เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 91130 หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 07:58

คุณด้วง หรือ ม.ร.ว.ดวงใจ มารดาหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด หรือคุณย่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่โครงกระดูกในตู้ของท่านเล่าว่า ท่านถูกเฆี่ยนและถูกริบราชบาตรในฐานที่ลูกสาวหนีไปเขมรโดยขนละครเจ้าจอมอำภาไปด้วย

ถ้าตีความตามที่พระองค์หญิงมาลิกาเขียน และกรมพระยาดำรงท่านมิได้ทักท้วงแก้ไข หรือเอ่ยถึงแต่ประการใด คือ นอกจากว่าไม่มีใครกล่าวถึงม.ร.ว.ดวงใจ ถูกริบราชบาตรแล้ว ในนี้ยังกล่าวถึงมรดก ถ้าถูกริบราชบาตรไปแล้วจริงๆ ก็ป่วยการที่จะเอ่ยถึงเรื่องมรดก

และเผลอๆ ที่เขียนว่าไม่มรฎกคุณด้วงผู้มารดาอาจจะเขียนพลาดไป  ถ้าเปลี่ยนจากไม่เป็นได้ ข้อความจะสมบูรณ์ เป็นว่า ภายหลังหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด ได้มรฎกคุณด้วงผู้มารดา จึง(มีเงินมีทอง)ใช้มือให้คนเขมรซึ่งคุ้นเคยเข้าออกในกรุงเทพไปพูดชักชวนเจ้านุด ให้หนีออกจากคุกแล้วพาเจ้านุดเข้ามาในกรุงเทพ

คนไม่มีเงิน จะใช้ใครทำอะไรถึงอย่างนั้นก็คงยาก
บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 09:34

ดิฉันก็ตงิดใจเรื่องริบราชบาตรอยู่  ที่อยากได้หลักฐานยืนยันเรื่องนี้  เพราะพยายามหาหลักฐานจากแหล่งอื่นๆ นอกจากโครงกระดูกในตู้  ก็ไม่พบที่ไหน


คิดอยู่ว่าถ้าเรื่องตอนต้นกลับตาลปัตรไปแล้ว  เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเป็นไปตามหนังสือเล่า 


แต่แปลกใจว่าถ้าหากไม่จริง (คือไม่ได้ถูกลงโทษถึงขั้นริบราชบาตร  และ มรว. ดวงใจ ไม่ได้รับโทษโบย)  ทำไมจึงไม่มีผู้สืบสกุลท่านใดเอะใจหรือชี้แจงคัดค้าน  ดิฉันมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และทำให้ราชสกุลนี้มัวหมอง  ไม่น่าละเลยไม่ทักท้วงกัน  
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 10:27

ผมพยายามค้นบันทึกต้นรัชกาลที่๕ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จนตาเหล่ตาลายต้องยอมแพ้ เรื่องคดีเล็กๆน้อยๆอย่างอำแดงโน่น ฟ้องอำแดงนี่ หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ ทำผิดโน้นนี้ แต่ไม่เจอเรื่องริบราชบาตรหม่อมราชวงศ์ดวงใจ

หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า น้องสาวแท้ๆของหม่อมเจ้าฉวีวาด ถือว่าเป็นผู้มีอันจะกินทั้งที่มิได้แต่งงาน ตำหนักคอยท่า ปราโมชที่ทรงสร้างถวายวัดบวรนิเวศน์วิหารให้เจ้าอาวาสอยู่ในปี๒๔๗๗ และสมเด็จพระญาณสังวร ประทับก่อนจะเสด็จไปรักษาพระองค์ในโรงพยาบาล ก็เป็นตึกใหญ่๓ชั้นค่าก่อสร้างคงหลายอัฐอยู่

ถ้ามารดาถูกริบราชบาตร น้องๆต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในวัง ผมก็ไม่ทราบว่าท่านหญิงคอยท่าจะทรงมีฐานะดีอย่างนั้นได้อย่างไร


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 10:43

ค่อยๆพยุงตัวกลับเข้ามาในกระทู้

ตอนนี้ที่แน่ใจว่าเป็นเรื่องจริงก็มีเรื่องเดียว คือม.จ.ฉวีวาดได้หนีออกจากสยามไปอยู่ที่เขมร  จริง  
ส่วนเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง  ดิฉันเกิดความคลางแคลงว่าไม่จริง  นำไปสู่ผลดังนี้
1    ท่านไม่ได้หนีไปเพราะเป็นหัวโจกผู้หนึ่งในวิกฤตเหตุการณ์วังหน้า     ท่านไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้เลย
2    ม.จ.ฉวีวาดหนีออกไปเขมร 5 ปีหลังจากเกิดวิกฤตวังหน้า
3    ดูจากสาเหตุของการหนี   เป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะทำเอิกเกริกขนเหล่าละครและนักดนตรี หลายสิบชีวิตลงเรือไปด้วย     เพราะเรื่องพรรค์นี้ต้องทำให้เงียบที่สุด จึงจะปลอดภัยและไม่ติดขัดอุปสรรค  นี่ยังไม่รวมว่าขนคนไปมากก็เป็นภาระค่าใช้จ่ายอีกด้วย
4   ไม่ว่ามีการริบราชบาตรหรือไม่ก็ตาม  แต่มีภาวะ "บ้านแตก" เกิดขึ้นในกับหม่อมแม่และพี่ๆน้องๆของม.จ.ฉวีวาด    หม่อมแม่ไปทาง  โอรสธิดาไปอีกทาง    ก่อนจะค่อยๆกลับมารวมกันได้ในภายหลัง
5  ฐานะความเป็นอยู่ของพี่น้องท่านหญิง มิได้กระทบกระเทือนกันมากนัก       แม้แต่หม่อมแม่เองในภายหลังก็มีเงินมีทองพอสมควร  มากพอจะแบ่งมรดกให้ลูกๆได้
  คือท่านหญิงฉวีวาดจะได้มรดกหรือไม่ก็ตาม  แต่ข้อความของพระองค์หญิงมาลิกาแสดงว่า หม่อมแม่ท่านหญิง มีมรดก จริง
6  ม.จ.ฉวีวาดและบุตรชายมิได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ใดๆกับสมเด็จพระนโรดม    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 10:57

ดิฉันก็ตงิดใจเรื่องริบราชบาตรอยู่  ที่อยากได้หลักฐานยืนยันเรื่องนี้  เพราะพยายามหาหลักฐานจากแหล่งอื่นๆ นอกจากโครงกระดูกในตู้  ก็ไม่พบที่ไหน
คิดอยู่ว่าถ้าเรื่องตอนต้นกลับตาลปัตรไปแล้ว  เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเป็นไปตามหนังสือเล่า  
แต่แปลกใจว่าถ้าหากไม่จริง (คือไม่ได้ถูกลงโทษถึงขั้นริบราชบาตร  และ มรว. ดวงใจ ไม่ได้รับโทษโบย)  ทำไมจึงไม่มีผู้สืบสกุลท่านใดเอะใจหรือชี้แจงคัดค้าน  ดิฉันมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และทำให้ราชสกุลนี้มัวหมอง  ไม่น่าละเลยไม่ทักท้วงกัน  
มีแต่ข้อสันนิษฐานค่ะ
๑  พี่ๆของม.ร.ว.คึกฤทธิ์อาจไม่ทราบเรื่องนี้มากเท่าตัวท่านอาจารย์เอง
๒  ต่อให้ทราบ   ถ้าหากว่าออกมาคัดค้านเรื่องหนึ่ง มันก็เท่ากับไปคัดค้านอีกเรื่องหนึ่ง   ดีไม่ดีก็ต้องคัดค้านกันต่อไปอีกหลายเรื่อง  ซึ่งพอเปิดเผยแล้ว  ไม่เป็นผลดีกับราชสกุลหนักเข้าไปอีก  
๓  เรื่องนี้เป็นหนังสือพิมพ์แจกลูกหลานและคนใกล้ชิด  มิได้มีจุดมุ่งหมายให้เผยแพร่ในวงกว้าง      ผู้ใหญ่ท่านก็คงคิดว่าให้ลูกหลานรู้ไว้แค่นี้พอแล้ว

ในหนังสือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มิได้มีความรู้สึกว่าการถูกริบราชบาตรเป็นความมัวหมองของหม่อมย่า ท่านลุงท่านป้าและท่านพ่อ  เพราะเห็นได้ชัดว่าบุคคลเหล่านี้บริสุทธิ์ มิได้รู้อีโหน่อีเหน่อะไรด้วยกับการกระทำของม.จ.ฉวีวาด   แต่เป็นเรื่องของกฎมณเฑียรบาลที่จะต้องเป็นไปตามนั้น
บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 11:07

ผมกลับคิดว่าถูกริบราชบาตรเป็นเรื่องจริงครับ สังเกตจากที่อาจารย์หม่อมนำไปเขียนเป็นเรื่อง ท่านชายน้อย ในหลายชีวิต ซึ่งมีเนื้อความเหมือนกันมากในตอนต้น หลายท่านคงดูออกว่า อาจารย์หม่อมชอบนำเรื่องราวจากชีวิตจริงของท่าน หรือคนใกล้ชิดไปเขียนเสมอๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 11:17

เอ เรื่องท่านชายน้อยมีริบราชบาตรด้วยหรือคะ   
ดิฉันจำได้แต่ว่าเมื่อท่านชายน้อยประสูติไม่เท่าไร เสด็จพ่อก็สิ้นพระชนม์  หม่อมแม่ซึ่งเป็นหม่อมเล็กๆอันดับท้ายสุดก็ไม่ประสีประสากับระเบียบกฎหมายใดๆ จึงไม่ได้ไปแจ้งทางการว่าลูกชายเธอเป็นพระโอรสเสด็จในกรม  ทำให้ท่านชายอดได้เบี้ยหวัด และมีชีวิตอย่างประดักประเดิดกึ่งเจ้ากึ่งสามัญชนมาจนสิ้นชีพิตักษัย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 11:22

มีอีกสมมติฐานหนึ่ง

ถ้าเรื่องริบราชบาตรเป็นเรื่องจริง ก็คงมิได้เกิดขึ้นแบบปุบปับ ทางครอบครัวเมื่อทราบเรื่องหนีไปของหม่อมเจ้าฉวีวาด ทำให้มีสิทธิ์ต้องโทษแน่ ก็ยังมีเวลาพอยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน เป็นเหตุให้ลูกๆที่รู้ความแล้วได้แบ่งอะไรแล้วไปตอนนั้น ก่อนจะหนีไปพึ่งญาติๆ

ส่วนหม่อมเจ้าคำรพยังเด็กนัก เลยยังไม่มีส่วนแบ่งกับเขา เลยลำบากหน่อยทุกคนตัวใครตัวมัน แต่ผมก็ยังไม่อยากจะเชื่ออยู่ดี ใครจะปล่อยให้พระโอรสกรมขุนวรจักรไปเดินขายพุทรา พระเจ้าอยู่หัวท่านมิได้ใจไม้ใส้ระกำขนาดนั้น ครอบครัวจำเลยไม่ใช่อาชญากร
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 11:29

ต่อไปนี้เป็นข้อมูลดิบๆ หาได้ในเน็ท เชิญท่านทั้งหลายตีความ

วังประตูสำราญราษฏ์ ตะวันตก ของกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ต้นราชสกุล ปราโมช อยู่วรจักร ปัจจุบันหายสาบสูญไปหมดแล้ว

ผมสันนิษฐานว่าวังของกรมขุนวรจักรฯ และบางส่วนของกลุ่มวังนี้ถูกรื้อสร้างโรงพยาบาลกลาง ครับ

วังของพระองค์เจ้าคำรบ พระโอรสของกรมขุนวรจักรฯ อยู่คลองถมในปัจจุบันครับ ส่วนวังนั้นหายสาบสูญไปตั้งแต่เมื่อไหร่ทราบไม่ได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 11:40

ขอเพิ่มเรื่องพระองค์เจ้าคำรบตกระกำลำบากหน่อยค่ะ     ก็ต้องอ้างจาก "โครงกระดูกในตู้" อีกนั่นแหละ   เพราะไม่รู้จะไปอ้างจากที่ไหน

"ทางฝ่ายท่านพ่อนั้น    เมื่อได้ประทับอยู่กับหม่อมยายของท่านอย่างอัตคัดขัดสนมาประมาณสี่ห้าเดือนก็พ้นเคราะห์    เพราะสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรทรงทราบเรื่องราว    จึงให้ข้าหลวงมารับองค์ท่านพ่อเข้าไปทรงอุปการะเลี้ยงดูไว้ที่ตำหนักของพระองค์ท่านในวัง"

ส่วนทำเลที่ตั้งวังกรมขุนวรจักร  หนังสือเล่มนี้ระบุว่า

"วังกรมขุนวรจักรนั้นเดิมอยู่บริเวณสวนเจ้าเชต  ใกล้พระบรมมหาราชวัง   ต่อมาท่านโปรดทำเรือกสวนและอยากประทับอยู่อย่างสงบ  จึงถวายวังเดิมซึ่งเป็นวังของพระเจ้าลูกยาเธอคืนหลวง   และขอเงินคุณแม่ของท่าน(เจ้าจอมมารดาอำภา)  ออกไปซื้อที่ใหญ่โตทำวังอยู่นอกกำแพงพระนคร   คือที่ถนนวรจักรเดี๋ยวนี้    ที่ถนนนั้นใช้พระนามกรมว่า ถนนวรจักร  ก็เพราะตัดผ่านวัง    ที่สองข้างถนนนั้นเคยเป็นวังกรมขุนวรจักรฯ  และพระองค์เจ้าปรีดาได้ครอบครองวังต่อมา
เมื่อพระองค์เจ้าปรีดาสิ้นพระชนม์  ได้ยกวังนั้นให้เจ้าพี่เจ้าน้องทุกองค์    ในเมื่อไม่มีทางจะแบ่งกันให้ถูกต้องได้  หม่อมเจ้าในกรมขุนวรจักรฯจึงตกลงขายวังแก่พระคลัง  แล้วรับพระราชทานเงินมาแบ่งปันกัน"
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 13:37

ภราดร ศักดา.(2548) ชุดประวัติศาสตร์ ตอน วังเจ้าในอดีตฯ

วังริมสนามชัย วังใต้
ที่ตั้ง  ไม่ปรากฏข้อมูลที่แน่ชัด
ประวัติความเป็นมา

สร้างเป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าสุริยวงศ์ พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 1 ซึ่งทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นสวัสดิวิชัย ในรัชกาลที่ 3 แล้วเลื่อนเป็นกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์สุขวัฒนวิชัยในรัชกาลที่ 4 ประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพเสด็จอยู่ต่อมา ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 จะพระราชทานวังอื่นแลกที่เพื่อทำสวนสราญรมย์ กรมขุนวรจักรธรานุภาพไม่รับพระราชทาน ไปทรงซื้อที่สวนสร้างวังริมถนนเจริญกรุง (ตรงมุมถนนวรจักรบัดนี้) วังกรมขุนวรจักรธรานุภาพที่กล่าวนี้ ส่วนหนึ่งอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นโรงละคร "ศาลาเฉลิมนคร" และต่อมาเป็นกองปราบปรามสามยอด


ตกลงวังย้ายมาอยู่ที่ย่านวรจักรเดี๋ยวนี้

ต่อไปนี้เอามาจากวิกี้
ถนนวรจักรเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ปรากฏในเอกสารของกระทรวงโยธาธิการใน พ.ศ. 2439 ว่า ทรงสอบถามเรื่องการตัดถนนวรจักรจากพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดาซึ่งได้กราบบังคมทูลว่า กรมโยธาธิการยังไม่ได้รับที่ดินที่ถนนจะตัดผ่านจากกระทรวงนครบาลและยังไม่ได้ประกาศให้ราษฎรรื้อถอนบ้านเรือนเพราะยังทำแผนที่และบัญชีบ้านเรือนที่จะต้องรื้อถอนยังไม่เสร็จ จนกระทั่ง พ.ศ. 2441 การเวนคืนที่ดินก็ยังไม่เรียบร้อย เช่น ยังติดขัดที่เรือนหม่อมเจ้าดำรงค์ หม่อมเจ้าอเนก และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปรีดา พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ซึ่งกีดขวางแนวถนน รวมทั้งสะพานเฉลิม 45 ก็อยู่ในแนวถนนวรจักรด้วยเช่นกัน ต่อมาจึงได้มีการประกาศให้ราษฎรรื้อถอนบ้านเรือนออกจากแนวถนนเพื่อให้กรมโยธาธิการก่อสร้างถนน ซึ่งพระราชทานนามไว้ว่าถนนวรจักร จนสำเร็จ
อ้างถึง
เมื่อพระองค์เจ้าปรีดาสิ้นพระชนม์  ได้ยกวังนั้นให้เจ้าพี่เจ้าน้องทุกองค์    ในเมื่อไม่มีทางจะแบ่งกันให้ถูกต้องได้  หม่อมเจ้าในกรมขุนวรจักรฯจึงตกลงขายวังแก่พระคลัง  แล้วรับพระราชทานเงินมาแบ่งปันกัน

ตกลงเราจะเชื่อใครดี ระหว่างเอกสารของกระทรวงโยธาธิการกับโครงกระดูกในตู้

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 14:41

พระองค์เจ้าปรีดา เมื่อประสูติเป็น หม่อมเจ้าปรีดา ปราโมช พระโอรสพระองค์ใหญ่ของกรมขุนวรจักร

ในหนังสือ กระเบื้องถ้วยกะลาแตก กล่าวอ้างพระราชนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯที่ทรงเขียนถึงพระองค์เจ้าปรีดา นักสะสมเครื่องปั้นดินเผาระดับ"เซียน"ที่เมืองไทยมีอยู่ไม่กี่ท่าน แสดงว่าทรงรู้จักดี แต่ไฉนไม่มีพระนิพนธ์ใดที่ทรงกล่าวถึงการถูกริบราชบาตรของราชสกุลนี้เลย


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 15:51

ต่อจากค.ห.ที่ 168

7  สิ้นรัชกาลที่ ๕  ม.จ.ฉวีวาดไม่ประสงค์จะอยู่ในเขมรต่อไป  ก็ตัดสินใจกลับมาสยาม    เจ้าพี่เจ้าน้องอื่นๆที่รู้เรื่องราวแต่หนหลังก็คงตะขิดตะขวงที่จะต้อนรับ  แต่พระองค์เจ้าคำรบซึ่งรุ่งเรืองในราชการเป็นหลักให้พี่น้องพึ่งพาได้ ทรงรับไว้    ท่านจึงมาพำนักอยู่ด้วย
8   ม.จ.ฉวีวาดย่อมทราบดีว่าเรื่องของท่านต้องถูกซุบซิบเล่าต่อให้ลูกหลานฟัง   ซึ่งเล่าผิดหรือเล่าถูกอย่างใดก็คงไม่เป็นผลดีกับท่านอยู่นั่นเอง    ท่านจึงเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเองให้หลานชายฟังเสียเลย    เมื่อหลานชายรู้ก็คงเป็นสะพานเล่าต่อไปถึงหม่อมแม่หรือท่านลุงท่านป้าองค์อื่นๆเอง
9 เวอร์ชั่นที่ท่านเล่า ก็เป็นเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเวอร์ชั่นที่พระองค์มาลิกาเขียนมาถวายสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  เช่นการหนีออกนอกสยามมีสาเหตุจากการเมืองระดับประเทศ  เมื่อต้องลี้ภัยการเมือง  ท่านก็ไปเป็นใหญ่อยู่ในเขมร    ใครจะมาดูถูกไม่ได้
   ในหนังสือพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าไม่มีปีประสูติและปีสิ้นชีพิตักษัยของม.จ.ฉวีวาด    แต่ในเน็ตบอกว่าท่านประสูติประมาณพ.ศ. 2397-2399    ถ้าหากว่าเป็นปีเกิดที่ถูกต้อง  เมื่อเกิดวิกฤตวังหน้าท่านก็พระชันษา 18-20 ปี เท่านั้นเอง    ยังน้อยเกินกว่ากงสุลน็อกซ์จะให้ล่วงรู้ในแผนการใหญ่ขั้นแบ่งแยกประเทศ
   นอกจากนี้ท่านเป็นผู้หญิง ไม่มีกำลังทหาร ไม่มีอิทธิพลความกว้างขวางใดๆ  จะให้เป็นหัวโจกในกรณีไหนก็ยังนึกไม่ออก
10  หลังจากฟังท่านป้าเล่าเรื่องราว  ต่อมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไปเรียนต่อที่อังกฤษตั้งแต่วัยรุ่น    ไม่มีโอกาสทราบเรื่องนายนุด  เมื่อท่านป้าบอกว่าโอรสคือพระองค์เจ้าพานคุลี  ท่านก็รับทราบตามนั้น
11 ต่อมาอีกหลายสิบปี เมื่ออายุ  60 เขียนเรื่องโครงกระดูกในตู้แจกเครือญาติ  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จะเว้นเรื่องท่านป้ามิได้    ท่านอาจจะแว่วถึงเรื่องเล่าอื่นๆอยู่บ้าง   แต่เลือกที่จะเชื่อเวอร์ชั่นที่ท่านป้าเล่าให้ฟัง  เพราะถือว่าในเมื่อฟังจากปากเจ้าตัวโดยตรง จะไม่เชื่อกระไรได้  ก็ต้องยึดถือคำบอกเล่าของเจ้าตัวเป็นหลัก
12  ในเมื่อคนรุ่นหลังยึดถือว่า โครงกระดูกในตู้เป็นตำราประวัติศาสตร์  ใช้อ้างอิงได้  ม.จ.ฉวีวาดจึงทรงมีภาพลักษณ์ตามที่ปรากฏในลิ้งค์ข้างล่างนี้
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%89%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%94_%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%8A
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 15:57

ลอกจากลิ้งค์ข้างบน  ซึ่งเป็นของวิกิพีเดีย มาให้อ่าน

หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช ประสูติระหว่างปี 2397-2399 เป็นพระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) กับหม่อมราชวงศ์ดวงใจ ปราโมช (หลานปู่ในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข) [1] เมื่อทรงเจริญวัยทรงได้รับการหมั้นหมายกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มารู้ภายหลังว่าท่านทรงมีหม่อมชื่อหม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา อยู่ในวังแล้วคนหนึ่ง ด้วยทรงมีความคิดแนวก้าวหน้า ท่านจึงไม่ทรงยินยอม ทรงบังคับให้กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงเลิกรากับหม่อมสุ่น แต่กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงไม่ยินยอม นอกจากหม่อมเจ้าฉวีวาดไม่ทรงยินยอมด้วยแล้ว ทั้งยังแสดงพระอาการเอาแต่พระทัยผิดวิสัยกุลสตรีในสมัยนั้น คือทรงโยนพระของหมั้นทิ้งทางพระบัญชรตำหนักเรี่ยราดกับพื้น จนกรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงต้องให้มหาดเล็กมาเก็บคืนไป

หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช เสกสมรสกับพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงมีความสนิทสนมกับครอบครัวนายโทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ ในเวลาต่อมาท่านได้ทรงก้าวเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งระหว่างวังหลวงและวังหน้า โดยในวันรุ่งขึ้นหลังเหตุระเบิดที่ตึกดินในวังหลวง [2] ท่านทรงว่าจ้างเรือสำเภาขนสมบัติและผู้ติดตามหนีไปยังเขมร พร้อมคณะละครของเจ้าจอมมารดาอำภา ในรัชกาลที่ 2 ซึ่งถือเป็นคณะละครที่มีชื่อเสียงที่สุดในราชสำนักสยาม จนเรือถึงราชสำนักเขมร ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากพระบาทสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ (พระนามเดิม คือ นักองค์ราชาวดี) ด้วยความพอพระทัยในหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมชและคณะละครที่ท่านนำมา โรงละครโรงใหญ่ของเจ้าจอมมารดาอำภา ไกรฤกษ์ ได้กลายเป็นต้นแบบของละครในประเทศเขมรปัจจุบันนี้

พระบาทสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์โปรดสถาปนาหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช เป็นถึงพระราชเทวี มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งคือ พระองค์เจ้านโรดม พานคุลี ครั้งเวลาล่วงเลยไป ท่านนิวัติสู่สยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงบวชเป็นรูปชี ทรงใช้พระชนม์ชีพย่างสงบ และสิ้นชีพิตักษัยเมื่อมีพระชนมายุได้ 80 ปี[3]

อ้างอิง

    [1]  ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
    [2]  วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2542. 359 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-7377-29-2
   [3]  ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2550. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-323-989-2
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 23 ต.ค. 13, 16:13

ใครก็ตามที่บรรจงเขียนประวัติหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมชไว้ข้างบนนั่น อย่าเพิ่งรีบแก้ไขนะครับ อดทนรออ่านหนังสือของพระองค์หญิงมาลิกาที่ผมจะทยอยลงต่อให้จบก่อน แล้วผมอนุญาตให้สลบได้ ๓ ตลบ แล้วค่อยตั้งสติเขียนใหม่ หรือจะลบไปเลยก็ได้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 20 คำสั่ง