เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 90335 หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 14:17

พระเอกกลับเข้าวิกมาแร้วววว์   ยิ้มเท่ห์  ยิ้มเท่ห์  ยิ้มเท่ห์
ขอแก้อีกนิดค่ะ
ชื่อพระองค์เจ้าพานคุลีที่ปรากฎในหนังสือ "โครงกระดูกในตู้"    ในลายพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าหญิงมัลลิกา พระราชธิดาในสมเด็จเจ้านโรดม ทรงเรียกว่า "พานดูรี"  น่าจะเป็นภาษาเขมร   แปลว่าอะไรไม่ทราบเหมือนกัน
ถ้าคุณเพ็ญชมพูทราบกรุณามาแจมด้วย จะได้ขึ้นเขียงกัน 4 คน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 14:48

อ้างถึง
ก่อนอื่น มจ.ปุกท่านนี้มิได้เป็นเจ้าวังหลวง อย่างที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เข้าใจ   แต่เป็นเจ้าวังหน้า  ท่านเป็นพระธิดาของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์  ต้นราชสกุล อิศรศักดิ์   ซึ่งเป็นพระราชโอรสในวังหน้ารัชกาลที่ 3 กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์  ประสูติแต่พระองค์เจ้าดาราวดี พระธิดาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  
ในเมื่อมจ.หญิงปุก อิศรศักดิ์เป็นเชื้อสายวังหน้า  ก็ไม่แปลกอะไรที่จะทรงคุ้นเคยกับสะใภ้วังหน้าอย่างหม่อมเจ้าฉวีวาด    ไม่จำเป็นต้องไปเกี่ยวข้องกับวังหลวงหรือเหตุการณ์วิกฤตวังหน้า     น่าจะเป็นเพื่อนสนิทกัน  จึงติดตามมจ.ฉวีวาดออกไปจากราชอาณาจักรไทย แล้วไปอยู่ในเขมรจนสิ้นชีพิตักษัย  

ขอแสดงความเห็นครับ

มจ.ปุกท่านนี้มิได้เป็นเจ้าวังหลวง แต่เป็นพระธิดาของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์  ต้นราชสกุล อิศรศักดิ์   ซึ่งเป็นพระราชโอรสในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ซึ่งถือเป็นเจ้าวังหน้าก็จริง แต่ตามธรรมเนียมโบราณ เมื่อวังหน้าองค์ใดเสด็จทิวงคต พระโอรสต้องออกจากวังไป ส่วนพระธิดาที่มิได้ออกเรือน ต้องย้ายไปอยู่ฝ่ายในของวังหลวง
หลังวังหน้าในรัชกาลที่๓เสด็จทิวงคต และมิได้ทรงตั้งเจ้านายพระองค์ใดเป็นวังหน้า นอกจากยกพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวร ถือเป็นวังหน้าในเชิงสัญญลักษณ์

หลายปีต่อมาเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฏเสด็จขึ้นครองราชย์ และทรงสถาปนาเจ้าฟ้าน้อย พระราชอนุชาขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ที่๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จมาครองพระราชวังบวรนั้น ทรงปรารภว่า พระองค์ถูกตั้งให้มาเป็นสมภารวัดร้าง นั่นแปลว่าในวังไม่มีเจ้านายประทับอยู่เลย นอกจากคนเฝ้ายาม

ดังนั้นหากหม่อมเจ้าปุกและหม่อมเจ้าฉวีวาดจะรู้จักกัน ก็คงจะรู้จักกันในวังหลวง แต่ก็ต้องก่อนที่หม่อมเจ้าฉวีวาดจะออกเรือนไปกับพระสวามีด้วย  
แต่ก็ยังมีคำถามอยู่ดีว่า ทำไมทั้งสองท่านไม่ประทับอยู่ในวังเสด็จพ่อของแต่ละองค์ จะต้องไปอยู่ในฝ่ายในของวังหลวงเหมือนลูกกำพร้าทำไม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 15:00

อ้างถึง
"เมื่อท่านป้าฉวีวาดเข้าไปอยู่ในวังกับสมเด็จพระนโรดมนั้น ปรากฎว่ามีคนในวังหน้าลอบติดตามออกไปอยู่ด้วยหลายคน   คนหนึ่งคือหม่อมเจ้าหญิงปุก   ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเจ้าวังหลวง    แต่ไปฝักใฝ่อยู่วังหน้าเช่นเดียวกับท่านป้าฉวีวาด   และลูกสาวคนรองของนายโรเบิร์ต น็อกซ์อีกคนหนึ่ง   ซึ่งมารดาเลี้ยงดูให้เป็นไทย มีมารยาทอย่างไทย หมอบคลานเป็น   ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ท่านป้าฉวีวาดท่านเป็นหัวโจกอยู่ในเหตุที่เกิดอยู่ระหว่างวังหลวงกับวังหน้าครั้งนั้น"

ตรงนี้ท่านผู้เขียนก็มั่วสุดๆ นายน๊อกซ์ มีชื่อตัวว่าโทมัสไม่ใช่โรเบิร์ต แต่นั่นยังไม่เท่าไรคนวัยนี้อาจเบลอได้ แต่ที่ไม่น่าจะเบลอก็คือ ท่านลืมว่านายน๊อกซ์ขณะนั้นมีสถานภาพเป็นกงสุลใหญ่ของอังกฤษ ไฉนลูกสาวคนใดจะต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปกับท่านป้าของผู้เขียนยังประเทศเขมรด้วย ท่านลืมไปด้วยซ้ำว่าเขมรขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ถ้าจะดั้นเมฆว่าหนีไปสิงคโปร์จะยังเข้าท่ากว่า เพราะนั่นเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ

อย่างไรก็ดี นางแคโรไลน์ น๊อกซ์ แต่งงานไปกับนายหลุยส์ ที ลีโอโนเวนส์แล้วไปอยู่ที่เชียงใหม่ ไม่ได้ไปเขมรอย่างที่ท่านผู้เขียนตั้งใจเอาเข้ามาเกี่ยว เพียงเพื่อหวังป้ายสีวังหน้าให้ดูหนักแน่นเท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 15:37

เรื่องท่านหญิงปุกที่ดิฉันเข้าใจว่า อยู่วังหน้า  เพราะม.ร.ว. คึกฤทธิ์เล่าไว้ใน "โครงกระดูกในตู้" ว่าท่านหญิงเป็นพี่เลี้ยงของพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชโอรสของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเมื่อเสด็จในกรมยังทรงพระเยาว์      ก็แสดงว่าท่านหญิงต้องมาอยู่ในวังหน้าแล้ว ไม่ใช่วังหลวง

อ้างถึง
หม่อมเจ้าหญิงปุก นั้นเสด็จในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเคยรับสั่งกับผู้เขียนว่าได้เคยเลี้ยงดูพระองค์ท่านมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์   และประทับที่เมืองเขมรตลอดมาจนชรามาก  สิ้นชีพิตักษัยในเมืองเขมรในรัชกาลที่ 7"

แต่พอไปเช็คพ.ศ. ซึ่งเป็นที่พึ่งมาหลายครั้งแล้วเวลาเจอปัญหาข้อเท็จจริงในอดีต   ก็หงายหลังตกเก้าอี้ไปอีกหนหนึ่ง

คือวิกฤตวังหน้าเกิดขึ้นเมื่อวันที่  28 ธันวาคม  พ.ศ. 2417 ท่านหญิงฉวีวาดกับท่านหญิงปุกออกจากสยามไปตอนนั้น    ส่วนกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ประสูติเมื่อ    10 มกราคม พ.ศ. 2419    คือประสูติทีหลังตั้งหนึ่งปีเศษหลังจากเกิดวิกฤตวังหน้า
ถ้าท่านหญิงปุกหนีไปเขมรพร้อมกับท่านหญิงฉวีวาด    ท่านก็ไม่มีโอกาสจะเลี้ยงดูเสด็จในกรมพระองค์นี้แน่นอน     พี่เลี้ยงของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เป็นท่านหญิงปุกองค์ไหนก็ตาม  ไม่ใช่องค์นี้แน่
แต่ก็แปลกว่าทำไมม.ร.ว. คึกฤทธิ์ถึงระบุได้ถูกต้องว่าหม่อมเจ้าหญิงพระพี่เลี้ยงไปประทับอยู่ที่เมืองเขมร   คงไม่มีเจ้านายสตรีไทยพระนามซ้ำกันว่าปุก เสด็จไปอยู่เขมรเหมือนกัน

ก็เลยคิดว่า ข้อมูลตรงนี้ผิดพลาดแน่นอน    ถ้าท่านหญิงปุกเป็นพระพี่เลี้ยงพระราชโอรสวังหน้า  ก็ต้องเป็นพระองค์อื่นที่ประสูติก่อนปี 2417  แต่ไม่รู้ว่าองค์ไหน   เพราะมีหลายพระองค์เหลือเกิน ล้วนแต่ทรงพระเยาว์อยู่ในปี 2417
แต่ถ้าท่านหญิงปุกมิได้เป็นพระพี่เลี้ยงพระราชโอรสวังหน้า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จำผิดองค์      ก็เป็นได้อย่างที่คุณ NAVARAT.C ว่ามาคือท่านทรงอยู่ในวังหลวงมาตลอดรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4   มารู้จักกับท่านหญิงฉวีวาดในวังหลวง

ในเมื่อเนื้อหาไม่ตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในที่อื่นๆ  ก็จนปัญญา บอกอะไรเกี่ยวกับท่านหญิงปุกขณะอยู่ในสยาม ไม่ได้มากกว่านี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 16:09

ชรอย"โครงกระดูกในตู้"จะเป็นเพียงนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย ที่ใช้ชื่อบุคคลที่มีตัวตนจริงแต่แต่งบทบาทให้ใหม่ตามจินตนาการของผู้เขียน เช่นเรื่อง"คิงแอนด์ไอ"
บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 16:25

มาลงชื่อตามอ่านเจ้าค่ะ เรื่องโครงกระดูกในตู้นี้เคยแต่ผ่านตา แต่ยังไม่ไ้ด้อ่านให้เป็นเรื่องเป็นราว
บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 16:31

   ตามรอยท่านหญิงปุกแล้ว ก็มาตามรอยลูกสาวกงสุลน็อกซ์บ้าง
    
         ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าต่อไปว่า
   " เมื่อท่านป้าฉวีวาดเข้าไปอยู่ในวังกับสมเด็จพระนโรดมนั้น    ปรากฎว่ามีคนในวังหน้าลอบติดตามออกไปอยู่ด้วยหลายคน   คนหนึ่งคือหม่อมเจ้าหญิงปุก   ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเจ้าวังหลวง    แต่ไปฝักใฝ่อยู่วังหน้าเช่นเดียวกับท่านป้าฉวีวาด   และลูกสาวคนรองของนายโรเบิร์ต น็อกซ์อีกคนหนึ่ง   ซึ่งมารดาเลี้ยงดูให้เป็นไทย มีมารยาทอย่างไทย หมอบคลานเป็น   ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ท่านป้าฉวีวาดท่านเป็นหัวโจกอยู่ในเหตุที่เกิดอยู่ระหว่างวังหลวงกับวังหน้าครั้งนั้น
   
    มาขยายความจากที่ท่านนวรัตนเล่าไว้ก่อนหน้านี้  นางสาวน็อกซ์ ลูกสาวกงสุลน็อกซ์ผู้นี้มีนามว่าแคโรไลน์ น็อกซ์  ตามประวัติบอกว่าเธอเกิดเมื่อค.ศ. 1857 หรือพ.ศ. 2400  ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุวิกฤตวังหน้า เธออายุได้ 17 ปีเท่านั้นเอง   จะไปก่อเรื่องราวปฏิวัติรัฐประหารในสยามได้ด้วยวิธีไหนก็ยังนึกไม่ออก      ยิ่งมารดาเลี้ยงดูให้เป็นไทย มีมารยาทอย่างไทย หมอบคลานเป็น  เธอจะเข้านอกออกในระหว่างกรมทหารวังหน้ากับกงสุลอังกฤษเป็นว่าเล่น เพื่อจะทำจารกรรมยึดอำนาจจากวังหลวง ไหวหรือ?  
   เรื่องอะไรกงสุลน็อกซ์จะให้ลูกสาวไปเสี่ยงภัยขนาดนั้น   ในเมื่อการยึดอาณาจักรในยุคอาณานิคม เขายึดกันด้วยเรือรบ และปืนใหญ่    ไม่ใช่ด้วยเจมส์บอนด์ 007
  
    ตอนเกิดเรื่องวังหลวงกับวังหน้า  กงสุลน็อกซ์อยู่ระหว่างลาไปราชการที่อังกฤษ   ถ้าหากว่าไม่เอาลูกสาวไปด้วยก็คงทิ้งไว้กับคุณนายปรางผู้เป็นแม่     ถ้าลูกสาวจะหนีออกนอกประเทศ แม่คงไม่ปล่อยไปง่ายๆ    แล้วถ้าไปเหตุใดจึงไปพึ่งเขมรซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอังกฤษสักนิดเดียว     หากมีเรื่องที่จำเป็นต้องหนีไปพึ่งต่างชาติ  ก็คงจะเป็นอย่างท่านนวรัตนพูด คือไปสิงคโปร์ตรงเป้ากว่าเพราะเจ้าเมืองเขาเป็นฝรั่งอังกฤษ    แล้วไปง่ายกว่าไปเขมรด้วย  เพราะมีเรือโดยสารจากสิงคโปร์มาสยามอยู่เป็นประจำ
   ประวัติของแคโรไลน์ในอินทรเนตรไม่มีรายละเอียดให้ค้นมากนัก  ทราบแต่ว่าเธอแต่งงานกับหลุยส์ ที.เลียวโนเวนส์ ลูกชายแหม่มแอนนา   ไม่ทราบปีพ.ศ.ที่แต่ง  แต่ลูกชายคนแรกเกิดเมื่อค.ศ. 1888  คืออีก 14 ปีจากที่เกิดเรื่องวิกฤตวังหน้า  ตอนนั้นแคโรไลน์เป็นสาวใหญ่วัย 31 ปีแล้ว     ถ้าหนีไปเขมรจริงคงไม่กลับมาสยามอย่างลอยนวล      แต่งงานกับฝรั่งอังกฤษแล้วไปตั้งถิ่นฐานอยู่ทางเหนืออย่างเปิดเผย  
   ดิฉันเชื่อว่าแคโรไลน์ไม่ได้ตามท่านหญิงฉวีวาดไปเขมร     เช่นเดียวกับท่านหญิงปุกก็ไม่ได้เป็นพระพี่เลี้ยงของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
   เรื่องเล่าในอดีตที่บันทึกจากความทรงจำ อาจมีเค้าโครงใหญ่ๆที่ถูกต้อง  แต่รายละเอียดผิดพลาดได้เสมอ   ขึ้นกับคำบอกเล่าที่ได้รับฟังมาอีกทอดว่าจริงหรือไม่จริง     กับขึ้นกับความแม่นยำในการจดจำด้วยค่ะ
   "โครงกระดูกในตู้ " ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ควรแก่การศึกษาในเรื่องนี้
  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 18:47

ชรอย"โครงกระดูกในตู้"จะเป็นเพียงนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย ที่ใช้ชื่อบุคคลที่มีตัวตนจริงแต่แต่งบทบาทให้ใหม่ตามจินตนาการของผู้เขียน เช่นเรื่อง"คิงแอนด์ไอ"
มันก็ชวนให้มีเครื่องหมายคำถามอันโตๆหลายอย่าง   ที่ยังไม่มีคำตอบออกมาให้ชัดเจน    เท่าที่ประมวลมาได้เกี่ยวกับเรื่องราวของท่านหญิงฉวีวาดก็คือ
๑   หลังจากท่านไปถึงเขมรแล้ว   ท่านมิได้ไปเป็นพระราชเทวีของสมเด็จพระนโรดม  
๒   สามีท่านที่เป็นพ่อของนายนุด หรือพระองค์เจ้าพานดุรีกำมะลอนั้น   เป็นใครไม่ทราบ  แต่ต้องเป็นสามัญชนไม่ใช่เจ้านายเขมร
๓   ชีวิตในเขมรน่าจะลำบากพอสมควร เพราะมีสามีก็ไม่เปิดเผย มีลูกก็เลี้ยงไม่ได้    จนท่านหญิงต้องเดินทางกลับมาสยามแต่ลำพัง   ไม่ได้นำบุตรชายติดตัวมาด้วย
๔   ท่านมิได้เล่าความจริงเรื่องสามีและลูกให้พระญาติทางราชสกุลปราโมชฟัง     แม้แต่หลานชายที่ท่านปลุกขึ้นมาดึกๆดื่นๆ เพื่อเล่าอะไรต่ออะไรให้ฟัง     ก็มิได้ฟังความจริงส่วนนี้
๕  มีผู้ที่ติดตามท่านไปเขมรด้วยคือมจ.ปุก  และนางสาวน็อกซ์    แต่ดูตามหลักฐานแวดล้อมแล้ว   ไม่น่าจะจริงว่านางสาวน็อกซ์ตามไปด้วย    ถ้ามีผู้ติดตามจริงก็น่าจะมีแต่มจ.ปุกคนเดียว
๖   เรื่องละครผู้หญิงของเจ้าจอมอำภา ที่หนังสือเล่าว่าท่านเอาติดตัวไปด้วยเมื่อหนีไปเขมร   ก็ไม่ปรากฏข่าวคราวอีกว่าไปทำอะไรอยู่ที่ไหน   หรือแม้แต่ว่าเดินทางไปด้วยจริงหรือไม่ ก็ไม่มีหลักฐานอีกเหมือนกัน

อีกกรณีหนึ่งคือ   เป็นไปได้ว่าการไปเขมรครั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องของวังหลวงวังหน้า   เป็นเพียงเหตุประจวบเหมาะ เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 18:56

เมื่อไหร่คุณเพ็ญชมพูจะมีข้อมูลในอินทรเนตรมาเพิ่มเติมบ้างหนอ?


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 19:30

ถ้าท่านหญิงปุกเป็นพระพี่เลี้ยงพระราชโอรสวังหน้า  ก็ต้องเป็นพระองค์อื่นที่ประสูติก่อนปี 2417  แต่ไม่รู้ว่าองค์ไหน   เพราะมีหลายพระองค์เหลือเกิน ล้วนแต่ทรงพระเยาว์อยู่ในปี 2417

มีท่านหญิงปุกมาให้คุณเทาชมพูเลือก ๑๐ พระองค์

๑.   หม่อมเจ้าหญิงปุก พระธิดาในพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปาน  กรมหมื่นนราเทเวศร์ (สายวังหลัง ต้นราชสกุล ปาลกะวงศ์)  ประสูติเมื่อ ๒๓๓๘ สิ้นชีพิตักษัย ๒๓๔๖
๒.   หม่อมเจ้าหญิงปุก พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้า  กรมขุนอิศรานุรักษ์ (สายวังหน้า ต้นราชสกุล อิศรางกูร) ประสูติก่อน พ.ศ. ๒๓๓๖
๓.   หม่อมเจ้าหญิงปุก พระธิดาในพระองค์เจ้าเจ่ง กรมหมื่นนเรนทร์บริรักษ์ (สายพระองค์เจ้ากุ  กรมหลวงนรินทรเทวี ราชสกุล นรินทรกุล)  อายุช่วง พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๔๔๓
๔.   หม่อมเจ้าหญิงปุก พระธิดาในพระองค์เจ้าเรณู (ในร.๒ ต้นราชสกุล เรณุนันท์)   ประสูติหลัง ๒๓๘๕ สิ้นชีพิตักษัย ๒๔๔๐
๕.   หม่อมเจ้าหญิงปุก พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้ากลาง หรือสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา  กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (ในร.๒ ต้นราชสกุล มาลากุล) ประสูติก่อน ๒๓๙๖ สิ้นชีพิตักษัย ๒๔๕๒ พระราชทานเพลิง ณ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๔๕๕
๖.   หม่อมเจ้าหญิงปุก พระธิดาในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารองทรง กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ (สายวังหน้า ร.๒  ต้นราชสกุล รองทรง)  ประสูติเมื่อ ๒๔๐๕  สิ้นชีพิตักษัย ๒๔๓๑  พระราชทานเพลิง ณ วัดบพิตรพิมุข ๒๔๓๑
๗.   หม่อมเจ้าหญิงปุก พระธิดาในพระองค์เจ้ากำภู (สายวังหน้า ร.๓  ต้นราชสกุล กำภู) ประสูติหลัง ๒๔๐๐  พระราชทานเพลิง ณ วัดอมรินทราราม ๒๔๔๐
๘.   หม่อมเจ้าหญิงปุก พระธิดาในเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ (สายวังหน้า ร.๓ ต้นราชกุล อิศรศักดิ์) ประสูติก่อน ๒๓๘๑
๙.   หม่อมเจ้าหญิงปุก พระธิดาในพระองค์เจ้านุช (สายวังหน้า ร.๓  ต้นราชสกุล อนุชะศักดิ์) ประสูติเมื่อ ๒๔๐๐ สิ้นชีพิตักษัย ๒๔๓๔  พระราชทานเพลิง ณ วัดอัมพัน ๒๔๓๔
๑๐. หม่อมเจ้าหญิงปุก พระธิดาในพระองค์เจ้านภวงษ์  กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส (ใน ร.๔  ต้นราชสกุล นพวงษ์)  ประสูติ ๒๔๐๐  

ข้อมูลจาก คุณนิคแห่งพันทิป ความคิดเห็นที่ ๔๐

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 19:50

ข้อมูลหาง่ายไป   อยากได้ยากกว่านี้ 
อยากได้พระนามพระราชโอรสกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ   ที่ประสูติก่อนพ.ศ. 2417 ค่ะ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 20:24

อ้างถึง
อยากได้พระนามพระราชโอรสกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ   ที่ประสูติก่อนพ.ศ. 2417 ค่ะ
มีเพียงสองพระองค์ครับ

พระองค์เจ้าชายวิลัยวิลาศ ประสูติ ๒๔มีนาคม๒๔๑๑ ต้นราชสกุลวิไลยวงศ์
พระองค์เจ้าชายกาญจโนภาศรัศมี ประสูติ ๒๕กรกฎาคม๒๔๑๓ ต้นราชสกุลกาญจนวิชัย

ต่อมาก็เป็น พระองค์เจ้าชายรัชนีแจ่มจรัส ก็ประสูติ ๑๐มกราคม๒๔๑๙ แล้ว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 20:52

จากคุณจินตะหราวาตี ซึ่งเขียนไว้นานแล้วในพันทิป

เจ้าจอมมารดาอำภา   เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ ธิดาพระอินทอากร มีพระองค์เจ้า รวม ๖ พระองค์ คือ

๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายกปิตถา กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ (ต้นราชสกุล กปิตถา)
๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ (ต้นราชสกุล ปราโมช)
๓. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายเกยูร
๔. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงกัณฐา
๕. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงกัลยาณี
๖. พระเจ้าบรมวงส์เธอ พระองค์เจ้าหญิงกนิษฐน้อยนารี

เจ้าจอมมารดาอำภา เป็นละครหลวงรุ่นเล็กในรัชกาลที่๑ เล่นเป็นตัวนางกาญจะหนา เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และมีผู้คนเคารพยำเกรงมาก เพราะเป็นเจ้าจอมที่โปรดปรานและมีพระเจ้าลูกเธอมากผู้หนึ่ง

เมื่อรัชกาลที่ ๓ ท่านออกจากวังหลวง แล้วหัดละครนอกขึ้นมาโรงหนึ่ง ซึ่งตัวละครโรงนี้ ต่อมาได้เป็นครูละครนอกโรงอื่นอีกหลายโรง


ผมสงสัยว่า หลังรัชกาลที่ ๓ และ ๔ เป็นเวลาหลายสิบปี ละครที่มีฝีมือดีๆออกไปเป็นครูละครกันหมด มิเหลือแต่ละครแก่ๆตกมาถึงหลานย่า(ถ้าจริงตามนั้น)หรือ แล้วผู้สูงวัยเหล่านี้จะยอมทิ้งบ้านเรือนและลูกหลานไปตายดาบหน้าที่เขมรกับหม่อมเจ้าฉวีวาดด้วยเหตุผลกลใด

มีกระทู้เก่าในเรือนไทยนี่แหละ ผมเคยเขียนเรื่องละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร โดยเอาเนื้อหามาจากหนังสือในรูปข้างล่าง

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4316.30

ความคิดเห็นที่ 44 ผมเขียนไว้ว่า
อ้างถึง
เอาละครหลวงของเขมรมาขยายให้ดูชัดๆ

ละครชุดนี้อาจจะเป็นศิษย์ของหม่อมเจ้าฉวีวาด (ซึ่งเอกสารเขมรมิได้กล่าวถึงเลย)
หรือเจ้าจอมแพน นางละครจากอรัญประเทศ ไม่ทราบได้

ถ้าจะมาบังคับให้ผมเดา ผมก็เดาจากเครื่องแต่งกายแหละครับ มันน่าจะเป็นแบบอรัญๆ มากกว่าแบบวังหลวง

ผมก็แสดงความกังขาไว้นานแล้ว ในหนังสือเล่มนั้นกล่าวถึงครูละครไทยที่ไปรื้อฟื้นละครในราชสำนักเขมรหลายรุ่นหลายคน แต่ไม่ปรากฏชื่อหม่อมเจ้าฉวีวาดเลย สงสัยว่าจะยกเมฆกันมาเป็นทอดๆว่าหม่อมเจ้าฉวีวาดพาละครโรงใหญ่ไปราชสำนักเขมร ซึ่งความจริงอาจจะมีกิ๊กก๊อกอาศัยเรือสินค้าเขาไปกันสองสามคน หรือไม่มีสักคนก็ได้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 20:58

ขอบคุณค่ะ ขอแกะรอยต่อจากที่คุณนวรัตนส่งพระนามมาให้

พระองค์เจ้าชายวิลัยวิลาศ ต้นราชสกุลวิไลยวงศ์ สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. 2471 ในรัชกาลที่ 7
พระองค์เจ้าชายกาญจโนภาศรัศมี  กรมหมื่นชาญไชยบวรยศ  ต้นราชสกุลกาญจนวิชัย สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2463 ในรัชกาลที่ 6

เมื่อพระองค์แรกสิ้นพระชนม์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์อายุได้ 17 ปี    น่าจะไปเรียนต่อที่อังกฤษแล้ว    ส่วนพระองค์หลังสิ้นพระชนม์เมื่อม.ร.ว. คึกฤทธิ์อายุน้อยลงไปอีก แค่ 9 ขวบ    ถ้ามีพระดำรัสบอกเล่ารายละเอียดอะไร ตั้งแต่อายุน้อยๆแค่นั้น    ท่านอาจารย์ก็ไม่น่าจะจำรายละเอียดได้ขนาดนี้  
เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าไม่ใช่สองพระองค์นี้     อีกอย่างม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ไม่เคยเอ่ยถึงเจ้านายวังหน้าสองพระองค์นี้เลย   แต่ถ้าเป็นน.ม.ส. กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ก็เป็นไปได้  ทรงเป็นนักปราชญ์และกวีสำคัญ  พระชันษายืนยาวมาจนพ.ศ. 2488    ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เจริญวัยเป็นผู้ใหญ่ในวัยสามสิบกว่าแล้ว   น่าจะสนทนากันด้วยเรื่องเก่าๆได้
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าม.ร.ว. คึกฤทธิ์จำเจ้านายได้ถูกพระองค์     เรื่องหม่อมเจ้าปุกเป็นพระพี่เลี้ยง ที่ต่อมาเสด็จไปอยู่เขมร   ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ท่านก็น่าจะจำผิด  
หม่อมเจ้าพระพี่เลี้ยงมีพระนามว่าปุก หรือพระนามอื่นก็ตาม    แต่ไม่ใช่หม่อมเจ้าหญิงปุกในเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ที่เล่ากันว่าเสด็จไปอยู่เขมรพร้อมท่านหญิงฉวีวาดแน่นอน

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 15 ต.ค. 13, 07:38

มาต่อกันครับ หลังจากได้สนทนาเรื่อง "เจ้าปุก"

ความว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ทรงมีจดหมายไปยังเสนาบดีมหาดไทย คือ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร (พระยศขณะนั้น) เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙ รายงานเรื่อง

มีผู้ปลอมเป็นเจ้านายเขมร มาอยู่ดินแดนสยามแห่งนี้

ก่อนหน้านี้ ๒ ปีคือ พ.ศ. ๒๔๖๗ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้รับจดหมายฉบับหนึ่งมาจากองค์หญิงมัลลิกา (พระธิดาในพระเจ้านโรดมแห่งกัมพูชา) ส่งมายังวังวรดิศ เนื้อความมีว่า

ได้ยินว่ามีเจ้านายเขมรตกอับ เข้ามาหากินอยู่ในเขตแดนสยาม ช่วยให้กรมพระยาดำรงช่วยหาเจ้านายเขมรให้หน่อย ไม่รู้ว่าเป็นใคร ทำไมถึงตกอับเพียงนี้ ถ้าใช่จริงก็จะช่วยเหลือเพราะในฐานะ

ความเป็นเจ้าย่อมไม่ทิ้งเชื้อสายให้ตกอับ หรือเป็นเพียงการสมอ้างก็ขอให้ช่วยสืบค้นหาให้ด้วย
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 20 คำสั่ง