เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 154807 โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 04 พ.ย. 13, 07:04

ฮือ ใกล้จริง

ในสำมะโนประชากรไม่มีม.จ.คำรบหรือครับ

เอา พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าปรีดา (วังวรจักร)
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 04 พ.ย. 13, 08:12

ผมว่าผมได้เขียนเรื่องราวอันเป็นแก่นแท้ของกระทู้นี้ไปแล้ว ก็น่าจะพอเพียง ก่อนที่จะเฝือไปเป็นการจับผิดท่านทั้งเล่ม ผมจึงจะขอเรื่องข้องใจอีกประเด็นเดียวที่ค้างคา คือเรื่องท่านพ่อของผู้เขียน

ขอเป็นเรื่องสุดท้าย

พระองค์เจ้าคำรบทรงเป็นทหารตั้งแต่เด็ก ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จพิษณุโลกเพื่อทรงเททองหล่อพระพุทธชินราชจำลองนั้น ท่านมีหน้าที่จัดขบวนรับส่งเสด็จและถวายความปลอดภัย ตามหน้าที่ผู้บัญชาการค่ายจิรประวัติ มียศสูงถึงพลตรี หลังจากนั้นทรงเลื่อนขึ้นไปดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพน้อยที่ ๒ ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ จนถึง ๒๔๕๗
 
แต่ลูกชายท่านเขียนเล่าว่า
เรื่องพระนิสัยของพระองค์เจ้าคำรบก็แปลก  ท่านเป็นคนขี้โมโห ท่านได้มีเรื่องวิวาทกับพี่สาวของท่าน ท่านลุแก่โทสะ คว้าปืนไปยิงขึ้นฟ้าที่หน้าตำหนัก แต่มิได้หมายจะทำร้ายใคร คงแค่ระบายพระโทสะ แต่พี่สาวท่านไปแจ้งต่อกลาโหม ผลคือท่านถูกปลดจากพลโทแม่ทัพ เป็นทหารกองหนุนเสียเดี๋ยวนั้น  

ท่านจะยิงปืนขู่พี่สาวของท่านแล้วถูกร้องเรียนอย่างไรไม่ทราบได้ แต่ข้อเท็จจริงที่ท่านออกประจำการมาเป็นทหารกองหนุนนั้น เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯทรงโอนท่านไปเป็นอธิบดีกรมตำรวจภูธร และ กรมตำรวจพระนครบาล และทรงอยู่ในตำแหน่งยาวนานมากตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๕๘ จนถึง ๒๔๗๒ ถือว่าเป็นอธิบดีที่ฝากผลงานไว้ให้กรมตำรวจมากพระองค์หนึ่ง

ลูกชายสร้างฉากที่ท่านคำรบเล่าความเก่าให้ฟัง แบบว่าออกจะดราม่ามาก มีทั้งตกใจ ทั้งกลัว ทั้งคิดถึงแม่ ทั้งหิว ความรู้สึกเหมือนกับว่าฟ้าถล่มทลายลงมาทับองค์  มีเล่าไปร้องไห้ไป น้ำตาไหลพราก ชายชาติทหารแท้ๆทำไมไม่แมนเลย
ปกติลูกผู้ชายจะเห็นความทุกข์ทนที่ผ่านมาเป็นแค่ยาขมที่เสริมให้แข็งแกร่งขึ้น ไม่ใช่เรื่องเศร้าที่จะมานั่งเสียอกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ และผ่านพ้นไปนานแล้ว

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็ไม่ได้บอกว่าท่านพ่อเล่าให้ตนฟังตอนท่านเป็นเด็กหรือโตแล้ว แต่ไม่ว่าตอนไหนถ้าเล่าเรื่องพรรค์นี้แล้วร้องไห้ให้ลูกชายเห็นน้ำตาผมว่ามันขี้แยเกินไป คนอย่างนี้จะก้าวขึ้นไปผู้บัญชาการทหารและเป็นอธิบดีตำรวจได้อย่างไร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 04 พ.ย. 13, 08:17

ขอเอา โครงกระดูกในตู้” ตอนนี้มาฉายซ้ำอีกที

"ชีวิตของท่านพ่อของผู้เขียนนั้น  เมื่อได้ฟังท่านเล่าแล้ว   ก็เหมือนกับชีวิตของขุนแผนเมื่อยังเป็นเด็ก    เมื่อท่านเล่านั้นน้ำเนตรท่านไหลพราก
ท่านเล่าว่าขณะนั้นท่านอายุ 8 ขวบ  นอนหลับอยู่  แล้วตื่นขึ้นตอนดึก  เพราะเจ้าพี่จุดไต้จุดไฟทำอะไรกันตึงตัง   เหลียวหาคุณแม่ที่นอนอยู่ด้วยตอนหัวค่ำก็หายไปแล้ว    ถามหาคุณแม่กับเจ้าพี่ก็ไม่มีใครบอก    เพราะทุกองค์กำลังรีบเก็บข้าวของส่วนตัวของท่านลงหีบ    เห็นจะเป็นเพราะท่านทรงทราบกันทุกองค์แล้วว่าคุณแม่จะถูกริบราชบาตร   ท่านตกใจและคิดถึงคุณแม่ก็เลยนั่งกันแสงอยู่กับที่    แต่ก็ไม่มีใครมาสนใจกับท่าน    พอรุ่งเช้าเจ้าพี่ทุกองค์ก็รีบขนของออกจากตำหนักไป     ท่านมาทรงทราบภายหลังว่าเข้าไปอยู่ในวังหลวงกันทุกองค์

บ่าวไพร่ของคุณแม่ของท่านที่ยังมีเหลืออยู่ในขณะนั้นก็พากันหลบหนีกระจัดพลัดพรายไปหมด    คงเหลือท่านอยู่องค์เดียวที่ตำหนัก     ท่านเล่าว่าท่านทั้งตกใจ ทั้งกลัว   ทั้งคิดถึงแม่   ทั้งหิว    ความรู้สึกเหมือนกับว่าฟ้าถล่มทลายลงมาทับองค์    ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น    ไม่รู้ว่าคุณแม่หายไปไหน  ได้แต่กันแสงองค์เดียว  และร้องเรียกหาแม่อยู่จนสาย ราวๆเพล   หม่อมยายของท่านคือหม่อมของหม่อมเจ้าทับทิมในกรมพระราชวังหลังและหม่อมแม่ของม.ร.ว.ดวงใจ ก็มาที่ตำหนัก พอเห็นองค์ท่านก็เข้าอุ้มรีบเอาออกจากตำหนักไป และพาไปอยู่ที่วังท่านตาซึ่งเป็นบ้านเล็กๆอยู่ติดกับวัดราชนัดดา"
 
" ขณะนั้นหม่อมเจ้าทับทิม  ผู้เป็นตาของท่านสิ้นชีพิตักษัยไปนานแล้ว   หม่อมยายหาเลี้ยงชีพด้วยการทำขนมขาย...ที่หน้าเรือนมีพุทราใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง    หม่อมยายให้ท่านเก็บผลพุทราทุกเช้า  พอเก็บได้มาแล้ว   หม่อมยายก็เย็บกระทงใบตองเล็กๆ  ใส่พุทราได้สิบกระทงบ้าง สิบห้ากระทงบ้าง    ก็เอาใส่กระจาด   ตกเย็นก็ให้ท่านกระเดียดกระจาดไปขายตามหน้าโรงบ่อนโรงหวย  ในราคากระทงละอัฐ    ท่านพ่อท่านก็ดีพระทัยที่ได้ช่วยหม่อมยาย   ออกเดินขายพุทราตามหน้าโรงบ่อนโรงหวยทุกวัน   ขายหมดก็เอาอัฐที่ขายได้มาให้หม่อมยาย

คนที่ซื้อพุทราไปจากท่านนั้นไม่มีใครทราบว่า ท่านเป็นหม่อมเจ้าพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย"


ความไม่แนบเนียนของเรื่องราวตอนนี้ในเรื่องของผู้คนในแวดล้อมที่ทิ้งให้เด็ก๘ขวบนั่งร้องไห้อยู่คนเดียว ราวกับคนทั้งวังวรจักรไร้น้ำใจนั้น เราก็ได้เสวนากันไปแล้ว  แต่ข้อความต่อไปนี้ ก็ต้องเสวนากันต่ออีกสักหน่อย เพราะผู้เขียนท่านใช้จินตนาการเกินกว่าที่ท่านพ่อเล่าแน่ๆ เพราะบรรยายว่าราวๆเพล หม่อมยายของท่านก็มาที่ตำหนัก “พอเห็นองค์ท่านก็เข้าอุ้ม  รีบเอาออกจากตำหนักไป "

เด็กผู้ชายอายุตั้งแปดขวบแล้วเนี่ยนะ ยายตรงเข้าอุ้มรีบเอาออกจากตำหนักไป ? ? ?

หม่อมยายมีหลานองค์โตอายุตั้ง ๒๖ ปีแล้ว ตัวหม่อมยายต้องร่วมๆเจ็ดสิบ สมัยรัชกาลที่ ๕ คนอายุเจ็ดสิบถือว่าแก่ได้ที่ หูฝ้าตาฟาง เดินงกเงิ่นแทบไม่ไหว จะให้อุ้มหลานชายอายุ ๘ ขวบ รีบเดินออกจากตำหนักยิ่งไม่มีทาง ยกตัวขึ้นยังไม่ไหวเลย

ต้องจูงอย่างเดียวเท่านั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 04 พ.ย. 13, 08:23

เพราะท่านเพลินกับการสร้างภาพเด็กน้อยให้น่ารักน่าสงสาร เพื่อโน้มนำคนอ่านให้เศร้าโศกสะเทือนอารมณ์ไปกับท่านมากสักหน่อย  ท่านคำรบน้อยเลยเหลืออายุ ๓ ขวบในฉากนี้  ก่อนจะกลับไปเป็นเด็กโตปีนต้นพุทรา เก็บลงมาเดินขายได้ในฉากต่อไป

ผมคิดว่าในเรื่องนี้ หม่อมแม่คงเตรียมการไว้แล้วก่อนถูกจับกุม ให้ลูกสาวที่เหลือเข้าไปอยู่ในวังกับพี่ ลูกชายฝากให้ยายเลี้ยงไปก่อน ในคืนที่เกิดเหตุนั้น ความเป็นจริงอาจเป็นแค่ว่า ท่านคำรบน้อยตกใจตื่นตอนที่พี่สาวก็รีบจัดของ แม่นั้นหายไป แล้วเขาก็ไปกันหมดทิ้งให้ตนรอหม่อมยายอยู่คนเดียว เด็กอายุขนาดนั้นก็คงต้องร้องไห้เป็นธรรมดาอยู่  ญาติๆมาปลอบยังไงๆก็ไม่หยุดสะอึกสะอื้น ชวนไปบ้านไหนก่อนก็ไม่ไป จะดื้อนั่งอยู่หัวกระไดรอหม่อมยายคนเดียว กว่าหม่อมยายจะลากสังขารมาถึงก็สายโต่ง พอพักหายเหนื่อยแล้วก็พากันไป โดยมีคนช่วยขนข้าวของที่จำเป็นตามไปส่งถึงบ้าน.....

แต่เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ลางทีท่านคำรบจะเล่าให้ลูกฟังแค่นี้เอง

" ตอนนั้นพ่อแค่ ๘ ขวบ เขามาเอาตัวคุณแม่ไป แต่ก็นั่นแหละ พ่อไม่รู้เรื่องอะไรหรอก ยายมารับ บอกว่าจะพาไปหาแม่ ก็เลยไปอยู่กะยาย จำได้แค่ว่า ปีนต้นพุทราแถวบ้านเก็บลูกไปขายเอาเงินซื้อขนม สนุกอยู่ได้พักนึง พี่ก็มาพาเข้าวังไป"

แต่หารู้ไม่ว่าลูกชายท่านเมื่อเติบใหญ่กลายเป็นนักประพันธ์นามอุโฆษ เรื่องราวของท่านจึงได้รับการไส่ใข่ โปรยอายิโน๊ะโม๊ะโต๊ะ แล้วโรยหน้าด้วยผักชีสองชั้น ชนิดที่ท่านคำรพเองถ้าได้มีโอกาสกลับมาอ่าน ก็คงประชวรพระวาโยขึ้นพระเศียร อาจนึกว่าพระองค์เป็นอัลไซเมอร์ไปแล้วเพราะจำอะไรอย่างนั้นไม่ได้เลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 04 พ.ย. 13, 11:21


ท่านเล่าว่าขณะนั้นท่านอายุ 8 ขวบ  นอนหลับอยู่  แล้วตื่นขึ้นตอนดึก  เพราะเจ้าพี่จุดไต้จุดไฟทำอะไรกันตึงตัง   เหลียวหาคุณแม่ที่นอนอยู่ด้วยตอนหัวค่ำก็หายไปแล้ว    ถามหาคุณแม่กับเจ้าพี่ก็ไม่มีใครบอก    เพราะทุกองค์กำลังรีบเก็บข้าวของส่วนตัวของท่านลงหีบ    เห็นจะเป็นเพราะท่านทรงทราบกันทุกองค์แล้วว่าคุณแม่จะถูกริบราชบาตร   ท่านตกใจและคิดถึงคุณแม่ก็เลยนั่งกันแสงอยู่กับที่    แต่ก็ไม่มีใครมาสนใจกับท่าน    พอรุ่งเช้าเจ้าพี่ทุกองค์ก็รีบขนของออกจากตำหนักไป     ท่านมาทรงทราบภายหลังว่าเข้าไปอยู่ในวังหลวงกันทุกองค์

บ่าวไพร่ของคุณแม่ของท่านที่ยังมีเหลืออยู่ในขณะนั้นก็พากันหลบหนีกระจัดพลัดพรายไปหมด    

จากที่คุณ tita ค้นมาให้อ่าน  ม.จ.คอยท่าเข้าไปอยู่ในวังกับกรมพระยาสุดารัตนฯมาก่อนหน้านี้เป็นแรมปีแล้ว  ก็เชื่อได้ว่าม.จ.เมาฬีซึ่งพระชันษา 26 ปีในพ.ศ.ที่เกิดเรื่องนี้คงเข้าไปอยู่ในวังแล้วเหมือนกัน       ม.จ.จรูญ พระชันษา 20 ก็ออกจากวังวรจักรไปพึ่งใบบุญสมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุฯอยู่ที่วังบูรพา
เจ้าพี่อีกสององค์ที่เหลือ  คือม.จ.โอษฐอ่อนพระชันษา 11 ปี  และม.จ.รำมะแข พระชันษา 10 ปี เท่าแม่พลอยในบทที่ 1 ของสี่แผ่นดิน ยังไว้จุกอยู่  เห็นทีว่าเก็บข้าวของลงหีบและขนของเข้าวังหลวงด้วยตัวเองไม่ได้    ต้องมีผู้ใหญ่พาไป  ผู้ใหญ่นั้นก็ต้องเป็นญาติผู้ใหญ่ ไม่ใช่บ่าวไพร่พาเข้าวังไปอย่างไม่รู้จุดหมายปลายทาง     จะต้องรู้ว่าเข้าไปแล้วไปเข้าเฝ้าเจ้านายที่ตำหนักไหนเพื่อขอพึ่งพระบารมี  แสดงว่ามีที่หมายไว้ล่วงหน้าแล้ว
ทำไมผู้ใหญ่คนนั้นจะต้องทิ้งหม่อมเจ้าชายองค์เล็กสุดไว้ตามลำพัง  ไม่มีใครเหลียวแล  พี่เลี้ยงนางนมก็หนีหมด ผิดวิสัยบ่าวในสมัยนั้นที่ติดการพึ่งพานาย  ไม่ทิ้งขว้างกัน
นี่ก็เป็นอีกคำถามหนึ่งที่ยังหาคำตอบไม่ได้ค่ะ  
บันทึกการเข้า
แมวเซา
อสุรผัด
*
ตอบ: 44


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 09 พ.ย. 13, 15:17

ทำเนียบรายนามผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อเริ่มแรก

ลำดับ   รายนาม   ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง   
1   พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (โพ เนติโพธิ์)   พ.ศ. 2444-2446   
2   พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม)   พ.ศ. 2446-2449
3   พระยาสุจริตรักษา (เชื้อ)   พ.ศ. 2449-2450   
4   พระยาสุริยราชวราภัย (จร)   พ.ศ. 2450-2454
5   พระยาวจีสัตยรักษ์ (ดิศ)   พ.ศ. 2454-2459   
6   พระยาพิษณุโลกบุรี (สวัสดิ์ มหากายี)   ดำรงตำแหน่งครั้งแรก พ.ศ. 2459-2459
7   พระยาวโรดมภักดีศรีอุตรดิตถ์นคร (อั้น หงษนันท์)   พ.ศ. 2459-2467   
8   พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี)   ดำรงตำแหน่งครั้งที่2 พ.ศ. 2467-2496
9   พระยาวิเศษฤๅชัย (มล.เจริญ อิศรางกูร)   พ.ศ. 2469-2471
10   พระยาวิเศษภักดี (ม.ร.ว.กมลนพวงษ์)   พ.ศ. 2471-2474
11   พระยาอัธยาศัยวิสุทธิ์ (โชติ กนกมณี)   พ.ศ. 2474-2476

รายชื่อท่านที่เป็นเจ้าเมืองในสมัยที่ ตั้งเป็นเมืองอุตรดิษฐ์ ใหม่ๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ลำดับที่ 5  เป็นต้นมา น่าจะมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับราชสกุลปราโมช บ้างหรือไม่ครับ
ผมเชื่อว่าเจ้าเมืองสมัยนั้นต้องรู้ข่าวคราว และได้ดูแลท่านบ้าง  วัดท่าทองไม่ได้ไกลจากตัวเมืองเลย นักเรียนสามารถเดินเท้าไปเรียนหนังสือกันได้
บันทึกการเข้า
แมวเซา
อสุรผัด
*
ตอบ: 44


ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 09 พ.ย. 13, 15:35

ส่วนน้องของท่าน  พระองค์เจ้าคำรบ(ทรงเป็นผู้บัญชาการค่ายจิรประวัติ ที่มียศสูงถึงพลตรี หลังจากนั้นทรงเลื่อนขึ้นไปดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพน้อยที่ ๒ ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ จนถึง ๒๔๕๗)
 
พระองค์เจ้าคำรบท่านน่าจะเกี่ยวข้องกับการที่แม่ชีมาบวชอยู่ที่นี่เหมือนกัน  เพราะหลังจากปราบกบฏเงี้ยวแล้ว พ.ศ.2446  ก็มีค่ายทหารม้า(เป็นทหารพราน) อยู่ที่อุตรดิตถ์มาอีกตั้งหลายปี(บริเวณด้านหลังสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ ทิศใต้วัดท่าถนน ) ที่บริเวณนี้มีถนนเลียบริมแม่น้ำน่านเป็นที่ฝึกซ้อมขี่ม้า สามารถมาได้ถึงวัดท่าทองได้สะดวก   หลวงตาทองดำท่านเคยเป็นทหารมาก่อนบวช รวมทั้งเจ้าอาวาสวัดท่าทอง องค์ก่อนหน้าท่าน(ชื่อเขียว)ก็เคยเป็นทหารม้าเช่นกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 09 พ.ย. 13, 15:58

ตามจดหมายของพระองค์หญิงมาลิกา   ม.จ.ฉวีวาดอยู่ที่บางโพธิ์(อุตรดิตถ์)เมื่อพ.ศ. 2468  แต่จะอยู่นานเท่าใดไม่ทราบ
ผู้ว่าราชการจังหวัดในช่วงนั้นก็คือ
8   พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี)   ดำรงตำแหน่งครั้งที่2   พ.ศ. 2467-2469
9   พระยาวิเศษฤๅชัย (มล.เจริญ อิศรางกูร)   พ.ศ. 2469-2471
10   พระยาวิเศษภักดี (ม.ร.ว.กมล  นพวงษ์)   พ.ศ. 2471-2474

ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง   เจ้านายยังอยู่ในฐานะที่ได้รับความเคารพอย่างสูงจากข้าราชการและประชาชนทั่วไป   การมีหม่อมเจ้าหญิงไปบวชชีอยู่ในวัดในจังหวัด    คงไม่ใช่เรื่องเก็บเป็นความลับอยู่ได้  เจ้าอาวาสรู้  ชาวบ้านแม้แต่เด็กๆก็รู้   เพราะท่านหญิงไม่ได้ปกปิดสถานภาพ      ยังไงข่าวก็คงบอกกันปากต่อปาก  จนถึงผู้ว่าฯ   เมื่อรู้แล้วก็น่าจะมาเข้าเฝ้าท่านด้วย เพื่อดูแลทุกข์สุข  ไม่ปล่อยไว้เฉยๆ
ผู้ว่าฯสองท่านในรายชื่อข้างบนนี้คือหมายเลข 9 และ 10 เป็นเชื้อพระวงศ์ทั้งคู่    ยังไงท่านก็ต้องถือว่าม.จ.ฉวีวาดเป็นพระญาติชั้นผู้ใหญ่  ไม่ปล่อยปละละเลย   ยิ่งเป็นเจ้าพี่ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อย่างพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบด้วยแล้วก็ยิ่งต้องเอาใจใส่มากขึ้น
พระองค์เจ้าคำรบก็น่าจะทรงรู้ด้วยว่าพี่ท่านออกจากกรุงเทพแล้วไปอยู่ไหน   แต่ในเมื่อไม่สมัครพระทัยจะอยู่กับพี่ๆน้องๆ ท่านก็คงต้องปล่อยให้เป็นเช่นนั้นค่ะ
บันทึกการเข้า
natadol
ชมพูพาน
***
ตอบ: 171


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 10 พ.ย. 13, 13:14

เปิดในวิถืพืเดีย พระราชประวัติ ของพระองค์เจ้าคำรพ ประสูติปี2414ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รบกวนสอบถามว่ากรมขุนวรจักรและ มรว.ดวงใจ ได้ไปที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปีไหนครับ ตามพระประวัติกรมขุนวรจักร ทรงสิ้นปี2415 เริ่มงงกับประวัติศาสตร์แล้วครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 10 พ.ย. 13, 13:40

หนังสือโครงกระดูกในตู้ เล่าว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนวรจักรธรานุภาพทรงทักท้วงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เรื่องการแต่งตั้งวังหน้า  เป็นเหตุการณ์เมื่อพ.ศ. 2411  จากนั้นก็เสด็จเข้าวัง ไม่ออกมาอีกหลายปีจนถึงปีบรมราชาภิเษกครั้งที่สองในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อพ.ศ. 2416  สมเด็จเจ้าพระยาพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแล้ว  จึงเสด็จออกมาเพื่อจะไปเข้าเฝ้า แต่ไปติดที่ต้นตะขบขึ้นขวางประตูวังเอาไว้ เสลี่ยงออกไม่ได้    ต้องเสด็จลงจากเสลี่ยงมาช่วยมหาดเล็กตัดต้นตะขบเป็นเรื่องโกลาหล  ขบวนจึงผ่านไปได้
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าถึงเหตุการณ์ตอนนี้เพื่อบอกว่า กรมขุนวรจักรฯเก็บพระองค์เงียบอยู่ในวังหลายปี  ตลอดเวลาที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีอำนาจเต็มอยู่ในสยาม    ขนาดต้นตะขบขึ้นขวางประตูวังท่านยังไม่รู้เลย เพราะไม่ได้เปิดประตูออกไปไหน
ถ้าอย่างนั้น ท่านจะไปอังกฤษพร้อมหม่อมดวงใจ   จนหม่อมเจ้าคำรบน้อยประสูติในอังกฤษได้อย่างไรในช่วงนั้น  ตกใจ

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังเล่าต่อไปว่า เสด็จปู่ของท่าน มิได้อยู่ในวังเฉยๆ แต่ทรงทดลองวิชาช่างต่างๆที่สนพระทัยมาก่อน  เช่นทดลองหุงกระจกแบบใหม่จนทำแก้วใสสีต่างๆได้      วิชาการแพทย์ วิชากลึงตลับงา ฯลฯ  ไปจนถึงเวลาเสด็จออกจากวัง

ถ้าหลักฐานในวิกิ ถูกต้อง  พระองค์เจ้าคำรบประสูติที่อังกฤษจริงๆ ก็แปลว่าเรื่องเล่าในโครงกระดูกในตู้ไม่จริง
แต่ถ้าเหตุการณ์ในโครงกระดูกในตู้เป็นเรื่องจริง    วิกิก็คลาดเคลื่อน

คำถามต่อไปคือ กรมขุนวรจักรฯมีโอกาสเสด็จไปถึงอังกฤษ ในต้นรัชกาลที่ 5  ด้วยธุระราชการเรื่องอะไร   สมัยนั้นถ้าไม่ใช่เรื่องติดต่อทางการทูต กับส่งนักเรียนไทยไปเรียนแล้ว  คนไทยไม่มีโอกาสไปเที่ยวถึงยุโรปได้เลย
และถ้าไปจริงจนพระองค์เจ้าคำรบประสูติที่นั่น   ทำไมม.ร.ว.คึกฤทธิ์ถึงไม่รู้?
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 10 พ.ย. 13, 20:39

สมัยนั้น ถ้าไม่ใช่นักเรียนนอกหรือเจ้านาย ไม่น่าได้ไปนอกง่ายๆ  และต่อให้ได้ไปนอก ยิ่งไม่สามารถพาผู้หญิงไปด้วยได้  ดังนั้นเรื่องพระองค์เจ้าคำรบประสูติที่อังกฤษหรือต่างประเทศนี่ไม่น่าเป็นไปได้เลยครับ ดังนั้นผมว่าเรื่องนี้น่าจะเข้าใจผิดหรือมั่วมากกว่า   


แต่เรื่องตีไข่ใส่ผงชูรสโรยผักชีเหยาะซีอิ๊วลงไปในงานเขียนนี่ท่านอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ถนัดมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แบบที่ท่านอาจารย์นวรัตนบอก  ยิงฟันยิ้ม  อ่านแล้วบางเรื่องต้องกรองเยอะๆ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 10 พ.ย. 13, 21:49

เดี๋ยวค่ะ!!!

มันมีอะไรให้หงายหลังตกเก้าอี้อีกหนแล้ว ในค.ห. 129    ซึ่งต้องรื้อโครงลงมาให้หมด   แล้วก่อสร้างใหม่ในค.ห.นี้
ตอนนี้กระดูกกระเดี้ยวกล้ามเนื้อระบมไปหมดแล้ว  เพราะตกหลายครั้งเต็มที

ในหนังสือโครงกระดูกในตู้ บรรยายไว้ดังนี้ค่ะ

"เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงผนวชเมื่อมีพระชันษาครบ 20 ปีแล้วนั้น   เมื่อลาผนวชก็ได้ทรงอำนาจการปกครองแผ่นดินจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  กลับมาทรงใช้ด้วยพระองค์เอง   และสมเด็จเจ้าพระยา ก็พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
กรมขุนวรจักรฯท่านจึงออกจากวังไปเข้าเฝ้า  เวลาเสด็จออก"

จากนั้นก็ถึงเหตุการณ์ที่ท่านต้องลงจากเสลี่ยงมาตัดต้นตะขบซึ่งขึ้นขวางประตูวังมาหลายปี แต่เจ้าของไม่รู้เพราะมัวประทับอยู่ในวัง ไม่ได้ออกไปไหน

ทีนี้เมื่อมาเปิดดูพระราชประวัติ  พบว่า

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411
ทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก    ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 10 พ.ย. 13, 21:52

จากนั้น เมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 20 พรรษา   ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2416  ผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระภิกษุ แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลา 15 วัน
หลังจากทรงลาสิกขาแล้ว ได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416

เมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  ในวาระนั้น

กรมขุนวรจักรธรานุภาพจะเสด็จออกจากวังที่ทรงขังพระองค์เองมาตั้งแต่พ.ศ. 2411  เพื่อไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวอย่างที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าได้อย่างไรกัน
ในเมื่อ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ สิ้นพระชนม์ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2415   และพระราชทานเพลิง ณ วัดสระเกศ เมื่อวันที่ 11  ธันวาคม พ.ศ. 2415

กรมขุนวรจักรสิ้นพระชนม์ไป 1 ปีเศษแล้ว   ก่อนมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2     สิ้นพระชนม์ไปขณะที่สมเด็จเจ้าพระยาฯยังเป็นผู้สำเร็จราชการอยู่
ถ้าท่านออกจากวังเจอต้นตะขบจริงอย่างที่ว่า ท่านก็ต้องออกมาด้วยสาเหตุอื่น ไม่ใช่เรื่องเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาสิ้นอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว  แต่จะเป็นสาเหตุอะไร ไม่อาจจะเดาได้  แต่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่เล่าอยู่ในหนังสือเป็นแน่
แต่ถ้าท่านคิดว่าจะรอจนสมเด็จเจ้าพระยาพ้นตำแหน่งเสียก่อน   ท่านก็ไม่มีโอกาสออกมาจากวังเลยตลอดพระชนม์ชีพ

หรือเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ตอนนี้ ก็เป็น"นิทาน" อีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 10 พ.ย. 13, 22:34

เอาข้อความในหนังสือมาลงให้อ่านชัดๆกันค่ะ

"ฝ่ายกรมขุนวรจักรฯเมื่อเสด็จออกจากที่ประชุมแล้วก็เสด็จกลับวัง และไม่เสด็จออกจากวัง ตลอดเวลาที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ซึ่งได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาแล้วนั้นยังเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่

จนกระทั่งมีอำนาจการปกครองแผ่นดินกลับมาสู่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าพระยาฯได้พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแล้วนั่นแหละ กรมขุนวรจักรฯถึงประทับเสลี่ยงเสด็จออกจากวังเพื่อจะไปเฝ้ารับเสด็จ เวลาเสด็จออก
เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงผนวชเมื่อมีพระชันษาครบ 20 ปีแล้วนั้น   เมื่อลาผนวชก็ได้ทรงอำนาจการปกครองแผ่นดินจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  กลับมาทรงใช้ด้วยพระองค์เอง   และสมเด็จเจ้าพระยา ก็พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
กรมขุนวรจักรฯท่านจึงออกจากวังไปเข้าเฝ้า  เวลาเสด็จออก
ในวันแรกที่ออกจากวังนั้น ท่านก็เรียกเสลี่ยงมาทรงตามที่เคยมา   ขึ้นประทับบนเสลี่ยงที่หน้าตำหนัก แล้วคนหามเสลี่ยงก็หามท่านไปที่ประตูวัง   พอถึงประตูวังก็เกิดเรื่องใหญ่ เพราะท่านออกจากวังไม่ได้    มีต้นตะขบใหญ่ๆขึ้นขวางประตูวังอยู่หลายต้น คนเดินผ่านเข้าออกนั้นเดินได้ แต่เสลี่ยงต่างกรมที่ค่อนข้างใหญ่นั้นออกไม่ได้แน่   ต้องเอะอะวางเสลี่ยงลง ให้มหาดเล็กวิ่งไปเอามีดพร้ามาตัดต้นตะขบ
พระองค์ท่านเองก็ลงจากเสลี่ยงมาช่วยด้วย  เอะอะเอิกเกริกกันอยู่พักใหญ่ จึงเสด็จกลับขึ้นเสลี่ยงทั้งที่เสโทท่วมองค์ และตั้งขบวนหามเสลี่ยงออกนอกประตูวังไปได้ "


หนังสือให้ภาพที่ชัดเจนมาก  น่าเสียดายเหลือเกินที่มันไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 11 พ.ย. 13, 10:37

สาเหตุที่กรมขุนวรจักรฯต้องเสด็จเข้าวังไม่ออกมาอีกหลายปี  หนังสือโครงกระดูกในตู้เล่าว่า เป็นเพราะในการประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ที่ประชุม อันมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นประธาน ตกลงที่จะแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตามคำเสนอของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์
เรื่องนี้ไม่เป็นมติเอกฉันท์ของที่ประชุม เพราะพระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ทรงคัดค้านว่า การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น ตามโบราณราชประเพณีเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของที่ประชุม ซึ่งทำความไม่พอใจให้แก่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านจึงได้ย้อนถามว่า ที่ไม่ยอมนั้น อยากจะเป็นเองหรือ
กรมขุุนวรจักรฯจึงตรัสว่า "ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม"

ความคลาดเคลื่อนเรื่องปี พ.ศ. ในค.ห.ข้างบนนี้ ทำให้ไม่ทราบเรื่องราวแท้จริง ที่อาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในข้อต่อไปนี้
1   กรมขุนวรจักรทรงจำกัดพระองค์เองอยู่ในวังต่อมาจนสิ้นพระชนม์
2   กรมขุนวรจักรเสด็จออกจากวังหนหนึ่ง   ในระยะเวลาไม่เกินพ.ศ. 2415    
3   กรมขุนวรจักรมิได้จำกัดพระองค์อยู่ในวัง   ยังคงเสด็จออกตามความจำเป็น
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.1 วินาที กับ 20 คำสั่ง