เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 154406 โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:01

๑๗


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:02

๑๘


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:03

๑๙


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:03

หลังจากที่ทรงไปค้นเอกสารที่กระทรวงยุติธรรมของกัมพูชามาแล้ว ได้ถวายรายงานมายังสมเด็จกรมพระยาดำรงฯเป็นชุดสุดท้าย ที่ค้นพบในปัจจุบันดังนี้
 


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:07

๒๑


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:13

หลักฐานที่ปรากฏทั้งหมดนี้แสดงว่า ม.จ.ฉวีวาดตัวจริงมิได้ทรงเป็นอะไรอย่างท่านป้าในเรื่องโครงกระดูกในตู้ แต่กลับตาลปัตรกันชนิดขาวเป็นดำ ที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์อ้างว่ามีสมเด็จพระนโรดมเป็นลุงเขย และมีพระองค์เจ้าเขมรเป็นลูกพี่ลูกน้องอยู่องค์หนึ่งนั้น กลายเป็นว่าท่านเป็นญาติกับอดีตนักโทษชายนุดที่ติดคุกเขมร ในข้อหาแอบอ้างว่าเป็นพระองค์เจ้าพานดุรีไปเสียฉิบ

ชีวประวัติจากพระโอษฐ์ของม.จ.ฉวีวาดที่เล่าให้หลานชายอายุ๘-๙ขวบฟัง เป็นหนังคนละม้วนกับที่พระองค์หญิงมาลิกาทรงเล่าถวายสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ แต่เพื่อความชัดเจน โครงกระดูกในตู้จึงมีประเด็นอันควรต้องถูกนำมาชันสูตรโดยละเอียดกันต่อดังนี้ คือ

๑ ม.จ.ฉวีวาด มีความกล้าหาญชาญชัยถึงกับบังอาจไปขัดพระชงฆ์สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ถึงกับทรงกลิ้งตกอัฒจรรย์หอพระลงมาเป็นหลายขั้นนั้น จริงหรือ
๒ วังหน้ากับอังกฤษได้ร่วมวางแผนก่อวินาศกรรมในวังหลวงจริงหรือ และถ้าจริง ม.จ.ฉวีวาดมีส่วนร่วมประการใด
๓ ม.ร.ว.ดวงใจ ปราโมช แม่ของม.จ.ฉวีวาดถูกริบราชบาตร พี่น้องในราชสกุลปราโมช ต้องตกระกำลำบากยากจน จริงหรือ
๓ ม.จ.ฉวีวาด ได้เป็นผู้นำละครเจ้าจอมอำภาไปเขมร ทำให้ละครเขมรที่เห็นกันเดี๋ยวนี้ เขมรเอาอย่างไทยชัดๆ หัดจากละครท่านป้าฉวีวาดทั้งสิ้น จริงหรือ
๔ ม.จ.ฉวีวาดได้เป็นเจ้าจอมของสมเด็จพระนโรดม และมีพระราชโอรสชื่อพระองค์เจ้าพานดุรีจริงหรือ

เนื่องจากหลักฐานที่มีอย่างเป็นทางการเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเขมร เราจึงต้องเริ่มวิเคราะห์จากข้อ๔  ไปหาข้อ  ๑


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:15

ม.จ.ฉวีวาดได้เป็นเจ้าจอมของสมเด็จพระนโรดม และมีพระราชโอรสชื่อพระองค์เจ้าพานดุรีจริงหรือ

ใครที่อ่านหนังสือที่พระองค์เจ้ามาลิกาทรงเขียนถวายสมเด็จกรมพระยาดำรงแล้วไม่เชื่อ จะด้วยหาว่าทรงมีอคติกับม.จ.ฉวีวาดด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ก็ยังมีจดหมายของนายพานดุรีเองที่เขียนมากราบทูลพระกรุณาสมเด็จกรมพระยาดำรง ข้อความสอดคล้องกัน ไม่เป็นที่น่าสงสัยอีกต่อไปว่าพฤติกรรมเสเพลตามประวัติของม.จ.ฉวีวาดหมายถึงอะไร   ดังนั้นความในข้อ ๔ จึงชัดเจนว่าเป็นความเท็จ ม.จ.ฉวีวาดมิได้เคยเป็นเจ้าจอมหม่อมห้าม หรือแม้แต่ดอกไม้ชั่วคราวที่สมเด็จพระนโรดมทรงดอมดม และบุตรชายก็เป็นเพียงสามัญชน  กำเนิดจากเจ้าเมืองแบบผู้ว่าราชการจังหวัด มีเชื้อเป็นคนจีนไม่ใช่เชื้อเจ้าของเขมร
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:19

ม.จ.ฉวีวาด ได้เป็นผู้นำละครเจ้าจอมอำภาไปเขมร ทำให้ละครเขมรที่เห็นกันเดี๋ยวนี้ เขมรเอาอย่างไทยชัดๆ หัดจากละครท่านป้าฉวีวาดทั้งสิ้น จริงหรือ

เจ้าจอมมารดาอำภา พระมารดาของกรมขุนวรจักรฯ เป็นละครหลวงรุ่นเล็กในรัชกาลที่๑ ได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่๒ ที่ทรงโปรดปรานและมีพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์
เมื่อรัชกาลที่ ๓ ท่านออกจากวังหลวง แล้วหัดละครนอกขึ้นมาโรงหนึ่ง ซึ่งตัวละครโรงนี้ ต่อมาได้เป็นครูละครนอกโรงอื่นอีกหลายโรง

“เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว  รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งท่านป้าฉวีวาดก็ว่าจ้างเรือสำเภาหนึ่งลำ ขนทรัพย์สมบัติลงเรือ   แล้วนำละครของเจ้าจอมมารดาอำภาซึ่งตกมาถึงท่านนั้นลงเรือทั้งโรง พร้อมทั้งเครื่องละครและดนตรีปี่พาทย์รวมเป็นคนหลายสิบคน     ท่านลงเรือที่แม่น้ำใกล้ๆวังหน้าตอนใกล้ค่ำ แล่นเรือไปทั้งคืน     พอเช้ามืดก็ออกปากน้ำ     ท่านเหลียวไปดูทางท้ายเรือ  เห็นเรือกลไฟจักรข้างของหลวงแล่นตามมาลำหนึ่ง   แสดงว่าทางกรุงเทพฯ รู้แล้วว่าท่านจะหนี  จึงส่งเรือหลวงออกมาตามจับตัว     เรือหลวงคงจะออกตอนดึกจึงมาทันที่ปากน้ำ” 

หลังรัชกาลที่ ๓ และ ๔ เป็นเวลาหลายสิบปี จนถึงรัชกาลที่ ๕ หากไม่ล้มหายตายจาก ก็จะมิเหลือแต่ละครแก่ๆตกมาถึงชั้นหลานย่าหรือ แล้วผู้สูงวัยเหล่านั้นจะยอมทิ้งบ้านเรือนลูกหลาน หนีเป็นหนีตายไปเขมรกับหม่อมเจ้าฉวีวาดด้วยเหตุผลกลใด นอกจากผู้พาไปจะบุญหนักศักดิ์ใหญ่ เงินทองมีทุ่มให้ได้อย่างไม่จำกัดงบ

ประวัติละครเขมรนั้น เริ่มต้นขึ้นใหม่สมัยสยามยกทัพไปช่วยเขมรรบญวนครั้งรัชกาลที่ ๓ เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ได้นำละครติดกองทัพไปด้วย และเมื่อว่างศึกสงครามก็ช่วยสอนละครให้กับนางในราชสำนักเขมร
ต่อมาสมัยสมเด็จพระนโรดมพรหมหริรักษ์ ก็ให้หาครูละครมาจากกรุงเทพมาเพิ่ม ได้ครูละครวังหน้าของท่านเจ้าคุณจอมมารดาเอม ละครพระองค์เจ้าดวงประภา ละครพระองค์เจ้าสิงหนาท และละคอนโรงอื่นๆ ไปเป็นครูอีกหลายคน ตัวอิเหนาของท่านเจ้าคุณจอมมารดาเอม ได้เป็นเจ้าจอมในสมเด็จพระนโรดม เปลี่ยนชื่อเป็นหม่อมเหลียง

แม้แต่ครูละครเดี่ยวๆ ประวัติทางเขมรยังบันทึกชื่อไว้ ถ้าละครเจ้าจอมอำภาทั้งโรงมีจริง ในรัชกาลที่๕ ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังรัชกาลที่ ๓ หลายสิบปี  ย่อมมีตัวตนหลักฐานยืนยันได้มากกว่า     แต่ไม่ปรากฏว่ามีใครบันทึกถึงละครที่ม.จ.ฉวีวาดพาไปแต่อย่างใด ดังนั้น ที่ว่าละครเขมรเดี๋ยวนี้หัดจากละครท่านป้าฉวีวาดทั้งสิ้น จึงเป็นการกล่าวตู่อย่างที่สุด

“  ม.จ.ฉวีวาดเล่าว่าท่านยกมือนมัสการพระสมุทรเจดีย์แล้วอธิษฐานว่า  หากบุญญาบารมีท่านยังมีอยู่แล้ว    ขอให้เรือสำเภาใช้ใบของท่านออกทะเลหลวงไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง ท่านบอกว่าพอท่านอธิษฐานเสร็จ เรือหลวงที่แล่นตามไปนั้นก็จักรหักลงพอดี ต้องทอดสมออยู่กลางน้ำ  เรือของท่านก็ใช้ใบไปจนถึงเมืองเขมร"

เรื่องนี้เป็นนิทานโกหกเช่นกัน เอาแค่ประเด็นเดียว ถ้าเรือที่ตามมาเกิดจักรหักลง คนบนเรือสำเภาไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอยู่ๆเรือหลวงลำนั้นหยุดด้วยเหตุอันใด   มองไกลๆไม่มีทางเห็น   ส่วนที่หักถ้าไม่อยู่ในห้องเครื่องท้องเรือก็ต้องอยู่ใต้น้ำ ดูจากภายนอกไม่รู้ได้   แล้วเรือที่เครื่องดับขณะวิ่ง มันมิได้หยุดกึ๊กลงทันทีเหมือนรถวิ่งชนกำแพง แต่จะวิ่งตามแรงเฉื่อยไปตามทิศที่ตั้งหางเสือไว้อีกนาน กว่าจะหมดแรง

เอ้อเฮอ มีแบบว่า พออธิษฐานเสร็จ เรือหลวงที่แล่นตามไปนั้นก็จักรหักลงพอดีซะด้วย
 
ความจริงที่พบว่า ม.จ.ฉวีวาดท่านลงเรือสำเภาหนีตามผู้ชายชื่อนายเวรผึ้งไปเขมรนั้น การหนีตามกันไปแบบนี้ย่อมต้องกระทำเป็นความลับที่สุด รู้กันเพียงสองคนจึงจะไปรอด จึงเป็นไปไม่ได้ที่ม.จ.ฉวีวาดจะยกละครทั้งโรงเอาไปด้วย เพราะต้องเตรียมการ เตรียมคน เตรียมเงินทองล่วงหน้าไว้   ยิ่งเตรียมตัวเอิกเกริกเท่าใดความลับก็รั่วไหลได้ง่ายเท่านั้น เป็นภัยมาสู่ตัวท่านและนายเวรผึ้ง
 
ในเมื่อไปกันสองคน  ไม่มีใครรู้   ก็เป็นไปได้ว่าเรื่องเรือหลวงไล่ตามไปก็ไม่เป็นจริงเช่นกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:21

ม.ร.ว.ดวงใจ ปราโมช แม่ของม.จ.ฉวีวาดถูกริบราชบาตร พี่น้องในราชสกุลปราโมช ต้องลำบากยากจนจริงหรือ

ริบราชบาตร ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่า คำสั่งหลวง

ริบราชบาตรเป็นโทษริบทรัพย์ มักใช้คู่กับโทษประหารชีวิต เป็นการริบทรัพย์ของผู้กระทำผิดทุกสิ่งที่มีอยู่ในขณะนั้น รวมทั้งลูกเมียและทรัพย์สิน เงินทอง ให้ตกเป็นของหลวง
ริบราชบาตร เป็นบทลงโทษที่มีอยู่ในกฎหมายตราสามดวง ปรากฏในพระอัยการกบฏศึก มีบทลงโทษ ผู้กระทำผิด โทษเป็นกบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร การก่อการกบฏภายในราชอาณาจักร หมายถึง การปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะเปลี่ยนพระมหากษัตริย์โดยมิชอบด้วยพระราชประเพณี

ลักษณะของการก่อกบฏภายนอกราชอาณาจักร หมายถึง การช่วยเหลือข้าศึกด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ความสะดวกแก่ข้าศึก ให้ได้ดินแดนบางส่วนหรือทั้งหมด บทลงโทษในความผิดของผู้ก่อกบฏ คือ
1. ริบราชบาตรและฆ่าทั้งโคตร
2. ริบราชบาตรและฆ่าเจ็ดชั่วโคตร
3. ริบราชบาตรพร้อมทั้งฆ่าผู้นั้นเสียโดย ไม่ให้เลี้ยงดูครอบครัวอีกต่อไป

การหนีออกจากสยามของม.จ.ฉวีวาด ถ้ามีโทษถึงริบราชบาตรก็คือต้องมีความผิดประการเดียว คือเป็นกบฎ  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าว่าหม่อมย่าของท่านโดนริบราชบาตร เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุวิกฤตวังหน้า แต่ไม่ปรากฏเลยว่ามีผู้ใดในแผ่นดินโดนข้อหากบฏ  ต้องโทษริบราชบาตรในเหตุวิกฤตการณ์นั้น  แถมพระองค์เจ้าเฉลิมลักษวงศ์พระสามีของหม่อมเจ้าฉวีวาด ซึ่งเป็นเจ้านายวังหน้ายังได้รับราชการเจริญก้าวหน้า   ต่อมา ขึ้นทรงกรมเป็นกรมหมื่นวรวัฒน์สุภากรอีกต่างหาก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:23

“โครงกระดูกในตู้” เล่าถึงพยานบุคคลคือพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ ท่านพ่อของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ผู้ประสบเหตุการณ์ ที่ผู้เขียนเรียกว่า “ริบราชบาตร” ว่าดังนี้

"ชีวิตของท่านพ่อของผู้เขียนนั้น  เมื่อได้ฟังท่านเล่าแล้ว   ก็เหมือนกับชีวิตของขุนแผนเมื่อยังเป็นเด็ก    เมื่อท่านเล่านั้นน้ำเนตรท่านไหลพราก
ท่านเล่าว่าขณะนั้นท่านอายุ 8 ขวบ  นอนหลับอยู่  แล้วตื่นขึ้นตอนดึก  เพราะเจ้าพี่จุดไต้จุดไฟทำอะไรกันตึงตัง   เหลียวหาคุณแม่ที่นอนอยู่ด้วยตอนหัวค่ำก็หายไปแล้ว    ถามหาคุณแม่กับเจ้าพี่ก็ไม่มีใครบอก    เพราะทุกองค์กำลังรีบเก็บข้าวของส่วนตัวของท่านลงหีบ    เห็นจะเป็นเพราะท่านทรงทราบกันทุกองค์แล้วว่าคุณแม่จะถูกริบราชบาตร   ท่านตกใจและคิดถึงคุณแม่ก็เลยนั่งกันแสงอยู่กับที่    แต่ก็ไม่มีใครมาสนใจกับท่าน    พอรุ่งเช้าเจ้าพี่ทุกองค์ก็รีบขนของออกจากตำหนักไป     ท่านมาทรงทราบภายหลังว่าเข้าไปอยู่ในวังหลวงกันทุกองค์
บ่าวไพร่ของคุณแม่ของท่านที่ยังมีเหลืออยู่ในขณะนั้นก็พากันหลบหนีกระจัดพลัดพรายไปหมด    คงเหลือท่านอยู่องค์เดียวที่ตำหนัก     ท่านเล่าว่าท่านทั้งตกใจ ทั้งกลัว   ทั้งคิดถึงแม่   ทั้งหิว    ความรู้สึกเหมือนกับว่าฟ้าถล่มทลายลงมาทับองค์    ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น    ไม่รู้ว่าคุณแม่หายไปไหน  ได้แต่กันแสงองค์เดียว  และร้องเรียกหาแม่อยู่จนสาย ราวๆเพล   หม่อมยายของท่านคือหม่อมของหม่อมเจ้าทับทิมในกรมพระราชวังหลังและหม่อมแม่ของม.ร.ว.ดวงใจ ก็มาที่ตำหนัก พอเห็นองค์ท่านก็เข้าอุ้มรีบเอาออกจากตำหนักไป และพาไปอยู่ที่วังท่านตาซึ่งเป็นบ้านเล็กๆอยู่ติดกับวัดราชนัดดา"
หลังจากนั้นประมาณปีหนึ่ง   คุณย่าก็พ้นโทษออกมาจากสนม  แล้วกลับมาอยู่วังตามเดิม ในฐานะที่ยากจน


ถ้า ม.ร.ว.ดวงใจโดนริบราชบาตรแทนลูกสาว ทรัพย์สินทั้งหมดก็ต้องถูกหลวงยึดไปหมดแล้ว แต่นี่ปรากฏว่า ตำหนักยังอยู่  จึงมีคำบอกเล่าว่าท่านจึงกลับมาอยู่วังของท่านตามเดิมได้ ส่วนลูกๆก็ออกจากวังไปพึ่งพระบารมีเจ้านายฝ่ายในของวังหลวง   ยกเว้นท่านพ่อของม.ร.ว.คึกฤทธิ์เพราะเป็นผู้ชาย

แสดงว่า ราชสกุลปราโมชไม่ได้โดนริบราชบาตร  แต่ต้องพระราชอาญามีลักษณะดังนี้

๑ หม่อมแม่ของม.จ.ฉวีวาดโดนหนักที่สุดคือโดนเฆี่ยน  ถูกจำกัดบริเวณที่เรียกว่าติดสนม ในวังหลวง   และคงถูกริบทรัพย์สินเงินทองบ้างแบบถูกปรับ แต่ไม่ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว
๒ พระเชษฐาต่างมารดาของม.จ.ฉวีวาด พระองค์เจ้าปรีดาผู้รับมรดกวังวรจักรตามพินัยกรรมของเสด็จพ่อ มิได้โดนริบวังหรือเงินทอง ยังคงครองวังวรจักรต่อมาจนสิ้นพระชนม์
๓ หม่อมเจ้าหญิง เจ้าพี่เจ้าน้องของม.จ.ฉวีวาด  มิได้โดนราชภัย เพียงแต่ต้องย้ายจากวังวรจักรไปอยู่ในวังหลวง พึ่งพระบารมีพระวิมาดา แต่เรื่องนี้ก็ไม่สอดคล้องกับพระประวัติ ม.จ. คอยท่า ปราโมช ในหนังสือแจกงานพระศพ ซึ่งระบุว่าได้เสด็จเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง กับสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ตั้งแต่พระชันษาย่าง ๑๖ ปี หากอนุมานตามที่ท่านสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๘๓ คำนวณพระชันษาได้ ๘๔ บริบูรณ์   ท่านน่าจะประสูติ พ.ศ. ๒๓๙๙   ดังนั้นท่านน่าจะเข้าวัง พ.ศ. ๒๔๑๕ ก่อนเกิดวิกฤตวังหน้าเสียอีก และอาจจะรวมถึง ม.จ. เมาฬี ปราโมช  ซึ่งเป็นพนักงานห้องเครื่องต้นในสมัย ร.๕  ก็น่าจะอยู่ในวังหลวงก่อนนั้นด้วยแล้ว
๔ เจ้าพี่อีกองค์หนึ่งคือหม่อมเจ้าชายจำรูญ ได้พึ่งพระบารมีอยู่ในวังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์  
๕ พระองค์เจ้าคำรบเอง มิได้ถูกจำกัดสิทธิ์เรื่องการศึกษาและหน้าที่การงาน พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้ไปเข้าร.ร.นายร้อยทหารบก ทรงฝากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์ให้ทรงดูแลอุปการะอีกทางหนึ่ง
๖ ต่อมาเมื่อพระองค์เจ้าปรีดาสิ้นพระชนม์ ทรงยกวังวรจักรเป็นมรดกแก่เจ้าน้องทุกคน ได้ขายแบ่งกัน ส่วนแบ่งนี้ ม.จ.ฉวีวาดมีส่วนได้รับด้วย จึงเดินทางกลับมาอยู่เมืองไทยเป็นการถาวร


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 ต.ค. 13, 09:51 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:26

วังหน้ากับอังกฤษได้ร่วมวางแผนก่อวินาศกรรมในวังหลวงจริงหรือไม่ และถ้าจริง ม.จ.ฉวีวาดมีส่วนร่วมประการใด

เหตุการณ์ริบราชบาตรที่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ  เล่าประทานม.ร.ว. คึกฤทธิ์แล้วนำมาถ่ายทอดต่อในหนังสือนั้น  ท่านเล่าว่าขณะนั้นท่านอายุ ๘ ขวบ เมื่อหม่อมแม่ถูกริบราชบาตร  พระองค์เจ้าคำรบประสูติเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๑๔   วิกฤตเหตุการณ์วังหน้าเกิดเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๗      พระองค์เจ้าคำรบมีพระชันษาแค่ ๓ ปี

เหตุการณ์ริบราชบาตรจึงต้องเกิดขึ้นอีก ๕ ปีต่อมาหลังเกิดวิกฤตวังหน้า  คือตกราวปลายปี พ.ศ. ๒๔๒๒
ก็แปลว่าม.จ. ฉวีวาด หนีไปเขมรใน พ.ศ. ๒๔๒๒  เรียกว่าเรื่องวิกฤตวังหน้าแทบจะถูกชาวบ้านลืมเลือนกันไปหมดแล้วด้วยซ้ำ  ไม่เกี่ยวอะไรกันสักนิดเดียว

เหตุที่เรียกว่าวิกฤตวังหน้านั้น อุบัติขึ้นเวลาหัวค่ำของคืนวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๑๗ เมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้นในวังหลวง ต้นเพลิงเป็นโรงหุงลมประทีป หรือโรงผลิตก๊าซอะเซทิลีน ที่ใช้ปฏิกิริยาอันเกิดจากการหยดน้ำลงไปยังก้อนแคลเซียมคาร์ไบน์ ได้ก๊าซซึ่งจุดไฟติด สามารถต่อท่อไปใช้สำหรับโคมแสงสว่างในยุคที่โลกยังไม่มีไฟฟ้าใช้  ซึ่งหากว่าระบบนี้ขาดการบำรุงรักษาที่ดี  ก็อาจทำให้เกิดการรั่วไหลของก๊าซในกระบวนการผลิตหรือท่อส่ง แล้วติดไฟขึ้นจนถึงกับระเบิดได้
หลังระเบิดขึ้นแล้ว ทหารวังหน้า ซึ่งถือว่ามีหน้าที่รับผิดชอบการดับเพลิงในพระนครโดยตรงมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ได้พยายามจะเข้าไปช่วยดับไฟ แต่ถูกขัดขวางโดยทหารวังหลวงที่หน้าประตูวิเศษไชยศรี ทหารวังหน้าจึงถอนตัวกลับ คืนนั้นแม้ทหารวังหลวงจะช่วยกันดับไฟลงแล้ว แต่ยังถูกสั่งให้หาที่หลับนอนในวัง หาได้ถูกปล่อยตัวกลับบ้านไม่

เพลิงไหม้โรงหุงลมประทีปคืนนั้น คนทางวังหลวงลือกันว่าเป็นการวินาศกรรม เจ้านายได้รับการเพ็ดทูลเช่นนั้นต่อๆกันไป  เพื่อโยนความผิดของตนไปให้คนอื่นไว้ก่อนด้วยความชำนาญ ส่วน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนไปโน่นเลยว่าตึกที่เก็บดินปืนของวังหลวงเกิดระเบิด ให้ดูสาหัสสากรรจ์กว่าโรงก๊าซระเบิดเยอะ ทั้งที่พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ ก็ระบุว่าโรงก๊าซระเบิด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:28

เนื่องจากกรมพระราชวังบวรฯกำลังทรงประชวรพระโรครูมาติชั่มกำเริบ  เจ็บพระชงฆ์จนทรงเดินไม่ค่อยจะไหวมาเป็นเดือนแล้ว แพทย์ต้องถวายงานนวดอยู่ตลอดเวลา ครั้นคืนวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๘ มีข่าวลับส่งด่วนมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเอาผิด ที่คืนเกิดเหตุกรมพระราชวังบวรฯมิได้เสด็จไปอำนวยการการดับเพลิงด้วยพระองค์เอง ประมวลกับสถานการณ์อื่นๆแล้วทรงเชื่อว่าอาจจะโดนข้อหากบฎ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น ไม่มีใครรับประกันได้ว่าผู้ใดเจอข้อหานี้แล้วโดนสอบความบริสุทธิ์ด้วยวิธีจารีตนครบาลจะรอด  ถ้าไม่ตายคาเขียงก็ตายคาเตียง จึงทรงเลือกลี้ภัยทางการเมืองตามแนวกฏหมายระหว่างประเทศแทน

กลางดึกคืนนั้น ทรงพาท่านเจ้าคุณพระชนนี(เจ้าคุณจอมมารดาเอมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ) และพระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์ พระขนิษฐา ลงเรืออย่างทุลักทุเล ล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางใต้ มีข้าราชการวังหน้าตามเสด็จไปรับใช้พระองค์เพียงหกคน ทั้งหมดมุ่งหน้าสู่สถานกงสุลอังกฤษที่บางรัก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:35

เวลานั้น นายโทมัส จอร์จ น๊อกซ์ กงสุลใหญ่อังกฤษกลับไปราชการที่ประเทศอังกฤษพร้อมนำครอบครัวไปด้วย นายวิลเลียม เฮนรี่ นิวแมนผู้ช่วยกงสุลปฏิบัติหน้าที่แทน ซึ่งก็ได้ถวายการรับรองกรมพระราชวังบวรฯอย่างสมพระเกียรติ

มีผู้ตั้งข้อสังเกตุตามข้อพาดพิงถึงของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ว่า กรมพระราชวังบวรฯซึ่งประชวรพระโรครูมาติชั่ม ไปไหนมาไหนจะต้องมีคนพยุงคนหามนั้น จะไปวางแผนวินาศกรรมวังหลวงกับกงสุลน๊อกซ์ ผู้ที่ขณะนั้นยังอยู่ในอังกฤษไปทำไม และได้อย่างไร และที่สำคัญ ผู้หญิงอย่างม.จ.ฉวีวาดไปเกี่ยวอะไรกับเขาด้วย

พระราชอาญาที่ม.ร.ว.ดวงใจได้รับใน เนื่องไปจากกรรมที่ลูกสาวทำไว้ในบรรพใดก็ตาม แต่ไม่ใช่การริบราชบาตรซึ่งเป็นโทษสำหรับคดีกบฎ ที่ถูกนำมาสร้างเรื่องโยงเข้ากับอุบัติเหตุวังหลวงวังหน้าเมื่อ๕ปีก่อนหน้า  โดยไม่ละอายว่าจะทำให้ใครเสียหาย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:38

ไม่ใช่เฉพาะกรมพระราชวังบวรฯ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ซึ่งตอนนั้นแค่๘-๙ขวบ ฟังท่านป้าเล่า  ยังอุตส่าห์จดจำได้ถึงขนาดชื่อเสียงเรียงนาม ว่ามีใครอาศัยใบบุญท่านป้าไปเขมรบ้าง

"เมื่อท่านป้าฉวีวาดเข้าไปอยู่ในวังกับสมเด็จพระนโรดมนั้น ปรากฎว่ามีคนในวังหน้าลอบติดตามออกไปอยู่ด้วยหลายคน คนหนึ่งคือหม่อมเจ้าหญิงปุก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเจ้าวังหลวง แต่ไปฝักใฝ่อยู่วังหน้าเช่นเดียวกับท่านป้าฉวีวาด   และลูกสาวคนรองของนายโรเบิร์ต น็อกซ์อีกคนหนึ่ง   ซึ่งมารดาเลี้ยงดูให้เป็นไทย มีมารยาทอย่างไทย หมอบคลานเป็น   ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ท่านป้าฉวีวาดท่านเป็นหัวโจกอยู่ในเหตุที่เกิดอยู่ระหว่างวังหลวงกับวังหน้าครั้งนั้น"

ตรงนี้ท่านจำผิดไปนิดเดียวว่า นายน๊อกซ์มีชื่อตัวว่าโรเบิร์ต ไม่ใช่โทมัส แต่นั่นยังไม่เท่าไร แต่ที่คนระดับท่านไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นเลยก็คือ ท่านลืมไปได้อย่างไรว่านายน๊อกซ์มีสถานภาพเป็นกงสุลใหญ่ของอังกฤษ ไฉนลูกสาวคนใดจะต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปกับม.จ.ฉวีวาดสู่ประเทศเขมรด้วย ท่านลืมไปด้วยซ้ำว่าเขมรเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ถ้าจะดั้นเมฆว่าหนีไปสิงคโปร์จะยังเข้าท่ากว่า เพราะนั่นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

อย่างไรก็ดี นางแคโรไลน์ น๊อกซ์ ลูกสาวนายน๊อกซ์ที่ท่านกล่าวถึงนั้น ตอนเกิดเหตุวิกฤตคงยังอยู่ในเมืองอังกฤษกับบิดาที่กลับไปราชการที่บ้านเกิด   ตามประวัตินางได้แต่งงานไปกับนายหลุยส์ ที ลีโอโนเวนส์แล้วไปอยู่ที่เชียงใหม่ ไม่ได้ไปปักหลักที่เขมรอย่างที่ท่านผู้เขียนตั้งใจดึงเอาเข้ามาเกี่ยว เพียงเพื่อหวัง เพิ่มน้ำหนักเรื่องการก่อวินาศกรรมให้เห็นถนัดถนี่เท่านั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 04:41

ท่านต่อไปคือท่านหญิงปุก

หม่อมเจ้าปุกท่านนี้มิได้เป็นเจ้าวังหลวงดังที่ท่านว่า แต่เป็นพระธิดาของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์  ต้นราชสกุล อิศรศักดิ์   ซึ่งเป็นพระราชโอรสในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ซึ่งถือเป็นเจ้าวังหน้าก็จริง แต่ตามธรรมเนียมโบราณ เมื่อวังหน้าองค์ใดเสด็จทิวงคต พระโอรสต้องออกจากวังไป ส่วนพระธิดาที่มิได้ออกเรือน ต้องย้ายไปอยู่ฝ่ายในของวังหลวง

หลังจากวังหน้าในรัชกาลที่๓เสด็จทิวงคต และมิได้ทรงตั้งเจ้านายพระองค์ใดเป็นวังหน้า นอกจากยกพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวร ถือเป็นวังหน้าในเชิงสัญญลักษณ์
หลายปีต่อมาเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฏเสด็จขึ้นครองราชย์ และทรงสถาปนาเจ้าฟ้าน้อย พระราชอนุชาขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ที่๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จมาครองพระราชวังบวรนั้น ทรงปรารภว่า พระองค์ถูกตั้งให้มาเป็นสมภารวัดร้าง นั่นแปลว่าในวังไม่มีเจ้านายประทับอยู่เลย นอกจากคนเฝ้ายาม

ดังนั้นหากหม่อมเจ้าปุกและหม่อมเจ้าฉวีวาดจะรู้จักกัน ก็คงจะรู้จักกันในวังหลวง แต่ก็ต้องก่อนที่หม่อมเจ้าฉวีวาดจะกลับไปอยู่วังวรจักรเพื่อเตรียมออกเรือนกับพระสวามีด้วย  และถ้าหม่อมเจ้าปุกหนีออกจากสยามพร้อมหม่อมเจ้าฉวีวาด เครือญาติราชสกุลอิศรศักดิ์ก็ต้องโดนริบราชบาตรด้วย โดยไม่มียกเว้น

แต่ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลในราชสกุลอิศรศักดิ์โดนพระราชอาญาทั้งสิ้น

หม่อมเจ้าปุกผู้นี้  ในหนังสือที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงมีถึงเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เท้าความถึงเรื่องนี้ ระบุว่าท่านหญิงปุกไปได้ดิบได้ดีเป็นพระองค์เจ้าอัครนารีอยู่ที่พนมเป็ญ   ก็คือไปเป็นพระมเหสีที่ตำแหน่งสูงเหนือกว่าเจ้าจอมหม่อมห้ามทั้งหลายของสมเด็จพระนโรดมนั่นเอง

สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์หรือนักองราชาวดี พระราชสมภพเดือนกุมภาพันธ์ ๒๓๗๗ ที่อังกอร์โบเร(เสียมราฐ) ทรงเติบโตในกรุงเทพ และเสด็จกลับกัมพูชาเมื่อพ.ศ.๒๔๐๐ และเสด็จมากรุงเทพฯอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๔๑๒ (สมัยนั้นคือ๒๔๑๑)
หม่อมเจ้าหญิงปุก ประสูติปี พ.ศ.๒๓๙๑ ดังนั้นในปีที่นักองราชาวดีเสด็จมาครั้งที่๒ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าโปรดเกล้าฯให้ราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้านโรดมกษัตริย์เขมรที่พระอุโบสถวัดโพธิ์นั้น หม่อมเจ้าหญิงทรงมีอายุ๒๐เศษนิดๆ ตามราชประเพณีโบราณ หลังราชาภิเษกแล้วเจ้านายหรือขุนนางพ่อค้าจะยกลูกสาวถวายกษัตริย์พระองค์ใหม่เพื่อให้เป็นเจ้าจอม เป็นไปได้ว่าท่านหญิงอาจจะได้ถวายตัวในตอนนั้น และเสด็จกลับกรุงกัมพูชาพร้อมกัน

ถ้าเสด็จไปโดยวิธีอื่นแล้วคงไม่แคล้วพระราชอาญา พ่อแม่คงต้องโทษเหมือนคดีท่านหญิงฉวีวาดนั่นแหละ

"หม่อมเจ้าหญิงปุก นั้นเสด็จในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเคยรับสั่งกับผู้เขียนว่าได้เคยเลี้ยงดูพระองค์ท่านมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์   และประทับที่เมืองเขมรตลอดมาจนชรามาก  สิ้นชีพิตักษัยในเมืองเขมรในรัชกาลที่ 7"
ตามสมมติฐานที่ว่า พระพี่เลี้ยงของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ก็ไม่ใช่ท่านหญิงปุกองค์นี้อย่างที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่า


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.089 วินาที กับ 19 คำสั่ง