เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 90317 หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช
mutita
มัจฉานุ
**
ตอบ: 93


ความคิดเห็นที่ 255  เมื่อ 27 ต.ค. 13, 22:33

รอคำตอบจากคุณยายบางแคอยู่ค่ะ   เลยต้องหยุดต่อเรื่องราวในกระทู้ชั่วคราว
แต่เชิญท่านอื่นๆที่สนใจ  เข้ามาโพสต์ได้ค่ะ  ไม่จำเป็นต้องพลอยหยุดไปด้วย

อ้างถึง
หากว่ามีการพาดพิง กล่าวถึงในด้านที่ไม่ดี หรือ ด้านที่ท่านคิดว่าไม่เหมาะสม ถึงบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว โดยที่เขาเหล่านั้นไม่มีโอกาสกลับมาอธิบายได้เลย มันจะดีหรือคะ

บุคคลที่ล่วงลับไปแล้วในกระทู้นี้  เช่น กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ    หม่อมเจ้าหญิงปุก  สมเด็จพระนโรดม ฯ ต่างก็ถูกพาดพิงโดยบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วเช่นกัน    เจ้านายเหล่านี้ก็ไม่ทรงมีโอกาสกลับมาอธิบายได้เลย   มันย่อมไม่ดีแน่ๆถ้าคนที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างดิฉันเจอหลักฐานอะไรแล้วไม่อธิบายแทนพระองค์ท่าน   จริงไหมคะ
สำหรับความเห็นของตัวเองคิดว่าเข้าใจว่าคุณยายบางแคมีความรู้สึกเช่นไร แต่จากเหตุผลของคุณเทาชมพูด้านบน และเพื่อความถูกต้องของข้อมูลก็ต้องบอกว่าขอบคุณทุกๆท่านสำหรับข้อมูลต่างๆและเห็นด้วยอย่างยิ่งที่คุณเทาชมพูกล่าวไว้ว่า (ท่านที่อ่านกระทู้นี้จะเลือกเชื่อท่านหญิงและม.ร.ว.คึกฤทธิ์ต่อไป  ไม่เชื่อข้อความในจดหมายของพระองค์เจ้ามาลิกา  ก็เป็นสิทธิ์ของท่าน ไม่มีใครว่าอะไรค่ะ) ขอรับรู้ไว้ประดับความรู้ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 256  เมื่อ 28 ต.ค. 13, 10:16

มีเกร็ดที่น่าสังเกตเรื่องสถานภาพแม่ชีของท่านหญิงฉวีวาดอีกครั้ง

หนังสือ "โครงกระดูกในตู้" บรรยายว่า
"หลังจากท่านป้าฉวีวาดกลับมาจากเมืองเขมรแล้วในรัชกาลที่ ๖  ท่านกลับมาแล้วก็บวชเป็นรูปชี  อยู่มาจนอายุ ๘๐ กว่าจึงชิ้นชีพิตักษัย   หลานๆเรียกว่า "ท่านป้าแอหนัง" หรือ "ท่านยายแอหนัง"   เพราะท่านเป็นนางเอกต้องระหกระเหินเหมือนนางบุษบาในเรื่องอิเหนา    เมื่อนางบุษบาบวชชีก็มีชื่อว่า แอหนังติหลาอรสา    คนในสกุลปราโมชนั้นมีอารมณ์ขันในทุกกรณี"

คำว่า แอหนัง มาจากภาษาชวา  แปลว่า นางชี    เมื่อบุษบาบวชเป็นชี ใช้ชื่อว่าติหลาอรสา    มีคำว่าแอหนังนำหน้าหมายถึงแม่ชีติหลาอรสา      การที่หลานๆทั้งหลานป้าหลานยายพากันเรียกม.จ.ฉวีวาดว่า "ท่านป้าแอหนัง หรือ ท่านยายแอหนัง" ก็แสดงว่าท่านโกนศีรษะนุ่งขาวห่มขาวอยู่อย่างนั้นตลอดมา    ถ้าบวชชีอยู่สักพักแล้วสึก กลับเป็นผู้ครองเรือนธรรมดาๆ  หลานๆก็คงไม่เรียกว่า "แอหนัง"

ท่านป้าแอหนังท่านเป็นชีที่ดำเนินชีวิตด้านการกินและการอยู่ไม่แตกต่างจากผู้ครองเรือนทั่วไป     ท่านอยู่บ้าน ไม่ได้อยู่วัด  นอกจากนี้ยังย้ายบ้านไปอยู่หลายแห่งเสียด้วย จากจดหมายของพระองค์หญิงมาลิกาที่ได้คำบอกเล่าจากลูกสะใภ้ของท่านหญิงฉวีวาด ว่าท่านหญิงได้ออกจากวังที่อยู่กับพี่น้องไปอยู่ที่อื่นอย่างน้อย 2 แห่งคือที่จังหวัดอุดรธานี กับบางโพธิ์ในกรุงเทพ  อยู่กับลูกชายซึ่งปฏิบัติต่อท่านอย่างเลวร้ายมาก
น่าคิดเหมือนกันว่าไม่มีหลานๆคนไหนสังเกตเห็น    แสดงว่าท่านหญิงฉวีวาดก็คงเก่งพอที่จะปกปิดจากหลานๆได้    จึงไม่มีหลานล่วงรู้    จนท่านสิ้นชีพิตักษัย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 257  เมื่อ 28 ต.ค. 13, 11:26

พยายามค้นประวัติของม.จ.ฉวีวาดมากกว่านี้แต่ก็หาไม่ได้  ในหนังสือพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าฯ  มีแต่พระนามโดดๆ    ไม่มีปีประสูติและสิ้นชีพิตักษัย   ต้องอาศัยการคาดคะเนว่าท่านประสูติเมื่อใดและสิ้นชีพิตักษัยเมื่อใด

นับจากพี่น้องแม่เดียวกัน    เจ้าพี่องค์ถัดขึ้นไปจากท่านหญิงฉวีวาด คือหม่อมเจ้าหญิงเมาฬี ประสูติเมื่อพ.ศ. 2396   ส่วนเจ้าน้ององค์ถัดลงมาจากท่านหญิงฉวีวาดคือหม่อมเจ้าหญิงคอยท่า  ประสูติปี 2400   ดังนั้นท่านหญิงฉวีวาดก็ต้องประสูติระหว่างปีพ.ศ. 2397-2399
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าว่าท่านหญิงฉวีวาดมีพระชันษายืนยาวมาจน 80 กว่าถึงสิ้นชีพิตักษัย    ถ้าท่านประสูติพ.ศ. 2397  ก็คงจะสิ้นราวๆพ.ศ. 2477+  หรือถ้าท่านประสูติ 2399 ก็สิ้นประมาณพ.ศ.2479+
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์คงมีโอกาสพบท่านป้าก่อนท่านจะสิ้น    เพราะท่านจบการศึกษาจากอังกฤษกลับมาประเทศไทยพ.ศ. 2476  หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง   
บันทึกการเข้า
แมวเซา
อสุรผัด
*
ตอบ: 44


ความคิดเห็นที่ 258  เมื่อ 28 ต.ค. 13, 16:57

ผมมีเรื่องเก่าๆค่อนข้างลึกลับจากหัวเมืองฝ่ายเหนือของประเทศสยามก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองครับ  คือมีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า  มีแม่ชีที่เป็นเจ้าหญิงไทยเชื้อสายมอญมาจากกรุงเทพฯ  ท่านได้มาบวชชีปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดท่าทอง  ตำบลวังกะพี้ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์(อยู่ด้านใต้ตัวเมืองอุตรดิตถ์มีสถานีรถไฟวังกะพี้อยู่ใกล้ๆ)      แม่ชีมีคุณูประการกับชาวบ้านบริเวณนั้น โดยท่านจะชักชวนให้เด็กผู้หญิงในย่านใกล้เคียงกับวัดท่าทองนี้ (บ้านท่าทอง บ้านป่ายาง บ้านป่าเซา)    ให้มาเรียนหนังสือกับท่านฟรีๆ 
      เรื่องราวของแม่ชีนั้นในการรับรู้ของชาวบ้านก็คือ ท่านเจ้าหญิงเชื้อสายมอญได้หลบหนีออกจากวัง  หนีจากการถุกจับให้แต่งงานกับพี่ชายของตนเอง  ซึ่งท่านเองไม่เต็มใจเช่นนั้น   ท่าน จึงได้หนีไปแต่งงานกับเจ้าชายเขมรที่เมืองเขมร จนมีลูกด้วยกันแล้ว     จึงกลับมาบวชชีในเมืองไทยเมื่ออายุมากแล้ว   โดยแท้จริงแล้วไม่มีใครทราบรายละเอียดเกี่ยวกับท่านมากนัก   แต่ดูเหมือนว่าชาวบ้านที่นั่นจะเชื่อถือกันอย่างสนิทใจว่าท่านเป็นเจ้าหญิงจริงๆ  คงมีสาเหตุที่ทำให้เชื่อหลายอย่าง  เช่นเรื่องราวที่ท่านพร่ำสอนและเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตในรั้วในวัง กับผู้คนที่มาติดต่อกับท่าน     การมาพักอยู่ของท่านทำให้เกิดปรากฎการณ์ในเวลาต่อมาอย่างหนึ่งคือเด็กบ้านนอกที่นั้นที่เป็นเด็กหญิงสามารถอ่านออกเขียนได้ก่อนที่จะมีการศึกษาประชาบาลเสียอีก
      เรื่องที่ทุกคนไม่มีความขัดข้องใจว่า “แม่ชียายเจ้า”ว่าเป็นเจ้าหญิงจริงๆสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็   เพราะเจ้าอาวาสวัดท่าทอง(หลวงพ่อทองดำ )จะดูแลท่านเป็นอย่างดี  มีการสร้างกุฎีให้ท่านพักเป็นพิเศษ  (หลวงพ่อทองดำท่านก็มีอายุยืนมากอยู่มาตั้ง ร้อยกว่าปี  พื้นเพท่านไม่ใช่ชาวบ้านนอกบ้านนา   จนไม่ทราบเรื่องราวเมืองกรุงนะครับ     เคยเป็นทหารเกณฑ์   เมื่อบวชแล้วก็เคยมาเล่าเรียนถึงวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์  ท่านเกิดประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๑)
       แม่ชียายเจ้าท่านใช้ชีวิตอยู่ที่วัดท่าทองอยู่นานหลายปี   จนกระทั่งมีลูกหลานของท่านมารับกลับไปกรุงเทพฯจึงไม่ได้เสียชีวิตอยู่ที่นั่น  เรื่องราวของท่านก็เหลือเป็นเพียงเรื่องเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าต่อๆกันมาเหมือนเป็นตำนาน        นานๆเข้าพอเล่าให้คนรุ่นหลังๆกันมาหลายรุ่นคนฟังก็ชักไม่เชื่อ คิดว่าคนแก่ดูลิเกมากไปซะอีก   “อะไรนะยาย! เจ้าหญิงมอญ แล้วทำไมต้องมาบวชชีแถวนี้ แถมยังไปแต่งงานกับเจ้าชายเขมรเสียอีก โห! ”           ครั้นมีบางท่านคือคนแก่  เป็นเด็กผู้หญิงที่เคยได้เรียนหนังสือกับท่านบางคน ได้ถึงกับค้นตะกร้าหมากพลู หาตลับเก็บของหยิบเอาดอกไม้ทองคำเล็กๆที่แม่ชียายเจ้าเคยแกะออกจาก “สร้อยคอดอกหมาก”ของแม่ชีเองให้เป็นที่ระลึกไว้   คุณยายหยิบเอาดอกไม้ทองออกมาให้ลูกหลานดูเป็นประจักษ์พยานอย่างนี้ก็มี       จะว่าไปก็เป็นเรื่องแปลกมากๆของชาวบ้านนอกของ เมืองอุตรดิตถ์  เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๘๐-๙๐ปีที่แล้ว   ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียอีก  ส่วนผู้คนที่เคยได้เห็นตัวจริงของแม่ชียายเจ้า  ก็แทบไม่เหลือตัวแล้ว
 
  แต่เรื่องนี้ถ้ามีใครมาถาม  ตัวผมเองคงจะต้องเชื่ออย่างสุดหัวใจเสียแล้วละครับ  เมื่อได้มาอ่านเจอกระทู้ “หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมท”นี้เข้า   เพราะผมก็เคยสอบถามคุณแม่ที่ปีนี้อายุ๘๙ปีแล้ว(พ.ศ.๒๕๕๖)   แม่เป็นคนอ่านออกเขียนได้มาตั้งแต่เด็กๆโดยไม่เคยเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียน   ผมถามแม่ว่า “แม่ชียายเจ้า”ชื่อจริงอะไร  แกตอบเป็นภาษาพื้นบ้านว่าชื่อ “สะหวีวาด”
 
  ขอกราบขอบพระคุณ อาจารย์ทุกท่านที่ช่วยเขียนกระทู้นี้ ให้ผมและคนไทยพ.ศ.นี้ได้อ่านครับ

ตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันนี้ ในอดีตสมัย ร.5 คือ ท่าน้ำ บางโพ ครับ

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 259  เมื่อ 28 ต.ค. 13, 18:35

นี่ก็อีกเวอร์ชั่นหนึ่งของท่านป้าที่น่าสนใจมากๆครับ ขอบคุณที่นำมาเล่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 260  เมื่อ 28 ต.ค. 13, 18:43

ดูจากหลักฐาน  ผู้ว่าราชการจ.พิจิตรค้นพบตัวนายนุด ที่พิจิตร   ต่อมาภรรยานายนุดเล่าถวายพระองค์มาลิกา  เอ่ยถึงจ.อุดร และบางโพธิ์
ถ้าเป็นจ.อุตรดิตถ์ ไม่ใช่อุดร  และบางโพธิ์ที่ว่าไม่ได้อยู่ใกล้ๆบางซื่อในกรุงเทพ แต่เป็นท่าน้ำ บางโพ ซึ่งหมายถึงอุตรดิตถ์    นายนุดก็อาจจะย้ายจากพิจิตรมาที่อุตรดิตถ์  ซึ่งใกล้กว่าไปอยู่อุดร
ท่านแม่ไปอยู่ที่นั่นด้วย  จนกระทั่งมีหลานๆ ทางกรุงเทพมารับกลับไป  สิ้นชีพิตักษัยที่กรุงเทพ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 261  เมื่อ 29 ต.ค. 13, 06:44

อุตรดิตถ์ เคยเป็นตำบลหนึ่งชื่อ “ บางโพท่าอิฐ ” ขึ้นกับเมืองพิชัยตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำน่านและมีความเจริญอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นเมืองท่าเรือขนถ่ายสินค้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จถึง “ บางโพท่าอิฐ ” เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2444 โดยเรือพระที่นั่งได้จอด ณ บริเวณหน้าวัดวังเตาหม้อ ซึ่งก็คือ วัดท่าถนน ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ในปัจจุบันต่อมาทรงพระราชดำริเห็นว่า ตำบลบางโพท่าอิฐ คงจะเจริญต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นเมือง เรียกว่า “ เมืองอุตรดิตถ์ ” เนื่องจากเมืองอุตรดิตถ์ มีผู้คนมาอยู่อาศัยประกอบการค้ามากขึ้น ในขณะที่เมืองพิชัยโรยไป และเมื่อ พ.ศ. 2457
พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า “ เมือง ” เป็น “ จังหวัด ” ดังนั้นเมืองอุตรดิตถ์ จึงเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


ข้อสันนิฐานข้างต้นมีความเป็นไปได้สูงมาก ชื่ออุตรดิตถ์เก่าที่เรียกว่าบางโพธิ์คงยังติดปากคนสมัยนั้นอยู่ ส่วนบางโพธิ์ในกรุงเทพปัจจุบัน สมัยรัชกาลที่๖-๗ คงจะเป็นป่าเป็นสวน ไม่ใช่ชุมชนที่คนอย่างแม่ชีจะไปอยู่โดยลำพังได้

แหละแม่ชีฉวีวาดก็ดำรงอยู่ได้ด้วยการเล่าเรื่องที่ตนแต่งเองขึ้นตามเคย เอาเถิด ยังพอให้อภัยที่ไปทำงานสังคมสงเคราะห์ด้วยการสอนหนังสือเด็กๆ ดูแล้วแม่ชีท่าจะชอบเลี้ยงเด็กเป็นพิเศษ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 262  เมื่อ 29 ต.ค. 13, 09:19

 ครั้นมีบางท่านคือคนแก่  เป็นเด็กผู้หญิงที่เคยได้เรียนหนังสือกับท่านบางคน ได้ถึงกับค้นตะกร้าหมากพลู หาตลับเก็บของหยิบเอาดอกไม้ทองคำเล็กๆที่แม่ชียายเจ้าเคยแกะออกจาก “สร้อยคอดอกหมาก”ของแม่ชีเองให้เป็นที่ระลึกไว้   คุณยายหยิบเอาดอกไม้ทองออกมาให้ลูกหลานดูเป็นประจักษ์พยานอย่างนี้ก็มี       

สร้อยทองคำลายดอกหมาก หน้าตาเป็นอย่างข้างล่างนี้ค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 263  เมื่อ 29 ต.ค. 13, 09:20

แต่ถ้าเป็นดอกไม้ทองคำเล็กๆทั้งดอก เรียกว่าลายดอกพิกุล


บันทึกการเข้า
แมวเซา
อสุรผัด
*
ตอบ: 44


ความคิดเห็นที่ 264  เมื่อ 29 ต.ค. 13, 10:46

ตกลงเป็นดอกพิกุลเท่านั้นครับ  คำว่าสร้อยดอกหมากเป็นความเข้าใจผิดมากกว่าครับ ขอบพระคุณ คุณเทาชมพูครับ

ส่วนเรื่องนายนุด เป็นไปได้มากว่าท่านก็เคยมาพักอยู่ที่อุตรดิตถ์ ผมเคยได้ฟังเรื่องของคนที่เชี่ยวชาญเรื่องภาษาขอมจากปากของคุณพ่อที่เคยบวชเณรบวชพระอยู่วัดท่าทองด้วย  ตัวหลวงพ่อทองดำเองท่านก็มีพ่อเป็นคนบ้าน"ชัยโรงโขน" เมืองพิจิตร    ส่วนแม่ของท่านเป็นคนบ้านป่าเซา(ที่มีเชื้อสายเป็นคนลาว)  

สมัย ร.4 -ร.5 มีการเดินทางค้าขายทางเรือในลำแม่น้ำน่านกันอย่างมาก เพราะมีเรือกลไฟลำน้ำแล้ว เรือโยงสามารถ จ่ายค่าจ้างเพื่อขึ้นเหนือน้ำแล้วค่อยล่องตามน้ำเพื่อขายสินค้าได้สะดวก  บริเวณเหล่านี้เป็นที่กว้างขวางมีเกาะ มาก  เป็นที่จอดพักเรือได้สะดวกรวมทั้งต้งหลักฐานบ้านเรือนเพื่อการกสิกรรมได้อย่างดี  เรือที่ค้าขายสมัยนั้นเขาเรียกว่า"เรือมอญ"ครับ  ครอบครัวของหลวงพ่อทองดำ ท่านทำยาเส้นยาสูบเพื่อล่องลงมาขายทางใต้เป็นประจำทุกปี ท่านก็มาเกิดอยู่ที่เมืองพิจิตร

ส่วนผู้คนในย่านหมู่บ้านท่าทอง บ้านป่ายาง บ้านป่าเซา มีจำนวนมากที่มีลักษณะเป็นคนมอญ เช่นนิยมให้ลูกหลานไว้ผมจุก ผมแกละ ผมโก๊ะ(อย่างหลังนี้เรียกว่า"หัวบก")

แต่ผมมีข้อสังเกตุ อีกอย่างหนึ่งว่า ที่เมืองอุตรดิตถ์ นี้ได้เจริญเติบโตขึ้นมาในยุคที่เกิดเหตุการณ์วิกฤติวังหน้า   วัดวังเตาหม้อ หรือวัดท่าถนนที่ ท่าน้ำบางโพนั้น มีพระอุโบสถเป็นลักษณะศิลปะของวังหน้าอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่มี "ใบเสมา"อยู่รอบๆโบสถ์ เช่นเดียวกับวัดของวังหน้าในกรุงเทพฯ อย่างวัดชนะสงคราม (บางลำภู) ฯลฯ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 265  เมื่อ 29 ต.ค. 13, 11:50

นี่ก็อีกเวอร์ชั่นหนึ่งของท่านป้าที่น่าสนใจมากๆครับ ขอบคุณที่นำมาเล่า

บางทีหม่อมฉวีวาท ก็ไปสร้างโครงกระดูกไว้แถวนั้นก็ได้  อายจัง
บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 266  เมื่อ 29 ต.ค. 13, 11:54

หาข้อมูลหลวงพ่อทองคำ ฐิตวัณโณ  และวัดท่าทอง  จากกเน็ตมาสมทบค่ะ

http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=3c2ee3ead617b0b5

วัดท่าทอง  ตำบลวังสะพี้  อำเภอเมือง  จังหวัดอุตรดิตถ์

ความเป็นมาของวัด
วัดท่าทองได้สร้างมาโบราณ  ต่อมาได้กลายเป็นวัดรกร้าง  จนปี พ.ศ. 2441  มีนายแว่ว นายดำ นายเปี้ยน นายปั้น นายแม้น  พร้อมครอบครัว  มาอาศัยทำเพาะปลูกเกษตรกรรมบริเวณนี้   ได้พบพระพุทธปฎิมากร  หน้าตักกว้าง 3 ศอกเศษ  สูงศอกเศษ  อยู่ในจอมปลวก  สภาพสมบูรณ์งดงาม  ชาวบ้านจึงอันเชิญขึ้น  สันนิษฐานว่าตรงนี้เป็นบริเวณวัดเก่าแก่มาก่อน ชาวบ้านพร้อมใจสร้างวัดขึ้นใหม่ ขนามว่า "วัดธาตุทอง"  ต่อมาได้เปลี่ยนใช้คำว่า "วัดท่าทอง"  เนื่องจากวัดอยู่ติดแม่น้ำน่านชาวบ้านมาใช้น้ำแห่งนี้มาก

ตั้งอยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย  เลขที่ ๒๘ หมู่ที่ ๒  บ้านท่าทอง  ตำบลวังกะพี้  อำเภอเมือง  จังหวัดอุตรดิตถ์  สร้างขึ้นใหม่เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๖๓   ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๘๐
ปัจจุบันเป็นยังที่ตั้งโรงเรียนวัดท่าทอง (นิมมานโกวิทพิทยา) ด้วย

หลวงปู่ทองดำ ฐิตวัณโณ 
ภูมิหลังชาติกำเนิดเกิดวันพุธ  ขึ้น 4 ค่ำ  เดือน 5  พ.ศ. 2441  ที่บ้านไซโรงโขน อำเภอตะพานหิน  จังหวัดพิจิตร  บุตรนายบุนนาค นางจ่าย  เม่นพริ้ง  โยมบิดามารดาถวายเป็นบุตรบุญธรรมหลวงพ่อเงิน  พุทธโชติ  วัดบางคลาน  จังหวัดพิจิตร  อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2463  ที่วัดวังหมู  อำเภอเมือง  จังหวัดอุตรดิตถ์
รับนิมนต์มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าทองตั้งแต่ พ.ศ. 2468  จนกระทั่งมรณภาพ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548  ที่ รพ. จุฬาลงกรณ์

หลวงปู่ทองคำเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณของจังหวัดอุตรดิตถ์
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 267  เมื่อ 29 ต.ค. 13, 12:35

อ้างถึง
แต่ผมมีข้อสังเกตุ อีกอย่างหนึ่งว่า ที่เมืองอุตรดิตถ์ นี้ได้เจริญเติบโตขึ้นมาในยุคที่เกิดเหตุการณ์วิกฤติวังหน้า   วัดวังเตาหม้อ หรือวัดท่าถนนที่ ท่าน้ำบางโพนั้น มีพระอุโบสถเป็นลักษณะศิลปะของวังหน้าอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่มี "ใบเสมา"อยู่รอบๆโบสถ์ เช่นเดียวกับวัดของวังหน้าในกรุงเทพฯ อย่างวัดชนะสงคราม (บางลำภู) ฯลฯ
ข้อความข้างบนไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวกัน

แต่อุตรดิตถ์คงจะเจริญขึ้นเพราะสงครามปราบฮ่อ ที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์วิกฤติวังหน้าไม่กี่ปี ช่วงนั้นสยามจะยกทัพโดยทางเรือมาพักทัพที่อุตรดิตถ์ ก่อนจะเดินเท้าไปแพร่และน่าน เพื่อมุ่งไปหลวงพระบางต่อไป อุตรดิตถ์จึงเป็นฐานส่งกำลังบำรุงอยู่หลายปี เรียกว่าโตได้เพราะสงคราม
บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 268  เมื่อ 29 ต.ค. 13, 12:45

วัดท่าทอง





น่าสังเกตว่ามีพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาด้วย  ไม่ทราบว่ามีเอกสารหลักฐานเก่าๆ เก็บไว้บ้างหรือไม่

บันทึกการเข้า
แมวเซา
อสุรผัด
*
ตอบ: 44


ความคิดเห็นที่ 269  เมื่อ 29 ต.ค. 13, 15:30

อาคารพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา  ที่เห็นในภาพ คือกุฎีที่หลวงพ่อทองดำ ท่านจำวัดเมื่อยังแข็งแรง ท่านอายุ 90กว่าๆยังขึ้นลงบันใดได้ก็จะไปฉันบนศาลากับพระลูกวัดทุกวัน  ส่วนกุฎีแม่ชีอยู่ด้านหน้าฝั่งตรงกันข้ามถนน เป็นป่าต้นยาง

วัดท่าทองในสมัยนี้เป็นที่รู้จักกันดีของชาวจังหวัดอุตรดิตถ์เนื่องมาจากความศรัทราต่อหลวงพ่อทองดำ     หลวงพ่อทองดำท่านอยู่คู่วัดมานานมากจนไม่มีคนสนใจที่จะรู้เรื่องเก่าๆของวัดนอกจากตัวหลวงพ่อเองแล้วก็มีญาติ๐อยู่ไม่กี่คน     เรื่องของแม่ชีฉวีวาดถ้าไปถามที่วัดสมัยนี้อาจจะไม่มีคนรู้เรื่องก็ได้ครับ

อ้างถึง
แต่อุตรดิตถ์คงจะเจริญขึ้นเพราะสงครามปราบฮ่อ ที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์วิกฤติวังหน้าไม่กี่ปี ช่วงนั้นสยามจะยกทัพโดยทางเรือมาพักทัพที่อุตรดิตถ์ ก่อนจะเดินเท้าไปแพร่และน่าน เพื่อมุ่งไปหลวงพระบางต่อไป อุตรดิตถ์จึงเป็นฐานส่งกำลังบำรุงอยู่หลายปี เรียกว่าโตได้เพราะสงคราม

ผมเห็นด้วยครับว่าเมืองอุตรดิตถ์โตได้เพราะสงคราม แต่น่าจะเริ่มตั้งแต่สงครามเชียงตุง2ครั้ง เมื่อต้นๆรัชกาลที่4 แล้วครับเพราะท่านแม่ทัพคราวนั้นท่านมาเตรียมทัพรวมพลอยู่ที่นี่ไปรบครั้งแรกไม่สำเร็จแล้วไม่ยอมกลับกรุงเทพฯเตรียมตัวยกทัพกันใหม่ ในบริเวณที่ตั้งเมืองอุตรดิตถ์ปัจจุบันนี้ การที่มีเจ้านายผู้ใหญ่มาอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานน่าจะมีการปรับปรุพื้นที่ ถนนหนทางไม่น้อย แล้วตลาดท่าอิฐ ท่าเซา บางโพ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนจำนวนมากตั้งแต่นั้นมา

ส่วนคราวสงครามไปรบกับโจรฮ่อของท่านจมื่นไวยวรนาถ  ท่านจัดรวมพลที่เมืองพิชัยเก่าซึ่งอยู่ต่ำลงมาราว 50ก.ม. ท่านเดินทัพเฉียงไปทางตะวันออก ไปทางบ่อเหล็กน้ำพี้ ออกวังถ้ำ ท่าปลา ผาเลือด ถึงหน้าเขื่อนสิริกิติ์ จะเป็นสามแพร่งว่าจะไปเมืองน่านทางแม่น้ำน่าน หรือไปหลวงพระบางทางลำน้ำปาด  เขาแยกกันที่นั่นครับ   ดังนั้นบริเวณท่าอิฐ บางโพจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับสงครามคราวนั้นมากนัก  เป็นแต่ท่านแม่ทัพพาไพร่พลจำนวนหนึ่งออกเดินลาดตระเวณมากราบไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ ถึงเมืองลับแลและท่าอิฐ ตามที่บันทึกเป็นนิราศทัพหลวงพระบาง ของหลวงทวยหาญรักษาครับ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 20 คำสั่ง