เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 154799 โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:44

ม.จ.ฉวีวาด มีความกล้าหาญชาญชัยถึงกับบังอาจไปขัดพระชงฆ์สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ถึงกับทรงกลิ้งตกอัฒจรรย์หอพระลงมาเป็นหลายขั้น จริงหรือ

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชซึ่งมีกฏมณเฑียรบาลอันเคร่งครัด เจ้านายระดับเจ้าฟ้าพระองค์เจ้าในพระบรมมหาราชวังจะมาเล่นคลุกคลีกับเจ้านายในวังข้างนอกก็ผิดแล้ว    ชาติกำเนิดก็เป็นสิ่งสำคัญ พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า ต่อให้เป็นหม่อมเจ้าชาย ก็ไม่ไปปะปนเล่นหัวกับสมเด็จเจ้าฟ้า  แม้แต่เล่นกับพระองค์เจ้าที่เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ  มักอยู่ในฐานะผู้ติดตามเสียมากกว่าเป็นเพื่อนเสมอกัน แต่นี่…

"ครั้งหนึ่งสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงใช้ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯขึ้นไปหยิบของบนหอพระ ท่านหญิงฉวีวาดนั่งอยู่ข้างพระทวาร  พอเสด็จลงมาท่านก็ยื่นขาออกไปขัดพระชงฆ์  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็เลยทรงล้มลง  ตกอัฒจันทร์ลงมาหลายขั้น เป็นเหตุให้สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงกริ้วว่างุ่มง่ามเซ่อซ่า
แต่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ทรงนิ่งเสีย  มิได้ทูลฟ้องว่าใครเป็นต้นเหตุให้ตกอัฒจันทร์    ท่านหญิงฉวีวาดก็ยิ่งเห็นว่าตัวเองเก่ง  รังแกเจ้าฟ้าพระราชกุมารพระองค์ใหญ่ได้"


เด็กผู้หญิงระดับแค่หม่อมเจ้าจะบังอาจเข้าไปหาโอกาสกระทำเช่นนั้นกับบุคคลระดับสมเด็จเจ้าฟ้า ซึ่งจะเป็นพระมหากษัตริย์ในอนาคต ที่ปกติแวดล้อมด้วยมหาดเล็กเด็กชาอย่างไม่ให้คลาดสายตาทุกขณะจิตได้อย่างไร
และบุคคลระดับสมเด็จเจ้าฟ้านั้น จะถูกอบรมตั้งแต่รู้ความให้เด็ดขาด สามารถเป็นเจ้าชีวิตของคนทั้งหลายได้ ดังนั้น หากถูกผู้หญิงหยาม จะไม่ทรงกระทำอะไรบ้างที่จะรักษาพระเกียรติยศของพระองค์เชียวหรือ ไม่ถึงต้องทูลฟ้องสมเด็จพระราชบิดาหรอก ทรงจัดการได้เองเลย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:46

เห็นได้จากเรื่องที่น.อ.สวัสดิ์ จันทนี เล่าถึงม.ร.ว.ร้าย สุริยกุล บิดาของคุณหลวงวรภักดิ์ภูบาล (ม.ล. อาจ สุริยกุล)  ท่านเป็นบุตรของหม่อมเจ้าถมยา โอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระรามอิศเรศ ( พระองค์เจ้าชายสุริยา) ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ ๒๒ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ม.ร.ว. ร้าย เติบโตขึ้นมาพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   เป็นมหาดเล็กรับใช้สนิทชิดใกล้ตั้งแต่เยาว์   เพราะอายุห่างกันเพียงปีเดียว   คุณชายได้เรียนหนังสืออยู่ในวัง ตามแบบลูกผู้ดีมีเชื้อสายเจ้านาย    ตอนนั้นลูกชายแหม่มแอนนาชื่อ หลุยส์ ที ลีโอโนเวนส์ก็เรียนหนังสืออยู่ด้วย

วันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์   เกิดอะไรไม่ทราบไม่พอพระทัยเด็กชายหลุยส์   จะเป็นเพราะเด็กชายหลุยส์ตีเสมอ หรือทำตัวไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงก็ไม่แน่  รับสั่งกับคุณชายว่า "อ้ายหลุยส์นี่ชักทะลึ่ง"

เจ้านายทรงบ่นแค่นั้น  ไม่ได้ทรงทำอะไรอีก   แต่คุณชายร้ายผู้ไม่ได้มีเรื่องมีราวกะเขาด้วยเลย ก็โดดถีบเด็กชายหลุยส์กระเด็นไปทันที 
เรื่องที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์กล้าเขียนลงไปนี้ จริงหรือเท็จประการใด มองในอีกแง่หนึ่ง ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ส่งเสริมพระบารมี ในเรื่องความไม่โกรธ ไม่พยาบาท อย่างที่ท่านผู้เขียนเรื่องโครงกระดูกในตู้อ้าง   ธรรมชาติของเด็กไม่ว่าจะหญิงหรือชาย พอข่มกันได้ทีหนึ่งก็จะข่มต่อไปเป็นทีที่สอง ที่สามไม่รู้จบ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์จะไม่ทรงจัดการอย่างใด แม้จะโดนสมเด็จพระราชบิดาทรงกริ้วว่างุ่มง่ามเซ่อซ่า ก็ทรงนิ่งเสียทนถูกรังแก ปล่อยให้เรื่องผ่านไปชนิดที่เด็กผู้หญิงแบบม.จ.ฉวีวาดได้ใจกระนั้นหรือ

อย่างน้อย หากทรงพระเมตตามิได้ทรงกระทำรุนแรงก็ต้องมีปฏิกิริยาตอบโต้บ้าง ตามวิสัยเด็กที่มีอำนาจสูงกว่า อย่างไรก็ตามถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงก็คงไม่พ้นสายตามหาดเล็กรักษาพระองค์ไปได้ พวกเขาก็ไม่มีวันปล่อยให้ม.จ.ฉวีวาดลอยนวลอยู่จนสามารถมีชีวิตไปโม้ให้หลานฟังโดยยังมีหัวอยู่บนบ่าได้เด็ดขาด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:50

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นทั้งนักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และศิลปินแห่งชาติ ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นบุคคลสำคัญของโลกถึง๔สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน  สติปัญญาท่านล้ำเลิศ ไฉนจึงเชื่อเรื่องเล่าที่ท่านป้าแก่ของท่านเล่าให้ฟังตั้งแต่อายุยังไม่สิบขวบ ถึงขนาดไม่นึกสังหรณ์ใจที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงบ้าง

และบัณฑิตในพระพุทธศาสนา อดีตมรรคทายกวัดบวรฯอย่างท่าน ไฉนเมื่อทบทวนความทรงจำยามเด็ก เห็นศีลาจารวัตรของท่านป้าในรูปชีแล้วจึงไม่ฉุกใจว่า การบริโภคในยามวิกาลเป็นอาจิณ ๑  การนำท่านซึ่งเป็นเด็กผู้ชายไปเลี้ยงดู แม้จะปราศจากกามารมณ์ก็ตาม ๑   มุสาวาท ๑   แม้ยังไม่มีหลักฐานสาวไปถึงการละเมิดอุโบสถศีลของชีในข้ออื่นๆ ก็เข้าข่ายว่าท่านป้าของท่านบวชแค่อาศัยผ้าขาวสร้างภาพว่าเป็นแม่ชี แต่ตัวตนเป็นอลัชชีแล้ว น่าจะจะไตร่ตรองเรื่องเล่าของท่านป้าก่อนจะนำไปเผยแพร่
ตัวท่านเองก็มีโอกาสได้พบเจ้านายเขมรหลายพระองค์ในภายหลังเมื่อท่านเป็นผู้ใหญ่แล้ว  ดังที่ท่านเล่าไว้ท้ายเรื่องในหนังสือ “ถกเขมร”  อย่างน้อย ก็น่าจะทูลถามหรือเท้าความที่ท่านป้าของท่านไปเป็นฝ่ายในของสมเด็จพระนโรดมจนมีพระองค์เจ้าด้วยกัน หรือถามถึงข่าวคราวของพระองค์เจ้าพานคุลีลูกพี่ลูกน้องของท่านบ้างก็ได้  ถ้าทำอย่างนั้น ความจริงก็คงปรากฏออกมาก่อนหน้านี้แล้ว
 
ไม่เข้าใจว่า ท่านคิดอย่างไรในการนำเรื่องราวของม.จ.ฉวีวาด ปราโมช มาเขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้อย่างนี้ ท่านไม่เคยทราบเลยหรือว่าความจริงในตัวตนของท่านป้าเป็นอย่างไร และความเป็นจริงตามประวัติศาสตร์เพียงร้อยกว่าปีมานี้เอง ทั้งไทยและเขมรบันทึกไว้อย่างไร

หากท่านรู้ ทำไมท่านยังเขียนออกมาถึงขนาดนั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:51

หวังว่าผลการชันสูตรโครงกระดูกในตู้ตนนี้ คงจะเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่นักศึกษาประวัติศาสตร์ไทย สามารถนำไปสู่การพิจารณาหาความจริงในยุครัชกาลที่ ๕ ที่ถูกหนังสือเขียนเล่นแบบเล่าให้ลูกหลานในตระกูลฟัง นำไปปรุงแต่งเสียจนกลายเป็นคนละเรื่องกันไปโดยสิ้นเชิง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:52


อ้างถึง
แมวเซา

       ผมมีเรื่องเก่าๆค่อนข้างลึกลับจากหัวเมืองฝ่ายเหนือของประเทศสยามก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองครับ  คือมีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า  มีแม่ชีที่เป็นเจ้าหญิงไทยเชื้อสายมอญมาจากกรุงเทพฯ  ท่านได้มาบวชชีปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดท่าทอง  ตำบลวังกะพี้ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์(อยู่ด้านใต้ตัวเมืองอุตรดิตถ์มีสถานีรถไฟวังกะพี้อยู่ใกล้ๆ)  แม่ชีมีคุณูประการกับชาวบ้านบริเวณนั้น โดยท่านจะชักชวนให้เด็กผู้หญิงในย่านใกล้เคียงกับวัดท่าทองนี้ (บ้านท่าทอง บ้านป่ายาง บ้านป่าเซา) ให้มาเรียนหนังสือกับท่านฟรีๆ
  
      เรื่องราวของแม่ชีนั้นในการรับรู้ของชาวบ้านก็คือ ท่านเจ้าหญิงเชื้อสายมอญได้หลบหนีออกจากวัง  หนีจากการถุกจับให้แต่งงานกับพี่ชายของตนเอง  ซึ่งท่านเองไม่เต็มใจเช่นนั้น   ท่าน จึงได้หนีไปแต่งงานกับเจ้าชายเขมรที่เมืองเขมร จนมีลูกด้วยกันแล้ว     จึงกลับมาบวชชีในเมืองไทยเมื่ออายุมากแล้ว   โดยแท้จริงแล้วไม่มีใครทราบรายละเอียดเกี่ยวกับท่านมากนัก   แต่ดูเหมือนว่าชาวบ้านที่นั่นจะเชื่อถือกันอย่างสนิทใจว่าท่านเป็นเจ้าหญิงจริงๆ  คงมีสาเหตุที่ทำให้เชื่อหลายอย่าง  เช่นเรื่องราวที่ท่านพร่ำสอนและเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตในรั้วในวัง กับผู้คนที่มาติดต่อกับท่าน     การมาพักอยู่ของท่านทำให้เกิดปรากฎการณ์ในเวลาต่อมาอย่างหนึ่งคือเด็กบ้านนอกที่นั้นที่เป็นเด็กหญิงสามารถอ่านออกเขียนได้ก่อนที่จะมีการศึกษาประชาบาลเสียอีก

      เรื่องที่ทุกคนไม่มีความขัดข้องใจว่า “แม่ชียายเจ้า”ว่าเป็นเจ้าหญิงจริงๆสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็   เพราะเจ้าอาวาสวัดท่าทอง(หลวงพ่อทองดำ )จะดูแลท่านเป็นอย่างดี  มีการสร้างกุฎีให้ท่านพักเป็นพิเศษ  (หลวงพ่อทองดำท่านก็มีอายุยืนมากอยู่มาตั้ง ร้อยกว่าปี  พื้นเพท่านไม่ใช่ชาวบ้านนอกบ้านนา   จนไม่ทราบเรื่องราวเมืองกรุงนะครับ     เคยเป็นทหารเกณฑ์   เมื่อบวชแล้วก็เคยมาเล่าเรียนถึงวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์  ท่านเกิดประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๑)

       แม่ชียายเจ้าท่านใช้ชีวิตอยู่ที่วัดท่าทองอยู่นานหลายปี   จนกระทั่งมีลูกหลานของท่านมารับกลับไปกรุงเทพฯจึงไม่ได้เสียชีวิตอยู่ที่นั่น  เรื่องราวของท่านก็เหลือเป็นเพียงเรื่องเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าต่อๆกันมาเหมือนเป็นตำนาน        นานๆเข้าพอเล่าให้คนรุ่นหลังๆกันมาหลายรุ่นคนฟังก็ชักไม่เชื่อ คิดว่าคนแก่ดูลิเกมากไปซะอีก   “อะไรนะยาย! เจ้าหญิงมอญ แล้วทำไมต้องมาบวชชีแถวนี้ แถมยังไปแต่งงานกับเจ้าชายเขมรเสียอีก โห! ”
        ครั้นมีบางท่านคือคนแก่  เป็นเด็กผู้หญิงที่เคยได้เรียนหนังสือกับท่านบางคน ได้ถึงกับค้นตะกร้าหมากพลู หาตลับเก็บของหยิบเอาดอกไม้ทองคำเล็กๆที่แม่ชียายเจ้าเคยแกะออกจาก “สร้อยคอดอกหมาก”ของแม่ชีเองให้เป็นที่ระลึกไว้   คุณยายหยิบเอาดอกไม้ทองออกมาให้ลูกหลานดูเป็นประจักษ์พยานอย่างนี้ก็มี       จะว่าไปก็เป็นเรื่องแปลกมากๆของชาวบ้านนอกของ เมืองอุตรดิตถ์  เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๘๐-๙๐ปีที่แล้ว   ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียอีก  ส่วนผู้คนที่เคยได้เห็นตัวจริงของแม่ชียายเจ้า  ก็แทบไม่เหลือตัวแล้ว
 
        แต่เรื่องนี้ถ้ามีใครมาถาม  ตัวผมเองคงจะต้องเชื่ออย่างสุดหัวใจเสียแล้วละครับ  เมื่อได้มาอ่านเจอกระทู้ “หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมท”นี้เข้า   เพราะผมก็เคยสอบถามคุณแม่ที่ปีนี้อายุ๘๙ปีแล้ว(พ.ศ.๒๕๕๖)   แม่เป็นคนอ่านออกเขียนได้มาตั้งแต่เด็กๆโดยไม่เคยเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียน   ผมถามแม่ว่า “แม่ชียายเจ้า”ชื่อจริงอะไร  แกตอบเป็นภาษาพื้นบ้านว่าชื่อ “สะหวีวาด”
  
        ขอกราบขอบพระคุณ อาจารย์ทุกท่านที่ช่วยเขียนกระทู้นี้ ให้ผมและคนไทยพ.ศ.นี้ได้อ่านครับ

        ตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันนี้ ในอดีตสมัย ร.5 คือ ท่าน้ำ บางโพ ครับ

ส่วนเรื่องนายนุด เป็นไปได้มากว่าท่านก็เคยมาพักอยู่ที่อุตรดิตถ์ ผมเคยได้ฟังเรื่องของคนที่เชี่ยวชาญเรื่องภาษาขอมจากปากของคุณพ่อที่เคยบวชเณรบวชพระอยู่วัดท่าทองด้วย  ตัวหลวงพ่อทองดำเองท่านก็มีพ่อเป็นคนบ้าน"ชัยโรงโขน" เมืองพิจิตร    ส่วนแม่ของท่านเป็นคนบ้านป่าเซา(ที่มีเชื้อสายเป็นคนลาว)
 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:57

อ้างถึง
เทาชมพู
สรุปพระประวัติย่อของม.จ.ฉวีวาด ปราโมช
จากข้อมูลในกระทู้นี้

ประสูติ               ประมาณพ.ศ. 2397-2399   (คำนวณจากพระชันษาของเจ้าพี่เจ้าน้องของท่าน)
ปฐมวัย              (อาจจะ)เคยเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังมาระยะหนึ่ง
เจริญพระชันษา      ปลูกตำหนักอยู่ในวังวรจักร   
หมั้น                  พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าคคณางค์ยุคล  กรมหลวงพิชิตปรีชากร    แล้วถอนหมั้น
เสกสมรส             พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร  พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว                 ไม่มีโอรสธิดา
หนีจากสยาม         ประมาณพ.ศ. 2422  พระชันษาประมาณ 23-25 ปี    กับมหาดเล็กชื่อนายเวรผึ้ง
อยู่ในเขมร            ระหว่างพ.ศ. 2422 - พ.ศ. 2461 (ในรัชกาลที่ 6)  รวมเวลา 39 ปี
สามี                   นายเวรผึ้ง
                       ออกญานครบาล (มัน)
                       ออกญาแสรนธิบดี (ปัล)เจ้าเมืองระลาเปือย
                       พระพิทักราชถาน (ทอง)
                       ขุนศรีมโนไมย กรมการวัลเลอรีย์

บุตร                  นายนุด หรือนุศ  เกิดจากออกญาแสรนธิบดี  เจ้าเมืองระลาเปือย
ปัจฉิมวัย             บวชชีในประเทศไทย   อยู่กับญาติในราชสกุลปราโมช
                      ออกจากกรุงเทพไปอยู่ที่จ.อุตรดิตถ์ กับบุตรชาย
                      ญาติทางกรุงเทพไปรับกลับมากรุงเทพ
สิ้นชีพิตักษัย        หลังพ.ศ. 2477  แต่คงไม่เกินพ.ศ. 2480
 
                     ไม่พบหลักฐานว่า
                     1   ทรงเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วิกฤตวังหน้าในพ.ศ. 2417
                     2   ทรงนำละครไทยไปเผยแพร่ในราชสำนักกัมพูชาในรัชกาลที่ 5
บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 16:57

ยังไม่ได้อ่านละเอียดครับ ด้วยความเคารพผมว่ากระทู้นี้ไม่เป็นธรรมเพราะมี bias มาตั้งแต่แรก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 17:24

อ่านให้ละเอียดก่อนดีไหมคะ   
ถ้ายังติดใจประเด็นไหนอยู่  ก็ค่อยคุยกันอีกที
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 19:14

หวังว่าผลการชันสูตรโครงกระดูกในตู้ตนนี้ คงจะเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่นักศึกษาประวัติศาสตร์ไทย สามารถนำไปสู่การพิจารณาหาความจริงในยุครัชกาลที่ ๕ ที่ถูกหนังสือเขียนเล่นแบบเล่าให้ลูกหลานในตระกูลฟัง นำไปปรุงแต่งเสียจนกลายเป็นคนละเรื่องกันไปโดยสิ้นเชิง

สิ่งที่ต้องคลายปมกันต่อมา คือ ประเด็นเรื่องการริบราชบาตร อ่านดูแล้วยังไม่กระจ่างแจ้ง
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 31 ต.ค. 13, 00:00

bias เกี่ยวกับประวัติศาสตร์นี่มีเยอะจริงๆ ครับ   อันหนึ่งที่เห็นบ่อยเวลาอ่านประวัติศาสตร์ไทยคือ ใครเขียนก่อนได้เปรียบก่อน เพราะคนยุคหลังมักจะเชื่อๆ กันตามมาโดยแทบไม่ให้น้ำหนักหลักฐานอื่นๆ ในชั้นหลัง หรือบางครั้งถ้าผู้เขียนเป็นผู้มียศศักดิ์ การตั้งข้อสงสัยหรือวิจารณ์จะถูกมองว่ากลายเป็นการลบหลู่หรือไม่ให้เความเคารพไปซะอีก   ไม่ก็มองว่ามันไม่เหมาะสม แต่ถามว่าไม่เหมาะสมตรงไหนจะตอบไม่ได้ รู้แต่ว่ารู้สึกว่าไม่เหมาะสมเท่านั้น ยิ่งถ้าเกี่ยวกับเจ้านายหรือเชื้อพระวงศ์นี่กลายเป็นของต้องห้าม กล่าวถึงได้แต่ด้านดีได้เท่านั้น ไม่งั้นจะโดนคำว่าไม่เหมาะสมได้ง่ายๆ   


อีก bias หนึ่งที่เจอ แต่ไม่เกี่ยวกับกระทู้นี้ คือคำกล่าวที่พวกไม่ศึกษาประวัติศาสตร์มักจะนิยม คือคำว่าผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะคนไทยนิยมนาซีนี่นิยมใช้คำนี้มากๆ เวลาจะอวยฮิตเลอร์  ขอบ่นๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 31 ต.ค. 13, 05:45

รบกวนท่านอาจารย์ลบข้อความของผมได้ไหมครับ ดูเหมือนจะไปขัดจังหวะอาจารย์นวรัตน์เข้า เดี๋ยวผมขอเวลาเรียบเรียงข้อมูลมาตั้งกระทู้แก้ให้อาจารย์หม่อมบ้างครับ ขอเวลาผมนิดหนึ่งเพราะไม่สันทัดการใช้ภาษาไทยเหมือนทุกท่านครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 31 ต.ค. 13, 09:22

ตอบคุณ hobo  ไม่ต้องลบค.ห.คุณหรอกค่ะ ไม่งั้นก็ต้องลบคำตอบของดิฉันด้วย    คุณ NAVARAT.C โพสต์ข้อความจบในรวดเดียวแล้ว   ไม่เป็นการขัดจังหวะ
คุณโฮโบโพสต์ความเห็นแก้ในกระทู้นี้ได้เลยค่ะ  จะได้รวบรวมเรื่องนี้ไว้ในกระทู้เดียวกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 31 ต.ค. 13, 10:06


สิ่งที่ต้องคลายปมกันต่อมา คือ ประเด็นเรื่องการริบราชบาตร อ่านดูแล้วยังไม่กระจ่างแจ้ง
ยังไม่กระจ่างแจ้งในค.ห.ของคุณหนุ่มสยามค่ะ     หมายความว่าอะไร
๑   ไม่กระจ่างแจ้งในเรื่องริบราชบาตร ตามที่ปรากฏในหนังสือโครงกระดูกในตู้
๒   ไม่กระจ่างแจ้งในข้อเขียนของคุณ NAVARAT.C ในกระทู้นี้ เกี่ยวกับเรื่องริบราชบาตร

ข้อไหน หรือทั้งสองข้อคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 31 ต.ค. 13, 10:09


อีก bias หนึ่งที่เจอ แต่ไม่เกี่ยวกับกระทู้นี้ คือคำกล่าวที่พวกไม่ศึกษาประวัติศาสตร์มักจะนิยม คือคำว่าผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะคนไทยนิยมนาซีนี่นิยมใช้คำนี้มากๆ เวลาจะอวยฮิตเลอร์  ขอบ่นๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
ถ้าเจอที่ไหนก็ถามกลับไปก็ได้ค่ะ ว่าประวัติศาสตร์ไทยที่เขียนว่าไทยแพ้พม่าในการเสียกรุงครั้งที่ ๑ และ ๒   คนบันทึกคือไทยหรือพม่า
บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 31 ต.ค. 13, 17:07

เข้ามาบ่นร่วมด้วยครับ เกี่ยวกับเรื่องนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เห็นมีหลายคนบอกว่าพม่าบันทึกว่าอย่างนี้ ลาว เขมร บันทึกว่าอย่างนี้ไม่เหมือนกับไทยเรา เพราะฉะนั้นเราผิด ตรรกะอย่างนี้ใช้ได้ที่ไหน ดูถูกคนไทย มองคนไทยเป็นคนโกหกไปหมด ผมไม่เห็นด้วยเลยครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.089 วินาที กับ 19 คำสั่ง