เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 19 20 [21] 22 23 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 154213 โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร
thibodi
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


ความคิดเห็นที่ 300  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 10:49

กระดูกของ"ท่านป้าฉวีวาด": การชันสูตรใหม่ (5) ชีวิตพิสดาร

ธิบดี บัวคำศรี
14 กรกฎาคม 2555 (PDT)

http://www.facebook.com/notes/suwasadee-photpun/กระดูกของ-ท่านป้าฉวีวาด-การชันสูตรใหม่-5/500330393317661

5. ชีวิตพิสดาร
 
มาลิกามีจดหมายตอบกลับ 2 ฉบับ ลงวันที่ 23 ธันวาคม 1926 ฉบับหนึ่ง อีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 24 ธันวาคม 1926 ซึ่งมีเนื้อความพิสดารกว่ามีเนื้อความดังนี้
 
กระหม่อมฉันกราบถวายบังโคมยังไต้ฝ่าพระบาท
 
วานนี้กระหม่อมฉันได้รับพระจดหมายลายพระหัดถ์ลงวันที่ 12 และลงวันที่ 16 ธันวาคม, กับสำเนาหนังสือพระองค์เจ้า (พานดุรี)
 
กระหม่อมฉันได้เขียนตอบทูลถวายยังฝ่าพระบาทลงวันที่ 23 ทิ้งไปรสนีย์ที่กรุงภนมเพญหนึ่งฉบับ แต่เนื้อความในฉบับเขียนเมื่อวานนี้ไม่สู้จะพิศดารวิถารเรียบเรียงดี,
 
ครั้งนี้จะดำเนินความตามพงศาวดารของพระองค์เจ้าพานดุรี กับพงศาวดารหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศผู้มารดาของพระองค์เจ้าพานดุรี
 
หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศเมื่อเสเพลไปอาสัยอยู่ในกรุงกัมพูชา สมเด็จพระนโรดม พระเจ้ากรุงกัมพูชาจะได้เลี้ยงเป็นเจ้าจอม-หม่อมห้ามฤ๋ๅจะได้ฉิมรศของหม่อมเจ้าฉวีวาศนั้นหามิได้, เมื่อหม่อมเจ้าฉวีวาศประปฤติ์ตัวเสเพล วิ่งตามนายเวนผึ้งไปถึงกรุงภนมเพญนั้น ได้เฃ้าเฝ้าสมเด็จพระนโรดมๆ มีรับสั่งว่าถ้าจะอยู่ในพระราชวังฤ๋ๅจะเลี้ยง
 
คณะนั้นหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศกราบบังโคมทูลสมเด็จพระนโรดมว่าได้มีครรณ์กับนายเวนผึ้งเสียแล้ว, สมเด็จพระนโรดมทรงทราบเช่นนั้นแล้วก็ทรงอนุมัติ์ตามประสงค์ของหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศๆ ฉวีวาศอยู่กินกับนายเวนผึ้งเป็นเมียน้อยเฃา ด้วยนาเวนผึ้งมีเมียก่อนเจ้าหญิงฉวีวาศถึงสองคน อยู่ด้วยนายเวนผึ้งไม่สักเท่าใด หม่อมเจ้าฉวีวาศวิ่งไปได้กับออกญานครบาล (มัน) แล้วเสเพลไปได้ออกญาแสรนธิบดี (ปัล) เจ้าเมืองระลาเปอียเป็นผัวอีกคนหนึ่ง บังเกิดได้บุตรชายผู้หนึ่งชื่อ (นุด) ซึ่งตั้งตนเป็นพระองค์เจ้า (พานดุรี) นั้นและ เมื่อเจ้า (นุด) บุตรชายของหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศยังเป็นเด็กมีอายุประมานได้หกขวบ หม่อมเจ้าหญิงปุกซึ่งเป็นพระอกคนารีเอาไปเลี้ยงอยู่ในพระราชวัง พระอักคนารีให้บ่าวในกรมเรียกลูกชายของหม่อมเจ้าฉวีวาศนั้นเป็นคุน คนอื่นๆ ก็เลยเรียกลูกชายของหม่อมเจ้าฉวีวาศนั้นเป็นคุนๆ ทั่วไป ทั้งหม่อมเจ้าฉวีวาศก็เฃ้าไปอยู่ในพระราชวังกับหม่อมเจ้าหญิง (พัชนี) ทำขนมและลูกกวาดขายในพระราชวัง หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศอยู่ในพระราชวังประมานสองปีเสศก็หายตัวไปเปนช้านาน ไพล่ไปได้กับพระพิทักราชถาน (ทอง) เป็นผัวอีกคนหนึ่ง ผ่ายหลังพระพิทักราชถาน (ทอง) สิ้นชีพไป หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศไปได้ผัวไหม่เป็นที่ขุนศรีมโนไมย กรมกาวัลเลอวีย์ในสมเด็จพระนโรดม อยู่ด้วยกันเป็นช้านานหลายปี เจ้านุดบุตรชายของหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศซึ่งเกิดด้วยเจ้าเมืองระลาเปอียนั้นก็อยู่ด้วยกัน บุตรชายของหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศด่าเจ้าแม่เสียต่างๆ เพลาหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศหาได้ให้สูบฝิ่นก็ดีไป เมื่อไม่มีเงินสื้อฝิ่นก็ด่าเอาเสียป่นปี้
 
ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงปุกเป็นพระอักคนารีทูลกับฝ่าพระบาทว่าเธอมีความละอาย จึงขวลขวายเสียเงินให้หม่อมเจ้าฉวีวาศเฃ้ามาในกรุงเทพ ข้อนี้หาจริงมีได้
 
หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศอยู่กับขุนศรีมโนมัยเป็นช้านานหลายปี เจ้าลูกชายอยู่ด้วย ด่าหม่อมเจ้าฉวีวาศเสียป่นปี้ก็ไม่เห็นมีผู้ใดเป็นลอายสิ่งหนึ่งสิ่งใดหามิได้
 
เมื่อจะออกจากกรุงภนมเพญเลยถึงกรุงเทพนั้น ด้วยขุนศรีมโนมัยผัวของหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศนั้นป่วยหนัก เป็นไข้ทรพิศม์ หม่อมเจ้าฉวีวาศเห็นอาการโรคทุพลภาพหนักลง หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศกลัวว่าจะตายไปดกเต้อจะเผาเรือนและเผาเสื้อผ้าของผู้ป่วยที่ตายในโรคทรพิศม์ จึงร่วมกันคิดกัน, มารดากับบุตรชายทำหนังสือขายที่อยู่ให้ผู้อื่น เอาเงินภากันแม่ลูกไปเมืองบาสัก อยู่ที่เมืองบาสักเป็นช้านาน ตามที่คนบอกเล่ากระหม่อมฉันว่าเจ้านุด ลูกชายของหม่อมเจ้าฉวีวาศเที่ยวเล่าเรื่องตำนานบุราณให้ชนชาวบาสักฟังได้เงินเป็นหลายร้อย
 
ผ่ายหลังบุตรชายของหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศตลับไปติดคุกอยู่ที่กรุงภนมเพญ ตัวหม่อมเจ้าฉวีวาศก็หายไปเป็นช้านาน ถึง พ.ศ.2461 จึงได้ฦๅกันว่าหม่อมเจ้าฉวีวาดเฃ้ามาในกรุงเทพ ผ่ายหลังหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศไม่มรฎกคุรด้วงผู้มารดา จึงไช้มือให้คนเขมรซึ่งคุ้นเคยเฃ้าออกในกรุงเทพไปพูจชักชวนเจ้านุดให้หนีออกจากคุก แล้วภาเจ้า (นุด) เข้ามาในกรุงเทพในระวางพุทธศกราช 2462-2463
 
เมื่อกระหม่อมฉันเข้ามาในกรุงเทพในพุทธศกราช 2463 หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศบวชเป็นนางชี กระหม่อมฉันสั่งให้เธอไปภพเธอไม่ไป ผ่ายหลังได้ยินพระองค์ยุคนธรบอกกับกระหม่อมฉันว่า หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศพูดอ้างตนเองว่าเป็นมารดาเลี้ยงของพระองค์ยุคนธรๆ ด่าส่งไปให้, กระหม่อมฉันจึงเล็งเห็นว่าเพราะพระองค์ยุคนธรด่าส่งไปเช่นนั้น จึงกระหม่อมฉันส่งคนใบบอกให้ไปหากระหม่อมฉันเธอจึงไม่ไป,
 
หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศนั้นเมื่องอยู่ในเมืองเขมรคุ้นเคยกับกระหม่อมฉันๆ เคยเรียกไปทำลูกกวาดที่บ้านอยู่เนืองๆ กระหม่อมฉันได้ไต่สวนถึงเรื่องเก่าแก่ซึ่งเธอออกจากกรุงเทพวิ่งตามนาเวน (ผึ้ง) ไป หม่อมเจ้าฉวีวาศบอกกับกระหม่อมฉันว่าหลงเชื่อว่านาเวน (ผึ้ง) นั้นเป็นเจ้าอุปราชกรุงกัมพูชา
 
กระหม่อมฉันจึงซักไต่ต่อไปว่า เมื่ออกจากรุงเทพทิ้งผัว-ทิ้งแม่นั้นด้วยหลงเชื่อคนหลอกว่านายเวนผึ้งเป็นมหาอุปราชกรุงกัมพูชา ก็เมื่อมาถึงกรุงภนมเป็นแล้วสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชาชวนให้อยู่ในวังเป็นอย่างไรจึงไม่อยู่ หม่อมเจ้าฉวีวาศต้องรับจนว่ากรรมซึ่งได้สร้างมาแต่ปางก่อน
 
กระหม่อมฉันมีความสงสารชาติผู้ดีด้วยกันจึงได้เรียกหาไปที่บ้านอยู่เนืองๆ ให้เงินให้อัฐเธอบ้างเล็กน้อย ถึงลูกชายก็ดีเมื่อติดคุกอยู่ในกรุงภนมเพญ ภพที่ไหนก็โยนเงินและอัฐให้ทุกๆ ที่ แต่บัดเดี๋ยวนี้ได้เห็นสำเนาหนังสือ, พระองค์เจ้าพานดุรีซึ่งฝ่าพระบาทฝากไปพระราชทาน ก็มีความเคืองแค้นเป็นพันทวี
 
ถึงจะอวดอ้างตั้งตนเป็นอย่างไรก็ควนจะอวดที่คนซึงโง่เขลา จะได้มีอำนาจราชสักดิ์ไปน่อหนึ่ง นี้มาทำจองหองกับฝ่าพระบาท บังอาจบอกกับเจ้าเมืองว่าตัวมันเป็นบุตรสมเด็จพระนโรดมและบ้างอาจถึงมีหนังให้เจ้าเมืองส่งไปเช่นนั้น ควรแต่จะขาดโทศให้ถึงสาหัศ
 
พระองค์เจ้าพานดุรีเมื่ออยู่เมืองเขมรมีชื่อว่าคุนนุดนั้น เคยเฃ้าอยู่ในเรือนใหญ่ซึ่งมีนามว่าคุกเขมรเป็นสองคราว ครั้งนี้มาตั้งตัวเป็นเจ้าเขมร - และเป็นพระราชบุตรสมเด็จพระนโรดม เช่นนั้นก็ควรจะเชิญในให้ในพระราชสำนักที่ใหญ่โตซึ่งเป็นกองอุกฤต
 
เมื่อปีกลายกระหม่อมฉันตลับไปจากกรุงเทพ ภพผู้หญิงเขมรผู้ 1 ในเรือนิพพา บอกกับกระหม่อมฉันว่าเป็นเมียของเจ้า (นุด) ลูกชายของหม่อมเจ้าฉวีวาศ ว่าทนอยู่ไม่ได้จึงยากจะตลับบ้านเมือง จึงพระเขมร, อยู่วัดราชนดาบอกว่าเที่ยวเรือนั้นกระหม่อมฉันจะตลับไปเมืองเขมรจึงลงมาที่เรือโดยสารกระหม่อมฉันไป กระหม่อมฉันถามว้า บัดนี้เจ้าหญิงฉวีวาศอยู่ที่ไหน ว่าไปเมืองอุดรและตลับมาอยู่บางโพธิ์ ตามที่ผู้หญิงคนนั้นเล่าบอกกับกระหม่อมฉันว่า หม่อมเจ้าฉวีวาศพูจว่าจึงไม่ไปหากระหม่อมฉันเมื่อกระหม่อมฉันอยู่ในกรุงเทพนั้นเพราะกระหม่อมฉันเป็นเด็กกว่า ควรให้กระหม่อมฉันไปหาก่อน จึงเธอจะไปหากระหม่อมฉันทีหลัง ว่าเจ้า (นุด) ได้ยินหม่อมเจ้าฉวีวาศพูจเช็นนั้นก็ตวาดเอามารดา แล้วพูจกับหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศผู้เป็นมารดาเป็นคำหยาบๆ
 
หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศมีบุตรชายคนเดียวชื่อ (นุด) บิดาเป็นเจ้าเมืองรลาเปอีย ชื่อ (ปัล) เป็นเชื่อเจ็ก หาไช่เป็นเชื่อเจ้ามิได้
 
ชื่อ (นุด) เป็นบุตรชายของหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศนั้น ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระนโรดมติดคุกครั้งหนึ่ง ออกจากคุกพร้อมกับคนโทษด้วยกันหลายร้อยคนเมื่อคณะเปลี่ยนแผ่นดินไหม่
 
ในแผ่นดินสมเด็จพระศรีสวัดในระวางพุทธศักราช 2461-2462 ชื่อ (นุด) บุตรชายของหม่อมเจ้าแวีวาศติดคุกอีกครั้งหนึ่ง แต่โทษเป็นประการใดกระหม่อมฉันก็ลืมไป จำได้แน่แต่ว่าติดคุกด้วยตั้งตัวเป็นโจรรกัมเมื่อครั้งแรก, เมื่อครั้งหลังดูเหมือนไปตั้งตัวว่าเป็นเจ้า วานซืนนี้ได้รับจตหมายลายพระหัดถ์ของฝ่าพระบาทก็จวนเพลานักแล้ว ไปดูบาญชีคุกไม่ทัน วานนี้และวันนี้เป็นวันกัมเนิดพระเยซู กระทรวงยุดทำงาร
 
ค่อยถึงวันทำงาร กระหม่อมฉันตลับจากแกบ จะไปขออนุญาติกระทรวงยุติธรรมค้นหาหนังสือคุกของพระองค์เจ้าพานดุรี บุตรชายของหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศ ได้ความแน่จะฝากมาถวายต่อผ่ายหลัง
 
ควรมิควรขอทรงโปรษ

 
(สจช สบ.2.53/138, 128-137)
 
ในร่างจดหมายที่กรมพระดำรงฯ จะมีไปทูลเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 5 มกราคม 1927, ยังเป็น พ.ศ. 2469, ก็เล่าความตามอย่างมาลิกา เป็นแต่ย่นย่อความลง แต่ก็ได้คัดสำเนาจดหมายของมาลิกาทั้งสองฉบับแนบไปด้วย (สจช สบ.2.53/138, 140-144)
 
วันที่ 7 มกราคม 1927, ยังเป็น พ.ศ. 2469, มาลิกาก็มีจดหมายมายังกรมพระดำรงฯ เรื่อง "หนังสือคุก" ที่เคยกล่าวถึง
 
กระหม่อมฉันได้ไปขออนุญาตกระทรวงยุติธรรมค้นหาหนังสือคุกและสารกรมทัณฑ์ซึ่งตุลาการตีดสินขาดโทษนาย (นุด) บุตรชายของหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาศซึ่งตั้งตนเป็นพระองค์เจ้าพานดุรีนั้น โทษเมื่อแผ่นดินก่อนและต้นแผ่นดินปัจจุบันค้นหายังไม่ภพๆ แต่สำเนาสารกรมทัณฑ์ สาลอุทธรกรุงภนมเพญเห้นพร้อมตามสาลปัตตบองขาดโทษเมื่อตอนปลายที่สุด สารกรมทัณฑ์ตุลาการเมืองปัตตบอง เลขที่ 198 ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2464
 
สารกรมทัณฑ์ตุลาการสาลอุทธรกรุงภนมเพญ เลขที่ 142 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2464 สาลปตตบองและสาลอุทธรกรุมภนมเพญขาดโทษใส่คุก, ชื่อ นุด 5 ปี ด้วยตั้งตัวเป็นเจ้า, แต่งเนื้อเรื่อง และสาลกรมทัณฑ์สาลปัตตบองหายังไม่ภพ
 
ตามที่ในสารกรมทัณฑ์สาลอุทธรกรุงภนมเพญนั้น ชื่อนุดพึ่งพ้นโทษในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2469 นี้ ก็ประจวบกับที่ได้ตั้งตนเป็นพระองค์เจ้านั้นเอง,
ถ้าหาภพเนื้อเรื่องได้พร้อมมูลเมื่อใดก็จะลอกฝากมาทูลถวายต่อผ่ายหลัง

 
(สจช สบ.2.53/138, 145-146)
 
ฉวีวาดแต่ต้นเรื่องมาจนบัดนี้เป็นเรื่องที่คนอื่นเล่าถึงเธอทั้งนั้น กระทั่งพานดุรีก็เช่นกัน เว้นแต่ในเอกสารฉบับหนึ่งที่เราจะได้ยินเสียงของพานดุรี
 
 
อ้างอิง
 
สจช.สบ.2.53/138 พระองค์เจ้าหญิงมาลิกา ยุคันธร
 
_______________

ตอนต่อไปของ กระดูกของ "ท่านป้าฉวีวาด": การชันสูตรใหม่ (6) หนังสือของพานดุรี
บันทึกการเข้า
thibodi
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


ความคิดเห็นที่ 301  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 10:53

กระดูกของ “ท่านป้าฉวีวาด”: การชันสูตรใหม่ (6) หนังสือของพานดุรี

ธิบดี บัวคำศรี
14 กรกฎาคม 2555 (PDT)

http://www.facebook.com/notes/suwasadee-photpun/กระดูกของ-ท่านป้าฉวีวาด-การชันสูตรใหม่-5/500368966647137
 
6. หนังสือของพานดุรี
 
ฉวีวาดแต่ต้นเรื่องมาจนบัดนี้เป็นเรื่องที่คนอื่นเล่าถึงเธอทั้งนั้น กระทั่งพานดุรีก็เช่นกัน เว้นแต่ในเอกสารฉบับหนึ่งที่เราจะได้ยินเสียงของพานดุรี





บันทึกการเข้า
thibodi
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


ความคิดเห็นที่ 302  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 10:55

กระดูกของ “ท่านป้าฉวีวาด”: การชันสูตรใหม่ (6) หนังสือของพานดุรี [ต่อ-จบ]

หนังสือแบบนี้ที่มาลิกากล่าวว่า
 
.....บัดเดี๋ยวนี้ได้เห็นสำเนาหนังสือ, พระองค์เจ้าพานดุรีซึ่งฝ่าพระบาทฝากไปพระราชทาน ก็มีความเคืองแค้นเป็นพันทวี
 
ถึงจะอวดอ้างตั้งตนเป็นอย่างไรก็ควนจะอวดที่คนซึงโง่เขลา จะได้มีอำนาจราชสักดิ์ไปน่อหนึ่ง นี้มาทำจองหองกับฝ่าพระบาท บังอาจบอกกับเจ้าเมืองว่าตัวมันเป็นบุตรสมเด็จพระนโรดมและบ้างอาจถึงมีหนังให้เจ้าเมืองส่งไปเช่นนั้น ควรแต่จะขาดโทศให้ถึงสาหัศ

 
(สจช สบ.2.53/138, 133-134)
 
แต่เมื่ออ่านหนังสือของพานดุรีจนจบ ก็ยังไม่พบความตอนใดเลยที่พานดุรีอวดอ้างตนว่าเป็น "บุตรสมเด็จพระนโรดม"
 
คำถามมีอยู่ว่า เราจะเชื่อมาลิกาได้เพียงไร
คำถามนี้ย่อมใช้ได้กับ คึกฤทธิ์ กรมพระดำรงฯ ปุก และพานดุรี ด้วย
 
 
อ้างอิง
 
สจช.สบ.2.53/138 พระองค์เจ้าหญิงมาลิกา ยุคันธร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 303  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 11:09

กระดูกของ “ท่านป้าฉวีวาด”: การชันสูตรใหม่ (6) หนังสือของพานดุรี [ต่อ-จบ]

หนังสือแบบนี้ที่มาลิกากล่าวว่า
 
.....บัดเดี๋ยวนี้ได้เห็นสำเนาหนังสือ, พระองค์เจ้าพานดุรีซึ่งฝ่าพระบาทฝากไปพระราชทาน ก็มีความเคืองแค้นเป็นพันทวี
 
ถึงจะอวดอ้างตั้งตนเป็นอย่างไรก็ควนจะอวดที่คนซึงโง่เขลา จะได้มีอำนาจราชสักดิ์ไปน่อหนึ่ง นี้มาทำจองหองกับฝ่าพระบาท บังอาจบอกกับเจ้าเมืองว่าตัวมันเป็นบุตรสมเด็จพระนโรดมและบ้างอาจถึงมีหนังให้เจ้าเมืองส่งไปเช่นนั้น ควรแต่จะขาดโทศให้ถึงสาหัศ

 
(สจช สบ.2.53/138, 133-134)
 
แต่เมื่ออ่านหนังสือของพานดุรีจนจบ ก็ยังไม่พบความตอนใดเลยที่พานดุรีอวดอ้างตนว่าเป็น "บุตรสมเด็จพระนโรดม"
 
คำถามมีอยู่ว่า เราจะเชื่อมาลิกาได้เพียงไร
คำถามนี้ย่อมใช้ได้กับ คึกฤทธิ์ กรมพระดำรงฯ ปุก และพานดุรี ด้วย

พระองค์หญิงมาลิกาท่านไม่ได้เขียนว่า พานดุรีอวดอ้างตนว่าเป็น "บุตรสมเด็จพระนโรดม"กับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ    แต่ท่านบอกว่าพานดุรี "บอกกับเจ้าเมืองว่าตัวมันเป็นบุตรสมเด็จพระนโรดม"  แต่ในจดหมายที่พานดุรีมีมาถวายสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ อ้างแต่เพียงว่าตัวเองเป็นเชื้อสายของแม่ซึ่งเป็นเจ้านายไทย

คำถามที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้คือ
๑  พานดุรีอวดอ้างตัวเองว่าเป็นพระองค์เจ้าบุตรสมเด็จพระนโรดม จริงหรือไม่
๒  ถ้าไม่จริง  คำนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร 
๓  ถ้าจริง  คำนี้ปรากฏอยู่ที่ใด

เราพูดเรื่องนี้กันมาแล้วในค.ห.ก่อนๆ    ดิฉันขอตอบข้อ ๓  ก็แล้วกันว่าคำนี้ปรากฏอยู่ใน "โครงกระดูกในตู้" แน่นอน    ทีนี้ ถ้าดูว่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้คำนี้มาอย่างไร   คำตอบก็จะต้องเป็นว่า..ท่านก็รู้จากท่านป้าของท่านน่ะซี    เพราะอะไรๆที่เกี่ยวกับท่านหญิงฉวีวาด ท่านก็บอกชัดเจนว่ารู้มาจากปากของท่านป้าทั้งนั้น
บันทึกการเข้า
thibodi
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


ความคิดเห็นที่ 304  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 11:10

ผมเขียนทิ้งไว้แต่เพียงตอนที่ 6 แล้วก็วางมือไป ด้วยเหตุ 2 คือ ยังคิดไม่ตลอด และจะต้องดึงเวลาที่ปันไปกับการเขียนเรื่องของฉวีวาดกลับมาใช้กับเรื่องอื่นที่สำคัญแก่ชีวิต(ในเวลานั้น)กว่า

ลืมไปประเดี๋ยวเดียวก็จะครบสองปีแล้ว

จะด้วยความบังเอิญหรืออย่างไม่ทราบได้ที่พาผมมาพบกับกระทู้นี้และได้พบกับความเห็นและข้อมูลอันหลากหลายที่ชวนให้ผมกลับไปพินิจสิ่งที่เขียนไว้ และชวนให้กลับไปคิดถึงเรื่องนี้ให้ตลอด หากสำเร็จได้อย่างใจก็ต้องยกความดีความชอบส่วนหนึ่งไว้ให้แก่ "เรือนไทย"

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 305  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 11:20

ถ้าหากว่าเนื้อหาในเรือนไทยมีประโยชน์ในงานเขียนเชิงวิชาการของคุณบ้าง ก็ต้องยกความดีให้แก่สมาชิกหลายๆท่านที่ร่วมค้นคว้าและออกความเห็นในเรื่องนี้
ที่จริงเราก็พูดกันมาจนนึกว่าจบเรื่องแล้ว   พอดีมีข้อเขียนของอาจารย์ Thibodi มาต่อท้าย อาจจะทำให้พูดอะไรเพิ่มเติมได้อีกหน่อย
แต่ตอนนี้ขอรอความเห็นของท่านอื่นๆก่อนค่ะ

ส่วนดิฉันเองก็ยังเชื่อว่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์ท่านได้ยินมาอย่างไรท่านก็เล่าไปตามนั้น     พวกเรารุ่นหลังจำนวนมากต่างหากที่เชื่อโดยไม่ได้ค้นคว้าหาหลักฐานเพิ่มเติม
ในเมื่อคุณ Thobodi พยายามตรวจสอบ ค้นคว้า เปรียบเทียบหาคำตอบที่แตกต่างออกไป  ก็ถือว่าเป็นการเดินที่ถูกทางแล้ว
บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 306  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 11:47

ขออภัยครับ การเขียนแบบนี้เรียกว่าการเขียนแบบวิชาการเหรอครับ ผมไม่เคยเห็น เรียกจิกหัวแบบไม่มีมารยาท แม้แต่อ้างถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงก็อ้างผิด อ้างเป็นกรมพระ
คนเขียนนี่ีเป็นใครวิเศษมาจากไหน ไม่มีมารยาท ผมอ่านแค่ย่อหน้าแรกก็ต้องหยุด ขอกราบอภัยท่านอื่นๆ ด้วยครับ แต่ผมทนไม่ไหวจริงๆ งานอย่างนี้อย่าเอามาเผยแพร่เลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 307  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 15:08

ดิฉันได้หลังไมค์ถึงอาจารย์ Thibodi แล้ว ถามเรื่องวิธีการเรียกชื่อบุคคลในข้อเขียนของอาจารย์     ดิฉันเคยเห็นวิธีการเรียกแบบนี้ในงานของนักวิชาการไทยบางคนมาก่อน    แต่จำไม่ได้แล้วว่าเป็นใคร     อาจารย์ก็ชี้แจงมาแล้ว

ถ้าหากว่างานนี้เขียนเป็นภาษาต่างประเทศเช่นภาษาอังกฤษ    ผู้เขียนจะเว้นคำนำหน้าชื่อบุคคล เช่นเรียก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ว่า Kirkrit  เฉยๆ ไม่มี M.R. นำหน้า    หรือเอ่ยถึงสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพสั้นๆ ว่า Prince Damrong  ก็พออนุโลมได้ว่าเป็นวิธีการเขียนในภาษาของเขา     แต่เมื่อเอาวิธีแบบต่างประเทศมาใช้ในภาษาไทย  ก็เลยฟังแปร่งหูสำหรับคนไทยที่ชินกับการเอ่ยชื่อและยศอย่างครบถ้วนในงานที่เสนอเนื้อหาอย่างเอาจริงเอาจัง

ดิฉันไม่คิดว่าคุณ Thibodi มีเจตนาจาบจ้วงล่วงเกินบุคคลสำคัญในอดีต   แต่คิดว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาไม่ทันยุคที่คนไทยเขาถือว่า การเรียกชื่อผู้ใหญ่ หรือบุคคลสำคัญอย่างลอยๆ นั้นเป็นการจิกหัวเรียก    เพราะค่านิยมอย่างหนึ่งในอดีตคือ ผู้มีอายุแก่กว่าเรียกชื่อผู้เยาว์กว่าอย่างลอยๆได้  ไม่มีใครว่า โดยเฉพาะเมื่อสนิทกัน     แต่ผู้เยาว์กว่าจะไปเรียกผู้ใหญ่ลอยๆแบบนั้นไม่ได้ ไม่ว่าสนิทหรือไม่สนิทก็ตาม    เรียกแบบนี้ โบราณเรียกเต็มๆ ว่า "จิกหัวเรียก"  สมัยนี้เรียกย่อๆว่า "จิก"
    
ลูกๆอเมริกันเรียกพ่อแม่ด้วยชื่อตัวของพ่อแม่ได้  ไม่ถือว่าไม่เคารพ พ่อแม่จำนวนมากชอบด้วยซ้ำ    แต่ลูกคนไทยต่อให้หัวประชาธิปไตยขนาดไหน  ลองเรียกชื่อพ่อแม่ตัวเองลอยๆ เหมือนเรียกชื่อเพื่อน    คงบ้านแตกกันวันนั้น
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 308  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 15:12

ขอเพิ่มเติมความเห็นเรื่องสำนวนการเขียนจากคุณ hobo เล็กน้อย


อ่านผ่านๆ จากที่คุณธิบดีเขียน  สำนวนการเขียนออกจะเหมือนงานเขียนของฝ่ายซ้ายในสมัยก่อนมากๆ ซึ่งยังเป็นที่นิยมในหมู่นักวิชาการแนวซ้ายๆ หน่อยในปัจจุบันคือการเรียกชื่อบุคคลต่างๆ ด้วยชื่อเฉยๆ ไม่มีการใส่ยศใส่ตำแหน่ง แบบที่คุณ hobo ทนไม่ได้ เรียกว่าเป็นการเรียกแบบจิกหัว


ซึ่งถ้าเป็นงานเขียนภาษาอังกฤษ เราอาจเคยชินหรือเห็นการเรียกชื่อบุคคลต่างๆ ด้วยชื่ออย่างเดียว หรือนามสกุลอย่างเดียวเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องบอกว่านั่นเป็นธรรมเนียมหรือภาษาแบบฝรั่ง การเรียกชื่ออย่างเดียวไม่ถือเป็นการไม่ให้เกียรติ แต่จริงๆ จะสังเกตุว่าฝรั่งจะเรียกแต่ชื่อก็หลังจากได้แนะนำเรียกนามเต็มพร้อมยศของบุคคลต่างๆ ในงานเขียนก่อนแล้ว เป็นการเรียกแต่ชื่อเพื่อเป็นการสะดวก ไม่ถือเป็นเรื่องไม่สุภาพ


แต่ในภาษาไทยเราก็มีเอกลักษณ์แบบไทย เมื่อต้องการเขียนถึงผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มียศมีตำแหน่ง หรือเรียกเพื่อเป็นการให้เกียรติ เราจะไม่เรียกชื่อใครโดยใช้ชื่อเฉยๆ เพราะนี่ไม่ใช่ธรรมเนียมไทย ผมไม่เคยเรียกท่านใดในนี้ด้วยชื่อเฉยๆ อย่างน้อยก็ต้องมีคำว่าคุณ เช่นคุณ hobo คุณ ธิบดี หรือมีตำแหน่งเช่นคุณหมอ  เช่นท่านอาจารย์เทาชมพู หรือเรียกแบบตีซี๊เหมาเอาเองว่าผมซี๊กับท่านก็เช่นซายานวรัตน์  ซายาเพ็ญฯ (ซายานี่ภาษาพม่าแปลว่าอาจารย์ครับ) อะไรทำนองนี้  ในการกล่าวถึงบุคคลที่สามก็จะไม่เรียกแต่ชื่อเฉยๆ เช่นกัน เพราะมันผิดธรรมเนียมไทย มันทำให้ภาษาที่ใช้ดูไม่สละสลวยและหยาบคาย  ดูอย่างภาษาญี่ปุ่นก็ได้ เวลาเรียกใครแบบยกย่อง ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน ช่างปั้นหม้อ ช่างตีดาบ ฯลฯ ก็จะมีคำว่าเซนเซนำหน้าชื่อ  นี่เป็นธรรมเนียมหรือภาษาที่แต่ละชาติก็มีเอกลักษณ์ต่างกันไป


ผมอ่านที่คุณธิบดีเขียนผมก็หงุดหงิดเช่นกัน สำนวนภาษาที่ใช้มันขัดกับจารีตธรรมเนียมนิยมภาษาไทย ทำให้งานเขียนของคุณกลายเป็นงานเขียนที่ไม่สละสลวย และกลายเป็นภาษาที่หยาบคายในสายตาคนอ่านแม้จะไม่มีคำหยาบก็ตาม เพราะการที่คุณเรียกชื่อเฉยๆ อย่างจงใจ เช่นคึกฤทธิ์ ฉวีวาด มัลลิกา ไม่ใช่ลักษณะภาษาไทยที่คนไทยทั่วไปใช้ แม้แต่ในภาษาพูด  ภาษาที่ใช้ในงานเขียนของคุณเลยกลายเป็นสิ่งที่ลดทอนคุณค่าหรือสิ่งที่คุณธิบดีต้องการจะเขียนถึงอย่างช่วยไม่ได้


ก็ขอวิจารณ์และแนะนำในฐานะคนอ่านไปถึงตัวผู้เขียนด้วยครับ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 309  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 15:14

ผมตอบกระทู้ขณะที่ท่านอาจารย์เทาฯ ตอบไปก่อนพอดี เขียนไปก่อนจะได้อ่านของท่านอาจารย์ มิได้นัดหมายกันมาแต่อย่างใด จึงฝากเรียนมาไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ  ยิ้มกว้างๆ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 310  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 15:27

ดิฉันเคยเห็นวิธีการเรียกแบบนี้ในงานของนักวิชาการไทยบางคนมาก่อน    แต่จำไม่ได้แล้วว่าเป็นใคร

อาจารย๋สมศักดิ์เคยทำให้ชาวเรือนไทยหงุดหงิดลักษณะนี้มาแล้ว

เอ  ดิฉันก็ไม่แน่ใจนักนะคะคุณสมศักดิ์ ว่าการที่ใครคนหนึ่งระบุพระนามของเจ้านายอย่างครบถ้วนตามที่ทรงมีเป็นทางการ จะเรียกว่าใช้ราชาศัพท์

อาจจะเป็นคนละเรื่องกันก็ได้


การระบุชื่อบุคคลในงานวิชาการนั้น  ตามแบบแผนที่เราไปเอามาจากฝรั่ง  เขาก็ให้เรียกชื่อกันอย่างที่มีเป็นทางการ  

ถ้าคุณเขียนงานวิชาการเกี่ยวกับประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น  คุณจะเขียนเต็มๆยังงี้ ก็ได้ หรือจะเขียน President Lincoln ก็ได้ ถ้าไม่อยากจะเรียกทั้งชื่อทั้งสกุลทั้งตำแหน่ง ซ้ำๆกันทุกครั้งในแต่ละหน้า


แต่คุณจะเรียกท่านว่า  Abe  ยังงี้ไม่ได้แน่  


ฉันใดก็ฉันนั้น  เรียกจอมพลป. ว่า พิบูล ในงานวิชาการ ดิฉันก็ว่าไม่ถูก   แต่ถ้าจะอ้างว่าทีฝรั่งยังเขียนว่า Piboon( หรือ Phibul แล้วแต่จะสะกดยังไง)  ก็มองเห็นสิ่งที่ควรอะลุ้มอล่วยอย่างหนึ่งว่า

ชื่อไทยเรานั้นอ่านยาก เขียนยาก สะกดยากและยังยาวเหยียดเต็มกลืนจริงๆสำหรับฝรั่ง    เขาย่อลงมาเพื่อสะดวกลิ้นและความจำทั้งคนเขียนและคนอ่าน ก็น่าเห็นใจ

แต่คนไทยด้วยกันไม่ได้ติดขัดเรื่องความยากยังงั้น   และยังเขียนเป็นภาษาไทยอีกด้วย     ก็ไม่น่ายกฝรั่งมาอ้าง   ถ้าเขียนเป็นภาษาฝรั่งให้ฝรั่งอ่าน ยังมีข้อแก้ตัวได้


แต่ละท่านที่กว่าจะได้มีโอกาสเขียนผลงานวิชาการ  ก็ล้วนแต่สติปัญญาดี เรียนจบเกินปริญญาตรีกันแล้วทั้งนั้น  จะมายากกับการจำหรือเรียกชื่อราชทินนามและพระนามต่างๆ ก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

ถ้าเป็นความสมัครใจจะเรียก "นครสวรรค์" "ประชาธิปก" " ดำรง" เพื่อแสดงเอกลักษณ์เฉพาะตน ก็บอกได้ตรงๆค่ะ

ว่าผมอยากจะเรียกของผมยังงี้


มันไม่ผิดกฎหมายข้อไหน  ก็ยอมรับ   แต่ถ้าดิฉันจะนึกตำหนิว่าเป็นการผิดกาลเทศะ   เป็นความไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง   ไม่รู้จักให้เกียรติผู้ที่เราไม่มีเหตุผลจะไปหลู่เกียรติแม้แต่ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ  ดิฉันก็ไม่ผิดกฎหมายเหมือนกันใช่ไหม


แต่ถ้ามองข้ามเรื่องนี้ไป ผลงานของอาจารย์ธิบดีก็น่าสนใจมากทีเดียว

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 311  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 15:35

   ดิฉันเสียดายอาจารย์ธิบดี ในเรื่องการนำเสนอผลงานที่ดูว่าอาจารย์ก็ค้นคว้ามาอย่างใส่ใจ    เหมาะจะนำมาอภิปรายกันต่อ    แต่บัดนี้ก็มีสมาชิกอย่างน้อยสองท่านท้วงติงมาที่ภาษาการนำเสนอ ว่ามันระคายหู และพลอยทำให้คุณค่าของเนื้อหาดูน่าอ่านน้อยลงไปด้วย
  
   ถ้าหากว่าเจ้าตัวไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ยังรักษาลีลานี้ต่อไป  ก็คงไม่มีใครในเรือนไทยไปเปลี่ยนวิธีคิดได้     แต่อาจารย์ก็อาจจะขาดคนเก่งอย่างน้อยสองคนที่จะมาร่วมวงขยายความรู้กันต่อไป    ข้อนี้ดิฉันถือว่าสำคัญ   ผลงานต่อให้ดีขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้ามีภาษาเป็นตัวอุปสรรคทำให้คนลำบากใจจะสื่อสารด้วย   งานชิ้นนั้นต่อไปก็ง่ายมากที่จะจมหายไปกับฝุ่นแห่งกาลเวลา

   อาจารย์อาจจะต้องกลับไปสังสรรค์กับกลุ่มที่เห็นด้วยกับมาลิกา คึกฤทธิ์ ฉวีวาด  กรมพระดำรง ฯลฯ ตามเดิมมั้งคะ

  ป.ล.  กำลังจะส่ง พอดีเห็นเซนเซเพ็ญมาเตือนความจำ    ตั้งใจจะลืมแล้วเชียว  
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 312  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 16:03

พักเรื่อง โครงกระดูกในตู้ ไว้ชั่วครู่แล้วตัดฉากไปที่ นิราสนครวัด  
 
นิราสนครวัด เป็นงานเขียนในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เวลาเมื่อยังเป็นที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระฯ ว่าด้วยการเยือนกัมพูชาและโคชินจีนเมื่อปลาย ค.ศ.1924 จับความตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ไปจนกระทั่งและกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม นิราสนครวัด พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1925
 
ในบ่ายวันที่ 3 ธันวาคม 1924 กรมพระดำรงฯ ไปดูภูมิสถานและของโบราณที่เมืองอุดงค์ ที่นั่น ราชการอาณานิคมฝรั่งเศสได้จัดมโหรี ปี่พาทย์ ลิเก และละคร ไว้รับรองด้วย กล่าวเฉพาะละครนั้น กรมพระดำรงฯ เล่าไว้ว่า
 
ละครนั้นก็น่าดู ว่าไปหามาจากเกาะแห่งหนึ่งในลำน้ำโขง มีผู้หญิงตัวละคอนสัก 10 คน กับปี่พาทย์เครื่องคู่สำรับหนึ่ง ละคอนแต่งตัวอย่างบ้านนอก แต่แต่งตามแบบละคอนหลวงกรุงกัมพูชา กระบวรเล่นเห็นรำแต่เพลงช้ากับเพลงเร็ว และมีรำเพลงจีนรำพัดได้ เห็นมีหนังสือบทมาวางไว้ ขอเขามาเปิดอ่านดูเปนหนังสือขอม ขึ้นต้นว่า “กาลเนาะ โฉมเจ้าไกรทองพงศา” ก็รู้ได้ว่าเอาบทละคอนไทยไปแปลงนั้นเอง นึกอยากจะให้เล่นให้ดูก็จวนค่ำเสียแล้ว (ดำรงราชานุภาพ 2468, 120. การเน้นเป็นของผม, tb)
 
น่าแปลกที่เมื่อคึกฤทธิ์เขียนในอีก 40 กว่าปีให้หลังว่าได้ดูละครเขมรก็เป็นต้องจำเพาะว่าได้ดูเรื่องไกรทอง และก็อ้างอิงบทละครวรรคเดียวกันกับที่กรมพระดำรงฯ เล่าไว้ คือวรรคที่ว่า “กาลเนาะ โฉมเจ้าไกรทองพงศา” เป็นแต่คึกฤทธิ์เขียนยักเยื้องให้ออกสำเนียงภาษาเขมรเป็นว่า "กาลเนาะ โชมเจ้าไกรทองพงซา" เท่านั้น
 
เราจะอธิบายความเหมือนกันอย่างประหลาดนี้อย่างไร ?
 
ผมเสนอว่ามีคำอธิบายอย่างน้อยสองแบบ
 
แบบแรก คึกฤทธิ์ไม่เคยดูไกรทองละครเขมร แต่หยิบเอาเรื่องไกรทองเขมร และบทละครไกรทองใน นิราสนครวัด มาดัดให้เป็นของตัว  ควรกล่าวด้วยว่ามีผู้อธิบายว่าขนบอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในแวดวงปัญญาชนสยาม คนที่มีปัญญาทันกันก็จะรู้ว่าความข้อนั้นนี้มาจากแหล่งใด (อ้างคำอธิบายของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จากความทรงจำของผม, tb) การอ้างอิงตามหลักการทางวิชาการเป็นของฝรั่งที่มาทีหลัง
 
แบบที่สอง ไม่ว่าคึกฤทธิ์จะเคยดูไกรทองเขมรหรือไม่ก็ตาม ความพ้องกันอย่างประหลาดเป็นเรื่องบังเอิญ





นึกถึง "ไผ่แดง" กับ "กาเหว่าที่บางเพลง"

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 313  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 16:17

อ่าน Recipe for Murder  หรือยัง


บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 314  เมื่อ 10 มี.ค. 14, 16:53

จริงๆ แล้วในฐานะนักอ่านที่ติดตามงานเขียนของคุณชายคึกฤทธิ์มามากมาย สิ่งหนึ่งที่ผมรู้คืออย่าเชื่อเรื่องความถูกต้องในรายละเอียดต่างๆ ในงานเขียนของท่านมากนัก เพราะเป็นงานเขียนในลักษณะเรื่องเล่า เกร็ดความรู้ เกร็ดประวัติศาสตร์ มากกว่างานทางวิชาการจริงๆ ส่วนนิยายหรือเรื่องสั้นอื่นๆ ก็เป็นการนำพล็อตเรื่องจากต่างประเทศมาปรุงรสใหม่เป็นแบบไทยๆ จนแทบไม่เหลือเค้าเดิม ไม่ว่าจะกาเหว่าฯ ไผ่แดง หลายชีวิต ฯลฯ ตลอดจนงานแนวสารคดีเช่นพม่าเสียเมือง ยิว หรือแม้แต่ที่เรากำลังถกกัน ที่อาจจะต้องพิจารณาเรื่องความถูกต้องของข้อมูลมากหน่อย จะเชื่อทั้งหมดไม่ได้   แต่ในส่วนของสำนวนการเขียนนั้นต้องนับว่างานเขียนของท่านอาจารย์หม่อมใช้ภาษาได้ชวนติดตาม สนุกสนาน ไม่จืดชืดน่าเบื่อหน่าย ต้องนับว่าเป็นความสามารถของท่านจริงๆ อย่างสี่แผ่นดินนี่ผมอ่านรวดเดียวจบไม่หลับไม่นอนเลยทีเดียว หรือเรื่องสั้นเรื่องมอม อ่านไปก็น้ำตาไหลพรากๆ ไป 


ผมคิดว่าคนอ่านก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าค่านิยมสมัยที่ท่านเขียน เรื่องการอ้างอิงหรือให้เครดิตต้นฉบับดูเหมือนจะยังไม่ได้ปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดแบบสมัยนี้ แถมงานเขียนท่านก็เป็นกึ่งๆ สารคดี การเขียนโดยการไปหยิบงานของคนโน้นคนนี้มาใส่ในงานของท่านเหมือนท่านเป็นผู้ประสบเอง ก็เป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของงานเขียนแบบคุณชายคึกฤทธิ์  เราในฐานะคนรุ่นหลังจะไปตัดสินโดยไม่เอาบริบทของสังคมหรือค่านิยมสมัยนั้นมาพิจารณาด้วยก็ดูออกจะไม่เป็นธรรมต่อท่านเท่าไหร่ เพียงแต่คนอ่านรุ่นหลังก็อาจจะต้องรู้เท่าทันหน่อย ไม่ใช่เชื่อทุกอย่างที่ท่านเขียนหรือสรุปว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นเรื่องโกหกซะทั้งหมด  หรือมองว่าท่านไปลอกงานคนโน้นคนนี้มาโดยไม่ได้ให้เครดิต


งานค้นคว้าของคุณธิบดีก็น่าสนใจ แต่ผมในฐานะไม่ซ้ายไม่ขวาอ่านแล้วยังรู้สึกมันไม่ลื่น เหมือนอ่านงานของอาจารย์สมศักดิ์เจียมนั่นแหละ(จริงๆ แล้วผมเป็น friend กับ อ. สมศักดิ์ใน fb ด้วย เพราะแม้จะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแก หงุดหงิดกับภาษาที่ใช้ แต่ก็ต้องรับฟัง และเห็นด้วยว่าหลายอย่างที่แกพูดมีเหตุผลน่ารับฟังด้วยเหมือนกัน)   ดังนั้นพอภาษาไม่ลื่น มันพาลทำให้คนอ่านมีอคติหรือตั้งธงในใจได้  คุณค่าหรือหลักฐานต่างๆ ที่หามาเลยถูกเรื่องของภาษากลบซะหมด 


งานเขียนภาษาไทยแบบเรียกแต่ชื่อ เลียนแบบสำนวนฝรั่ง เวลาผมอ่านผมก็สงสัยว่าเป็นการเขียนเพราะผู้เขียนได้รับอิทธิพลอย่างฝรั่ง หรือเป็นการเขียนเพราะเป็นการจงใจไม่ยอมรับเรื่องสถานะที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลกันแน่ เพราะนักเขียนที่ได้ศึกษาที่ต่างประเทศ เจนจัดภาษาทั้งไทยและภาษาต่างประเทศ เวลาเขียนผลงานต่างหรือแม้แต่งานแปลๆ ก็ยังใช้ภาษาได้อย่างเป็นกลางและเหมาะสม จนแม้แต่การเรียกชื่อบุคคลต่างๆ ยังไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นการจิกเรียกหรือระคายตาคนอ่านเลยครับ


เลยต้องขออนุญาตแนะนำคุณธิบดีมาครับ การปรับภาษาให้กลางๆ ไทยๆ อย่างเหมาะสม จะช่วยเพิ่มคุณค่าและสื่อสิ่งที่เราต้องการได้  การไม่สร้างอคติให้กับคนอ่านเสียก่อนโดยไม่จำเป็นเป็นเรื่องสำคัญครับ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
หน้า: 1 ... 19 20 [21] 22 23 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.11 วินาที กับ 19 คำสั่ง