เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 154424 โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 02 พ.ย. 13, 23:10

จริงด้วยครับ

ในเขตพระราชฐานชั้นในหรือที่เรียกว่าฝ่ายใน ท่านอนุญาตให้เด็กผู้ชายอายุต่ำกว่า๑๐ปี หรือยังไม่ตัดจุก สามารถพักอาศัยอยู่กับญาติได้

แล้วพี่สาวทั้งสาม ซึ่งโดยธรรมชาติจะรักน้องชายคนเดียวซึ่งเป็นคนสุดท้องด้วยอย่างมาก ทำไมจึงไม่คิดจะพาน้องเล็กไปด้วยในคืนที่ทุกคนหนี จะทิ้งน้องไว้เผชิญเหตุร้ายคนเดียวได้ลงคออย่างไร อะไรจะใจร้ายใจดำกันขนาดนั้น

ทั้งสองกรณีย์ยากที่จะปลงใจเชื่อ ตกลงแล้วความจริงคืออะไร
บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 03 พ.ย. 13, 10:32

พระองค์เจ้าปรีดา

ประสูติ   พ.ศ. ๒๓๗๘  สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗  เป็นโอรสองค์โตของกรมขุนวรจักรธรานุภาพ

ข้อมูลที่ปรากฏในหนังสือตำนานเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพระบุว่า ครูบาอาจารย์เรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้นที่มีตัวตนหลงเหลือมาถึงสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ มีเพียง ๙ คน  เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ๔ พระองค์  พระภิกษุ ๒ รูป  ขุนนาง ๓ คน  หนึ่งในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ คือ  พระองค์เจ้าปรีดา  โอรสกรมขุนวรจักรธรานุภาพ  เคยว่าการกรมช่างเคลือบและช่างกระจก ฯลฯ

(อ้างอิง  กระเบื้องถ้วยกะลาแตก  โดย พิมพ์ประไพ  พิศาลยบุตร ซึ่งเป็นลูกหลานพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลค้าสำเภาสยามและผู้นำเข้าเครื่องกระเบื้องโปจูลี่กี่)  

ทั้งนี้ หนังสือตำนานเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น  ซึ่งเป็นข้อมูลหลักของวงการเครื่องโต๊ะ  เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงพระนิพนธ์ขึ้นครั้งงานพระศพพระองค์เจ้าปรีดา ผู้ที่ได้ชื่อว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญในการเล่นเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น

พระองค์เจ้าปรีดามีผลงานสำคัญ โดยเป็นผู้ทำกระเบื้องเคลือบประดับหอพระคันธารราษฎร์และพระมณฑปยอดปรางค์ทั้งหมด  เมื่อครั้งบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระคันธารราษฎร์ครั้งงานฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปี เป็นต้น

อนึ่ง  ในลำดับหม่อมราชนิกูลของไทยสมัยรัตนโกสินทร์  ปรากฏนามหม่อมราชวงศ์สิงหนัท  ปราโมช บุตรพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปรีดา (๒๓๗๘ – ๒๔๕๗)...เป็นหม่อมชาติเดชอุดมเมื่อ ๒๕ ก.ย.๒๔๕๒  และเป็นหม่อมอนุวัตรวรพงศ์ เมื่อ ๒๙ ธ.ค. ๒๔๖๒

ปรากฏข้อมูลในประชุมพงศาวดารฉบับที่ ๑๙ ว่า "หนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๙ นี้ เดิมหอพระสมุด ฯ ได้รวบรวมจดหมายเหตุหอสาตราคมเรื่อง ๑ จดหมายเหตุเรื่องพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่ตำบลหว้ากอ แขวงจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เรื่อง ๑ ถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ทรงพิมพ์แจกในงานศพเจ้าจอมมารดาโหมดรัชกาลที่ ๔ เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ พอแจกหนังสือนั้นได้วันหนึ่ง หม่อมอนุวัตรวรพงศ์ ( ม.ร.ว.สิงหนัท ปราโมทย์ ณ กรุงเทพ ) ก็นำหนังสือประกาศเปนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชี้แจงเรื่องสุริยอุปราคาคราวนั้นมาให้แก่หอพระสมุด ฯ ว่าต้นฉบับเปนหนังสือของพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมขุนวรจักธรานุภาพมีตกค้างอยู่ หม่อมอนุวัตรไม่เห็นมีในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๙ นึกว่าที่ในหอพระสมุด ฯ เห็นจะยังไม่มีประกาศฉบับนี้จึงมีแก่ใจนำมาให้ ข้าพเจ้าขอบใจหม่อมอนุวัตรเปนอันมาก"
บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 03 พ.ย. 13, 10:40

ตามตำนานโรงหนังแห่งแรกในสยาม  ปรากฏข้อมูล "โรงหนังวังพระองค์เจ้าปรีดา (แคปปิตอล)" 

เข้าใจว่าบริเวณโรงหนังวังพระองค์เจ้าปรีดาก็คือพื้นที่ที่เป็นโรงหนังแคปปิตอล  ก่อนจะกลายมาเป็นคลองถมแลนด์  หรือเปล่าคะ?

บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 03 พ.ย. 13, 11:12

(ดิฉันมีปัญหาในการอ่านข้อมูลจากจอคอมพิวเตอร์สักหน่อย  คือถนัดอ่านหนังสือมากกว่า  การเลื่อนจอไปมาทำให้สับสนงุนงงมากมาย  ถ้าข้อมูลซ้ำซ้อนหรือตกหล่นต้องขออภัยนะคะ)

กรณีที่เข้าใจคลาดเคลื่อนว่ามีการริบราชบาตร  ดิฉันเห็นด้วยกับข้อมูลข้างต้นที่หลายท่านได้ตั้งข้อสังเกต  ขอสรุปข้อมูลที่ประมวลเองตอนนี้

๑.  เหตุการณ์ที่ มจ. ฉวีวาด ลอบหนีออกจากพระนครไปกับนายเวรผึ้ง (สันนิษฐานว่าเป็นชาวเขมร)  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒  อนุมานจากข้อมูลโครงกระดูกในตู้โดยเทียบจากอายุของ  มจ. คำรบ ที่เล่าว่าอายุ ๘ ปี ขณะเกิดเหตุ

๒.  เข้าใจว่าขณะเกิดเหตุ มจ. ฉวีวาด ยังประทับอยู่ที่วังของพระสวามี คือกรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร  อนุมานจากข้อมูลที่พระองค์เจ้ามาลิกาเล่าว่าทรงถามว่าทิ้งผัวทิ้งแม่ ประการหนึ่ง  อีกประการคือถ้าประทับที่วังวรจักรเมื่อเกิดเหตุ  มจ. คำรบ น่าจะมีข้อมูลเรื่องนี้เล่าประทานโอรสด้วย

๓.  เมื่อเหตุเกิดที่วังของกรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร  กรมวังน่าจะมาเกาะกุมตัวญาติใกล้ชิดของ มจ. ฉวีวาด คือมารดา – ม.ร.ว. ดวงใจ ไปสอบหาข้อเท็จจริง  จนถึงขั้นลงทัณฑ์  อาจจะรับโทษโบย (ตั้ง ๓๐ ที  หนักพอสมควรสำหรับหญิงกลางคน) หรือติดสนมจองจำ

๔.  เมื่อข่าวมาเป็นไฟไหม้ฟางว่า มจ. ฉวีวาด ลอบหนีจากพระนครไป  (ชั้นแรกคงไม่ทราบว่าด้วยเจตนาใด)  ผู้คนทางวังวรจักรคงตกอกตกใจเข้าใจว่าจะถูกริบราชบาตร  ยิ่งเมื่อ ม.ร.ว. ดวงไจ ถูกเกาะกุมไปสอบสวน  ดิฉันเข้าใจว่าผู้เกี่ยวข้องคงไม่กล้าออกตัวกัน  มจ. หญิง ที่เหลืออยู่  (ดิฉันเข้าใจว่าเหลืออยู่ ๒ องค์  เพราะตามข้อมูล มจ. คอยท่า เข้าไปทำราชการในวังหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๕  และ มจ. เมาฬี ซึ่งเป็นพี่  น่าจะเข้าวังไปก่อนน้อง)  ก็น่าจะรีบเข้าวัง  อาจจะไปติดตามข่าวมารดา  หรือหารือเจ้าพี่และพระญาติผู้ใหญ่

๕.  ดิฉันแปลกใจเหมือนเช่นทุกท่านว่าเหตุใด มจ. คำรบน้อย จึงถูกทอดทิ้ง จนถึงหม่อมยายต้องมารับไปอยู่ด้วยอย่างลำบากยากแค้นอยู่สี่ห้าเดือน  ก่อนที่สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรจะให้คนมารับเข้าไปอุปการะในวัง  โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่า มจ. คอยท่า ก็รับราชการอยู่กับกรมพระยาสุดารัตนฯ มา ๗ ปี  และเป็นที่เมตตาอยู่  เมื่อเกิดเรื่องเกิดราวใหญ่โตทางบ้าน ท่านไม่น่าจะทอดเวลาให้ท่านน้องเล็กของท่านต้องตกยากอยู่หลายเดือน  กว่าจะกราบทูลกรมพระยาสุดารัตนฯ ให้ส่งคนมารับเข้าไปอุปการะในวัง

๖.  ดิฉันเลยสงสัยว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ มจ. คำรบ อาจจะอยู่กับหม่อมยายไม่นานถึง ๔ – ๕ เดือน  ท่านอาจจำได้ว่าท่านลำบากมาก  แต่ระยะเวลานี่ดิฉันคิดว่าไม่น่าจะนาน  (เช่น อาจจะสัก ๑ เดือน)  ตอนเหตุการณ์ชุลมุนที่ยังไม่ทราบกันว่า มจ. ฉวีวาด หนีไปทำไม  แต่ละคนก็คงไม่กล้าออกหน้าออกตา  เจ้าพี่ทั้งสองขณะรีบเข้าวังกัน  ก็น่าจะแจ้งผู้คนให้ไปบอกหม่อมยายให้มารับ มจ. คำรบ ไปดูแลก่อน  เพราะสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนั้น  คงไม่กล้านำเข้าวังไปด้วย  พอเหตุการณ์นิ่งแล้วว่ากรณีนี้คือการที่ มจ. ฉวีวาด หนีตามนายเวรผึ้ง  มิใช่การก่อเหตุร้ายถึงขั้นกระทบกระเทือนพระนคร  ม.ร.ว. ดวงใจ ผู้เป็นมารดาก็ถูกลงทัณฑ์ตามสมควร  มจ. คอยท่า คงจะหาโอกาสกราบทูลกรมพระยาสุดารัตนฯ ให้ส่งคนมารับท่านน้องได้
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 03 พ.ย. 13, 11:12

ตามตำนานโรงหนังแห่งแรกในสยาม  ปรากฏข้อมูล "โรงหนังวังพระองค์เจ้าปรีดา (แคปปิตอล)" 

เข้าใจว่าบริเวณโรงหนังวังพระองค์เจ้าปรีดาก็คือพื้นที่ที่เป็นโรงหนังแคปปิตอล  ก่อนจะกลายมาเป็นคลองถมแลนด์  หรือเปล่าคะ?



ให้ภาพเก่าดูภาพหนึ่ง เป็นภาพสะพานเฉลิม ๔๘ ภายหลังมีหลายเฉลิม จึงได้มีการพระราชทานสร้อยนามด้านหลังเพิ่มเข้าไป สะพานนี้ก็เรียกว่า "สะพานเฉลิมกรุง ๔๘" ข้ามคลองวัดสามปลื้ม (คลองวัดจักรวรรดิ์ก็เรียกกัน)

ภาพถ่ายยืนบนถนนเจริญกรุงถ่ายไปยังแยก เอส เอ บี  พื้นที่เชิงสะพานเป็นพื้นที่ของวังวรจักร และโรงหนังอยู่ด้านหลังเก๋งจีนเหล่านี้ ต่อมากลายเป็นโรงหนังแคปปิตอล

(ที่มาภาพจากฟื้นความหลัง พระยาอนุมานราชธน)


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 03 พ.ย. 13, 15:34

ข้อสรุปของคุณtitaชัดเจน ผมขออนุญาตแสดงความเห็นเพิ่มเติม

อ้างถึง
๑..  เหตุการณ์ที่ มจ. ฉวีวาด ลอบหนีออกจากพระนครไปกับนายเวรผึ้ง (สันนิษฐานว่าเป็นชาวเขมร)  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒  อนุมานจากข้อมูลโครงกระดูกในตู้โดยเทียบจากอายุของ  มจ. คำรบ ที่เล่าว่าอายุ ๘ ปี ขณะเกิดเหตุ

๒.  เข้าใจว่าขณะเกิดเหตุ มจ. ฉวีวาด ยังประทับอยู่ที่วังของพระสวามี คือกรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร  อนุมานจากข้อมูลที่พระองค์เจ้ามาลิกาเล่าว่าทรงถามว่าทิ้งผัวทิ้งแม่ ประการหนึ่ง  อีกประการคือถ้าประทับที่วังวรจักรเมื่อเกิดเหตุ  มจ. คำรบ น่าจะมีข้อมูลเรื่องนี้เล่าประทานโอรสด้วย

๓.  เมื่อเหตุเกิดที่วังของกรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร  กรมวังน่าจะมาเกาะกุมตัวญาติใกล้ชิดของ มจ. ฉวีวาด คือมารดา – ม.ร.ว. ดวงใจ ไปสอบหาข้อเท็จจริง  จนถึงขั้นลงทัณฑ์  อาจจะรับโทษโบย (ตั้ง ๓๐ ที  หนักพอสมควรสำหรับหญิงกลางคน) หรือติดสนมจองจำ

เมื่อชายาหายไป และเป็นไปได้อีกว่าหายไปกับนายเวรผึ้ง โดยนายเวรผึ้งนั้นเป็นข้าราชการวังหน้า หรืออาจจะเป็นข้าในวังของกรมหมื่นวรวัฒน์สุภากรนั่นเองแหละ ท่านก็จำเป็นต้องแจ้งกรมวัง มิฉะนั้นท่านเองก็นั่นแหละที่จะมีความผิด

เมื่อสืบเสาะหาตัว ก็แน่นอนที่คนทางวังวรจักร โดยเฉพาะหม่อมแม่หรือหม่อมย่าของผู้เขียนจะต้องทราบ และน่าจะเตรียมตัวเตรียมใจเผื่อจะต้องรับโทษทัณฑ์ตามกฎมณเฑียรบาลจริงๆ ลูกๆทั้งหลายน่าจะได้รับการฝากฝังกันแล้วล่วงหน้า
แม้เมื่อถูกคนของหลวงมาเกาะตัวไปลงทัณฑ์จริงๆ ผมเชื่อว่าในพ.ศ.นั้น ในวังคงไม่ได้ใช้วิธีทารุณกรรมที่ป่าเถื่อนแล้ว หลังสนธิสัญญาบาวริ่ง และข้อตกลงเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ก็แสดงว่าฝรั่งเห็นว่าคนไทยยังไม่เป็นอารยะก็ด้วยกฎหมายนี้แหละ ท่านจึงพยายามจะแก้ไขอยู่ ดังนั้น แม้กฎมณเฑียรบาลยังคงมีอยู่และต้องผดุงไว้เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ การเฆี่ยนก็คงจะมี แต่ว่ากันไปตามพิธีไม่กะให้ถึงเจ็บถึงตาย ยิ่งมีเงินมีทองเป็นสินน้ำใจให้พะธำมะรงด้วย เผลอๆเค้าก็จะเฆี่ยนให้หวายลงพื้นเป็นส่วนใหญ่อย่างชำนิชำนาญ

ส่วนที่ว่ายึดทรัพย์ ก็อาจเป็นแค่โทษปรับเอาเงินชดเชยให้กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร  ก็เล่นเอาสินสอดทองหมั้นท่านมาแล้ว วันดีคืนดีกลับหนีตามไอ้หนุ่มหน้ามลไปเฉย กฎหมายไทยสมัยโน้นให้ค่าผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ภรรยาทำอย่างนี้กับสามีเป็นโดนแน่

แล้วผมเคยอ่านเรื่องที่เจ้านายฝ่ายในหรือเจ้าจอมในสมัยรัชกาลที่๔ถูกจำสนม พนักงานจะเชิญสร้อยทองคำใส่พานมาคล้องข้อมือ และนำไปกักบริเวณไว้ จนถึงกำหนดปล่อยก็มิได้ชอกช้ำ แต่ถือว่าเป็นความซวยมากกว่า ออกมาได้ต้องทำบุญรดน้ำมนต์ล้างเสนียดจัญไรกันยกใหญ่
ถ้าเฆี่ยนกันจริงๆ ๓๐ ทีนี่ หม่อมย่าซาโยนาระแน่ และม.จ.ฉวีวาดคงไม่มีวันกลับมาดูหน้าญาติพี่น้องได้ แต่นี่ ท่านกลับมารับมรดกด้วยนะ ไม่ยักกะถูกตัดหางปล่อยวัดไปแล้ว แสดงว่าหม่อมแม่มีความเป็นอยู่ดีพอสมควร ลูกสาวที่อยู่ในวังคงผลัดกันส่งอาหารไม่ขาดสักมื้อ ไม่นานก็พ้นโทษ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 03 พ.ย. 13, 15:53

อ้างถึง
๔.  เมื่อข่าวมาเป็นไฟไหม้ฟางว่า มจ. ฉวีวาด ลอบหนีจากพระนครไป  (ชั้นแรกคงไม่ทราบว่าด้วยเจตนาใด)  ผู้คนทางวังวรจักรคงตกอกตกใจเข้าใจว่าจะถูกริบราชบาตร  ยิ่งเมื่อ ม.ร.ว. ดวงไจ ถูกเกาะกุมไปสอบสวน  ดิฉันเข้าใจว่าผู้เกี่ยวข้องคงไม่กล้าออกตัวกัน  มจ. หญิง ที่เหลืออยู่  (ดิฉันเข้าใจว่าเหลืออยู่ ๒ องค์  เพราะตามข้อมูล มจ. คอยท่า เข้าไปทำราชการในวังหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๕  และ มจ. เมาฬี ซึ่งเป็นพี่  น่าจะเข้าวังไปก่อนน้อง)  ก็น่าจะรีบเข้าวัง  อาจจะไปติดตามข่าวมารดา  หรือหารือเจ้าพี่และพระญาติผู้ใหญ่

๕.  ดิฉันแปลกใจเหมือนเช่นทุกท่านว่าเหตุใด มจ. คำรบน้อย จึงถูกทอดทิ้ง จนถึงหม่อมยายต้องมารับไปอยู่ด้วยอย่างลำบากยากแค้นอยู่สี่ห้าเดือน  ก่อนที่สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรจะให้คนมารับเข้าไปอุปการะในวัง  โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่า มจ. คอยท่า ก็รับราชการอยู่กับกรมพระยาสุดารัตนฯ มา ๗ ปี  และเป็นที่เมตตาอยู่  เมื่อเกิดเรื่องเกิดราวใหญ่โตทางบ้าน ท่านไม่น่าจะทอดเวลาให้ท่านน้องเล็กของท่านต้องตกยากอยู่หลายเดือน  กว่าจะกราบทูลกรมพระยาสุดารัตนฯ ให้ส่งคนมารับเข้าไปอุปการะในวัง

๖.  ดิฉันเลยสงสัยว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ มจ. คำรบ อาจจะอยู่กับหม่อมยายไม่นานถึง ๔ – ๕ เดือน  ท่านอาจจำได้ว่าท่านลำบากมาก  แต่ระยะเวลานี่ดิฉันคิดว่าไม่น่าจะนาน  (เช่น อาจจะสัก ๑ เดือน)  ตอนเหตุการณ์ชุลมุนที่ยังไม่ทราบกันว่า มจ. ฉวีวาด หนีไปทำไม  แต่ละคนก็คงไม่กล้าออกหน้าออกตา  เจ้าพี่ทั้งสองขณะรีบเข้าวังกัน  ก็น่าจะแจ้งผู้คนให้ไปบอกหม่อมยายให้มารับ มจ. คำรบ ไปดูแลก่อน  เพราะสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนั้น  คงไม่กล้านำเข้าวังไปด้วย  พอเหตุการณ์นิ่งแล้วว่ากรณีนี้คือการที่ มจ. ฉวีวาด หนีตามนายเวรผึ้ง  มิใช่การก่อเหตุร้ายถึงขั้นกระทบกระเทือนพระนคร  ม.ร.ว. ดวงใจ ผู้เป็นมารดาก็ถูกลงทัณฑ์ตามสมควร  มจ. คอยท่า คงจะหาโอกาสกราบทูลกรมพระยาสุดารัตนฯ ให้ส่งคนมารับท่านน้องได้

ข้อความทั้งหมดแม้จะมีน้ำหนัก แต่ก็ยากที่ใครจะรู้ได้ว่าเรื่องจริงๆเป็นอย่างไร ทำไมคนในวังวรจักรอื่นๆจึงไม่แสดงบทบาทอะไรบ้างเลยนอกจากพี่น้องท้องนี้ ถ้าเรื่องดังกล่าวเป็นจริง ผมก็เชื่อว่า ในตู้ของคนในตระกูลนี้ยังมีโครงกระดูกอีกมากหมักหมมไว้ โดยที่ผู้เขียนไม่กล้านำออกมาเปิดเผย

ถ้าไม่ใช่ ก็มีอีกทฤษฎีเดียว คือการลงทัณฑ์ใดๆไม่ได้เกิดขึ้นเลย ไม่ว่าจะริบราชบาตรหรือแค่ถูกนำไปเฆี่ยนไปขัง ท่านผู้เขียนนำเรื่องที่ท่านป้าโม้ไว้มาปรุงรสต่อโดยอ้างท่านพ่อว่าเป็นผู้เล่า ทั้งนี้เพื่อความสนุกสนานบันเทิงของลูกๆหลานๆในตระกูลไว้คุยโม้ต่อ ส่วนผู้อ่านอื่นๆคงไม่เก็บไว้ในสมอง อ่านเสร็จบัดเดี๋ยวเดียวก็คงจะลืมแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 03 พ.ย. 13, 16:07

^


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 03 พ.ย. 13, 16:19

ไหนๆก็ถือว่าเป็นเรื่องแต่ง  ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องจริง   จึงขอเสนออีกเวอร์ชั่นหนึ่งให้คุณ tita อ่านเล่นๆค่ะ  ไม่ต้องซีเรียส

เมื่อม.จ.ฉวีวาดหายตัวไป พระองค์เจ้าเฉลิมได้เบาะแสว่าคงหนีตามมหาดเล็กที่มีพยานรู้เห็นว่าติดต่อกันอยู่ก่อนหน้า
นายผึ้งเป็นคนเชื้อสายเขมร น่าจะพาม.จ.ฉวีวาดออกพ้นพระราชอาณาเขตสยามกลับบ้านเกิด     พระองค์เจ้าเฉลิมก็จำต้องนำความกราบบังคมทูลตามระเบียบ  จะปล่อยให้หายไปเฉยๆไม่ได้    เดี๋ยวกลายเป็นสมรู้ร่วมคิดให้เจ้านายออกนอกพระราชอาณาเขตโดยไม่มีพระบรมราชานุญาต  ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่
จึงมีการเกาะกุมตัวหม่อมแม่ดวงใจไปลงโทษ  เพราะม.จ.ฉวีวาดไม่อยู่ให้ลงโทษเสียแล้ว  ส่วนพระองค์เจ้าเฉลิมเป็นผู้เสียหายในการนี้  ท่านย่อมไม่ได้รับโทษใดๆ
 
ก่อนหน้านี้หม่อมดวงใจท่านรู้เรื่องตั้งแต่ลูกเขยมาตามหาลูกสาวที่หายตัวไปแล้ว     ก็มิได้นิ่งนอนใจ   รีบส่งตัวลูกสาวรุ่นเล็กที่เหลือ 2 คนในตำหนักเข้าวังไปก่อน  ไม่ได้อยู่กันจนเกิดเหตุตูมตามในคืนนั้น     ส่วนลูกสาวรุ่นโต 2 คนเข้าวังหลวงไปก่อนหน้านี้แล้ว    
ส่วนลูกชาย ยังตามพี่สาวไปไม่ได้   เพราะม.จ.โอษฐอ่อนอายุเพิ่ง 11 ปี  ม.จ.รำมะแข อายุ 10 ขวบ   (ข้อนี้เพิ่งไปเช็คมาเมื่อกี้นี้เองค่ะ)
เอาเด็กไปถวายเจ้านายรวดเดียว 3 คนอาจจะรบกวนมากไปหน่อย

จะฝากท่านคำรบน้อยในวังวรจักร   หม่อมย่าไม่ไว้ใจแม่เลี้ยงอื่นๆในวังวรจักรว่าจะเมตตาหรือไม่   รวมทั้งฝากพระองค์ปรีดาก็ไม่ได้     ด้วยมิได้สนิทสนมกลมเกลียวกันมาแต่แรก
เหลือทางเดียวคือเกิดเหตุขึ้นมาวันไหน    ให้หม่อมยายที่อยู่ในตำหนักด้วยกันรับเลี้ยงดูไปก่อน  จนกว่าจะหาลู่ทางเข้าวังได้
เมื่อเกิดเหตุ ท่านคำรบน้อยก็อยู่กับหม่อมยายจริงๆน่ะแหละ      หม่อมยายท่านเป็นคนขยัน  แทนที่จะให้หลานชายเล่นซนอยู่เฉยๆ ก็ใช้ให้ช่วยเก็บพุทราหารายได้  ขายอยู่แถววังน่ะแหละ
(เผลอๆไม่ได้อยู่ที่วัดราชนัดดา แต่อยู่ที่เรือนในวังวรจักร  เพราะแถวนั้นมีบ่อนของขุนพัฒน์(แหยม)  ท่านคำรบน้อยขายอยู่แถวนั้น
แทนที่จะเดินจากวัดราชนัดดาไปวัดปรินายก ซึ่งไกลขาลากดินสำหรับเด็กอายุ 8 ขวบ)
ท่านอาจจะอยู่กับยายไม่กี่วันนักหรอก   พี่สาวที่เป็นข้าหลวงอยู่กับกรมพระยาสุดารัตนฯ ก็ออกมารับไปอยู่ด้วย  

จบเวอร์ชั่นนี้ตามนี้ค่ะ
  
มิฉะนั้นก็อาจจะเป็นอย่างท่านนวรัตนหย่อนระเบิดลูกใหญ่ลงไว้    สำหรับข้อนี้ต่างคนต่างหาหลุมหลบภัยเอาเองละกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 03 พ.ย. 13, 16:32

อนึ่ง  ในลำดับหม่อมราชนิกูลของไทยสมัยรัตนโกสินทร์  ปรากฏนามหม่อมราชวงศ์สิงหนัท  ปราโมช บุตรพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปรีดา (๒๓๗๘ – ๒๔๕๗)...เป็นหม่อมชาติเดชอุดมเมื่อ ๒๕ ก.ย.๒๔๕๒  และเป็นหม่อมอนุวัตรวรพงศ์ เมื่อ ๒๙ ธ.ค. ๒๔๖๒
เอาละซี     ในเมื่อพระองค์เจ้าปรีดามีบุตร และบุตรนั้นก็อยู่ในราชการ     มรดกของท่านก็น่าจะตกแก่บุตร (ซึ่งอาจมีหลายคน)  ไม่น่าจะตกกับน้องๆอีก 52 องค์
ฤๅเป็นความคลาดเคลื่อนอีกตอนหนึ่งของหนังสือเรื่องนี้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 03 พ.ย. 13, 17:54

^คงไม่มีใครเป็นห่วงน้องมากกว่าลูกๆของตัว

ในหนังสือทูลสมเด็จกรมพระยาดำรง พระองค์หญิงมาลิกาเขียนว่า ม.จ.ฉวีวาด มารับมรดกมารดา คงจะหมายความถึงตำหนักที่พี่น้องท้องนี้ได้ไว้  น่าจะเป็นหลังที่พระองค์เจ้าคำรบประทับอยู่และถูกเวนคืนทำตรอกเจ้าคำรพ ได้เงินมาแล้วแบ่งกันกระมัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 03 พ.ย. 13, 20:45

มาถึงตอนนี้ดิฉันเริ่มปลงตก ว่าเราคงจะตัดสินอะไรจาก"โครงกระดูกในตู้"ไม่ได้มากกว่านี้    ต้องรอจนกว่าจะมีหลักฐานยืนยันจากที่อื่นว่าเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในเรื่องเป็นความทรงจำที่ถูกต้องตามจริง หรือว่าผิดพลาดคลาดเคลื่อนด้วยเหตุสุดวิสัยอันใดหรือเปล่า
เพราะถ้าอ่านเรื่องนี้  เหตุการณ์หลายตอนด้วยกัน มีเครื่องหมายคำถามโผล่ขึ้นมาเป็นแถว โดยไม่มีคำตอบ

- ริบราชบาตรที่หม่อมแม่ของท่านหญิงฉวีวาดมิได้ถูกริบบ้าน  ลูกเต้าไม่ได้กลายเป็นคนหลวง  เพราะยังเลือกเจ้านายที่จะเข้าไปอยู่ด้วยได้   ลูกชายได้เรียนนายร้อยทหารบก   ฯลฯ   เรียกว่าริบราชบาตรได้หรือไม่ ?

- เหตุใดสภาพแวดล้อมในบ้านของม.ร.ว.ดวงใจที่ปรากฏในหนังสือจึงดูโดดเดี่ยวมีแต่แม่และลูกๆ    ในขณะที่หลักฐานทางราชการระบุว่ารายรอบด้วยตำหนักของหม่อมเจ้าในราชสกุลคึกคักอุ่นหนาฝาคั่ง?

- เหตุใดม.ร.ว.คึกฤทธิ์ผู้มีโอกาสรู้จักเจ้านายเขมรหลายองค์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จึงไม่มีโอกาสจะสอบถามให้รู้ข้อเท็จจริงเลยแม้แต่ครั้งเดียว?

- เหตุใดเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายองค์ของราชสกุลปราโมช ซึ่งมีพระชนม์อยู่ในช่วงพ.ศ. 2468-69  มีโอกาสเจอนายนุด มาเยี่ยมท่านแม่ จนต่อมาเล่าให้หลานอย่างม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฟังได้   จึงมิได้สงสัยในสภาพของนายนุดผู้ติดฝิ่นและเพิ่งออกจากคุกเขมร  ว่านี่หรือคือพระองค์เจ้า     กลับเชื่อสนิทว่านี่คือพระราชโอรสอันเกิดจากพระราชเทวีจากสยาม?

- ม.ร.ว.คึกฤทธิ์กลับจากอังกฤษเมื่อพ.ศ. 2476   มีสาเหตุอะไรทำให้ท่านไม่มีโอกาสรู้เรื่องท่านป้าฉวีวาดออกจากกรุงเทพอยู่หัวเมืองกับนายนุด  ตลอดจนการติดต่อญาติให้ออกไปรับท่านกลับมา?

ฯลฯ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 03 พ.ย. 13, 21:09

^คงไม่มีใครเป็นห่วงน้องมากกว่าลูกๆของตัว

ในหนังสือทูลสมเด็จกรมพระยาดำรง พระองค์หญิงมาลิกาเขียนว่า ม.จ.ฉวีวาด มารับมรดกมารดา คงจะหมายความถึงตำหนักที่พี่น้องท้องนี้ได้ไว้  น่าจะเป็นหลังที่พระองค์เจ้าคำรบประทับอยู่และถูกเวนคืนทำตรอกเจ้าคำรพ ได้เงินมาแล้วแบ่งกันกระมัง
โครงกระดูกในตู้ บรรยายไว้ว่า
" เมื่อพระองค์เจ้าปรีดาสิ้นพระชนม์   ได้ทรงยกวังนั้นให้แก่เจ้าพี่เจ้าน้องทุกองค์  แต่เมื่อไม่มีทางที่จะแบ่งกันได้ถูกต้องได้  หม่อมเจ้าในกรมขุนวรจักรฯ จึงได้ตกลงขายวังแก่พระคลัง แล้วรับพระราชทานเงินมาแบ่งปันกัน"
บัดนี้ก็มีหลักฐานว่าพระองค์เจ้าปรีดามีโอรสชื่อม.ร.ว.สิงหนาท  แม้เราไม่รู้ว่าท่านถึงแก่กรรมเมื่อใด แต่รู้ว่าเมื่อท่านพ่อสิ้นพระชนม์   ม.ร.ว.สิงหนาทยังมีชีวิตอยู่แน่นอน   เห็นได้จากท่านได้เลื่อนเป็นหม่อมอนุวัตรวรพงศ์ เมื่อ ๒๙ ธ.ค. ๒๔๖๒  
 ท่านเป็นลูกคนเดียวหรือมีหลายคนก็ไม่รู้ละค่ะ    แต่ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าพระองค์เจ้าปรีดาข้ามบุตรชายที่รับราชการเป็นหลักเป็นฐาน จนได้เป็นหม่อมราชนิกูล ไปยกมรดกให้น้องๆอีก 52 องค์

มีความเป็นไปได้อย่างเดียวที่ดิฉันนึกออกคือหลักฐานเรื่องตัดถนนและสำมะโนครัว แสดงว่าในบริเวณเนื้อที่วังวรจักรมีตำหนักของหม่อมเจ้าปลูกอยู่มากหลายหลังด้วยกัน       เมื่อพระองค์เจ้าปรีดายังมีพระชนม์อยู่ ปกครองน้องๆ    ตำหนักเหล่านี้คงไม่มีการแยกโฉนดออกไป    
จนพี่ใหญ่สิ้นพระชนม์ ทำพินัยกรรมไว้ว่าตำหนักของใครก็ยกให้เป็นของคนนั้น  เจ้าของจึงต้องมารังวัดที่ดินกันว่าตรงไหนเป็นของใคร       ทีนี้เมื่อไม่ได้ปักเขตกันมาแต่แรก ก็เกิดวุ่นวายว่าตรงไหนเป็นเขตตำหนักของแต่ละองค์กันแน่   วัดไปวัดมาที่ขององค์นั้นกินที่มาตรงที่ขององค์นี้  หรือที่องค์โน้นแหว่งไปจากที่ควรจะมี     กลายเป็นเรื่องยุ่งยากตกลงกันไม่ได้  ในที่สุดก็ตกลงขายให้พระคลัง  เอาเงินมาแบ่งกัน หมดเรื่องไป
การขายอาจไม่ได้ยกโฉนด    เว้นบางแปลงที่ไม่ขาย เช่นตำหนักของพระองค์เจ้าคำรบที่เสด็จพ่อปลูกประทาน ก็เป็นได้ มีแปลงของเจ้าพี่อีกสองสามองค์ด้วย   ที่มาเจอปัญหาถนนตัดผ่านในภายหลัง  ถูกเวนคืนไปเป็นถนนวรจักร    
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ จึงพระราชทานวังใหม่ชดเชยให้พระองค์เจ้าคำรบผู้มีตำแหน่งใหญ่โตเป็นอธิบดีตำรวจในตอนนั้น
บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 03 พ.ย. 13, 21:39

ที่น่าแปลกใจอีกประการก็คือ  วังวรจักรที่เคยอุ่นหนาฝาคั่งด้วยตำหนัก มจ. โอรสธิดากรมขุนวรจักรธรานุภาพ ๕๓ องค์  แล้วยัง ม. ร. ว. ชั้นหลานอีก

วันดีคืนดีเมื่อถนนวรจักรตัดผ่าน  บรรดา มจ./ม. ร. ว. สายสกุลปราโมช ก็แทบจะไม่ปรากฏหลักฐาน  นอกจากบุตรธิดาพระองค์เจ้าคำรพแล้ว  สายอื่นๆ ไม่หลงเหลือเลยหรือคะ?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 03 พ.ย. 13, 22:16

มีค่ะ แต่ท่านเหล่านั้นอาจไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับสาธารณชน  ก็เลยไม่เป็นที่รู้จักเท่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์  แต่ถ้าค้นจากกูเกิ้ล ด้วยคำว่า "ปราโมช ณ อยุธยา" จะเห็นว่ามีอยู่หลายคนด้วยกัน

ในหนังสือโครงกระดูกในตู้เล่มที่พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีภาพประกอบของราชสกุลชั้นหม่อมเจ้า ที่หลานปู่สายม.จ.จำรูญชื่อคุณมโนทัย ปราโมช ณ อยุธยา ให้คำอธิบายว่าใครเป็นใครในภาพ
(ที่จริงคุณมโนทัยน่าจะเป็นเหลนของหม่อมเจ้าจำรูญ   เพราะถ้าเป็นหลานปู่ก็ต้องเป็นม.ล. และไม่มี ณ อยุธยาต่อท้าย)
ทำให้รู้ว่าก็ยังมีสมาชิกราชสกุลปราโมชสายอื่นๆนอกจากพระองค์เจ้าคำรบ สืบเชื้อสายมาถึงปัจจุบัน

ถ้ากระทู้นี้ทำความระคายเคืองให้ท่านด้วยประการใด  ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 19 คำสั่ง