เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 154206 โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:22

คำนำ

กระทู้นี้มีเนื้อหาใจความเช่นเดียวกับกระทู้  “หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช”  ท่านที่ยังไม่เคยเห็นกระทู้ดังกล่าวสามารถเข้าไปอ่านได้จากระโยงข้างล่าง

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5784.0

เนื่องจากลำดับเรื่องราวของม.จ.ฉวีวาดในกระทู้ดังกล่าวกระโดดไปกระโดดมา ลำบากที่จะเข้าใจหรืออาจทำความสับสนให้กับผู้อ่านได้ ผมคิดว่าข้อมูลที่ได้มาใหม่ในกระทู้นั้น มีความสำคัญที่จะหักล้างความเข้าใจผิดบางประการที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อยู่นอกราชสกุลปราโมชได้ จึงได้กระทำการเรียบเรียงขึ้นใหม่ เพื่อให้อ่านง่าย โดยยืมความคิดเห็นที่หลายๆท่านได้ช่วยให้ข้อมูลไว้นั้น มารวมกับความคิดเห็นของผมด้วย หวังว่าท่านที่ใช้นามแฝงว่า เทาชมพู, SIAMESE ,TITA และคุณแมวเซา คงจะไม่ถือโทษ จึงขอแสดงความขอบคุณมาด้วย ณ ที่นี้ด้วย

กระทู้ที่จะกล่าวต่อไปจะออกแนวบทความ ผิดจากกระทู้ทั้งปวงในห้องเรือนไทย เพราะผมตั้งใจจะให้ผู้อ่านได้อ่านอย่างต่อเนื่องได้อรรถรส แต่เมื่อจบเรื่องแล้ว เชิญท่านแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ตามปกติ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:24

                                     โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เพื่อแจกเป็นของชำร่วยในงานเลี้ยงฉลองวันแซยิดของท่าน ให้ชื่อ“โครงกระดูกในตู้”ตามสำนวนฝรั่งที่ว่า skeleton in the cupboard ซึ่งมีความหมายว่า เรื่องปกปิดของคนในตระกูลที่ก่อเรื่องไม่ดีงามไว้ ในเล่ม ท่านเอาเรื่องราวของบรรพบุรุษราชสกุลปราโมชเรียงตามสาแหรกมาเล่าให้อ่านอย่างสนุกสนาน ผู้อ่านไม่เห็นว่าใครได้ทำความเสื่อมเสียแก่ตระกูลตรงไหน กลับจะเป็นการยกย่องบรรพบุรุษของท่านกลายๆด้วยซ้ำ หนังสือเล่มนี้ขายดีมาก พิมพ์แล้วพิมพ์เล่าไม่ต่ำกว่า๖ครั้ง ผู้ที่ชื่นชอบทักษะวรรณกรรมของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ คงไม่มีใครที่จะพลาดเล่มนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:26

หนึ่งในบุคคลที่ท่านนำมาเล่าในลักษณะหมิ่นเหม่ที่สุดตามความหมายของฝรั่ง ก็คือ ม.จ.ฉวีวาด  ปราโมช  ท่านป้าของท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นำเรื่องไว้ว่า

" ท่านป้าฉวีวาดเป็นโครงกระดูกในตู้โดยแท้  เพราะเรื่องราวของท่านถูกปิดบังซุบซิบกันมานาน ไม่ให้ลูกหลานได้รู้ ที่ผู้เขียนเรื่องนี้บังเอิญรู้โดยละเอียด ก็เพราะสมัยหนึ่งที่ท่านป้าฉวีวาดชรามากแล้ว ท่านเกิดโปรดปรานหลานคนนี้ขึ้นมาและเอาไป "เลี้ยง" ไว้กับท่าน การเลี้ยงหลานของท่านออกจะแปลก เพราะท่านบรรทมกลางวันเป็นส่วนมาก แต่ปลุกหลานขึ้นมาคุยตอนกลางคืน  เล่าเรื่องอะไรต่ออะไรให้ฟัง ท่านเสวยข้าวเย็นหรือข้าวเช้าก็ไม่แน่นัก  ตอนราวๆตีสองของวัน และเสวยอะไรแปลกๆ เช่น เปลือกส้มเขียวหวานจิ้มกับน้ำพริก เป็นต้น ท่านปลุกหลานที่ท่าน "เลี้ยง" ให้ลุกขึ้นกินข้าวด้วยในยามวิกาลเช่นนั้นทุกคืนไป
ท่านป้าฉวีวาดท่านมีผิวขาวผ่องสมชื่อ    และแม้แต่เมื่ออายุท่าน 70 กว่า แล้ว   ท่านก็ยังมีรูปร่างหน้าตาและท่าทางซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นคนสวยมากเมื่อยังสาวๆ    และนอกจากสวยแล้ว  ยังเป็นคนใจแข็งเก่งกาจมากอีกด้วย"
เมื่อม.ร.ว.คึกฤทธิ์เบิกตัวท่านป้าอย่างนี้แล้ว ก็ย้อนความไปว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าปราโมช  กรมขุนวรจักรธรานุภาพ เสด็จพ่อของม.จ.ฉวีวาดได้นำพระธิดาไปถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯแต่ยังเยาว์   ด้วยความที่หน้าตาผิวพรรณน่าเอ็นดูจึงทรงโปรดมาก และทรงเลี้ยงแบบพระราชธิดาของพระองค์จนชาววังเรียกว่า ‘ลูกเธอปลอม’


ม.ร.ว.คึกฤทธิ์อ้างว่าเรื่องที่ท่านจะเล่าต่อไปเป็นเรื่องที่ส่งเสริมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง กล่าวคือท่านป้าฉวีวาด เล่าให้ท่านฟังว่าท่านเคยวิ่งเล่นมากับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าลูกเธออื่นๆ   เมื่อยังทรงพระเยาว์ทุกพระองค์จนเป็นที่คุ้นเคย

และยังมีเรื่องที่ทรงคุยให้หลานฟังอีกว่า  เจ้านายที่ม.จ.ฉวีวาดทรงคอยหาทางรังแกเล่นเป็นของสนุกอยู่เสมอ ก็หาใช่ใครอื่นไม่ นอกจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงพระเยาว์   ครั้งหนึ่งสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงใช้ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯขึ้นไปหยิบของบนหอพระ ท่านหญิงฉวีวาดนั่งอยู่ข้างพระทวาร  พอเสด็จลงมาท่านก็ยื่นขาออกไปขัดพระชงฆ์  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็เลยทรงล้มลง  ตกอัฒจันทร์ลงมาหลายขั้น เป็นเหตุให้สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงกริ้วว่างุ่มง่ามเซ่อซ่า
แต่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ทรงนิ่งเสีย  มิได้ทูลฟ้องว่าใครเป็นต้นเหตุให้ตกอัฒจันทร์    ท่านหญิงฉวีวาดก็ยิ่งเห็นว่าตัวเองเก่ง  รังแกเจ้าฟ้าพระราชกุมารพระองค์ใหญ่ได้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:27

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ดำเนินเรื่องต่อว่าม.จ.ฉวีวาดเติบโตในลักษณะนั้นจนเป็นสาว จึงกลับมาปลูกตำหนักอยู่ในวังกรมขุนวรจักรฯ แล้วพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่๔ มาติดพันจนถึงขนาดขอหมั้นกันเรียบร้อย วันหนึ่งความแตกว่ากรมหลวงพิชิตฯ มีหม่อมอยู่ในวังแล้วอีกคนหนึ่งชื่อหม่อมสุ่น ม.จ.ฉวีวาดไม่พอพระทัย สุดท้ายเอาของหมั้นโยนทิ้งออกไปทางหน้าต่างพระตำหนัก  กรมหลวงพิชิตฯต้องให้มหาดเล็กมาเก็บไปจากถนน การหมั้นจึงเลิกไปโดยปริยาย

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เกริ่นเรื่องไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ขณะนั้นเจ้านายทางวังหลวงและวังหน้าไม่ถูกกัน เพราะผลพวงจากการที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อาศัยอำนาจผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ปกครองวังหน้าสืบจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา ตอนประชุมกันเพื่อลงมตินี้นั้น พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรฯทรงค้านว่า ตามธรรมเนียมควรรอให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ตั้ง โดนสมเด็จเจ้าพระยาสวนกลับไปว่า “ตัวอยากจะเป็นเองหรือ” ท่านเลยต้องยอมเพราะกลัวอำนาจ แล้วไม่เสด็จออกจากวังอีกเลยจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงประกอบพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกครั้งที่๒ สมเด็จเจ้าพระยาพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปแล้ว ท่านจึงยอมเสด็จออกจากวังมาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว

การที่เจ้านายฝ่ายวังหลวงมีความรู้สึกเขม่นวังหน้าขนาดนี้ ม.จ.ฉวีวาดจึงทำการแก้แค้นกรมหลวงพิชิตฯซึ่งถือเป็นเจ้านายวังหลวง ด้วยการไปฝักใฝ่กับทางวังหน้าให้สาแก่ใจ จนสนิทสนมกับนายน๊อกซ์ อดีตทหารวังหน้ายศนายร้อยเอก ซึ่งได้ดิบได้ดีอังกฤษแต่งตั้งให้เป็นกงสุลใหญ่ วางแผนจะยกกรมพระราชวังบวรฯขึ้นเป็นใหญ่ โดยแบ่งประเทศสยามให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯปกครองทางเหนือและกรมพระราชวังบวรฯปกครองทางใต้

ข้อความข้างบนนี้มาจากคำบอกเล่าของม.จ.ฉวีวาดล้วนๆ  ส่วนข้อเท็จจริงที่ปรากฏมีอยู่เพียงว่า  ม.จ.ฉวีวาดเพียงได้ไปรู้จัก จนได้เสกสมรสกับเจ้านายวังหน้า พระโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯพระองค์หนึ่งคือพระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ ซึ่งเป็นคนสงบเสงียมเรียบร้อย
การแต่งงานกันระหว่างพระองค์เจ้าสายวังหน้ากับหม่อมเจ้าสายวังหลวงนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์บอกว่าเป็นเรื่องเสียหายขายพระพักตร์เจ้านายทางวังหลวงมาก เพราะเจ้านายฝ่ายในที่ไปสมรสกับเจ้านายวังหน้าไม่เคยมี อย่างไรก็ดี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็เล่าว่าชีวิตสมรสของทั้งคู่ก็มิได้ราบรื่นนัก เพราะความประพฤติของฝ่ายหญิงเอง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:28

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปูพื้นเรื่องสร้างน้ำหนักให้วังหน้าดูเป็นฝ่ายตรงข้ามมากมาย กระทั่งนำลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีไปปรับทุกข์กับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  เรื่องที่ฝรั่งทั่วกรุงลือว่ากรมพระราชวังบวรฯได้ลูกสาวนายน๊อกซ์เป็นเมีย ซึ่งนายน๊อกซ์ก็เต็มใจยกให้เพราะมีความเห็นคล้ายสมเด็จเจ้าพระยาว่าพระเจ้าอยู่หัวผ่ายผอมนัก คงจะพระชนมายุสั้น หากสิ้นแล้วกรมพระราชวังบวรฯจะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ นายน๊อกซ์ก็จะสนับสนุนลูกเขยทุกอย่าง สมเด็จเจ้าพระยาก็เชื่อถึงขนาดฝากฝังลูกหลานของตนกับนายน๊อกซ์ดัวย ฯลฯ เรื่องทั้งหมดแม้ความจริงตามประวัติศาสตร์จะปรากฏว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คนไปเพ็ดทูลจนทรงเกิดปริวิตกเลย แต่ทำให้คนอ่านคล้อยตามไปกับผู้เขียนจนเชื่อกันแพร่หลายว่าเป็นความจริงไปแล้ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:30

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าต่อไปว่า คืนหนึ่งได้เกิดเพลิงไหม้ตึกดินที่เก็บดินปืนในวังหลวงตามแผนก่อวินาศกรรมสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งของวังหน้าและวังหลวง    เมื่อไม่สำเร็จตามแผน กรมพระราชวังบวรฯจึงเสด็จหนีไปสถานกงสุลอังกฤษเพื่อขอความคุ้มครอง กลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต กว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงขอความร่วมมือจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไปเกลี้ยกล่อม พาตัวกรมพระราชวังบวรฯออกจากสถานกงสุลอังกฤษ  เสด็จคืนวังได้สำเร็จ ก่อนที่อังกฤษจะฉวยโอกาสใช้อิทธิพลแบ่งแยกประเทศสยาม

เมื่อเกิดเหตุนี้ขึ้น     ม.จ.ฉวีวาดก็เล่าให้หลานชายฟังว่า ในฐานะท่านเป็นหัวโจกอยู่ในเรื่องนี้ ก็ต้องหนีเอาตัวรอดออกจากสยามไป    เป็นที่เข้าใจกันว่าถ้าอยู่ก็จะต้องเกิดภัยแก่ตนเองในฐานะกบฏ

"เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว  รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งท่านป้าฉวีวาดก็ว่าจ้างเรือสำเภาหนึ่งลำ ขนทรัพย์สมบัติลงเรือ   แล้วนำละครของเจ้าจอมมารดาอำภาซึ่งตกมาถึงท่านนั้นลงเรือทั้งโรง พร้อมทั้งเครื่องละครและดนตรีปี่พาทย์รวมเป็นคนหลายสิบคน     ท่านลงเรือที่แม่น้ำใกล้ๆวังหน้าตอนใกล้ค่ำ แล่นเรือไปทั้งคืน     พอเช้ามืดก็ออกปากน้ำ     ท่านเหลียวไปดูทางท้ายเรือ  เห็นเรือกลไฟจักรข้างของหลวงแล่นตามมาลำหนึ่ง   แสดงว่าทางกรุงเทพฯ รู้แล้วว่าท่านจะหนี  จึงส่งเรือหลวงออกมาตามจับตัว     เรือหลวงคงจะออกตอนดึกจึงมาทันที่ปากน้ำ 
ท่านเล่าว่าท่านยกมือนมัสการพระสมุทรเจดีย์แล้วอธิษฐานว่า  หากบุญญาบารมีท่านยังมีอยู่แล้ว  ขอให้เรือสำเภาใช้ใบของท่่านออกทะเลหลวงไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง      ท่านบอกว่าพอท่านอธิษฐานเสร็จ   เรือหลวงที่แล่นตามไปนั้นก็จักรหักลงพอดี   ต้องทอดสมออยู่กลางน้ำ   เรือของท่านก็ใช้ใบไปจนถึงเมืองเขมร"


การหนีไปเขมรของม.จ.ฉวีวาดเป็นผลสำเร็จตลอดรอดฝั่งนั้น มีผลกระทบร้ายแรงต่อครอบครัว  ทำให้ทางครอบครัวราชสกุลปราโมชต้องตกระกำลำบาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าว่า มารดาของม.จ.ฉวีวาดต้องรับเคราะห์ดังนี้

" ท่านป้าฉวีวาดเป็นเจ้านายข้างใน  ซึ่งมีจารีตคุ้มครองหนักหนากว่าเจ้านายฝ่ายหน้าอยู่แล้ว    เมื่อท่านมิได้ไปเพียงนอกเสาหิน โดยมิได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต   แต่ล่วงเลยออกนอกเขตพระราชอาณาจักรไปถึงเมืองเขมร    โทษของท่านก็เป็นอุกฤษฎ์โทษโดยมิต้องพิจารณาแต่อย่างใดเลย    ตามกฎหมายในสมัยนั้น หากทางราชการเอาตัวผู้กระทำผิดมิได้   ก็ให้เกาะเอาตัวผู้ที่เป็นญาติสนิท เช่น บิดามารดา หรือญาติพี่น้องมาลงโทษแทน    เมื่อท่านป้าฉวีวาดหนีรอดไปแล้ว   ทางราชการก็มาเกาะเอาตัวม.ร.ว.ดวงใจ ผู้เป็นย่าของผู้เขียนไปลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลัง ๓๐ ที   และให้จำสนมไว้ ทั้งให้ริบราชบาตรอีกด้วย"


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:32

ริบราชบาตรคือ การริบทรัพย์สินเงินทองบ้านและที่ดิน ตลอดจนบุตรหลานบ่าวไพร่ทั้งหมดไปเป็นของหลวง ทำให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ น้องชายคนเล็กร่วมครรภ์ของม.จ.ฉวีวาด หรือท่านพ่อของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ โดนหางเลขเข้าไปเต็มๆ

"ชีวิตของท่านพ่อของผู้เขียนนั้น  เมื่อได้ฟังท่านเล่าแล้ว   ก็เหมือนกับชีวิตของขุนแผนเมื่อยังเป็นเด็ก    เมื่อท่านเล่านั้นน้ำเนตรท่านไหลพราก
ท่านเล่าว่าขณะนั้นท่านอายุ 8 ขวบ  นอนหลับอยู่  แล้วตื่นขึ้นตอนดึก  เพราะเจ้าพี่จุดไต้จุดไฟทำอะไรกันตึงตัง   เหลียวหาคุณแม่ที่นอนอยู่ด้วยตอนหัวค่ำก็หายไปแล้ว    ถามหาคุณแม่กับเจ้าพี่ก็ไม่มีใครบอก    เพราะทุกองค์กำลังรีบเก็บข้าวของส่วนตัวของท่านลงหีบ    เห็นจะเป็นเพราะท่านทรงทราบกันทุกองค์แล้วว่าคุณแม่จะถูกริบราชบาตร   ท่านตกใจและคิดถึงคุณแม่ก็เลยนั่งกันแสงอยู่กับที่    แต่ก็ไม่มีใครมาสนใจกับท่าน    พอรุ่งเช้าเจ้าพี่ทุกองค์ก็รีบขนของออกจากตำหนักไป     ท่านมาทรงทราบภายหลังว่าเข้าไปอยู่ในวังหลวงกันทุกองค์

บ่าวไพร่ของคุณแม่ของท่านที่ยังมีเหลืออยู่ในขณะนั้นก็พากันหลบหนีกระจัดพลัดพรายไปหมด    คงเหลือท่านอยู่องค์เดียวที่ตำหนัก     ท่านเล่าว่าท่านทั้งตกใจ ทั้งกลัว   ทั้งคิดถึงแม่   ทั้งหิว    ความรู้สึกเหมือนกับว่าฟ้าถล่มทลายลงมาทับองค์    ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น    ไม่รู้ว่าคุณแม่หายไปไหน  ได้แต่กันแสงองค์เดียว  และร้องเรียกหาแม่อยู่จนสาย ราวๆเพล   หม่อมยายของท่านคือหม่อมของหม่อมเจ้าทับทิมในกรมพระราชวังหลังและหม่อมแม่ของม.ร.ว.ดวงใจ ก็มาที่ตำหนัก พอเห็นองค์ท่านก็เข้าอุ้มรีบเอาออกจากตำหนักไป และพาไปอยู่ที่วังท่านตาซึ่งเป็นบ้านเล็กๆอยู่ติดกับวัดราชนัดดา"
 
" ขณะนั้นหม่อมเจ้าทับทิม  ผู้เป็นตาของท่านสิ้นชีพิตักษัยไปนานแล้ว   หม่อมยายหาเลี้ยงชีพด้วยการทำขนมขาย...ที่หน้าเรือนมีพุทราใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง    หม่อมยายให้ท่านเก็บผลพุทราทุกเช้า  พอเก็บได้มาแล้ว   หม่อมยายก็เย็บกระทงใบตองเล็กๆ  ใส่พุทราได้สิบกระทงบ้าง สิบห้ากระทงบ้าง    ก็เอาใส่กระจาด   ตกเย็นก็ให้ท่านกระเดียดกระจาดไปขายตามหน้าโรงบ่อนโรงหวย  ในราคากระทงละอัฐ    ท่านพ่อท่านก็ดีพระทัยที่ได้ช่วยหม่อมยาย   ออกเดินขายพุทราตามหน้าโรงบ่อนโรงหวยทุกวัน   ขายหมดก็เอาอัฐที่ขายได้มาให้หม่อมยาย
คนที่ซื้อพุทราไปจากท่านนั้นไม่มีใครทราบว่า ท่านเป็นหม่อมเจ้าพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย"

คำบอกเล่าดังกล่าวแสดงภาพถึงความตกระกำลำบากของราชสกุลปราโมชสายนี้   ทุกคนอยู่ในสภาพแพแตก    เจ้าพี่ผู้หญิงต้องเข้าไปอยู่ในวังหลวง  หม่อมแม่ถูกเฆี่ยนหลังและติดสนมอยู่ในวังหลวงถึง ๑ ปีเต็ม    น้องชายคนเล็กก็กลายเป็นเด็กยากจน เดินขายผลไม้อยู่ตามถนนหน้าโรงบ่อนโรงหวย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:34

ส่วนชีวิตใหม่ของม.จ.ฉวีวาดในราชสำนักกัมพูชา เมืองขึ้นของฝรั่งเศสกลับก็ดูจะรุ่งโรจน์อยู่ไม่น้อย  ตรงกันข้ามกับชีวิตมารดาและพี่น้องของท่านในประเทศสยาม

"เมื่อท่านป้าฉวีวาดไปถึงเมืองเขมรนั้น   สมเด็จพระนโรดมครองเมืองเขมรอยู่    สมเด็จพระนโรดมและสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ทั้งสององค์นั้นได้เข้ามาเติบโตอยู่ในเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔   มีรั้ววังในกรุงเทพฯ   และมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้านายไทย   จึงทรงคุ้นเคยกับเจ้านายไทยเป็นอย่างดี    เมื่อท่านป้าฉวีวาดไปถึงเมืองเขมร   ท่านจึงตรงเข้าไปในวังของสมเด็จพระนโรดมได้ในฐานะคนคุ้นเคย    ฝ่ายสมเด็จพระนโรดมเห็นว่าท่านป้าฉวีวาดเป็นเจ้านายไทยที่ไปพึ่งพระบารมีก็ย่อมจะยินดีต้อนรับยกย่อง   เพราะเป็นการส่งเสริมพระบารมีกรุงกัมพูชาเอาการอยู่  นอกจากนั้นท่านป้าฉวีวาดท่านยังฉลาดพอที่จะเอาละครของเจ้าจอมมารดาอำภาซึ่งเป็นครูละครผู้มีชื่อเสียงติดไปด้วยทั้งโรง   ละครโรงนี้เป็นกุญแจไขประตูเมืองเขมรให้เปิดรับท่านอย่างกว้างขวาง"

ตรงนี้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์อุตส่าห์จำได้ว่า ท่านป้าพาดพาดพิงไปถึงผู้อื่นด้วย

" เมื่อท่านป้าฉวีวาดเข้าไปอยู่ในวังกับสมเด็จพระนโรดมนั้น    ปรากฎว่ามีคนในวังหน้าลอบติดตามออกไปอยู่ด้วยหลายคน   คนหนึ่งคือหม่อมเจ้าหญิงปุก   ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเจ้าวังหลวง แต่ไปฝักใฝ่อยู่วังหน้าเช่นเดียวกับท่านป้าฉวีวาด   และลูกสาวคนรองของนายโรเบิร์ต น็อกซ์อีกคนหนึ่ง ซึ่งมารดาเลี้ยงดูให้เป็นไทย มีมารยาทอย่างไทย หมอบคลานเป็น
หม่อมเจ้าหญิงปุก นั้นเสด็จในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเคยรับสั่งกับผู้เขียนว่าได้เคยเลี้ยงดูพระองค์ท่านมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์   และประทับที่เมืองเขมรตลอดมาจนชรามาก  สิ้นชีพิตักษัยในเมืองเขมรในรัชกาลที่ 7"


ม.จ.ฉวีวาดดูเหมือนจะมีบุญหล่นทับ ทำให้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นับญาติกับพระเจ้าแผ่นดินเขมรได้ ราชตระกูลมีหน้ามีตาเพิ่มขึ้นมาอีก

“เมื่อท่านป้าฉวีวาดได้เข้าไปอยู่ในวังกับสมเด็จพระนโรดมแล้ว ความสนิทสนมระหว่างท่านกับสมเด็จพระนโรดมก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ากันว่าสมเด็จพระนโรดมตั้งท่านป้าเป็นถึงพระราชเทวี แต่ความข้อนี้ผู้เขียนไม่ยืนยันเพราะท่านไม่ได้เล่าให้ฟัง ท่านบอกแต่ว่าท่านประสูติพระองค์เจ้าเขมรกับสมเด็จพระนโรดมองค์หนึ่งเป็นพระองค์เจ้าชาย มีนามว่าพระองค์เจ้าพานคุลี
เป็นอันว่าผู้เขียนเรื่องนี้มีสมเด็จพระนโรดมเป็นลุงเขย และมีพระองค์เจ้าเขมรเป็นลูกพี่ลูกน้องอยู่องค์หนึ่ง พระองค์เจ้าพานคุลีนี้เคยเข้ามาเยี่ยมท่านแม่ที่กรุงเทพฯครั้งหนึ่ง หลังจากท่านป้าฉวีวาดกลับมาจากเมืองเขมรแล้วในรัชกาลที่ ๖  ท่านกลับมาแล้วก็บวชเป็นรูปชี   อยู่มาจนอายุ ๘๐ กว่าจึงสิ้นชีพิกตักษัย"


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:36

ความจริง หนังสือโครงกระดูกในตู้ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คงจะไม่มีพิษไม่มีภัยอะไร ถ้าท่านไม่ได้โน้มนำผู้อ่านไปเชื่อบางเรื่อง ดังที่ท่านเองไปสรุปไว้แล้วมีผู้นำมาเขียนต่อๆกันไป ดังเช่น

ในคอลัมน์ตอบปัญหาประจำวันในหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่  ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒  กล่าวถึงหม่อมเจ้าฉวีวาดผู้มีศักดิ์เป็นป้าของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช ว่า  หม่อมเจ้าฉวีวาด ได้สมรสกับ พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ ผู้เป็นอนุชาของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  จึงได้ไปฝักใฝ่อยู่ทางวังหน้า  และโดยเหตุที่หม่อมเจ้าฉวีวาดเป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูงและขาดสติสัมปชัญญะ  จึงคิดที่จะยกย่องกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญให้ขึ้นเป็นใหญ่ในแผ่นดิน  โดยคิดกำจัดหรือลดพระราชอำนาจพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงไป  ในการนี้หม่อมเจ้าฉวีวาดได้คบคิดกับกงสุลใหญ่ของประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่ง  ซึ่งฝักใฝ่อยู่ข้างวังหน้าและมีนโยบายจะเอาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้น  หม่อมเจ้าฉวีวาดจึงได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ จากกงสุลผู้นั้น  คิดแผนการร้ายขึ้นร่วมกับบุคคลอื่นๆอีกหลายคน  ลอบจุดไฟเผาพระราชวังบริเวณใกล้กับตึกที่เก็บดินดำ  ประสงค์จะให้ดินดำนั้นระเบิดขึ้น  เมื่อกระทำการไม่สำเร็จ  หม่อมเจ้าฉวีวาดจึงหลบลี้หนีราชภัยไปอยู่เมืองเขมร  เป็นเหตุให้พระองค์เจ้าคำรบ พระบิดาของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ต้องตกระกำลำบาก  เพราะมารดาซึ่งชราภาพแล้วถูกริบราชบาตร  หากไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงชุบเลี้ยงไว้ ก็คงไม่อาจจะเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้
 
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ยืนยันว่า  เรื่องราวทั้งหมดนี้มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่ที่เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาบดี (หม่อมราชวงศ์ ปุ้ม  มาลากุล ) ที่ได้รับมาจากกรมหมื่น ปราบปรปักษ์ผู้เป็นพระบิดาอีกต่อหนึ่ง
   
และในอีกเวปหนึ่ง
   
อาจารย์คึกฤทธิ์ เคยกล่าวขณะเขียนหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” เพื่อแจกในงานฉลองอายุครบ ๖๐ ปี เมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๕๑๔ ไว้ว่า
      “..คนชอบอ้างโขนไทยเอามาจากขอม เอาละครมาจากแขก คุณธนิต (นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรเขียนไว้ใน คึกฤทธิ์ ๖๐) ก็ยังเขียนละครไทยละครเขมรปนไปปนมา อยากจะช่วยบอกว่าละครเขมรที่เห็นกันเดี๋ยวนี้ เขมรเอาอย่างไทยชัดๆ หัดจากละครท่านป้าฉวีวาดทั้งสิ้น ท่านแอบเอาละครไปเขมรตอนมีเรื่องวังหน้า..” 

มีคนติงว่าเรื่องของม.จ.ฉวีวาดเป็นเรื่องไม่ดีเท่าไร ท่านให้สติคิดว่า

    “..เมื่อจะเขียนให้คนรุ่นหลังรู้จักบรรพบุรุษ ก็ต้องให้รู้จักเรื่องราวที่ถูกต้องเป็นจริง ทั้งดีไม่ดี ถ้ามัวปกปิดความผิดพลาด ยกแต่เรื่องดีๆ เท่ากับรู้ไม่หมด รู้ไม่จริง ลูกหลานคนอ่านก็ได้ไปแค่ครึ่งเดียว..”


เอาละครับ ด้วยความเคารพ ผมก็มีทัศนคติเดียวกับท่านเหมือนกัน บัดนี้เรื่องราวที่ถูกต้องเป็นจริงได้ปรากฏหลักฐานขึ้น ล้วนแต่เป็นเรื่องไม่ดี ที่ไม่สามารถปกปิดความผิดพลาดของหนังสือโครงกระดูกในตู้ ซึ่งได้กลายเป็นหนังสืออ้างอิงไปแล้วได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:37

หนังสือเรื่อง “โครงกระดูกในตู้”  โยงเรื่องหม่อมเจ้าฉวีวาดหนีไปเมืองเขมรเข้ากับเหตุระเบิดที่ตึกเก็บดินปืนของวังหลวง  โดยแสดงให้เห็นว่าเป็นการก่อวินาศกรรม  ที่ม.จ.ฉวีวาดรู้เห็นมีส่วนร่วมด้วย จนต้องหนีออกจากสยาม    แต่ในความเป็นจริงตามพระนิพนธ์ของกรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ พระราชอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันกับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  ที่ทรงบันทึกไว้เป็นกลอนเพลงยาวบรรยายรายละเอียดของเหตุการณ์ ตั้งแต่คืนที่โรงผลิตก๊าซในวังหลวงระเบิด  เพื่อให้ลูกหลานของท่านได้มีโอกาสรู้ถึงข้อเท็จจริงทางฝ่ายวังหน้า  สามารถเข้าไปอ่านเรื่องได้ตามระโยงข้างล่าง

  http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4297.0


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:39

ระหว่างนั้นกรมพระราชวังบวรฯกำลังประชวร ด้วยโรครูมาติซั่มกำเริบ หมอหลวงต้องถวายงานนวดพระชงฆ์ให้คลายความเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา ท่านมิได้ทรงเกี่ยวข้องใดๆกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น แต่เมื่อมีข่าวลับแจ้งด่วนมาว่าจะทรงถูกจับกุม ก็ทรงรีบพาพระมารดากับน้องชายหญิงร่วมพระชนนีหนีอย่างทุลักทุเล  แต่ในเมื่อไม่เคยมีอยู่ในความคิดว่าจะมีอะไรรุนแรงถึงเพียงนี้ ท่านจึงมิได้ทรงเตรียมการใดๆไว้เลย เมื่อไม่อาจหนีไปไกลได้ กรมพระราชวังบวรฯจึงทรงเลือกสถานที่คิดว่าปลอดภัยที่สุด คือสถานกงสุล  เพื่อขอลี้ภัยการเมืองตามกฎหมายสากล ที่ทรงเลือกสถานกงสุลของประเทศอังกฤษเพราะตัวกงสุลใหญ่ คือนายน๊อกซ์ ถือเป็นเพื่อนกับท่านตั้งแต่สมัยสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ แม้ว่าในระหว่างนั้น กงสุลน๊อกซ์เองจะไม่ได้อยู่ในสยามก็ตาม


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31 ต.ค. 13, 11:06 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:40

เมื่อเหตุการณ์จบลงด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสัญญาว่าจะไม่เอาโทษ โดยมี เซอร์แอนดรูว์ คลาร์ก ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำสิงคโปร์เดินทางมาเป็นพยาน   กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญก็ได้เสด็จกลับวัง ดำรงตำแหน่งประมุขวังหน้าต่อไปโดยมิได้มีข้อบาดหมางอย่างใดกับวังหลวงอีกจนเรื่องเดียว จวบจนเสด็จทิวงคต 

อย่างไรก็ตาม เรื่องเข้าใจผิดระหว่างกันที่ต่อมาเรียกว่า “วิกฤตการณ์วังหน้า”  คนกลุ่มหนึ่งยังว่ากันไม่จบจวบจนปัจจุบัน  มีหนังสือและข้อเขียนต่างๆหลายสำนวนเพ่งโทษลงที่กรมพระราชวังบวรฯ   โดยผู้เขียนส่วนใหญ่ได้ยึดถือ “โครงกระดูกในตู้” เป็นหนังสืออ้างอิงข้อเท็จจริง  ยกหลักฐานจากเรื่องของหม่อมเจ้าฉวีวาดที่หนีไปเขมร มาป้ายสีวังหน้าเสียจนมัวหมองติดแผ่นดินมาจนทุกวันนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:41

บัดนี้ ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ถึงเวลาจะได้รับการชำระเสียที

มีผู้ค้นพบ และผมได้ไปค้นหาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติด้วยตนเอง ได้เอกสารมาชุดหนึ่ง เป็นหลักฐานว่าในปีพ.ศ. ๒๔๖๙ ได้ปรากฏเรื่องราวขึ้นดังนี้

เรื่องมีอยู่ว่า ล่วงมาจนถึงพ.ศ. ๒๔๖๙ ต้นรัชกาลที่๗  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีหนังสือกราบทูลไปยังเสนาบดีมหาดไทยในขณะนั้น อันได้แก่เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์  สรุปว่าเมื่อ ๒ ปีก่อนหน้านี้  มีเจ้านายสตรีชั้นผู้ใหญ่ของเขมร พระนามว่าพระองค์เจ้ามาลิกา เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้านโรดม มีจดหมายไต่ถามความมาถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  ว่าพระองค์หญิงมาลิกาทรงได้ข่าวว่ามีเจ้านายเขมรเข้ามาตกระกำลำบากอยู่ในหัวเมืองสยาม  จึงใคร่ขอความกรุณาให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงสืบหา หากว่าเป็นจริง ก็จะทรงสงเคราะห์ช่วยเหลือเจ้านายองค์นั้นต่อไป

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงสืบหาตัวเจ้านายที่ว่านั้นอยู่สองปี จนมีรายงานของผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร  กราบทูลมาว่าพบชายเขมรอ้างตัวว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ชื่อพระองค์เจ้าพานดุรี มารดาเป็นเจ้านายสยามพระนามว่า ม.จ.ฉวีวาด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:46



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 30 ต.ค. 13, 03:47



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 19 คำสั่ง