
แต่ถ้าจะมาปลูกบ้านอยู่ด้วยกันก็ยินดี เพียงแต่ที่หม่อมเจ้าจำรูญอยากได้นั้นอยู่ด้านถนนเจริญกรุง ซึ่งพระองค์เจ้าปรีดาใคร่จะปลูกโรงแถวให้คนเช่าหารายได้
      แปลว่าอะไร?
     แปลว่า หม่อมเจ้าจำรูญมีบ้านอยู่ข้างนอกแล้ว มิได้ไร้ที่อยู่อาศัยอย่างที่อ้าง     แต่ถ้าอยากมาอยู่ที่วังวรจักร ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่ขัดข้อง  แต่จะมาชี้ที่เอาตรงนั้นตรงนี้ตามใจชอบไม่ได้     
      ที่ดินแปลงที่หม่อมเจ้าจำรูญอยากปลูกบ้านนั้น ถึงว่างอยู่ก็จริงแต่ก็อยู่ในแผนที่ข้าพระพุทธเจ้าจะเอาไปปลูกโรงเรือนหารายได้อยู่แล้ว  จึงให้ไม่ได้    ส่วนจะให้แปลงไหนนั้นค่อยว่ากันอีกที
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 14 พ.ย. 13, 09:58

     ขอแก้ไขใหม่ทั้งหมดค่ะ
     คนอื่นจะแปลว่าอะไรก็แล้วแต่  แต่ดิฉันแปลว่าพระองค์เจ้าปรีดาท่านไม่ค่อยจะเต็มพระทัย  เพียงแต่จะปฏิเสธเด็ดขาดไปเลยก็เกรงพระบารมี  เพราะตามพระกระแสรับสั่งเหมือนทรงมีพระราชประสงค์ให้พี่เอื้อเฟื้อน้องอยู่แล้ว

    เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แปลได้อีกหลายอย่าง
   1 เมื่อสิ้นกรมขุนวรจักรฯ หม่อมเจ้าจำรูญและพี่ๆน้องๆรวมทั้งหม่อมแม่ของท่าน ไม่ได้อยู่ในวังวรจักรอีก  ผิดกับพี่ๆรุ่นใหญ่ของท่านเช่นหม่อมเจ้าเอนก หม่อมเจ้าดำรง หม่อมเจ้าอีกหลายองค์ที่มีพระนามอยู่ในเอกสารกรมโยธาธิการ   ท่านเหล่านี้ปลูกเรือนอยู่ในวังทั้งสิ้น
   2 หม่อมเจ้าจรูญกับหม่อมแม่ และหม่อมเจ้าพี่ๆน้องๆไปอาศัยอยู่ที่บ้านริมวัดราชนัดดา ซึ่งน่าจะเป็นมรดกตกทอดมาทางหม่อมยายถึงหม่อมแม่ (บ้านหลังที่ท่านคำรบน้อยปีนต้นพุทรานั่นแหละ)    พระองค์เจ้าปรีดาจึงทรงแย้งว่าหม่อมเจ้าจำรูญมีบ้านของตนเองอยู่แล้ว
   3 หม่อมเจ้าจำรูญเห็นว่าท่านก็เป็นโอรสองค์หนึ่งเหมือนกัน  น่าจะมีสิทธิ์อยู่ในวังวรจักรเช่นเดียวกับพี่ๆของท่าน  ก็เลยร้องขอจากพระองค์เจ้าปรีดาขึ้นมา  
   4  เมื่อไม่ได้ตามประสงค์   หม่อมเจ้าจำรูญก็ทำเรื่องถวายฎีกา
   5  เมื่อถวายฏีกา  พระองค์เจ้าปรีดาก็ต้องทรงอ่อนให้  เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะทางอะลุ้มอล่วยให้ว่า ให้หม่อมจำรูญอาศัยปลูกบ้านก็แล้วกัน  แต่ไม่ต้องให้กรรมสิทธิ์
   แต่จะให้แปลงไหน พระองค์เจ้าปรีดาก็ยังไม่ได้ตกลงกันให้เป็นมั่นเหมาะ
  
   ทั้งหมดนี้ มองเห็นอะไรอย่างหนึ่งว่า หม่อมเจ้าจำรูญผู้เป็นบุตรชายคนใหญ่อันเกิดจากม.ร.ว.ดวงใจที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์บอกว่าเป็นหม่อมใหญ่ของเสด็จปู่ของท่าน ดูจะไม่มีสิทธิ์อะไรเลยในวังของพระองค์ปรีดา
   เราไม่ทราบว่าเรื่องตกลงกันอย่างไร เพราะไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับหม่อมเจ้าจรูญอีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 14 พ.ย. 13, 10:50

อ้างจากเอกสารที่คุณพีรศรีไปค้นมาได้ค่ะ

ล่วงมาอีก 3 ปี ในพ.ศ.  2441    ก็มีขอขัดแย้งระหว่างพี่น้องเกิดขึ้นอีก ในเรื่องที่ดินทำนองเดียวกัน
คราวนี้ทางการตัดถนน ไปเฉือนเอาพื้นที่เรือนของหม่อมเจ้า 2 องค์คือหม่อมเจ้าดำรงกับหม่อมเจ้าเอนก(หรืออเนก) ซึ่งปลูกอยู่ในพื้นที่วังวรจักร  จนเหลือเป็นแถบนิดเดียว  เจ้าของไม่พอจะปลูกเรือนในพื้นที่ที่เหลือ

ทั้งสององค์เลยไปทูลพระองค์เจ้าปรีดา ขอประทานที่ว่างๆ ในวังวรจักร  ทางฝั่งตะวันออกเพื่อปลูกเรือนใหม่   ไปขอถึงสามครั้งก็ไม่ได้ที่ดินตรงนั้น     เพราะพระองค์เจ้าปรีดาไม่ทรงยอม
แต่ท่านก็หยิบยื่น choice ให้   มิได้ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง  
ช้อยส์ที่ว่าคือให้เลือกเอา  คือ
1)  ไปหาที่ใหม่อยู่นอกวังเอาไหม  ถ้าตกลงก็จะประทานที่ดินให้    
2) ถ้าไม่อยากอยู่นอกวัง   จะอยู่ในวังวรจักรต่อไป  ก็ได้ไม่ว่ากัน  แต่จะมาชี้เอาที่ดินตรงนั้นตรงนี้ตามใจชอบไม่ได้ เพราะที่ดินตรงนั้นเจ้าของวังท่านจะเอาไว้หาผลประโยชน์  (ก็คือปลูกให้เขาเช่าเป็นรายได้ขึ้นมา)   ท่านเลือกที่ดินให้พระอนุชาเอง ในอีกส่วนหนึ่งของวังที่ยังว่างๆอยู่

หม่อมเจ้าดำรงก็ไม่เอาที่ดินทั้งสองแปลงนั่น    เพราะท่านบอกว่าองค์ท่านเองเป็นผู้พิการอยู่กับเรือน หากินในทาง “รับจ้างทำการแลค้าขายอยู่กับเรือน”   คือเป็นช่างฝีมือรับทำงานต่างๆเช่นงานกลึงตลับงา    ลูกค้าเป็นฝ่ายมาว่าจ้างเองถึงที่    
ถ้าไปอยู่ในสวนห่างไกลนอกวัง หรือแม้แต่อยู่ในวังแต่เป็นส่วนลึกเข้าไป ลูกค้าเดินเข้าไปหาลำบาก    ใครเขาจะมาว่าจ้าง   ตัวท่านเองก็เป็นโปลิโอ เดินไปไหนมาไหนไม่ได้อยู่แล้ว
ที่ดินทางทิศตะวันออก ที่ท่านทูลขอพระเชษฐา ก็คือเป็นทำเลสะดวกแก่การค้านั่นเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 14 พ.ย. 13, 11:18

(ต่อ)

เรื่องหม่อมเจ้าดำรงและหม่อมเจ้าเอนกทูลฟ้องนี้  เป็นเรื่องใหญ่โตไม่ใช่เล่น เพราะต้องนำเข้าถึงที่ประชุมเสนาบดี   และใหญ่พอที่เจ้านายสำคัญระดับสมเด็จฯ วังบูรพาจะทรงต้องรับเรื่องนี้ไปจัดการเจรจาไกล่เกลี่ยตกลงกัน
จากนั้นหม่อมเจ้าทั้งสองก็ทำเรื่องกราบทูลอีก 2 ครั้ง แสดงว่าทรงเอาจริงกันทั้งสององค์
ผลปรากฏว่าเจ้านายระดับบิ๊กอย่างสมเด็จฯ วังบูรพา แม้พยายามเจรจาแล้ว แต่ไม่เป็นผล พระองค์เจ้าปรีดาทรงยืนยันกรรมสิทธิของท่าน   แสดงว่าคราวนี้พระองค์ปรีดาใช้ไม้แข็ง ไม่ยอมยกที่ดินฝั่งตะวันออกให้น้องชายท่าเดียว
แถมยังทูลสมเด็จวังบูรพาด้วยอีกว่า น้องทั้งสองของท่านมีข้อเสียคือหม่อมเจ้าเอนกเป็นคนเสพสุรา ส่วนหม่อมเจ้าดำรงก็คบเพื่อนมาก  แสดงว่าเรือนท่านคงมีลูกค้าคึกคัก เป็นคนหลายอย่างต่างประเภท ที่เจ้าของวังเรียกว่า "ราวกับซ่องผู้ร้าย"
หม่อมเจ้าดำรงคงไม่ลงรอยกับพี่ชายมานานแล้ว   จึงมีคำว่า "เป็นความกับพระองค์เจ้าปรีดาอยู่เสมอ "

พี่น้องคงทะเลาะกันใหญ่โตในเรื่องนี้   พระองค์เจ้าปรีดาจึงทูลสมเด็จวังบูรพาว่า  "เจ้านายน้องๆ พวกนี้ก็หยาบคายมาก

สมเด็จฯ วังบูรพาไกล่เกลี่ยประนีประนอมไม่ได้ผล  ก็ทรงรายงานเรื่องเข้าที่ประชุมสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 14 พ.ย. 13, 11:29

อ้างจากคุณพีรศรี

อ้างถึง
ที่ประชุมก็อภิปรายกันยืดยาว ท้าวความไปถึงคราวกรมขุนวรจักรฯ สิ้น ว่าได้มีการทำบัญชี แบ่งทรัพย์มรดกในหมู่บุตรไปแล้ว ส่วนที่วังไม่ได้แบ่ง ตกเป็นของพระองค์เจ้าปรีดาเพียงองค์เดียว โดยเข้าใจว่าจะให้พี่น้องอาศัยอยู่ด้วยกัน มีรายได้บำรุงราชสกุลสืบไป

๙ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๖ พระองค์เจ้าปรีดามีหนังสือกราบบังคมทูล  ทรงท้าวความว่าในปีจ.ศ. ๑๒๓๒ กรมขุนวรจักรฯ ทรงจัดซื้อที่ดินราษฎรเพื่อทำวัง รวมราคา ๕๑ ชั่งเศษ  สร้างวังแล้วได้สักสามเดือน ก็ทรงทำหนังสือทำนองพินัยกรรม ซึ่งไม่พูดถึงที่วัง คงมีเพียงรับสั่ง ว่าประทานวังให้พระองค์เจ้าปรีดาปกครองต่อไป
เมื่อกรมขุนวรจักรฯ สิ้นแล้ว พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ก็ช่วยกันจัดการมรดก มีสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์เป็นประธาน
ก็ไม่มีผู้คัดค้านอันใด ตนก็ปกครองวังสืบมา
จนร.ศ. ๑๑๓ หม่อมเจ้าจำรูญจึงก่อความขึ้น 
ถึงร.ศ. ๑๑๖ มีเรื่องตัดถนนวรจักรซ้อนเข้ามาอีก ทางหม่อมเจ้าเอนกต้องการปลูกเรือนใหม่
ในที่ซึ่งกรมขุนวรจักรฯ เคยประทานให้ตน (พระองค์เจ้าปรีดา) ปลูกเรือน แต่ตนไม่ยอม  เพราะจะใช้ที่นี้หาผลประโยชน์ ฯลฯ

เมษายน ร.ศ. ๑๑๗ หม่อมเจ้าเอนก หม่อมเจ้าดำรง กราบบังคมทูลฟ้องอีก ความก็เดิมๆ

๗ เมษายน ร.ศ. ๑๑๘ รัชกาลที่ ๕ มีพระราชกระแส ว่าความทำนองนี้แต่เดิมต้องมีศาลพิเศษ (คือศาลรับสั่ง ?)
เพราะเป็นความในพระราชวงศ์ แต่บัดนี้การศาลก็ก้าวหน้าไปแล้ว ควรไปฟ้องร้องกันในศาลก่อน พอถึงที่สุด คือฎีกา แล้วค่อยมาให้ในหลวงตัดสิน

เอกสารจบแค่นี้แหละครับ

ดูจากความมุ่งมั่นของหม่อมเจ้าดำรงและหม่อมเจ้าเอนก   เห็นทีว่าท่านจะเดินหน้าถึงศาล  คงไม่หยุดอยู่แค่นี้
ไม่มีเอกสารว่าผลเป็นอย่างไร
แต่ถ้าเชื่อว่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์ว่าในที่สุดวังวรจักรก็ถูกแบ่งกันไปในบรรดาน้องๆ   ก็เป็นได้ว่าหม่อมเจ้าเอนกและหม่อมเจ้าดำรงชนะคดี ได้ที่ดินในวังไป    เพราะข้างบนนี้เท้าความว่าในพินัยกรรมของกรมขุนวรจักรฯ ไม่ได้ระบุว่ายกวังให้ใคร  มีแต่เพียงพระดำรัสว่าประทานวังให้พระองค์เจ้าปรีดาปกครองต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมของเสนาบดี ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินก็อภิปรายกันยืดยาว ท้าวความไปถึงคราวกรมขุนวรจักรฯ สิ้น ว่าได้มีการทำบัญชี แบ่งทรัพย์มรดกในหมู่บุตรไปแล้ว
ส่วนที่วังไม่ได้แบ่ง ตกเป็นของพระองค์เจ้าปรีดาเพียงองค์เดียว โดยเข้าใจว่าจะให้พี่น้องอาศัยอยู่ด้วยกัน มีรายได้บำรุงราชสกุลสืบไป
ถ้าเป็นอย่างนี้ หม่อมเจ้าดำรงกับหม่อมเจ้าเอนกก็อาจจะมีสิทธิ์อยู่ในที่ที่ทรงเลือกในวังก็ได้  จนมาขายวังเอาเงินมาแบ่งกันเพื่อพระองค์เจ้าปรีดาสิ้นพระชนม์ในพ.ศ. 2457
บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 14 พ.ย. 13, 11:48

กระทู้นี้มีประเด็นให้ได้อึ้ง หรือถึงขั้นอ้าปากหวอ กันเป็นระยะเลยค่ะ   ตกใจ

ดิฉันกลับมาอ่านข้อมูลที่คุณพีรศรีกรุณาค้นคว้ามา  รู้สึกได้ถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ร.๕  พระราชภารกิจในฐานะพระมหากษัตริย์ก็มากล้นพ้นอยู่แล้ว  ยังทรงพระกรุณาต่อเหล่าพระราชวงศ์  สดับรับฟังคำกราบทูล  วินิจฉัยข้อพิพาทของพี่น้อง  จนกระทั่งถึงกับ

“ขอให้ศาลถวายสืบพยานพระองค์ท่าน (รัชกาลที่ ๕)
ในหลวงก็ทรงพระกรุณา พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ศาลสืบพยาน ไต่ถามพระองค์ท่านเป็นข้อๆ”


กรณีพี่น้องฟ้องร้องกันครั้งนี้  ท่าทางคงจะเป็นเรื่องใหญ่ยืดเยื้อไม่ยอมกัน  จนถึงขั้นถวายฎีกา  มีการนำเข้าที่ประชุมเสนาบดี  ที่ประชุมสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน  อภิปรายกันยืดยาว  เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ต้องลงมาไกล่เกลี่ยก็ยังไม่ยุติ  พี่น้องจะมองหน้ากันติดไหมนะ?

ประสาชาวบ้านก็บ้านแตก  แต่นี่วังแตก  น่าเสียดายจริง  ดูจากแผนผังของวังน่าจะเป็นวังที่สวยงามมาก
บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 14 พ.ย. 13, 11:51

ดิฉันลองหาข้อมูลวังของพระองค์เจ้าคำรบ  ได้ความมาจากเว็บของ สน. พลับพลาไชย ๑  ดังนี้ค่ะ

ถนนเจ้าคำรพ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔  หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่ตำบลตรอกเต้าหู้  ทำให้ทรัพย์สินของชาวบ้านละแวกนั้นได้รับความเสียหายอย่างหนัก  เนื่องจากบริเวณนั้นมีการสร้างบ้านติดกันเป็นจำนวนมาก  จึงเกิดภัยพิบัติและโรคติดต่อขึ้นบ่อยครั้ง

เมื่อเจ้าพระยายมราช หรือชื่อเดิมคือ ปั้น สุขุม  เสนาบดีกระทรวงนครบาล  ได้ดำเนินการขอพระบรมราชานุญาตสร้างถนนสายนี้ให้แล้วเสร็จ  จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อถนน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  ได้พิจารณาจากรายชื่อบุคคลและสถานที่ใกล้เคียงแล้ว  จึงพระราชทานนามว่า ถนนเจ้าคำรพ  เพราะมีวังของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ ตั้งอยู่บริเวณนั้น

ในครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชหัตถเลขาว่า ถนนเจ้าคำรพ สะกดด้วยตัว พ.พาน  ภายหลังพระองค์จึงได้ทรงแก้เป็น เจ้าคำรบ ที่สะกดด้วยตัว บ.ใบไม้  ตามพระนามของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ

โดยปัจจุบันนี้ที่ป้ายชื่อถนนยังคงมีการเขียนชื่อป้ายถนน ที่สะกดด้วยตัว พ.พาน เช่นครั้งแรกที่เคยได้รับพระราชทานชื่อไว้
ถนนเจ้าคำรพเป็นแหล่งการค้า ขายสินค้าเบ็ดเตล็ดหลายประเภท  อีกทั้งมีศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่เก่าแก่ในชื่อ  ศาลเจ้าไต้ฮงกงอีกด้วย

จากเว็บของ สน. พลับพลาไชย 1 http://plubpla1.blogspot.com/2012/07/blog-post_3864.html
บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 14 พ.ย. 13, 11:57

ส่วนบ้านริมวัดราชนัดดา  ซึ่งน่าจะเป็นมรดกตกทอดมาทางหม่อมยายถึงหม่อมแม่  ชุมชนย่านนั้นเป็นชุมชนเก่าแก่  ท่าทางบ้านคงจะหลังไม่ใหญ่เท่าใด  เห็นในกระทู้บ้านโบราณ ๒ ก็มีภาพบ้านในชุมชนหลังวัดราชนัดดาอยู่รูปหนึ่ง

จากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ ที่พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔  แสดงประวัติ มจ. คอยท่า ปราโมช ว่า

สายทางพระมารดา สืบมาดั่งนี้ กรมพระราชวังสถานพิมุข (พระวังหลัง) > พระองค์เจ้าทับทิม หม่อมแย้ม  มีธิดา ๓ ท่าน คือ  (ข) ๑. หม่อมราชวงศ์ ดวงใจ ปราโมช  ๒. หม่อมราชวงศ์ จร อิศรางกูร  ๓. หม่อมราชวงศ์ ดาว ปราโมช
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 14 พ.ย. 13, 12:19

ดิฉันมองข้ามไปได้ยังไงไม่รู้     ไม่คิดจะไปหาชื่อ "ถนนเจ้าคำรพ" จากกูเกิ้ลเอาเลยว่าอยู่ตรงไหน
จนคุณ tita มาชี้ที่ซ่อนขุมทรัพย์ให้นี่แหละ



ถนนเจ้าคำรพเพิ่งจะมีชื่อขึ้นมาเมื่อพ.ศ. 2464 หรอกหรือ?  แล้วบ้านที่ถนนพระอาทิตย์ล่ะคะ? พระองค์เจ้าคำรบอยู่หลังไหนก่อน?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 14 พ.ย. 13, 12:35

คุณหนุ่มสยามน่าจะมีแผนที่สวยกว่านี้นะคะ


บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 14 พ.ย. 13, 13:04

พ.ศ. ๒๔๑๕  เมื่อกรมขุนวรจักรฯ สิ้นพระชนม์ ท่านแบ่งทรัพย์สินไว้ให้โอรสธิดา  แต่ละองค์ก็ได้กันไปในส่วนของตัวเอง  แต่สมบัติชิ้นใหญ่สุดคือวังวรจักรตกเป็นของพระองค์เจ้าปรีดาแต่เพียงผู้เดียว  โดยมีเจ้าน้องรุ่นใหญ่ปลูกเรือนอาศัยอยู่ในบริเวณด้วย  เช่น มจ. เอนก  มจ. ดำรงค์  มจ. สอาด  มจ. เสพยบัณฑิต  มจ. กรรมสิทธิ์  และ มจ. ประพฤษดี (หรือ มจ. ประพฤติ )  

แต่ไม่มีข้อมูล ม.รว. ดวงใจและโอรสธิดา  ซึ่ง อจ. เทาชมพู สันนิษฐานว่าน่าจะออกจากวังหลังการสิ้นพระชนม์ของกรมขุนวรจักรฯ  โดยไปอยู่ที่บ้านริมวัดราชนัดดา

พ.ศ. ๒๔๕๗  พระองค์เจ้าปรีดาสิ้นพระชนม์  คาดว่าที่ดินวังวรจักรน่าจะถูกขายหลังจากนั้น  อาจจะหลังพระราชทานเพลิงในปี พ.ศ. ๒๔๖๓

พ.ศ. ๒๔๖๔  ตัดถนนเจ้าคำรบ ตอนนั้นมีวังของพระองค์เจ้าคำรบแล้ว  สังเกตไหมคะว่าเป็นถนนเจ้าคำรบ  ไม่ใช่ เจ้าจำรูญ หรืออื่นๆ  เนื่องจาก ม.จ.จำรูญ สิ้นชีพิตักษัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓  ดิฉันคิดว่าตอนนั้นพระองค์เจ้าคำรบ น่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงสุดเท่าที่มีวังอยู่ในย่านนั้น

ดังนั้น  ถ้าเป็นไปตามที่คาดคะเนเบื้องต้น  แสดงว่าเหตุการณ์โกลาหลคราว มจ. คำรบน้อย ตื่นขึ้นมากลางดึก  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒  ก็ต้องเกิดที่บ้านริมวัดราชนัดดา  ไม่ใช่ที่วังวรจักร

และเมื่อ มจ. ฉวีวาด กลับมาจากเขมร  ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑  ก็น่าจะต้องไปพำนักที่วังของพระองค์เจ้าคำรบ  จึงมีโอกาสเล่าเรื่องราวเก่าๆ ให้คุณชายหลานฟัง
บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 14 พ.ย. 13, 13:19

ฝากไว้อีกประการหนึ่งก่อนค่ะ  ดิฉันยังไม่มีโอกาสหาข้อมูลละเอียด

ข้อมูลค้นเจอในอินทรเนตร  พล.ต. จารึก อารีราชการันต์  นายกสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย  เคยเล่าว่า ม.ร.ว. คึกฤทธ์ เคยเล่าเรื่องท่านพ่อของท่านให้ฟังว่า  “วันหนึ่งบิดาของท่านคือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ อธิบดีกรมตำรวจคนแรกที่เป็นคนไทย เรียกลูกๆ ทั้ง ๕ คือ ม.ร.ว.บุญรับ ปราโมช (พินิจชนคดี) ม.ร.ว.ถ้วนเท่านึก ม.ร.ว.อุไรวรรณ ม.ร.ว.เสนีย์ และตัวท่านเองมานั่งประชุมกัน”

“พระองค์เจ้าคำรบ บอกลูกๆ ว่า  พ่อไม่มีทรัพย์สินเงินทองอะไร จะขายที่ดิน เพื่อเป็นทุนส่งลูกไปเรียนเมืองนอก ซึ่งทุกคนตกลง ยกเว้นหม่อมบุญรับสละสิทธิ์เปิดโอกาสให้น้องๆ ไปเมืองนอกเพราะเห็นคุณพ่อลำบาก เสร็จแล้วพระองค์เจ้าคำรบ ก็สำทับลูกๆ ว่า เรียนจบแล้วก็ให้รีบกลับมาทำงานหาเงิน เพราะพ่อไม่มีสมบัติอะไรให้”

“ท่านคึกฤทธิ์บอกว่านี่เป็นบทเรียนที่ดี หลังเรียนจบกลับมาจากเมืองนอก ทุกคนรวมทั้งตัวท่านก็ไปอยู่บ้านของหม่อมบุญรับ พี่สาวในซอยสวนพลูกันหมด”

http://blog.siamsport.co.th/Dek_Hard/index.asp?b=25551015-006&m=00010042&cnflfdkfddffjjjjjaweruruodfjdfjdfljdfljdfljdfdjfdfldjfdlfldfjldfjdlllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllljdfljdfljfjfjfjfjfljj547412dsdsd7d7d

ดิฉันยังไม่มีโอกาสหาว่า มรว. คึกฤทธิ์ เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศเมื่อไร  ต้องขอตัวไปธุระก่อนนะคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 20 คำสั่ง